ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กันยายน 9, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ปัญญาด้านภาษา(ภาพ)

แต่ละวันในค่ายฮูบแต้มแคมของเราทั้งพี่เลี้ยงและเด็ก ๆ มีเรื่องยุ่ง ๆ ที่แสนสนุกให้ทำไม่ซ้ำกัน ทำกันจนเหมือนเราไม่มีช่วงเวลาจะพักเอาเสียเลย เพราะในขณะที่เราพักเราก็เหมือนรู้สึกว่าเราทำกิจกรรมเรียนรู้อยู่ ดังนั้นชีวิตการอยู่ในค่ายสามวันสองคืนจึงมากด้วยการเรียนรู้

การเรียนรู้ที่มากมาย กิจกรรมที่หลากหลายและผู้คนที่มาให้ความรู้กับเรา มีมากมากจนลิ้นชักในสมองของเด็ก ๆ เก็บเอาไว้ไม่หมด หลายคนเก็บเอาไว้มาก แต่พอจะเปิดลิ้นชักสมองก็พบว่ามันสับสนอลหม่านกันไปหมด จนไม่รู้ว่าลิ้นชักอันไหนเก็บเรื่องอะไร ลิ้นชักไหนเก็บกิจกรรมอะไร เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแน่นอนในค่ายการเรียนรู้หรือแม้การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน

ในค่ายฮูบแต้มแคมของเราจึงหาเครื่องมือที่ให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนการเรียนรู้ในแต่ละวันอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ จดจำเรื่องราวที่แสนประทับใจในค่ายของเราไว้รำลึกถึงเมื่อช่วงเวลาในค่ายผ่านพ้นไป เครื่องมือนี้เราเรียกว่า การทบทวนความรู้ด้วยภาพ(Graphic Review)

“การทบทวนการเรียนรู้ด้วยภาพ” ว่ากันไปแล้วก็เหมือนจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูบแต้มที่เรากำลังศึกษากันในค่าย ภาพวาดชวนให้เราอ่านเรื่องด้วยภาพ ภาพเขียนแทนภาษาพูดหรือภาษาเขียน เพราะภาพเขียนถือว่าเป็นภาษาชนิดหนึ่ง การส่งเสริมการใช้ภาษาให้มีประสิทธิภาพจึงถือว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย ปัญญาด้านภาษา(Linguistic Intelligence)

ในจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ผู้คนชาวบ้านหว้านใหญ่หลายคนแม้จำเนื้อหาเรื่องพระเวสสันดรได้ไม่หมดแต่การได้ดูภาพเขียนก็ทำให้เข้าใจและจดจำเนื้อหาหรือแก่นสารสำคัญในเรื่องได้มากขึ้น ทั้งนี้อาจจะมีภาษาเขียนกำกับในภาษาภาพเอาไว้ในบางช่วงบางตอน วิธีนี้ช่วยเติมเต็มคำสำคัญที่ต้องการสื่อสารหรือต้องการให้จดจำในภาพแต่ละตอน

เมื่อการเรียนรู้แต่วันในค่ายของเราผ่านไป ก่อนสวดมนต์เข้านอน ครูอุ้มชวนเด็กมาทบทวนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วยภาษาภาพ โดยมีครูคล่องช่วยเขียนเป็นภาพ เสมือนการย้อนบันทึกประจำวันของแต่ละคนตั้งแต่เช้ายันเย็น ซึ่งเด็กๆช่วยกันเติมเต็มรายละเอียดในแต่ละช่วงเวลา เมื่อสิ้นสุดภาพและคำสำคัญในแต่ละวันครูอุ้มกลับมาทบทวนเรื่องราวในภาพ เราพบว่าเด็ก ๆ จำกิจกรรมว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ได้อย่างแม่นยำ

(ในภาพอ่านว่า ช่วงบ่ายที่ศาลาวัดเด็ก ๆ กำลังทำขันหมากเบ็งซึ่งประดิษฐ์จากใบตอง ซึ่งทุกคนสนุกสนานมากและทำได้ดี)

เครื่องมือนี้ช่วยในการเรียบเรียงและทบทวนประสบการณ์ในแต่ละวันของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี การเขียนภาพเป็นการช่วยระบายและปลดปล่อยอารมณ์ของเด็กต่อกิจกรรมการเรียนรู้นั้นได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการคิดเชื่อมโยงให้กับเด็ก ๆในการใช้ภาพสื่อแทนภาษาเขียนได้ และที่สำคัญช่วยย้ำเตือนความทรงจำที่แสนพิเศษที่เกิดขึ้นในค่ายฮูบแต้มแคมของให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งในวันสุดท้ายเราได้มอบสมุดบันทึกคืนให้แก่เด็ก ๆ ทุกคน เพื่อให้เขามีเครื่องมือแห่งความทรงจำ

กันยายน 7, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : คน ค่าย เครือข่าย ความสุข

เราไม่ใช่บริษัทรับจัดค่าย เราไม่ได้เป็นองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก แต่เราเป็นเพียงโครงการเล็ก ๆ ที่อยากทำงานกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับพื้นบ้านพื้นถิ่น ดังนั้นหน้าที่ของผมจึงเป็นนักส่งสาร ร่อนการ์ดเชิญ โทรศัพท์ชวน โปรยข้อความบนลานและโลกไซเบอร์เพื่อตามเพื่อนฝูง พี่น้อง ผองเพื่อครูบาอาจารย์ที่มักคุ้นให้มาช่วยค่าย

ในเมื่อหลายคนก็ต้องทำงานของตนเอง ดังนั้นการกะเกณฑ์ว่าใครจะมาได้บ้างจึงเป็นเรื่องยากเต็มทน แต่ในวันสุดท้ายก่อนเดินทางก็ยังมีบางอย่างรังเร ผมออกแบบกิจกรรมให้หยืดหยุนมากที่สุดโดยยึดเพื่อน ๆที่รับปากจริงไปได้จริงเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มนี้สามารถเลื่อนกิจกรรมของตนไปกับความเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนที่ยังไม่แน่ใจก็ต้องยอมรับความไม่พร้อมและเตรียมแผนสำหรับแก้ไขปัญหา

จนกระทั้งถึงวันเปิดค่ายจริงและยืนยันการเดินทางจริง ผมก็พบว่าญาติพี่น้องเพื่อนพ้องที่เดินทางมาร่วมค่ายของโครงการเราคราวนี้เป็นนักกิจกรรมที่จัดแบ่งออกได้หลายประเภทด้วยกัน หากจะแบ่งตามประสบการณ์ชีวิต เราพบว่าสามารถจัดกลุ่มได้ 3 รุ่นคือ S M L

รุ่นเล็ก = S รุ่นเล็กแต่ใจใหญ่ กลุ่มนี้ผมได้เครือข่ายทางสกลนครมาช่วยซึ่งเป็นนักศึกษา รวมถึงน้อง ๆจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเด็กหนุมไฟแรงที่เพิ่งจบซึ่งกลุ่มนี้จิ๋วแต่แจ๋วทั้งน้องปุ๊ น้องปอง น้องโบว์ น้องทิก น้องมี่ น้องแพท คนกลุ่มนี้มีจิตอาสาและรักษ์บ้านเกิดเมืองนอนที่ชัดเจน

( แพท มีมี่ และน้องโบว์์สาวน้อยเดินทางไกลมาจากธรรมศาสตร์ งานนี้เหนื่อยบ้างก็พักบ้างแต่เธอไม่แพ้ ถามหาค่ายต่อไป)

รุ่นกลาง = M รุ่นนี้เป็นกลุ่มมดงาน ผมได้เครือข่ายมาจากทุกทิศทุกทาง พี่คล่องกับอาจารย์อุ้ม เคยผ่านค่ายมาด้วยกันมากกว่าสิบซึ่งถือว่าสองคนนี้เป็นกำลังสำคัญของผมเพราะจะต่อกันติดง่ายไม่ว่าโยนกิจกรรมอะไรไป ส่วนอีกสองคนเป็นเพื่อนเครือข่ายจากสกลนครที่อาสามาช่วย มาดูและมาเชียร์นั้นคืออาจารย์นพและอาจารย์อ่ำ รวมทั้งเพื่อนครูที่ HUG SCHOOLอย่างอาจารย์ต้อม และมดจากหอมกรุ่น(ร้านกาแฟแสนอร่อย) กลุ่มนี้เราต่างถ่ายเทรูปแบบการจัดค่ายต่อกันสม่ำเสมอ ใครมีเทคนิคใหม่ ๆ ก็เอามากลางเรียนรู้ด้วยกัน

(อาจารย์ต้อม โบว์ อาจารย์อ่ำ พี่มด อาจารย์คล่อง อาจารย์อุ้ม ออต)

รุ่นใหญ่ = L กลุ่มแรงใจแรงกายแรงปัญญา รุ่นนี้เป็นรุ่นที่เมตตากับเรามาก เป็นเสมือนที่ปรึกษาในทุก ๆ มิติเป็นแรงใจ และหลายท่านก็เป็นขวัญใจชาวค่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้ การได้รุ่นใหญ่มากประสบการณ์แบบนี้ช่วยให้งานของเรามีคุณค่าขึ้นมาอีกมาก เพราะก่อนหน้าที่เราไปกับแบบวัยรุ่นวุ่นรักค่าย แต่ลืมบางสิ่งบางอย่างที่ผู้ใหญ่มี รุ่นนี้เราได้เครือข่ายลานปัญญาเช่นอาม่าขวัญใจชาวค่าย อาจารย์บางทราย พี่พนัส นอกจากนั้นยังได้ความเมตตาจาก ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุษย์ปรมาจารย์ด้านลุ่มน้ำโขงศึกษามาช่วยอีกแรง

(อาม่า  ดร.ศุภชัย อาจารย์บางทราย)

นี่เป็นกลุ่มคนที่ผมขอจารึกเอาไว้ในค่ายแห่งนี้ เพราะทุกคนคือแรงกายแรงใจ แรงกำลังที่ทำค่ายเดินทางจนเสร็จสิ้นได้ สมควรที่จะได้รับการขอบคุณจากผมและศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะเราคือคนของค่ายที่เกิดจากเครือข่ายแห่งความสุข

(เป็นได้แม้ขาไมโครโฟน)

กันยายน 6, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ละครในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ในค่ายวัฒนธรรม

หลังอาบน้ำแบบเร่งด่วนเพราะเด็กๆ หลายคนใจจดจ่ออยู่กับละครเย็นนี้ เด็ก ๆ หลายคนจับกลุ่มกันซักซ้อมการแสดงเพื่อทบทวนบทบาท และลำดับการดำเนินเรื่องกันอย่างสนุก พี่เลี้ยงค่ายทนนั่งอยู่ไม่ได้ ต่างช่วยกันเตรียมอุปกรณ์ประกอบการแสดงให้กับเด็ก ๆ กัน เพื่อไม่ให้น้อยหน้ากลุ่มอื่น ๆ ภาพแบบนี้เราจะเห็นในหลายมุมของวัดป่าวิเวก

หลังข้าวเย็นตกถึงท้อง แต่ไม่ทันจะย่อยดีนักเด็ก ๆ ต่างโสแหล่กันเสียงดัง จนแยกไม่ออกว่ากลุ่มไหนเป็นกลุ่มไหน บ้างก็มาแอบดูการแสดงของกลุ่มอื่น บ้างก็มาขอวัสดุที่เราพอมีในค่ายเช่นกระดาษ กรรไกร กาว เพื่อไปทำอุปกรณ์ประกอบการแสดง หลายคนตีกลองเล่น ๆ ตามประสาเด็ก ทั้งหมดทั้งปวงเป็นสัญญาณที่ดีที่เด็ก ๆ ต่างเปิดหัวใจรับการเรียนรู้ของค่ายอย่างไม่กังวล

สองทุ่มบริเวณลานหน้าพระใหญ่ในวิหารพระนอน โรงละครธรรมของเรากำลังจะเริ่ม โดยพี่เลี้ยงรวมเด็ก ๆ เพื่อคลายความตื่นเต้นก่อนการแสดงด้วยเกมส์สนุก ๆ สองสามเกม ซึ่งช่วยให้เด็กคลายความตื่นเต้นลงได้อย่างดี เด็ก ๆ หลายคนนั่งนิ่งเพื่อรอชมการแสดงของเพื่อน ๆ

โรงละครของเราเปิดขึ้นแล้ว ม่านใหญ่หน้าพระประธาน กับนิทานธรรมที่เราถอดมาจากวรรณกรรมพระพุทธศาสนาเรื่องพระเวสสันดรชาดกจากวัดศรีมาโพธิ์ กำลังจะเริ่ม นักแสดงทุกคนต่างพร้อมและเต็มที่กับการแสดง พลันการแสดงเริ่ม เราก็เห็นแววตาและรอยยิ้มเสียงหัวเราะตลอดการแสดง เพราะสิ่งที่เด็ก ๆ แสดงได้แสดงออกถึงการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อย่างชัดเจน
วันนี้ละครทุกตอนของเราเป็นละครที่เรียบง่าย เราใช้บทเจรจาด้วยภาษาถิ่นเมืองหว้านใหญ่ ที่แม้พี่เลี้ยงค่ายหลายคนจะเป็นคนชาติพันธุ์ไทลาวก็ไม่สามารถเลียบแบบสำเนียงเหล่านั้นได้ ผมฟังแล้วได้แต่ยิ้มในใจและช่างคุ้นเคยกับภาษาที่เด็ก ๆ ใช้อย่างบอกไม่ถูกเพราะสำเนียงที่เด็ก ๆ ใช้ในการแสดงเป็นสำเนียงที่นักแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอนหรือหมอลำหมู่แถบเมืองขอนแก่น มหาสารคามและกาฬสินธุ์ใช้กันเป็นพื้น

(ตอนชูชกได้นางอมิตดาเป็นภรรยา แหมเลือกคนได้สมกับบทบาทจริง ๆ)

(ตอนเห่พระเวสสันดีเข้าเมือง  เห็นพระเวสสันดรบนคอช้างไหมครับ ง่าย ๆแต่เข้าใจ)

เสียงหัวเราะของเด็กดังอยู่ตลอดเวลา เนื้อเรื่องที่จำได้จำไม่ได้ในตอนบ่าย แต่มาถึงการแสดงเด็ก ๆ ทุกคนต่างจำเนื้อหาในแต่ละตอนได้อย่างชัดเจน แม้ชื่อตัวละครหลายตัวจะเพี้ยนไปบ้าง หรือลืมบทไปบ้าง แต่ก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดาเพราะการเล่าปากต่อปากของเด็ก ๆ ย่อมมีการเพี้ยนไปเป็นธรรมชาติของภาษาแต่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดจากการช่วยเหลือกันในกลุ่มต่างหากที่เป็นสัมพันธภาพที่น่าจดจำ

แต่เสียงหนึ่งที่ดังไม่แพ้เสียงหัวเราะของเด็ก ๆ คือเสียงหัวเราะของพี่เลี้ยงทุกคน ที่ต่างขำกันจนปวดเส้นเอ็นบนใบหน้าอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเวลาซ้อมกับเวลาแสดงช่างต่างกัน จนอดขำไม่ได้

เสียงหัวเราะหยุดลงพร้อมกับเสียงสวดมนต์ก่อนนอนดังขึ้น เป็นสัญลักษณ์ว่าวันนี้พวกเราชาวค่ายทุกคนควรนอนเอาแรงหลังจากที่ใช้พลังงานมากเหลือในกิจกรรมวันนี้ แสงเทียนที่หน้าพระประธานและไฟจากเพดานหรี่ลง พี่ๆ เอนตัวลงนอนอย่างเหน็ดเนื่อยแต่ทุกคนยิ้มในใจคิดถึงการแสดงละครของเด็ก ๆ ในความเงียบ เราต่างแอบได้เย็นเสียง เด็ก ๆ คุยกันถึงการแสดงที่ผ่านมา ก่อนที่ตาจะหลับและเข้าเฝ้าพระอินทร์ในคืนวันนี้ วันที่พระจันทร์เกือบเต็มดวง

กันยายน 5, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ม่วนซื่นละครเด็ก

เกือบจะพลบค่ำแล้ว พี่เลี้ยง“ค่ายฮูบแต้มแคมของ” เรียกรวมเด็ก ๆ ชาวค่ายพร้อมกันหน้าวิหารใญ่วัดมโนภิรมณ์ วิหารที่เป็นเสมือนเพชรน้ำเอกของลุ่มน้ำโขง วิหารที่ไม่ได้มาชมไม่ได้มาศึกษาแล้วอย่าอุตริด่วนสรุปเรื่องสถาปัตยกรรมอีสาน เพราะวิหารแห่งนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิหารอื่น ๆ ที่พบในแถบอีสาน

พี่เลี้ยงสอบถามเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนังอีสานวัดศรีมหาโพธิ์กับนักเรียน เพื่อประมวลสรุปการเรียนรู้ การเยี่ยมชมและการทำกิจกรรมอีกครั้ง หลังจากสรุปกันพอควร เราจะสังเกตว่าเด็ก ๆ ชาวค่ายจำเนื้อเรื่องที่ปรากฎบนจิตรกรรมฝาผนังได้ แต่ยังขาดรายละเอียดอีกเล็ก ๆ หรือเราจะพบว่าแม้จะตอบถูกต้องแต่ยังไม่มีความมั่นใจในคำตอบของตนเองมากนัก ซึ่งหลังจากนี้พี่เลี้ยงค่ายโยนเครื่องมือเรียนรู้ชนิดต่อไปให้เด็ก ๆ ทันที เครื่องที่ว่านี้คือ ละครสำหรับเด็ก

กลุ่มกิจกรรมของชาวค่ายมีทั้งสิ้นสามกลุ่ม ดังนั้นพี่เลี้ยงจึงแบ่งกัณฑ์ต่าง ๆ ในเรื่องพระเวสสันดรชาดกซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ปรากฎในสิมวัดศรีมหาโพธิ์ ออกมาให้เหมาะสมกับการแสดงของเด็กทั้งสามกลุ่ม โดยมีรวมเอากัณฑ์ที่สำคัญมาไว้เป็นตอน 3 ตอนให้ครบตามจำนวนกลุ่มเด็ก วิธีการนี้จะช่วยให้เด็กแสดงละครของตนเองได้อย่างมีเอกภาพบนเวทีการแสดงคืนนี้

กลุ่มที่หนึ่ง จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์ทศพรไปจนถึงทานกัณฑ์ ซึ่งมีเนื่อหากล่าวถึงการจุติของนางผุสดีเพื่อมาเป็นมเหสีของพระเจ้าสัญชัยพร้อมกับพรสิบประการ การแต่งงานของพระเวสสันดรกับนางมัทรี การทานช้างปัจจัยนาเคน การไล่พระเวสออกจากเมืองและเดินทางสู่เขาวงกตเพื่อบำเพ็ญบารมี

กลุ่มที่สอง จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์จุลพนไปจนถึงกัณฑ์กุมาร ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงชูชกขอทานผู้สกปรก การได้นางอมิตตดามาเป็นเมีย การกล่าวด่าตำหนิติเตียนของเหล่าเมียพราหม์ต่อนางอมิตดาและการออกไปขอกัณหาชาลีมาเป็นคนใช้ของชูชก ตลอดจนการไปพบพรานเจตบุตร การโกหกพระฤาษีเพื่อหาหนทางไปเขาวงกตและการทานสองกุมารของพระเวสสันดรให้กับพราหม์

กลุ่มที่สาม จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์มัทรีไปจนถึงนครกัณฑ์ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงการขวางทางกลับอาศรมของพระอินทร์ที่กระทำต่อนางมัทรี การลากสองกุมารเข้าเมืองของชูชก การไถ่สองหลานของพระยาสัญชัยและการขบวนเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีกลับมาครองเมือง

เด็ก ๆ แต่ละกลุ่มหลังรับเครื่องมือไปแล้วต่างหาสนามหญ้าสีเขียวงามบริเวณลานหน้าวิหาร บ้างก็จับจองลานริมแม่โขงให้เป็นสตูดิโอสำหรับฝึกซ้อมการแสดง ต่างกลุ่มต่างวางแผนและซักซ้อมกันอย่างขมีขมัน โดยข้าง ๆ กลุ่มมีพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด งานนี้เราจะเห็นปฏิสัมพันธ์ที่ดีของเด็กกับเด็ก และปฏิสมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพี่เลี้ยงประจำแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน

แสงแดดอ่อนแรงลงข้างฝั่งทิศตะวันตก บอกถึงเวลาที่เราจะเคลื่อนย้ายเด็ก ๆ กลับสถานที่จัดค่ายแล้วเพื่อเด็ก ๆ อาบน้ำและรับประทานอาหาร ก่อนที่เราจะได้ชมมหรสพที่สร้างสรรค์จากฝีมือการแสดงของพวกเขาเอง เราเหล่าพี่เลี้ยงประจำกลุ่มต่างคอยลุ้นถึงผลงานของเด็ก ๆ ในกลุ่มของตนเองอย่างจดจ้อง พระอาทิตย์ลาลับไปจนวิหารใหญ่วัดมโนภิรมณ์ดูขึงขลังขึ้นมา เด็ก ๆ ต่างทยอยขึ้นรถและสนุกสนานส่งเสียงร้องเพลงตลอดเส้นทาง ซึ่งละครและการแสดงออกช่วยผลักพลังการแสดงออกเด็กได้อย่างดีที่เดียว

สิงหาคม 18, 2009

ศิลปะแบบนามธรรม : เด็กก็ทำได้

การถ่ายทอดความรู้สึกต่อสิ่งที่พบเห็น สิ่งที่ระลึกถึง สิ่งที่จินตนาการบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องแสดงสิ่งนั้นออกมาเป็นรูปทรงที่สามารถพบเห็นได้ตามธรรมชาติก็ได้ โดยเฉพาะการแสดงออกถึงความรู้สึกที่เป็นนามธรรม เราสามารถถ่ายทอดรูปทรงที่เราเห็น ระลึกถึงหรือจินตนาการถึงในรูปศิลปะแบบนามธรรมได้

ศิลปะแบบนามธรรม หรือ abstract เป็นศิลปะประเภทที่ไม่มีความจริงเหลืออยู่ หากคนนอกหรือผู้ชมมอง ก็มักเรียกศิลปินพวกทำงานแบบนี้ว่าพวก ศิลปะเปอะ เพราะรูปทรงจริงนั้นได้ถูกตัดทอนให้เหลือแค่เส้นสี น้ำหนัก ที่ก่อให้เกิดความงามตามอารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เหนือความเป็นจริงต้องใช้จินตนาการในการรับรู้รับชม

ในห้องเรียนที่ HUG SCHOOL ผมให้เด็ก ๆ ได้ทดลองทำศิลปะแบบนามธรรมนี้ด้วย ซึ่งเป็นงานศิลปะนามธรรมที่พัฒนามาจากแบบเหมือนจริงในธรรมชาติ แต่นำมาตัดทอน เพิ่มเติมเนื้อหาที่ต้องการแสดงออก  โดยเน้นให้เด็กสามารถบอกตนเองได้ว่าตนเองกำลังวาดอะไรและรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่ตนเองเห็น ตนเองจินตนาการเห็น

วันนี้มีนักเรียน 4 คนที่มาเรียน หลังผมเสนอรูปแบบศิลปะนามธรรมให้เด็ก ๆ ทราบแล้ว ผมก็ปล่อยให้เขาเลือกสี เลือกจินตนาการ เลือกมอง เลือกถ่ายทอดเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งเมื่อท้ายชั่วโมงก็พบว่าเด็ก ๆ สามารถถ่ายทอดศิลปะแบบนามธรรมได้เช่นเดียวกับศิลปิน เพราะผลงานมีการเลือกสรรสี  ตัดทอนรูปทรงและวางองค์ประกอบได้อย่างงดงาม

นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เด็ก  ๆ หาได้จากห้องเรียนศิลปะที่ HUG  SCHOOL

สิงหาคม 16, 2009

นายกมาร์ค ปะทะ ออตเฮฮาศาสตร์

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 0:44

เรื่องนี้เป็นอานิสงค์ของการไปงานวันระพี 2 ที่ไทยพาณิชย์สำนักงานใหญ่ ครั้งที่ครูบาฯ ให้โอกาสไปจัดบูทเล็ก ๆ ของชาวเฮฮาศาสตร์ นอกจากผลผลิตสวนป่า ต้นแบบหนังสือเข้าเป็นไผและเครื่องพ่นไอน้ำของลุงแฮนดี้แล้ว ครูบาฯให้ผมเอาผ้าไหมไปอวดคนเมืองหลวงด้วย

การไปอวดผ้าคราวนั้นทำให้มีคนสนใจ เขาถามไป ถามมา ซักไปซักมา คุยกันไป คุยกันมา ถ่ายรูปไป ถ่ายรูปมา จนแล้วจนรอดสุดท้ายบอกจะเอาไปลงหนังสือให้จากต้นเดือนพฤษภาคมถึงวันนี้ก็หลายเดือน ล่าสุดคอลัมนิสน์โทรมาหาและบอกว่าลงเรื่องของผ้าให้แล้ว

งานนี้ไม่สามารถลงรายละเอียดที่เขาเขียนไว้ ได้แต่เอารูปมาลงไว้เป็นบันทึกเตือนตัวเอง และบอกกล่าวญาติพี่น้องชาวเฮฮาศาสตร์เผื่อสนใจเรื่องของผ้าครับ ฉบับนี้หน้าปกเป็นรูปนายกมาร์คผู้มีอำนาจพร้อมแต่ใจไม่พร้อม อิอิ ท่านใดสนใจตามอ่านได้ที่เนชั่นสุดสัปดาห์นะครับ ฉบับปักษ์นี้เลย

สิงหาคม 13, 2009

คนวัฒนธรรม กับ พหุลักษณ์

เช้าของวันแม่ ที่ขอนแก่นแม้บรรยากาศจะดีมากคือมีแดดอ่อน ๆ แต่ขบวนนักถอดความหมายทางวัฒนธรรมไปถึงเมืองว่านใหญ่ ก็พบว่าอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนอยู่มาก ๆ ไม่ยากที่จะเดาว่าบ่ายนี้ฝนที่ตั้งเค้าไม่น่าจะไหลผ่านพื้นดินแถบนี้  น่าจะตกมาให้เราได้เปียกปอน งานนี้ผมออกจะห่วง ๆ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่มาด้วยจะเป็นหวัดจากพิษฝนได้

หลังรับประทานอาหารเที่ยง  เราลงมือทำงานและสำรววจพื้นที่ทันทีโดยเริ่มต้นที่วัดศรีมหาโพธิ์ ชึ่งเป็นวัดที่เราใช้เป็นแกนกลางในการจัดทำหลักสูตร งานนี้อาจารย์บางทราย แห่งดงหลวงมาสมทบพอดี พร้อม ๆ กับพี่มหาซึ่งเป็นคนหนุ่มที่สนใจงานวัฒนธรรมและพื้นที่ มาช่วยอธิบายความให้เราทราบพื้นฐานของวัดและชุมชนแถบนี้ ซึ่งนับว่าได้ความรู้จากคนพื้นที่เป็นอย่างดี

จากคำอธิบายของพี่มหา และน้อง ๆ จาก อบต.ว่านใหญ่ ทำให้เราทราบว่า คำว่า หว้านใหญ่ เพี้ยนมาจาก ว่านใหญ่ ซึ่งพื้นที่เดิมของชุมชนแถบนี้เป็นดงว่าน เมื่อตั้งชื่อบ้านก็นิยมเอาพืชพันธุ์ที่สำคัญมาตั้งเป็นชื่อบ้านจึงให้ชื่อว่าบ้าน ว่าน  จากการสัมภาษณ์ยังไม่ทราบแน่ว่าเป็นว่านหรือพืชตระกูลใด ต้องสืบเสาะอีกครั้งจากผู้แก่ผู้เฒ่าแถบนี้  ผมได้แต่แอบยุน้อง ๆ จาก อบต.ว่านใหญ่ให้เสาะหาดู หรือไม่แน่ว่าในค่ายผมอาจจะให้เด็กสืบหาว่านอันเป็นชื่อบ้านนามเมืองนี้ด้วย(ได้ไอเดียการจัดการเรียนจากคำถามในพื้นที่ที่ไปเจอ)

ส่วนคำสัญณิฐานของผม คำว่าหว้านใหญ่ น่าจะเพี้ยนมาจาก ว่านใหญ่ จริง แต่ไม่ใช่ชื่อ ว่านใหญ่ จริง ความจริงน่าจะมาจาก ว่านหลวง ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฎในจดหมายการเดินทางของเจ้านายจากบางกอกในการสำรวจอีสาน  ต่อเมื่อมีการแยกบ้านของประชากรจากว่านหลวงไปตั้งบ้านใหม่จึงเรียกบ้าน ว่านน้อย/ว่านใหญ่  และเพี้ยนเป็น หว้านใหญ่/หว้านน้อยในที่สุด ในปัญหาข้อนี้ก็ขอเชิญนักภาษา นักท้องถิ่นนิยม นักประวัติศาสตร์ค้นหากันอีกรอบ

สิ่งที่ทุกคนแปลกประหลาดใจในการพบวัดศรีมหาโพธิ์คือ การมีสิมหลังเล็กมากและเป็นหลังเล็กที่มีฮูบแต้มด้วย เมื่อไปถึงนักถอดหรัสของผมก็ต่างสนใจดู ถ่ายภาพ พูดคุยทั้งวงสนทนาใหญ่ วงสนทนาเล็ก เดินออกมาชื่นชม นั่งจังงังทำอะไรไม่ถูก  อาจารย์รณภพ เตชะวงษ์บอกกับผมว่า ทำอะไรไม่ถูกเพราะอึ้งมาก  แม้มีกล้องในมือก็ไม่รู้จะถ่ายอะไรมีความรู้สึกบางอย่างอยู่ในจิตใจ

อาจารย์บอนนี่ บอกผว่าวัดนี้สวยพิเศษและเรียบร้อย  คือมีความเงียบ และเรียบร้อยเหมือนผู้หญิงนั่งฟังธรรม(อันหลังนี่ผมเติมเอง เพราะไม่รู้จะถอดความความรู้สึกของอาจารย์ออกมาอย่างไร) เพราะวัดแห่งนี้เผยภาพเรื่องราวของพระเวสสันดรอย่างจริงใจ ศรัทธาและตัดภาพที่จะให้ความรู้สึกรุนแรง ความอิโรติก ออกไปอย่างมาก

เ่ช่นในภาพชูชกท้องแตกตาย ก็วาดชูชกตายแบบคนธรรมดาไม่ใส่อารมณ์ไปมากเหมือนวัดในแถบอีสานกลาง  ในตอนที่เผ่าศพชูชกก็วาดภาพการเผาศพอย่างสมเกียรติ   ในตอนที่เหล่าเมียพรามห์มาทำร้ายและด่าทอนางอมิตดาที่บ่อน้ำก็พบว่ามีภาพแค่ดึงชายผ้าถุงขึ้นคล้ายโกรธ แต่ในแถบอีสานกลางภาพที่แสดงออกถึงกับมีการ จ้อนซิ่น ถลกผ้าถุง โชว์ของสงวนกันอย่างโจ่ง ๆ  แต่สำหรับวัดศรีมหาโพธิ์ช่างด่าทอด้วยคำสุภาพเสียเหลือเิกิน

กิจกรรมการถอดหรัสเป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่ได้เครียดจนทำงานหน้าเขียวหน้าแดง แต่ผมสังเกตเห็นปฏิสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนของนักวิชาการที่แสดงทัศนะของตนเองในมิติที่ตนเองสนใจ ผมว่าถึงแม้ในใจไม่เห็นด้วยแต่ก็ยอมรับในความแตกต่างและหลากหลาย  ผมว่านี่ซิ ถึงเป็นมิติของ พหุลักษณ์อย่างแท้จริง

สิงหาคม 10, 2009

นักถอดรหัสทางวัฒนธรรม ; กุญแจสำคัญของค่ายฮูบแต้มแคมของ

วันที่ 12 สิงหาคมนี้แม้จะเป็นวันหยุด แต่ผมมีแพลนต้องเดินทางไปลงพื้นที่ในการทำค่ายฮูบแต้มแคมของอีกครั้ง การไปคราวนี้สำคัญสำหรับผมมาก เพราะนี่เป็นการลงไปพร้อมครูบาอาจารย์ของผมหลายคน  ซึ่งแต่ละท่านล้วนเป็นนักวิชาการที่เกี่ยวพันกับเรื่องที่ผมจะทำค่ายด้วยกันทั้งนี้

ในค่ายหลายครั้งเราพบว่าผู้จัดการค่าย ยังหาจุดลงตัวไม่เจอว่าอะไรที่เหมาะสมกับเด็ก บางครั้งอัดเนื้อหาเอาเป็นเอาตาย จนเด็กตายค่าย  บางค่ายก็จัดไปเพื่อให้ได้จัด  แต่สำหรับการจัดค่ายของเราคราวนี้ผมจะไม่ยอมให้เกิดภาวะตายค่าย กับ จัดเพื่อให้ได้จัด ดังนั้นงานนี้ผมจึงเชื้อเชิญนักวิชาการที่เฉพาะในเรื่องไปสำรวจพื้นที่กับผมเพื่อให้ท่านได้ถอดหรัสทางวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในพื้นที่  และจากการถอดรหัสนั้นจะถูกนักการศึกษาแปลเป็นกิจกรรมที่เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งเป็นอีกขึ้นตอนถัดไป

ใครบ้างที่ผมเชื้อเชิญ และใครบ้างคือนักถอดรหัสทางวัฒนธรรมสำหรับค่ายของเราในคราวนี้  ผมรู้สึกยินดีมากที่คนเล็ก ๆ อย่างผม เมื่อส่งสารไปยังนักวิชาการที่มีชื่อเสียงและมีเวลาสำหรับทำเรื่องใหญ่ ๆ แต่เมื่อได้รับสารของผม ทุกท่านก็เสียสะเวลาและให้ความกรุณาตอบรับการเดินทางไปเดินหมู่บ้าน เดินวัด เดินแคมของ กับผมในคราวนี้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทรงยศ  วีระทวีมาศ ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ท่านนี้ผมถือว่าเป็นผู้บุกเบิกงานวิจัยเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมเมืองมุกดาหารท่านแรก ๆ หรือที่เรารู้จักในนาม pioneer  งานวิจัยที่สำคัญคือ สิมในจังหวัดมุกดาหาร งานวิจัยและการตีความหมายของสิมที่ปรากฎในมุกดาหารด้วยมิติแห่งสัญญะ อันเป็นงานวิจัยที่ผมอ่านแล้วสนุกและมีคนทำกันน้อยเกี่ยวกับศิลปกรรมอีสาน ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานให้เราได้เข้าใจ

รองศาสตรจารย์ ดร.ศุภชัย  สิงหยะบุศย์
ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ท่านนี้ในแวดวงวิชาการด้านศิลปกรรมอีสานต้องรู้จัก ในนามนักวิชาการที่มีผลงานตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่มากอีกท่านหนึ่ง โดยเฉพาะงานเขียนโดเด่น ซึ่งเป็นงานเขียนเชิงสารคดีด้านมานุษยวิทยาวัฒนธรรมในแถบลุ่มน้ำโขง   ท่านนี้แม้เป็นนักวิชาการใหญ่โตแต่ท่านก็ชอบเรื่องศิลปกรรมเล็ก ๆ ของเมืองเล็ก ๆ และผมเองคงต้องขอเป็นลูกศิษย์ท่านในด้านมานุษยวิทยาศิลปะ ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักมานุษยวิทยาทางด้านศิลปะให้เราได้เข้าใจ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชอบ  ดีสวนโคก
ครูใหญ่ของผมที่ไม่ว่ามีปัญญหาอะไรเกี่ยวกับอีสาน นี่เป็นครูที่ผมนึกถึงเสมอ แม้ท่านจะติดภารกิจในการเป็นนักจัดรายการทางวิทยุในคลื่นที่เน้นประเด็นเรื่องวัฒนธรรมของคนอีสาน แต่ท่านก็ตอบรับในการเดินทางไปกับผมในคราวนี้   ครูท่านนี้หากว่าด้วยเรื่องอีสาน ผมกล้ายืนยันว่าท่านเป็นกูรูอีกท่านหนึ่งและที่สำคัญท่านเป็นกูรูในฐานะนักกิจกรรมทางด้านวัฒนธรรมด้วย(culture activist)  ครั้งหนึ่งท่านเคยเปรยกับผมว่า ท่านกับผมมีส่วนหนึ่งที่คล้ายกันคือ “แม้เป็นคนไม่พูดโฉงฉางแต่บางเรื่องหากไม่ถูกต้องก็ไม่ยอม” ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักประวัติศาสตร์ผู้ที่เชื่อมโยงทั้งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมพื้นที่ให้เราได้เข้าใจ

พ่อบุญเกิด พิมพิ์วรเมธากุล ปรมาจารย์ด้านภาษาและวรรณกรรม ว่ากันว่าในโจกโลกฟ้านี้ หานักภาษาศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านอีสานนั้นมีน้อยนักที่รอบรู้และแตกฉาก หากหาได้  หนึ่งในนั้นผมว่าต้องมีชื่อ อาจารย์บุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล นักวิชาการอาวุโสเจ้าของพจนานุกรมภาษาอีสานฉบับล่าสุดและสมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน และเป็นคู่หูนักกิจกรรมทางวัฒนธรรมร่วมกับอาจารย์ชอบ  ดีสวนโคก  ในวัยเกษียณอายุราชการ ท่านได้ทุ่มเทแรงกายแรงปัญญาในการถอดความ ตีความและเผยแพร่ภาษาและวรรณกรรมอีสานอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการไปคราวนี้เราในฐานะผู้จัดคาดหวังว่าท่านจะถอดมุมมองในฐานะนักภาษาศาสตร์และวรรณกรรม  ซึ่งสิมวัดศรีมหาโพธิ์มีภาษาที่จารึกให้เราต้องถอดความอยู่มาก

นี่เป็นนักวิชาการสี่ท่านที่จะร่วมเดินทางไปกับเราในคราวนี้   ส่วนอีก 3 ท่านผมจะเล่าในบันทึกต่อไป ตามอ่านนะครับเพราะอีกสามท่านนี้ก็พิเศษไม่แพ้กัน ว่ากันว่าท่านจะต้องสงสัยว่ามาได้อย่างไรกัน ทำไม ทำไม และทำไม

กรกฏาคม 30, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : วัด วา อา ราม

ต้นสัปดาห์มีเหตุต้องเดินทางไปสกลนคร การไปคราวนี้เพื่อไม่ให้เสียเที่ยวผมจึงมีแผนเดินทางไปอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารด้วย อย่างน้อยก็เพื่อไปประสานงานเรื่องค่ายเด็กกับหน่วยงานในพื้นที่เอาไว้ จะได้ไม่เป็นแบบไปบีบบังคับคนในพื้นที่ หรือเป็นคนนอกเอาอะไรไปยัดให้้คนในเขาอึด อัด

ผมเดินทางไปวัดศรีมหาโพธิ์พบพระลูกวัดเพียงรูปเดียวแต่เจ้าอาวาสไม่อยู่ติดกิจนิมนต์นอกวัด ผมถือวิสาสะขอเบอร์โทรท่านเจ้าอาวาสจากพระลูกวัดแต่ก็ไม่ประสบผล อิอิ ไม่เป็นไรงานนี้จึงได้แต่เดินสำรวจ มองดูจุดเด่นจุดด้อยของพื้นที่หากสถานที่แห่งนี้ถูกจัดเป็นพื้นที่การเรียน รู้จริง ๆ จะได้มีทางเลือก หรือมีทางออกสำหรับการจัดกิจกรรม

วัดศรีมหาโพธิ์ บ้านหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ สถานที่มีสิมอันปรากฎจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูบแต้ม เนื่องจากเป็นวัดเก่าดังนั้นพื้นที่ของวัดจึงเล็กเพราะไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ เพราะมีบ้านของชาวบ้านอยู่ขนาบวัด ภายในวัดไม่ได้วางผังแม่บทการใช้พื้นที่ดังนั้นจึงปรากฎการทุบและการสร้างศาสนาคาร ภายในวัดจึงเห็น กองดิน กองหิน กองทราย กองไม้ถูกวางระแกะระกะ

ส่วนอาคาร ที่น่าจะเอาไว้ใช้ทำกิจกรรมสำหรับเด็กก็เห็นว่าขัดเคืองอยู่มาก เนื่องจากศาสนาคารของวัดที่สำคัญมี 3 หลังได้แก่ สิมเก่า กุฎิเก่า และศาลาการเปรียญ

ในส่วนของสิมเก่า เนื่องจากสิมนี้ขนาดเล็กมากดังนั้นการจัดกิจกรรมรวมสำหรับเด็ก 50 คนไม่เหมาะเป็นแน่แท้ แต่หากเอาไว้เป็นแหล่งเรียนรู้กลุ่มย่อย ๆ ก็เห็นว่าเหมาะดีมาก

กุฎิวัดเก่า กุฎิหลังเก่านี้เป็นอาคารที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยใช้สถานที่แห่งนี้เป็นอาคารที่ว่าการอำเภอหว้านใหญ่มาก่อน รูปทรงอาคารได้รับอิทธิพลจากรูปแบบอาคารแบบฝรั่งเศษอยู่มาก ซึ่งปรากฎการณ์นี้พบเห็นอยู่ทั่วไปในแถบริมโขง ปัจุบันเป็นที่จำพรรษาของพระลูกวัด คิดแบบคนนอกอย่างผมเห็นว่าอาคารนี้เหมาะสมากที่จะทำเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ประเภทพิพิธภัณฑ์ชุมชน ดังนั้นอาคารนี้จึงไม่น่าจะใช้ได้

ส่วนอาคาร ศาลาการเปรียญหลังใหญ่เป็นอาคารสองชั้น มีพื้นที่พอสมควรสำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จะติดขัดก็พื้นที่สำหรับนอนเท่านั้นที่ไม่เหมาะสักเท่าไหร่ และหากมีกิจกรรมทางศาสนาก็จะทุลักทะเลพอสมควร

เมื่อดูพื้นที่อาคารทั้ง สามแห่งแล้ว เห็นว่าเราพบจุดอ่อนของการจัดกิจกรรมอยู่เอามาก ๆ เพราะการจัดกิจกรรมการปลูกฝังแบบค่ายนั้นจำเป็นต้องการพื้นที่สำหรับเรียน รู้ ที่พักอยู่พอสมควร แบบนี้เราจะหาทางออกอย่างไร ตามต่อบันทึกหน้าครับ

(พี่น้องชาวเฮ สนใจร่วม trip นี้ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1-3 กันยายน 2552 นี้ที่มุกดาหาร รบกวนช่วยแจ้งรายชื่อด้วยนะครับ ตอนนี้เห็นว่า ครูบา ท่านเทพรอกอด อาจารย์บางทราย จะร่วมชื่นชมสุนทรียภาพริมโขงแน่นอน อิอิ  ท่านไหนสนใจเชิญครับ http://lanpanya.com/somroay/archives/148)

มกราคม 13, 2009

เก็บข่าวมาเล่า : งานทอผ้าประยุกต์ เสน่ห์กลิ่นอายอีสาน

ยังไม่ถึงขั้นปั้นเป็นธุรกิจ แต่ทว่ามีเค้าลางที่สามารถสร้างเป็นธุรกิจได้…เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่รักงานผ้าทอฝีมือไทย กับการทำงานของกลุ่มอีสานเทกซ์ไทล์ คนทำงานเกี่ยวกับการวิจัยลายผ้าโบราณ จากนั้นก็นำมาประยุกต์สร้างลวดลายใหม่ในแนวร่วมสมัย

สำรวย เย็นเฉื่อย ช่างทอผ้า หนึ่งในคณะทำงานโครงการจินตนาการใหม่ไหมมัดหมี่อีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าว่า ได้ทุนวิจัยเพื่อทำโครงการดังกล่าวประมาณ 1.5 แสนบาทจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป้าหมายคือศึกษาวิจัยลายผ้าทอโบราณของคนไทยในท้องถิ่นอีสาน จากนั้นก็ทำประยุกต์ ออกแบบลายผ้าขึ้นใหม่ที่ยังมีกลิ่นอายโบราณ แต่มาในรูปลักษณ์ใหม่ ให้คนรุ่นใหม่สามารถใส่ได้

“แนวคิดเบื้องต้นก็คือ ลายผ้าทอโบราณ เป็นลายที่สวยและมีเสน่ห์ก็จริง แต่ทว่าการใช้งานไม่สามารถทำให้แพร่หลายได้ คนรุ่นใหม่เมื่อเห็นลายผ้าโบราณก็จะบอกว่าเป็นลายสำหรับคนแก่ ฉะนั้นการใช้งานจึงจำกัด จำกัดทั้งในกลุ่มลูกค้าและการออกแบบเพื่อใช้งาน ทางคณะอาจารย์จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ให้ลายผ้าไทยโบราณยังคงดำรงอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถขยายกลุ่มคนใส่ให้กว้างขวางขึ้น ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของโครงการจินตนาการใหม่ไหมมัดหมี่อีสาน ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2550…” สำรวยกล่าวถึงที่มาของผ้าลายไทยลวดลายประยุกต์ ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจนได้มาโชว์ในงานเทศกาลเที่ยวอีสาน 2009 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 มกราคม 2552 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สำรวย เย็นเฉื่อย กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมา เรามีการทำงานร่วมกับชาวบ้านรุ่นแม่เฒ่า ที่มีความชำนาญในการทอผ้าลวดลายโบราณ ศึกษาในวิธีการทำงานของลวดลายต่างๆ จากนั้นก็นำลวดลายเก่ามาปรับโดยใส่แนวคิด ใส่ไอเดียเข้าไปเพิ่ม โดยการออกแบบให้ร่วมสมัยขึ้น โดยยังคงมีกลิ่นอายลายผ้าโบราณๆ อยู่

จากนั้นก็นำลวดลายที่ออกแบบใหม่ไปให้ช่างทอผ้ารุ่นเก่าทำ ซึ่งเขาก็สามารถทำได้ ซึ่งในช่วงเวลาของการทำงาน ก็จะเกิดคำถามที่โต้เถียงและก่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่า ลายเดิมก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องเป็นลายใหม่, ลายใหม่ที่ออกมาจะขายได้หรือ คนซื่อจะชอบหรือ ฯลฯ จากงบประมาณที่ได้ กับระยะเวลาการทำงานปีเศษ

การทำงานออกแบบลายผ้าอยู่ภายใต้ 3 แนวคิด คือ

1.เป็นผ้าใหม่ที่ประยุกต์มาจากลวดลายโบราณ การทอผ้าสมัยโบราณ นั้นส่วนใหญ่เขาจะทอลายเดียวกันทั้งพื้น ยกตัวอย่างลายปราสาทลายพญานาค เขาก็จะทอลายเดียวกันทั้งผืน เราก็ประยุกต์สร้างลวดลายใหม่ขึ้นมา โดยมีกลิ่นอายของลายโบราณผสมอยู่ เอาลายประสาทมาเพียงบางส่วน และใช้การออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิกมาช่วยบ้าง

2.แนวคิดลายใหม่ที่มาจากวัฒนธรรมอีสาน และแนวคิดที่ 3 ลายใหม่ที่ดัดแปลงมาจากความเชื่อ หรือปรากฏการณ์ความเชื่อของคนอีสาน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นความเชื่อที่ดี ยกตัวอย่างลายกบกินเดือน

จนได้ลายผ้าใหม่ออกมาประมาณ 30 ลาย ซึ่งแต่ละลายได้มีการจดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำรวยกล่าวต่อว่า จนถึงขณะนี้โครงการวิจัยได้สิ้นสุดแล้ว แต่เนื่องจากการทำงานจริงๆ ในพื้นที่ยังไม่จบ ทางกลุ่มจึงได้เดินหน้าต่อ ก่อตั้งเป็นโรงเรียนช่างทอผ้าขึ้น ซึ่งถือเป็นกระบวนการหาทางออกของคนอีสาน ในการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมเรื่องการทอผ้า อันจะทำให้ผ้าทอพื้นเมืองที่ทำด้วยมือคงอยู่สืบรอยมือรอยเท้าของบรรพชนให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน ในขณะเดียวกันก็สามารถรับใช้คนร่วมสมัยได้อย่างไม่เขินอาย

เป้าหมายโรงเรียนช่างทอผ้า ต้องการสนับสนุนให้พัฒนาทุนทางปัญญาให้มีค่าสำหรับการใช้ชีวิตในวัฒนธรรมที่มีการแปรเปลี่ยนไป แนวคิดหลักที่นำมาใช้ในการสร้างกระบวนการคือแนวคิดเรื่องการศึกษาตามอัธยาศัย โรงเรียนช่างทอผ้าจึงจำลองเอาแนวคิดของการเรียนรู้แบบโบราณที่ไม่แยกการศึกษาออกจากวิถีวัฒนธรรม นำมาสร้างให้เป็นกระบวนการเรียนรู้คือ แม่สอนลูกสาว เอื้อยสอนน้อง ญาติพี่น้องสอนกัน ส่วนพ่อบ้านก็จะสอนลูกชายในการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็น ดังนั้นการเรียนการสอนแบบนี้จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนในครอบครัว

“ใช้คำว่าโรงเรียน แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีห้องเรียนอะไรใหญ่ เราก็เรียนกันใต้ถุนบ้าน ให้แม่เฒ่ารุ่นเก่ามาต่อยอดไอเดียกับช่าง ทอผ้ารุ่นเก๋า เพื่อสร้างงานใหม่ขึ้นมา…”

ตอนนี้ถือว่าในขั้นตอนการเรียนรู้ด้านการออกแบบลายผ้า จนถึงการผลิตที่เน้น ใช้เส้นไหมสาวมือ เพื่อให้เกิดลายผ้าที่ เป็นธรรมชาตินั้นสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว สเต็ปต่อไปยังคงต้องทำต่อ คือ การตลาด ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญที่จะช่วยตอกย้ำความมั่นใจได้มากขึ้น

“สำหรับลวดลายที่ออกมา ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญหา แต่ถ้านักธุรกิจกลุ่มไหนที่ชอบลวดลายที่ออกแบบ และอยากทำตลาด ก็ สามารถติดต่อได้ที่ www.isantextiles.net …” สำรวยกล่าวทิ้งท้าย

(ที่มา : วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4070 )

« บันทึกเก่ากว่าบันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress