จากแม่สาครถึงสังคมผู้สูงอายุ..
อ่าน: 3973คำเตือน เป็นบันทึกยาวนะครับ
กล่าวว่าสังคมไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย วันก่อนผมฟังแว่วๆมาว่า สตรีจะมีอายุเฉลี่ย 75 ปี ส่วนผู้ชายประมาณ 72 ปี หากผิดอย่างใดก็ขออภัยด้วยครับ ต่อไปนี้เป็นกรณีตัวอย่างที่สตรีสูงวัยอยู่บ้านนอก แต่พึ่งระบบการดูแลสุขภาพกับ โรงพยาบาลรัฐที่อยู่ในกรุงเทพฯ
สภาพการเข้าถึงแพทย์: เมื่อแม่อันเป็นที่รักของลูกๆป่วย ทุกคนก็มุ่งหน้าไปเยี่ยม โดยมีน้องสาวและน้องชายที่อยู่กับแม่เป็นตัวหลักในการดูแล แม่เป็นคนไข้ประจำของรามาธิบดี กรุงเทพฯ นับสิบปีแล้วที่น้องสองคนรับภาระเอาแม่นั่งรถมาส่ง รามา ช่วงไหนที่หมอนัดวันปกติก็ต้องลางานมากัน และต้องใช้สองคนเป็นอย่างน้อยช่วยกันดูแลระหว่างเดินทางมาหาแพทย์
ฟังน้องๆเล่าให้ฟังแล้วก็สงสารและเห็นใจ รามาธิบดีมีแพทย์เฉพาะทางเหมือนกับ รพ.อื่นๆในกรุงเทพฯ จึงแบกภาระรับคนไข้มากมายมหาศาลต่อวัน ต่อชั่วโมง… น้องบอกว่าเราต้องตื่นตี 4 จากวิเศษชัยชาญ อ่างทอง อุ้มแม่ที่เดินไม่ได้นั่งรถเข็นผู้ป่วยที่ซื้อไว้ใช้ แล้วอุ้มแม่นั่งไปในรถ บึ่งเข้าไปรามาเพื่อรับบัตรคิวตั้งแต่ รพ.เริ่มเปิดทำการ (แย่งกัน) บางครั้งกว่าจะพบหมอต้องเป็นเวลาบ่ายโมง บ่ายสองโมง แล้วเวลาที่เหลือทำอะไร หากเอารถพาแม่ออกไปโน่นไปนี่ ก็ไม่มีทางจะได้กลับมาจอดที่เดิมอีก…?? สถานที่จอดรถก็จำกัด เหมือนลิงชิงหลัก แล้วแม่ซึ่งอายุมาก และป่วย จะนั่งแกร่วอยู่แต่เก้าอี้รถเข็นตั้งแต่เช้าจนบ่ายงั้นหรือ…?
คนป่วยบ้านนอกที่ต้องพึ่งแพทย์เฉพาะทางในกรุงเทพฯนั้น ก็เหมือนชาวบ้านคนอื่นๆที่มาจากต่างจังหวัดกันทั้งนั้น ดูสีหน้าซิ… “เราไม่มีทางเลือกพี่..” น้องพูด เราก็อยู่อย่างนั้น เช่นนั้น แบบนั้น นับสิบปีที่อยู่ในสภาพแบบนี้ เราเข้าใจและไม่ได้กล่าวร้ายให้โทษใครๆ เราจำยอมสภาพ เชื่อว่าทุกคนไม่ต้องการสภาพเช่นนี้ ตั้งแต่ผู้ป่วยที่มาจากต่างจังหวัดและทีมงานคุณหมอทั้งหมด
คิดไปแล้วก็สะท้อนระบบสุขภาพบ้านเราว่ายังต้องการการพัฒนาอีกมากมาย ทั้งระบบจำนวนคุณหมอเฉพาะทางและสถานที่
เราไม่มีเงินมากพอที่จะเข้าโรงพยาบาลเอกชน
ติดตามอาการป่วย: น้องๆเสียสละดูแลแม่แทนลูกคนอื่นๆ เหมือนสมัยที่ผมดูแลแม่ยาย แทนลูกคนอื่นๆของแม่ ที่กระจายกันทำมาหากินกันตามเงื่อนไข เราเล่าประสบการณ์นั้นๆให้น้องฟังว่าเราทำอะไรบ้าง บางปีเราไม่ได้ไปเที่ยวที่ไหนเลยเพราะเป็นห่วงแม่ที่นอนแต่บนเตียงตลอดเวลา แต่การอยู่บ้านก็มีความสุขไปอีกอย่าง..
เมื่อคราวที่แม่สาครถูกสั่งให้เข้า ICU เครื่องมือต่างๆระโยงระยาง หนักหนาสาหัส ลูกๆทุกคนผลัดกันไปเยี่ยม ไปเฝ้า ไปบีบ ไปนวด แต่บ่อยครั้งที่ไม่เห็นแม่ลืมตา ไม่ตอบสนองการสื่อสารใดๆ นานๆครั้งที่แม่ลืมตา ส่ายหน้า และนานมากที่จะเห็นรอยยิ้มจากปากแม่ วันไหนที่ลูกคนไหนเห็นรอยยิ้มก็ดีใจจนน้ำตาไหล..
การเยี่ยมมีเวลาจำกัด ก่อนเข้าห้องต้องล้างมือ ออกจากห้องก็ล้างมือ ระหว่างอยู่ในห้องก็ใส่หน้ากากปิดปาก เป็นระเบียบทางรามา ลูกๆและญาติคนอื่นๆก็นั่งรอเวลาเยี่ยมไข้กันเต็มตรงระเบียงเชื่อมอาคาร มองกันไปมองกันมา..
แพทย์เปลี่ยนกันไปหลายท่าน เรียกญาติพบหลายครั้ง เราเองก็ประชุมลูกๆหลายครั้งว่า “เอาไงกัน..” เช่น จะล้างไตไหม จะให้ยากระตุ้นหัวใจไหม หากช๊อคจะปั้มหัวใจไหม..ฯลฯ สมมุติฐานเหล่านี้แพทย์ขอการตัดสินใจของญาติ ลูกคนใดๆก็ไม่กล้าตัดสินใจ ต้องโทรถามกันวุ่นวายไปหมดในช่วงสองเดือนนั้น มีสองครั้งที่ผมต้องไปทำงานที่ลาว น้องต้องโทรข้ามประเทศขอคำปรึกษา บางครั้งเราก็นั่งประชุมกัน แม้ไม่ครบหน้าก็ถือเป็นมติส่วนใหญ่
บ่อยครั้งที่ผมหอบงานจากเมืองลาวไปแอบนั่งทำที่อาคารนักศึกษาแพทย์รามา ขอความกรุณาเจ้าหน้าที่เปิดไฟให้ ท่านก็กรุณาเต็มที่..ขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ
ย้ายห้อง: แพทย์ชั้น 7 สั่งให้ย้ายเตียงผู้ป่วยชื่อสาครลงไปชั้น 5 ที่ชั้น 7 นั้นเป็นเสมือนห้องฉุกเฉิน ICU ติดแอร์ เครื่องมือมากมาย ระหว่างที่นอนชั้น 7 นั้น ห้องข้างๆสิ้นลมไปหลายท่าน ญาติบางท่านที่เสียชีวิตไปมาพูดต่อว่าแพทย์ ซึ่งผมฟังแล้วก็ไม่เห็นด้วยที่จะกล่าวเช่นนั้น แม้ว่าแพทย์แต่ละท่านดูหน้าตาแล้วยังหนุ่มแน่น สาวๆทั้งนั้น แต่ก็เชื่อว่ารามาธิบดีเป็นโรงเรียนแพทย์ วิกฤติไข้นั้นแพทย์หนุ่มสาวเหล่านั้นมีแพทย์ใหญ่กำกับทั้งสิ้น
ที่ชั้น 5 ไม่มีแอร์ เป็นห้อง ICU รวมเตียงติดๆกัน แต่ผมชื่นชมแพทย์และพยาบาลดูแลเอาใจใส่ดีมากๆ ครั้งหนึ่งผมมีโอกาสคุยกับแพทย์หนุ่ม ท่านกล่าวว่า ชั้น 5 มีจำนวนแพทย์และพยาบาลมากกว่าชั้น 7 และมีแพทย์เฉพาะทางมากกว่า คุณหมอเรียกไปปรึกษาหลายครั้งว่าจะรักษาอย่างไรดี เพราะในความเห็นของแพทย์นั้น คนไข้สามารถหายใจและมีชีวิตต่อไปได้ในสภาพที่สื่อสารกันไม่ได้ต่อไป แม้ว่าบางวันจะดีขึ้น แต่ก็เป็นช่วงสั้นๆ
น้องๆที่ไม่เคยผ่านสภาพแบบนี้มาก็เรียกร้องให้รักษาต่อ แต่ผมและน้องๆบางคนก็เข้าใจว่า ไม่มีประโยชน์ต่อไปแล้ว ทรมานท่านเปล่าๆ ปล่อยท่านไปตามธรรมชาติดีกว่า
ประชุมใหญ่: น้องเรียกร้องให้มาประชุมพร้อมหน้ากันเพื่อตัดสินใจ ผมเดินทางกลับจากลาวก็บึ่งลงมากรุงเทพฯ อาการแม่นั้นบ่งบอกว่าอยู่ได้ด้วยเครื่องช่วยหายใจและยาที่คุณหมอให้ไว้ ถูกเจาะคอเพื่อให้อาหาร ฯลฯ
การประชุมใหญ่ก็เกิดขึ้น เราเลือกมุมหนึ่งของ รามาธิบดีนั่นเอง เรา 7 คนนั่งคุยกันโดยมาผมเป็นผู้ดำเนินการ ถูกลูกสาวแซวเอาว่า เหมือนประชุมการทำงานเลย อิอิ ก็เราดัดแปลงมาใช้ให้มันกระชับและได้สาระ
เราสรุปสถานการณ์ว่า
-
แม่จะไม่อยู่กับเราแล้ว ไม่วันใดก็วันหนึ่ง เร็วๆนี้
-
หากเป็นเช่นนั้นจริงจะเอาไปวัดไหน ระหว่างวัดกำแพงที่น้องคนหนึ่งเสนอ และวัดช้างที่อีกสองคนเสนอ
-
แพทย์ และพยาบาลพูดเป็นนัยๆมาแล้วว่า ขอให้เอาแม่กลับไปบ้านเถอะ ซึ่งต้องเตรียมซื้อเครื่องช่วยหายใจ และเตรียมคนดูแลที่ต้องมาเรียนรู้การให้อาหารและดูแลแผลที่คอที่เจาะไปแล้ว และอื่นๆ
นี่เรื่องใหญ่ เพราะที่บ้านไม่อยู่ในเงื่อนไขที่จะรับแม่ที่อยู่ในสภาพเช่นนี้ หากจะอยู่จริงๆต้องดัดแปลงบ้านใหม่ หาผู้ดูแลใหม่ ซื้อเครื่องช่วยหายใจ และงานที่แต่ละคนรับผิดชอบล่ะ ต้องลาออกมาดูแลแม่หรือเปล่า เรื่องใหญ่จริงๆ
-
หากวันนั้นแม่ไม่อยู่จริงๆเราจะต้องเตรียมอะไรบ้าง นี่ก็เรื่องใหญ่เพราะเราไม่เคยจัดงานด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องคุยกันตามที่เราเข้าใจ เป็นเรื่องๆ กำหนดรายละเอียดและผู้รับผิดชอบ กำหนดกันล่วงหน้าเลย เต็มสี่หน้ากระดาษ A4
-
ฯลฯ
เราใช้เวลามากกว่า 1 ชั่วโมงปรึกษาหารือกันในรายละเอียดทั้งหมด พร้อมทั้งมอบหมายผู้รับผิดชอบแต่ละเรื่อง
ย้ายโรงพยาบาล: ผมกลับไปทำงานในลาว และทราบว่ารามาสั่งให้ย้ายแม่ออกไป น้องๆวิ่งกันวุ่น ไปติดต่อ รพ.อำเภอวิเศษชัยชาญ เขาไม่รับ อธิบายว่าไม่พร้อมจะรับผู้ป่วยหนักแบบนี้ ไปติดต่อ รพ.อ่างทอง โชคดีเขายินดีรับ การโยกย้ายผู้ป่วยหนักเช่นนี้ก็ต้องอาศัยรถพิเศษซึ่งต้องเช่าพิเศษ น้องสาวติดต่อ รพ.อ.วิเศษ เขาไม่อนุญาต เลยไปจ้างรถจาก รพ.เอกชน ค่าจ้างแพงลิบ การเข้าไปรับก็ต้องนัดเวลาให้พอดี โอยวุ่นไปหมด การประสานงานเรื่องราวแบบนี้มันไม่ได้คำตอบทันที ต้องลุ้นต้อง…เสียงานเสียการกันทั่วหน้า
ร.พ.ต่างจังหวัด: สิ่งที่บันทึกต่อไปนี้มิได้มีเจตนาจะกล่าวร้าย ให้โทษผู้ใด แต่บันทึกสภาพที่เห็นที่ประสบ เพื่อเป็นบทเรียนท่านอื่นๆ
ร.พ.อ่างทองเป็นตึกใหม่มี 7 ชั้น แต่ใหม่แต่ตึก ที่ชั้น 5 มีเตียงผู้ป่วยอาการหนักเต็มไปหมด ร้องโอดโอยก็มี มีพยาบาลไม่กี่ท่าน มีคุณหมอหน้าตาเด็กๆ หนึ่งท่าน ตั้งแต่เอาแม่ไปถึง ได้เตียง ได้เครื่องช่วยหายใจ ยังไม่มีแพทย์มา น้องต้องไปถามเตียงใกล้ๆที่มาเฝ้าไข้ ได้ความว่า ญาติต้องดูแลคนไข้เอง พยาบาลมาตามเวลาเท่านั้น แพทย์ก็ต้องเป็นแพทย์ที่รับเป็นคนไข้ แพทย์อื่นๆที่เข้าเวรไม่มาดูแล แปลกๆข้างๆเตียงคนไข้ทุกเตียงจะมีญาติมานอนเฝ้าไข้ตามสภาพ คนไข้ 1 คนจะมีคนเฝ้าไข้อีก 1 คน
ผมเฝ้าดูแม่อย่างกระวนกระวาย บ่ายแก่ๆมีนายแพทย์หนุ่มหน้าใสมาเยี่ยมเตียง
คนไข้เป็นอะไรมาครับ แพทย์ถาม…เรางง งง…นึกในใจน้องหมอไม่ได้ศึกษาประวัติไข้เลยหรือ
น้องผมอธิบายสั้นๆ หมอก็ถามอีกสามสี่คำ เราก็บอกว่า เราเอาประวัติคนไข้มาจากรามาธิบดีทั้งหมดเลย เท่านั้นเอง น้องหมอก็เปิดไปหน้าแรกของแฟ้มเยี่ยมไข้ อ้ออยู่นี่เอง…
ลูกสาวผมไปอยู่ตรงนั้นด้วยเธอตะหงิดๆ เมื่อเทียบกับรามาธิบดีแล้ว ตรงกันข้ามเลยจริงๆ ลูกสาวหยิกผมพร้อมทั้งบอกว่า ปาป๊า เขียนลง บล็อกเลย หนูรับไม่ได้โรงพยาบาลจังหวัดนะเนี่ยมาตรฐานต่ำมาก แล้วเธอก็เดินออกไปนอกห้อง สักพักก็ยื่นกระดาษมาให้ เธอสรุปไว้แล้วว่าที่นี่มีสภาพเช่นใด…. หมอไม่มีความสนใจ ไม่มีความรับผิดชอบ การดูแลไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความสะอาด ไม่มีคำแนะนำที่ดี ไม่จำกัดเวลาเยี่ยม อิสระเต็มที่ อาหารคนไข้หนักไปเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องซึ่งอาจติดเชื้อได้ …อีกมากมาย…
อากาศร้อนมาก ญาติต้องเอาพัดลมมาเองจากบ้าน คืนแรกๆพวกเราต้องเฝ้าแม่กันเอง ปรึกษากันว่าจะต้องจ้างคนเฝ้ามาตลอด 24 ชั่วโมง เสริมการทำงานของแพทย์ พยาบาล น้องสาวก็หาข้อมูลทันที พบว่ามีคนที่รับทำหน้าที่นี้ ทำมา 12 ปีแล้ว คิดค่าจ้างคืนละ 500 บาท เราตัดสินใจเอาทันที
เราต้องซื้อเตียงเฝ้าไข้ให้ ดูแลอาหารการกิน แล้วระดมญาติพี่น้องที่พอจะปลีกตัวได้มาเปลี่ยนเขาเพื่อให้เขาทำภารกิจส่วนตัวบ้าง ซึ่งเราพบว่า เธอไปแอบนอนเสียมากกว่า… ผ่านไปสามสี่วัน น้องๆบอกว่า เธอทำหน้าที่ดีมาก 500 บาทไม่แพงเลยสำหรับการจ้างทำหน้าที่แทนเรา เธอมีประสบการณ์มาแล้วจึงรู้ว่าจะต้องทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ช่วงไหนต้องไปบอกพยาบาล ช่วงไหนต้องไปขอนั่นขอนี่จากพยาบาล…และสอนพวกน้องๆด้วยว่าจะต้องทำอะไรบ้างกับคนไข้ประเภทนี้
วันถัดมา ดีขึ้นมากเมื่อแพทย์ใหญ่มารับเป็นคนไข้ แต่ท่านไม่มีเวลามาประจำเต็มที่เหมือนที่รามา ทราบว่าท่านให้เวลากับคลินิกของท่าน..
ข้ามคืนเดียว เตียงข้างๆที่ว่างก็เต็มไปด้วยคนไข้ใหม่ ล้วนอาการร่อแร่มาทั้งนั้น บางคนดูสภาพแล้ว น้ำตาจะไหล ก็อยู่กันสองคนผัวเมียแก่ๆ ลูกหลานหายไปหมด สามีแก่ๆต้องมาดูแลเมียที่ป่วยหนักแทน ตัวเองก็เอาตัวเองแทบไม่รอดแล้วยังต้องมาดูแลเมียอีก ตามหลักที่เราทราบมาก่อนว่า ญาติใครก็มาดูแลกันเองเสริมพยาบาลที่มีจำนวนน้อย
เพียงคืนเดียวเมียรักก็จากไป ชายชราท่านนั้นจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร นั่นคือคำถามต่อสังคมใหญ่ว่า ผู้สูงอายุกลุ่มนี้ สังคมจะทำอย่างไร
สังคมผู้สูงอายุ คือสังคมสวัสดิการของรัฐ หรือสังคมตัวใครตัวมัน
ผมคิดว่า ผู้สูงอายุ ขึ้นกับสวัสดิการของรัฐ ขึ้นกับครอบครัว เงื่อนไขเดิมๆที่สังคมชุมชนมีส่วนช่วยกันดูแลนั้น จางหายไปเกือบหมดแล้ว
หลับตานึกถึงจำนวนโรงพยาบาลในระดับอำเภออีกนับร้อยนับพันแห่ง บุคลากรทางการแพทย์อีกจำนวนมหาศาล สถานฝึกอบรมผู้ดูแลผู้สูงอายุ และการรับสมัครผู้สนใจเข้ามาทำอาชีพหลักและทำอาชีพเสริม
ไปรอรัฐทำเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ ชุมชนต้องคิดอ่านหาทางช่วยกัน เป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายคนอย่างเราที่กำลังเดินไปสู่จุดนั้น…..