มุมเล็กๆของตุลาวิปโยค 54
อ่าน: 1667ยามหนีตายเพราะน้ำท่วมนี้เราสามารถบอกได้ว่า ชีวิตต้องการอะไรเป็นขั้นพื้นฐานเพียงเพื่ออยู่รอดเบื้องต้น Basic Minimum Needs (BMN) กระทรวงสาธารณะสุขกำหนดไว้ นั่นเป็นวิชาการทางการ แต่อาละไม อาสะอาด ของผมนั้นไม่รู้หรอกว่า BMN คืออะไร แต่ยามหนีตายนั้นต้องการพื้นที่สะอาดพอนั่งนอนได้ เหยียดขาเหยียดแข้งได้ มีห้องน้ำพอไม่อุจาด มีน้ำสะอาดดื่ม มีข้าวกิน ไม่ต้องแกงเนื้อแกงไก่ อะไรหลอก มีอะไรก็กินได้ มีเพื่อนบ้านพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ ไม่ต้องอะไรหรูหรา ไม่ต้องมีราคา ค่างวดอะไร
ยามน้ำขึ้นตามฤดูกาลปกตินั้น ชาวบ้านภาคกลางเขารู้ และทำตัวให้สอดคล้องกับน้ำได้ เพราะชีวิตอยู่กับน้ำมาตั้งแต่เกิด และน้ำตามธรรมชาตินั้นค่อยๆเพิ่มขึ้น วันต่อวัน แต่น้ำท่วม มันเป็นปรากฏการณ์ “ตุลาวิปโยค 54″ ชาวนาภาคกลางก็สู้ไม่ไหว มาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวแบบนี้มีสิทธิตายเย็นได้
พี่ ป้า น้า อา ที่ยังทำนาก็บอกหมดตัว ญาติที่ไม่ได้ทำนาแต่ให้เพื่อนบ้านเช่านาก็บอกงดไม่เก็บค่าเช่าปีหน้าฟ้าใหม่ค่อยว่ากัน แถมจะเอาข้าวที่เหลือในยุ้งให้ไปกินอีก
ยามที่ทำอะไรไม่ได้ก็ไม่นั่งเจ่าจุก หยิบเบ็ด หยิบแหไปหาปลาตามแหล่งที่มันก็อพยพเหมือนกัน พอได้กินไม่ต้องซื้อเขา หากจะว่าไปแต่โบราณน้ำท่วมก็ไม่เห็นใครไปแหกปากเรียกร้องกับรัฐบาล ต่างก็ช่วยตัวเองและช่วยกันในชุมชน ใครมีอะไรก็แบ่งกัน ปันกัน แนวคิดนี้น่าจะดีกว่าที่จะรอพึ่งจากรัฐเท่านั้น ..พึ่งตนเองและพึ่งพากันและกัน…
ที่บ้านไม่ไปขอความช่วยเหลือจากใคร พี่น้อง ญาติช่วยกันเอง ปล่อยให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ไปช่วยท่านอื่นๆเถอะ เราแบกภาระดูแลญาติที่อพยพมาจากอยุธยา เราไม่คิดเป็นอื่นเลยเพราะนั่นคือครอบครัวของเรา แม้ไม่ใช่ญาติเราก็เคยให้พักพิงอาศัย ให้ข้าวให้น้ำ จนมือปืนคนหนึ่งถูกจ้างให้มาเอาชีวิตน้องเขยยังบอกภายหลังว่า …ทำไม่ได้หรอกเพราะเคยมากินข้าวกินน้ำบ้านนี้.. ชนบทหรือคนดั้งเดิมนั้นเขามีอะไรที่คนสมัยนี้ไม่มี หรือหายากเต็มที
สังคมมันเปลี่ยนไปมาก ความเป็นชุมชนมันเปลี่ยนไปจากรูปแบบเดิมๆ เหมือนผมไปสำรวจแถบประทุมธานี ชุมชนหมู่บ้านจัดสรรนั้น ตัวใครตัวมัน แม้จะเลือกตั้งกรรมการชุมชนขึ้นมา เขาก็บอกว่าปกครองยาก ทำงานยาก ส่วนหนึ่งเป็นคนทำงาน ไม่มีเวลาอยู่กับบ้าน เวลาอยู่บ้านก็เก็บตัวเงียบในรั้วบ้านของตัวเอง ไม่เหมือนชุมชนนอกออกไปแถวหนองเสือ ที่มีลักษณะบ้านนอกมากกว่า เอ่ยถามใครก็รู้จักกันหมด
แต่ลึกๆความเป็นมนุษย์ก็แสดงคุณสมบัติความเอื้ออาทรออกมาได้เหมือนกัน ดูอาสาสมัครซิ เหน็ดเหนื่อย เสียสละ และลงทุนตัวเองไปเพื่อสาธารณะ…. เหมือนคำให้สัมภาษณ์ที่ธัญบุรีว่า แม้คนในหมู่บ้านจัดสรรจะอยู่แบบตัวใครตัวมัน แต่เมื่อมีวิกฤตมากระทบ หรือมาถึงตัว ใกล้ตัว ก็ออกมารวมกันได้ แต่ความรู้สึกช้าไปเมื่อเทียบกับชุมชนชนบท
สังคมเป็นปัจเจกมากขึ้น แรงเกาะเกี่ยวทางสังคมเจือจางไป คนในหมู่บ้านตัวเองไม่รู้จักแต่ไปมีสังคมใหม่ที่ทำงาน ชมรมที่ตัวเองเป็นสมาชิก แม้แต่สังคมออนไลน์แบบนี้ก็เช่นกัน ผมเคยถูกศรีภรรยาแซวแรงๆเอาว่า แหมๆๆๆๆๆทีเฮฮาศาสตร์ละกอดกันกลมไปเลย ทีเมียตัวเองไม่ค่อยกอด
.. ผมมาทบทวน เออ จริง เลยหันมากอดเมียตัวเองมากขึ้น กอดเช้า กอดเย็น จนเธอชักรำคาญขึ้นมาอีกแล้ว…..
เพราะคนอ้วนกับคนอ้วนกอดกันนี่
มันยิ่งกว่ากลมน่ะซีครับ .. อิอิ