สะเมิง : แข่งมอเตอร์ไซด์

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 31, 2008 เวลา 1:46 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 7124

เข้าไปบันทึกของเม้งที่ http://lanpanya.com/lanaree/?p=111#comment-154 เรื่อง นวัตกรรมใหม่กับแฟนท่อมคู่กาย ทำให้ผมนึกถึงสมัยทำงานที่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ปี 2518-2522 (ค่อยย้อนแนะนำพื้นที่ในบันทึกหน้านะครับ) ผมทำงานในโครงการพัฒนาชนบทสมบูรณ์แบบ (พชบ.) แถบภูเขา ที่สูงชันและเป็นลูกรัง ซึ่งมีความยากลำบากในการเดินทางทั้งฤดูฝนและฤดูแล้ง แต่เราก็ต้องใช้เส้นทางนี้ เพราะหมู่บ้านต่างๆนั้นซ่อนอยู่ในภูเขาโน้น เราต้องเดินทางไปหาโดยมอเตอร์ไซด์นี่แหละ..


ฤดูฝนนั้นก็จะมีความลื่น และความชันก็ทำให้มอเตอร์ไซด์ล้มคว่ำโดยง่าย เรากล่าวกันว่า ใครขับมอเตอร์ไซด์ในสะเมิงไม่ล้มไม่มี ในฤดูนี้เรามีเครื่องมือพิเศษติดมอเตอร์ไซด์คือโซ่มัดล้อใช้ตะกุยช่วงถนนมีความลื่นมาก อีกอย่างคือไม้แคะดินออกจากล้อรถ  อิอิ… ยามเข้าฤดูแล้งก็เป็นฝุ่น เสื้อผ้า หน้าตา ผมเพ่า มีแต่ฝุ่นแดง จนหลายคนเป็นริษสีดวงตาเพราะฝุ่นเข้าตาเป็นประจำ


ยานพาหนะที่ใช้หัวหน้าใช้ปิคอัพมีเพียง 1 คัน ส่วนพนักงานใช้มอเตอร์ไซด์ สมัยนั้นที่นิยมมากก็คือ รุ่น เอนดูโล่ แรกๆเราใช้ ซูซูกิ 125 ซีซี สองจังหวะ แต่ก็ไม่ทนในสภาพภูเขา จึงเปลี่ยนมาใช้ ฮอนด้า สี่จังหวะ 100 ซีซี และท้ายที่สุดมาใช้ ฮอนด้า รุ่น Trial 125 ซีซี จำได้ว่าราคาแพงที่สุดประมาณ สามหมื่นกว่าบาท ผู้จัดการโครงการซึ่งเป็นเยอรมันมีนโยบายว่า รถมอเตอร์ไซด์นั้นหากใช้ 3 ปี ก็จะยกให้เลย.. สมัยนั้นก่อนที่จะมีสิทธิ์ใช้มอเตอร์ไซด์ พนักงานทุกคนจะต้องไปเข้ารับการฝึกอบรมการซ่อมบำรุงมอเตอร์ไซด์ก่อน และทุกคนจะต้องใช้หมวกกันน๊อก (Helmet) ใส่ถุงมือใส่เสื้อแขนยาวและรองเท้าที่หนา เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ตามหลักความปลอดภัย

ปีหนึ่ง…ทางอำเภอสะเมิงจัดงานประจำปี และจัดแข่งรถมอเตอร์ไซด์วิบาก แล้วมาเชิญพนักงานโครงการเข้าร่วมการแข่งขันด้วย ผมสนใจจึงเข้าร่วมด้วย ในครั้งนั้นมีจำนวนคนเข้าร่วมประมาณ 10 กว่าคันโดยมีมืออาชีพเข้าร่วม 3 คน เขาใช้ยามาฮ่า 175 ซีซี แต่ผมและเพื่อนใช้ ฮอนดา 100 ซีซี เพราะเรามีอย่างนั้น เส้นทางที่ใช้ก็คือวิ่งไปตามถนนระหว่างตำบลรวมความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร ผ่านหมู่บ้านต่างๆที่เราทำงาน เส้นทางที่ใช้ก็คือเส้นทางประจำที่ผมใช้อยู่ทุกวัน…

เส้นทางเหล่านี้เป็นไหล่เขา ที่ผมซิ่งมาประจำอยู่แล้วจึงได้เปรียบ แต่สภาพมอเตอร์ไซด์นั้นเทียบไม่ได้เลยกับมืออาชีพที่มาแข่งด้วย แต่เขาก็ไม่สามารถจะบิดได้เต็มที่เพราะเส้นทางที่เป็นไหล่เขานี่เอง หากพลาดก็ตกไปก้นเหวโน้น… และความไม่ชิดเส้นทางจึงไม่สามารถใช้ความเร็วได้เต็มที่ตามสมรรถภาพมอเตอร์ไซด์ของเขาที่มีอยู่เหลือหลาย

อย่างไรก็ตามผมเองไม่เคยแข่งมาก่อนก็แหยงๆเจ้ามืออาชีพทั้งสามคน เพราะเราเห็นฝีมือที่เขาทดลองแล้ว หนาวววว แต่ก็สู้เพราะสนามคือถิ่นของเราเอง.. มอเตอร์ไซด์ของเราก็ไม่ได้ โม.. อิอิ ภาษานักรถแข่งเขาย่อมาจาก โมดิฟายหรือการปรับแต่งรถให้วิ่งเร็ว และปลอดภัยนั่นเอง ชาวบ้านก็มาเชียร์เรา เพราะเขารู้จักเรา

ผลการแข่งขัน ผมเป็นผู้เข้าเส้นชัยด้วยเวลาน้อยที่สุดจึงเป็นผู้ชนะ ได้รับถ้วยรางวัลจากท่านนายอำเภอสะเมิง และเงินอีก 3,000 บาท หลังจากนั้นก็ฉลองร่วมกับเพื่อนๆ ชาวบ้าน ข้าราชการ ผู้นำชุมชน…. หมดเงินไป 4,000 บาท อิอิ..

ในงานประจำปีของอำเภอสะเมิงนั้น ปกติก็มีการประกวดสาวงามท้องถิ่น ปีนั้นเป็นปีแรกที่มีการแข่งมอเตอร์ไซด์กัน งานประกวดสาวงามนั้นใช้การนับคะแนนจากประชาชนที่ซื้อลูกโป่งมอบให้ ก็ง่ายๆดี

จะบอกอะไร:

  • พบว่าหลักการปลอดภัยเบื้องต้นในการใช้รถมอเตอร์ไซด์นั้นเป็นสิ่งที่ดี เหมาะสม และเกิดประโยชน์จริงๆ

  • การใช้เทคโนโลยีใหม่นั้นเราควรที่จะรู้จักการบำรุงรักษาเบื้องต้นด้วย ซึ่งพบว่าแค่การบำรุงรักษาประจำตามกำหนด ช่วยให้อายุการใช้งานของมอเตอร์ไซด์ยาวขึ้น สมรรถนะดี ในมุมที่สำคัญคือช่วยการประหยัดโดยอัตโนมัติด้วย กรณีมอเตอร์ไซด์ นั้นทุกเดือน เราจะถอดโซ่รถมาต้มอ่อนๆกับน้ำมันเบรก น้ำมันจะแทรกเข้าไปตามข้อด้านในของโซ่ ตรงซี่ล้อมอเตอร์ไซด์ที่ภาษาบ้านเรียก กรรมรถนั้น ตรงที่มันไขว้กันเป็นกากะบาดนั้นเอาลวดมารัดตรงนั้นจะช่วยให้ล้อรถแข็งแรงมากขึ้น หากมีการบรรทุกก็รับน้ำหนักได้มากขึ้น เปิดห้องลูกสูบเอามาขัดเขม่าที่เกาะให้สะอาด ช่วยให้การทำงานเต็มสมรรถภาพ และอื่นๆ..

  • นโยบายการมอบมอเตอร์ไซด์ให้พนักงานหลังการใช้งานแล้วสามปี เป็นนโยบายที่ดี เพราะพนักงานทุกคนก็ดูแลรักษามอเตอร์ไซด์อย่างกับดูแลสาวๆแน่ะ..เพราะคาดหวังว่าเมื่อครบสามปีมันจะเป็นของเรา ซึ่งยังอยู่ในสภาพดี…. ก็ทำให้การทำงานราบรื่นไม่มีปัญหาเรื่องความเสียหายของรถมอเตอร์ไซด์ในการทำงาน

  • มอเตอร์ไซด์เป็นเครื่องมือการทำงาน ช่วยให้การปฏิบัติงานตามแผนงานและความรับผิดชอบมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการใช้งานตามคู่มือที่แนะนำ

  • การฉลองชัยแบบไม่บันยะบันยัง ไม่ดี ไม่ควรเอาอย่าง

(รูปเหล่านี้อายุประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว คุณภาพสีแย่ลง)


ปีวัวบ้า…2552…

8 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 27, 2008 เวลา 18:08 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เรื่องทั่วไป #
อ่าน: 2759

คนข้างกายเธอติดนิยายในสกุลไทย ประเภท แฟนคลับตัวยง ผมก็พลอยได้อ่านบางบทความบางเรื่องไปด้วย บทหนึ่งที่ดูผ่านๆประจำคือ ดวงเมือง..ของ โสรัจจะ นวลอยู่ อิอิ.. อย่าเครียด อย่าตกอกตกใจ ถือว่าเป็นการรับทราบไว้และไม่ประมาทนะครับ

2552 เป็นปีวัวบ้าครับ..???..

โดยสรุป เขากล่าวว่า

· สยามประเทศถูกร้อยด้วยดาวบาปเคราะห์เป็นลูกโซ่ อาถรรพ์ของดวงประชาธิปไตยได้สำแดงฤทธิ์อีกครั้ง วันที่ 2 มีนาคม เป็นต้นไปเป็นวินาศกับดวงเมืองเพราะดาวมฤตยูย้ายจากราศีกุมภ์เข้าราศีมีน การเปลี่ยนแปปลงการปกครองจะอุบัติขึ้น ดาวมฤตยูเป็นเจ้าแห่งการเปลี่ยนแปลง

· ต้นปีประเทศเข้าสู่ท่าทีใหม่ ยุคใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มีแผนการใหม่ๆอันเหมาะสมกับประเทศ

· แต่ดวงประเทศผูกไว้กับ ราหู พฤหัสบดี และมฤตยู ตั้งแต่ต้นปี และเกิดการทำมุมขึ้น …ทำให้เกิดความไม่ปรองดองกันของนักการเมือง มีการเพิ่มทิฐิมานะเต็มที่… ความรุนแรงแผ่ไปทั่ว กลุ่มบุคคลบูชาหลักการปกครองสมัยใหม่ กำลังปลุกปั่นผู้คนอย่างเต็มที่ เศรษฐกิจบ้านเมืองตกต่ำสุดขีด บ้านเมืองถอยเข้าสู่เผด็จการ การแข็งข้อของราษฎรมีความกระทบต่อการกระทำของผู้ใหญ่ที่หลงอำนาจและคอรัปชั่นสุดโต่ง..

· การที่มีผู้คิดจะเอาลัทธิใหม่เข้ามาปกครองประเทศ หากปล่อยไปประเทศจะวิบัติอย่างใหญ่หลวง ตกอยู่ในสภาพมิคสัญญี เดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า

· อิทธิพลของลัทธิใหม่เริ่มเป็นอันตรายต่อชาวโลก ควรเตรียมใจ เตรียมสติปัญญาการแก้ไขให้เต็มที่

· เดือน พ.ค. โดยทั่วไปไม่น่าไว้วางใจต่อสถานการณ์รอบด้านของโลก โดยเฉพาะประเทศไทยเรา ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เป็นนิมิตรหมายอันดีของประเทศชาติ อยู่ในสภาพเผชิญหน้า การท้าทาย แตกแยก หักหาญ การแย่งชิงอำนาจกัน เกิดหักมุมอันร้ายแรงได้ทุกขณะ ประเทศชาติแขวนบนเส้นด้ายเล็กๆ

· ปีฉลู 2552 นับว่าเป็นปีความวิปโยคอย่างแท้จริง รัฐบาลจะล้มลุกคลุกคลาน เกิดการล้มทางลัดด้วยปากกระบอกปืน ของทหารผู้มักใหญ่ใฝ่สูง เกิดการจลาจลในกรุงเทพฯ แตกแยกเคียดแค้น จะก่อความยุ่งยากทีละน้อยจนระงับไม่อยู่ ผู้มีอำนาจจะหมดวาสนา หรือต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

· ปัญหาภาคใต้ก็รุนแรงขึ้น ….. ทำความยุ่งยากแก่รัฐบาล มากมาย……..

· เศรษฐกิจจะตกต่ำเป็นประวัติศาสตร์ของเมืองไทย ล้มละลายทางเศรษฐกิจ ประชาชนอดอยาก ถึงกับปันอาหาร ธนาคารแย่สุด..

· ปลายปีจะเกิดอาเพศ หิมะตก ซึ่งเป็นลางร้ายทั้งทางธรรมชาติ บุคคล การเมือง การปกครอง วัฒนธรรมประเพณี เกิดโรคภัยแปลกๆ มีปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม

· ปลายปี จะเกิดคลื่นยักษ์ถล่มชายฝั่งอันดามันอีก น้ำท่วมใหญ่อีกครั้ง ใต้ฝุ่นจะเข้าถล่มภาคใต้

· ปีนี้แกนโลกเอียงมาก อาจเกิดภัยธรรมชาติมากขึ้น พายุรุนแรงมากกว่าเดิม แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตมาก

2552 ปีวัวบ้า

อย่าไปเชื่อ อย่าไปตระหนกตกใจ แค่รับรู้รับทราบ และไม่ประมาทเท่านั้น…

มอบดอกวาสนาให้ทุกท่านก็แล้วกันครับ


ข้าน้อยขอสนองรับสั่ง…

13 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 26, 2008 เวลา 16:22 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย, เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2057

บันทึกของท่านครูบาชื่อ จดหมายถึงลูกที่ http://lanpanya.com/sutthinun/?p=542 ผมอ่านแล้วก็ มีความรู้สึกเหมือนเพื่อนๆทุกคน ที่ทั้งตื้นตันใจแทนท่านครูบาและชาวเฮฮาศาสตร์ทุกท่าน ยากที่จะมีความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นโดยง่าย …ทำไมหรือ..

ตอบตัวเองอย่าง่ายๆตรงไปตรงมาก็คือ เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินท่านทรงโน้มกายลงมาสัมผัสชาวเราที่รวมตัวกันแบบหลวม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กัน แลกเปลี่ยนปัญญากัน ทำกิจกรรมต่างๆเท่าที่จะก่อเกิดได้ตามเงื่อนไข โอกาส แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องที่สร้างสรรค์ ที่ค่อยๆก่อตัวจาก Cyber พัฒนาจนมาเป็นตัวเป็นตนและจะพัฒนาต่อๆไป… ทรงเห็นความสำคัญ และเสมือนท่านให้กำลังใจทำให้ก้าวหน้าต่อไป..

สิ่งที่ผมประทับใจมากที่สุดเท่าที่ท่านครูบาพยายามถ่ายทอดให้เราทราบก็คือ….ท่านรับสั่งถามพ่อว่า อีสานนี่จะพัฒนายังไงดี ” …….

คำรับสั่งถามคำนี้แสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ท่านต่อแผ่นดินนี้ ในฐานะที่พระองค์ท่านเสด็จมาอีสานก็ตั้งคำถามถึงอีสาน..

ผมมานั่งนึกในใจว่าหากพระองค์ท่านมาถามผม แบบทันทีทันใด ผมก็คงตื่นเต้นที่จะตอบคำถามที่ใหญ่โตเช่นนี้ แต่เรื่องนี้คล้ายๆกันกับที่ผมตั้งคำถามตัวเองเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ย้ายฐานการทำงานจากภาคเหนือมาอีสานว่า หากมาอีสานจะมาพัฒนาอะไร….

1. มันแล้วแต่มุมมองของผู้คนที่มีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน นักการศึกษาก็เริ่มที่ต้องแก้การศึกษา แพทย์ก็กล่าวว่าเรื่องสุขภาพชุมชน นักเกษตรก็ว่าต้องพัฒนาการเกษตร นักป่าไม้ก็ว่าต้องฟื้นฟูป่า ตำรวจก็ว่าต้องจัดการเรื่องคนผิด ฯลฯ

2. แต่ทั้งหมดนั้นมันพัวพันอีรุงตุงนังแกะกันไม่ออก เกี่ยวเนื่องมากบ้างน้อยบ้าง ยิ่งนานวันความเกี่ยวเนื่องกันก็มีมากขึ้นตามลำดับ นักบริหารก็อาจจะกล่าวว่า เอาปัญหาทั้งหมดมาจัดลำดับความสำคัญซี….

3. คนที่ผ่านการ train มาบางด้านก็บอกว่าต้องเริ่มที่ area base อีสานเหนือกับอีสานใต้ก็ไม่เหมือนกัน อีสานลุ่มน้ำกับอีสานเชิงเขาก็ไม่เหมือนกัน หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ระบบนิเวศวัฒนธรรมเกษตรแต่ละแห่งก็ไม่เหมือนกัน

4. ราชการก็เอาระบบฐานข้อมูลกลางมาเป็นตัวตั้ง คือ กชช 2 ค. หรือ จปฐ. หรือ ฯลฯ ก็มีคำถามว่า เชื่อมั่นฐานข้อมูลนั้นแค่ไหน

5. บ้างก็ว่าเริ่มอะไรก็ถูกทั้งนั้น แต่เราก็เริ่มการพัฒนามามากกว่า 50 ปีแล้ว จนเพื่อนบ้านใกล้เคียงวิ่งรุดหน้าไปไกลแล้ว ต่างก็บอกว่าเป็นเพราะเราไม่บูรณาการกัน

6. ครั้งหนึ่งเราบอกเกษตรกรว่าต้องเพิ่มผลผลิตข้าวโดยการใช้ข้าวสายพันธุ์ใหม่ ต้องเปลี่ยนวิธีการทำนาเป็นการดำ ต้องใส่ปุ๋ย เมื่อเกิดโรคข้าวก็ใช้สารเคมี เฟื่องฟูมาจนเราส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่ง แต่มาวันนี้บอกให้ลดละเลิกสารเคมี เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพองค์รวม

7. เราเปิดประเทศและเน้นการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรและอื่นๆ จนภาคการเกษตรเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แรงงานภาคเกษตรไหลเข้ามาสู่ภาคอุตสาหกรรม จนภาคเกษตรต้องไปจ้างแรงงานต่างชาติเข้ามาทำแล้ว

8. แล้ววันหนึ่งพระองค์ท่านผู้เป็นที่สุดของแผ่นดินทรงตรัสว่าเราต้องพอเพียง สภาพัฒน์ฯก็บรรจุหลักการนี้เข้าไปในแผนฯชาติ แต่ประเทศกำลังผ่านวิกฤติพลังงาน ราชการส่วนหนึ่งเอกชนอีกจำนวนมากก็เห่อปลูกพืชพลังงานกัน บางหน่วยงานกลับไม่ได้เน้นเรื่องพอเพียงตรงข้ามกลับเน้นพืชพลังงานกันใหญ่โต มิใส่ใจหลักการพอเพียงอย่างจริงจัง…

9. พรรคการเมืองก็หวังดีเอาเงินไปทุ่มที่หมู่บ้านท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมที่ไหลบ่าไปสู่ชนบทอย่างมิมีสิ่งใดฉุดรั้งหรือชะลอได้ มิใยจะมีมาตรการที่เหมาะสมในการใช้เงินก้อนนั้น ไม่ถึงสิบปีที่ Mobile phone เข้ามาเมืองไทย เครื่องมือชนิดนี้ก็ติดกายเด็กเลี้ยงควายกลางทุ่งนาเสียแล้ว

10. ฝ่ายปกครองก็บอกว่าชุมชนต้องเข้มแข็ง ตั้งโครงสร้างต่างๆขึ้นมาใหม่โดยไม่สนใจใยดีระบบชุมชนดั้งเดิมที่ function มาตลอดนับร้อยๆปี

11. ยิ่งทบทวนไปก็ยิ่งพบเห็นภาพเหล่านี้ ยิ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็ยิ่งเห็นความผกผัน กระแสหนึ่งไหลไปแทนที่ของเดิม สิ่งใหม่และเก่ามีทั้งดีและด้อยปะปนกันไป แต่เราละทิ้งของเดิมแล้วถวิลหาแต่สิ่งใหม่ๆ

12. ผมมาอีสานก็บอกกับตัวเองว่าต้องรู้เรื่องดิน เรื่องน้ำ เรื่องป่า เรื่องชนเผ่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ฯ

13. พูดเรื่องกว้าง หากเราเป็นคนในหมู่บ้านก็ต้องเริ่มที่หมู่บ้าน วิเคราะห์ภาพของหมู่บ้าน ภายในหมู่บ้าน หมู่บ้านต่อหมู่บ้าน หมู่บ้านกับข้างนอก

14. หากเราเอา area base ผนวกกับ ความคิดเห็นของชาวบ้าน ผนวกกับภาพรวมที่กระทำต่อหมู่บ้าน ต่อยอดของเดิมที่มีดีดีอยู่แล้ว ฟื้นฟูของเดิมขึ้นมา ผนวกกับสิ่งใหม่ๆที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เดินไปด้วยกัน เกาะกลุ่มด้วยกัน โดยเฉพาะการผสมผสานสิ่งใหม่กับเก่าอย่างลงตัว ค่อยเป็นค่อยไป อาศัยเวลาและการปรับตัวขยับเส้นทางเดินไปตามช่วงจังหวะเวลา…ทั้งหมดนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องยึดหลักพอเพียงของพระองค์ท่าน

15. สิ่งที่กล่าวมิใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ตอกย้ำเส้นทางเดินของการพัฒนาอีสาน

สรุปทัศนะของผมคือ

· เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง

· เอาประชาชนเป็นตัวตั้ง

· เอาวิชาการที่เหมาะสมเข้าไปผสามผสานอย่างลงตัว

· เอาภาพรวมประเทศเข้าไปผสมผสานอย่างลงตัว

· พัฒนาคน พัฒนาจิตสำนึกเป็นเรื่องใหญ่

· ต่อยอดของเดิมที่ดี เติมสิ่งใหม่ที่เหมาะสม

· เน้นความพอเพียงเป็นฐานก่อน

· อิงโครงสร้างเก่าผสมผสานหลักการใหม่อย่างเหมาะสม

· ผสมผสาน บูรณาการจากจุดเล็กๆ แล้วขยายสู่ใหญ่

· พัฒนาทุนเดิมหมู่บ้าน ชุมชน ท้องถิ่น ดัดแปลงให้อยู่ในสภาพแวดล้อมใหม่

· ผนวก เด็ก เยาวชน สตรี พระ ผู้เฒ่า ฯลฯ ให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ

· ขับเคลื่อนภาพรวมอย่างต่อเนื่อง ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงตามสภาวะ เงื่อนไข

พูดง่ายทำยาก แต่เมื่อเริ่มสิ่งใดสิ่งหนึ่งขึ้นมาแล้ว ก็สร้างสายใยเกี่ยวเนื่องสิ่งอื่นๆตามไปอย่างบูรณาการ ใช้เวลาไม่เร่งรีบจนมีเพียงปริมาณโดยไม่มีคุณภาพ เนื้อในของชุมชนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก คนจากภายนอกเป็นเพียงผู้สนับสนุน

ข้าน้อยขอปลดปล่อยประสบการณ์บางส่วนออกมาบ้างเท่านั้น เพราะต้องการสนองรับสั่งของพระองค์ท่านด้วยวิสัยคนทำงานคนหนึ่ง..ที่เป็นข้ารองพระบาท…


คนมีเบอร์

17 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 23, 2008 เวลา 0:29 ในหมวดหมู่ ชนบท #
อ่าน: 3894

ความจริงคนเรามีเบอร์มานานแล้ว เมื่ออายุครบตามกฎหมายไทยทุกคนต้องไปทำบัตรประชาชน ซึ่งในบัตรประชาชนนั้นจะมีหมายเลขประจำตัวที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่าเลข 13 หลัก ทั้งทางราชการและหน่วยงานทางธุรกิจเอาตัวเลขนี้ไปใช้มากมาย เพราะเป็นหลักฐานที่ออกโดยราชการที่ระบุความเป็นคนไทยและข้อมูลอื่นๆที่ทางราชการกำหนด

ในโครงการที่ผมทำอยู่ภายใต้หน่วยงานนี้ ได้นำตัวเลขของประชาชนมาใช้เพื่อจัดทำระบบข้อมูล การวิเคราะห์ วางแผน การติดตาม การประเมินผล และอื่นๆอีกมากมายในรูปของแผนที่ที่เรียกว่าระบบ GIS

ระบบนี้เข้ามาในเมืองไทยนานแล้ว สมัยผมทำงานกับ USAID ปี 23-28 นั้นก็เริ่มใช้ระบบนี้มาผสมผสานกับการวิเคราะห์พื้นที่ที่เรียกว่า Agro-ecosystem Analysis หรือ AEA แล้ว แต่สมัยนั้นระบบยังไม่สมบูรณ์ รูปร่างแผนที่ยังหยาบ แต่ก็สามารถนำมาใช้เพื่อประโยชน์การวิเคราะห์พื้นที่ และใช้เป็นแนวทางการวางแผนงานได้จริง เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นกว่าเดิม ผมมีส่วนช่วยทีมอาจารย์มหาวิทยาลัยขอนแก่นเริ่มใช้ AEA วิเคราะห์พื้นที่ภาคอีสานรายจังหวัดเพื่อส่งเสริมการเกษตร และต่อมากรมส่งเสริมการเกษตรก็นำหลักการนี้ไปใช้ทั่วประเทศ

ความเป็นเหตุเป็นผลในการนำข้อมูลต่างๆมาดูความสัมพันธ์กันนั้น ส่งผลให้มีการปรับกระบวนการทำแผนงานที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม การกำหนดเป้าหมาย กระบวนการทำงาน และระบบการส่งเสริมที่เน้นตัวชาวบ้านเรียนรู้ระหว่างกันเองมากขึ้น โดยหลักการแล้ว นี่เป็นการใช้เทคโนโลยีมามีส่วนในการเริ่มกระบวนการ ที่เรียกว่า Area Base Approach (ABA)

มาวันนี้ หน่วยงานที่ผมทำงานอยู่นี้มีแนวคิดวิเคราะห์เจาะลึก เกษตรกรทุกครัวเรือนในพื้นที่โครงการ โดยนำผลการวิเคราะห์มาแสดงในแผนที่ Base Map กล่าวคือ ที่ดินที่เกษตรกรถือครองตามกฎหมายของหน่วยงานนี้ เขาจัดระบบแปลงที่ดินไว้แล้ว คือ มีชื่อพื้นที่ มีหมายเลขกลุ่มพื้นที่ มีหมายเลขแปลง มีหมายเลข 13 หลักของเจ้าของแปลง แล้วก็นำข้อมูลทางชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคมต่างๆมาแสดงผลในรูปของแผนที่ดังกล่าวได้ โดยใช้สัญลักษณ์สี หรือต่างๆมาแสดง

ตัวอย่างแผนที่นี้แสดงถึงการถือครองที่ดินของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลหนองแคน

ตัวอย่างแผนที่นี้แสดงถึงการใช้ประโยชน์ในที่ดินถือครองของเกษตรกร

ตัวอย่างแผนที่นี้แสดงถึงเจ้าของที่ดินถือครองที่มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนในระดับต่างๆ

ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้เพื่อการวิเคราะห์และพิจารณาจัดทำนโยบาย แผนงาน และการจัดลำดับความสำคัญของปัญหา กิจกรรม พื้นที่ ฯ ได้โยอาศัยข้อมูลเหล่านี้

ข้อมูลเหล่านี้มีการใช้ประโยชน์มานานแล้ว โดยเฉพาะอเมริกา และประเทศที่มีเทคโนโลยีชั้นสูง เช่นดาวเทียมที่สามารถถ่ายภาพพื้นที่ต่างๆทั่วโลกอย่างละเอียดได้ เขาสามารถทราบเลยว่า พื้นที่ใดในโลกนี้ปลูกอะไร ขนาดพื้นที่เท่าใด ผลผลิตจะได้เท่าใด ฯ แม้ว่าจะไม่ละเอียดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การพัฒนาความละเอียดก็มีตลอดเวลาและคาดการณ์ที่แม่นยำมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อหลายเรื่องที่ไม่ขอกล่าวในที่นี้…

หน่วยงานที่ผมมีความรับผิดชอบอยู่นี้ ได้นำเทคนิคนี้มาใช้ ก็ต้องติดตามต่อไปว่าจะก้าวไปได้ไกลสักแค่ไหน

แต่ที่แน่ๆคือ กิจกรรมทุกกิจกรรมที่ทำร่วมกับเกษตรกรนั้นจำเป็นต้องบันทึกหมายเลขประจำตัวประชาชน หมายเลขกลุ่มแปลง และหมายเลขแปลงของเกษตรกร ที่ทำกิจกรรมนั้นๆ เพื่อนำมาใช้แสดงผลในรูปของแผนที่ต่อไป

นี่คือเรื่องราวของคนมีเบอร์หละครับ….


ฉันหนาว ฉันเหงา ฉันทึ่ง

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 21, 2008 เวลา 21:48 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2647

ฉันหนาว  ฉันเหงา  ฉันทึ่ง


ฉันจึง  มาหา  ที่หมาย


ฉันไม่หวัง  อะไร  ที่มากมาย


สุดท้าย  แค่ขอหลับ  ซักงีบหนึ่ง

…อิอิ…

ข้อมูล: หน้าวัดผาเงา เชียงราย (Date 6/12/51 Time 9.20) By Bangsai


The nicest people money can buy….

1 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 16, 2008 เวลา 23:16 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2812

เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่น(RDI) ที่คนข้างกายผมเป็นรอง ผอ.อยู่นั่นเชิญ ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดร.มรว.อคิน รพีพัฒน์ ดร.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม และพ่อผาย สร้อยสระกลางปราชญ์อีสาน มาอภิปรายกันเรื่อง รู้ทันประเทศไทย 3 ทศวรรษ..จากโลกาภิวัตน์ ถึงทุนนิยมสุดโต่ง เนื่องในวาระที่ RDI จะครบรอบอายุ 30 ปี…

งานนี้อาจารย์เจิมศักดิ์เป็นผู้ดำเนินการ แต่ท่านก็บอกว่าขอร่วมเป็นผู้อภิปรายด้วย ท่านที่ติดตามผลงานของวิทยากรดังกล่าวย่อมทราบดีว่า ทั้งอาจารย์ อคิน และอาจารย์ศรีศักดิ์นั้นท่านเป็นนักมานุษย์วิทยาที่ติดดินมากๆ ผลงานของทั้งสองท่านนั้นเป็นที่ยอมรับกันและอ้างอิงกันตลอดมา โดยเฉพาะท่านอาจารย์ศรีศักดิ์นั้น ผมเพิ่งกล่าวถึงท่านในกรณีที่ต่อต้านการสร้างท่าเรือที่เชียงแสนที่เราไปเยี่ยมมาสดๆร้อนๆ สาระการอภิปรายเป็นที่น่าสนใจยิ่งในสายตาผม ซึ่งถือว่าเป็นอาหารสมองที่เลิศรสยิ่งนักยิ่งกว่าไปบริโภค พระโดดกำแพง อีก อิอิ..

มีประโยคทองมากมายเกิดขึ้นระหว่างการอภิปราย ซึ่งอาจารย์เจิมศักดิ์ก็ถือว่าเป็นเลิศในการจับประเด็น ตั้งประเด็น ตรรกะ ต่างๆยิ่งจับสาระของทั้งสามท่านได้มาก ผมเองติดใจคำเหล่านั้นมีคำหนึ่งที่ อาจารย์อคินกล่าวว่า เพื่อนฝรั่งพูดถึงคนไทยว่า The nicest people money can buy หรือที่ว่า คนไทยนั้นน่ารักที่สุดที่เงินซื้อได้” …..

อาจารย์เจิมศักดิ์บอกว่า ฟังแล้วเจ็บปวดที่สุด ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ก็กล่าวว่า ฝรั่งมันไม่ได้พูดดูถูกคนไทยเช่นนี้ในวันนี้ ในอดีตนักวิชาการของฝรั่งก็กล่าวว่าสังคมไทยเป็น Thailand: Loosely structure และอื่นๆ…

กลับมาที่ Money can buy ซึ่งที่ประชุมก็ขยายความกัน ทั้งสาวอีสานและที่อื่นๆไปแต่งงานกับฝรั่งเพื่อต้องการเงิน….และ….และ.. มาถึงการเมืองที่อีสานที่เงินซื้อได้จริงๆในที่ประชุมมีการยกตัวอย่างมากมายว่า อีสาน เหนือ แม้ภาคกลางเองก็ตามเถอะไม่พ้นคำว่าเงินซื้อเสียงได้ และตั้งข้อสังเกตว่าอีสานซื้อได้มากที่สุด..และที่ภาคใต้เงินซื้อไม่ได้ หรือซื้อได้น้อยที่สุด…

ที่ประชุมไม่มีข้อสรุปที่พึงพอใจว่าทำไมเป็นเช่นนั้น แต่นี่คือปรากฏการณ์ทางสังคมที่ต่างให้ข้อสังเกตไว้ และเมื่อปรากฏการณ์สังคมเป็นเช่นนี้ก็ไปเข้าทางของนักการเมืองบางคนที่มีเงินมากและมีเล่ห์เหลี่ยมมาก ก็ใช้จุดอ่อนนี้ดำเนินการทางการเมืองเพื่อให้ได้มาซึ่งการผ่านการเลือกตั้ง และเข้าไปบริหารแผ่นดิน แล้วก็ใช้เงื่อนไขการมีอำนาจทางการเมืองหาผลประโยชน์…..

เป็นคำถามที่ใหญ่มากๆว่า ทำไม? Money can buy…The nicest people. และคนไทยเหมือนกัน แต่ทำไมคนภาคใต้จึงมีปรากฏการณ์นี้น้อยที่สุด ในฐานะที่ อ.เจิมศักดิ์ใกล้ชิดกับ พธม.ตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่ พธม.นั้นที่มากที่สุดคือภาคใต้และจังหวัดรอบอ่าวไทยตั้งแต่ ตราด จันทบุรี ชลบุรี เลยไปถึงเพชรบุรี ราชบุรี…. และทั้งหมดนี้เป็นพื้นที่ของ ปชป. เพราะอะไร??

หลายคนกล่าวว่า เพราะความยากจน… แต่อีกหลายท่านก็อธิบายว่าอาจจะไม่จริง เพราะในปัจจุบันค่าเฉลี่ยรายได้คนภาคอีสานก็เพิ่มขึ้นมากมาย เมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา อาจารย์อคินกล่าวว่า มันเป็น ความจนเทียม หรือ ความจนเปรียบเทียบหมายถึง รายได้สูงขึ้นจริงแต่เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นนั้นยังรู้สึกว่าตัวเองยังจนอยู่… จึงแสวงหาเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งความเท่าเทียมกับภูมิภาคอื่น….???

ท่านล่ะ คิดอย่างไรบ้างครับ…ที่ฝรั่งมังค่าพูดอย่างนี้..


วัฒนธรรมองค์กร…มุมมองของบางทราย 1

3 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 14, 2008 เวลา 0:09 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4065

จำได้ว่าที่เฮฮา 3 ดงหลวง ท่านจอมป่วนนำเสนอเรื่อง Chaotic Organization อย่างน่าสนใจแต่ก็ไม่ได้มีการสานเรื่องนี้ต่อในที่ประชุม อาจจะมีการแลกเปลี่ยนส่วนตัวกันบ้าง (คาดการณ์เอง) แต่ก็เป็นเรื่องที่ผมสนใจส่วนตัว เพราะต้องทำงานกับองค์กรในหลายสถานะ โดยเฉพาะองค์กรชาวบ้านและที่เกี่ยวข้อง….

มีหลักการ มีทฤษฎีที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไม่น้อยทีเดียว แต่มักจะเป็นเรื่องราวจากตะวันตก ที่เป็นของตะวันออก หรือของสังคมไทยโดยตรงดูจะมีน้อยมาก มีความพยายามที่กล่าวถึงก็เป็นการกล่าวถึงบางแง่บางมุมเท่านั้น….

แต่ตรงข้ามเนื่องจากองค์กรธุรกิจต่างๆต่างขับเคี่ยวกันเป็น Top management หลักการพัฒนาองค์กรในระบบธุรกิจเข้ามาเรียนรู้และใช้กันมากมาย จนมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอกด้วยซ้ำไป หรือการจัด Learning Course ที่มีราคาแพงลิบลิ่วหากใครต้องการเข้าไปนั่งฟัง และแน่นอนต่างมุ่งหวังประสิทธิภาพในการบริหารคน องค์กร และ…..ท้ายที่สุดคือหวังผลกำไรของธุรกิจนั้นๆ

ผมอยากจะเรียกองค์กรแบบนี้ว่า องค์กรปิด” Close organization (CO) เพราะว่าเป็นองค์กรที่มีกฎระเบียบข้อบังคับ อ่อนลงมาก็เรียกข้อตกลง สัญญาใจ แรงที่สุดก็เรียกกฎหมาย แม้ว่าจะมีความพยายามให้พนักงานทุกแผนกมีส่วนร่วมในการสร้างองค์กรก็ตาม แต่ทั้งหมดก็เพื่อกำไรสูงสุดขององค์กรนั้น ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญองค์กรทางธุรกิจจึงไม่ทราบว่าก้าวไปถึงไหนแล้ว

องค์กรปิดอีกประเภทหนึ่งคือระบบราชการ ที่นับวันจะล้าหลังสุดจะสลัดหลุด(ภาพรวม) แม้จะปฏิรูปกันมานานนับทศวรรษแล้วก็ตาม มีการปรับเปลี่ยนบ้างแต่ก็ยังไม่ไปไหนเลย… จะเห็นได้ชัดเมื่อเราลงไปคลุกคลีกับชนบท คนยากจนที่สุด แม้ในสลัมในเมืองที่ระบบราชการเข้าไม่ถึงการแก้ปัญหาแบบรื้อสาเหตุ ล้มปัจจัยก่อเหตุ มีแต่ลูบหน้าปะจมูก เพราะข้อจำกัดมากมาย ทั้งที่มีคนดีดีอยู่ในระบบพะเรอะเกวียน

เพราะระบบปิดนั้นมี ชั้น มีอำนาจหน้าที่ มีการกำหนดความรับผิดชอบ มีการกำหนดผลตอบแทนที่เป็นกฎระเบียบตายตัว มีการสั่งการ และสร้างวัฒนธรรมของระบบขึ้นมา มีพรรคพวก มีขั้นที่จะก้าวขึ้นไป ระบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งจะไม่ขอกล่าว..

มีองค์กรอีกแบบหนึ่งที่เป็นแบบองค์กรแบบเปิด Open Organization (OO) หรือ Traditional Organization หรือ Cultural Organization เป็นองค์กรที่ไม่เป็นองค์กร แม้ว่าจะมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมของกลุ่มชน ความเชื่อ ความศรัทธา การเคารพนับถือ ที่ทุกคนในกลุ่มในชุมชนยอมรับกัน มีชั้นเหมือนไม่มีชั้น เพราะความเป็นชั้นเกือบไม่มีช่องว่างระหว่างชั้น หรือมีสภาพเหมือนกันโดยรวม มีบทบาทหน้าที่แต่ก็สามารถทดแทนกันได้อย่างลงตัว

ที่กล่าวมานั้นมิได้ต้องการจะเสนอให้พันธมิตรมาเดินขบวนขอยกเลิกองค์กร CO แล้วเชิดชู OO เพราะต่างก็มีจุดเด่น จุดด้อย ต่างก็เหมาะสมกับสภาพที่แตกต่างกัน แต่ผมกำลังมองว่า เราจะพัฒนาให้เกิดการผสมผสานกันได้อย่างไรที่เหมาะสมกับสังคมไทย และก็มิได้หมายความว่าจะต้องมีเพียงรูปแบบเดียวตายตัว

แต่เมื่อหักมุมมามองเฉพาะที่เฮฮาศาสตร์ ความคิดเห็นเบื้องต้นคงเป็นคร่าวๆเพราะต้องใช้เวลาพัฒนาตัวของเขาเองที่ผมเรียกว่า การปรับเปลี่ยนขององค์กร หรือการปรับตัวขององค์กรหรือ การขยับตัว เป็นเรื่องปกติที่จะต้องขยับตัวให้ทุก function ลงตัวมากที่สุด เหมือนคนขยับตัวในท่าที่สบายที่สุด เหมือนช้าง ม้า วัว ควาย ขยับตัวให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุดที่เขาชอบ องค์กรเปิดก็ต้องการการขยับตัวที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ผมชอบที่ คอนสรุปสาระไว้ จึงอยากทำเป็น diagram ดังนี้

ข้อคิดเบื้องต้นของบางทรายต่อเฮฮาศาสตร์ อยากจะมองอีกมุมหนึ่งดังนี้

มุมที่หนึ่ง เป็นองค์กร ที่เหมือนองค์กรทั่วไป ที่มีโครงสร้าง มีกฎระเบียบ มีสมาชิก มีกิจกรรม มีคณะกรรมการ ฯลฯ และสามารถจะพัฒนาไปสู่การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งมุมนี้อาจจะไม่เหมาะสมต่อ เฮฮาศาสตร์

มุมที่สอง เป็นองค์กรทางสังคมที่มีเนื้อในเชื่อมกันด้วยวัฒนธรรม(Social Cohesion) ที่ผสมผสานกันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเหมาะสม

ขอสรุปความเห็นเบื้องต้นไว้ดังนี้

ส่วนตัวผมเชื่อเรื่อง ความศรัทธา เป็นความศรัทธาที่มีเหตุมีผล มิใช่ศรัทธาแบบลุ่มหลง หรือคลั่งไคล้ เพราะความลุ่มหลงและคลั่งไคล้ นั้นอันตรายและไม่มั่นคง ความศรัทธานี้ต้องเป็นศรัทธาในคุณงามความดี คิดดี ทำดี

นี่เป็นความคิดเห็นต่อเนื่องจากที่ คอน ได้นำเสนอเรื่องนี้ไว้ ที่วัฒนธรรมเฮ http://lanpanya.com/wash/archives/489 และตั้งคำถามให้เราได้ลองแสดงความเห็นแก่กันครับ


AAR เฮหก…4 เชียงแสนกับบ่นปนสำนึก

10 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 12, 2008 เวลา 11:03 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 4078

ผมเคยมาดูเมืองเก่าเชียงแสนครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มาเองโดยไม่มีผู้บรรยาย แต่ก็ชื่นชมว่าเมืองเชียงแสนนั้นน่าสนใจความรุ่งเรืองในอดีต เมื่อได้มาฟังอาจารย์มิติเล่ายิ่งซาบซึ้ง หากฟังเวอร์ชั่นของลุงเอกก็จะยิ่งเห็นคุณค่ามากขึ้นเป็นทวีคูณ

เท่าที่ผมได้ยินเชียงแสนมานั้นก็มาฮือฮาตอนที่ทางราชการ และท้องถิ่นบางส่วนต้องการทำท่าเรือ ธุรกิจแม่น้ำโขงที่นี่ ท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ท่านออกมาคัดค้านอย่างหนักแต่ก็ไม่เป็นผล มาวันนี้เราสัมผัสท่าเรือที่เชียงแสนแล้ว

มุมมองผมนั้นสนับสนุนท่านอาจารย์ศรีศักดิ์ เพราะว่าตัวเมืองเชียงแสนโบราณนั้นมิควรที่จะเอาใดๆไปแตะต้องกล้ำกลายแม่แต่เสาไฟฟ้าสักต้นก็ไม่ควรด้วยซ้ำไป ปักขอบเขตบริเวณให้เป็นเมืองเก่าล้วนๆ ตัวเมืองใหม่อยู่นอกบริเวณนี้ …..แต่เปล่าเลยสิ่งก่อสร้างต่างๆรุกล้ำเข้าไปจนดูไม่ได้เลย หากเราจะตำหนิรัฐ ก็ไม่ผิด แต่ก็มีข้ออ้างมากมาย เช่นไม่มีคน ไม่มีงบประมาณ.. แต่ต้องตำหนิท้องถิ่นที่ไม่ได้ช่วยกันอนุรักษ์วัตถุโบราณแห่งนี้ (และแห่งไหนๆทั่วประเทศไทย) ดูเหมือนว่านอกจากจะไม่มีมุมทางอนุรักษ์พื้นที่คุณค่าทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังทำลายอีกด้วย

ผมไม่ได้ตำหนิคนเชียงแสน แต่ผมตำหนิคนไทย พวกเราทั้งหมดนี่แหละที่มักง่ายเกินไป ผมเห็นชาวบ้านหลายแห่งตื่นขึ้นมาช่วยกันสร้างป่าชุมชนด้วยกันเอง โดยไม่มีราชการเข้ามาช่วยจนเป็นที่ประจักษ์ก็หลายแห่ง อาจเป็นเพราะป่าชุมชนนั้นๆมีประโยชน์โดยตรงต่อวิถีชีวิตชุมชน แต่วัตถุโบราณที่เป็นเมืองอย่างเชียงแสนนั้นก็อยู่ในลักษณะทำนองเดียวกัน แต่อยู่ในรูปแบบใหม่ เพราะสถานที่โบราณที่มีความสำคัญเช่นนี้ คือแหล่งเรียนรู้ อดีตของบรรพบุรุษชาติไทย ที่ลูกหลานสมควนเข้ามาสัมผัสและเข้าใจความเป็นมา ฯลฯ… และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

ผมมองเลยไปถึงการทำลายวัฒนธรรมตัวเองด้วยวัฒนธรรมใหม่ วิ่งไปข้างหน้าโดยทำลายของเก่า หรือไม่แยแสต่อคุณค่าเดิมที่สร้างให้เป็นเราในวันนี้

เพื่อนแซ่เฮทุกคนในวันนี้ เดี๋ยวนี้ ตัวตนเป็นๆที่เห็นได้ จับต้องได้วันนี้ มีที่มาที่ไปมามากว่าตั้งแต่ยี่สิบปีไปจนถึง 50-60 ปี มีวันนี้ได้ไม่ใช่โผล่จากดินจากน้ำมาในเมื่อวานนี้ แต่ แต่ละท่านผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านทุกข์ สุข ต่อสู้ ล้มเหลว ชัยชนะ และสารพัดเรื่องราวที่เป็นเบ้าหลอมสร้างให้เรามาเป็นคนแซ่เฮวันนี้ เรานึกย้อนไปแล้วก็บอกว่า ทุกจังหวะก้าวคือคุณค่ามหาศาลที่จ่ายราคามาด้วยชีวิต …นี่คือภูมิหลัง เบื้องหลัง..และพัฒนาการทางประวัติศาสตร์บุคคล ไม่เชื่อลองอ่านดูใน ไผเป็นไผซิ ทึ่งซะไม่เมี๊ยะ


ก้อนอิฐก้อนดิน ลวดลายที่หลงเหลือบนซากปรักหักพังของเมืองเชียงแสนก็เช่นกัน ที่เห็นนั้นเป็นรูปธรรมที่เก็บงำนามธรรม คือพัฒนาการของเมืองทางประวัติศาสตร์ซึ่งก็คือเบ้าหลอมชีวิตของความเป็นคนไทย ชาติไทย เผ่าไทย ราษฎรไทย…ฯลฯ มาจนทุกวันนี้ เราจะสลัดก้อนอิฐแห่งความหลังลงไปโดยไม่สำนึกเลย แล้วมองไปแต่ข้างหน้าเช่นนั้นหรือ… เพื่อนไทย..ช่วยกันไตร่ตรองและมาอนุรักษ์ให้อดีตเรามีคุณค่ากันเถิด.. (ต๊ายย…บ่นซะยาวเลย)


AAR เฮหก..3 อ.ถวัลย์ ดัชนี ที่ผมรู้จัก

2 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 11, 2008 เวลา 20:07 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 12592

ผมมิบังอาจเขียนถึงท่านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี เพราะผมเป็นแค่เศษเสี้ยวของท่าน แต่ขออนุญาตบันทึกถึงท่านในฐานะที่ผมเป็นศิษย์ จะเรียกว่าศิษย์เขียนถึงอาจารย์ ก็พอจะรับฟังนะครับ

ผมเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในสายวิทย์ บรรยากาศมหาวิทยาลัยนั้นทำให้ผมเตลิดเปิดเปิงในความเป็นอิสระสูงสุด เนื้อแท้ในความเป็นตัวเองก็ทยอยเบ่งบานออกมา ซึ่งก็ไม่มีอะไรเด่นนอกจากการปรับตัวต่อสังคมใหญ่เท่านั้น และเรื่องราวต่างๆที่ใหม่สำหรับผม เพราะเป็นระบบ Interdisciplinary ผมจึงเรียนวิชาต่างๆอย่างกว้างขวาง ทั้งสายวิทย์ สายศิลป์ ทั้งปรัชญาและศิลปะที่สูงส่งที่ผมเข้าไม่ถึง แต่ทึ่ง…..


หนุ่มใหญ่ท่านนั้นแตกต่างจากอาจารย์ท่านอื่นๆ คือ ตัวใหญ่ ผมยาว ม้วนเป็นก้อนเหน็บไว้ด้านหลังศีรษะ ใส่เสื้อสีพื้นจัด เช่น ม่วง ดำ และใช้วิธีเดินไปไหนมาไหนในมหาวิทยาลัยทั้งๆที่มีรถรามากมายท่านก็เลือกที่จะเดิน สิ่งที่สดุดตามากๆคือ แฟนสาว(เดาเอานะครับ) ของท่านนั้นเปรี้ยวปรี๊ด….ก็สวยซะไม่เมี๊ยะ ผมยาว เอาเชือกสีสวยๆมาคาดรอบศีรษะ…นุ่งสั้นจุ้นจู๊จริงๆ เวลาเธอก้มดูดน้ำจากเครื่องน้ำดึ่มซึ่งต้องก้มลงนั้น นักศึกษาชายหละตาค้างไปหมด…ก็จะไปเหลืออะไรเล่า…อิอิ

พวกเราแห่ไปเรียนวิชา Art Appreciation ท่านสอนประวัติศาสตร์ศิลป์ ความหมายของศิลป์ต่างๆ ยุคต่างๆ การซาบซึ้งกับความหมายของศิลป์….สอนอย่างไรก็ไม่เข้าหัวผม แต่ทึ่งตัวอาจารย์ ตัวอักษรที่อาจารย์เขียน และน้ำเสียงที่อาจารย์พูดออกมา มันจริงจัง เด็ดขาด เฉียบ ประเภทเปรี้ยงเดียวจบ….

หลายครั้งท่านอาจารย์เปิดอภิปรายเดี่ยว และก็แปลกที่ใครต่อใครจะพูดก็ใช้ห้องประชุมใหญ่ แต่อาจารย์ใช้ลานกว้างหน้าคณะสังคมศาสตร์ ต่อหน้าคนเดินไปมา รถราผ่านไปมา ใครอยากฟังก็หยุดลงมายืนบ้างนั่งบ้าง ผมว่าส่วนหนึ่งที่หยุดฟังเพราะ ผู้พูดนั้นแต่งตัวต่างจากคนอื่นๆ

ท่านใช้เวทีตรงนี้พูด(เดี่ยวไมโครโฟน) ผมจำได้แม่นว่า ครั้งหนึ่งท่านอาจารย์พูดเรื่อง Pop Art ท่านพยายามอธิบายศิลป์เชิงสัญลักษณ์ และอธิบายหลักทางพุทธศาสนามากมาย ทั้งโลกิยธรรม โลกุตระธรรม ….ฯลฯ…. เราไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ทึ่ง….

นอกจากนั้นเนื่องจากผมและเพื่อนๆเป็นกลุ่มนักศึกษาสนใจการทำกิจกรรมสังคม ซึ่งก็มีท่านอาจารย์หลายท่านให้การสนับสนุน หนึ่งในนั้นคือท่านอาจารย์ องุ่น มาลิคท่านสอนจิตวิทยาและเป็นอาจารย์สตรีท่านเดียวที่นุ่งผ้าถุงไปสอน ท่านมีที่ดินติดรั้วมหาวิทยาลัยและสร้างกระต๊อปเล็กๆให้นักศึกษากลุ่มกิจกรรมมาพักฟรี และท่านยังส่งเสียนักศึกษาที่มีปัญหาทางการเงินค่าเทอมอีก..

อาจารย์องุ่นนั้นสนิทสนมกับนักศึกษากลุ่มกิจกรรมมาก พานักศึกษาไปทำกิจกรรมเพื่อสาธารณะมากมายทั้งในและนอกมหาวิทยาลัย ที่ครั้งหนึ่งเราไปทำความสะอาดที่วัดฝายหิน ใครเป็นลูกช้างย่อมรู้ดีว่าวัดนี้เสมือนเป็นวัดประจำมหาวิทยาลัย อาจารย์องุ่นเชิญอาจารย์ถวัลย์ ดัชนีเอาผลงานศิลปะของท่านไปแสดงที่นั่น บริเวณนั้นเป็นลานหินกว้างที่มีก้อนหินใหญ่น้อยมากมาย อาจารย์ถวัลย์เอาแผ่นงานศิลปะของท่านไปวางไว้ตามโขดหินจำนวนมาก แล้วก็เดินอธิบายที่ใครต่อใครไปชม

งานศิลปะของท่านอาจารย์ช่วงนั้นเป็นรูปสัตว์ประหลาดต่างๆที่แสดงกล้ามเนื้อเป็นมัดๆ ความเป็นอลังการ มหึมา ยิ่งใหญ่ อยู่ในท่าทางต่างๆ ฝีลายศิลป์ของท่านคมมาก ไม่มีการย้อนมาละเลงสีสัน ประเภทตวัดครั้งเดียวใช้ได้เลย ท่านเดินอธิบายส่วนใหญ่ก็จะวกเข้ามาถึงหลักธรรมทางพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์เป็นสาระหลักในการอธิบายงานของท่าน คนปัญญาน้อยอย่างผมไม่เข้าใจ แต่ทึ่ง…

หากท่านไปอ่านประวัติของอาจารย์จะยิ่งทึ่ง เช่น.. ตอนเรียนอยู่ที่ศิลปากรในชั้นปีที่ 1 ถวัลย์ ดัชนี ทำคะแนนการวาดรูปได้ถึง 100+   แต่เมื่อขึ้นปี 2 เขากลับทำได้ แค่ 15 คะแนน เพราะเหตุผลที่ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้ไว้ว่า ปลาของนายไม่มีกลิ่นคาว นกของนายแหวกว่ายไปในอากาศไม่ได้ ม้าของนายไม่สามารถที่จะควบหรือวิ่งทะยานออกไปได้ นายเป็นเพียงแค่ นักลอกรูป มันไม่ใช่งานศิลปะ

คำวิจารณ์ของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรีดังกล่าวนี้ทำให้ถวัลย์ ดัชนี เปลี่ยนแปลง การทำงานทุกอย่างใหม่หมด เมื่อคิดและดำรงอยู่ในวิถีทางแห่งศิลปะได้แล้ว เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ให้สอบ ชิงทุนไปศึกษา ต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้านสาขาจิตรกรรมฝาผนัง อนุสาวรีย์ ผังเมือง และใน ระดับปริญญาเอก สาขาอภิปรัชญา และสุนทรียศาสตร์ ที่ราชวิทยาลัยศิลปะ อัมสเตอร์ดัม ที่แห่งนี้เองที่ถวัลย์ได้เรียนร่วมชั้นเดียวกันกับนักเรียนต่างชาติ ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีศิลปินแห่งชาติเกิดขึ้น 3 คนจากสถาบันแห่งนี้ นั่นคือ ศิลปิน แห่งชาติของอินโดนีเซีย ด้านการแกะสลัก , ศิลปินแห่งชาติของอเมริกา ชาวสวิตเซอร์แลนด์ นามว่า Giger ( ไก เกอร์ หรือ กีเกอร์ ถ้าอ่านแบบเยอรมัน) ซึ่งเป็นศิลปินที่วาดรูปออกแนวอวกาศและเป็นผู้ออกแบบเอเลี่ยนและศิลปินแห่งชาติ ของไทย ถวัลย์ ดัชนี….


…..งานของท่านต้องใช้ปัญญาด้านในสัมผัส…

ในฐานะศิษย์โนเนมของท่านคนหนึ่ง ผมขอแสดงคารวะแด่ท่านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี

(ท่านที่สนใจประวัติของท่านดูได้ที่ http://www.thaiartstudio.com/profile_thawan.htm)


บางทรายกระจายภาพ จากเฮหก…

12 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ธันวาคม 9, 2008 เวลา 22:05 ในหมวดหมู่ เฮฮาศาสตร์ #
อ่าน: 2753

ที่เฮหกมีภาพมากมายใน collection การที่จะเลือกเอามานั้นก็รักพี่เสียดายน้อง จะเลือกน้องก็คิดถึงพี่ อะไรทำนองนั้น ตัดใจ เอามาสามรูปตามที่ตกลงกัน

ภาพที่ 1 : ชื่อภาพ ความเปลี่ยนแปลง”….

รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 17.14 น., Shutter speed 1/250, Aperture Value 4.3 , Auto focus, Focal length 27.4 mm


ที่มาของภาพ: ที่หมู่บ้านชนเผ่าอาข่า ดอยแม่สะลอง ใกล้สำนักงานพี่แดง ที่ที่พวกเราไปแวะเที่ยวชมตอนใกล้ค่ำ

อธิบาย : หากดูเพียงภาพโดยไม่มีประวัติศาสตร์ มันก็เป็นภาพธรรมดาทั่วไปที่เราเห็นกันบ่อยๆ แต่จริงๆแล้วมันเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านอาข่าแห่งนี้ เดิมนับถือผีมานับร้อยๆปี แต่มาเปลี่ยนแปลงเป็นการนับถือพระเจ้า มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสุดทางจิตวิญญาณ เหมือนหลายๆชนเผ่าตามชายแดนไทยพม่า เครื่องหมายที่ชูขึ้นเหนืออาคารหลังนี้ คือการประกาศให้รู้ว่า ที่นี่คือชนชาวคริสต์ ที่ไม่ได้นับถือผีเหมือนบรรพบุรุษอีกต่อไปแล้ว แม้จิตวิญญาณจะมอบให้แก่พระผู้เป็นเจ้า แต่ประเพณีที่ดีงามหลากหลายเรายังปฏิบัติเหมือนเดิม..เพื่อความสงบสุขแห่งชุมชน..ทั้งภายนอกและภายในกายหยาบของพวกเรา …อาข่า…

ภาพที่ 2 : ชื่อภาพ ถึกทัก”….

รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 16.45 น., Shutter speed 1/550, Aperture Value 3.6 , Auto focus, Focal length 4.7 mm


ที่มาของภาพ: ที่อาศรมท่านศิลปินหญ่าย ครูถวัลย์ ดัชนี..

อธิบาย : “ถึก หมายถึงควาย ทัก หมายถึง การบอกกล่าว หมายรวมได้ว่า เขาควาย ที่เป็นซากคงเหลือของตัวควายที่สิ้นไปแล้วนั้น ได้บอกกล่าวอะไรหลายอย่างแก่เราผู้เป็นสัตว์ประเสริฐกว่า ชีวิตปัจจุบัน โดยเฉพาะคนเมืองนั้นห่างไกลต่อสัตว์ชนิดนี้มากขึ้น จนไม่มีความผูกพันอีกต่อไป แต่ชนบทนั้น ยามสามค่ำเดือนสาม ชาวบ้านจะมีพิธีผูกเขาควาย ทำขวัญให้เจ้าถึก เอาหญ้า เอาน้ำให้กิน ไปขอขมาลาโทษที่ทุบตีเจ้ายามใช้งาน และร้องขอให้เจ้ามีลูกหลานออกมาเยอะๆจะได้ใช้แรงงานต่อไป คนกับควายในอดีตคือความผูกพันสนิทสนม พึ่งพาแก่กันและกัน คนตายไปมีแต่นามธรรมที่คงอยู่ คือชั่วดี แต่ควายตายไปแล้วยังมีเขาคงเหลือให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ต่างๆ แม้งานศิลปะเช่นนี้…

ภาพที่ 3 : ชื่อภาพ นาคา”….

รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 9.07 น., Exposure time 1/900, Aperture Value 6 , Auto focus, Focal length 11.9 mm

ที่มาของภาพ: ที่โบสถ์วัดผาเงา…

อธิบาย : ยามสายวันนั้นทุกคนกำลังทานอาหารเช้า ผมขึ้นไปชมโบสถ์ที่กล่าวกันว่าสวยงามมากมายนั้น ช่วงนั้นตำแหน่งพระอาทิตย์อยู่ในระดับพอดีกับการถ่ายรูป ซิลลูเอท แบบนี้ ผมจึงไม่ยั้งรออีกต่อไป

นาคาคือนาค สัญลักษณ์ที่สำคัญของศาสนาพุทธและวัฒนธรรมความเชื่อของชุมชนตลอดลำน้ำโขง นอกจากจะเป็นการอัญเชิญนาคามาประดิษฐานบนหลังคาโบสถ์ที่สวยงามเช่นนี้แล้ว ยังเป็นการเตือนสติ หรือเป็นคติทางความเชื่อ และเรื่องราวที่เล่าขานกันมายาวนานในทางศาสนา คนโบราณแค่เห็นนาคบนหลังคาอาคารก็ก้มลงกราบ แสดงคารวะต่อสถานที่แห่งนั้นอย่างที่สุดแล้ว และนั่นจะหมายถึงการเตือนสติให้ควบคุมการครองชีวิตอยู่บนครรลองแห่งธรรม…. นาคา…คือสัญลักษณ์ที่บอกกล่าว..



Main: 0.20539999008179 sec
Sidebar: 0.050997018814087 sec