รุ่นโตโจ…

6 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 26, 2008 เวลา 15:19 ในหมวดหมู่ เรื่องของชีวิต #
อ่าน: 2132

เด็กบ้านนอกอย่างผมนั้น มือหนึ่งต้องจับเชือกเลี้ยงควาย อีกมือถือหนังสืออ่าน ควายที่บ้านชื่อไอ้ม่วงกับไอ้มั่น ควายถึกสองตัวนี้ พ่อผมรักใคร่มันยังกะลูก ขัดสีฉวีวรรณ ดูแลให้หญ้าให้น้ำ ทำร้านหรือคอกควายที่ยกพื้น ให้อยู่ยามฤดูน้ำหลาก และไม่ทำหมัน อ้วนพี หล่อเหลาเอาการ ควายสาวๆแถวบ้าน เลยไปถึงตำบลอื่นๆ เห็น ไอ้ม่วง ไอ้มั่นแล้วก็ต้องเงยหน้ามองและร้อง ตามประสามัน เสมอ อิอิ..

ยามที่ถึกสองตัว เป็นสัตว์ (ฤดูกาลผสมพันธ์) ผมกับพี่ชายเอามันไม่อยู่หละครับ ต้องพ่อลงมาเอามันถึงจะยอม..ผมเองเกือบพิการเพราะเอาถึกสองตัวเทียมเกวียน ผมนั่งข้างบน ไปเอาข้าวฟ่อน เมื่อมันเห็นสาวงาม สองตัวก็นัดกันขโยกไปหาสาว มิใยจะฟังผมตะโกนให้มันหยุด

โถ…คุณครับ เกวียนนะครับ บนที่นาที่มีคันนา ไม่ใช่ถนนลาดยาง และเกวียนมันไม่มีโชคอัพคอยสปริงอย่าง Foretuner หรือแหนบนิ่มอย่างดีแบบ Mu 7 อย่างที่เขาโฆษณาในทีวีปัจจุบัน แรงรักสาวไอ้ม่วงไอ้มั่นมันมากกว่าความรักนายที่นั่งมาบนเกวียน เรียบร้อยครับ เกวียนที่เทียบบ่ามันกระเด็นกระดอนไปคนละทิศละทาง เพราะตกหลุม ตกร่องในนาและที่ร้ายคือชนคันนา ผมหรือ กระเด็นตกไปนานแล้ว ทั้งตกใจ ทั้งกลัวพ่อตี ทั้งกลัวควายของเราจะขวิดกับควายถึกบ้านอื่นเพราะแย่งควายสาวกัน….โอย…ร้องให้ไม่ออกครับ.. หน้าซีดเป็นไก่ป่วย…

เมื่อจบ ม.ศ. 3 พ่อก็ถามว่าจะไปเรียนต่อที่ไหนกันล่ะ พ่อมีลูกหลายคนอยากให้เรียนด้านอาชีพจะได้จบมาทำงานช่วยพ่อแม่ส่งน้องๆอีกตั้ง 4 คน ผมอยากเรียนต่อ ม.ศ. 4-5 และเข้ามหาวิทยาลัย หรือเตรียมทหาร เท่ห์เหมือนรุ่นพี่ๆเขา เด็กบ้านนอกก็คิดอย่างนั้น พ่ออยากให้เรียน วิทยาลัยครู ใกล้บ้าน

โชคดีที่คุณตาคู่บุญของผมและน้องๆ ท่านเคยอพยพมาจากฝั่งธนบุรีมาบ้านนอกเมื่อสมัยสงครามโลก มาพักที่บ้านเพราะทั้งหมู่บ้านมีเพียงบ้านเดียวในสมัยนั้นที่มีส้วมซึม คุณตาเลยออกปากว่า หากลูกหลานเรียนจบแล้วอยากเรียนต่อในกรุงเทพฯก็เอาไปไว้ที่บ้านสวนได้ ผมจึงมีโอกาสเข้ากรุงฯครั้งแรกในชีวิต

เรานั่งเรือยนต์สองชั้นจากบ้านนอกมาขึ้นกรุงเทพฯที่ท่าเตียน วัดโพธิ์ เรือนี้เป็นเรือสินค้า สมัยนั้นยังไม่มีทางรถเชื่อมกรุงเทพฯวิเศษชัยชาญ ความตื่นตาตื่นใจของเด็กบ้านนอกเข้ากรุง คุณเอ้ยยย มันตื่นเต้นจนนอนไม่หลับตลอดคืน อะไรก็ใหม่ไปหมดในสายตาเรา และการนอนในเรือโดยสารเป็นครั้งแรกก็เสียงเรือมันดัง แวะรับผู้โดยสารไปตลอดทางแม่น้ำน้อย …

มาอยู่บ้านคุณตาคุณยาย ต้องปั้นวัวปั้นควายให้ลูกหลานท่านเล่น….มันเป็นสังคมใหม่ ผิดไปหมดจากบ้านนอกของเรา ผมนอนร้องให้ทุกคืน เพราะคิดถึงบ้าน พ่อเอามาฝากฝังคุณตาคุณยายแล้วก็กลับไป มันเหงามากๆ แม้จะมีเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันที่เป็นลูกหลานท่าน แต่เราก็เข้ากับเขาไม่ค่อยได้ ไม่รู้เขาคุยอะไรกัน เล่นอะไรกัน มันไม่มีวัว ควาย หมู เห็ด เป็ดไก่เหมือนบ้านเราเลย…

สองปีที่มาเรียนที่โรงเรียนฝั่งธนบุรี เพราะคุณตาเป็นอาจารย์ใหญ่ที่นั่น โรงเรียนนี้ที่ปักอักษรย่อบนหน้าอกเสื้อว่า ส.ว.ย.(ดร.กมลวัลย์ก็จบจากที่นี่) กว่าจะปรับตัวได้กินเวลาเป็นเทอมเลย สิ่งที่ต้องปรับตัวมากที่สุดคือ อาหารหารกิน ความฟรี อิสระ และสดใส เพราะมาอยู่บ้านคุณตาคุณยายที่ท่านเป็นผู้ใหญ่ มีญาติมากมายเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เราเลยกลายเป็นคนขี้เกรงใจคน เก็บตัวมาตลอด ผมต้องช่วยงานบ้านทุกอย่าง กวาดบ้าน ถูบ้าน รดน้ำต้นไม้ในสวน เก็บกวาดใบไม้ ตักน้ำใส่ตุ่ม ดูแลความเรียบร้อยทั่วไป.. มันมิใช่งานหนักสำหรับผม แต่เด็กบ้านนอกจะสอึกทุกครั้งที่เมื่อมีใครต่อใครถามว่ามาจากไหน แล้วเด็กๆ ลูกหลานคุณตาจะบอกว่ามาจากบ้านนอก…

คุณตาคุณยายมีพระคุณเป็นที่สุดที่ให้ความเมตตา กรุณาต่อผมและน้องอีกสองคนที่ตามผมไปพักอาศัยที่บ้านหลังนี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆเลยแม้แต่น้อย เพราะหากเสียค่าใช้จ่ายผมคงไม่มีโอกาสเช่นนี้ คงเรียนที่วิทยาลัยครูแถวบ้านแล้ว

เพื่อนที่เรียนด้วยกันก็รักใคร่กันดีมาก เมื่อผมปรับตัวได้แล้ว ก็แสดงบทบาทการเป็นผู้แทนนักเรียนบ้าง เพื่อนรักคนหนึ่งก็คือ สง่า ดามาพงษ์ ท่านโฆษกกระทรวงสาธารณสุขปัจจุบัน และประธานชมรมนักโภชนาการแห่งประเทศไทย เจ้าของโครงการ มาลดพุงกันเถอะ (หากผิดขออภัยด้วยนะครับ) วันหนึ่งเราพบกันที่สนามบินดอนเมือง สง่าบอกผมว่า กูเบื่อนามสกุลกูฉิบ… ผมถามว่าทำไมล่ะ อ้าว..ไอ้บู๊ธ..มึงก็รู้ว่านามสกุลกูน่ะเป็นญาติสนิทกับท่านเหลี่ยม ใครต่อใครโทรมาขอยืมสตางค์กูเป็นสิบล้านร้อยล้าน กู..งี้..ขำกลิ้ง ผมย้ำว่าทำไม… เพื่อนรักตอบว่า มึงก็รู้ว่านามสกุลกูน่ะไปพ้องเสียงกันเท่านั้น…อิอิ..

การสอบม.ศ.5 ผ่านไปไม่กี่วัน กระทรวงก็ประกาศว่าให้การสอบทั่วประเทศเป็นโมฆะ เพราะข้อสอบรั่ว…….ให้สอบใหม่…..ทั่วประเทศ

นี่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง… ที่มีการสอบใหม่ทั่วประเทศ ครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุก…จึงยุติการสอบ แล้วให้มีการสอบใหม่ภายหลัง ตอนญี่ปุ่นบุกนั้นอยู่ภายใต้การบัญชาการของนายพลโตโจ จึงเรียกผู้เรียนรุ่นนั้นว่า รุ่นโตโจ

เช่นเดียวกันสมัยที่ผมต้องสอบ ม.ศ. 5 ครั้งที่สอง ก็เลยเรียก รุ่นโตโจ เหมือนกันครับ…


สันติเสวนา…(3)

7 ความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 26, 2008 เวลา 11:54 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2854

เมื่อพิจารณาเหตุของปัญหาแล้วเห็นว่ามันซับซ้อน เกี่ยวเนื่อง พัวพันกันไปหมด ทั้งตรงทั้งอ้อม ทั้งมากทั้งน้อย….

แล้วทำไง?

สามารถแบ่งเป็นสองส่วนคือ ปัญหาเฉพาะหน้า และการแก้ไขป้องกันระยะยาว การแก้ไขระยะยาวนั้น มีข้อน่าพิจารณาดังนี้….

- ฟื้นฟูระบบสังคมคุณธรรม: หรือคุณค่าความเอื้อเฟื้อ อาทรแก่กัน แล้วทำอย่างไร สาธยายกันยาวเหยียด ค่อยว่ากัน

- กิจกรรมทางสังคมแบบเดิมๆที่เป็นกิจกรรมสะสมทุนทางสังคม หน่วยงานต้องฟื้นสาระนี้ขึ้นมา มิใช่เพียงสร้างรูปแบบเอาไว้

- การเสริมสร้างทัศนคติต่อการดำรงชีวิตที่มีคุณธรรม จริยธรรม: ระบบการศึกษาที่เป็นเบ้าหลอมเด็กต้องปฏิวัติใหม่หมด

- การปรับปรุงกฎหมาย: ให้เหมาะสมสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน ..

- ทบทวนหลักการเสรีประชาธิปไตย: น่าจะมีอะไรบกพร่องในรายละเอียดของหลักการนี้…

- อีกมากมาย มากมาย มากมาย ทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ทั้งส่วนรวม ส่วนตัว ฯลฯ

สิ่งเหล่านี้ต้องกระทำกันเป็นกระบวนการ บูรณาการ เชื่อมโยงกันทุกภาคส่วน โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะระบบคุณค่าทางสังคมนั้นแต่ละภูมิภาคมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามพื้นวัฒนธรรมเดิม การเสริมสร้างฟื้นฟูมิใช่ทำแค่รูปแบบเท่านั้น แต่เน้นความเข้าใจ สืบต่อทางด้านสาระเป็นหลัก..

กรณีความขัดแย้งเฉพาะหน้า หรือปัจจุบันนั้น (กรณี ปัจจุบัน)


ทัศนคติส่วนตัว

- เห็นว่าความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่จุดที่ไม่สามารถเจรจากันได้ ต่างฝ่ายต่างขีดเส้นแบ่งไว้แล้ว และยึดมั่นว่าจะไม่ก้าวผ่านเส้นแบ่งนั้นไป และหาทางเผด็จศึกอีกฝ่ายด้วยวิธีการทั้งทางเปิดเผยและทางลับ ทั้งที่ถูกกฎหมายและทำไปแบบข้างๆคูๆ หมิ่นเหม่ต่อการผิดกฎหมาย

- หมดเวลาต่อการเรียกร้องเพียงวาจา ต่อให้ไพเราะแค่ไหนก็ทำไม่ได้แล้ว สถานการณ์พัฒนาขึ้นสู่ความขัดแย้งที่สูงแล้ว

- ตั้งเงื่อนไขไว้สูงที่จะบังคับให้อีกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม แล้วหาทางกดดันต่อไปด้วยวิธีการต่างๆ จากเบาไปหาหนัก

- สถานการณ์แบบนี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยสันติเสวนาตามปกติเสียแล้ว

ถามว่า: ไม่มีที่นั่งที่สามารถปักป้าย สันติเจรจา หรือ สันติเสวนาเลยหรือ

ตอบว่า: พอมีอยู่บ้าง

การแก้ไขแบบสันติทำอย่างไร

ต้องใช้อำนาจที่สาม หรือที่สี่ เข้ามา เช่น ฝ่ายทำเนียบเรียกร้องทหาร ก็หวังว่าทหารจะออกมาอยู่ข้างประชาชนเหมือนในตุรกี และอื่นๆ โดยไม่ใช้กำลัง ซึ่งขึ้นกับว่ารายละเอียดของอำนาจที่สามนี้จะยืนตรงไหน อย่างไร…. (แต่ก็หมิ่นเหม่มากๆต่อความรุนแรง) การกดดันเช่นนี้เป็นการบีบบังคับให้อีกฝ่ายต้องยอมเจรจาและยอมสูญเสียบางส่วนเพื่อรักษาบางส่วน

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ อำนาจทางตุลาการต้องเข้มแข็ง ไม่โงนเงน อ่อนไหวไปตามกระแสทุนที่สามารถไหลบ่าเข้ามาอย่างท่วมท้น เอาหลักการตามกฎหมายมาจัดการผู้กระทำมิชอบอย่างตรงไปตรงมา

อีกหนทางหนึ่งคือ ผู้ที่มีบารมีสูงส่งก้าวมาเป็นผู้ใช้สันติเสวนา อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนแล้ว และทุกอย่างก็สงบลงได้จริงๆ ในปัจจุบันผู้มีบารมีสูงส่งที่เป็นสามัญชนธรรมดานั้นดูจะไม่มีทางที่จะก้าวเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้แล้ว

ทำไมปัจจุบันผู้มีบารมีในสังคมจึงไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้

- เพราะไม่มีใครกล้าเข้ามาท่ามกลางความวิปริตของสังคมไทย เพราะเปลืองตัว หรือหาเรื่องเปล่าๆ

- เพราะไม่มีใครไว้ใจใครอีกต่อไปแล้ว แม้แต่คนกลาง ก็ไม่แน่ใจว่ากลางจริงหรือไม่ กลางของใคร ต่างเกรงว่าตัวเองจะเสียเปรียบ และถึงแก่ความพินาจ สูญเสียประโยชน์มหาศาล

(มีผู้อยู่วงในกล่าวว่า คนสี่เหลี่ยมมีเงินจริงๆถึงสามแสนล้าน และมีธุรกิจที่มีรายได้อีกมากมาย เช่นที่ประเทศจีน สมมุติว่าจะถูกกฎหมายไทยยึดทรัพย์สินหมดตามที่มีการฟ้องร้องกัน ก็อยู่ได้อย่างราชาเพราะมีรายได้ปีละหนึ่งหมื่นหกพันล้าน…ก็ฟังหูไว้หูก็แล้วกัน) เงินเป็นปัจจัยในการต่อสู้ที่สำคัญประการหนึ่ง แบ่งเงินมาปีละ ห้าพันล้าน ก็สู้กันไปอีกนาน หากฝ่ายตุลาการเข้มแข็งตลอด ผู้รักษากฎหมายเข้มแข็ง ทหารไม่ไหวเอน ประชนเข้าถึงความจริงทุกด้าน …. แม้ลึกๆจะเชื่อมั่นว่าท้ายที่สุดประชาชนจะเป็นผู้ลุกขึ้นยืน แต่ก็เหนื่อยอ่อนเต็มที….

ท่ามกลางค่านิยมในสังคมเสรีประชาธิปไตยเช่นนี้…ท่ามกลางทัศนคติที่มุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายไว้ที่ อำนาจ กับ ทุน เพื่อผลประโยชน์ ประชาชนอย่างเราต้องตั้งสติให้มั่นคง…

ทำให้นึกถึงเพลงหนึ่งที่ร้องกันในที่รโหฐานว่า

หยดฝนย้อย..จากฟ้า..มาสู่ดิน

ประมวลสินธุ..เป็นมหา..สาครใหญ่

แผดเสียงซัด..ปฐพี..อึ่งมี่ไป

พลังไหล..แรงรุด..สุดต้านทาน

อันประชาฯ..สามัคคี..ที่จัดตั้ง

เป็นพลัง..แกร่งกล้า..มหาศาล

แสนอาวุธ..แสนศัตรู..หมู่อันธพาล

มิอาจต้าน..แรงมหา..ประชาชน

สันติภาพจงเจริญ..


สันติเสวนา… (2)

ไม่มีความคิดเห็น โดย bangsai เมื่อ ตุลาคม 26, 2008 เวลา 0:35 ในหมวดหมู่ สังคม บ้านเมือง ประชาธิปไตย #
อ่าน: 2679

สรุปจากตอนที่ 1


วิเคราะห์ : สังคมเราซับซ้อนมากขึ้น จนระบุสาเหตุเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง กลุ่มสาระใดสาระหนึ่งเด็ดขาดไม่ได้ ต่างมีส่วนเนื่องกันทั้งตรงและอ้อม ทั้งมีส่วนมากและน้อย

แต่ละสาระมีรายละเอียดมากมาย และทั้งหมดผันแปรไปตามการเปลี่ยนทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ ระบบการพัฒนาประเทศชาติทั้งหมด ภายใต้กรอบระบบเสรีประชาธิปไตย..

ประชาชนฐานรากก็มีสาระในวงล้อมเขาแบบหนึ่ง นักการเมืองฉลาดแกมโกง อ่านสังคมออกก็ใช้จุดอ่อนต่างๆเหล่านี้เป็นเส้นทางการเข้าสู่อำนาจ แล้ว อำนาจก็เป็นที่มาของทุน (ย้ำว่านักการเมืองน้ำดีมีอยู่)

นักธุรกิจอุดมการณ์ทุนสามาลย์ก็อ่านออกว่าสังคม โครงสร้างสังคม และส่วนต่างๆนั้นมีจุดอ่อน ที่เขาสามารถใช้เป็นช่องทางการก้าวเข้าสู่อำนาจ จึงใช้ทุน หรือเงิน ซึ่งนักการเมืองบางคนก็ใช้เงินจำนวนมากที่มิใช่เงินจากกระเป๋าเขาเองด้วย นี่คือความฉลาดแกมโกง และด้วย ทุนมหาศาล เขาก็ก้าวสู่อำนาจ (ทุนดีดีก็มีอยู่ครับ)

ลองย้อนดูความขัดแย้งในสังคมหมู่บ้านเดิม ที่จบลงที่ ผู้เฒ่า เจ้าโคตร ซึ่งเป็นระบบคุณค่าเดิม ลูกหลานในหมู่บ้านมีเรื่อง มีปัญหา พ่อแม่เขาก็มาพบ ผู้เฒ่าเจ้าโคตรให้เป็นคนกลางที่มีคุณธรรมมีจริยธรรมไม่เข้าใครออกใคร เกลี้ยกล่อม การที่ท่านผู้เฒ่ามีคุณสมบัติต่างเป็นที่เคารพของชุมชนนั้น เมื่อท่านพูดอะไรถือเป็นมงคล แล้วก็ไกล่เกลี่ยจนความขัดแย้งนั้นสลายไป กลับมาคืนดีกัน วิธีการของพ่อเฒ่าในสมัยนี้อาจจะเรียกว่า สันติเสวนา ก็ย่อมไม่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด

หากบางสังคมไม่มีผู้เฒ่าที่มีคุณสมบัติดังกล่าว หรือสังคมใหม่เข้าไปครอบเสียคุณค่าเดิมสลายไปหมดสิ้นแล้ว ปัญหาต่างจึงมุ่งตรงไปสู่ที่โรงพัก หนักมากขึ้นก็ถึงโรงศาล ซึ่งเป็นระบบการแก้ปัญหาในระบบสังคมใหม่

ความขัดแย้งในหน่วยงาน จบลงที่ระเบียบ ข้อบังคับในสำนักงานนั้นๆ หรือหัวหน้างาน นายจ้าง หรือตามกฎหมายส่วนที่เกี่ยวข้อง

ความขัดแย้งทางสังคมใหญ่ มีแต่ระบบกฎหมาย และจบลงที่ศาลสถิตยุติธรรม

มีข้อสังเกตว่า: ความขัดแย้งที่จบลงที่ระบบผู้เฒ่า เจ้าโคตรแบบดั้งเดิมนั้น จบลงแล้ว อยู่ด้วยกันต่อไปได้

แต่ความขัดแย้งที่จบลงที่กระบวนยุติธรรม โรงศาลนั้น จบลงด้วยกฎหมาย ข้อบังคับที่สังคมสร้างขึ้นมาเพื่อการปกครองร่วมกัน แต่สองฝ่ายของความขัดแย้งกันนั้นไม่จบลงที่คำพิพากษา คำตัดสินเป็นเพียงการยอมรับเพราะจำนนต่อหลักฐาน

แต่ความสลดหดหู่ กลับเนื้อกลับตัวนั้นดูเหมือนจะไม่มี และกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ได้ทำหน้าที่นั้น จึงมีจำนวนมากที่เมื่อออกจากการถูกลงโทษทางกฎหมายแล้ว ก็ปฏิบัติความชั่วนั้นต่อเนื่องอีก…..?? (มีต่อตอนสาม)

หมายเหตุ: การเขียนที่ผิดพลาดเรื่องสกด การันต์ ต้องขออภัยด้วยครับ



Main: 0.86777400970459 sec
Sidebar: 0.30161499977112 sec