ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มกราคม 13, 2009

เก็บข่าวมาเล่า : งานทอผ้าประยุกต์ เสน่ห์กลิ่นอายอีสาน

ยังไม่ถึงขั้นปั้นเป็นธุรกิจ แต่ทว่ามีเค้าลางที่สามารถสร้างเป็นธุรกิจได้…เฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่รักงานผ้าทอฝีมือไทย กับการทำงานของกลุ่มอีสานเทกซ์ไทล์ คนทำงานเกี่ยวกับการวิจัยลายผ้าโบราณ จากนั้นก็นำมาประยุกต์สร้างลวดลายใหม่ในแนวร่วมสมัย

สำรวย เย็นเฉื่อย ช่างทอผ้า หนึ่งในคณะทำงานโครงการจินตนาการใหม่ไหมมัดหมี่อีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เล่าว่า ได้ทุนวิจัยเพื่อทำโครงการดังกล่าวประมาณ 1.5 แสนบาทจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป้าหมายคือศึกษาวิจัยลายผ้าทอโบราณของคนไทยในท้องถิ่นอีสาน จากนั้นก็ทำประยุกต์ ออกแบบลายผ้าขึ้นใหม่ที่ยังมีกลิ่นอายโบราณ แต่มาในรูปลักษณ์ใหม่ ให้คนรุ่นใหม่สามารถใส่ได้

“แนวคิดเบื้องต้นก็คือ ลายผ้าทอโบราณ เป็นลายที่สวยและมีเสน่ห์ก็จริง แต่ทว่าการใช้งานไม่สามารถทำให้แพร่หลายได้ คนรุ่นใหม่เมื่อเห็นลายผ้าโบราณก็จะบอกว่าเป็นลายสำหรับคนแก่ ฉะนั้นการใช้งานจึงจำกัด จำกัดทั้งในกลุ่มลูกค้าและการออกแบบเพื่อใช้งาน ทางคณะอาจารย์จึงมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง ให้ลายผ้าไทยโบราณยังคงดำรงอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็สามารถขยายกลุ่มคนใส่ให้กว้างขวางขึ้น ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของโครงการจินตนาการใหม่ไหมมัดหมี่อีสาน ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2550…” สำรวยกล่าวถึงที่มาของผ้าลายไทยลวดลายประยุกต์ ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นมาจนได้มาโชว์ในงานเทศกาลเที่ยวอีสาน 2009 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 มกราคม 2552 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

สำรวย เย็นเฉื่อย กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมา เรามีการทำงานร่วมกับชาวบ้านรุ่นแม่เฒ่า ที่มีความชำนาญในการทอผ้าลวดลายโบราณ ศึกษาในวิธีการทำงานของลวดลายต่างๆ จากนั้นก็นำลวดลายเก่ามาปรับโดยใส่แนวคิด ใส่ไอเดียเข้าไปเพิ่ม โดยการออกแบบให้ร่วมสมัยขึ้น โดยยังคงมีกลิ่นอายลายผ้าโบราณๆ อยู่

จากนั้นก็นำลวดลายที่ออกแบบใหม่ไปให้ช่างทอผ้ารุ่นเก่าทำ ซึ่งเขาก็สามารถทำได้ ซึ่งในช่วงเวลาของการทำงาน ก็จะเกิดคำถามที่โต้เถียงและก่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกันว่า ลายเดิมก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องเป็นลายใหม่, ลายใหม่ที่ออกมาจะขายได้หรือ คนซื่อจะชอบหรือ ฯลฯ จากงบประมาณที่ได้ กับระยะเวลาการทำงานปีเศษ

การทำงานออกแบบลายผ้าอยู่ภายใต้ 3 แนวคิด คือ

1.เป็นผ้าใหม่ที่ประยุกต์มาจากลวดลายโบราณ การทอผ้าสมัยโบราณ นั้นส่วนใหญ่เขาจะทอลายเดียวกันทั้งพื้น ยกตัวอย่างลายปราสาทลายพญานาค เขาก็จะทอลายเดียวกันทั้งผืน เราก็ประยุกต์สร้างลวดลายใหม่ขึ้นมา โดยมีกลิ่นอายของลายโบราณผสมอยู่ เอาลายประสาทมาเพียงบางส่วน และใช้การออกแบบคอมพิวเตอร์กราฟิกมาช่วยบ้าง

2.แนวคิดลายใหม่ที่มาจากวัฒนธรรมอีสาน และแนวคิดที่ 3 ลายใหม่ที่ดัดแปลงมาจากความเชื่อ หรือปรากฏการณ์ความเชื่อของคนอีสาน ที่ส่วนใหญ่จะเป็นความเชื่อที่ดี ยกตัวอย่างลายกบกินเดือน

จนได้ลายผ้าใหม่ออกมาประมาณ 30 ลาย ซึ่งแต่ละลายได้มีการจดลิขสิทธิ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

สำรวยกล่าวต่อว่า จนถึงขณะนี้โครงการวิจัยได้สิ้นสุดแล้ว แต่เนื่องจากการทำงานจริงๆ ในพื้นที่ยังไม่จบ ทางกลุ่มจึงได้เดินหน้าต่อ ก่อตั้งเป็นโรงเรียนช่างทอผ้าขึ้น ซึ่งถือเป็นกระบวนการหาทางออกของคนอีสาน ในการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมเรื่องการทอผ้า อันจะทำให้ผ้าทอพื้นเมืองที่ทำด้วยมือคงอยู่สืบรอยมือรอยเท้าของบรรพชนให้คงอยู่ตราบนานเท่านาน ในขณะเดียวกันก็สามารถรับใช้คนร่วมสมัยได้อย่างไม่เขินอาย

เป้าหมายโรงเรียนช่างทอผ้า ต้องการสนับสนุนให้พัฒนาทุนทางปัญญาให้มีค่าสำหรับการใช้ชีวิตในวัฒนธรรมที่มีการแปรเปลี่ยนไป แนวคิดหลักที่นำมาใช้ในการสร้างกระบวนการคือแนวคิดเรื่องการศึกษาตามอัธยาศัย โรงเรียนช่างทอผ้าจึงจำลองเอาแนวคิดของการเรียนรู้แบบโบราณที่ไม่แยกการศึกษาออกจากวิถีวัฒนธรรม นำมาสร้างให้เป็นกระบวนการเรียนรู้คือ แม่สอนลูกสาว เอื้อยสอนน้อง ญาติพี่น้องสอนกัน ส่วนพ่อบ้านก็จะสอนลูกชายในการผลิตอุปกรณ์เครื่องใช้ที่จำเป็น ดังนั้นการเรียนการสอนแบบนี้จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนในครอบครัว

“ใช้คำว่าโรงเรียน แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีห้องเรียนอะไรใหญ่ เราก็เรียนกันใต้ถุนบ้าน ให้แม่เฒ่ารุ่นเก่ามาต่อยอดไอเดียกับช่าง ทอผ้ารุ่นเก๋า เพื่อสร้างงานใหม่ขึ้นมา…”

ตอนนี้ถือว่าในขั้นตอนการเรียนรู้ด้านการออกแบบลายผ้า จนถึงการผลิตที่เน้น ใช้เส้นไหมสาวมือ เพื่อให้เกิดลายผ้าที่ เป็นธรรมชาตินั้นสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว สเต็ปต่อไปยังคงต้องทำต่อ คือ การตลาด ซึ่งเรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญที่จะช่วยตอกย้ำความมั่นใจได้มากขึ้น

“สำหรับลวดลายที่ออกมา ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญหา แต่ถ้านักธุรกิจกลุ่มไหนที่ชอบลวดลายที่ออกแบบ และอยากทำตลาด ก็ สามารถติดต่อได้ที่ www.isantextiles.net …” สำรวยกล่าวทิ้งท้าย

(ที่มา : วันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4070 )

Powered by WordPress