คำรำพึงจากภาพ…
อ่าน: 2499“รูปภาพหนึ่งรูปแทนหนึ่งพันคำพูด”
เป็นคำเปรียบเทียบที่มีความจริงมาก แต่ไม่ใช่ทั้งหมด
ใครที่นอนใจในคำเปรียบเทียบดังกล่าวมากเกินไปก็อันตราย โดยเฉพาะท่านที่นั่งอยู่ในตำแหน่งที่ต้องตัดสินใจ ต้องฟันธง ด้วยความบีบคั้นในหลายๆเงื่อนไข
หากผู้ถ่ายภาพนี้ไม่อธิบายแล้วถามแต่ละท่าน
คงได้คำตอบที่อาจจะไม่ต่างกันมากนัก เช่น โอยน่าสงสารจัง ที่ไหนเนี่ยะ น้ำท่วมมิดเลย ชาวบ้านคงแย่แล้ว ปีนี้เจ้าของที่นาตรงนี้คงไม่มีข้าวกินแล้ว..ฯลฯ…
คำคาดเดาน่าที่จะอยู่ในแนวทางนั้น
แต่ความจริงมีส่วนถูกบ้างแต่ไม่มาก เพราะภาพนี้ถ่ายน้ำท่วมจริง แต่เป็นพื้นที่ แก้มลิงของจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่เป็นพื้นที่ที่น้ำจะท่วมเช่นนี้ทุกปี ย้ำทุกปี ชาวบ้านเขารู้เขาจึงไม่ใช้พื้นที่นี้ปลูกข้าวในฤดูฝน แต่จะใช้ปลูกข้าวในฤดูแล้งโดยสูบน้ำจาก “ลำปาว” ฤดูฝนก็จะปล่อยให้น้ำมันท่วมเช่นนี้ และเป็นผลดีเสียอีก เพราะเมื่อน้ำท่วม ก็จะได้ปุ๋ยอินทรีย์จากธรรมชาติ
กระต๊อบ ที่น้ำท่วมเกือบมิดนี้ คือเถียงนาที่ชาวบ้านปลูกแบบชั่วคราวไม่ได้ใช้ในฤดูน้ำหลาก แต่จะไปใช้ในช่วง “ทำนาปรัง”
แค่นี้ก็ทำให้เราซึ้งในหลักกาลามาสูตร ที่ท่านกล่าวว่า อย่าเชื่อ เพราะ….อย่าเชื่อเพราะ….อย่าเชื่อเพราะ…..แต่จงเชื่อเมื่อท่านพิสูจน์ด้วยตัวท่านเองแล้ว
สื่อสารจำนวนมากถูกนำมาใช้บิดเบือนตามวัตถุประสงค์ของผู้ที่ต้องการบิดเบือน
สังคมสมัยนี้จึงซับซ้อนมากขึ้น มากขึ้น จนหลอมให้คนเราในปัจจุบันและอนาคตห่างไกลการไว้เนื้อเชื่อใจกัน เพราะขาดคุณธรรม
ยิ่งสังคมที่สร้างอุดมการณ์เพื่อการยืนอยู่บนเงื่อนไขที่เหนือกว่าผู้อื่น ยิ่งซับซ้อนจนน่ากลัว
ความมืดไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว ความสว่าง ตัวเป็นๆ นี่แหละน่ากลัวยิ่งนัก
ทุนเดิมทางสังคมเรามีดีมากมาย
ก็เป็นเพียงคำบอกกล่าว เล่าสู่กันฟังระหว่าง generation เท่านั้นมั๊ง…