ขอไม่ได้แล้ว..

814 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กรกฏาคม 2011 เวลา 18:01 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม, ทุนสังคม #
อ่าน: 11113

ไม่ได้ใช้บริการรถไฟมานาน เมื่อวันก่อนก็ทดลองดูโดยนั่งจากดอนเมืองไปขอนแก่น โอยหอบของพะรุงพะรังจากสนามบินดอนเมืองไปสถานีรถไฟดอนเมือง ฟังดูไม่น่าจะไกล แต่การหอบกระเป๋าสองใบกับ 1 กล่องนั้น หากใกล้ๆและเป็นในอาคารสนามบินก็มีรถเข็นแต่นี่ไม่ใช่ เลยนึกว่า เอาวะยอมเสียเงินจ้างแท๊กซี่จากสนามบินดอนเมืองนั่งอ้อมยูเทอนไปสถานีรถไฟ เสียเท่าไหร่ก็ยอม ปรากฏว่าไม่มีคันไหนยอมไป….เดาเหตุผลได้ครับ..

เห็นที่จะต้องหอบข้ามสะพานลอย เมื่อขึ้นไปข้างบนแล้วก็วางสัมภาระลงพยายามมองหาสถานีรถไฟ มองไม่เห็น ถนนก็มีรถวิ่งเต็มไปหมดไม่มีทางเดินสำหรับคน ข้อมูลที่ได้มาก่อนคือ อุโมงค์ลอยฟ้าที่เชื่อมดอนเมืองนานาชาติกับโรงแรมอัมมารีนั้นเขาปิดตายไปแล้ว เอ ท่าจะต้องทำตามคำแนะนำที่ได้รับมาจากพนักงานเก็บรถเข็นที่สนามบินดอนเมืองคือเดินข้ามสะพานลอยแล้วไปเช่า ‘มอไซด์ เดินลงสะพานลอยด้วยเปะปะ ‘มอไซด์เห็นก็ไม่ทันคุยกันโยกมือขึ้นแล้วเขาก็สตาทรถออกเลย เราก็นั่งหลังด้วยของเต็มหลังและมือสองข้าง อิอิ

โฮ ไกลเอาเรื่องกว่าจะมาถึง นี่หากเดินมาก็เรียบร้อยเลย…

เอาตั๋วที่ซื้อไว้ไปแสดงเป็นรถนอนแอร์ราคา 672 บาท พนักงานบอกว่ารถจะมาสองทุ่มห้าสิบโปรดนั่งคอนทางหัวขบวน…

โอย…เอาหนังสือมานั่งอ่านไปตบยุงไป สังเกตวิถีคนที่นี่ มีคุณยายแก่ๆมานั่งขายมะนาวสองสามกอง มีเจ้าของร้ายขายน้ำนั่งเซ็งๆ นอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจท่องเที่ยว แต่งตัวรัดรูปดูแล้วทะมัดทะแมง เดินไปมา มีพนักงานรถไฟเดินมาเก็บเศษขยะไปลงถัง อือ..ดีจริงๆ

สักพักหนึ่งก็มีประกาศทางสถานีมีรถเข้า เดี๋ยวมีรถออก เดี๋ยวมีรถเที่ยวเข้า เที่ยวออก ที่ผ่านไปเฉยๆก็มี ที่จอดแวะก็มีให้คนจากด้านในกรุงเทพฯมาลงที่นี่

สักพักใหญ่ๆก็มีพ่อแม่ลูกสองคน มานั่งข้างๆผม ผมขยับสัมภาระให้เขานั่ง เขายิ้มๆ พักใหญ่ๆได้ยินเขาพูดอีสานก็เดาว่าเป็นชาวอีสานจึงถามว่าจะไปลงไหน เขาบอกว่าจะไปขอนแก่น… อ้าว ไปที่เดียวกัน ก็เลยยิงคำถามเป็นชุดเพื่อกวาดรายละเอียดของคนนี้ ครอบครัวนี้มาเพื่อจะได้รู้จัก เข้าใจเขา

มาเยี่ยมแม่ยายที่อายุมากแล้วไม่สบาย ต้องการกลับไปบ้านที่ อ.น้ำพอง ขอนแก่น แต่ก่อนมาทำงานเป็นช่างแอร์กับญาติที่กรุงเทพฯ โดนไฟดูด สลบไปสามวันเลยเลิกอาชีพนี้กลับไปอยู่กับพ่อที่บ้านทำนาและทำอาชีพช่างไม้ตามพ่อ เรียนรู้ความรู้จากพ่อและพ่อก็เสียชีวิตไปแล้วเมื่อต้นปีจึงรับสืบอาชีพช่างไม้เต็มตัวคู่กับการทำนา การทำช่างไม้นั้นมีคู่แข่งเยอะ ทำที่บ้านไม่ได้ออกไปรับงานต่างจังหวัด เน้นฝีมือที่ละเอียดสวยงาม มิเช่นนั้นแข่งกับเขาไม่ได้

ผมถามว่านาเป็นไงบ้าง เขาปลูกข่าว กข.และมะลิ ปีนี้แล้ง เขาเน้นว่าหากเดือนนี้ฝนไม่ลงมามากเพียงพอคงจะตายหมดหรือไม่ได้ผล

ผมถามต่อว่า ถ้างั้นก็ต้องไปขายแรงงานเอาเงินมาซื้อข้าวซิ เขาพยักหน้า แล้วบอกว่า ต้องหาเงินซื้อข้าวส่งลูกเรียนหนังสือ และค่าใช้จ่ายอื่นๆในบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำมันรถ ‘มอไซด์ ด้วย หากเกิดปัญหาแบบนี้สมัยก่อนเราก็ไป “ขอ” ข้าว “ขอ” อาหารเพื่อนบ้านกินได้ แต่เดี๋ยวนี้ “ขอ”ไม่ได้แล้ว…

ผมฉุกกึก ตรงคำว่า ขอ ไม่ได้แล้ว ผมถามต่อว่าทำไมขอไม่ได้แล้วล่ะ เขาอธิบายว่า ก็ทุกอย่างในปัจจุบันนั้นเป็นการลงทุน และใช้เงินทองลงทุนทั้งนั้น ทุกคนมุ่งหน้าหาเงินทองกันทั้งนั้น สมัยก่อนมันไม่ใช่อย่างนี้… ตั้งแต่บ้านเมืองพัฒนาไป ก้าวหน้าไปแต่ทำไมการแบ่งปันกันมันแคบลง มีแต่มุ่งหน้าแสวงหาเข้าตัว ….

บางท่านอาจจะคิดว่า การขอนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ควรสนับสนุน เพราะแสดงการจำนนต่อการทำมาหากิน… แต่ผมคิดว่าในอดีตนั้น การขอกันกินนั้นเป็นเรื่องปกติ อย่างเช่นคนที่เอาแนวคิดพอเพียง หรือการพึ่งตนเองไปให้ชาวบ้านทำ เป็นแบบกลไก คือ ทุกครัวเรือนต้องปลูกข้างอย่างต่ำ 3 ไร่ ทำปุ๋ยชีวภาพ 2 ตัน ปลูกพืชสวนครัว 7 อย่าง อย่างละ 5 ต้น ฯลฯ ผมมาพิจารณาแล้วท่านที่สร้างแนวคิดนี้มีเจตนาดีแต่ ดีไม่พอ เพราะต้องพูดให้จบ อย่าหยุดแต่เพียงสิ่งที่จะต้องทำดังกล่าวเสมือน Indicator วัดฐานการพึ่งตนเอง

เดี๋ยวนี้ทำอะไรก็ต้องมี Indicator ทางวิชาการดูดี แต่ทางปฏิบัตินั้น มันจะไปปลูกอะไรเหมือนกันทั้งหมดทุกบ้านได้อย่างไร เหมือนพิมพ์ออกมาจากเบ้าเดียวกัน แต่ละครอบครัวแตกต่างกันมากมาย มีแต่ที่ปลูกบ้านแล้วจะเอาที่ดินที่ไหนไปปลูกพืชสวนครัว 7 อย่างอย่างละ 5 ต้น สังคมโบราณก็เป็นเช่นนั้น ไม่มีหมู่บ้านไหนที่ทุกครัวเรือนปลูกทุกอย่างเหมือนกันหมด ไม่มีหรอก ก็บ้านนี้มีพริก บ้านนั้นมีมะนาว มะกรูด บ้านโน้นมีกระเพรา ฯลฯ บ้านใครไม่มีอะไร อยากกินก็ไปขอกัน และโดยปกติการขอนั้นคนขอเขาก็ดูแล้วว่า เขามีพืชนั้นๆในปริมาณมากพอที่จะแบ่งให้เราได้จึงออกปากขอ เขาเรียกมารยาททางสังคม เมื่อมีคนขอร้อยทั้งร้อยเจ้าของก็จะบอกให้ บอกอนุญาตให้ แถมยังกำชับว่า ไม่มีก็มาเอาไปนะ ไม่ต้อเกรงใจ คนให้ถือว่าได้บุญ ทำบุญทำทาน จิตใจผ่องใสที่ได้ให้ ผู้ขอก็ระลึกในบุญคุณ ระลึกในความดีที่ถูกมอบให้ ระลึกถึงน้ำใจที่ได้รับ และพร้อมจะตอบแทนในรูปแบบต่างๆ รวมไปถึงบอกกล่าวคนข้างเคียง ลูกหลานว่า ครอบครัวเราได้รับน้ำใจจากครอบครัวนั้นๆ

“การขอและการให้” จึงอยู่คู่สังคมชนบทไทยมาแต่โบราณ เป็นสายสัมพันธ์เชื่อมไมตรีต่อกัน เป็นน้ำใจที่สังคมพุทธหรือสังคมศาสนาใดๆก็พึงปฏิบัติต่อกัน ไม่มีคิดเอากำไร ขาดทุน ไม่ได้คิดธุรกิจ บางที “การให้” มิได้มาจากการขอ แต่มาจากความต้องการแบ่งปัน มาจากจิตใจที่ต้องการการเผื่อแผ่ เช่น พ่อผมทอดแหได้ปลามามาก มากเกินกินในครอบครัว ก็แบ่งให้ญาติ พี่น้องที่ไม่มี ให้ผู้มีพระคุณ รวมไปถึงตั้งใจทำอาหารไปถวายพระ ฯลฯ

การให้ การขอ จึงเป็นวัฒนธรรมที่ควบคู่สังคมชนบท มานานแสนนาน แล้ววันดีคืนดีสังคมเปลี่ยนพอความเจริญเข้ามา มีถนน มีไฟฟ้า มีวิทยุ ทีวี มีความทันสมัย มีสินค้าใหม่ๆเข้ามา มีการประชาสัมพันธ์ให้ใช้สินค้าใหม่ๆ สังคมอยู่ภายใต้ระบบธุรกิจที่ครอบ กรอกหูทุกวันตั้งแต่ตื่นนอนจนหลับไป ภายใต้ระบบนี้ กระตุ้นให้คนแสวงหามา และเงินคือตัวกลาง…

แน่นอนชายชนบทน้ำพอง ขอนแก่น คนนั้นที่ผมพบเขาที่สถานีรถไฟดอนเมืองจึงกล่าวว่า เดี๋ยวนี้ “ขอกันกินไม่ได้แล้ว”..

  • นี่คือตัวบ่งชี้ส่วนหนึ่งว่าสังคมเปลี่ยนไป
  • นี่คือตัวบ่งชี้ว่าวัฒนธรรมเดิมของเรากำลังจางหายไปกับยุคสมัย
  • นี่คือสัญญาณบ่งบอกถึงการปรับตัวใหม่ของสังคมชาวนา
  • นี่คือตัวบอกว่าการเปลี่ยนแปลงไม่มีใครมาสั่งให้เปลี่ยน มันค่อยๆคืบคลานเข้ามาจนเราเผลอตัวมันก็มาครอบเราจนหมดสิ้น
  • นี่คือตัวบ่งบอกการเข้ามาของสิ่งตรงข้ามด้วยใช่ไหมคือการเห็นแก่ตัว
  • นี่คือยอดภูเขาน้ำแข็งใช่ไหม….ภูเขาแห่งการพังทลายของสังคมชนบท
  • ฯลฯ


ปลาเก๋า

9 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กรกฏาคม 2011 เวลา 12:53 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1151

อาหารจีนตามเหลานั้นขึ้นชื่อนักว่าเลิศรส และหลายชนิดอาหารกล่าวกันว่ามีคุณค่าอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ราคานั้นชาตินี้ผมคงไม่มีโอกาสลิ้มรส แต่เศรษฐีเมืองไทย นักการเมืองและข้าราชการผู้ยิ่งใหญ่ มักจะคุยว่าไปกินเหล่าโน้นนี้ ราคาแพงระยับมาแล้ว มันอาจจะแสดงฐานะของท่านและหรือบารมีของท่านเหล่านั้น เพราะของดีราคาแพงๆนั้นมันมีความหมายในหลายอย่าง ข้าราชการผู้ปรารถนาจะก้าวไปข้างหน้าทุ่มเทของดีที่นายชอบประเคนให้แบบตัวเองมานั่งกุมขมับ พระเครื่องราคาเป็นล้านก็หามาให้ท่าน เราเห็นคนไทยบินไปทานอาหารเลิศรสที่ฮ่องกง


วันนั้นที่ ภูเก็ตผมออกสนามไปสำรวจพื้นที่โครงการและแวะเยี่ยมหน่วยตรวจสอบอากาศ มลภาวะที่มาติดตั้งอยู่ที่วัดติดสะพานสารสิน ผมเดินดูรอบบริเวณวัด พบเห็นรถปิคอัพกำลังขนถ่ายอะไรสักอย่าง จึงเข้าไปถามดู เป็นการขนถ่ายปลาเก๋าจากกระชังเลี้ยงปลาที่ไม่ไกลจากฝั่นตรงนั้นเท่าใดนัก เอามาใส่รถที่มีถังแช่และเครื่องเป่าอ๊อกซีเจนลงไปในถัง


เด็กหนุ่มทำหน้าที่จัดการแบ่งแยกปลาลงถังไม่ให้หนาแน่นเกินไป เอาไปขายในภูเก็ตนี้หรือครับ ผมถาม เด็กหนุ่มตอบว่า ไม่ใช่ครับ เอาไปแพ๊คลงกล่องแล้วส่งไปเมืองนอก

เอาไปที่ไหนครับ เขาส่งไปฮ่องกงและจีนครับ เด็กหนุ่มตอบ…ว๊าววววว

อยู่ในกล่องไม่ตายหรือครับ…เด็กหนุ่มตอบว่า ไม่ตายเขาทำดีอยู่ได้สองวัน


หากซื้อขายบ้านเราราคาเท่าไหร่ครับ ผมถาม เด็กหนุ่มบอกว่า อย่างต่ำกิโลกรัมละ 1000 บาท..จ๊ากสสสส….

ใครเป็นเจ้าของกระชังครับ ผมหาข้อมูลต่อ เจ้าของเป็นชาวใต้หวัน มีสองแห่งตรงนี้กับอีกที่หนึ่ง ส่วนคนไทยก็มีเลี้ยงแต่จะนวนกระชังมีน้อยกว่า ของเจ้านี้มี 120 กระชัง ใช้ปลาชนิดหนึ่งที่ซื้อจากประมงมาบดทำเป็นอาหารปลาเก๋า ซึ่งจะเลี้ยงโดยประมาณ เกือบปีจึงจะได้ขนาดจับได้…ฯลฯ

 

ชาตินี้ผมคงไม่มีโอกาสได้กินอาหารที่ทำมาจากปลาเก๋า แต่ก็ไม่เดือดร้อนที่จะต้องดิ้นรนไปหากิน ผมทราบจากยาหยีว่าที่จังหวัดตรังและในหลายจังหวัดพี่น้องชาวใต้ก็เลี้ยงในกระชังกัน แต่จำนวนกระชังไม่มาก

ท่านที่มีเงินก็ไปหารับประทานเถอะไม่ว่ากัน เพราะเป็นสิทธิปากท้องของท่าน ดีซะอีกชาวประมงภาคใต้จะได้มีอาชีพมีรายได้ แต่รายละเอียดที่ถูกต้องเรื่องนี้ผมไม่ทราบ ที่เล่ามาเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น แต่ก็พอเห็นภาพอะไรบ้างนะครับ..


ท่านเห็นภาพนี้ก็คงนึกออกนะครับว่า แรงงานในการทำเรื่องนี้ก็เหมือนกิจการอื่นๆในแถบท้องถิ่นนี้ที่เป็นลูกหลาน บุเรงนอง ทั้งน้านนนนน


Color of June

41 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 24 กรกฏาคม 2011 เวลา 1:33 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1548

ประกาศผลการตัดสินรางวัลการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ประจำปี 2554

หัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”

ขออนุญาตเอาภาพมาอวดหน่อยครับ
ชนะเลิศประเภทที่ 5 ปรากฏการณ์บนบรรยากาศโลก เป็นภาพที่ถ่ายไว้เมื่อ วันที่ 9 มิถุนายน 2553 เวลา 18:31 ที่ภูมโนรมย์ มุกดาหาร สมัยที่ยังทำงานที่ดงหลวง มุกดาหาร ข้างล่างคือข้อมูลเทคนิคกล้องที่ใช้ครับ

ท่านติดตามผลงานท่านอื่นๆได้ที่นี่ครับ

http://www.narit.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=251%3Aastrophoto2011&catid=1%3Aastronomy-news&Itemid=4

ผมถ่ายรูปเมฆมาสักปีกว่าๆ เพราะท่าน ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ แห่ง สวทช.มาชวนดูเมฆแบบหาความรู้ไปด้วย และเก็บภาพสวยๆเอาไว้ด้วย ผมถ่ายรูปเมฆได้สองเดือนก็ได้รูปสวยๆ ที่ ดร.บัญชาเลือกเอาไปลงในวารสาร 4 รูป ช่วงนั้นผมได้รูปที่ถูกใจที่สุดคือรูปละอองน้ำกระทบแสงอาทิตย์แล้วเป็นรุ้ง และจินตนาการเป็นรูปนกยูง สวยมากในสายตาผม

มาครั้งนี้ผมลืมไปแล้วว่ามีการประกวดภาพ ดร.บัญชาอีกนั่นแหละ อีเมล์มาเตือนว่า ผมตุนรูปสวยๆไว้เยอะ น่าจะส่งไปประกวดดู ได้หรือไม่ได้รางวัลก็ไม่เป็นไร ถือว่าเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมทางดาราศาสตร์  ผมเลยไปค้นรูปจาก external HD ที่จัดเก็บไว้ คัดมาสัก 25 รูปได้ แล้วเอามาคัดอีกเหลือ 10 รูป คัดอีก เหลือ 6 รูป ส่งไปในวันสุดท้ายเลย

ต้องขอบคุณ ดร.บัญชา เป็นอย่างมากที่แนะนำกิจกรรมดีดีอย่างนี้ครับ



Main: 0.029979944229126 sec
Sidebar: 0.049482107162476 sec