อาจารย์บัณฑร อ่อนดำ
อ่าน: 32893ผมไม่ได้เรียนจบมาทางการพัฒนาชุมชน แต่มาทำงานพัฒนาชุมชนตั้งแต่เรียนจบ มช. ถามว่าทำไม ก็ต้องพูดกันตรงๆว่า ผมเข้าเรียนในอุดมศึกษาช่วงการเติบโตของขบวนการนักศึกษาพอดี ความที่มาจากบ้านนอก เห็นความไม่เป็นธรรม และความแตกต่างของสังคม จึงเข้าร่วมและมีส่วนจัดตั้งพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยด้วย จนประสบผลสำเร็จในการเสนอทีมงานขึ้นไปบริหารงานองค์การนักศึกษาในสมัยนั้น
ทั้งๆที่เพื่อนเดินเข้าสู่ระบบราชการกันทั้งนั้น บางคนเรียนต่อ แต่ผมเดินสู่ชนบท ผมไปฝึกงานที่บูรณชนบทแห่งประเทศไทยที่ชัยนาท ซึ่ง ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์เป็นผู้จัดตั้งขึ้น โดยเอาหลักการมาจาก ดร.เจมส์ ซี เยนจากฟิลิปปินส์ นั่นคือ Credo 10 ประการ ผมถูกฝึก และเรียนรู้กระบวนวิธีการทำงานพัฒนาชุมชนมาจากการทำจริง และ On the Job Training (OJT)
สมัยนั้นเราเอาหลักการพัฒนาชุมชน สังคม มาจาก “คิปบุช และ โมชาร์ป” ของอิสราเอล เอาหลักการ “เซมาเอิลอันดอง” มาจากเกาหลี เอาหลักการ “ซาโวดายา” มาจากศรีลังกา แม้ “ธนาคารคนจน” จากบลังกาเทศ หน่วยงานส่งคนไปเรียนที่ เซียโซลิน และสถาบัน PRRM ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงาน “หุบกะพง” ที่มีชื่อเสียงในขณะนั้น
หน่วยงานที่มีบทบาทในการพัฒนามากๆน่าจะเป็นสภาแคทอลิคแห่งประเทศไทย และ NGOs ทั้งหลายที่กระจายตัวออกมาจากที่องค์กรต่างประเทศมาทำค่ายผู้ลี้ภัยสงครามเวียตนาม เขมร ตามชายแดนไทยตะวันออก
สมัยนั้นราชการคือกรมการพัฒนาชุมชนที่เรียกสั้นๆว่า พช. หรือ CDD ส่งคนไปเป็นพัฒนากรตำบล และกรมส่งเสริมการเกษตรมีเกษตรตำบล กระทรวงสาธารณะสุขเริ่มมีการทดลองสร้าง อสม.แห่งแรกที่ อ.สารภี จังหวัดลำพูน และมีพื้นที่ที่ควบคุมในลักษณะงานวิจัยคือ อ.สะเมิง ซึ่งผมทำงานที่นั่นพอดี
เรามีชมรมนักพัฒนาชนบทภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ และแห่งประเทศไทย แบบจัดทำกันเอง มีการประชุมกันทุกปีเพื่อสรุปบทเรียนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน
และสมัยนั้นเราไม่โดดเดี่ยวมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่ลงมาช่วยเหลือหลายท่าน สืบต่อมาจากที่ ดร.ป๋วยท่านสร้างโครงการบัณฑิตอาสาสมัครขึ้นมาเป็นครั้งแรกที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีคณาจารย์หลายท่านที่ศรัทธา ดร.ป๋วย ก็ออกมาช่วย
หนึ่งในคณาจารย์นั้นคือ อาจารย์ บัณฑร อ่อนดำ…ท่านเป็นอาจารย์สอนภาควิชาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่านจบสังคมวิทยามาจาก Cornell University นักพัฒนารู้จักท่านกันทุกคนเพราะท่านคลุกคลีอยู่ในวงการนี้มานานมาก กระบวนวิธีการสอนของท่านก็ไม่มีใครนั่งหลับก็แล้วกัน ท่านเรียบง่าย กันเอง ถ่อมตน แต่ให้ความรู้แบบมีเท่าไหร่ให้หมด นักพัฒนาจึงรักใคร่อาจารย์มาก เชิญอาจารย์เป็นที่ปรึกษามากมาย..
ท่านทำงานไม่เคยหยุดแม้อายุท่านจะเลยวัย 70 ไปแล้วหลายปี ผลงานเด่นของท่านเกี่ยวกับชุมชนนั้น เป็นที่ลือลั่นเมื่อท่านเสนอผลงานชื่อ Rural System Analysis หรือ RSA ซึ่งพัฒนามาจาก Participatory Rural Appraisal (PRA) หรือ Rapid Rural Appraisal (RRA) สมัยที่เข้ามาเมืองไทยใหม่ๆ
อาจารย์บัณฑร ท่านเป็นกรรมการระดับชาติหลายคณะ หนึ่งในนั้นก็คือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมการที่ ท่านรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์แต่งตั้งขึ้นมา
อาจารย์ยืนข้างประชาชนมาตลอดและไม่เคยเปลี่ยนแปลงที่พักท่านไม่มีใครรู้จัก แล้ววันหนึ่งอาจารย์ ดร. มรว. อคิน รพีพัฒน์ บอกพวกเราว่า บ้านอาจารย์บัณฑรท่านอยู่ในสลัมแห่งหนึ่ง..? และไม่กี่ปีที่ผ่านมาท่านไปซื้อที่เล็กๆที่ขอนแก่นปลูกกระต๊อบอยู่กับลูกศิษย์ที่ทำงานพัฒนาชนบท
อาจารย์บัณฑร เข้ามาช่วยงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการต่างๆให้กับบริษัทที่ปรึกษาที่ผมสังกัดอยู่ด้วย เราไม่เคยร่วมงานในนามบริษัท แต่ผมก็ยังหอบงานไปปรึกษาท่านเสมอๆ
ท่านอาจารย์เป็นผู้ให้ ให้กับนักพัฒนา ให้กับสังคมนี้มามากมาย หลายคนเติบโตไปในสังคมแห่งนี้ หลายคนเป็นผู้นำการต่อสู้แนวหน้าของวงการ และหลายคนยังเดินวนเวียนอยู่ในชุมชนทั่วประเทศ
วันนี้ด้วยวัย 70 เศษของท่านต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ขอนแก่น ตึกออโธปิดิก เพราะร่างกายท่อนล่างของท่านเป็นอัมพฤกษ์ แต่ท่อนบนดีมากๆ คุยลั่นเหมือนเดิม
เชิญลูกศิษย์ลูกหาไปเยี่ยมท่านนะครับ
RDI คิดจะจัดสัมมนาผลงานของท่านในเร็วๆวันนี้เพื่อกระจายองค์ความรู้และผลงานท่านพร้อมทั้งรับบริจาคเงินมาดูแลท่านยามที่ท่านเจ็บป่วย ท่านให้สังคมมามากแล้ว
ถึงคราวที่ลูกศิษย์ควรดูแลท่านบ้าง อาจารย์บัณฑร อ่อนดำ ผู้อยู่เคียงข้างความเป็นธรรม และประชาชนมาตลอด…
(ขอบคุณภาพจาก internet)