ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ธันวาคม 30, 2008

สวัสดีปีใหม่ จากโรงทอผ้า

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 15:34

ธันวาคม 29, 2008

แกล้งไหม ทำไม?

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 12:01

ในกระบวนการทอผ้าไหมนั้นมีกระบวนการแกล้งเส้นไหมอยู่ในหลายกระบวนการเพื่อให้เส้นไหมแข็งและอ่อน ซึ่งแต่ละกระบวนการมีจุดประสงค์แตกต่างกัน ทั้งนี้การกระทำแบบนี้ช่วยให้เราเรียนรู้การเตรียมเส้นไหมของช่างทอพื้นบ้านได้เป็นอย่างดี

 

 

เส้นไหมดิบ จากรังไหมสู่เส้นใย

          ในกระบวนการสาวไหมแบบพื้นบ้าน เส้นไหมที่สาวขึ้นจะประกอบด้วยเส้นใยและส่วนที่เป็นสารเคลือบเส้นใย ช่างทอผ้าโบราณฉลาดและเรียนรู้ว่า เส้นไหมดิบแบบนี้ทอผ้าใช้ไม่ดี เนื่องจากเป็นเส้นไหมแบบแข็ง ๆ กระด้าง ดังนั้นช่างทอโบราณจึงจัดการเอาสารที่เคลือบผิวไหมเหล่านั้นออกเสียด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์แบบพื้นบ้านที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมา

 

วิทยาศาสตร์แบบพื้นบ้าน

          การล้างสารเคลือบผิวเส้นไหมดิบนั้นจะถูกนำใจไหมมาผ่านกระบวนการต้มโดยการเติมน้ำดั่ง(น้ำด่าง) ซึ่งน้ำดั่งนี้ได้จากการเผากาบกล้วย กาบมะพร้าวหรือหญ้าโคยงู แล้วนำเอาถี่เถ้ามาผสมน้ำแล้วกรองเอาแต่น้ำ ซึ่งเป็นน้ำด่างแบบเข้มข้น  ก่อนที่จะต้มก็จะแช่ไหมดิบในน้ำด่างและนำไปต้มจนกระทั่งได้เส้นใยที่ปลอดสารเคลือบเส้นใย  ไหมที่ได้จึงอ่อนนุ่ม  หากการผลิตเส้นไหมในแต่ละปีได้ไม่มากก็สามารถเก็บไว้ได้นาน เส้นใยไม่กรอบไม่แห้งเหมือนการเก็บแบบไหมดิบ

 

นุ่มสู่แข็ง(แรง)

          เมื่อช่างทอผ้าสะสมไหมได้ในปริมาณที่พอเพียงจะลงมือทอผ้าสำหรับใช้งาน ซึ่งกระบวนการต่อไปนี้เป็นการทำเส้นใยให้แข็งแรง โดยเฉพาะเส้นใยที่ต้องนำมาทำเส้นยืน ก่อนนะไปย้อมจะต้องตีเกียวไหมให้แข็งแรงไม่ขาดง่าย เรียกว่าจากไหมที่เป็นเส้นพองนุ่มตีเกียวไปจนกว่าเส้นไหมจะกลม  ยิ่งกลมเท่าไหร่ก็จะได้คุณภาพผ้าที่เรียบสวยงามมากขึ้น

 

 

แข็งแรงจากการย้อม

          เส้นไหมที่ตีเกียวแล้ว เส้นใยจะแข็งแรงในระดับหนึ่ง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและเพิ่มสีสันลงในเส้นใย กระบวนการย้อมก็เป็นกระบวนการหนึ่งที่ทำให้เส้นมีความแข็งแรงมากขึ้นเนื่องจากสีจะเคลือบเส้ยใยเอาไว้ เพิ่มความแข็งแรงให้เส้นใยในอีกระดับหนึ่ง ทั้งการย้อมร้อนและการย้อมเย็น

 

แข็งแล้วแข็งอีก

          เมื่อมีการย้อมเส้นไหมให้มีความแข็งแรงทั้งเส้นยืนและเส้นพุ่งแล้ว ยังีกระบวนการเพิ่มความแข็งแรงของเส้นใยอีกครั้งในกระบวนการหวีและการตบน้ำแป้ง(น้ำข้าวเหนียว)ของเส้นยืน ซึ่งก่อนการทอผ้าเพื่อเส้นใยที่จะต้องผ่านตะกอและทนแรงเสียดสีของฟันฟืมได้โดยขาดหรือเป็ฯขุยก่อน ช่างทอผ้าโบราณจะต้องหวีเส้นยืนด้วยก่อน โดยมีการลงน้ำเปล่าเพื่อให้เส้นใยคลายตัวหลังจากนั้นก็จะหวีน้ำแป้งลงไปหวีจนกระทั้งแข็งก่อนจะตบด้วยการหวีขี้เผิ่ง(ขี้ผึ้ง) ซึ่งกระบวนการนี้เป็นการเพิ่มความแข็งในอีกขึ้น

 

จากแข็งเป็นนุ่ม

          เมื่อทอผ้าได้จนหมดเส้นยืนแล้ว ช่างทอจะฤกษ์งามยามดีในการจัดผ้าไหมมาเก็บไว้ ซึ่งก่อนจะเก็บก็จะมีการซักเพื่อให้ผ้ามีความอ่อนนุ่ม และเป็นการล้างน้ำแป้งที่เคลือบเส้นไหมออก กระบวนการนี้เส้นไหมที่โดนล้างน้ำแป้งออกจะนุ่มนวลชวยสวมใส่ และไม่ถูกแมลงสาบ มดกัดกินผ้า  การเก็บรักษาก็ง่ายอีกด้วย

 

บันทึกแกล้งไหมครับ แต่อย่าเอาไปแกล้งใครนะครับ

 

ธันวาคม 26, 2008

ชลบถพิบูลย์

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 13:59

ปีหน้ามีเกณฑ์ต้องโยกย้ายที่อยู่ อิอิ เพิ่งไปอ่านทำนายโชคชะตาราศรีมา แต่ความจริงเกณฑ์ส่วนตัวไม่เกี่ยวกับโชคชะตาเกิดมาแต่ต้นเดือนที่แล้วเพราะได้บ้านเช่าหลังใหม่ จึงเตรียมการปรับปรุงบ้านให้น่าอยู่น่านอนมากขึ้น

บ้านหลังใหม่นี้จะเอาไว้เป็นที่ทอผ้าของช่างทอจากเมืองพล ที่จะผลัดเปลี่ยนกันมาทอผ้าที่ขอนแก่น ส่วนของบ้านบางห้องจะเอาไว้จัดแสดงผ้าทอของโครงการวิจัยและผ้าสะสมส่วนตัว ซึ่งบ้านเล็ก ๆของเราเตรียมชื่อเอาไว้แล้วว่า ชลบถพิบูลย์

เดิมชุมชนของเราที่อยู่เมืองพลเป็นส่วนหนึ่งของท้องที่เมืองชลบถ หรือ ชลบถพิบูลย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านกองแก้ว(อำเภอชนบทปัจจุบัน) คนท้องที่ในระแวกนี้เป็นชาติพันธุ์ลาว มีฝีมือด้านการทอผ้าไหมมาก ดังนั้นชุมชนแถวนี้จึงกลายเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมมัดหมี่คุณภาพดี

คำว่า ชลบถ มีความหมายดีแปลว่า เมืองที่แวดล้อมด้วยเส้นทางน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับภูมิประเทศของบ้านกองแก้วที่แวดล้อมไปด้วยแอ่งน้ำ ดังนั้นเมื่อยกบ้านกองแก้วเป็นเมืองขึ้นตรงต่อราชสำนักกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าพระราชทานชื่อเมืองว่า ชลบถพิบูลย์ กินอาณาเขตกว้างถึงเขตบ้านไผ่ เมืองพล หนองสองห้อง แวงน้อย แวงใหญ่

ต่อมาชื่อบ้านชื่อเมืองก็เพี้ยนจาก ชลบถ มาเป็น ชนบท ซึ่งแปลว่า บ้านนอก ไม่ว่าคำจะเพี้ยนไปอย่างไรเมืองชลบถพิบูลย์ก็ยังคงสัญญะของความหมายของชุมชนช่างทอผ้าไหมคุณภาพดีอยู่เช่นนั้นเอง

ดังนั้นบ้านเช่าหลังใหม่ของเราชาวช่างทอผ้า จึงเลือกชื่อ ชลบถพิบูลย์ เป็นชื่อบ้านน้อยหลังงามของเรา ซึ่งตอนนี้กำลังปรับปรุงให้พออยู่พออาศัยได้ เปิดบ้านเมื่อไหร่จะเชิญชวนทุกท่านมาเยี่ยมนะครับ

Powered by WordPress