อยู่กับน้ำ
อ่าน: 4783นึกถึงสมัยที่ผมเด็กๆอยู่ที่บ้านวิเศษชัยชาญ พื้นที่น้ำท่วมในฤดูน้ำคือหลังทำนาแล้วฝนก็ตกใหญ่น้ำเหนือก็ไหลบ่า น้ำก็ท่วมทั้งแม่น้ำน้อยและทุ่งนาและที่อยู่อาศัย แต่ไม่มีปัญหาแต่อย่างใดเพราะมันเกิดมานับร้อยปีมาแล้วตั้งแต่มีการตั้งหมู่บ้าน ชุมชน เมื่อฤดูกาลแต่ละปีจะมีช่วงหนึ่งน้ำท่วม วิถีชีวิตก็ปรับให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ
ไม่เดือดร้อนเหมือนน้ำท่วมในปัจจุบัน
เพราะวิถีชาวบ้านนั้นทำนา เก็บข้าวไว้กินใส่ยุ้งฉางไว้ จะกินเมื่อไหร่ก็เอาไปใส่ครกใหญ่ตำ ต่อมาพัฒนาเป็นเครื่องสีข้าวมือ ต่อมาเป็นโรงสีใหญ่ และโรงสีเล็ก เลิกการตำและสีข้าวมาเป็นจ้างโรงสี หรือขายข้าวแล้วซื้อข้าวกิน
หุงข้าวด้วยฟืนก็เตรียมไว้ตั้งแต่ช่วงเริ่มฤดูทำนาใหม่ๆ เด็กๆมีหน้าที่ไปตัดต้นก้ามปูมาเป็นฟืน แล้วเอามากองให้สูงเหนือระดับน้ำที่ชาวบ้านรู้ดีว่าแต่ละปีน้ำสูงแค่ไหน เรามี “โคก” เป็นพื้นที่ปลูกพืชผักทุกอย่างที่อยากกิน และเมื่อน้ำท่วมพืชผักในฤดูน้ำก็มีมาโดยธรรมชาติ ปลามีมากมาย ใครมีปัญญาจับก็เอามากิน มาขาย มาแบ่งปันกัน
การคมนาคม บ้านผมมีเรือไผ่ม้า เรือบด เรืออีป๊าบ และเรือมาด เรือแต่ละชนิดใช้ประโยชน์ต่างกัน เลือกใช้ตามวัตถุประสงค์ มีใบพายที่พ่อทำขึ้นมาเอง พ่อรู้จักว่าจะทำใบพายแบบไหนจึงจะเบาแรงและใช้ได้ดี เราเตรียมเรือตั้งแต่ก่อนเข้าฤดูทำนา เอามาขัดด้วยแปรงทองเหลืองทั้งด้านนอกด้านในเพื่อเอาสิ่งไม่พึงประสงค์ออกไปแล้วก็ทาด้วยน้ำมันยางโดยลงชันอุดตามรอยต่อเรือ หรือรูรั่วต่างๆที่ชาวบ้านรู้ดีว่าเรือลำนี้ตรงไหนมีรูรั่ว ตรงไหนชำรุดก็ซ่อมแซม พร้อมใช้งานในช่วงน้ำหลาก
เรือซึ่งเป็นพาหนะของสังคมชุมชนในช่วงฤดูน้ำนั้นมีหลายวัตถุประสงค์ หลักๆคือเอาไปใช้ทำนาบรรทุกสิ่งของที่ต้องใช้ หรือเอาไปเยี่ยมแปลงนา กำจัดวัชพืชที่มักเป็น “ต้นซิ่ง” เริ่มมีการฉีดพ่นสารเคมีเพื่อกำจัดวัชพืชในแปลงนา จำได้ว่าจะฉีดยาฆ่าวัชพืชที่เรียกต้นซิ่งนี้ ในถังน้ำยาต้องใส่ผงซักฟอกลงไปด้วย นัยว่าช่วยให้น้ำยาจับใบวัชพืชมากขึ้น หากไม่ใส่ผงซักฟอกน้ำยาเคมีจะไม่จับใบพืชชนิดนี้ เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบอน สิ้นเปลืองยา วัชพืชไม่ตาย
เมื่อวันโกนวันพระมาถึง เราแต่งตัวสวยงามพากันพายเรือไปทำบุญที่วัดกันทั้งครอบครัว เด็กๆชอบใจเพราะจะได้กินขนมแปลกๆที่ชาวบ้านจะเอาข้าว เอาขนมมาแลกกัน หลังจากที่ถวายพระทำบุญแล้ว เด็กๆได้เล่นกัน แต่อยู่ในสายตาการสอนการดูแลของผู้ใหญ่
หมู หมา กา ไก่ มีร้านให้เขาอยู่อาศัย แม้แต่สัตว์ใหญ่เช่น ควายทั้งคอก เราทำร้านให้เขาอยู่ หรือเรียกง่ายๆคือ สร้างเรือนให้ควายอยู่ แล้วชาวบ้านเจ้าของก็ไปตัดหญ้ามาให้เขากินทุกเช้า เหล่านี้มีการเตรียมตัว จัดทำมาก่อนหน้าที่น้ำจะหลากมาแล้ว
เรามีข้าวในยุ้ง เรามีน้ำดื่มเพราะรองน้ำใส่ตุ่มไว้ตั้งแต่ฤดูฝนปีก่อน มีตุ่มมากเพียงพอที่เก็บน้ำดื่มได้ทั้งปี อาหารมีตามฤดูกาล การเดินทางใช้เรือ วัฒนธรรม ประเพณีตามฤดูกาลก็มี เช่น เข้าพรรษา ออกพรรษา กฐิน ผ้าป่า การทำบุญวันพระ การแข่งเรือยาวช่วงออกพรรษา สมัยนั้นยังมีการเล่นเพลงเรือ คนเฒ่าคนแก่ออกมาต่อเพลงเรือกันสนุกสนาน
มีการทำกระยาสารท กล้วยไข่ มีการย้อมแห อวนด้วยผลไม้ชนิดหนึ่งเอามาตำใส่ครกใหญ่แล้วเอาน้ำมาย้อม เพราะยางของผลไม้ชนิดนี้มีคุณสมบัติเกาะจับแน่นกับผ้าหรือฝ้ายการห่อหุ้มผ้าหรือเส้นใยทำให้รักษาคุณภาพทำให้คงทนต่อการใช้งาน
ช่วงนี้ก็จะจับปลามาเป็นอาหารและทำแห้งเพื่อเอาไว้ใช้ในยามเกี่ยวข้าว พอน้ำเริ่มลดลง ปลาออกจากทุ่ง ก็จะมีการทำยอยกจับปลาในบริเวณที่ปลาจะออกมาจากทุ่งลงสู่แม่น้ำน้อย ปลาชนิดหนึ่งจะขึ้นมาจากเจ้าพระยา เข้าสู่แม่น้ำน้อย และมาเป็นฝูงใหญ่ๆ คือปลาสร้อย ปลาชนิดนี้เป็นปลาชั้นเยี่ยมที่เอามาทำน้ำปลา ตั้งแต่มีการสร้างประตูน้ำพระอินทร์ ที่วิเศษชัยชาญก็ไม่มีปลาสร้อยอีกต่อไป เพราะมันไม่สามารถผ่านประตูน้ำขึ้นไปได้ ปลาที่ชาวบ้านทำแห้งมากที่สุดคือปลาตะเพียน ปลาช่อน..
ไม่เห็นต้องกักตุน เพราะมีการเตรียมมาแล้วตามปกติของวิถีในรอบปี
เมื่อน้ำลดลงงานในนาก็เริ่มเข้มมากขึ้นนั่นคือ ฤดูหนาวเข้ามาข้าวในนาเริ่มสุก งานใหญ่รอข้างหน้าคือการเก็บเกี่ยว พ่อบ้านจะเตรียมอุปกรณ์ เช่น เคียวเกี่ยวข้าว คันฉาย หลาว เขน็ดมัดฟ่อนข้าว เครื่องสีฝัด ลานกองข้าว
แต่วิถีชีวิตแบบนี้ค่อยๆเปลี่ยนไปเมื่อไฟฟ้าเข้ามา ถนนเข้ามา เด็กรุ่นใหม่เข้าเมือง เรียนหนังสือ พืชใหม่ๆเข้ามาแทนนาข้าว ระบบชลประทานเข้ามา เงินซื้อทุกอย่าง
คนเมืองเป็นอีกระบบของชีวิต ที่ทำเงินอย่างเดียวนอกนั้นซื้อทุกอย่าง เป็นวิถีชีวิตที่มีความเสี่ยงเมื่อภัยพิบัติใหญ่เกิดขึ้น
วิถีชีวิตแบบอยู่กับน้ำในอดีตนั้นอยู่ได้แม้จะมีภัยพิบัติ
แต่ค่อยๆเปลี่ยนแปลงไป…