หอจดหมายเหตุพุทธทาส
อ่าน: 3557แม้ว่างานจะล้นมือ คนข้างกายก็มานอนสัมผัสความหนาวที่เชียงราย ตามงานวิจัยของเธอ ผมก็ต้องลงมากรุงเทพฯด่วน ร่วมงาน มุทิตาจิต 78 ปี อคิน รพีพัฒน์ ที่หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนรถไฟ จตุจักร กรุงเทพฯ เพราะท่านอาจารย์อคินนั้นเป็นที่เคารพรักของพวกเราเพราะท่าน “เป็นเจ้าที่ทำตัวเป็นไพร่” คนข้างกายผมก็เข้ามารับราชการกับท่านอาจารย์ครั้งแรกหลังจากจบที่ ISS ฮอลแลนด์ ซึ่งมีคนไทยหลายคนจบที่นั่น
หอจดหมายเหตุอยู่ตรงไหนก็ลองดูแผนที่ หรือดูไม่ออกก็เข้าไปที่ http://www.bia.or.th/ น่าสนใจมากครับ คนข้างกายบ่นเสมอว่า กรุงเทพฯมีข้อดีอย่างหนึ่ง มีสถาบันดีดีอยู่เยอะ มีงานแสดงดีดี บ่อย คนต่างจังหวัดไม่ค่อยมีโอกาสเช่นนั้น
ผมขอยังไม่กล่าวถึงงานเสวนาในงานมุทิตาจิต อาจารย์อคินนะครับ อยากแนะนำหยาบๆถึงหอจดหมายเหตุที่มีคุณค่าแห่งนี้ เชิญท่านที่สนใจ มากรุงเทพฯไม่รู้จะไปไหน มาที่นี่ครับ พาลูกหลานเข้ากรุงเทพฯก็อย่าไปเดินห้างอย่างเดียวนะครับ มาสัมผัสพุทธธรรมและศิลปะที่มีรากมาจากธรรมมากมาย ลงฝีแปลงโดยศิลปินสยามนามอุโฆษ หลายท่าน รวมทั้งท่านอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง แห่งอาศรมรุ่งอรุณที่ผมรักใคร่ท่านมาก
ผมไปงานก่อนเวลาจึงพบท่านอาจารย์ผ่อง ที่ผมไม่พบท่านมานานแล้ว เลยขอกอดท่านให้หนำใจกับความคิดถึง จริงๆท่านเป็นคนใต้ เป็นอาจารย์ที่ศิลปากร ทางด้านงานวาดรูป แล้วออกจากราชการมาทำงานเป็น NGO บ้านนอกที่ขอนแก่น มาช่วยท่าน อ.อคิน ทำหนังสือหลายเล่ม โดยท่านวาดรูปให้ หลังจากนั้นท่านก็ถือสันโดษไปปลูกกระต๊อปอยู่ในหมู่บ้าน พักใหญ่ ท่านจึงรู้ว่า แม้ว่าท่านจะรักชนบท รักชาวบ้าน แต่งานของท่านนั้นไม่เหมาะกับที่ที่อยู่ หากไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมท่านจะทำงานได้มากกว่า จึงมาช่วยสอนหนังสือที่ มข.อีกครั้ง แล้วก็ลงกรุงเทพฯมาทำอาศรมตั้งแต่แรก
ขณะที่งานยังไม่เริ่มท่านก็ดึงมือผมไปดูงานของท่าน แล้วเล่าให้ฟังว่า หอจดหมายเหตุแห่งนี้ต้องการให้มีงานศิลปะมาประกอบตัวอาคาร โดยกลุ่มศิลปิน โดยให้วาดอะไรก็ได้ที่มีฐานมาจากธรรม แล้วศิลปินทั้งหมดก็เดินทางไปกราบท่าน ป.ปยุตโต ฟังท่านให้ธรรม แล้วศิลปินก็จำใส่หัวไปจินตนาการงานของตัวเองขึ้นมา อ.ผ่อง ก็ได้รูปที่เห็นนี้จำนวน 4 ภาพ อีกภาพหนึ่งไปติดไว้อีกแห่งหนึ่ง งานชิ้นนี้ต้องการแสดงธรรม ของธรรมชาติ ห้า ห้า ห้า คนบาปหนาอย่างผมฟังท่านไม่กระดิก รู้แต่ว่า ท่านใช้ความรู้ของศิลปินโบราณมาวาดรูปนี้คือใช้ เม็ดมะขาม ดินสอพอง แป้งฝุ่น และดินหม้อ แม้จะเสพศิลปะไม่กระดิกอย่างผม แต่ก็ทึ่งในความพยายามของท่าน
ดูซิครับแต่ละภาพมหึมา สวยงาม ยากที่ผมจะจินตนาการได้ว่า มนุษย์นี่ช่างสร้างสรรค์และประณีตจริงๆ งานแบบนี้หากไม่ได้ใช้พลังข้างในแล้ว อ.ผ่องกล่าวว่างานไม่เสร็จแน่นอน ทำงานแบบลงสีแปลงแรกสุดกับสีแปลงสุดท้ายนั้น ให้อยู่ในเรื่องเดียวกัน น้ำหนักฝีแปลง ความอ่อนช้อย สีสัน ฯลฯ ผมเองสัมผัสมหาศิลปินอย่างท่าน ถวัลย์ ดัชนีมาแล้ว พอเข้าใจพลังข้างในของศิลปินกลุ่มนี้
หากท่านมีโอกาสไปสถานที่แห่งนี้อย่าพลาดเดินขึ้นไปชั้นสองนะครับมีภาพหนึ่งที่สุดของที่สุดคือภาพนี้ครับ
เป็นภาพท่าน ป.ปยุตโต ท่านนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพาทุกคนมาชมภาพนี้ ในภาพมีท่าน อ.อคิน รพีพัฒน์ อ.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อ.อมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มาชมด้วย ท่านเดาซิว่ารูปนี้ใช้สีอะไรวาดรูป อ.ผ่องทนไม่ไหวเดินเข้ามาอธิบายเองว่า เป็นรูปที่มีอารมณ์ของท่าน ป.ปยุตโตจริงๆ ใช่เลย
ผมจำไม่ได้ว่าศิลปินที่วาดรูปนี้คือท่านใด แต่ฟังชัดหูว่า เป็นรูปเดียวในประเทศไทยตอนนี้ที่ใช้ สีที่ใช้คือ “ดินเหนียว” วาดรูปนี้ อ.ผ่องกล่าวว่า ศิลปินท่านนี้ตระเวนไปทั่วประเทศเพื่อหาดินเหนียวที่มีคุณสมบัติเฉพาะ และสีสันต่างๆกัน เอามาสร้างรูปที่วิเศษสุดรูปนี้ จริงแล้วคือความรู้ดั้งเดิมของคนโบราณของบ้านเรา ไม่ใช่เอาเทคนิคนี้มาจากต่างประเทศนะครับ
ห้องหนังสือใหญ่โตของหอจดหมายเหตุ ท่านเดินหาหนังสือที่พอใจแล้วก็จ่ายเงินเอง ตามขั้นตอนที่เขาเขียนอธิบายไว้ ไม่มีใครมานั่งรับเงิน
มีมุมเล็กๆเป็นร้านอาหาร ที่ เขาเอาข้าวใส่ถุงพลาสติก ใส่ตะกร้า เอากับข้าวใส่ถุงพลาสติกแล้วใส่ตะกร้า มีจาน มีช้อน ใครอยากซื้อก็มาเดินเลือกเอาไปนั่งกิน จ่ายเงินเอง กินแล้วล้างจานด้วยนะ
มีสตรีสูงอายุหลายท่านเป็นพนักงาน เดินเอาผ้าชุบน้ำเช็ดราวบันใด เช็ดตรงโน้น ตรงนี้ เอาฝุ่นออกไป เป็นงานที่น่ารักมาก ท่านอุทิศเวลามาทำงานให้กับสถานที่แห่งนี้ ผมเชื่อว่าท่านไม่ได้ค่าจ้างแต่อย่างใด ท่านมาทำบุญเพื่อทุกท่านที่เดินเข้ามาแห่งนี้
ผมรักสถานที่แห่งนี้จริงๆ มีห้องกว้างใหญ่ที่เปิดด้านที่มองไปเห็นสวนรถไฟ ผ่านหนองน้ำ งามจริงๆ เหมาะที่จะจัดเสวนาธรรม หรือทำ workshop เกี่ยวกับสมาธิ ฝึกจิต อะไรทำนองนี้ และก็มีโปรแกรมแบบนี้ทุกวันหยุดด้วย
บางท่านเคยไปมาแล้ว
ส่วนผมมาเป็นครั้งแรก
อิจฉาคนกรุงเทพฯ จริงๆครับ