ตอบท่านครูบาฯ
กระชากหน้ากากตัวเองหน่อย…
เปลี่ยนแปลง…
ที่สุรินทร์นี่เองที่ผมกับเพื่อนๆวงการ NGO และรุ่นพี่ๆรวมตัวกันตั้ง NGO-CORD และจัดประชุมสัมมนาทุกปี ผมเป็นกรรมการอยู่พักหนึ่งก็ลาออกให้รุ่นน้องๆทำต่อ เพื่อนที่ขอนแก่นชวนมาทำงานกับโครงการ USAID ที่สำนักงานเกษตรท่าพระ ก็เปลี่ยนจาก NGO ร้อยเปอร์เซ็นต์มาเป็นที่ปรึกษา
ทำงานกับฝรั่ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสังกัดกรมวิเทศสหการ เงินเดือน 9,000 บาท เป็นครั้งแรกที่ทำงานร่วมกับฝรั่งเต็มทีม และส่วนใหญ่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ มีสิทธิพิเศษสามารถสั่งเหล้าฝรั่งทุกยี่ห้อในราคาสินค้า PX ผมก็ PX บ้างแต่ไม่รู้ว่ามันแปลว่าอะไร กินเหล้าฝรั่งยี่ห้อดังๆซะหมดทุกยี่ห้อแล้วในราคาไม่ถึงพันบาทต่อ “ขวดใหญ่”
สถานที่ทำงานแห่งนี้เองที่ ผมได้เรียนรู้เครื่องมือทำงานวิจัยและสามารถนำมาใช้ในกระบวนการพัฒนาชนบทที่เรียก RAT (Rapid Assessment Technique) ซึ่งเข้ามาครั้งแรกในประเทศไทยที่สถาบันวิจัยระบบการทำฟาร์ม(FR/E) มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฝรั่งที่โครงการก็ร่วมมือกับคณะเกษตรเอาเข้ามาใช้ แล้วพัฒนาเครื่องมือนี้เป็น RRA (Rapid Rural Appraisal) และเป็น PRA(Participatory Rapid Appraisal) ในที่สุด ก่อนที่จะดัดแปลงไปอีกมากมายขยายไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้
เครื่องมือที่สำคัญอีกตัวหนึ่งที่เรียนรู้ในครั้งนั้นคือ Agro-ecosystem Analysis (AEA) เป็นเครื่องมือใช้วิเคราะห์พื้นที่ เหมาะที่จะใช้ประกอบการวางแผนงานพัฒนาพื้นที่โดยเฉพาะทางกายภาพ ต่อมาได้พัฒนาให้เป็นตัวเด่นตัวหนึ่งในการวิเคราะห์ PRA ประมาณปี 2525-2530 ที่ผมทำงานที่นั่น ได้เรียนรู้เทคนิคการทำงานต่างๆมากมาย ประสบการณ์ครั้งนั้นยังเอามาใช้ในการทำงานจนทุกวันนี้ อิอิ..
แล้วผมก็ผันไปทำงานโครงการอื่นๆในวงการพัฒนา คือ โครงการไทย-ออสเตรเลีย เรื่องน้ำดื่มน้ำใช้ทั่วภาคอีสาน โครงการ ไทย-เนเทอร์แลนด์ เรื่องการพัฒนาน้ำในระดับไร่นาที่เขื่อนลำปาว กาฬสินธุ์ โครงการ NEWMASIP กับกลุ่มประเทศประชาคมยุโรปเรื่องน้ำชลประทานทั่วภาคอีสาน แล้วก็ย้อนไปทำงาน International NGO ที่ห้วยขาแข้ง นครสวรรค์ แล้วเข้ากรุงเทพฯไปทำงานกับบริษัทที่ปรึกษา 1 ปี แล้วย้ายออกมาอยู่ชนบทอีกครั้งจนถึงปัจจุบัน
บ่าย….
ทำงานพัฒนาชุมชน ยิ่งทำก็ยิ่งมีสิ่งที่ต้องทำ เห็นโน่นก็อยากทำ เห็นนี่ก็อยากทำ แต่หันมามองสังขารตัวเองก็ปลง ก็เลยสนับสนุนน้องๆก้าวเข้ามาแทนที่เรา
ถึงช่วงที่ถ่ายทอดประสบการณ์ผิดๆถูกๆให้น้องๆเรียนรู้ต่อยอดกันไป เท่าที่จะทำได้ และทำงานต่อไปเท่าที่กำลังจะมีเหลืออยู่ ใช้ประสบการณ์บ่งชี้ให้ผู้รับผิดชอบรับฟัง ส่วนเขาจะสำเหนียกเอาไปสู่การปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องของการเห็นตรงกันหรือเห็นต่างกัน
มันเป็นสัจธรรมของชีวิตที่เมื่อเข้าสู่ยามบ่าย ก็ต้องคิดถึงการเดินเข้าสู่การปรับตัวตามวัยเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับชีวิตใหม่
วิธีการเรียน
โดยส่วนตัวชอบอ่านหนังสือหนักๆ ไม่ใช่น้ำหนักของเอกสารนะครับ สาระหนักๆต่างหาก แล้วเอามาเขียนย่อให้ตัวเองเข้าใจ สรุปสาระนั้นๆไว้เป็นส่วนตัว เพราะการเขียนเป็นการกลั่นกรองความคิดออกมา เอาเฉพาะแก่นออกมา (แต่ไม่ได้ทำทุกเรื่อง)
ส่วนตัวชอบ เทคนิค flowchart, diagram, mind map, graph, note ย่อ วิธีการเขียนก็เอาตามแบบสไตล์ตัวเองที่ชอบ ที่เข้าใจง่าย ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่ชอบ หรือเข้าใจยากกว่า แต่เราเข้าใจ จับหลักให้ได้ แล้วขยายรายละเอียดทีหลัง การที่เราสนใจดังกล่าว รู้สึกว่าเราจะได้มุมมองเรื่องราวต่างๆได้ดี เราเห็นทั้ง Overview และเฉพาะเจาะลึก
เทคนิคที่เราเรียนมาจากการร่วมลงมือทำ กรณี AEA นั้นทำให้เรามีมุมมอง Overview มากกว่าเพื่อนคนอื่นๆบางคน และเมื่อเราคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือต่างๆของ PRA ทำให้เราสามารถเจาะลึกถึงข้อมูลต่างๆได้ดี และพยายามหาข้อมูลด้านนี้มาประกอบการตัดสินใจด้วยเสมอ มุมมองของเราจึงกว้าง ลึกและรอบด้านมากกว่า อันนี้เป็นการมองตัวเอง ประเมินตัวเอง
การที่เราผ่านการใช้เครื่องมือการหาข้อมูลต่างๆมาพอสมควร ช่วยให้เรามี “จินตนาการ” ได้ดีกว่า เมื่อเอ่ยถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง(Subject) เราสามารถกวาดข้อมูลมาจากแหล่งต่างๆได้ (Subject area) แม้จะไม่มีข้อมูลเราก็รู้ว่าจะไปหาที่ไหน (Information sources)
การเรียนที่ดีที่สุดคือทำเอง ปฏิบัติเอง เพราะมันมีช่องว่างระหว่างภาษาอักษรกับภาษาความรู้สึก ตัวอักษรไม่มีรายละเอียดเท่า หรือหากจะบรรยายให้เทียบเท่าก็ไม่ใช่ความรู้สึกจริงๆ การปฏิบัติจริงมันมีความรู้สึกเข้ามาอยู่ในผลของการเรียนรู้ด้วยที่ต่างจากการเรียนจากตัวหนังสือ หรือเพียงการบอกเล่า ความรู้สึกจะช่วยให้เราชั่งน้ำหนักในขั้นตอนสุดท้ายได้ (อันนี้เป็นส่วนตัวนะครับ)
ความรู้สึกเป็นอุบายหนึ่งของการฝึกสมาธิในหลักทางพุทธศาสนา หากเราคู้แขนเข้าออก เดินจงกรม นั่งพิจารณากายสัมผัสสิ่งต่างๆ การจับจ้องที่ความรู้สึกนั้นๆช่วยให้เราหยั่งรู้ หากนิ่งและสงบจริงก็จะเป็นขั้นตอนแรกๆที่จะก้าวเข้าสู่สมาธิขั้นสูงขึ้น สูงขึ้น ความรู้สึกจะเกิดได้ก็ต้องสัมผัส การจะสัมผัสได้ก็ต้องลงมือทำจริง
ครั้งที่ตัดสินใจกินเจ (ต่อมาลดลงแค่มังสวิรัติ) ก็เพราะต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตไปเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เบื่อชีวิตเก่าๆ ก็ตัดสินใจคืนเดียวแล้วกระโดดเข้าวงการคนกินเจ ที่มีข้อห้ามมากมาย ทุกวันหยุดก็ไปรวมตัวกันนั่งสมาธิติดต่อกันมากกว่า 5 ปี การกระโดดลงไปปฏิบัติเองนั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะได้ความคิดใหม่ ความรู้สึกใหม่ มุมมองโลกใหม่ๆ และรวมถึงสุขภาพที่ดีกว่าเดิม
เนื่องจากเราเป็นมนุษย์สามโลก คือโลกในเมือง โลกในชนบท และโลกในจินตนาการ การคลุกคลีสองโลกเมืองกับชนบทจึงเห็นโลกที่สามว่าภาพรวมควรเป็นอย่างไร ความเข้าใจเหล่านี้ช่วยให้เรามีทัศนคติกว้างต่อสังคมโดยรวม และเฉพาะส่วนที่เราเข้าไปทำงานด้วย
คิดอะไร…..
เป็นคนจัดอยู่ในประเภท Introvert ก็แค่คนเล็กๆคนหนึ่งในสังคมใหญ่ที่หนาแน่นไปด้วยคนที่แก่งแย่งกันไปยืนอยู่ข้างหน้า หรือสถานที่เหนือกว่า สูงกว่า…… ผมจะเลือกตรงข้าม
เพราะเป็นคนชนบท ยากจน และบังเอิญผ่านกระบวนการ 14-16 ตุลาเต็มๆ จึงตั้งใจว่าจะทำงานเกี่ยวกับชนบท…..และได้ทำสมใจอยาก
คิดเยอะ แต่ทำได้น้อย แต่เพียงนิดหน่อยก็ขอให้ได้ทำเถอะ….ดีกว่าคิดเฉยๆหรือพูดเฉยๆ
ยังมีเพื่อนที่คิดคล้ายเรา ทำคล้ายเราอีกมาก ไปจับมือกับเขาสิ….
ไม่จำเป็นต้องมาทำเหมือนกันหมด ยืนตรงไหนก็ทำดีที่ตรงนั้นได้ เพราะสังคมมิใช่มีแต่ชาวนา เกษตรกร มีอีกหลายกลุ่ม ทุกกลุ่มประกอบกันเป็นสังคม ประเทศ ที่ต่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน แต่อย่าเอารัดเอาเปรียบกัน ขี่คอกันขึ้นไป…… ผมจะอยู่ตรงข้ามทันที
คำสอนทางศาสนาทุกศาสนาคือสิ่งที่เราพยายามดัดแปลงตนเองให้เข้าใกล้มากที่สุด เห็นว่าเส้นทางเดินตามคำสอนนั้นคือทางรอดของมวลมนุษยชาติ…เอกายิโน อะยังภิกขะเวมัคโคฯ …ดูกรภิกษุทั้งหลาย…ทางสายนี้เป็นทางสายเดียว ไปได้คนเดียว คือผู้ปฏิบัติเท่านั้น…
ธรรมชาติคือสรรพสิ่ง เราก็เป็นเสี้ยวส่วนของธรรมชาติ เราไม่มีทางอยู่รอดได้หากไม่มีธรรมชาติ แต่ธรรมชาติอยู่ของเขาได้แม้ไม่มีเรา
ให้อภัยเขาก่อนให้อภัยตัวเอง..
ยิ่งสูงอายุขึ้นก็เห็นสัจธรรมของธรรมชาติที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนไว้นานแสนนานแล้ว ช่วงเหลือของชีวิตจึงบันทึกร่องรอย ความเห็น แลกเปลี่ยน ทำงาน และศึกษา ปฏิบัติคำสอนประเสริฐเหล่านั้น..