ลานบ้านชลบถพิบูลย์

พฤศจิกายน 27, 2008

คุณภาพไหมสาวมือแบบพื้นบ้าน

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 23:57

ช่วงนี้ออกไปทางวุ่น ๆ กับชีวิตทั้งชีวิตตนเอง ชีวิตครอบครัว และสังคมเมืองไทย ที่กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงและดำเนินไปตามสภาพ งานส่วนตัวกำลังจะทำสตูดิโอทอผ้าจึงต้องเตรียมอาคารเอาไว้ทำให้ไม่มีเวลาจะมาเขียนเรื่องราวอะไรมากนัก วันนี้เลือกเรื่องที่จะมาเขียนออกไปทางพื้น ๆ แต่ทว่าผมว่าจำเป็นสำหรับคนสนใจงานผ้าทอพื้นเมือง

ผู้สนใจผ้าไหมมักเกิดคำถามอยู่ในใจว่าผ้าไหมที่ตนเองสนใจหรือมีไว้ในครอบครองหรือสะสมเป็นไหมชนิดใด เรื่องนี้พอมีชนิดของเส้นไหมมาเล่าสู่กันฟัง โดยปกติเมื่อดังรังไหมออกมาจากสาวด้วยมือแล้ว คนอีสานมักเรียกไหมเป็นหลายชนิดคือ

1.ไหมหลืบ หมายถึงไหมเส้นที่หุ้มอยู่บริเวณผิวรอบนอกของรังไหม ไหมส่วนนี้เส้นใยจะไม่ละเอียด จะมีลักษณะพองฟูหรือมีเศษใบหม่อนเศษไหมติดอยู่ด้วยเนื่องจากอยู่รอบนอกสุด ดังนั้นหากต้องการไหมคุณภาพดีต้องเอาไหมส่วนที่อยู่เปลือกนอกออกมาเสียก่อน ในภาษาอีสานเรียก หลืบ ในการสาวไหมในแต่ละวันแม่หญิงอีสานจะหลืบไหมเอาไว้ให้พร้อมก่อนจะสาวไหมคุณภาพในช่วงต่อไป เส้นไหมจากกระบวนการหลืบไหมนี้จึงเส้นใหญ่ไม่สม่ำเสมอ

2.ไหมน้อย หมายถึงไหมเส้นที่อยู่ในลำดับถัดไปจากการหลืบไหม จะมีเป็นไหมคุณภาพดี เส้นใยมีความสม่ำเสมอ สีเหลืองของไหมพื้นบ้านจะแวววาวและอ่อนนุ่มกว่าไหมหลืบมาก ไหมกลุ่มนี้จึงมีเส้นเล็ก แม่หญิงอีสานเรียก ไหมน้อย ในกระบวนการสาวไหมน้อยนี้ ช่างสาวไหมจะพีถีพิถันมาก โดยเฉพาะการควบคุมคุณภาพของอุณหภูมิน้ำร้อนจากการสาวไหม การเขี่ยรังไหมให้พอดีไม่มากเกินไปและน้อยเกินไป รวมทั้งจังหวะการสาวไหมเพื่อให้เส้นไหมมีความสม่ำเสมอ

3.ไหมแลง หมายถึง ไหมที่สาวตอนเย็นหรือตอนแลง โดยปกติช่างสาวไหมจะสาวไหมน้อยไปในระยะหนึ่งจะไปสาวจนเกือบหมดเส้นใย และจะเหลือกลุ่มเส้นใยที่อยู่ด้านในสุดก่อนถึงดักแด้เอาไว้ เพราะเส้นไหมส่วนที่ติดอยู่กับดักแด้คุณภาพไม่ดีนักเพราะอาจจะมีเศษของตัวหนอนไหมติดมาด้วย นอกจากนั้นยังมีรังไหมคุณภาพไม่ดีช่างสาวจะเอามารวมสาวในตอนสุดท้ายซึ่งโดยส่วนใหญ่ก็จะเย็นมาก จึงเรียกไหมกลุ่มนี้ว่าไหมแลง ซึ่งมีสีและขนาดไม่สม่ำเสมอ

4.ไหมสาวเลย หมายถึงไหมที่มีการสาวลวดเดียวโดยไม่ต้องมีการสาวหลืบ ดังนั้นเส้นใยของไหมสาวเลยจึงมีขนาดใหญ่กว่าไหมน้อย แต่คุณภาพดีกว่าไหมหลืบและไหมแลง โดยส่วนใหญ่ไหมสาวเลยนี้นิยมทำในช่วงที่แม่หญิงอีสานมีเวลาน้อยในการสาวไหม ดังนั้นจึงนิยมสาวเลยโดยไม่ต้องเสียเวลาสาวไหมหลืบ

ไหมแต่ละอย่างนี้ช่างทอผ้าของอีสานจะนำไปใช้ประโยชน์แตกต่างกัน นอกจากเอาไว้ขายซึ่งราคาจะแตกต่างกันคุณภาพของเส้นไหม แต่หากไม่ขายช่างทอผ้านิยมเอาไหมแต่ละชนิดไปใช้ต่างกันดังนี้

ไหมน้อย เป็นไหมคุณภาพดีที่สุดเป็นที่ต้องการ ในการทอจะมีความสะดวกที่สุด กระบวนการไม่ยุ่งยากมากเนื่องจากเส้นไยมีความสม่ำเสมอ ดังนั้นไหมน้อยจึงถูกนำไปทอเป็นผ้าโสร่ง ผ้าสิ่น ผ้านุ่งนาค หรือผ้าที่เตรียมไว้สำหรับ “ของสมมา” ญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายในงานแต่งงาน

ไหมสาวเลย เป็นไหมคุณภาพดีปานกลาง ในการทอจะมีความสะดวกทีสุด กระบวนการไม่ยุ่งยากมากเนื่องจาดเส้นไยมีความสม้ำเสมอดังนั้นไหมสาวเลยจึงถูกนำไปทอเป็นผ้าสิ่น ผ้าขาวม้าหรือผ้าที่เตรียมไว้สำหรับของสมมาญาติผู้ใหญ่ฝ่ายชายในงานแต่งงาน

ไหมหลืบและไหมแลงเป็นไหมคุณภาพไม่ดีมาก ในการสาวแต่ละคราวได้ไม่มากนัก จึงนิยมสะสมไว้เพื่อใช้ทอผ้าขาวม้า หรือทำหัวสิ่น ตีนสิ่น

พฤศจิกายน 7, 2008

ประสบการณ์ใหม่ในบ้านเก่าเมืองกาฬสินธุ์

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 15:15



พฤศจิกายน 6, 2008

น้องกับแก้ จะมาช่วยเรา ไชโย

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 18:49

สองปีแล้วที่ญาติพี่น้องช่างทอผ้าชาวบ้านของผม มาร่วมกันทอผ้าที่โรงทอหลังบ้านผม จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเข้ามาร่วมกันทอผ้ามีวัตถุเพื่อการมีรายได้ใช้จ่ายในครอบครัวของช่างทอเอง ถึงแม้จะไม่มากเพราะผู้ประสานอย่างผมนั้นไม่ค่อยเก่งเรื่องหาตลาด แต่ก็นับว่าค่อยเป็นค่อยไปและไม่รีบเร่งมาก จนความสุขหายไป

ในส่วนของผ้าทอลายโบราณนั้น ช่างทอผ้าทุกคนไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ ก็เพียงแต่ต้องเพิ่มความปราณีตลงไปในงานทอให้มากขึ้น เพราะนี่เป็นเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมของเรามีต้องรักษาเอาไว้ อย่างน้อยก็เป็นมรดกสำหรับสังคมอีสานสมัยใหม่ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน แผนงานส่วนนี้เราไม่ต้องใช้งบประมาณมากในการสนับสนุน

ในส่วนงานการพัฒนาลายผ้าสมัยใหม่เป็นงานที่ต้องลงทุนอยู่มาก ดีที่ได้เราได้รับอุดหนุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาลายผ้าใหม่ ๆ จากศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการปรับเอาความรู้สมัยใหม่ไปใช้ในการพัฒนาผ้าทอมือของช่างพื้นบ้าน ซึ่งผลงานตลอดระยะที่ผ่านมากก็นับว่าน่าพอใจสำหรับช่างทอพื้นบ้านอยู่มาก ซึ่งส่วนงานนี้ยังต้องดำเนินต่อไป

เมื่อช่างทอรุ่นเก่าสามารถพัฒนางานทอได้ทั้งผ้าทอลายโบราณและผ้าทอลายสมัยใหม่ ก็นับว่าอุ่นใจอยู่ในระดับหนึ่ง ส่วนประเด็นใหม่ที่เราพยายามมองคือช่างทอผ้ารุ่นใหม่ ที่เป็นรุ่นใหม่จริง ๆ ผมวางแผนเอาไว้ว่าในปิดเทอมปีนี้แผนงานพัฒนาช่างทอเยาวชนจะเริ่มลงสู่โรงทอ ซึ่งตอนนี้ก็นับว่าได้รับความสนใจจากเด็ก ๆ ในชุมนุชนของเราอยู่พอสมควร รอแต่เวลาที่เหมาะสม

ในแผนงานนี้โรงทอจะเป็นเจ้าภาพในเรื่องอุปกรณ์และการจัดการเรียน ซึ่งเน้นการเรียนรู้ร่วมกันของช่างทอรุ่น(คาดว่าจะ)เก๋ากับช่างทอรุ่นเก่า ส่วนวัตถุดิบนั้นต้องหาแหล่งทุนสนับสนุนอยู่บ้าง ซึ่งแผนงานนี้ ผมไม่อยากให้เป็นการนั่งรอความช่วยเหลือ เราจึงเริ่มระดมทุนกันก่อนที่จะถึงปิดเทอมด้วยการพา “น้องกับแก้(ตุ๊กแก)” มาอวด

น้องกับแก้ จะมาช่วยเราหาทุนในการทำงานตามแผนงานโครงการนี้ โดยน้องกับแก้จะพาเพื่อนๆ ไปนอนเล่นที่บ้านของผู้สนับสนุนที่สนใจสนับสนุนแผนงานในราคาค่าตัว 250 บาท/ตัว รวมค่าส่งแล้ว เพื่อนพ้องที่รู้จักและเชื่อมั่นในงานของเราสนใจสนับสนุนกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ด้านมรดกทางวัฒนธรรมของเด็ก ๆในชุมชนของเราสนใจเรียก “กับแก้” ได้นะครับ

กับแก้ กับแก้ กับแก้

Powered by WordPress