รุ่นโตโจ…
อ่าน: 2222เด็กบ้านนอกอย่างผมนั้น มือหนึ่งต้องจับเชือกเลี้ยงควาย อีกมือถือหนังสืออ่าน ควายที่บ้านชื่อ“ไอ้ม่วงกับไอ้มั่น” ควายถึกสองตัวนี้ พ่อผมรักใคร่มันยังกะลูก ขัดสีฉวีวรรณ ดูแลให้หญ้าให้น้ำ ทำร้านหรือคอกควายที่ยกพื้น ให้อยู่ยามฤดูน้ำหลาก และไม่ทำหมัน อ้วนพี หล่อเหลาเอาการ ควายสาวๆแถวบ้าน เลยไปถึงตำบลอื่นๆ เห็น ไอ้ม่วง ไอ้มั่นแล้วก็ต้องเงยหน้ามองและร้อง ตามประสามัน เสมอ อิอิ..
ยามที่ถึกสองตัว “เป็นสัตว์” (ฤดูกาลผสมพันธ์) ผมกับพี่ชายเอามันไม่อยู่หละครับ ต้องพ่อลงมาเอามันถึงจะยอม..ผมเองเกือบพิการเพราะเอาถึกสองตัวเทียมเกวียน ผมนั่งข้างบน ไปเอาข้าวฟ่อน เมื่อมันเห็นสาวงาม สองตัวก็นัดกันขโยกไปหาสาว มิใยจะฟังผมตะโกนให้มันหยุด
โถ…คุณครับ เกวียนนะครับ บนที่นาที่มีคันนา ไม่ใช่ถนนลาดยาง และเกวียนมันไม่มีโชคอัพคอยสปริงอย่าง Foretuner หรือแหนบนิ่มอย่างดีแบบ Mu 7 อย่างที่เขาโฆษณาในทีวีปัจจุบัน แรงรักสาวไอ้ม่วงไอ้มั่นมันมากกว่าความรักนายที่นั่งมาบนเกวียน เรียบร้อยครับ เกวียนที่เทียบบ่ามันกระเด็นกระดอนไปคนละทิศละทาง เพราะตกหลุม ตกร่องในนาและที่ร้ายคือชนคันนา ผมหรือ กระเด็นตกไปนานแล้ว ทั้งตกใจ ทั้งกลัวพ่อตี ทั้งกลัวควายของเราจะขวิดกับควายถึกบ้านอื่นเพราะแย่งควายสาวกัน….โอย…ร้องให้ไม่ออกครับ.. หน้าซีดเป็นไก่ป่วย…
เมื่อจบ ม.ศ. 3 พ่อก็ถามว่าจะไปเรียนต่อที่ไหนกันล่ะ พ่อมีลูกหลายคนอยากให้เรียนด้านอาชีพจะได้จบมาทำงานช่วยพ่อแม่ส่งน้องๆอีกตั้ง 4 คน ผมอยากเรียนต่อ ม.ศ. 4-5 และเข้ามหาวิทยาลัย หรือเตรียมทหาร เท่ห์เหมือนรุ่นพี่ๆเขา เด็กบ้านนอกก็คิดอย่างนั้น พ่ออยากให้เรียน วิทยาลัยครู ใกล้บ้าน
โชคดีที่คุณตาคู่บุญของผมและน้องๆ ท่านเคยอพยพมาจากฝั่งธนบุรีมาบ้านนอกเมื่อสมัยสงครามโลก มาพักที่บ้านเพราะทั้งหมู่บ้านมีเพียงบ้านเดียวในสมัยนั้นที่มีส้วมซึม คุณตาเลยออกปากว่า หากลูกหลานเรียนจบแล้วอยากเรียนต่อในกรุงเทพฯก็เอาไปไว้ที่บ้านสวนได้ ผมจึงมีโอกาสเข้ากรุงฯครั้งแรกในชีวิต
เรานั่งเรือยนต์สองชั้นจากบ้านนอกมาขึ้นกรุงเทพฯที่ท่าเตียน วัดโพธิ์ เรือนี้เป็นเรือสินค้า สมัยนั้นยังไม่มีทางรถเชื่อมกรุงเทพฯวิเศษชัยชาญ ความตื่นตาตื่นใจของเด็กบ้านนอกเข้ากรุง คุณเอ้ยยย มันตื่นเต้นจนนอนไม่หลับตลอดคืน อะไรก็ใหม่ไปหมดในสายตาเรา และการนอนในเรือโดยสารเป็นครั้งแรกก็เสียงเรือมันดัง แวะรับผู้โดยสารไปตลอดทางแม่น้ำน้อย …
มาอยู่บ้านคุณตาคุณยาย ต้องปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานท่านเล่น….มันเป็นสังคมใหม่ ผิดไปหมดจากบ้านนอกของเรา ผมนอนร้องให้ทุกคืน เพราะคิดถึงบ้าน พ่อเอามาฝากฝังคุณตาคุณยายแล้วก็กลับไป มันเหงามากๆ แม้จะมีเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันที่เป็นลูกหลานท่าน แต่เราก็เข้ากับเขาไม่ค่อยได้ ไม่รู้เขาคุยอะไรกัน เล่นอะไรกัน มันไม่มีวัว ควาย หมู เห็ด เป็ดไก่เหมือนบ้านเราเลย…
สองปีที่มาเรียนที่โรงเรียนฝั่งธนบุรี เพราะคุณตาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่นั่น โรงเรียนนี้ที่ปักอักษรย่อบนหน้าอกเสื้อว่า ส.ว.ย.(ดร.กมลวัลย์ก็จบจากที่นี่) กว่าจะปรับตัวได้กินเวลาเป็นเทอมเลย สิ่งที่ต้องปรับตัวมากที่สุดคือ อาหารหารกิน ความฟรี อิสระ และสดใส เพราะมาอยู่บ้านคุณตาคุณยายที่ท่านเป็นผู้ใหญ่ มีญาติมากมายเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เราเลยกลายเป็นคนขี้เกรงใจคน เก็บตัวมาตลอด ผมต้องช่วยงานบ้านทุกอย่าง กวาดบ้าน ถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ในสวน เก็บกวาดใบไม้ ตักน้ำใส่ตุ่ม ดูแลความเรียบร้อยทั่วไป.. มันมิใช่งานหนักสำหรับผม แต่เด็กบ้านนอกจะสอึกทุกครั้งที่เมื่อมีใครต่อใครถามว่ามาจากไหน แล้วเด็กๆ ลูกหลานคุณตาจะบอกว่ามาจากบ้านนอก…
คุณตาคุณยายมีพระคุณเป็นที่สุดที่ให้ความเมตตา กรุณาต่อผมและน้องอีกสองคนที่ตามผมไปพักอาศัยที่บ้านหลังนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเลยแม้แต่น้อย เพราะหากเสียค่าใช้จ่ายผมคงไม่มีโอกาสเช่นนี้ คงเรียนที่วิทยาลัยครูแถวบ้านแล้ว
เพื่อนที่เรียนด้วยกันก็รักใคร่กันดีมาก เมื่อผมปรับตัวได้แล้ว ก็แสดงบทบาทการเป็นผู้แทนนักเรียนบ้าง เพื่อนรักคนหนึ่งก็คือ สง่า ดามาพงษ์ ท่านโฆษกกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบัน และประธานชมรมนักโภชนาการแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงการ มาลดพุงกันเถอะ (หากผิดขออภัยด้วยนะครับ) วันหนึ่งเราพบกันที่สนามบินดอนเมือง สง่าบอกผมว่า กูเบื่อนามสกุลกูฉิบ… ผมถามว่าทำไมล่ะ อ้าว..ไอ้บู๊ธ..มึงก็รู้ว่านามสกุลกูน่ะเป็นญาติสนิทกับท่านเหลี่ยม ใครต่อใครโทรมาขอยืมสตางค์กูเป็นสิบล้านร้อยล้าน กู..งี้..ขำกลิ้ง ผมย้ำว่าทำไม… เพื่อนรักตอบว่า มึงก็รู้ว่านามสกุลกูน่ะไปพ้องเสียงกันเท่านั้น…อิอิ..
การสอบม.ศ.5 ผ่านไปไม่กี่วัน กระทรวงก็ประกาศว่าให้การสอบทั่วประเทศเป็นโมฆะ เพราะข้อสอบรั่ว…….ให้สอบใหม่…..ทั่วประเทศ
นี่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง… ที่มีการสอบใหม่ทั่วประเทศ ครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุก…จึงยุติการสอบ แล้วให้มีการสอบใหม่ภายหลัง ตอนญี่ปุ่นบุกนั้นอยู่ภายใต้การบัญชาการของนายพลโตโจ จึงเรียกผู้เรียนรุ่นนั้นว่า “รุ่นโตโจ”
เช่นเดียวกันสมัยที่ผมต้องสอบ ม.ศ. 5 ครั้งที่สอง ก็เลยเรียก “รุ่นโตโจ” เหมือนกันครับ…