เที่ยวไป บ่นไป

โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2011 เวลา 20:58 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 14453

กลับจากวิเศษชัยชาญแล้วก็เลยไปนอนค้างที่นครสวรรค์ ผมมีเป้าหมายสองสามอย่าง พิจารณาทำตามเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยคือเวลา และสถานการณ์แต่ละช่วงที่เราเดินทาง เพราะกึ่งสบายๆ คนข้างกายยืนยันที่พักไว้แล้วจึงไม่รีบเร่ง เป้าหมายแรกอยากให้ลูกสาวได้ความรู้ไปด้วย เราจึงเลี้ยวรถเข้าเมืองอุทัยธานี ตั้งใจทำสองอย่าง คือ ไปขึ้นเขาสะแกกรัง และไปกราบพี่สมพงษ์ สุทธิวงษ์ พี่ใหญ่ที่เคยทำงานด้วยกันมา และผมก้าวเข้าสู่วงการงานพัฒนาชุมชนก็มีพี่คนนี้เป็นผู้สอน อบรม ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้


หลายท่านไม่ทราบว่าที่เขาสะแกกรังที่ตัวจังหวัดอุทัยธานีนั้นมีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างไร ผมต้องการให้ความรู้กับลูกสาวเลยพาขึ้นภูเขาลูกนี้ แล้วเล่าประวัติศาสตร์ของภูเขากลางเมืองนี้ที่ชื่อสะแกกรังว่า เป็นที่ตั้งของพระบรมรูปพระปฐมบรมราชานุสรณ์รัชการที่ 1 เพราะชุมชนโบราณที่นี่คือแผ่นดินเกิดของพระบรมชนกของพระองค์ท่าน


ในหลวงองค์ปัจจุบันก็เคยเสด็จมาทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์เมื่อ 30 ปีเศษมาแล้ว ท่านที่สนใจลองเข้าไปดูข้อมูลละเอียดที่ google นะครับ

ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเขาสะแกกรังแห่งนี้ต่อประเทศไทยคือ เป็นการปักหมุดทำแผนที่ประเทศไทยครั้งแรก ขอคัดลอกข้อมูลที่ผมเคย Post ไว้ ดังนี้

รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญ ในการทำแผนที่ เพราะช่วงนั้นกำลังต่อสู้แย่งชิงดินแดนกันในสมัยพระองค์ท่าน รัฐบาลสยามจึงจ้างนายแมคคาร์ธีเข้ามาเป็นข้าราชการเมื่อปี 2424 อีกสองปีต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระวิภาคภูวดล” ในตำแหน่ง “เจ้ากรมเซอร์เวทางและทำแผนที่” ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย

20 ปีที่แมคคาร์ธีรับราชการ เขาเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสำรวจพื้นที่ทำแผนที่ และก็สำเร็จตีพิมพ์ออกมาตามแบบสากลในปี 2440 ในการสำรวจพื้นที่นั้นดำเนินการโดยพระราชโองการรัชกาลที่ 5 มีพระราชโองการหนึ่งสรุปความได้ว่า

“เสนาบดี ผู้ว่าการมณฑลฝ่ายเหนือ ถึงข้าหลวงตรวจการ เจ้าเมืองและข้าราชการผู้น้อยในมณฑลนี้” มีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้พนักงานสำรวจเดินทางไปจนถึงชายแดน และทำการสำรวจในมณฑลต่อไปนี้ นครสวรรค์ พิศณุโลก พิชัย ตาก เชียงใหม่ เถิน นครลำปาง น่าน หลวงพระบาง หนองคาย พวน
นครจำปาศักดิ์
อุบลราชธานี พระตะบอง นครราชสีมา สกลนคร นครพนม ท่าอุเทน และมณฑลเล็กๆตลอดแนวชายแดนในอำนาจการปกครองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อเจ้าพนักงานสำรวจมาถึงให้ข้าราชการทุกคนช่วยเหลือจัดพาหนะ คนงาน เสบียงให้…

พระวิภาคภูวดลเดินทางไปหลวงพระบางถึงสามครั้งเพื่อสำรวจ “งานสามเหลี่ยม” ซึ่ง คือ กระบวนวิธีการทำแผนที่โดยอ้างอิงหมุดมาตราฐาน กระบวนวิธีนี้เปลี่ยนมาใช้ระบบ GPS ในปัจจุบัน


ซ้าย แผนที่แสดง”งานสามเหลี่ยม”ที่อ้างอิงหมุดมาตราฐานมาจากประเทศอินเดีย ขวา คือแผนที่ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่จัดทำด้วยระบบ GPS เมื่อปี 2534 มีหมุดมาตราฐานที่ภูเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี

ต่อมากองแผนที่ไทยได้นายดี.เจ.คอลลินส์ (D.J.Collins) เพื่อนแมคคาร์ธี ซึ่งเป็นช่างแผนที่จากอินเดียเข้ามารับราชการไทย พระวิภาคภูวดลได้ยกกองออกเดินทางสำรวจพื้นที่มีนายคอลลินส์  และหน่วยทหารคุ้มกันซึ่งมีนายเรือโทรอสมุสเซน (Rosmussen) เป็นผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ๓๐ คน เดินทางทางเรือผ่านชัยนาท นครสวรรค์ไปถึงอุตรดิตถ์แล้วเดินทางทางบกถึงน่าน …..ฯลฯ…

เราคุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยโน้นนนน ว่า บ้านเมืองเรามีภัย รัชการที่ 5 ทรงเห็นและพยายามหาทางป้องกันไว้ก่อน..

สถานที่ประวัติศาสตร์ของเขาสะแกกรังในเรื่องหมุดแผนที่นี้ ไม่มีการทำป้ายอธิบายไว้บนภูเขา ทั้งที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง

ห้า ห้า ห้า กลายเป็นรายการ เที่ยวไป บ่นไปซะแล้ว……

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/157989


« « Prev : บ่นต้นปี..

Next : แสงสุดท้ายปี 2553 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

497 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 7.6025078296661 sec
Sidebar: 0.059401035308838 sec