บางทรายกระจายภาพ จากเฮหก…
อ่าน: 2745
ที่เฮหกมีภาพมากมายใน collection การที่จะเลือกเอามานั้นก็รักพี่เสียดายน้อง จะเลือกน้องก็คิดถึงพี่ อะไรทำนองนั้น ตัดใจ เอามาสามรูปตามที่ตกลงกัน
ภาพที่ 1 : ชื่อภาพ “ความเปลี่ยนแปลง”….
รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 17.14 น., Shutter speed 1/250, Aperture Value 4.3 , Auto focus, Focal length 27.4 mm
ที่มาของภาพ: ที่หมู่บ้านชนเผ่าอาข่า ดอยแม่สะลอง ใกล้สำนักงานพี่แดง ที่ที่พวกเราไปแวะเที่ยวชมตอนใกล้ค่ำ
อธิบาย : หากดูเพียงภาพโดยไม่มีประวัติศาสตร์ มันก็เป็นภาพธรรมดาทั่วไปที่เราเห็นกันบ่อยๆ แต่จริงๆแล้วมันเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นที่หมู่บ้านอาข่าแห่งนี้ เดิมนับถือผีมานับร้อยๆปี แต่มาเปลี่ยนแปลงเป็นการนับถือพระเจ้า มันเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสุดทางจิตวิญญาณ เหมือนหลายๆชนเผ่าตามชายแดนไทยพม่า เครื่องหมายที่ชูขึ้นเหนืออาคารหลังนี้ คือการประกาศให้รู้ว่า ที่นี่คือชนชาวคริสต์ ที่ไม่ได้นับถือผีเหมือนบรรพบุรุษอีกต่อไปแล้ว แม้จิตวิญญาณจะมอบให้แก่พระผู้เป็นเจ้า แต่ประเพณีที่ดีงามหลากหลายเรายังปฏิบัติเหมือนเดิม..เพื่อความสงบสุขแห่งชุมชน..ทั้งภายนอกและภายในกายหยาบของพวกเรา …อาข่า…
ภาพที่ 2 : ชื่อภาพ “ถึกทัก”….
รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 16.45 น., Shutter speed 1/550, Aperture Value 3.6 , Auto focus, Focal length 4.7 mm
ที่มาของภาพ: ที่อาศรมท่านศิลปินหญ่าย ครูถวัลย์ ดัชนี..
อธิบาย : “ถึก” หมายถึงควาย “ทัก” หมายถึง การบอกกล่าว หมายรวมได้ว่า เขาควาย ที่เป็นซากคงเหลือของตัวควายที่สิ้นไปแล้วนั้น ได้บอกกล่าวอะไรหลายอย่างแก่เราผู้เป็นสัตว์ประเสริฐกว่า ชีวิตปัจจุบัน โดยเฉพาะคนเมืองนั้นห่างไกลต่อสัตว์ชนิดนี้มากขึ้น จนไม่มีความผูกพันอีกต่อไป แต่ชนบทนั้น ยามสามค่ำเดือนสาม ชาวบ้านจะมีพิธีผูกเขาควาย ทำขวัญให้เจ้าถึก เอาหญ้า เอาน้ำให้กิน ไปขอขมาลาโทษที่ทุบตีเจ้ายามใช้งาน และร้องขอให้เจ้ามีลูกหลานออกมาเยอะๆจะได้ใช้แรงงานต่อไป คนกับควายในอดีตคือความผูกพันสนิทสนม พึ่งพาแก่กันและกัน คนตายไปมีแต่นามธรรมที่คงอยู่ คือชั่วดี แต่ควายตายไปแล้วยังมีเขาคงเหลือให้มนุษย์ใช้ประโยชน์ต่างๆ แม้งานศิลปะเช่นนี้…
ภาพที่ 3 : ชื่อภาพ “นาคา”….
รายละเอียดทางเทคนิค: เวลาที่ถ่ายรูป 9.07 น., Exposure time 1/900, Aperture Value 6 , Auto focus, Focal length 11.9 mm
ที่มาของภาพ: ที่โบสถ์วัดผาเงา…
อธิบาย : ยามสายวันนั้นทุกคนกำลังทานอาหารเช้า ผมขึ้นไปชมโบสถ์ที่กล่าวกันว่าสวยงามมากมายนั้น ช่วงนั้นตำแหน่งพระอาทิตย์อยู่ในระดับพอดีกับการถ่ายรูป ซิลลูเอท แบบนี้ ผมจึงไม่ยั้งรออีกต่อไป
นาคาคือนาค สัญลักษณ์ที่สำคัญของศาสนาพุทธและวัฒนธรรมความเชื่อของชุมชนตลอดลำน้ำโขง นอกจากจะเป็นการอัญเชิญนาคามาประดิษฐานบนหลังคาโบสถ์ที่สวยงามเช่นนี้แล้ว ยังเป็นการเตือนสติ หรือเป็นคติทางความเชื่อ และเรื่องราวที่เล่าขานกันมายาวนานในทางศาสนา คนโบราณแค่เห็นนาคบนหลังคาอาคารก็ก้มลงกราบ แสดงคารวะต่อสถานที่แห่งนั้นอย่างที่สุดแล้ว และนั่นจะหมายถึงการเตือนสติให้ควบคุมการครองชีวิตอยู่บนครรลองแห่งธรรม…. นาคา…คือสัญลักษณ์ที่บอกกล่าว..