Entertainment Complex 2

65 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 ตุลาคม 2011 เวลา 16:04 ในหมวดหมู่ การบริหารจัดการประเทศ, งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 4084

ภาพของทุ่งกุลานั้นใครต่อใครก็นึกถึงความแห้งแล้ง ขาดแคลน การอพยพแรงงาน ขาดข้าวกิน ฯลฯ ล้วนเป็นสภาพที่เป็นความด้อย เป็นปัญหา เป็นอุปสรรคของการพัฒนาประเทศ จึงสมควรคิดใหม่ทำใหม่คือเลิกทำการเกษตรซะ เอาไปทำบ่อนกาสิโนสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นแสนๆล้านดีกว่า…..


ต้องยอมรับว่าอดีตนั้นมีสภาพเป็นเช่นนั้นจริงๆ แต่หน่วยงานราชการไทยและ NGO เข้าไปพัฒนามานานมากแล้วเปลี่ยนแปลงสภาพความทุกข์ยากดังกล่าวมาเป็นพื้นที่ทำเงินทำทองให้แก่เกษตรกรทีเดียว

มีสถานีพัฒนาที่ดินที่ กู่พระโกนา อ.สุวรรณภูมิ ทำหน้าที่ศึกษาพัฒนาพื้นที่นี้มานานแล้ว มีโครงการพิเศษที่กู้เงินจากต่างประเทศมาทำงานวิจัยและพัฒนามากมาย รวมทั้งเงินให้เปล่าของประเทศออสเตรเลียจนนำเข้าต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ฮือฮามากที่สุดในสมัยนั้น คือต้นยูคาลิปตัส สายพันธ์ คามาลดูเลซิส (พ่อครูบารู้เรื่องนี้ดีที่สุดท่านหนึ่ง) ผมเองมีส่วนร่วมของโครงการพัฒนาทุ่งกุลาอยู่บ้างในสมัยเมื่อสามสิบปีที่แล้วมา


กู่พระโกนา ที่ตั้งสถานีพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน

มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาทำงานแถบนี้หลายต่อหลายโครงการ จนปัจจุบัน จนเกิดค้นพบปราชญ์ชาวบ้านในแถบนั้นก็หลายท่าน มีโครงการของจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดรอบข้างทุ่งกุลา เช่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ฯ ที่เข้ามาเร่งรัดพัฒนาพื้นที่ทุ่งกุลาที่อยู่ในขอบเขตจังหวัดของตนกันมานาน

ในทางธรณีวิทยานั้น อีสานเคยมีน้ำทะเลท่วมมาสองครั้ง แต่ละครั้งนานนับล้านๆปี จนน้ำทะเลแห้งตกผลึกเป็นชั้นเกลือ ซ่อนอยู่ใต้ผิวดิน ที่เรียกภูเขาเกลือ หรือ Salt dome มีระยะห่างจากผิวดินแตกต่างกันไป มีอิทธิพลต่อผิวดินแตกต่างกันไปตามระบบธรรมชาติ และการทำกิจกรรมของคนบนผิวดินนั้น จนเกิดการแพร่กระจายของเกลือบนผิวดิน นี่เองที่นักวิชาการดิน (อาว์เปลี่ยนนี่ก็คนหนึ่ง) เข้าใจเรื่องนี้ดี และเกิดตั้งสำนักงานพัฒนาที่ดินที่ทุ่งกุลานี่เพื่อศึกษาค้นคว้าหาทางจัดการอย่างถูกวิธี ทุ่งกุลานั้นอยู่ในแอ่งโคราชของหลักทางธรณีวิทยา เป็นพื้นที่ลุ่มที่สุดของแอ่งนี้ กับแอ่งสกลนครที่มีหนองหาญเป็นพื้นที่ก้นกระทะของแอ่งนี้

ในทางประวัติศาสตร์ทุ่งกุลาคือแหล่งผลิตเกลือมาแต่โบราณกาล ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดมและคณะศึกษาเรื่องนี้และทำหนังสือมาแล้ว ใครสนใจหามาอ่านได้ และมีนักศึกษาทำปริญญาโท เอก ก็หลายท่าน

สมัยที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทุ่งกุลานั้นจำได้ว่ามีการศึกษาวิจัยกันมาก มีการจัดสัมมนาทางวิชาการก็หลายครั้ง การที่เอาออสเตรเลียมาร่วมทำโครงการเพราะ ออสเตรเลียมีพื้นที่คล้ายๆทุ่งกุลา และสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง จึงเอาประสบการณ์ที่นั่นมาใช้ จึงเป็นที่มาอย่างหนึ่งของการนำเข้ายูคาลิปตัสหลายสายพันธุ์ รวมทั้ง คามาล ดูเลซิส ยูคาลิบตัสมันเกี่ยวกับพื้นที่ที่มีความเค็มอย่างไร ผมไม่อาจลงรายละเอียดได้ แต่หากท่านขับรถผ่านทุ่งกุลาจะเป็นตามคันนามีแต่ต้นยูคาลิปตัสเต็มไปหมด

ผมจำได้ว่าการศึกษาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ดินเค็มนั้นมีมากมายหลายชนิด เช่นมะขามเทศ และข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งน่าที่จะมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านอีกจำนวนหนึ่ง แต่รัฐส่งเสริมการผลิตข้าวพันธุ์ดี พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนพันธุ์มาเป็นมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวที่มีความหอมมาก คุณภาพดีที่สุด ส่งออกตรงไปต่างประเทศก็มี เช่นที่ยโสธรที่มีกลุ่มเกษตรกรรวมกันผลิตข้าวมะลิอินทรีย์ส่งออก…


ดูเหมือนผมเคยกล่าวไว้บ้างว่า ข้าวมะลิ 105 ของไทยนั้นชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลกขายดี ประชากรโลกชอบและเป็นสินค่าส่งออกอันดับหนึ่งมานาน (แต่ชาวนาก็ไม่รวยสักที ?) มีต่างชาติพยายามที่จะเอาพันธุ์ข้าวมะลิ 105 ไปปลูกเพื่อแข่งกับไทย อย่างที่เรารับทราบที่อเมริกา เรียกข้าวจัสมิน ที่เวียตนาม และแม้ที่ลาว แต่ไปตั้งชื่อใหม่ แล้วก็อ้างสรรพคุณว่าหอมเท่ามะลิ 105 หรือดีกว่า แต่ราคาถูกกว่า

ผมเคยคุยกับท่าน ผอ.สถานีข้าวที่สกลนครชื่อ “พี่ขี” เข้าใจว่าท่านเสียชีวิตไปแล้ว ท่านเป็นนักวิชาการข้าวทำข้าวมะลิมานานและกล่าวว่า ไม่มีทางที่ต่างประเทศจะผลิตข้าวมาเทียบเท่ามะลิ 105 ของไทย ยกเว้นเทียบเท่า(ซึ่งไมเท่า) หรือปลอมปน หรือสรวมยี่ห้อ ท่านกล่าวว่าให้เอาเมล็ดมะลิ 105 ไปปลูกเถอะ ก็จะไม่ได้คุณสมบัติเท่าที่ผลิตในเมืองไทยแถบทุ่งกุลา หรือพื้นที่ใกล้เคียง ฟังดูเหตุผลคือ เพราะคุณภาพดิน(ที่มีความเค็มนิดหน่อย) และสภาพธรรมชาติบน Longitude และ Latitude ของประเทศไทยเท่านั้น ผมไม่มีความรู้เรื่องนี้ เพียงจำเอาการสนทนามาเล่าสู่กันฟัง

ทุ่งกุลาร้องให้ เปลี่ยนแปลงไปจากสภาพเดิมๆมากมาย กลายเป็นแหล่งเศรษฐกิจข้าวชั้นเลิศของประเทศไทย ไหนเลยจะเอาพื้นที่ไปทำบ่อนคาสิโน…

ความคิดชุ่ยๆ…แบบนี้เรียกอะไรดีล่ะ…หือ ท่าน

นี่คือตัวอย่างผู้หลักผู้ใหญ่เมืองไทยที่คิดอะไรไม่ดูรายละเอียดบริบทของพื้นที่นั้นๆ และหาข้อมูลรอบด้านเสียก่อน คิดแล้วไม่ทำก็ให้อภัยกันไป

แต่หากเอาจริงขึ้นมา คงสนุกหละครับ…


ที่ว่างของชาวบ้าน..

412 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 ตุลาคม 2011 เวลา 0:52 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 8068

ก่อนจะมาอีสานผมคุยกับเพื่อนๆว่า เราต้องรู้จักคน ดิน น้ำ ป่า ของอีสาน เราต้องเข้าใจพื้นฐานของสิ่งเหล่านี้ มิเช่นนั้นเราจะทำงานไม่ตรงกับคนและสภาพของอีสาน

วันหนึ่งมีการสัมมนาที่สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยขอนแก่นเกี่ยวกับเรื่องน้ำในอีสานนี่แหละ มีนักวิชาการผู้ชำนาญการหลายท่านมาให้ความรู้ความเข้าใจและความเห็นต่อการบริหารจัดการน้ำในอีสาน ผมเห็นวิทยากรท่านหนึ่งถูกแนะนำว่าเป็นชาวบ้าน เป็นปราชญ์ เมื่อท่านพูด นำเสนอประสบการณ์ของท่าน ผมก็ทึ่งว่าชาวบ้านท่านนี้ทำไมใช้สื่อเพื่อการนำเสนอเก่งจัง สาระก็เป็นฐานรากของปัญหาและประสบการณ์การแก้ไขที่ท่านลงมือทำเอง

เนื่องจากผมทำงานพัฒนาชนบทมาพอสมควร รู้จักชาวบ้านพอสมควร ย่อมรู้ดีว่า ชาวบ้านนั้นเป็นนักปฏิบัติ พูดไม่เก่ง ยิ่งนำเสนอเป็นเรื่องเป็นราวนั้นยิ่งไปใหญ่เลย แต่ก็มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งที่เด่นชัดเจน ชาวบ้านเหล่านั้นมักเป็นคนที่มีตำแหน่ง มีหน้าที่อยู่ในชุมชน หรือท้องถิ่นนั้นๆ แต่ท่านผู้นี้วาจาคารมคมคายนัก ง่ายๆ ตรงๆ และถูกใจผมมาก

แม้ว่าจะมีการแนะนำตัวผมก็ไม่รู้จักท่าน จริงๆ แล้ววันเวลาก็ผ่านเลยไปจนผมก้าวเข้ามาในสังคมเสมือน Cyber community ที่ Go to Know หรือที่เรียกกันภายในว่า G2K ผมก็มาพบชาวบ้านท่านผู้นี้อีกครั้ง ท่านเขียนบันทึกทุกวัน มากมายนับไม่ถ้วน ผมกลายเป็นแฟนคลับท่านไปโดยไม่รู้ตัว เพราะติดใจในสาระและรสอักษรของท่าน ….

ผู้นำหลายคนที่ทำเก่งมาก แต่พูดไม่ได้ความ ผู้นำบางคนทำพอใช้ได้ แต่พูดเก่งเป็นไฟ และก็มีบางคนที่พูดน่าฟัง มีหลักมีเกณฑ์ แต่ไม่ได้ทำเท่าไหร่ การพูดคนธรรมดานั้นหลายท่านก็เอาเรื่องอยู่ เพราะวัฒนธรรมการใช้ภาษาของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน ต้องตีความหมาย และชาวบ้านจะไม่พูดอะไรเป๊ะๆ แต่จะใช้ภาษาแบบประมาณนั้น, คล้ายๆแบบนั้น, ทำนองนั้น, ฯลฯ แต่ท่านผู้นี้ใช้ภาษาได้ดี โดยเฉพาะภาษาไทยโบราณ จนบางคำผมลืมไปแล้ว

ผมชอบใจที่ท่านพูดดี เขียนก็ดี และที่สำคัญทำงานก็ดี สรุปบทเรียนดี เป็นคุณสมบัติที่หายากยิ่งในระดับชาวบ้าน

ผมมีโอกาสเดินทางไปชุมนุมเพื่อนร่วมก๊วนเขียนบล็อก ที่บ้านของท่านผู้นี้ ผมต้องทึ่งอีก เพราะที่พักของท่านแวดล้อมไปด้วยต้นไม้ หลากหลาย ร่มรื่น และที่นี่เองเป็นห้องเรียนสารพัดเรื่อง

พ่อชาดี วงษ์กะโซ่ ปราชญ์ชาวบ้านแห่งดงหลวงนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองสูงนักเกินชาวบ้านทั่วไป ท่านยึดมั่นหลักการยิ่งนัก พ่อแสน แห่งดงหลวงก็เช่นกัน รับรางวัลมาหลายครั้งทั้งระดับจังหวัดและระดับชาติ ก็เพราะท่านเป็นนักสังเกตธรรมชาติและเอามาดัดแปลงใช้ในป่าครอบครัวของท่าน การค้นพบหลายอย่างของท่านก็มาจากการปฏิบัติ และเฝ้าพิจารณาเมื่อพบความจริงก็เอามาขยายต่อ ทดลองทำจนพบความสำเร็จ นายสีวร หนุ่มผู้อกหักจากการเร่ร่อนไปรับจ้าง แต่ก็มาปลื้มกับเกษตรผสมผสานหลังบ้านแปลงเล็กๆที่เหลือกินเหลือใช้ ขายจนมีรายได้วันละ 200-300 บาท

ท่านเหล่านี้ผมได้นำชีวิตท่านยกขึ้นบนเวทีสาธารณะในสังคมเสมือน เพราะผมตั้งเจตนาไว้ประการหนึ่งว่า บล็อก นี้ควรจะเป็นเวทีสำหรับชาวบ้านบ้าง ผ่านเราผู้ไปพบไปเห็นไปสัมผัส ก็ควรนำท่านมาสู่สาธารณะบ้างตามวาระ

ในสังคมสื่อสารนั้นไม่ว่าหน้าหนังสือพิมพ์ หน้าจอทีวี เสียงทางวิทยุ หรือแม้แต่ Social network ต่างๆนั้น ล้วนเป็นคนชั้นกลางขึ้นไปทั้งนั้นที่มาวาดลวดลายบนสื่อเหล่านี้ ทั้งทำเองและนักสื่อสารหยิบเอามาทำข่าวด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆกัน แต่ไม่มี หรือมีน้อยมากๆที่จะเป็นพื้นที่ของชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ

เมื่อผมคุ้นชินกับสังคมเสมือนและกลายเป็นสมาชิกของสังคมนี้ ผมดีใจที่สังคมแห่งนี้มีพื้นที่สำหรับชาวบ้าน โดยเฉพาะชาวบ้านอย่างปราชญ์แห่งอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ที่ชื่อ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญาพฤทธิ์ ที่ผมเรียกท่านว่าพ่อครูบาฯ ท่านสร้างเวทีของท่านเอง ท่านสร้างพื้นที่ในสังคมแห่งนี้ขึ้นมาเอง และบรรเลงเพลงชีวิตการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของชาวชนบท ที่มักเป็นอันดับท้ายๆของการพัฒนาจริงๆ แต่เป็นอันดับต้นๆของการประชาสัมพันธ์โดยรัฐและการชอบอ้างถึงของนักการเมืองยุคทุนนิยม

ประสบการณ์ที่อัดแน่นในชีวิตของพ่อครูบานั้นเป็นครูสำหรับคนทั่วประเทศ เป็นห้องสมุดให้นักศึกษามาค้นคว้าทำปริญญากันมากมาย เป็นลายแทงให้นักแสวงหาทั้งหลายมาค้นหา เป็นทองคำบริสุทธิ์ให้ผู้คนทั่วสารทิศมาร่อนเก็บเอาไป ฯลฯ และเป็นบึงใหญ่น้ำใสแจ๋วให้ลูกหลานได้ดื่มกินจนชุ่มชื่นใจ

พื้นที่แห่งนี้คือพื้นที่ของพ่อครูบาฯ ชาวบ้านของปวงชนที่สร้างขึ้นมาเพื่อสังคม ผู้แสวงหาเท่านั้นจึงจะค้นพบ…

พ่อครูบาฯ….. ชาวบ้านน้อยคนนักที่จะมีที่ยืนเช่นนี้



Main: 0.025326013565063 sec
Sidebar: 0.062397003173828 sec