เฮ 8

182 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 23:55 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1641

มีสมาชิกหลายท่าน เสนอให้จัดเฮ 8 หรือ เฮที่เท่าไหร่แล้วเนี้ย เท่าที่ทราบ อ.แป๋ว ป้าหวาน ป้าแดง และอีกหลายท่าน

ผมเห็นด้วยครับ

  • เราเว้นมานานพอสมควรไม่ได้จัด คิดถึงอยากพบปะกัน
  • ทำหนังสือมาก็หลายเล่มแล้ว คุยแลกเปลี่ยนแบบไม่เป็นทางการบ้างก็ดี
  • อยากปรึกษาหารือ สรุปบทเรียนเฮกันเพื่อร่วมมือช่วยเหลือกัน
  • ก็อยากพบกันอ่ะ
  • ฯลฯ

ต้องขอบคุณ อ.แป๋ว ป้าหวาน ป้าแดง มากๆนะครับที่เคาะกระดิ่งมาหลายครั้งแล้วใน FB ผมก็เสียมารยาทไม่ได้ตอบสนองป้าหวานเท่าที่ควร ขออภัยอีกทีนะครับ ผมกำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อของงานเก่ายังไม่ขาด งานใหม่กำลังโถมเข้ามา บางงานก็หนักอึ้ง และยังไม่มีตารางที่แน่นอนลงตัว เช่น บางทีสั่งด่วนมาว่า อีกสองวันไปไชยบุรีนะ อีก สองวันไปเวียงจันนะ เลยต้องเตรียมพร้อมตลอด กว่าจะลงตัวคงอีกสองสามเดือนน่ะครับ

เลยไม่กล้ารับปาก และไม่กล้าเดินออกหน้าเรื่องการจัดงานเฮ นะครับ

ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูหนาว อากาศดี หากมีวันหยุดหลายวันเหมาะสมก็น่าจะจองวันล่วงหน้าจัดเฮกันอีกก็ดีนะครับ จะเอาตามที่ป้าหวานเสนอไว้ หรือที่ท่านอื่นๆเสนอไว้ก็ลองเคาะโต๊ะ ส่งเสียงกันก็ดีนะครับ

หนึ่งในนี้แว่วมาว่า ป้าแดงเสนอตัวอยากจัดที่หนองคายบ้าง ผมก็สนับสนุนครับ หนองคายมีสถานที่เยอะมากที่เหมาะจะจัด มีสถานที่เที่ยว พักผ่อน อาหารอร่อย ทิวทัศน์งาม คนก็งามด้วย อิอิ

อยากมาส่งเสียงอีกครั้งตามหลังป้าหวาน ป้าแดง อ.แป๋ว และอีกหลายคนว่าจัด เฮ 8 เหอะ

 

รักนะ จุ๊บๆ (อย่าเพิ่งอ๊วกซะก่อนล่ะ)


ทดลอง

329 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 23 มกราคม 2011 เวลา 21:51 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 11861

ช่วงเปิดโรงเรียนทุกเช้าที่บ้านจะได้ยินเพลงชาติ เพราะไม่ไกลกัน สมัยเด็กๆเรียนโรงเรียนวัด และคำว่า “บวร” หรือที่เรียก บ้าน วัด โรงเรียนนั้น เป็นภาพที่สัมพันธ์กันใกล้ชิดมาก เมื่อสังคมเปลี่ยนไป บทบาทวัดลดลง โรงเรียนเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ ลืมชุมชน แต่ชนบทนั้นยังพอมีให้เห็น


ภาพนี้จะเห็นว่าหลังบ้าน หลังโรงเรียนคือบึงใหญ่ที่รองรับน้ำ ที่เรียกแก้มลิง เวลาฝนตกหนัก ตัวเมืองขอนแก่นก็จะระบายน้ำออกมานี่ก่อนจะระบายลงลำน้ำพอง ไปลงน้ำชีต่อไป สมัยที่มาอยู่ใหม่ๆนั้น มีน้ำตลอดปี มีบัวขึ้น มีนกมาอาศัย มีชาวบ้านรอบๆไปหาปลา

ช่วงที่ไปทำงานลาว ก็เอาข้อมูลมานั่งเขียนรายงานที่บ้าน ห้องทำงานก็มี แต่ชอบทำงานที่ห้องนอน ดัดแปลงมุมห้องเป็นที่ทำงานไป เพราะอยู่สูงวิวดี มองไปทางบึงหญ้าเขียว ต้นไม้เขียว สดชื่นดี เบื่องานเขียนก็ลากเก้าอี้ไปนั่งระเบียงฟังเสียงนก ดูเจ้ากระรอกมาหากิน บางช่วงมีดอกไม้บาน ฤดูหนาวอากาศดี โอย ไม่อยากไปไหน บ้านเราคือวิมานจริงๆ


ต้นไม้หลังบ้านผมนั้นคือจามจุรี ต้นใหญ่อยู่ติดรั้ว ออกลูกหลานไปในบึง กลายเป็นที่ร่มของวัวชาวบ้าน และเพิ่งเห็นครูที่โรงเรียนมาใช้ต้นไม้นี้เป็นที่ฝึกลูกเสือ เนตรนารี เดินไต่เชือกระหว่างต้นไม้กัน ก็ดีมีประโยชน์ เด็กสนุกกัน ส่งเสียงวี้ดว้ายตามประสาเด็ก เพราะเล่นกัน บางคนไปแกว่งเชือก คนข้างบนก็กรี๊ดกัน ครูก็ยืนยิ้ม


แต่แล้วอีกไม่กี่วันถัดมา มีเด็กผู้ชายกลุ่มหนึ่งพากันเดินมาที่กลุ่มต้นไม้นี้ และข้ามฝั่งมาหลังบ้านผม และแอบไปนั่งกันข้างกอไผ่ หลังบ้านเพื่อนที่ติดกัน ผมแอบดูว่า เด็กพวกนี้หนีครูมาหรือไง แต่ไม่ใช่ เพราะเป็นเวลาเที่ยง มองไม่ถนัด เพราะมีใบต้นไม้บัง สักพักหนึ่งได้กลิ่นบุหรี่ เอ เด็กพวกนี้แอบมาสูบบุหรี่กันหรือ…


พยายามแอบดู โห…..ชัดเลย ไอ้หนูเอ๋ย แอบหลบครูที่โรงเรียนมาสูบบุหรี่กันที่นี่เอง มีการพกไฟแช๊ก แบ่งกันสูบ เวียนกัน ทั้งไอ้ตัวเล็กตัวใหญ่ แถมคุยกันลั่น ดูเหมือนสักสองมวนได้ แล้วก็ยกทัพเดินกลับโรงเรียนไป



วันรุ่งขึ้น พอเที่ยงละก็ ยกก๊วนกันมาอีกแล้ว สังเกตเขามาสูบบุหรี่เฉยๆ แล้วก็กลับไป แต่เราก็เกรงว่าวันหลังจะเลยมาขโมยของในบ้านหรือเปล่า คิดไปในทางไม่ดี

แต่มานึกสมัยเราเด็กๆเท่านี้ เราก็แอบผู้ใหญ่สูบบุหรี่เหมือนกัน มันไม่วิเศษวิโส สูบใหม่ๆสำลักจะตาย แถมเมาอีกพักใหญ่ๆ แต่ก็อยากลอง จนเกิดเรื่องจนได้ ลองไปลองมาไฟไหม้กองฟาง โดยพ่อจับตีซะรอบบ้านเลย ทิ้งไปนานมาสูบอีกทีก็ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ตามเพื่อน แต่เหม็นปาก เสียเงิน ..แต่ก็สูบบ้างไม่สูบบ้างมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงกินเหล้า กินเบียร์ สูบหนักจนลิ้นชา มาเลิกเอาจริงๆก็ ตอนมากินเจนี่แหละเกือบยี่สิบปีมาแล้ว

มองย้อนไปที่เด็กและโรงเรียนแห่งนี้ ผมว่าคุณครูก็คงสอน แนะนำ บอกกล่าวเรื่องเหล่านี้อยู่ตามปกติ แต่ก็มีเด็กส่วนหนึ่ง จำนวนหนึ่งที่ยังกล้าลองแบบแอบทำ

ผมนึกประเด็นว่า เอ การบอก การสอน การแนะนำ ในห้อง หน้าเสาธง ฯลฯ คงไม่พอ ในกรณีนี้ หากผมเอาหลักฐานทั้งหมดไปให้ครู เด็กพวกนี้ก็อาจโดนตีหน้าชั้น หน้าเสาธง หรือหนักก็ทำข้อตกลงกันมิให้ทำอีก แต่ก็ไม่สามารถกั้นได้ เพราะโอกาสมีมากมาย


เหมือนคุยกับ คนรู้จักกันว่า เขาทะเลาะกับลูกสาวบ่อย เพราะจับได้ว่าลูกสาวชอบนุ่งกางเกงขาสั้น แบบสมัยนิยม แม่ไม่ชอบให้ลูกสาวทำเช่นนั้น ลูกสาวก็นุ่งขาสั้นแล้วนุ่งขายาวทับ พอออกนอกบ้านก็เอาขายาวออก แม่จับได้ ก็โดยพ่อตีซะ ก็ไม่เข็ด เผลอก็เอาอีก

วัยอลวนนี้เป็นเรื่องใหญ่ของสังคม พฤติกรรมไม่พึงประสงค์นี้จะแก้ปัญหาอย่างไรหากไม่ใช้ไม้เรียว เหตุผลหรือ บางคนอาจได้ แต่จำนวนมาก ไม่สนใจ แต่ผมเห็นที่เยอรมัน(เคยไปเที่ยว) วัยรุ่นข้ามทางม้าลายโดยไม่ดูไฟสัญญาณ ผู้ใหญ่ที่เดินอยู่เรียกมาสอน แนะนำ ตักเตือนทันที ซึ่งไม่ใช่พ่อแม่เขา แต่เด็กสมัยนี้ในบ้านเรา เขาจะด่าให้ อย่ามา…เสือก..

ในกรณีเด็กมาสูบบุหรี่ข้างบ้านผมนั้น ผมไม่ได้เอาหลักฐานไปให้โรงเรียน ตั้งใจว่าจะลงไปคุยกับเขา

แต่สองสามวันมานี้ เขาไม่มา….


หอจดหมายเหตุพุทธทาส

151 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 มกราคม 2011 เวลา 23:53 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 3564

แม้ว่างานจะล้นมือ คนข้างกายก็มานอนสัมผัสความหนาวที่เชียงราย ตามงานวิจัยของเธอ ผมก็ต้องลงมากรุงเทพฯด่วน ร่วมงาน มุทิตาจิต 78 ปี อคิน รพีพัฒน์ ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนรถไฟ จตุจักร กรุงเทพฯ เพราะท่านอาจารย์อคินนั้นเป็นที่เคารพรักของพวกเราเพราะท่าน “เป็นเจ้าที่ทำตัวเป็นไพร่” คนข้างกายผมก็เข้ามารับราชการกับท่านอาจารย์ครั้งแรกหลังจากจบที่ ISS ฮอลแลนด์ ซึ่งมีคนไทยหลายคนจบที่นั่น


หอจดหมายเหตุอยู่ตรงไหนก็ลองดูแผนที่ หรือดูไม่ออกก็เข้าไปที่ http://www.bia.or.th/ น่าสนใจมากครับ คนข้างกายบ่นเสมอว่า กรุงเทพฯมีข้อดีอย่างหนึ่ง มีสถาบันดีดีอยู่เยอะ มีงานแสดงดีดี บ่อย คนต่างจังหวัดไม่ค่อยมีโอกาสเช่นนั้น

ผมขอยังไม่กล่าวถึงงานเสวนาในงานมุทิตาจิต อาจารย์อคินนะครับ อยากแนะนำหยาบๆถึงหอจดหมายเหตุที่มีคุณค่าแห่งนี้ เชิญท่านที่สนใจ มากรุงเทพฯไม่รู้จะไปไหน มาที่นี่ครับ พาลูกหลานเข้ากรุงเทพฯก็อย่าไปเดินห้างอย่างเดียวนะครับ มาสัมผัสพุทธธรรมและศิลปะที่มีรากมาจากธรรมมากมาย ลงฝีแปลงโดยศิลปินสยามนามอุโฆษ หลายท่าน รวมทั้งท่านอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง แห่งอาศรมรุ่งอรุณที่ผมรักใคร่ท่านมาก


ผมไปงานก่อนเวลาจึงพบท่านอาจารย์ผ่อง ที่ผมไม่พบท่านมานานแล้ว เลยขอกอดท่านให้หนำใจกับความคิดถึง จริงๆท่านเป็นคนใต้ เป็นอาจารย์ที่ศิลปากร ทางด้านงานวาดรูป แล้วออกจากราชการมาทำงานเป็น NGO บ้านนอกที่ขอนแก่น มาช่วยท่าน อ.อคิน ทำหนังสือหลายเล่ม โดยท่านวาดรูปให้ หลังจากนั้นท่านก็ถือสันโดษไปปลูกกระต๊อปอยู่ในหมู่บ้าน พักใหญ่ ท่านจึงรู้ว่า แม้ว่าท่านจะรักชนบท รักชาวบ้าน แต่งานของท่านนั้นไม่เหมาะกับที่ที่อยู่ หากไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมท่านจะทำงานได้มากกว่า จึงมาช่วยสอนหนังสือที่ มข.อีกครั้ง แล้วก็ลงกรุงเทพฯมาทำอาศรมตั้งแต่แรก


ขณะที่งานยังไม่เริ่มท่านก็ดึงมือผมไปดูงานของท่าน แล้วเล่าให้ฟังว่า หอจดหมายเหตุแห่งนี้ต้องการให้มีงานศิลปะมาประกอบตัวอาคาร โดยกลุ่มศิลปิน โดยให้วาดอะไรก็ได้ที่มีฐานมาจากธรรม แล้วศิลปินทั้งหมดก็เดินทางไปกราบท่าน ป.ปยุตโต ฟังท่านให้ธรรม แล้วศิลปินก็จำใส่หัวไปจินตนาการงานของตัวเองขึ้นมา อ.ผ่อง ก็ได้รูปที่เห็นนี้จำนวน 4 ภาพ อีกภาพหนึ่งไปติดไว้อีกแห่งหนึ่ง งานชิ้นนี้ต้องการแสดงธรรม ของธรรมชาติ ห้า ห้า ห้า คนบาปหนาอย่างผมฟังท่านไม่กระดิก รู้แต่ว่า ท่านใช้ความรู้ของศิลปินโบราณมาวาดรูปนี้คือใช้ เม็ดมะขาม ดินสอพอง แป้งฝุ่น และดินหม้อ แม้จะเสพศิลปะไม่กระดิกอย่างผม แต่ก็ทึ่งในความพยายามของท่าน


ดูซิครับแต่ละภาพมหึมา สวยงาม ยากที่ผมจะจินตนาการได้ว่า มนุษย์นี่ช่างสร้างสรรค์และประณีตจริงๆ งานแบบนี้หากไม่ได้ใช้พลังข้างในแล้ว อ.ผ่องกล่าวว่างานไม่เสร็จแน่นอน ทำงานแบบลงสีแปลงแรกสุดกับสีแปลงสุดท้ายนั้น ให้อยู่ในเรื่องเดียวกัน น้ำหนักฝีแปลง ความอ่อนช้อย สีสัน ฯลฯ ผมเองสัมผัสมหาศิลปินอย่างท่าน ถวัลย์ ดัชนีมาแล้ว พอเข้าใจพลังข้างในของศิลปินกลุ่มนี้

หากท่านมีโอกาสไปสถานที่แห่งนี้อย่าพลาดเดินขึ้นไปชั้นสองนะครับมีภาพหนึ่งที่สุดของที่สุดคือภาพนี้ครับ


เป็นภาพท่าน ป.ปยุตโต ท่านนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพาทุกคนมาชมภาพนี้ ในภาพมีท่าน อ.อคิน รพีพัฒน์ อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาชมด้วย ท่านเดาซิว่ารูปนี้ใช้สีอะไรวาดรูป อ.ผ่องทนไม่ไหวเดินเข้ามาอธิบายเองว่า เป็นรูปที่มีอารมณ์ของท่าน ป.ปยุตโตจริงๆ ใช่เลย


ผมจำไม่ได้ว่าศิลปินที่วาดรูปนี้คือท่านใด แต่ฟังชัดหูว่า เป็นรูปเดียวในประเทศไทยตอนนี้ที่ใช้ สีที่ใช้คือ “ดินเหนียว” วาดรูปนี้ อ.ผ่องกล่าวว่า ศิลปินท่านนี้ตระเวนไปทั่วประเทศเพื่อหาดินเหนียวที่มีคุณสมบัติเฉพาะ และสีสันต่างๆกัน เอามาสร้างรูปที่วิเศษสุดรูปนี้ จริงแล้วคือความรู้ดั้งเดิมของคนโบราณของบ้านเรา ไม่ใช่เอาเทคนิคนี้มาจากต่างประเทศนะครับ

ห้องหนังสือใหญ่โตของหอจดหมายเหตุ ท่านเดินหาหนังสือที่พอใจแล้วก็จ่ายเงินเอง ตามขั้นตอนที่เขาเขียนอธิบายไว้ ไม่มีใครมานั่งรับเงิน

มีมุมเล็กๆเป็นร้านอาหาร ที่ เขาเอาข้าวใส่ถุงพลาสติก ใส่ตะกร้า เอากับข้าวใส่ถุงพลาสติกแล้วใส่ตะกร้า มีจาน มีช้อน ใครอยากซื้อก็มาเดินเลือกเอาไปนั่งกิน จ่ายเงินเอง กินแล้วล้างจานด้วยนะ

มีสตรีสูงอายุหลายท่านเป็นพนักงาน เดินเอาผ้าชุบน้ำเช็ดราวบันใด เช็ดตรงโน้น ตรงนี้ เอาฝุ่นออกไป เป็นงานที่น่ารักมาก ท่านอุทิศเวลามาทำงานให้กับสถานที่แห่งนี้ ผมเชื่อว่าท่านไม่ได้ค่าจ้างแต่อย่างใด ท่านมาทำบุญเพื่อทุกท่านที่เดินเข้ามาแห่งนี้


ผมรักสถานที่แห่งนี้จริงๆ มีห้องกว้างใหญ่ที่เปิดด้านที่มองไปเห็นสวนรถไฟ ผ่านหนองน้ำ งามจริงๆ เหมาะที่จะจัดเสวนาธรรม หรือทำ workshop เกี่ยวกับสมาธิ ฝึกจิต อะไรทำนองนี้ และก็มีโปรแกรมแบบนี้ทุกวันหยุดด้วย

บางท่านเคยไปมาแล้ว

ส่วนผมมาเป็นครั้งแรก

อิจฉาคนกรุงเทพฯ จริงๆครับ



อุบัติเหตุ ๒

80 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 22 มกราคม 2011 เวลา 0:10 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1341

ผมทิ้งค้างเรื่องอุบัติเหตุที่แขวงไชยบุรีไว้อีกตอน เพราะ งานยุ่ง ผ่านอุบัติเหตุรถลงข้างทางไปแล้ว ก็ตกใจกันพอสมควร ดีที่เจ้านายมาประสพเองย่อมคิดไปถึงทีมงานที่ใช้ชีวิตในสนามตลอดเวลาว่ามีความเสี่ยงต่อเรื่องอุบัติเหตุมากกว่าหลายเท่านัก เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะพลาด ก็ต้องพึงระมัดระวังและเตรียมพร้อมตลอดเวลา โดยเฉพาะยานพาหนะที่เราใช้กันเป็นประจำ

วันที่ 2 ที่ไชยบุรี ประชุมกันแต่เช้า แลกเปลี่ยนกันถึงงาน ปัญหาอุปสรรค เดินทางไปดูพื้นที่ แล้วก็ไปทานอาหารเที่ยงในเมืองไชยบุรี แล้วเดินทางกลับหลวงพระบาง เพราะเจ้านายทั้งสองคนต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯเที่ยวบินเย็น คราวนี้ยุบเอาผมไปนั่งรถ Everest คันที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อวานร่วมกับเจ้านาย เพราะรถ Vigo ต้องทำงานต่อที่ไชยบุรี ผมนั่งหน้าคู่กับพนักงานขับรถ

ท่านผู้แทน ชอ..ขอให้ใช้เส้นทางเดิมตอนออกจากเมืองไชยบุรี เพราะต้องการดูการก่อสร้างถนนว่าทำไปถึงไหนแล้ว สภาพเป็นอย่างไร แล้วก็ไปบรรจบถนนสายหลักตรงด่านเก็บเงินของท้องถิ่น ถนนทั้งสายจากไชยบุรีไปหลวงพระบางนั้นเป็นลูกรัง และกรวด เมื่อไม่มีฝนตกถนนแห้ง ฝุ่นก็เริ่มมี


ข้ามแม่น้ำโขงด้วยเรือเฟอรี่ ผ่านเมืองนาน แล้วก็ขึ้น “ภูสแกน” ที่ถนนลาดยางขึ้นดอยไม่กี่กิโลเมตร พนักงานขับรถคุยกับผมว่า ภูสแกนแต่ก่อนที่ยังไม่ได้ลาดยางนั้น มีอุบัติเหตุเอาชีวิตคนไปมากมายนับร้อยนับพัน เขาว่างั้น ในทัศนะผมคิดว่าหากรถมีสภาพที่ไม่สมบูรณ์ และประมาท ก็เกิดอันตรายได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงลงจากยอดดอย จะวิ่งเร็ว ทางโค้งเยอะ เบรกไม่ดี ถนนลื่น หลับใน มีสิทธิ์เกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลา

มีรถบรรทุก ปิกอัพ รถโดยสาร เก๋ง แม้มอเตอร์ไซด์สวนทางมาบ้าง ที่วิ่งตามกันก็มี แต่ไม่หนาแน่น รถวิ่งขึ้นดอยทางสูงชันข้างหน้าไปเรื่อยๆ แต่แล้ว…..

ขณะที่เรากำลังจะแซงรถคันหนึ่ง สังเกตรถของเราไม่วิ่งขึ้นไป มันช้าลง ช้าลง อย่างผิดปกติ พนักงานขับรถลองเปลี่ยนเกียร์ แม้จะเป็นแบบ ออโต ทันใดนั้นพนักงานขับรถก็บอกว่า “เข้าเกียร์ไม่ได้ครับ ไม่ทราบรถเป็นอะไร” เหยียบเครื่องเร่ง แต่รถไม่วิ่งและแล้วที่กระโปรงรถก็มีควันดำทะมึน ส่งกลิ่นเหม็นน้ำมัน


พนักงานขับรถเบรกรถ แล้วค่อยๆถอยหลังเข้าข้างทางอย่างช้าๆ ขณะที่ควันออกจากหน้ารถโขมงไปหมด เมื่อรถจอดสนิท ทุกคนรีบลงมา พนักงานขับรถเปิดฝากระโปรงรถดู พบว่ามีน้ำมันอะไรสักอย่างกระเด็นเต็มห้องเครื่องไปหมด


ที่พื้นถนนมีน้ำมันหกราดเป็นทางยาว ซึ่งอันตรายเพราะมันลื่น.. ไม่นานนักมีรถมอเตอร์ไซด์ชาวบ้านวิ่งขึ้นดอยไป เราไม่ทันคิดป้องกันอะไร มอเตอร์ไซด์คันนั้นก็ไปเหยียบน้ำมันเข้า ล้มลงทันที เท่านั้นเอง พวกเราต้องคอยวิ่งไปโบกรถให้ระมัดระวัง หลีกน้ำมันที่กองบนพื้นถนนนั้น ผมหักกิ่งไปปิด พอให้รู้ว่า ไม่ควรวิ่งทับตรงนี้

พนักงานขับรถคลำหาสาเหตุจนพบว่า สายท่อน้ำมันเกียร์หลุดทำให้น้ำมันไหลออกแล้วโดนเครื่องที่กำลังหมุนสาดใส่ทั่วห้องเครื่อง …. ต่างคนต่างคิดไปนานา ประการแรก จะแก้ปัญหารถคันนี้อย่างไร จะทำอย่างไรจึงจะเดินทางไปสนามบินได้ทัน เพราะเจ้านายต้องเข้ากรุงเทพฯ…

เจ้านายโทรบอกเจ้าของรถ Vigo บอกให้ทราบแล้วให้เอาช่างขึ้นมาซ่อมโดยด่วน แล้วโทรหาเพื่อนรักที่เป็นผู้กว้างขวางของลาว ขอร้องบอกให้เจ้าเมืองนานส่งรถมารับผู้โดยสารไปขึ้นเครื่องบินที่หลวงพระบางด่วน แล้วก็เดินไปเดินมา โทรสั่งการอะไรอีกหลายอย่าง รถบรรทุกจีนผ่านลงเขามาหลายคันอย่างช้าๆ เหยียบน้ำมัน แต่ไม่มีปัญหาสำหรับรถใหญ่ ดีซะอีกที่ทำให้น้ำมันกองนั้นหมดสภาพอันตรายลงไปทุกครั้งที่ล้อรถเหยียบผ่าน..


ขณะที่เราคอยการแก้ปัญหา คือ รถช่างมาซ่อม รถจากเจ้าเมืองนานมารับไปส่งหลวงพระบาง ก็ยังไม่มา เวลาก็ผ่านไป คำนวณระยะทาง เวลา และโอกาสที่จะทันเครื่องบินดูจะลดลงไปเรื่อยๆ เจ้านายโทรเข้ากรุงเทพฯสั่งการให้เลขา open เที่ยวบินหลวงพระบาง-กรุงเทพฯ และสั่งซื้อตั๋ว หลวงพระบาง-เวียงจัน เวียงจัน-กรุงเทพฯ ไม่นานเท่าไหร่ เลขาก็โทรตอบมาว่าเรียบร้อย…โฮ เราอยู่กลางป่ากลางดอยที่เมืองนาน ประเทศลาว สามารถสื่อสารสั่งการทุกอย่างได้หมด…นี่คืออำนาจของการสื่อสารไร้ขอบเขต


ในระหว่างรอนั่นเองผมก็เดินสำรวจพื้นที่ว่ามีต้นอะไรบ้าง มีอะไรข้างทาง เห็นเศษขยะก็ถ่ายรูปมาให้ดูว่า บนดอยสูงกลางป่าเมืองนาน ไชยบุรี มีสิ่งเหล่านี้อยู่จากน้ำมือมนุษย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสัตว์ป่า สมัยทำงานที่ห้วยขาแข้ง เจ้าหน้าที่ป่าไม้เล่าให้ฟังว่านักท่องเที่ยวเอาปลากระป๋องไปกิน เปิดฝากินแล้วทิ้งกระป่องไว้ สัตว์ป่ามากิน เกิดติดจมูก ทำอย่างไรก็ไม่ออก จนเสียชีวิต..โธ่ ตายเพราะกระป่องปลากระป่อง…

พักใหญ่ๆ รถจากเจ้าเมืองนานก็มาเป็นปิกอัพสองตอน ฝุ่นเต็มไปหมดเลย เราเอากระเป๋าใส่กระบะด้านหลังแล้วก็นั่ง ผู้แทน ชอ.. สั่งคนขับรถว่า รีบไปสนามบินหลวงพระบาง เพราะมีคนจะลงกรุงเทพฯ เท่านั้นเอง ปิกอัพคันฝุ่นเต็มรถก็ห้อตะบึงตามคำสั่ง จนรู้สึกว่า อันตรายเกินไป ที่รีบไปสนามบินเพราะหากทันก็ไปตามกำหนดการเดิม หากไม่ทันก็ใช้ทางเลือกที่สองคือนั่งเครื่องไปลงที่เวียงจัน แล้วต่อจากเวียงจันเข้ากรุงเทพฯ

ระหว่างทางทุกคนพูดว่า ทำไมถึงเกิดอุบัติเหตุขึ้นอีกกับรถคันเดิม สันนิฐานว่า ช่วงเมื่อวานที่เกิดอุบัติเหตุนั้น ท้องรถคงไปครูดกับกองดิน และต้นไม้ กิ่งไม้ โดยพนักงานขับรถไม่เอ๊ะใจ ไม่ตรวจสอบให้ถ้วนถี่ แค่เอารถไปล้างให้สะอาด เท่านั้นเอง …นี่คือบทเรียน ต่างนึกไปว่า หากไม่ใช่สายน้ำมันเกียร์ แต่เป็นสายน้ำมันเบรกล่ะ…. โอ…ไม่อยากนึกเลย…..เจ้านายผู้ชายนั่น คนในเล่ากันว่ากำลังมีสิทธิ์ขึ้นเป็นผู้บริหารสูงสุด ท่านประธานปัจจุบันกำลังจะวางมือ… สำหรับผมนั้นแม้ตัวใหญ่ แต่ก็แค่เบี้ยที่หยิบเดินเท่านั้นเอง…

เราถึงหลวงพระบางเห็นคนโดยสารเดินขึ้นเครื่อง ก็คิดว่าทัน รีบลงไปแสดงตนว่าต้องการไปเที่ยวนี้ด้วย เจ้าหน้าที่การบินลาวบอกว่า ปิดรับผู้โดยสารแล้ว….

รถคันเดียวกันเกิดอุบัติสองครั้งในสองวันติดต่อกัน…

เจ้านายทั้งสองสามคนคือผู้บริหารระดับสูงของบริษัท..

เป็นอีกบทเรียนหนึ่งในชีวิตทำงานชนบท…


หมอก

192 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 21 มกราคม 2011 เวลา 13:04 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 6780

หลังบ้านเป็นทุ่งในฤดูแล้ง เป็นบึง และแก้มลิงในฤดูฝน

เมื่อเช้าวานมีหมอกลงจัด สักพัก พออาทิตย์ขึ้นก็จางหายไป

อยากเขียน แต่ไม่ได้เขียนบันทึก

เพราะการทำรายงานล้นมือจริงๆ 4 โครงการ

ว่างเว้นการเขียนรายงานไปนาน กลับมาอีกที

ล่อกันหน้ามืดเลย

ปลายเดือนไปเวียงจันเก็บข้อมูลเพิ่มเติม แล้วก็เขียนรายงาน

กลางเดือนหน้า ก็ต้องส่งรายงาน

สิ้นเดือนนี้ก็ส่งรายงาน

รากงอกอยู่บนเก้าอี้นี่แหละ อิอิ

ก็มันอาชีพของเรา ไม่ได้บ่น แค่เปรยเฉยๆ อิอิ


กล้วย

68 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 20 มกราคม 2011 เวลา 15:26 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1675

กล้วยน้ำว้าหวีงามนี้ ในตลาดขอนแก่นขาย 20-25 บาท

ในห้างสูงขึ้นไปอีก 10-15 บาท

สมัยก่อนราคา 3-5 บาทต่อหวี แจกแถมกันไม่หวาดไหว

ปลูกง่าย ขึ้นง่าย ไม่ต้องดูแลมากมายใดๆ

คุณค่าเหลือหลาย ดัดแปลงเป็นของหวานได้มากมาย แล้วแต่ถนัด แล้วแต่ชอบ

แต่กล้วยน้ำว้าหวีที่ห้อยโตงเตงนี่ อยู่ที่ร้านอาหารสมาคมกีฬาเมืองปากซัน ลาว

กินฟรีครับ ใครเข้ามาเป็นแขกของร้านเสร็จสิ้นอาหาร

อยากกินกล้วยก็เดินมาเอาไปกินตามใจปรารถนา เจ้าของร้านให้ฟรี

จะเรียกว่า เทคนิคการขายอาหาร หรือการเอื้อเฟื้อ หรือน้ำใจก็แล้วแต่

นอกจากกินเสร็จแล้วผมหิ้วมันกลับห้องไปอีกครึ่งหวี อิอิ


อุบัติเหตุ ๑

240 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 16 มกราคม 2011 เวลา 10:22 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2837

ที่หยิบเรื่องนี้มาเขียนบันทึกเพราะต้องการเตือนตัวเองและทุกท่านที่ใช้รถใช้ถนน ทั้งขับเองและนั่งโดยสาร


เมื่อคราวที่ผมเดินทางไปเมืองไชยบุรี ลาว ที่เพิ่งกลับมานั้น มีเรื่องตื่นเต้นทั้งขาไปขากลับ ผมเดินทางจากเวียงจันไปหลวงพระบาง ส่วนเจ้านายและทีมงานเดินทางจากกรุงเทพฯไปหลวงพระบาง ผมไปถึงช้าครึ่งชั่วโมงตามกำหนดการของเครื่องบิน


เมื่อทุกคนพร้อมหน้าก็นั่งรถไปสองคัน เจ้านายนั่งรวมกันที่คันหน้า เป็น Ford Everest ส่วนผมนั่ง Vigo เนื่องจากเลยเที่ยงมาแล้วจึงไปแวะกินเฝ๋อที่ร้านดังในเมืองหลวงพระบาง แล้วก็เดินทางต่อไปยังเมืองไชยบุรี

วันนั้นเมฆครึ้มไปหมด และมีละอองฝนโปรยปรายลงมาตอนอยู่ที่สนามบิน คนขับรถบอกว่าเมื่อคืนมีฝนตกมาพอสมควรด้วย ระหว่างเดินทางไปไชยบุรีนั้น ถนนเส้นนี้อาว์เปลี่ยนใช้มาเยอะ และสภาพถนนก็พอๆกับเส้นหลวงพระบาง-เมืองหงสากระมัง ปกติหากฝนไม่ตก ก็จะมีฝุ่นตลบอบอวล หากฝนตกก็จะเป็นโคลน ทำให้นึกถึงสมัยอยู่สะเมิง ที่เราคุยกันว่ามีเพียงสองฤดูคือ ฤดูฝุ่นกับโคลน สภาพชนบทในลาวก็คือเมืองไทยเมื่อสามสิบสี่สิบปีที่แล้ว

คนขับรถ Vigo ของผมนั้นมี Director บริษัทที่ผมต้องเป็นผู้ Monitor งานนั่งไปด้วยโดยเขาสละสิทธิ์ให้ผมนั่งหน้า เขานั่งข้างหลังโดยมีเครื่องใช้สำนักงานเต็มไปหมด คนขับรถคันที่ผมนั่งขับดีมาก ระมัดระวังตลอด มารยาทดี และบ่นว่าคันหน้าขับเร็วไปหน่อยเพราะตามไม่ค่อยทัน ซึ่งเขาบอกว่า เจ้า Everest นั่นเป็นโชคอับ นิ่มกว่า Vigo ที่เป็นแหนบ ซึ่งสะเทือนมากกว่าเมื่อเจอะทางขรุขระ การนั่งรถคันนิ่มๆทำให้ขับได้เร็วกว่า ส่วนคันที่สะเทือนมากกว่า คนขับก็ห่วงเจ้านายที่เป็น Director จึงขับช้าลงมา

ขับไปสักสี่สิบนาทียังไมถึงเมืองนาน ก็เกิดอุบัติเหตุกับเจ้า Everest คันข้างหน้าที่เจ้านายผมนั่งมาสามคน รถแฉลบลงข้างทางในลักษณะดังภาพ พวกเรามาถึงทุกคนยังนั่งอยู่ในรถ ดูเหมือนคนขับรถพยายามเอารถขึ้นแต่สุดวิสัยเสียแล้ว


ทุกคนลงจากรถ ผมเข้าไปถามว่ามีใครบาดเจ็บบ้างไหม เมื่อไม่มีก็คิดกันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรเอารถขึ้นมาให้ได้ ดูสภาพแล้วโชคดีมากๆที่ข้างถนนไม่ลึกมากนัก และมีป่าละเมาะรองรับการไถลรื่นลงไปรองรับรถแบบนิ่มๆ

คนขับรถคันที่ผมนั่งมาเปลี่ยนขึ้นไปขับเจ้า Everest ให้คนขับรถเดิมระงับจิตใจที่ตกใจพาเจ้านายลงไปข้างทาง.. เขาตัดสินใจพยายามกลับเอาหัวรถย้อนไปทางที่ลงมา เนื่องจากเป็นรถ 4WD สักครู่เดียวก็เอาขึ้นมาได้ คนขับรถคันของผมพยายามบอกเปลี่ยนรถกันขับ เขาอธิบายว่าเพื่อให้เจ้านายนั่งข้างในอุ่นใจมากขึ้นว่าคนขับใหม่มารักษาความปลอดภัยให้ใหม่แล้ว แต่คนขับรถเดิมไม่ยอม บอกว่า ไม่เป็นไร พยายามจะขับไปดีดีต่อไป

เราผ่านท่าเดื่อซึ่งเป็นจุดข้ามแม่น้ำโขง เมื่อข้ามก็ไปถึงเมืองไชยบุรีบ่ายมากแล้ว ทุกคนตัดสินใจเข้าที่พักและไม่ไปสนามตามกำหนดการเดิม เพราะวันนี้โชคไม่ดีแล้วเกิดอุบัติเหตุเล็กๆ ใจเสีย ขอกินอาหารอร่อยๆเย็นนี้ปลอบขวัญก็แล้วกัน…

ผมทำงานพัฒนาชนบทมาหลายที่หลายแห่ง หนทางยากลำบากมากกว่านี้ก็เคยอยู่มาแล้ว รถที่ใช้ ตั้งแต่ Toyota ที่ต้องใส่โซ่ล้อ เมื่อเจอะถนนลื่น และเป็นหลุม บ่อ เป็นโคลน เคยใช้จีพอเมริกันที่ซดน้ำมันยังกะอูฐ แค่วิ่งจากท่าพระเข้าเมืองขอนแก่นไม่กี่กิโลก็…แด….ก น้ำมันไปเป็นร้อยบาทแล้ว ยังไปติดหล่มในหมู่บ้านชนบท อดข้าวก็เคยมาแล้ว…

แต่สิ่งหนึ่งที่รถที่ทำงานประเภทนี้ไม่ขาดเลยก็คือ ชุดยาสามัญประจำบ้านที่เรียก First Aids จำเป็นต้องมีติดรถทุกคัน และคนขับรถต้องคอยตรวจตราว่าใช้อะไรหมดไปแล้วบ้างต้องเติมให้มีครบพร้อมใช้ตลอดเวลาที่ออกสนาม ไม่รวมไปถึง มีด เลื่อย ค้อน ขวาน เครื่องมือรถประจำ และเครื่องมือสื่อสารที่เราใช้ประจำ เช่น วอล์กกี้ ทอล์กกี้ ในรัศมี 5 กม.ต้องใช้ได้ นี่เป็นมาตรฐานฝรั่งที่ผมทำงานด้วยและเอามาใช้ตลอด (ปัจจุบันมีมือถือแล้ว เราจึงควรมีหมายเลขที่จำเป็นติดเครื่องไว้นะครับ)

และได้ใช้จริงๆ แม้ทีมงานจะไม่ได้ใช้ ก็เคยได้ช่วยเหลือรถ หรือชาวบ้านที่ประสบอุบัติเหตุบนเส้นทาง หรือในหมู่บ้านที่เราไปทำงานก็เคยผ่านมาแล้ว

วันนั้นผมจึงเสนอทันทีว่า ท่าน Director กรุณาจัดหา First Aids มาประจำรถเถอะนะครับ หนักก็เป็นเบานะครับ ท่านก็รับปากทันที….

แม้แต่รถส่วนตัวผมที่บ้านยังมีเลยครับ ก็ใครจะไปรู้ว่าข้างหน้าที่เราเดินทางไปนั้นจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง.. เพื่อนๆเตรียมหาเอาไว้เถอะครับ ราคาไม่กี่สตางค์หรอก คุ้มค่ากับร่างกายและชีวิตเป็นไหนๆ…


ย้อมสี

103 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 14 มกราคม 2011 เวลา 20:17 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2768

วันนี้ไปเดินตลาดข้างๆบ้าน นับวันคนก็แน่นมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าก็มีหน้าใหม่ๆ ทั้งสาว ทั้งหนุ่ม ทั้งแก่เฒ่า ผมเดาเอาว่าที่มีคนมากๆเพราะสถานที่เป็นตลาดแบบพื้นบ้านคือ ใช้ซอยในหมู่บ้านเป็นแบบแบกะดิน กับมีโต๊ะมาตั้ง และทั้งหมดเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านและบ้านใกล้ๆ สถานที่ตั้งอยู่ชานเมือง สภาพติดเมือง ติดชนบท ชาวบ้านจึงมีมาก สินค้าส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นบ้าน


ผมมักจะซื้อข้าวโพดข้าวเหนียว สับปะรดที่ขอแกนมาด้วย เพราะทั้งหมาทั้งคนชอบแกน และผลไม้ต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คือกล้วยน้ำว้า ต้องมีติดบ้านเพราะทั้งคนทั้งหมาชอบกินเช่นกัน

วันนี้มีความแปลกเพิ่มขึ้นในตลาด เห็นที่มุมหนึ่งมีเด็กๆไปรุมกันเต็มจึงเดินเข้าไปดูว่าเป็นสินค้าอะไร จ๊ากสสส เจ้าลูกไก่น้อยสีสันจัดจ้านเต็มกล่องเลย เด็กๆ ต่างก็ซื้อเอาไปคนละสามตัว ห้าตัว ถูกใจเด็กยิ่งนัก


ราคาตัวละ 5 บาท หากที่ไม่ได้ย้อมสีตัวละ 10 บาท เป็ดก็ 10 บาท

ถาม เอาสีอะไรมาย้อม

ตอบ ก็สีธรรมชาติทั่วไปนี่แหละ

ถาม มันอยู่นานไหม

ตอบ ก็โตขึ้นมันก็ค่อยๆหลุด จางไป

ถาม ทำไมเอามันมาย้อมเสียล่ะ

ตอบ มันเป็นตัวผู้

เท่านั้นเองผมก็ร้องอ๋อ….ฉลาดนี่ เพราะไก่ตัวผู้นั้นไม่ตกไข่ ลูกไก่ขายใครก็ไม่ได้ ไม่มีใครซื้อ ยกเว้นพวกเอาไปเลี้ยงเพื่อเอาเนื้อ การเอามาย้อมสี เป็นการดัดแปลงสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า….และก็ได้ผลจริงๆ ล่อใจเด็กให้ตกอยู่ในความน่ารักของลูกไก่ย้อมสี….

ใครจะเอาตัวอย่างไป ก็ไม่ว่ากันนะครับ


ปลดปล่อย

40 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 มกราคม 2011 เวลา 23:04 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 856

ขณะที่นั่งคอยเพื่อนมารับไปประชุมที่โรงแรมในเมืองเวียงจัน ผมนั่งดูข่าวเช้ากับ Receptionist ของโรงแรมแห่งนี้ซึ่งเป็นผู้ชายอายุสัก 50 ต้นๆ เขาเริ่มพูดว่า ดูข่าวเด็กวัยรุ่นไทยยิงปืนใส่คนแล้วเขากล่าวว่า

ผมนึกถึงสมัยก่อนในประเทศลาวนั้นมีสภาพแบบสังคมไทยปัจจุบัน คือ มีแก๊งคนทราม มากมาย ทั้งที่เป็นนักเลง และเป็นพวกลูกหลานผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงาน พวกคนรวย พวกนี้สั่งข้าวกินแล้วไม่จ่ายเงิน ขับรถเสียงดัง ฉกฉวยเอาของที่ตัวเองอยากได้ ใครต่อต้านก็ทำร้าย ใครหือหรือจะต่อสู้ก็ยิงทิ้งเลย สุดจะเอาตัวอย่างมาเล่าให้ฟัง…

ชาวบ้านเอือมระอา เอาผิดไม่ได้ พวกนั้นก็เห่อเหิม สังคมปั่นป่วน และสถานการณ์แบบนี้ คือ สถานการณ์ที่ผลักดันให้ประชาชนเดินเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติลาว

เขากล่าวอีกว่า..ตอนปลดปล่อยนครเวียงจันนั้น ทหารป่าเกือบไม่ได้ทำอะไรมาก คนที่ถูกกระทำมาก่อน ชาวบ้านที่เอือมระอากับพวกเอาเปรียบสังคมนั้นลุกฮือขึ้นมาจัดการเองด้วยซ้ำไป

เมื่อปลดปล่อย ได้จับเอาคนกลุ่มนั้นไปอยู่ในพื้นที่เฉพาะ เอาข้าวเปลือกไปให้แล้วให้ปลูกข้าวกินเอง เมื่อหมดแล้วก็แก้ปัญหาเอง ดิ้นรนเอง ลงมือทำทุกอย่างเอง…พากันเข็ดหลาบหมด..

สังคมลาวปัจจุบันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเอาจริงจังกับเรื่องเหล่านี้มาก ใครไปก็เห็น…..

ผมเองก็ยืนยันว่าตำรวจในประเทศลาวนั้นจับแหลก เอาจริง แม้จะมีพวกปลายแถวบ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผมพอใจมาก ยิ่งเมื่อลงไปดูหมู่บ้านที่มีระเบียบหมู่บ้านเอง ที่เคยเอามาเขียนบันทึกไปแล้ว ผมยิ่งรู้สึกดีดีมากกับส่วนนี้ของสังคมลาว

หันกลับมาเมืองไทย..ยังเห็นข่าวรุนแรงทุกวัน…

หรือจะให้ปลดปล่อย… อิอิ


ศรัทธา

19 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 13 มกราคม 2011 เวลา 6:39 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 613

 

 

 

วัฒนธรรมที่สตรีชาวลาวพึงปฏิบัติต่อสงฆ์

บ่งบอกอะไร จงบอกมา สัก 10 อย่าง

(ยามเช้าที่ไชยบุรี ลาว)


เมฆเมืองลาว

385 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 10 มกราคม 2011 เวลา 21:40 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 4091

มาดูพื้นที่งานที่ Xayabouri ลาว ซึ่งจะต้องมาทำ งานคล้ายของอาว์เปลี่ยนที่ Hongsa

เอารูปเก่าที่เคยถ่ายที่เวียงจันมาฝากกันครับ


รูปดีดีในลิ้นชัก

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 9 มกราคม 2011 เวลา 21:55 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1387

มีรูปที่หลายคนพึงพอใจเก็บไว้ในลิ้นชักมากมาย

ที่ยังไม่ได้เอามาให้เพื่อนชม

มีความคิดดีดีมากมายที่ทุกท่านยังไม่ได้แสดงออกมา


บางมุมของความพอเพียงในชุมชน

111 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 7 มกราคม 2011 เวลา 20:19 ในหมวดหมู่ งานพัฒนาสังคม #
อ่าน: 3013

นี่เป็นบทความเก่า ขอนำมาแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะนำเสนอต่อพ่อครูในการที่ระดมความคิดเห็นเรื่องนี้เพื่อประโยชน์ต่อการวางหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียง…”

มีโอกาสศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของไทโซ่ดงหลวงก่อน พ.ศ. 2500 ว่าเป็นอย่างไรบ้าง น่าสนใจ น่าจะเป็นตัวแทนสังคมไทยโบราณได้ กรณีหนึ่ง เพราะเราไม่มีโอกาสได้เห็นสิ่งเหล่านี้อีก และเด็กรุ่นใหม่ก็ไม่มีทางนึกออกว่าบรรพบุรุษของเขาเคยมีความเป็นอยู่อย่างไรกันมาบ้าง

เนื่องจากสัญชาติญาณแห่งการอยู่รอด และภูมิปัญญาของการสร้างสรรค์พัฒนาการมีชีวิตอยู่รอดนั้นอาจจะแตกต่างกันไปตามระดับของความฉลาดของมนุษย์ แต่น่าจะมีสัญชาติญาณขั้นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกัน และสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา รวมทั้งไทโซ่ ที่นับถือผีกับพุทธไปพร้อมๆกัน หลักการของพุทธย่อมมีส่วนไม่มากก็น้อยในการนำมาเป็นแนวทางการดำรงชีวิต

หลักการหนึ่งของการดำรงชีวิตของศาสนาพุทธคือการยังชีวิตด้วยปัจจัย 4 อย่างพอดี ไม่เบียดเบียนโลกและตัวเอง ตีความง่ายๆคือหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง

เมื่อศึกษาสังคมโบราณของไทโซ่ดงหลวง และเชื่อว่าที่อื่นๆก็คงคล้ายคลึงกัน แล้วไปสอดคล้องกับหลักปัจจัย 4 แบบพอเพียง แต่หลักนี้จะให้สมบูรณ์ต้องมีอีกปัจจัยหนึ่งเข้ามาเชื่อมด้วยคือ วัฒนธรรมชุมชนแบบพึ่งพาอาศัยกัน” “ทุนทางสังคม เป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ” และความจริงน่าจะเป็น ปัจจัยที่ 5 ของความพอเพียง”
ด้วยซ้ำไป


หลักการนี้ยังสะท้อนไปถึง หลักความพอเพียงที่ในหลวงท่านพระราชทานลงมาด้วยว่า ทั้งหมดนั้นจะต้องอยู่บนฐานของวัฒนธรรมการพึ่งพาอาศัยกันของคนในชุมชน ของสังคมด้วย มิเช่นนั้นจะเป็นปัจเจกชน ซึ่งสังคมไม่ได้เป็นเช่นนั้น และในชีวิตจริงๆก็ไม่มีใครที่จะพึ่งตัวเองได้ครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องพึ่งพาอาศัยกันด้วยเพราะเราไม่สามารถมีความสมบูรณ์ตลอดเวลาด้วยปัจจัย 4

ท่านที่นำหลักความพอเพียงไปใช้ได้โปรดพิจารณาประเด็นสำคัญนี้ด้วย

ความจริงการพึ่งพาอาศัยกันนั้นรวมอยู่ในหลักความพอเพียง แต่มักไม่ได้พูดถึง หรือไม่ได้เน้นกัน หลายท่านไม่ได้พูดถึงด้วยซ้ำไป เพราะเห็นเป็นประเด็นย่อย แต่จากการเฝ้าสังเกตสังคมชนบทนั้น วัฒนธรรมชุมชนเป็นแกนหลัก เป็นโครงสร้างหลักด้วยซ้ำไป

จำได้ว่าสมัยเด็กๆ เมื่อพ่อไปทอดแหได้ปลามามาก พ่อก็แบ่งให้เพื่อนบ้าน ไปให้คุณยายนั่น คุณตาคนนี้ เพราะแก่เฒ่าหากินไม่สะดวก

ที่ดงหลวง เมื่อชาวบ้านเดินผ่านแปลงผัก ก็ตะโกนขอผักไปกินกับลาบหน่อยนะ เจ้าของแปลงก็ตะโกนตอบอนุญาตให้เอาไปเถอะ สังคมภาคเหนือจะมีคนโท หรือหม้อดินใส่น้ำตั้งไว้หน้าบ้าน ใครที่เดินผ่านไปมาหิวน้ำก็ตักกินเอาได้เลย มันเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา สวยงาม เอื้ออาทรกัน พึ่งพากัน เพราะไม่มีใครที่มีปัจจัยสมบูรณ์ไปตลอดเวลา ยามมีก็มี ยามขาดก็ขาด ก็ได้อาศัยญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในชุมชนนั่นแหละช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจ ไม่ได้คิดค่าเป็นเงินเป็นทองแต่อย่างใด

ชาวบ้านจะสร้างบ้าน ก็บอกกล่าวกัน ชายอกสามศอกสี่ศอกก็มาช่วยเหลือกัน ตามความถนัด ไม่ได้รับเหมาเอาเงินทองแต่อย่างใด ความมีน้ำใจ ความมีบุญคุณ ความกตัญญู ช่วยเหลือเอื้ออาทร ทั้งหมดนี้แสดงออกโดย “การให้” ให้วัตถุ ให้แรงงาน ให้อภัย ให้ปัจจัยต่างๆ และให้ใจ คือรากเหง้าของสังคม คือทุนทางสังคม คือแรงเกาะเกี่ยวทางสังคม ที่ทำให้เราสงบ สันติ มานานแสนนาน และเป็นฐานของหลักความพอเพียง เป็นฐานของการสร้างความพอดีของปัจจัย 4 อันมีฐานรากสำคัญมาจากหลักการทางพุทธศาสนา แต่แปลกใจที่งานพัฒนาประเทศชาติ สังคมไม่ได้เอาหลักการนี้เป็นตัวตั้ง กลับเอารายได้เป็นตัวตั้ง

เราตั้งคำถามแก่กลุ่มผู้อาวุโสของเครือข่ายไทบรูดงหลวง ที่มีอายุสูงกว่า 55 ปีขึ้นไป เราพบข้อมูลในเรื่องวิถีชีวิตมากมายค่อนข้างละเอียด หลายเรื่องเราไม่ทราบมาก่อน บางเรื่องเราไม่คิดว่าจะมีอยู่ และเชื่อว่ายังมีอีกมากที่ชาวบ้านไม่ได้อธิบายหากเราไม่ตั้งคำถาม และบางเรื่องเราก็ยังนึกไม่ออกว่าจะตั้งคำถามอะไร แต่ข้อมูลมีอยู่

เพื่อให้เกิดความชัดเจน เราเอามาจัดหมวดหมู่ในรูปแบบใหม่ เพื่อง่ายต่อการพิจารณาให้เข้ากับหลักปัจจัย 4 เราจะได้ข้อมูลดังแผนภาพ


เมื่อเราพิจารณาข้อมูลเราพบว่าสามารถจัดหมวดหมู่ให้เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ที่วิถีสังคมดงหลวงโบราณสร้างขึ้นและมาครบถ้วน ดูแผนภาพต่อไปนี้


เมื่อเราให้สีที่แตกต่างกันเราก็เห็นองค์ประกอบปัจจัย 4 แน่นอนเกษตรกรไม่ได้ทำกิจกรรมทั้งหมด เช่น แต่ละครอบครัวไม่ได้ปลูกถั่วทุกชนิด แต่ถั่วทุกชนิดนั้นมีปลูกอยู่ในชุมชน และอาจจะมากกว่านี้ ข้อมูลเหล่านี้คือความหลากหลายของชนิดพืชและกิจกรรมที่เป็นองค์ประกอบปัจจัย 4 ทั้งหมดนี้ทำเอง ปลูกเอง สร้างขึ้นมาเอง ไม่ได้ซื้อหามา อย่างมากก็แลกเปลี่ยนกัน

เราให้ชาวบ้านเล่าเรื่องข้าวสมัยนั้น ว่าแต่ละพันธุ์นั้นเป็นเช่นไรบ้าง ลักษณะพันธุ์ สี ขนาด วิธีปลูก การเก็บเกี่ยว การบริโภค การเก็บเมล็ดพันธุ์ การเก็บรักษา ความนิยมในการบริโภค ฯลฯ พิลึกพิลั่นจริงๆ ที่เราเสียดาย ว่าความรู้เหล่านั้นกำลังสูญหายไปกับการเคลื่อนตัวของสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่

ยกตัวอย่างข้าวพันธุ์ซอด(เป็นเสียงที่เราฟังเอามาบันทึก หากผิดเพี้ยนก็ขออภัย) ชาวบ้านบอกว่าเมล็ดใหญ่ น้ำหนักมาก ไม่สามารถเกี่ยวได้เมล็ดมันจะร่วงต้องใช้วิธีรูดเอาเมล็ดจากรวงใส่ภาชนะเลย จินตนาการไปมือไม้ชาวบ้านที่ทำงานหนักแบบนี้คงจะหยาบกร้าน ข้าวที่นิยมมากที่สุดคือ อีน้อยกับซอด

ที่มหัศจรรย์คือ ครอบครัวหนึ่งๆนั้นมีที่ดินปลูกข้าวประมาณ 2-3 ไร่ มากสุดไม่เกิน 5 ไร่ และปลูกทุกอย่างผสมผสานลงไปในแปลงข้าวไร่นั่นแหละ นี่คือแปลงพืชผสมผสานจริงๆ มีทุกอย่างที่กินได้อยู่ในสวนนี่เอง ที่เรียกแปลงสมรม แปลงสัมมาปิ ในแปลงจะมีข้าว มีพืชถั่ว มีพืชผักสวนครัว มีพืชไร่ รวมไปถึงพืชสมุนไพร ครบถ้วนในแปลงเดียวกันนั้น ผสมปนเปกันไป ไม่ได้แยกพื้นที่ปลูกเช่นปัจจุบัน


แต่ต้องเฝ้าตลอดมิเช่นนั้น ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินพืชผัก เพราะหมูป่ามากินหมด ต้องตีเกราะ เคาะวัตถุให้มีเสียงดังๆ หมูป่าจะได้หนีไป นอกจากหมูป่าก็มีนก ลิง ทั้งนกทั้งลิงมันมาเป็นฝูงหากเผลอลงกันละก็ปีนั้นไม่ได้กินข้าวแล้ว ต้องหาของไปแลกข้าวแล้ว ฯลฯ

สรุป

  • ลักษณะวิถีชีวิตของคนดงหลวงสมัยก่อนนั้นอยู่กับธรรมชาติ แต่องค์ประกอบวิถีชีวิตที่มีสภาพแวดล้อมแบบเดิมนี้นั้น ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว แต่หลักการเรื่องวัฒนธรรมเอื้ออาทรกันนั้นยังใช้ได้อยู่เสมอหากเราสืบสานคุณค่ากันไว้
  • เมื่อองค์ประกอบของสังคมและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป ปัจจุบันเราอยู่ในสังคมทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย การควบคุมตัวเองให้ตั้งมั่นอยู่ในหลักศาสนา และวัฒนธรรมชุมชนจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
  • ความพอเพียงไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ละครอบครัวต้องพิจารณาเอาบนฐานเงื่อนไขของตัวเอง
  • อย่างที่กล่าวว่า ไม่มีใครสมบูรณ์ ดังนั้นความพอเพียงนอกจากครอบครัวจะเป็นหลักที่จะต้องสร้างขึ้นมาแล้ว ชุมชนต้องร่วมมือกันสืบสานวัฒนธรรมเอื้อาทรแก่กัน


สุขจากการไม่มี

14 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 6 มกราคม 2011 เวลา 20:15 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1410

“เขาบอกให้เราซื้อของเพื่อความสุขสบาย แต่ซื้อแล้วก็ไม่มากพอจะทำให้เรามีความสุข เราจึงซื้อมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ทำให้มีความสุข แถมทำให้เราตกเป็นเหยื่อง่ายขึ้น เราเหมือนแกะที่มีสุนัขเห่าอยู่ด้านซ้ายคอยเตือนให้วิตกกับวิกฤตทางการเงินของโลก และความจริงที่ว่า เราอาจตกงานได้ ส่วนสุนัขเห่าอีกตัวทางขวามือก็เตือนให้เราซื้อประกันวงเงินสูงๆเผื่อเจ็บไข้ได้ป่วย เรามัวแต่ทำงานเพื่ออนาคตโดยไม่มีโอกาสอยู่กับปัจจุบัน”


“ความไม่พอใจถึงขีดสูงสุดเมื่อปี 2541 ระหว่างพักร้อนที่ฮาวายกับภรรยา เราวางแผนจะพักผ่อนกันให้สุขเต็มที่ตามแบบแผนการใช้ชีวิตในโรงแรมห้าดาว.. ตลอดสามสัปดาห์ เราพบว่าไม่มีคนจริงๆสักคน มีแต่นักแสดง พนักงานแสดงบทบาทเป็นมิตรและมีน้ำใจ ส่วนแขกเล่นบท ‘ดูสิ ฉันเป็นคนสำคัญนะ’ ….”

“ผมไม่เคยถามตัวเองว่าอะไรสำคัญต่อตัวเอง ผมแค่ถามว่าอะไรที่เป็นไปได้”

ข้างบนนี้ เป็นคำกล่าวของนาย คาร์ล ราเบเดอร์ ซึ่งเป็นเศรษฐีชาวออสเตรียคนหนึ่ง ที่สละทรัพย์สมบัติทั้งหมดเพื่อช่วยคนอื่นและตัวเอง


นายคาร์ลเป็นนักธุรกิจคนดังแห่งวงการผลิตภัณฑ์เครื่องใช้และของตกแต่งบ้าน เขาเป็นข่าวไปทั่วโลกเมื่อประกาศว่าจะขายทุกอย่างที่ครอบครองเพื่อช่วยเหลือคนยากจนในละตินอเมริกา และอเมริกากลาง

เขาวางแผนไปใช้ชีวิตบนภูเขา เตรียมแผนเปลี่ยนเสื้อผ้าที่จะสวมใส่ หนังสือสองกล่อง และเครื่องคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว….

********

ในชีวิตที่ดิ้นรนในปัจจุบันนี้เราจะเห็นเรื่องราวจากข้อความข้างบนนี้สักกี่ครั้ง เพราะทุกคนหันหน้าวิ่งไปสู่ความมั่งคั่ง และไหลไปตามกระแสที่ทุนได้สร้างสายพานให้เราเดิน

น่าคิดมาก สำหรับบทความชิ้นนี้ใน รีดเดอร์ส ไดเจสท์ เรื่อง “สุขจากการไม่มี” หน้า 64 ขอขอบคุณแหล่งที่มาข้อมูลชิ้นนี้ครับ


 


อย่าไปเชื่อแต่ควรฟัง

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 3 มกราคม 2011 เวลา 9:50 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1110

 

 

นั่งอ่านดวงเมืองไทย “ปีเถาะ 2554″ ของ โสรัจจะ

ในสกุลไทย เมืองไทยจะเข้าสู่วิกฤติหนักหนาอีกแล้ว…

เฮ่อ อ่านแล้วก็

อย่าไปเชื่อแต่ควรฟัง

( ใครอยากรู้เขาพยากรณ์ว่าอย่างไร ไปหาอ่านเอาเองนะ )


แสงสุดท้ายปี 2553

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2011 เวลา 22:58 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1052

“แสงสุดท้ายของปี 2553 ที่บึงบอระเพ็ด นครสวรรค์”

หากท่านมีเวลาบ้าง เชิญไปใกล้ชิดธรรมชาติทางน้ำที่บึงแห่งนี้ครับ

ผมเสนอสองเวลาคือ ไม่เช้ามืด ก็ยามเย็น เช่าเรือออกไปกลางบึง

ผ่านวัชพืชต่างๆ ผ่านดงดอกบัว และฝูงนกหลากสายพันธ์

ที่มาหาอาหารกิน ลมพัดเย็นๆ ลอยเรือนิ่งๆ ชื่นชมธรรมชาตน้ำรอบตัว

พร้อมกับแสงแรกหรือสุดท้ายของวัน

ท่านจะตรึงตาตรึงใจไปอีกนานทีเดียว..


เที่ยวไป บ่นไป

497 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2011 เวลา 20:58 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 14438

กลับจากวิเศษชัยชาญแล้วก็เลยไปนอนค้างที่นครสวรรค์ ผมมีเป้าหมายสองสามอย่าง พิจารณาทำตามเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยคือเวลา และสถานการณ์แต่ละช่วงที่เราเดินทาง เพราะกึ่งสบายๆ คนข้างกายยืนยันที่พักไว้แล้วจึงไม่รีบเร่ง เป้าหมายแรกอยากให้ลูกสาวได้ความรู้ไปด้วย เราจึงเลี้ยวรถเข้าเมืองอุทัยธานี ตั้งใจทำสองอย่าง คือ ไปขึ้นเขาสะแกกรัง และไปกราบพี่สมพงษ์ สุทธิวงษ์ พี่ใหญ่ที่เคยทำงานด้วยกันมา และผมก้าวเข้าสู่วงการงานพัฒนาชุมชนก็มีพี่คนนี้เป็นผู้สอน อบรม ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้


หลายท่านไม่ทราบว่าที่เขาสะแกกรังที่ตัวจังหวัดอุทัยธานีนั้นมีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างไร ผมต้องการให้ความรู้กับลูกสาวเลยพาขึ้นภูเขาลูกนี้ แล้วเล่าประวัติศาสตร์ของภูเขากลางเมืองนี้ที่ชื่อสะแกกรังว่า เป็นที่ตั้งของพระบรมรูปพระปฐมบรมราชานุสรณ์รัชการที่ 1 เพราะชุมชนโบราณที่นี่คือแผ่นดินเกิดของพระบรมชนกของพระองค์ท่าน


ในหลวงองค์ปัจจุบันก็เคยเสด็จมาทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์เมื่อ 30 ปีเศษมาแล้ว ท่านที่สนใจลองเข้าไปดูข้อมูลละเอียดที่ google นะครับ

ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเขาสะแกกรังแห่งนี้ต่อประเทศไทยคือ เป็นการปักหมุดทำแผนที่ประเทศไทยครั้งแรก ขอคัดลอกข้อมูลที่ผมเคย Post ไว้ ดังนี้

รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญ ในการทำแผนที่ เพราะช่วงนั้นกำลังต่อสู้แย่งชิงดินแดนกันในสมัยพระองค์ท่าน รัฐบาลสยามจึงจ้างนายแมคคาร์ธีเข้ามาเป็นข้าราชการเมื่อปี 2424 อีกสองปีต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระวิภาคภูวดล” ในตำแหน่ง “เจ้ากรมเซอร์เวทางและทำแผนที่” ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย

20 ปีที่แมคคาร์ธีรับราชการ เขาเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสำรวจพื้นที่ทำแผนที่ และก็สำเร็จตีพิมพ์ออกมาตามแบบสากลในปี 2440 ในการสำรวจพื้นที่นั้นดำเนินการโดยพระราชโองการรัชกาลที่ 5 มีพระราชโองการหนึ่งสรุปความได้ว่า

“เสนาบดี ผู้ว่าการมณฑลฝ่ายเหนือ ถึงข้าหลวงตรวจการ เจ้าเมืองและข้าราชการผู้น้อยในมณฑลนี้” มีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้พนักงานสำรวจเดินทางไปจนถึงชายแดน และทำการสำรวจในมณฑลต่อไปนี้ นครสวรรค์ พิศณุโลก พิชัย ตาก เชียงใหม่ เถิน นครลำปาง น่าน หลวงพระบาง หนองคาย พวน
นครจำปาศักดิ์
อุบลราชธานี พระตะบอง นครราชสีมา สกลนคร นครพนม ท่าอุเทน และมณฑลเล็กๆตลอดแนวชายแดนในอำนาจการปกครองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อเจ้าพนักงานสำรวจมาถึงให้ข้าราชการทุกคนช่วยเหลือจัดพาหนะ คนงาน เสบียงให้…

พระวิภาคภูวดลเดินทางไปหลวงพระบางถึงสามครั้งเพื่อสำรวจ “งานสามเหลี่ยม” ซึ่ง คือ กระบวนวิธีการทำแผนที่โดยอ้างอิงหมุดมาตราฐาน กระบวนวิธีนี้เปลี่ยนมาใช้ระบบ GPS ในปัจจุบัน


ซ้าย แผนที่แสดง”งานสามเหลี่ยม”ที่อ้างอิงหมุดมาตราฐานมาจากประเทศอินเดีย ขวา คือแผนที่ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่จัดทำด้วยระบบ GPS เมื่อปี 2534 มีหมุดมาตราฐานที่ภูเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี

ต่อมากองแผนที่ไทยได้นายดี.เจ.คอลลินส์ (D.J.Collins) เพื่อนแมคคาร์ธี ซึ่งเป็นช่างแผนที่จากอินเดียเข้ามารับราชการไทย พระวิภาคภูวดลได้ยกกองออกเดินทางสำรวจพื้นที่มีนายคอลลินส์  และหน่วยทหารคุ้มกันซึ่งมีนายเรือโทรอสมุสเซน (Rosmussen) เป็นผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ๓๐ คน เดินทางทางเรือผ่านชัยนาท นครสวรรค์ไปถึงอุตรดิตถ์แล้วเดินทางทางบกถึงน่าน …..ฯลฯ…

เราคุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยโน้นนนน ว่า บ้านเมืองเรามีภัย รัชการที่ 5 ทรงเห็นและพยายามหาทางป้องกันไว้ก่อน..

สถานที่ประวัติศาสตร์ของเขาสะแกกรังในเรื่องหมุดแผนที่นี้ ไม่มีการทำป้ายอธิบายไว้บนภูเขา ทั้งที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง

ห้า ห้า ห้า กลายเป็นรายการ เที่ยวไป บ่นไปซะแล้ว……

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/157989



บ่นต้นปี..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2011 เวลา 16:54 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1117

หลังทานอาหารเช้าที่พัก www.pattara-prapa.com เราก็เดินทางไปสระบุรี แบบเรื่อยๆ พบอะไรน่าสนใจก็จะแวะ


สองข้างทางจากที่พักริมเขื่อนป่าสักไปสระบุรี มีไร่ทานตะวันหลายแห่ง เห็นนักท่องเที่ยวจอดรถถ่ายรูปกันหนาตา เจ้าของสวนก็ตั้งเต็นท์ มีร้านขายน้ำ ขายของที่ระลึก ขายผลิตภัณฑ์จากทานตะวัน ดูแล้วก็ชื่นใจไปอย่างหนึ่งที่เราเที่ยวเมืองไทยเงินทองหมุนเวียนในประเทศ


บางสวนมีช้างมาบริการให้นักท่องเที่ยวขี่ ผมไม่ทราบว่าราคาเท่าไหร่ เห็นมีเกือบทุกสวน บางสวนก็เหมือนว่าดอกทานตะวันเพิ่งโรยราไป ร่องรอยเต็นท์ยังมีอยู่ เออ…ก็ดีนะ ที่ชาวสวนร่วมมือกันวางแผนปลูกทานตะวันไม่พร้อมกัน เพื่อบานไม่พร้อมกัน นักท่องเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี จริงๆเป็นเช่นนี้หรือเปล่าไม่ทราบ

ระหว่างทางไปสระบุรีเราเห็นป้ายขึ้นว่าบ่อน้ำโบราณ ศักดิ์สิทธิ์ ก็แวะเข้าไปดูหน่อย



ผมผิดหวังที่มีแต่ป้ายบ่อน้ำโบราณ และชื่อผู้ว่าราชการจังหวัด นามสกุลคุ้นๆ แต่ไม่มีป้ายอธิบายรายละเอียดความเป็นมาเป็นไป ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของบ่อน้ำแห่งนี้ ผมเดาเอาว่า แถบนี้เป็นเมืองโบราณเพราะถนนตรงนี้ชื่อถนนพระเจ้าทรงธรรม แต่ขาดการดูแล

หลายที่หลายแห่งเป็นเช่นนี้ ขึ้นชื่อป้ายแนะนำให้ไปเที่ยว แต่เมื่อเข้าไปไม่มีรายละเอียดแนะนำ (แม้ที่ดงหลวง อบต.แนะนำว่าเชิญเที่ยวปล่องภูเขาไฟ ก็ไปดูแต่หินที่มีลักษณะเหมือนปล่องภูเขาไฟ แต่ไม่มีคำอธิบายใดๆทั้งสิ้น) แล้วจะเกิดขบวนการเรียนรู้ได้อย่างไรกัน จะเกิดสำนึกใดๆได้อย่างไรกัน

แต่สร้างถนนได้ ปรับปรุงภูมิทัศน์ได้ ซื้อต้นไม้มาปลูกถี่แบบช้างเกือบรอดไม่ได้


ถนนหน้าบ่อน้ำศักดิ์สิทธินี้ เห็นแล้วก็อ่อนใจ มันบ่งบอก อบจ. อบต.แถบนี้ดีว่าคิดอะไร ทำอะไร ถนนเส้นนี้ซ้ายมือปลูกต้นปาล์ม ขวามือปลูกลีลาวดี ที่น่าเกลียดมากคือ มันถี่เสียจนเกินความพอดี งบประมาณตรงนี้เท่าไหร่กัน อ้าว บ่นต้นปี…ซะแล้ว…..

ดูเหมือนเคยปรับปรุง พัฒนาด้วยงบประมาณจำนวนไม่น้อยมาแล้ว มีเก้าอี้หินขัดนับสิบๆตัววางเรียงราย แต่วันที่ไปดู นั้น เหมือนว่า ม้านั่งนี้ไม่เคยถูกใช้มานาน นี่หากอยู่ใกล้ๆครูอึ่ง ณ ลำพูน คงพานักเรียนมาช่วยพัฒนา พร้อมกับเชิญผู้เฒ่าผู้แก่มาเล่าประวัติศาสตร์ให้เด็กฟัง แล้วตั้งวงสนทนากันสนุกสนาน….

เรายกมือไหว้ศาลเจ้าที่ หรือเทวดาเจ้าที่ ล่ำลาด้วยความผิดหวัง แล้วเดินทางต่อไปพบ ป้ายแนะนำศาลหลักเมืองขีดขิน แวะเข้าไปดูอีก ชื่อเมืองขีดขินนั้นไม่คุ้นหูนัก แต่เคยได้ยินมาก่อน แต่นานมาแล้ว อยู่ใกล้กับทะเลบ้านหมอ



คราวนี้ไม่ผิดหวัง มีป้ายอธิบายประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ และที่มาของเสาหลักเมืองขีดขินแห่งนี้ ผมนึกไปว่า เรามาจากอดีต ปัจจุบันพัฒนาการมาจากอดีต หากเราไม่ศึกษา ไม่เข้าใจอดีต ไม่ตระหนัก ไม่รับรู้ ก็เป็นคนไม่มีรากเหง้า ตัดส่วน แยกส่วนออกมา แล้วความตระหนักรู้จะมีอยู่ที่ตรงไหนกัน

แม้ว่าแผ่นป้ายที่อธิบายประวัติศาสตร์จะให้ข้อมูลแบบสรุป สั้นๆ ก็พอเข้าใจ ความจริงอยากได้ละเอียดมากกว่าที่แสดงมากนัก

บ่นไว้ เผื่อใครๆที่มีหน้าที่ผ่านมาอ่านเข้า ก็ขอสื่อสารไปบอกว่า บ้านท่าน เมืองท่านมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญนั้น ช่วยกันทำนุ บำรุงดีดีหน่อยเถอะ เอาสาระเป็นหลัก ภูมิทัศน์เป็นรอง ไม่ใช่ตั้งงบปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นล้าน แต่ตัวประวัติศาสตร์เองกลับไม่มีคำอธิบายใดๆเลย เช่นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น แผ่นป้ายนำทางเที่ยวก็ติดอธิบายให้มากหน่อยจะเป็นไรไป นี่อยากจะไปชม ต้องจอดรถถามชาวบ้านข้างทางสามหน สี่หน…

งบประมาณ อบจ. อบต.นั้นเขามีไว้พัฒนาบ้านเมืองเชิงคุ้มค่า เน้นคุณภาพ ไม่ใช่เอาไปปลูกปาล์ม กับลีลาวดีถี่ยิบ ในวัดในวังเขายังไม่ปลูกขนาดนี้เลย

เสียดายงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนจริงๆซิ

ขออภัยที่ บ่นต้นปีนะครับ อิอิ อิอิ


ป่าสักชลสิทธิ์

293 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 มกราคม 2011 เวลา 22:12 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 3233

ปกติช่วงวันหยุดยาวๆไม่อยากไปไหน เพราะไม่อยากเผชิญปัญหาเรื่องรถรา ที่พัก อาหาร การเป็นอยู่ แย่งกันกิน แย่งกันใช้ และเหตุผลหลักๆคือ ไม่ชอบเดินทางที่มีการจราจรหนาแน่นมากๆ เพราะมักพบคนขับรถมารยาทไม่ดี..

แต่บางครั้งก็หลีกไม่ได้ เช่นคราวปีใหม่นี้ อยากให้ลูกสาวมาพักกับเราที่บ้าน หากไม่ไปรับเธอก็ต้องมากับรถเมล์ประจำทาง คงจะหนาแน่น ไม่สะดวก หากจะให้นั่งเครื่องบินก็เกินเลยฐานะของเรา การขับรถไปรับก็ดีอย่างหนึ่งมีโอกาสไปแวะที่นั่นที่นี่ได้ เช่นพาลูกไปกราบคุณแม่ที่หง่อมเต็มทีแล้ว ไปกราบผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ไปแวะเที่ยวบางจุดที่สมาชิกอยากไป เดี๋ยวนี้ง่ายขึ้นเยอะมี internet ค้นหาที่พักระหว่างทางได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะบางแห่งเปิดโอกาสให้ผู้ไปพักผ่อนมาแล้วได้ Post แสดงความเห็นตรงไปตรงมา ช่วยให้เรามีข้อมูลมากขึ้น

วันที่ 29 ผมตัดสินใจด่วนว่าควรจะเดินทาง แม้เป็นวันทำงาน เลิกงานแล้วเดินทางเลย เพราะอยากให้ระยะทางลงกรุงเทพฯสั้นลงกว่าจะเดินทางวันที่ 30 ทั้งวัน ผมไปรับคนข้างกายแล้วบึ่งลงเส้นทางที่เรียก Local Road มากกว่าที่จะใช้ Main Road เพราะต้องการหลบปริมาณรถที่คนเริ่มเดินทางแล้ว สมุดแผนที่ถูกเอามาใช้วางแผนทันทีว่าใช้เส้นไหนสั้นที่สุด เป้าหมายผมคือเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์


เราติดต่อที่พักไม่ได้ เสี่ยงไปและก็ผิดหวังเพราะเต็มหมด ที่เหลืออยู่ก็ราคาแพงเกินฐานะ จะนอนเต็นท์ ก็ไม่สะดวก จึงสอบถามข้อมูลที่พักเอกชนจากคนแถวนั้น ก็ได้ที่พักในราคารับได้ สะอาด อยู่ริมเขื่อน เงียบ มีคนมาพักสามห้องเท่านั้น ถูกใจมาก ที่พักชื่อ www.pattara-prapa.com คนบริหารเป็นหนุ่มสาว ผมชอบที่บริเวณติดกับสวนป่า เช้าๆเราเดินรับอากาศดีดี แล้วถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นสวยมาก และที่สวยมากขึ้นคือช่วงหกโมงเช้ามีรถไฟวิ่งผ่านสะพานยาวๆกลางเขื่อน ให้เราถ่ายรูปสวยๆอีก


เช้าๆ จะเห็นหมอก หรือไอน้ำบนผิวน้ำระเหยลอยขึ้นมา ตามคันนามีนกกระยาง ออกหากินตั้งแต่เช้ามืด


หากเรามองรอบๆตัว ความสวยงามซ่อนอยู่มากมายในทุกที่ที่เราเดินเหยียบย่ำไปยามเช้าในแห่งนี้




สิ่งมีชีวิตเริ่มต้นวันใหม่ไปตามธรรมชาติของวิถีชีวิต แมงมุม ไปดักคอยอาหารมื้อเช้าอย่างเงียบๆ นกน้อยส่งเสียงเล็กๆ อาบแดดอุ่นยามเช้า หยดน้ำค้างรวมโลกทั้งใบไว้ที่นั่น ท้าทายให้มนุษย์อย่างเราค้นหาสัจธรรมผ่านหยดน้ำน้อยนั้น


ชาวบ้านริมเขื่อนเริ่มชีวิตตามวิถีปกติ ไปเก็บเครื่องดักปลาชายเขื่อน เพื่อยังชีวิตและแปรเป็นเงินตราเพื่อสิ่งจำเป็นอื่นๆอีก แม้เช้าวันที่อุณหภูมิจะลดลงมามาก แต่ไอน้ำอุ่นก็ช่วยให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้


เวลากลืนกินทุกชีวิตที่ก่อเกิดมา เราแค่สัมผัสสภาวะแห่งปกติของธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลง

การหลุดออกจากงานประจำมาอยู่ในอ้อมอกธรรมชาติบ้าง เป็นการเพิ่มพลังภายในได้ดีทีเดียว


สวัสดีปีใหม่ ครับ

19 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 1 มกราคม 2011 เวลา 7:22 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 588

 

 

สวัสดีปีใหม่ทุกท่านครับ

 

 



Main: 0.12614607810974 sec
Sidebar: 0.060401916503906 sec