คำถามชวนคิดจากนักถอดรหัสทางวัฒนธรรม
กิจกรรมนักถอดรหัสทางวัฒนธรรมนับเป็นกิจกรรมก่อนการเข้าค่ายเรียนรู้เรื่องฮูบแต้มของโครงการ ค่ายฮูบแต้มแคมของ ซึ่งผมชวนนักวิชาการไปเที่ยววัดกันเพื่อให้นักวิชาการได้ช่วยถอดหรัสและช่วยชี้ช่องทางในการถอดหรัสทางวัฒนธรรม อันจะเป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ในค่ายใ้กับเด็ก ๆ ชาวหว้านใหญ่
เมื่อครบกำหนด ผมก็ได้รับอีเมลล์เชิงบันทึกถึงการเดินทางของ รศ.ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์(นักวิชาการด้านวัฒนธรรม จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม) นึ่งในนักถอดรหัสทางวัฒนธรรมที่ร่วมเดินทางไปกับเราในวันนั้น ผมว่านี่เป็นบันทึกเชิงคำถามที่สำคัญที่จะเป็นเสมือนแผนที่ในการจัดการเรียนรู้ใ้กับเรา ซึ่งหากเราสามารถชี้ชวน หรือหาเครื่องมือในการแสวงหาคำตอบเพื่อตอบคำถามที่นักวิชาการช่วยตั้งเอาไว้ก็จะเครื่องมือวัดความสำเร็จของค่ายได้อีกทางหนึ่ง ลองดูบันทึกของท่านกันครับและหากใครอยากตอบคำถามเล่านี้ ขอเชิญนะครับร่วมเรียนรู้ไปกับเราจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์
อัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นหว้านใหญ่ในบริบทรัฐชาติไทยและกระแสโลกาภิวัตน์
กับ “คำถาม” ที่ต้องการคำตอบจากเยาวชนที่เข้ารับการสัมมนา
รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์
ศูนย์วิจัยศิลปกรรมศาสตร์เพื่อการพัฒนา
ปฐมกถา
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ขณะผมและคณะวิทยากรเดินทางมาสัมผัสจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ หรือที่มักจะเรียกกันว่า “ฮูปแต้ม” บนผนัง “สิม” ในอำเภอหว้านใหญ่ โดยเฉพาะที่วัดศรีมหาโพธิ์ ผมได้เกิดคำถามต่าง ๆ มากมายกับตนเอง ต่อปรากฏการณ์ที่สัมผัสเบื้องหน้า ต่อการทำความเข้าใจ “ฮูปแต้ม” อันงดงามบนผนัง “สิม” ที่เป็นปรากฏการณ์แห่งอดีตที่ยืนตัวอย่างนอบน้อม ท่ามกลางศาสนาคารแบบใหม่ หลังใหญ่จนดูจะกลบกลืนอุโบสถหลังเก่าเล็ก ที่ผนังใต้ชายคาของโบสถ์ถูกทำให้เป็นพื้นที่เก็บโครงเหล็ก ขณะที่ภายในโบสถ์มีถ้วยกาแฟพลาสติก และขวดเปล่าเครื่องดื่มชูกำลังตั้งอยู่สองสามใบ และภาพเขียนก็ถูกเคลือบคลุมด้วยฝุ่นเหนียวที่มากับละอองหรือคราบน้ำจนทำให้ภาพเกือบ 80% ดูเลือนราง
ปรากฏการณ์ข้างต้น สะท้อนถึงการให้ความหมายต่ออุโบสถของคนท้องถิ่นอย่างปฏิเสธมิได้ (!?)
อย่างไรก็ตาม นับว่าเป็นโอกาสอันดีของชาวหว้านใหญ่ และโชคดีของ”ฮูปแต้ม” บนผนัง “สิม” วัดศรีมหาโพธิ์ ที่ศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดโครงการค่ายศิลปกรรมลุ่มน้ำโขง ตอนฮูบแต้มแคมของ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เน้นกระบวนการปลูกฝังทางวัฒนธรรมให้แก่เยาวชน โดยใช้กรณีและพื้นที่ศึกษาที่ชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ตำบลหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร และมีนักเรียน(ซึ่งเป็นทั้งปัจจุบันและอนาคตของหว้านใหญ่และประเทศชาติ) ในเขตพื้นที่ตำบลหว้านใหญ่เข้าร่วมโครงการจำนวน 50 คน ซึ่งหมายความว่า เราน่าจะได้คนที่จะกลายเป็นกำลังสำคัญในการปกปักรักษา อนุรักษ์ และสร้างให้มรดกวัฒนธรรม “ฮูปแต้ม” และ “สิม” หลังนี้ มีความหมายเชิงคุณค่า อย่างที่ “ฮูปแต้ม” และ “สิม” ควรจะเป็น เพราะโดยความเป็นจริงแล้ว “ฮูปแต้ม” และ “สิม” ดังกล่าวนี้คือ ‘อัญมณีชิ้นงาม’ แห่งหว้านใหญ่และริมฝั่งโขง ที่เป็นมรดกจากบรรพชน ซึ่งถูกหล่อออกมาจากเบ้าหลอมจากอัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นริมฝั่งโขงโดยแท้ หาใช่เศษกรวดทราย เหมือนกับสิ่งก่อนสร้างศาสนาคารรุ่นใหม่จำนวนมาก ที่ถูกสร้างอย่างไร้รสนิยม และขาดความเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ท้องถิ่นของตน ซึ่งมีปรากฏดารดาษอยู่ทั่วไป
ดังนั้น ในฐานะที่ผมซึ่งเป็น “คนอื่น” ที่เพิ่งจะมาสัมผัสมรดกวัฒนธรรม “ฮูปแต้ม” และ “สิม” วัดศรีมหาโพธิ์ครั้งแรก จึงรู้สึกถึงความตื่นเต้น ตื่นตา ตื่นใจ รับรู้ถึงคุณค่ามหาศาลในโบสถ์ขนาดเล็ก ที่ถูกรายรอบด้วยสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่ด้วยระยะเวลาเพียง 2 ชั่วโมงเศษที่อยู่กับโบสถ์ดังกล่าว และไม่ใช่คนในพื้นที่แห่งนี้ จึงมิบังอาจจะให้ความรู้เกี่ยวกับ มรดกวัฒนธรรม “ฮูปแต้ม” และ “สิม” หลังนี้
จึงขอเสนอคำถามต่าง ๆ ที่พรั่งพรู ด้วยความอยากรู้ อยากเข้าใจต่อโบสถ์ดังกล่าว เพราะความเข้าใจจะนำมาซึ่งความตระหนักและชื่นชม ในปรากฏการณ์ดังกล่าวยิ่งขึ้น จึงขอมอบความสงสัย ให้กับเยาวชนเจ้าของพื้นที่ผู้เข้าสัมมนา เพื่อจะใช้เป็น “เข็มทิศและแผนที่” ในการแสวงหา “ความรู้” เพื่อชุบฟื้นชีวีและปัดฝุ่นอัญมณีชิ้นงามแห่งริมฝั่งโขง อันเป็นมรดกจากอดีตกาลให้วาวโรจน์และสร้างความหมายให้กับชาวหว้านใหญ่ในปัจจุบัน ในบริบทรัฐชาติไทยและโลกาภิวัตน์ ที่ผู้คนดำรงอยู่ในความทันสมัย แต่กลับต้องการบริโภคและถวิลหาอดีตแห่งตนและคนอื่น ซึ่งมีคำถามสำคัญดังนี้
1.คำถามเกี่ยวกับชุมชน : ความเข้าใจมรดกวัฒนธรรม “ฮูปแต้ม” และ “สิม” ในบริบทของวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง
1.1 ชุมชนบ้านหว้านใหญ่มีความเป็นมาเชิงประวัติศาสตร์อย่างไร?
1.2 การก่อตั้งชุมชนหว้านใหญ่สัมพันธ์กับพื้นที่กายภาพของแม่น้ำโขง ริมฝั่ง และพื้นราบบนฝั่งอย่างไร?
1.3 โบสถ์และจิตรกรรมในโบสถ์หลังนี้เชื่อมโยงกับวิถีวัฒนธรรมท้องถิ่น และพี่น้องสองฝั่งโขงอย่างไร?
1.4 มีเรื่องเล่าขานของชาวหว้านใหญ่และคนในท้องถิ่นเกี่ยวกับอุโบสถและภาพเขียนภายในโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์หรือไม่ ถ้ามีเรื่องเล่าดังกล่าวมีอะไรบ้าง? เรื่องเล่าเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับชุมชนหว้านใหญ่และชุมชนสองฝั่งโขงอย่างไร?
1.5 ลักษณะเฉพาะของชุมชนหว้านใหญ่ มองผ่านพื้นที่ริมฝั่งโขง กลุ่มประชาชน (ชาติพันธุ์) สังคม วัฒนธรรม และ ความสัมพันธ์กับวัฒนธรรมไทย กับวัฒนธรรมลาวอย่างไร?
2. คำถามเกี่ยวกับวัดและจิตรกรรมวัดศรีมหาโพธิ์ในบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น
2.1 วัด โบสถ์ และจิตรกรรมบนผนังโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์ถูกสร้างในสมัยใดของลาว และสมัยใดของรัฐสยาม และเกิดขึ้นในบริบทใด?
2.2 รูปแบบ เนื้อหา และเทคนิคของจิตรกรรมเป็นอย่างไร?
2.3 คติธรรม ที่ฝากแฝงอยู่ในจิตรกรรมชุดนี้คืออะไร?
2.4 ภาพจิตรกรรมเชิงสังวาสในอุโบสถซึ่งเป็นพื้นที่ศาสนา สะท้อนหรือบ่งบอกอะไรต่อชุมชนหว้านใหญ่ในอดีต?
2.5 วัดศรีมหาโพธิ์ในอดีตสัมพันธ์กับวัดลัฏฐิกวัน และวันมโนรมย์ อย่างไร? ทั้งสามวัดมีความเชื่อมโยงกับท้องถิ่นที่เป็นกลุ่มวัฒนธรรมเดียวกัน รวมทั้งชุมชนและวัดในชุมชนฝั่งลาวอย่างไร?
2.6 เราควรจะประเมินค่าความงามโบสถ์ และ จิตรกรรมในโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์ ด้วยหลักการเดียวกับการประเมินค่าจิตรกรรมของจิตรกรทั่วไปหรือไม่? และควรจะนำไปเปรียบเทียบคุณค่าทางความงามกับจิตรกรรมของวัดในกรุงเทพฯ หรือต่างเขตวัฒนธรรมหรือไม่? เพราะเหตุใด?
2.7 เราควรจะนำคำว่า “ช่างหลวง” หรือช่างที่เขียนภาพตามหลักการจากช่างหลวง มากล่าวอ้างเพื่อกดทับ “ช่างราษฎร์” และผลงานของช่างพื้นถิ่นเหล่านี้ว่า เป็นจิตรกรมีทีฝีมืออ่อนและผลงานด้อยสุนทรียภาพหรือไม่?
3. วัดศรีมหาโพธิ์กับบริบทปัจจุบัน ภาพสะท้อนและปรากฏการณ์เฉพาะหน้า
3.1 โบสถ์และจิตรกรรมในโบสถ์หลังนี้ ซึ่งเป็นสมบัติของชุมชนท้องถิ่น ได้ถูกสร้างให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในสมบัติของชาติอย่างไร?
3.2 ‘แก่งกระเบา’ ในปัจจุบันมีความหมายต่อพื้นที่ริมโขงอย่างไร? และ โบสถ์กับจิตรกรรมวัดศรีมหาโพธิ์มีความสัมพันธ์กับแก่งกระเบา และวัดลัฏฐิกวัล และวัดมโนภิรมย์ในความสนใจของคนอื่นอย่างไร?
3.3 คนกลุ่มใดในชุมชนเป็นผู้สนใจ ห่วงใย และหวงแหนโบสถ์และภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดศรีมหาโพธิ์มากที่สุด เพราะเหตุใด?
3.4 คนในชุมชน กับ คนนอกชุมชนดังกล่าวมีเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ในการจับจ้องภาพจิตรกรรมเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร?
3.5 เนื้อที่ของภาพ 80% อยู่ในความเลือนราง จากการเคลือบคลุมของฝุ่น ตมที่มากับละอองน้ำ สะท้อนถึงความเลือนรางในความสนใจของคนท้องถิ่นใช่หรือไม่?
3.6 ในฐานะเยาวชนของชาวหว้านใหญ่ มีจินตนาการที่จะต่อเติมจิตรกรรมที่เลือนรางในผนังโบสถ์อย่างไร?
3.7 ระหว่างคนในชุมชน กับคนนอกชุมชนใครเข้าไปใช้โบสถ์ และ ‘ดู’ ภาพจิตรกรรมภายในโบสถ์มากกว่ากัน?
3.8 จากการดำรงอยู่ของโบสถ์ และการเข้ามาเยือนของคนอื่น โบสถ์หลังนี้น่าจะกลายเป็นนิทรรศการแห่งอดีต เพื่อต้องการดูศิลปกรรมของวัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่บรรพกาล หรือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชน หรือจะจัดให้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ร่วมกันได้หรือไม่ ถ้าได้จะจัดอย่างไร?
3.9 คนที่รู้เรื่องราวของโบสถ์เหล่านี้ในปัจจุบัน มีกี่คน มีความรู้อะไรบ้าง ยังไม่รู้อะไรบ้าง? และมีความรู้เพื่ออะไร รู้ในบริบทไหน?
3.10 ระหว่างคนอื่น กับคนในชุมชน ควรจะร่วมกันรื้อฟื้น และสร้างความรู้ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโบสถ์หลังเก่าและจิตรกรรมดั้งเดิมของวัดศรีมหาโพธิ์ร่วมกันอย่างไร เพื่ออะไร?
3.11 มีการตีความ/อธิบายจิตรกรรมใน ‘อดีต’ ของคนปัจจุบันอย่างไรบ้าง?
3.12 ‘ภาพปริศนา?’ กรมพระยาดำรงฯ หรือ พระเจ้าสัญชัยเจ้าเมืองสีวี …การพยายามอธิบายภาพเขียนบางตอน เชื่อมโยงถึงสมเด็จกรมพระยาดำรงเดชานุภาพ ตัวแทนศูนย์กลางอำนาจรัฐสยาม เสด็จตรวจหัวเมืองในมณฑลอีสาน ประทับอยู่บนเกวียน ทั้งที่จริง ๆ แล้วไม่ (น่าจะ) ใช่! ผู้เข้าอบรมมีความเห็นว่าอย่างไร เพราะเหตุใดเว็บไซต์ หรือผู้นำเสนอดังกล่าวจึงอธิบายเช่นนั้น?
3.13 จำเป็นหรือไม่ที่จะทำให้ ‘อดีต’ ส่วนนี้มีความหมายต่อสังคมหว้านใหญ่ และสังคมไทยในฐานะชุมชนริมฝั่งโขง?
4.คำถามท้ายบท
4.1 มีการอธิบายวัดพระศรีมหาโพธิ์ในเว็บไซท์ว่า “วัดศรีมหาโพธิ์เป็นวัดเก่าแก่อยู่ที่อำเภอหว้านใหญ่ มีโบสถ์เก่าแก่หลังเล็กๆ สร้างขึ้นปี พ.ศ.2459 (บ้างก็ว่า 2467) สมัยพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นศิลปะผสมตะวันตก ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส ภายในโบสถ์มีจิตรกรรมฝาผนังสมัยโบราณอันวิจิตรสวยงามเรื่องพระเวสสันดรชาดกในตอนต่าง ๆ ฝีมือช่างพื้นบ้าน” เยาวชนผู้เข้าอบรมเห็นว่าถูกต้องหรือพอเพียงต่อการอธิบายหรือไม่? ถ้าพวกเราอธิบายจะอธิบายอย่างไร?
4.2 ฮูปแต้ม หรือ พุทธจิตรกรรม ในโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์ มีความหมายต่อพุทธศาสนาและประชาชนในชุมชนบ้านหว้านใหญ่และลุ่มน้ำโขงในอดีตอย่างไร?
4.3 ฮูปแต้ม หรือ พุทธจิตรกรรม ในโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์ ยังคงมีความหมายต่อพุทธศาสนาและประชาชนในชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ชุมชนลุ่มน้ำโขง และชุมชนไทยในปัจจุบันหรือไม่ เพราะเหตุใด?
4.4 ถ้าฮูปแต้ม หรือ พุทธจิตรกรรม ในโบสถ์วัดศรีมหาโพธิ์ ไม่มีความหมาย หรือ แทบจะไม่มีความหมายต่อพุทธศาสนาและประชาชนในชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ชุมชนลุ่มน้ำโขง และชุมชนไทยในปัจจุบันแล้ว เยาวชนคิดว่าควรจะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้มรดกวัฒนธรรมชุดนี้มีความหมายและมีคุณค่าต่อท้องถิ่น รัฐชาติ และโลกาภิวัตน์อย่างแท้จริง?
ปัจฉิมกถา
ผมมีความเชื่อว่า คำถามใหญ่ ๆ ชุดนี้ น่าจะช่วยคลี่คลายและทำให้พวกเราเข้าใจ “จิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์” ซึ่งกำลังดำรงอยู่ในสถานภาพที่ทับซ้อนกัน ระหว่างการเป็นตัวแทนของ “อัตลักษณ์วัฒนธรรมท้องถิ่นชายฝั่งโขง” ในบริบทรัฐชาติไทย และกระแสโลกาภิวัตน์ อย่างไรก็ตาม ผมชื่นชมและยินดีมาก ถ้า “คำตอบ” จะได้มาจากเยาวชนและชาวหว้านใหญ่ ผู้เป็นเจ้าของมรดกวัฒนธรรม จะต้องต้องอยู่กับอัญมณีชิ้นงาม ที่เป็น “ข้อต่อ” สำคัญ ที่กำลังเชื่อมโยง หรือ เชื่อมต่อชุมชนหว้านใหญ่กับโลกภายนอก จากปรากฏการณ์ที่คนอื่นให้ความสนใจหว้านใหญ่ หรือหว้านใหญ่ “ถูกสนใจ” จากคนอื่นนั้น แท้จริงแล้วก็คือ ภาพจิตกรรม และสิมหลังเก่า ที่กำลังจะถูกชาวหว้านใหญ่ส่วนใหญ่หลงลืมนั่นเอง