เปิดตัว……
อ่าน: 1981ผมเคยเขียนบันทึกเรื่อง “โรคเหงาหงอยท่ามกลางฝูงชน” ใน G2K ซึ่งเป็นสภาวะที่นักจิตวิทยาและคุณหมอทั้งหลายทราบรายละเอียดเรื่องนี้ดี ผมน่ะไม่รู้เรื่องร๊อก แต่ท่านอาจารย์ ดร.อำนวย ทะพิงค์แก อดีตอาจารย์ของผมท่านเล่าให้ฟังหลายสิบปีก่อน ว่าในเมืองที่เจริญรุ่งเรืองเช่นที่อเมริกาที่ท่านเคยไปเรียนหนังสือที่นั่นนั้น โรคนี้กำลังระบาดอย่างหนัก อาจารย์อธิบายว่า ก็คนเดินกันเต็มถนน เกือบจะชนกัน แต่ไม่รู้จักกัน แถมไม่คุยกันเลย รถวิ่งกันเต็มถนน เมื่อติดไฟแดง รถจอดนิ่งๆ ต่างคนต่างก็มองหน้ากันไปมาระหว่างคันนี้คันนั้น แต่ไม่พูดกัน ซึ่งลักษณะเมืองก็เหมือนกันทั่วโลก….??
แต่มันตรงกันข้ามกับสังคมชนบท สะเมิงที่ผมรู้จัก หรือที่ไหนๆก็ตาม (แต่น่าจะสำรวจว่าเปลี่ยนไปมากแค่ไหน) สังคมเมืองจึงมีความต่างกับชนบทอย่างน่าเป็นห่วงในหลายสาระ
เมื่อท่านจอมป่วนเปิดลานเรื่อง “เล่าเรื่องตัวเองทำไม ? อ่านเรื่องคนอื่นทำไม” ที่ http://lanpanya.com/jogger/?p=204#comment-530 ทำให้ผมนึกถึงสมัยเรียนที่ มช. เมื่อระหว่างปี 2512-2516 ซึ่งเป็นยุคของขวนนักศึกษา และนักศึกษาที่เรียกกันว่า activist ผมไม่ทราบว่าที่สถาบันอื่นเป็นเช่นไร แต่ที่ มช.และกลุ่มนักศึกษาที่ผมเกาะกลุ่มกันไว้นั้น มีลักษณะที่น่าสนใจ อยากจะเล่าความหลังไห้ฟัง
กลุ่มนี้เรียกตัวเองในหลายชื่อด้วยกัน ภายในเราเข้าใจกันดีคือ กลุ่ม “วลัญชทัศน์” กลุ่มนี้ไม่ค่อยเรียนหนังสือ เอาแต่จับกลุ่มคุยกัน ทำงานเคลื่อนไหวให้การศึกษาในกลุ่มนักศึกษาด้วยกัน และออกชนบททั้งศึกษาชนบทและไปทำงานค่ายพัฒนาแบบต่างๆกันไม่ได้หยุด กลุ่มวลัญชทัศน์นี้มีรุ่นพี่คณะรัฐศาสตร์เป็นผู้นำ และในปีสุดท้ายพี่ท่านนี้ถูกถีบตกรถไฟเสียชีวิต เราเชื่อกันว่าเป็น “การเก็บ” ของฝ่ายบ้านเมือง
เรามีเพื่อนที่มีความคิดในครรลองเดียวกันทุกคณะทั้งชาย หญิง โดยเฉพาะฝั่งสวนดอก อันได้แก่ คณะแพทย์ คณะทันตแพทย์ คณะเภสัชฯ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะพยาบาล มีจำนวนมากด้วย นอกจากนั้น คณะเกษตรฯ คณะวิศวะฯ ก็มีหลายคนไม่ต้องเอ่ยคณะทางสังคมศาสตร์ เป็นตัวหลักเชียวหละ
ก่อนที่เราจะไปทำกิจกรรมต่างๆร่วมกันนั้นเราจะมีค่ายหนึ่งที่ทุกคนจะต้องผ่าน เรียกว่าค่ายศึกษา ไปจัดในหมู่บ้านที่มีพื้นที่เหมาะสม เช่นเป็นสวนของผู้นำชาวนาที่เราคุ้นเคย ที่ไม่โจ่งแจ้งเกินไป เพราะสมัยนั้น การที่นักศึกษาออกสู่ชนบทนั้นจะเป็นเป้าสายตาของฝ่ายปกครองจะต้องรายงานให้ตำรวจและนายอำเภอ ผู้ว่าราชการทราบ
เราไปกินนอนกัน ประมาณ 1 สัปดาห์ เอาเต็นท์ไปกางนอนกันตามใต้ต้นไม้ กองฟาง เป็นต้น เช้าตื่นขึ้นมาก็ออกไปช่วยกันทำมาหากิน เก็บกวาดสถานที่ หรือช่วยทำงานของเจ้าของที่ที่มีคั่งค้างอยู่
กิจกรรมที่สำคัญที่สุดที่ทุกคนจะต้องทำคือ “การเปิดตัวและการทำสามัคคีวิพากษ์” หรือสามัคคีวิจารณ์ วิธีการก็คือ พี่พี่ที่คุ้นเคยและผ่านเรื่องนี้มาก่อนจะทำการเปิดตัวตนเองอย่างสิ้นเปลือก เป็นใคร มาจากไหน พ่อแม่ เป็นไง….ละเอียดยิบ จนมาถึงทำไมถึงมาคิดเห็นต่อสังคมบ้านเมืองเช่นนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร มีเหตุผลอะไร….. ใช้เวลานานเท่าที่อยากจะพูด และเพื่อนๆสามารถซักถาม ได้บ้าง แต่ส่วนมากไม่ได้ถาม คนเล่าเล่าหมดสิ้น มันน่าจะเป็นการเริ่มพัฒนามาสู่ “สุนทรีย์สนทนา” ละมั๊งเพราะท่านเจ้าสำนักขวัญเมืองก็เป็นยุคเดียวกับผม และน่าที่จะผ่านกระบวนการนี้มาแล้ว
เป็นเรื่องเหลือเชื่อจริงๆ เราสนิทกันแบบเพื่อนรักมากๆ พี่กับน้อง น้องกับพี่ ที่รู้ใจกันหมดสิ้น ท่านคงเดาบรรยากาศในการเปิดตัวในกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกันออกนะครับว่า น่าจะเป็นเช่นไร…
นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ปี 4 ตัวใหญ่เท่าช้าง ร้องให้อย่างก๊ะเด็ก เมื่อเขาเล่าสิ่งที่เขาสะเทือนใจในชีวิตเขาออกมา มันเป็นการปลดปล่อย…. ปลดปล่อยออกมาท่ามกลางเพื่อนที่รัก…..
นักศึกษาแพทย์สง่างามต้องหยุดพูดกลางคันเมื่อเขาเล่าถึงความต่ำต้อย ในฐานะทางบ้านและการสูญเสียแม่อันเป็นที่รักที่สุดของเขาไป…..
ลูกพ่อเลี้ยงใหญ่กลางเมืองเชียงใหม่ อึดอัดต่อครอบครัวที่คาดคั้นให้เขาเดินตามสิ่งที่ครอบครัวต้องการ…..
สาวสวยการศึกษาดีจากครอบครัวธุรกิจ Export เล่าอย่างไม่อายว่าเขาไม่รู้เรื่องชนบทเลยแม้ต้นข้าว เพราะบ้านเขาเนรมิตทุกอย่างให้เขาได้ แต่รักความยุติธรรม ความถูกต้อง และเห็นอกเห็นใจคนยากจนทำให้เธอเดินมาเส้นทางนี้โดยทางบ้านยังไม่รู้เรื่อง..
ดูเหมือนว่าสิ่งที่เหมือนกัน หรือสิ่งที่สามารถรวมศูนย์จิตใจให้มายอมรับกันได้คือ การรักความยุติธรรม ความถูกต้อง และต้องการช่วยเหลือสังคมโดยเฉพาะผู้ที่ด้อยกว่า…
“การเปิดตัวแบบเปิดอก” สมัยนั้นมีพลังมหาศาล
v มันสร้างความเข้าอกเข้าใจซึ่งกันและกันแบบลึกซึ้งในกลุ่มคนร่วมอุดมการณ์อย่างไม่เคลือบแคลง
v และพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น
สองสิ่งนี้ก็คือฐานที่มั่นคงในการที่กลุ่มจะทำงานเพื่อสังคมร่วมกัน หรืองานใดๆที่กลุ่มตกลงกัน
สิ่งที่มากไปกว่าการเปิดตัวแบบเปิดอกคือ การวิพากษ์วิจารณ์แบบสามัคคี โดยปกติคนเราย่อมมีจุดเด่นจุดด้อย เปิดออกมาเลยว่าตัวเองมีแบบไหนอย่างไร แล้วพี่ๆเพื่อนๆที่ใกล้ชิดจะช่วยแสดงความเห็นต่อเรื่องนั้นๆ หรือแม้แต่วิพากษ์เพิ่มเติม สิ่งเหล่านี้ช่วยให้เห็นตัวตนมากยิ่งขึ้นไปอีกแบบปอกเปลือกหมดสิ้นแดงแจ๋ ยิ่งทำงานด้วยกันนานๆก็ยิ่งเห็นตัวตนมากขึ้น
ตลก.. ที่ผมเอากระบวนวิธีนี้ไปทำกับเพื่อร่วมงานสมัยทำงานพัฒนาชนบทใหม่ๆ พบว่าเพื่อนๆรับได้ แต่หัวหน้างานรับไม่ได้ ไม่ยอมเข้าร่วมกระบวนนี้ เพราะท่านเป็นผู้ใหญ่กว่า ท่านคิดว่าไม่ควรเปิดเรื่องส่วนตัวให้ลูกน้องทราบในหลายๆเรื่อง แต่ลูกน้องควรรับฟังคำสั่ง หรือความคิด ข้อชี้แนะของหัวหน้างานเท่านั้น…
นี่คือ “พลังเยาวชน” ช่างตรงกับที่ บรรจง บรรเจิดศิลป์ เขียนไว้จริงๆ
ที่เขียนมาเพื่อต่อยอดท่านครูบาฯ และเฮียตึ๋ง ที่รักของเรานี่แหละ..ครับท่าน..