วัฒนธรรมองค์กร…มุมมองของบางทราย 1
อ่าน: 4053จำได้ว่าที่เฮฮา 3 ดงหลวง ท่านจอมป่วนนำเสนอเรื่อง Chaotic Organization อย่างน่าสนใจแต่ก็ไม่ได้มีการสานเรื่องนี้ต่อในที่ประชุม อาจจะมีการแลกเปลี่ยนส่วนตัวกันบ้าง (คาดการณ์เอง) แต่ก็เป็นเรื่องที่ผมสนใจส่วนตัว เพราะต้องทำงานกับองค์กรในหลายสถานะ โดยเฉพาะองค์กรชาวบ้านและที่เกี่ยวข้อง….
มีหลักการ มีทฤษฎีที่กล่าวถึงเรื่องนี้ไม่น้อยทีเดียว แต่มักจะเป็นเรื่องราวจากตะวันตก ที่เป็นของตะวันออก หรือของสังคมไทยโดยตรงดูจะมีน้อยมาก มีความพยายามที่กล่าวถึงก็เป็นการกล่าวถึงบางแง่บางมุมเท่านั้น….
แต่ตรงข้ามเนื่องจากองค์กรธุรกิจต่างๆต่างขับเคี่ยวกันเป็น Top management หลักการพัฒนาองค์กรในระบบธุรกิจเข้ามาเรียนรู้และใช้กันมากมาย จนมีการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและเอกด้วยซ้ำไป หรือการจัด Learning Course ที่มีราคาแพงลิบลิ่วหากใครต้องการเข้าไปนั่งฟัง และแน่นอนต่างมุ่งหวังประสิทธิภาพในการบริหารคน องค์กร และ…..ท้ายที่สุดคือหวังผลกำไรของธุรกิจนั้นๆ
ผมอยากจะเรียกองค์กรแบบนี้ว่า “องค์กรปิด” Close organization (CO) เพราะว่าเป็นองค์กรที่มีกฎระเบียบข้อบังคับ อ่อนลงมาก็เรียกข้อตกลง สัญญาใจ แรงที่สุดก็เรียกกฎหมาย แม้ว่าจะมีความพยายามให้พนักงานทุกแผนกมีส่วนร่วมในการสร้างองค์กรก็ตาม แต่ทั้งหมดก็เพื่อกำไรสูงสุดขององค์กรนั้น ผมเองไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญองค์กรทางธุรกิจจึงไม่ทราบว่าก้าวไปถึงไหนแล้ว
องค์กรปิดอีกประเภทหนึ่งคือระบบราชการ ที่นับวันจะล้าหลังสุดจะสลัดหลุด(ภาพรวม) แม้จะปฏิรูปกันมานานนับทศวรรษแล้วก็ตาม มีการปรับเปลี่ยนบ้างแต่ก็ยังไม่ไปไหนเลย… จะเห็นได้ชัดเมื่อเราลงไปคลุกคลีกับชนบท คนยากจนที่สุด แม้ในสลัมในเมืองที่ระบบราชการเข้าไม่ถึงการแก้ปัญหาแบบรื้อสาเหตุ ล้มปัจจัยก่อเหตุ มีแต่ลูบหน้าปะจมูก เพราะข้อจำกัดมากมาย ทั้งที่มีคนดีดีอยู่ในระบบพะเรอะเกวียน
เพราะระบบปิดนั้นมี ชั้น มีอำนาจหน้าที่ มีการกำหนดความรับผิดชอบ มีการกำหนดผลตอบแทนที่เป็นกฎระเบียบตายตัว มีการสั่งการ และสร้างวัฒนธรรมของระบบขึ้นมา มีพรรคพวก มีขั้นที่จะก้าวขึ้นไป ระบบนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งจะไม่ขอกล่าว..
มีองค์กรอีกแบบหนึ่งที่เป็นแบบองค์กรแบบเปิด Open Organization (OO) หรือ Traditional Organization หรือ Cultural Organization เป็นองค์กรที่ไม่เป็นองค์กร แม้ว่าจะมีกฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของวัฒนธรรมของกลุ่มชน ความเชื่อ ความศรัทธา การเคารพนับถือ ที่ทุกคนในกลุ่มในชุมชนยอมรับกัน มีชั้นเหมือนไม่มีชั้น เพราะความเป็นชั้นเกือบไม่มีช่องว่างระหว่างชั้น หรือมีสภาพเหมือนกันโดยรวม มีบทบาทหน้าที่แต่ก็สามารถทดแทนกันได้อย่างลงตัว
ที่กล่าวมานั้นมิได้ต้องการจะเสนอให้พันธมิตรมาเดินขบวนขอยกเลิกองค์กร CO แล้วเชิดชู OO เพราะต่างก็มีจุดเด่น จุดด้อย ต่างก็เหมาะสมกับสภาพที่แตกต่างกัน แต่ผมกำลังมองว่า เราจะพัฒนาให้เกิดการผสมผสานกันได้อย่างไรที่เหมาะสมกับสังคมไทย และก็มิได้หมายความว่าจะต้องมีเพียงรูปแบบเดียวตายตัว
แต่เมื่อหักมุมมามองเฉพาะที่เฮฮาศาสตร์ ความคิดเห็นเบื้องต้นคงเป็นคร่าวๆเพราะต้องใช้เวลาพัฒนาตัวของเขาเองที่ผมเรียกว่า “การปรับเปลี่ยนขององค์กร หรือการปรับตัวขององค์กร” หรือ “การขยับตัว” เป็นเรื่องปกติที่จะต้องขยับตัวให้ทุก function ลงตัวมากที่สุด เหมือนคนขยับตัวในท่าที่สบายที่สุด เหมือนช้าง ม้า วัว ควาย ขยับตัวให้อยู่ในท่าที่สบายที่สุดที่เขาชอบ องค์กรเปิดก็ต้องการการขยับตัวที่ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
ผมชอบที่ “คอน” สรุปสาระไว้ จึงอยากทำเป็น diagram ดังนี้
ข้อคิดเบื้องต้นของบางทรายต่อเฮฮาศาสตร์ อยากจะมองอีกมุมหนึ่งดังนี้
มุมที่หนึ่ง เป็นองค์กร ที่เหมือนองค์กรทั่วไป ที่มีโครงสร้าง มีกฎระเบียบ มีสมาชิก มีกิจกรรม มีคณะกรรมการ ฯลฯ และสามารถจะพัฒนาไปสู่การจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งมุมนี้อาจจะไม่เหมาะสมต่อ เฮฮาศาสตร์
มุมที่สอง เป็นองค์กรทางสังคมที่มีเนื้อในเชื่อมกันด้วยวัฒนธรรม(Social Cohesion) ที่ผสมผสานกันกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างเหมาะสม
ขอสรุปความเห็นเบื้องต้นไว้ดังนี้
ส่วนตัวผมเชื่อเรื่อง “ความศรัทธา” เป็นความศรัทธาที่มีเหตุมีผล มิใช่ศรัทธาแบบลุ่มหลง หรือคลั่งไคล้ เพราะความลุ่มหลงและคลั่งไคล้ นั้นอันตรายและไม่มั่นคง ความศรัทธานี้ต้องเป็นศรัทธาในคุณงามความดี คิดดี ทำดี
นี่เป็นความคิดเห็นต่อเนื่องจากที่ คอน ได้นำเสนอเรื่องนี้ไว้ ที่วัฒนธรรมเฮ http://lanpanya.com/wash/archives/489 และตั้งคำถามให้เราได้ลองแสดงความเห็นแก่กันครับ