แสงสุดท้ายปี 2553

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2011 เวลา 22:58 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 1054

“แสงสุดท้ายของปี 2553 ที่บึงบอระเพ็ด นครสวรรค์”

หากท่านมีเวลาบ้าง เชิญไปใกล้ชิดธรรมชาติทางน้ำที่บึงแห่งนี้ครับ

ผมเสนอสองเวลาคือ ไม่เช้ามืด ก็ยามเย็น เช่าเรือออกไปกลางบึง

ผ่านวัชพืชต่างๆ ผ่านดงดอกบัว และฝูงนกหลากสายพันธ์

ที่มาหาอาหารกิน ลมพัดเย็นๆ ลอยเรือนิ่งๆ ชื่นชมธรรมชาตน้ำรอบตัว

พร้อมกับแสงแรกหรือสุดท้ายของวัน

ท่านจะตรึงตาตรึงใจไปอีกนานทีเดียว..


เที่ยวไป บ่นไป

497 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2011 เวลา 20:58 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 14439

กลับจากวิเศษชัยชาญแล้วก็เลยไปนอนค้างที่นครสวรรค์ ผมมีเป้าหมายสองสามอย่าง พิจารณาทำตามเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยคือเวลา และสถานการณ์แต่ละช่วงที่เราเดินทาง เพราะกึ่งสบายๆ คนข้างกายยืนยันที่พักไว้แล้วจึงไม่รีบเร่ง เป้าหมายแรกอยากให้ลูกสาวได้ความรู้ไปด้วย เราจึงเลี้ยวรถเข้าเมืองอุทัยธานี ตั้งใจทำสองอย่าง คือ ไปขึ้นเขาสะแกกรัง และไปกราบพี่สมพงษ์ สุทธิวงษ์ พี่ใหญ่ที่เคยทำงานด้วยกันมา และผมก้าวเข้าสู่วงการงานพัฒนาชุมชนก็มีพี่คนนี้เป็นผู้สอน อบรม ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้


หลายท่านไม่ทราบว่าที่เขาสะแกกรังที่ตัวจังหวัดอุทัยธานีนั้นมีความสำคัญกับประเทศไทยอย่างไร ผมต้องการให้ความรู้กับลูกสาวเลยพาขึ้นภูเขาลูกนี้ แล้วเล่าประวัติศาสตร์ของภูเขากลางเมืองนี้ที่ชื่อสะแกกรังว่า เป็นที่ตั้งของพระบรมรูปพระปฐมบรมราชานุสรณ์รัชการที่ 1 เพราะชุมชนโบราณที่นี่คือแผ่นดินเกิดของพระบรมชนกของพระองค์ท่าน


ในหลวงองค์ปัจจุบันก็เคยเสด็จมาทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์เมื่อ 30 ปีเศษมาแล้ว ท่านที่สนใจลองเข้าไปดูข้อมูลละเอียดที่ google นะครับ

ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งของเขาสะแกกรังแห่งนี้ต่อประเทศไทยคือ เป็นการปักหมุดทำแผนที่ประเทศไทยครั้งแรก ขอคัดลอกข้อมูลที่ผมเคย Post ไว้ ดังนี้

รัชกาลที่ 5 ทรงเห็นความสำคัญ ในการทำแผนที่ เพราะช่วงนั้นกำลังต่อสู้แย่งชิงดินแดนกันในสมัยพระองค์ท่าน รัฐบาลสยามจึงจ้างนายแมคคาร์ธีเข้ามาเป็นข้าราชการเมื่อปี 2424 อีกสองปีต่อมาได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “พระวิภาคภูวดล” ในตำแหน่ง “เจ้ากรมเซอร์เวทางและทำแผนที่” ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย

20 ปีที่แมคคาร์ธีรับราชการ เขาเดินทางไปทั่วประเทศเพื่อสำรวจพื้นที่ทำแผนที่ และก็สำเร็จตีพิมพ์ออกมาตามแบบสากลในปี 2440 ในการสำรวจพื้นที่นั้นดำเนินการโดยพระราชโองการรัชกาลที่ 5 มีพระราชโองการหนึ่งสรุปความได้ว่า

“เสนาบดี ผู้ว่าการมณฑลฝ่ายเหนือ ถึงข้าหลวงตรวจการ เจ้าเมืองและข้าราชการผู้น้อยในมณฑลนี้” มีพระบรมราชโองการตรัสสั่งให้พนักงานสำรวจเดินทางไปจนถึงชายแดน และทำการสำรวจในมณฑลต่อไปนี้ นครสวรรค์ พิศณุโลก พิชัย ตาก เชียงใหม่ เถิน นครลำปาง น่าน หลวงพระบาง หนองคาย พวน
นครจำปาศักดิ์
อุบลราชธานี พระตะบอง นครราชสีมา สกลนคร นครพนม ท่าอุเทน และมณฑลเล็กๆตลอดแนวชายแดนในอำนาจการปกครองเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อเจ้าพนักงานสำรวจมาถึงให้ข้าราชการทุกคนช่วยเหลือจัดพาหนะ คนงาน เสบียงให้…

พระวิภาคภูวดลเดินทางไปหลวงพระบางถึงสามครั้งเพื่อสำรวจ “งานสามเหลี่ยม” ซึ่ง คือ กระบวนวิธีการทำแผนที่โดยอ้างอิงหมุดมาตราฐาน กระบวนวิธีนี้เปลี่ยนมาใช้ระบบ GPS ในปัจจุบัน


ซ้าย แผนที่แสดง”งานสามเหลี่ยม”ที่อ้างอิงหมุดมาตราฐานมาจากประเทศอินเดีย ขวา คือแผนที่ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่จัดทำด้วยระบบ GPS เมื่อปี 2534 มีหมุดมาตราฐานที่ภูเขาสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี

ต่อมากองแผนที่ไทยได้นายดี.เจ.คอลลินส์ (D.J.Collins) เพื่อนแมคคาร์ธี ซึ่งเป็นช่างแผนที่จากอินเดียเข้ามารับราชการไทย พระวิภาคภูวดลได้ยกกองออกเดินทางสำรวจพื้นที่มีนายคอลลินส์  และหน่วยทหารคุ้มกันซึ่งมีนายเรือโทรอสมุสเซน (Rosmussen) เป็นผู้บังคับบัญชาทหารเรือ ๓๐ คน เดินทางทางเรือผ่านชัยนาท นครสวรรค์ไปถึงอุตรดิตถ์แล้วเดินทางทางบกถึงน่าน …..ฯลฯ…

เราคุยกันถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในสมัยโน้นนนน ว่า บ้านเมืองเรามีภัย รัชการที่ 5 ทรงเห็นและพยายามหาทางป้องกันไว้ก่อน..

สถานที่ประวัติศาสตร์ของเขาสะแกกรังในเรื่องหมุดแผนที่นี้ ไม่มีการทำป้ายอธิบายไว้บนภูเขา ทั้งที่มีความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง

ห้า ห้า ห้า กลายเป็นรายการ เที่ยวไป บ่นไปซะแล้ว……

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่ http://gotoknow.org/blog/dongluang/157989



บ่นต้นปี..

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ 2 มกราคม 2011 เวลา 16:54 ในหมวดหมู่ เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 1119

หลังทานอาหารเช้าที่พัก www.pattara-prapa.com เราก็เดินทางไปสระบุรี แบบเรื่อยๆ พบอะไรน่าสนใจก็จะแวะ


สองข้างทางจากที่พักริมเขื่อนป่าสักไปสระบุรี มีไร่ทานตะวันหลายแห่ง เห็นนักท่องเที่ยวจอดรถถ่ายรูปกันหนาตา เจ้าของสวนก็ตั้งเต็นท์ มีร้านขายน้ำ ขายของที่ระลึก ขายผลิตภัณฑ์จากทานตะวัน ดูแล้วก็ชื่นใจไปอย่างหนึ่งที่เราเที่ยวเมืองไทยเงินทองหมุนเวียนในประเทศ


บางสวนมีช้างมาบริการให้นักท่องเที่ยวขี่ ผมไม่ทราบว่าราคาเท่าไหร่ เห็นมีเกือบทุกสวน บางสวนก็เหมือนว่าดอกทานตะวันเพิ่งโรยราไป ร่องรอยเต็นท์ยังมีอยู่ เออ…ก็ดีนะ ที่ชาวสวนร่วมมือกันวางแผนปลูกทานตะวันไม่พร้อมกัน เพื่อบานไม่พร้อมกัน นักท่องเที่ยวชมได้ตลอดทั้งปี จริงๆเป็นเช่นนี้หรือเปล่าไม่ทราบ

ระหว่างทางไปสระบุรีเราเห็นป้ายขึ้นว่าบ่อน้ำโบราณ ศักดิ์สิทธิ์ ก็แวะเข้าไปดูหน่อย



ผมผิดหวังที่มีแต่ป้ายบ่อน้ำโบราณ และชื่อผู้ว่าราชการจังหวัด นามสกุลคุ้นๆ แต่ไม่มีป้ายอธิบายรายละเอียดความเป็นมาเป็นไป ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของบ่อน้ำแห่งนี้ ผมเดาเอาว่า แถบนี้เป็นเมืองโบราณเพราะถนนตรงนี้ชื่อถนนพระเจ้าทรงธรรม แต่ขาดการดูแล

หลายที่หลายแห่งเป็นเช่นนี้ ขึ้นชื่อป้ายแนะนำให้ไปเที่ยว แต่เมื่อเข้าไปไม่มีรายละเอียดแนะนำ (แม้ที่ดงหลวง อบต.แนะนำว่าเชิญเที่ยวปล่องภูเขาไฟ ก็ไปดูแต่หินที่มีลักษณะเหมือนปล่องภูเขาไฟ แต่ไม่มีคำอธิบายใดๆทั้งสิ้น) แล้วจะเกิดขบวนการเรียนรู้ได้อย่างไรกัน จะเกิดสำนึกใดๆได้อย่างไรกัน

แต่สร้างถนนได้ ปรับปรุงภูมิทัศน์ได้ ซื้อต้นไม้มาปลูกถี่แบบช้างเกือบรอดไม่ได้


ถนนหน้าบ่อน้ำศักดิ์สิทธินี้ เห็นแล้วก็อ่อนใจ มันบ่งบอก อบจ. อบต.แถบนี้ดีว่าคิดอะไร ทำอะไร ถนนเส้นนี้ซ้ายมือปลูกต้นปาล์ม ขวามือปลูกลีลาวดี ที่น่าเกลียดมากคือ มันถี่เสียจนเกินความพอดี งบประมาณตรงนี้เท่าไหร่กัน อ้าว บ่นต้นปี…ซะแล้ว…..

ดูเหมือนเคยปรับปรุง พัฒนาด้วยงบประมาณจำนวนไม่น้อยมาแล้ว มีเก้าอี้หินขัดนับสิบๆตัววางเรียงราย แต่วันที่ไปดู นั้น เหมือนว่า ม้านั่งนี้ไม่เคยถูกใช้มานาน นี่หากอยู่ใกล้ๆครูอึ่ง ณ ลำพูน คงพานักเรียนมาช่วยพัฒนา พร้อมกับเชิญผู้เฒ่าผู้แก่มาเล่าประวัติศาสตร์ให้เด็กฟัง แล้วตั้งวงสนทนากันสนุกสนาน….

เรายกมือไหว้ศาลเจ้าที่ หรือเทวดาเจ้าที่ ล่ำลาด้วยความผิดหวัง แล้วเดินทางต่อไปพบ ป้ายแนะนำศาลหลักเมืองขีดขิน แวะเข้าไปดูอีก ชื่อเมืองขีดขินนั้นไม่คุ้นหูนัก แต่เคยได้ยินมาก่อน แต่นานมาแล้ว อยู่ใกล้กับทะเลบ้านหมอ



คราวนี้ไม่ผิดหวัง มีป้ายอธิบายประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ และที่มาของเสาหลักเมืองขีดขินแห่งนี้ ผมนึกไปว่า เรามาจากอดีต ปัจจุบันพัฒนาการมาจากอดีต หากเราไม่ศึกษา ไม่เข้าใจอดีต ไม่ตระหนัก ไม่รับรู้ ก็เป็นคนไม่มีรากเหง้า ตัดส่วน แยกส่วนออกมา แล้วความตระหนักรู้จะมีอยู่ที่ตรงไหนกัน

แม้ว่าแผ่นป้ายที่อธิบายประวัติศาสตร์จะให้ข้อมูลแบบสรุป สั้นๆ ก็พอเข้าใจ ความจริงอยากได้ละเอียดมากกว่าที่แสดงมากนัก

บ่นไว้ เผื่อใครๆที่มีหน้าที่ผ่านมาอ่านเข้า ก็ขอสื่อสารไปบอกว่า บ้านท่าน เมืองท่านมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญนั้น ช่วยกันทำนุ บำรุงดีดีหน่อยเถอะ เอาสาระเป็นหลัก ภูมิทัศน์เป็นรอง ไม่ใช่ตั้งงบปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นล้าน แต่ตัวประวัติศาสตร์เองกลับไม่มีคำอธิบายใดๆเลย เช่นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์นั้น แผ่นป้ายนำทางเที่ยวก็ติดอธิบายให้มากหน่อยจะเป็นไรไป นี่อยากจะไปชม ต้องจอดรถถามชาวบ้านข้างทางสามหน สี่หน…

งบประมาณ อบจ. อบต.นั้นเขามีไว้พัฒนาบ้านเมืองเชิงคุ้มค่า เน้นคุณภาพ ไม่ใช่เอาไปปลูกปาล์ม กับลีลาวดีถี่ยิบ ในวัดในวังเขายังไม่ปลูกขนาดนี้เลย

เสียดายงบประมาณที่มาจากภาษีประชาชนจริงๆซิ

ขออภัยที่ บ่นต้นปีนะครับ อิอิ อิอิ



Main: 0.02198314666748 sec
Sidebar: 0.045795917510986 sec