แต่ละวันในค่ายฮูบแต้มแคมของเราทั้งพี่เลี้ยงและเด็ก ๆ มีเรื่องยุ่ง ๆ ที่แสนสนุกให้ทำไม่ซ้ำกัน ทำกันจนเหมือนเราไม่มีช่วงเวลาจะพักเอาเสียเลย เพราะในขณะที่เราพักเราก็เหมือนรู้สึกว่าเราทำกิจกรรมเรียนรู้อยู่ ดังนั้นชีวิตการอยู่ในค่ายสามวันสองคืนจึงมากด้วยการเรียนรู้
การเรียนรู้ที่มากมาย กิจกรรมที่หลากหลายและผู้คนที่มาให้ความรู้กับเรา มีมากมากจนลิ้นชักในสมองของเด็ก ๆ เก็บเอาไว้ไม่หมด หลายคนเก็บเอาไว้มาก แต่พอจะเปิดลิ้นชักสมองก็พบว่ามันสับสนอลหม่านกันไปหมด จนไม่รู้ว่าลิ้นชักอันไหนเก็บเรื่องอะไร ลิ้นชักไหนเก็บกิจกรรมอะไร เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นแน่นอนในค่ายการเรียนรู้หรือแม้การใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคน
ในค่ายฮูบแต้มแคมของเราจึงหาเครื่องมือที่ให้เด็ก ๆ ได้ทบทวนการเรียนรู้ในแต่ละวันอย่างง่าย ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ จดจำเรื่องราวที่แสนประทับใจในค่ายของเราไว้รำลึกถึงเมื่อช่วงเวลาในค่ายผ่านพ้นไป เครื่องมือนี้เราเรียกว่า การทบทวนความรู้ด้วยภาพ(Graphic Review)
“การทบทวนการเรียนรู้ด้วยภาพ” ว่ากันไปแล้วก็เหมือนจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูบแต้มที่เรากำลังศึกษากันในค่าย ภาพวาดชวนให้เราอ่านเรื่องด้วยภาพ ภาพเขียนแทนภาษาพูดหรือภาษาเขียน เพราะภาพเขียนถือว่าเป็นภาษาชนิดหนึ่ง การส่งเสริมการใช้ภาษาให้มีประสิทธิภาพจึงถือว่าเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วย ปัญญาด้านภาษา(Linguistic Intelligence)
ในจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์มีภาพจิตรกรรมฝาผนังไว้เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ผู้คนชาวบ้านหว้านใหญ่หลายคนแม้จำเนื้อหาเรื่องพระเวสสันดรได้ไม่หมดแต่การได้ดูภาพเขียนก็ทำให้เข้าใจและจดจำเนื้อหาหรือแก่นสารสำคัญในเรื่องได้มากขึ้น ทั้งนี้อาจจะมีภาษาเขียนกำกับในภาษาภาพเอาไว้ในบางช่วงบางตอน วิธีนี้ช่วยเติมเต็มคำสำคัญที่ต้องการสื่อสารหรือต้องการให้จดจำในภาพแต่ละตอน
เมื่อการเรียนรู้แต่วันในค่ายของเราผ่านไป ก่อนสวดมนต์เข้านอน ครูอุ้มชวนเด็กมาทบทวนกิจกรรมที่เกิดขึ้นในแต่ละวันด้วยภาษาภาพ โดยมีครูคล่องช่วยเขียนเป็นภาพ เสมือนการย้อนบันทึกประจำวันของแต่ละคนตั้งแต่เช้ายันเย็น ซึ่งเด็กๆช่วยกันเติมเต็มรายละเอียดในแต่ละช่วงเวลา เมื่อสิ้นสุดภาพและคำสำคัญในแต่ละวันครูอุ้มกลับมาทบทวนเรื่องราวในภาพ เราพบว่าเด็ก ๆ จำกิจกรรมว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร ได้อย่างแม่นยำ
(ในภาพอ่านว่า ช่วงบ่ายที่ศาลาวัดเด็ก ๆ กำลังทำขันหมากเบ็งซึ่งประดิษฐ์จากใบตอง ซึ่งทุกคนสนุกสนานมากและทำได้ดี)
เครื่องมือนี้ช่วยในการเรียบเรียงและทบทวนประสบการณ์ในแต่ละวันของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี การเขียนภาพเป็นการช่วยระบายและปลดปล่อยอารมณ์ของเด็กต่อกิจกรรมการเรียนรู้นั้นได้ อีกทั้งยังส่งเสริมการคิดเชื่อมโยงให้กับเด็ก ๆในการใช้ภาพสื่อแทนภาษาเขียนได้ และที่สำคัญช่วยย้ำเตือนความทรงจำที่แสนพิเศษที่เกิดขึ้นในค่ายฮูบแต้มแคมของให้แก่เด็ก ๆ ซึ่งในวันสุดท้ายเราได้มอบสมุดบันทึกคืนให้แก่เด็ก ๆ ทุกคน เพื่อให้เขามีเครื่องมือแห่งความทรงจำ
เราไม่ใช่บริษัทรับจัดค่าย เราไม่ได้เป็นองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก แต่เราเป็นเพียงโครงการเล็ก ๆ ที่อยากทำงานกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับพื้นบ้านพื้นถิ่น ดังนั้นหน้าที่ของผมจึงเป็นนักส่งสาร ร่อนการ์ดเชิญ โทรศัพท์ชวน โปรยข้อความบนลานและโลกไซเบอร์เพื่อตามเพื่อนฝูง พี่น้อง ผองเพื่อครูบาอาจารย์ที่มักคุ้นให้มาช่วยค่าย
ในเมื่อหลายคนก็ต้องทำงานของตนเอง ดังนั้นการกะเกณฑ์ว่าใครจะมาได้บ้างจึงเป็นเรื่องยากเต็มทน แต่ในวันสุดท้ายก่อนเดินทางก็ยังมีบางอย่างรังเร ผมออกแบบกิจกรรมให้หยืดหยุนมากที่สุดโดยยึดเพื่อน ๆที่รับปากจริงไปได้จริงเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มนี้สามารถเลื่อนกิจกรรมของตนไปกับความเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนที่ยังไม่แน่ใจก็ต้องยอมรับความไม่พร้อมและเตรียมแผนสำหรับแก้ไขปัญหา
จนกระทั้งถึงวันเปิดค่ายจริงและยืนยันการเดินทางจริง ผมก็พบว่าญาติพี่น้องเพื่อนพ้องที่เดินทางมาร่วมค่ายของโครงการเราคราวนี้เป็นนักกิจกรรมที่จัดแบ่งออกได้หลายประเภทด้วยกัน หากจะแบ่งตามประสบการณ์ชีวิต เราพบว่าสามารถจัดกลุ่มได้ 3 รุ่นคือ S M L
รุ่นเล็ก = S รุ่นเล็กแต่ใจใหญ่ กลุ่มนี้ผมได้เครือข่ายทางสกลนครมาช่วยซึ่งเป็นนักศึกษา รวมถึงน้อง ๆจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเด็กหนุมไฟแรงที่เพิ่งจบซึ่งกลุ่มนี้จิ๋วแต่แจ๋วทั้งน้องปุ๊ น้องปอง น้องโบว์ น้องทิก น้องมี่ น้องแพท คนกลุ่มนี้มีจิตอาสาและรักษ์บ้านเกิดเมืองนอนที่ชัดเจน
( แพท มีมี่ และน้องโบว์์สาวน้อยเดินทางไกลมาจากธรรมศาสตร์ งานนี้เหนื่อยบ้างก็พักบ้างแต่เธอไม่แพ้ ถามหาค่ายต่อไป)
รุ่นกลาง = M รุ่นนี้เป็นกลุ่มมดงาน ผมได้เครือข่ายมาจากทุกทิศทุกทาง พี่คล่องกับอาจารย์อุ้ม เคยผ่านค่ายมาด้วยกันมากกว่าสิบซึ่งถือว่าสองคนนี้เป็นกำลังสำคัญของผมเพราะจะต่อกันติดง่ายไม่ว่าโยนกิจกรรมอะไรไป ส่วนอีกสองคนเป็นเพื่อนเครือข่ายจากสกลนครที่อาสามาช่วย มาดูและมาเชียร์นั้นคืออาจารย์นพและอาจารย์อ่ำ รวมทั้งเพื่อนครูที่ HUG SCHOOLอย่างอาจารย์ต้อม และมดจากหอมกรุ่น(ร้านกาแฟแสนอร่อย) กลุ่มนี้เราต่างถ่ายเทรูปแบบการจัดค่ายต่อกันสม่ำเสมอ ใครมีเทคนิคใหม่ ๆ ก็เอามากลางเรียนรู้ด้วยกัน
(อาจารย์ต้อม โบว์ อาจารย์อ่ำ พี่มด อาจารย์คล่อง อาจารย์อุ้ม ออต)
รุ่นใหญ่ = L กลุ่มแรงใจแรงกายแรงปัญญา รุ่นนี้เป็นรุ่นที่เมตตากับเรามาก เป็นเสมือนที่ปรึกษาในทุก ๆ มิติเป็นแรงใจ และหลายท่านก็เป็นขวัญใจชาวค่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้ การได้รุ่นใหญ่มากประสบการณ์แบบนี้ช่วยให้งานของเรามีคุณค่าขึ้นมาอีกมาก เพราะก่อนหน้าที่เราไปกับแบบวัยรุ่นวุ่นรักค่าย แต่ลืมบางสิ่งบางอย่างที่ผู้ใหญ่มี รุ่นนี้เราได้เครือข่ายลานปัญญาเช่นอาม่าขวัญใจชาวค่าย อาจารย์บางทราย พี่พนัส นอกจากนั้นยังได้ความเมตตาจาก ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุษย์ปรมาจารย์ด้านลุ่มน้ำโขงศึกษามาช่วยอีกแรง
(อาม่า ดร.ศุภชัย อาจารย์บางทราย)
นี่เป็นกลุ่มคนที่ผมขอจารึกเอาไว้ในค่ายแห่งนี้ เพราะทุกคนคือแรงกายแรงใจ แรงกำลังที่ทำค่ายเดินทางจนเสร็จสิ้นได้ สมควรที่จะได้รับการขอบคุณจากผมและศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะเราคือคนของค่ายที่เกิดจากเครือข่ายแห่งความสุข
(เป็นได้แม้ขาไมโครโฟน)
เช้าของวันแม่ ที่ขอนแก่นแม้บรรยากาศจะดีมากคือมีแดดอ่อน ๆ แต่ขบวนนักถอดความหมายทางวัฒนธรรมไปถึงเมืองว่านใหญ่ ก็พบว่าอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนอยู่มาก ๆ ไม่ยากที่จะเดาว่าบ่ายนี้ฝนที่ตั้งเค้าไม่น่าจะไหลผ่านพื้นดินแถบนี้ น่าจะตกมาให้เราได้เปียกปอน งานนี้ผมออกจะห่วง ๆ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่มาด้วยจะเป็นหวัดจากพิษฝนได้
หลังรับประทานอาหารเที่ยง เราลงมือทำงานและสำรววจพื้นที่ทันทีโดยเริ่มต้นที่วัดศรีมหาโพธิ์ ชึ่งเป็นวัดที่เราใช้เป็นแกนกลางในการจัดทำหลักสูตร งานนี้อาจารย์บางทราย แห่งดงหลวงมาสมทบพอดี พร้อม ๆ กับพี่มหาซึ่งเป็นคนหนุ่มที่สนใจงานวัฒนธรรมและพื้นที่ มาช่วยอธิบายความให้เราทราบพื้นฐานของวัดและชุมชนแถบนี้ ซึ่งนับว่าได้ความรู้จากคนพื้นที่เป็นอย่างดี
จากคำอธิบายของพี่มหา และน้อง ๆ จาก อบต.ว่านใหญ่ ทำให้เราทราบว่า คำว่า หว้านใหญ่ เพี้ยนมาจาก ว่านใหญ่ ซึ่งพื้นที่เดิมของชุมชนแถบนี้เป็นดงว่าน เมื่อตั้งชื่อบ้านก็นิยมเอาพืชพันธุ์ที่สำคัญมาตั้งเป็นชื่อบ้านจึงให้ชื่อว่าบ้าน ว่าน จากการสัมภาษณ์ยังไม่ทราบแน่ว่าเป็นว่านหรือพืชตระกูลใด ต้องสืบเสาะอีกครั้งจากผู้แก่ผู้เฒ่าแถบนี้ ผมได้แต่แอบยุน้อง ๆ จาก อบต.ว่านใหญ่ให้เสาะหาดู หรือไม่แน่ว่าในค่ายผมอาจจะให้เด็กสืบหาว่านอันเป็นชื่อบ้านนามเมืองนี้ด้วย(ได้ไอเดียการจัดการเรียนจากคำถามในพื้นที่ที่ไปเจอ)
ส่วนคำสัญณิฐานของผม คำว่าหว้านใหญ่ น่าจะเพี้ยนมาจาก ว่านใหญ่ จริง แต่ไม่ใช่ชื่อ ว่านใหญ่ จริง ความจริงน่าจะมาจาก ว่านหลวง ซึ่งเป็นชื่อที่ปรากฎในจดหมายการเดินทางของเจ้านายจากบางกอกในการสำรวจอีสาน ต่อเมื่อมีการแยกบ้านของประชากรจากว่านหลวงไปตั้งบ้านใหม่จึงเรียกบ้าน ว่านน้อย/ว่านใหญ่ และเพี้ยนเป็น หว้านใหญ่/หว้านน้อยในที่สุด ในปัญหาข้อนี้ก็ขอเชิญนักภาษา นักท้องถิ่นนิยม นักประวัติศาสตร์ค้นหากันอีกรอบ
สิ่งที่ทุกคนแปลกประหลาดใจในการพบวัดศรีมหาโพธิ์คือ การมีสิมหลังเล็กมากและเป็นหลังเล็กที่มีฮูบแต้มด้วย เมื่อไปถึงนักถอดหรัสของผมก็ต่างสนใจดู ถ่ายภาพ พูดคุยทั้งวงสนทนาใหญ่ วงสนทนาเล็ก เดินออกมาชื่นชม นั่งจังงังทำอะไรไม่ถูก อาจารย์รณภพ เตชะวงษ์บอกกับผมว่า ทำอะไรไม่ถูกเพราะอึ้งมาก แม้มีกล้องในมือก็ไม่รู้จะถ่ายอะไรมีความรู้สึกบางอย่างอยู่ในจิตใจ
อาจารย์บอนนี่ บอกผว่าวัดนี้สวยพิเศษและเรียบร้อย คือมีความเงียบ และเรียบร้อยเหมือนผู้หญิงนั่งฟังธรรม(อันหลังนี่ผมเติมเอง เพราะไม่รู้จะถอดความความรู้สึกของอาจารย์ออกมาอย่างไร) เพราะวัดแห่งนี้เผยภาพเรื่องราวของพระเวสสันดรอย่างจริงใจ ศรัทธาและตัดภาพที่จะให้ความรู้สึกรุนแรง ความอิโรติก ออกไปอย่างมาก
เ่ช่นในภาพชูชกท้องแตกตาย ก็วาดชูชกตายแบบคนธรรมดาไม่ใส่อารมณ์ไปมากเหมือนวัดในแถบอีสานกลาง ในตอนที่เผ่าศพชูชกก็วาดภาพการเผาศพอย่างสมเกียรติ ในตอนที่เหล่าเมียพรามห์มาทำร้ายและด่าทอนางอมิตดาที่บ่อน้ำก็พบว่ามีภาพแค่ดึงชายผ้าถุงขึ้นคล้ายโกรธ แต่ในแถบอีสานกลางภาพที่แสดงออกถึงกับมีการ จ้อนซิ่น ถลกผ้าถุง โชว์ของสงวนกันอย่างโจ่ง ๆ แต่สำหรับวัดศรีมหาโพธิ์ช่างด่าทอด้วยคำสุภาพเสียเหลือเิกิน
กิจกรรมการถอดหรัสเป็นไปอย่างธรรมชาติ ไม่ได้เครียดจนทำงานหน้าเขียวหน้าแดง แต่ผมสังเกตเห็นปฏิสัมพันธ์การแลกเปลี่ยนของนักวิชาการที่แสดงทัศนะของตนเองในมิติที่ตนเองสนใจ ผมว่าถึงแม้ในใจไม่เห็นด้วยแต่ก็ยอมรับในความแตกต่างและหลากหลาย ผมว่านี่ซิ ถึงเป็นมิติของ พหุลักษณ์อย่างแท้จริง
ต้นสัปดาห์มีเหตุต้องเดินทางไปสกลนคร การไปคราวนี้เพื่อไม่ให้เสียเที่ยวผมจึงมีแผนเดินทางไปอำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารด้วย อย่างน้อยก็เพื่อไปประสานงานเรื่องค่ายเด็กกับหน่วยงานในพื้นที่เอาไว้ จะได้ไม่เป็นแบบไปบีบบังคับคนในพื้นที่ หรือเป็นคนนอกเอาอะไรไปยัดให้้คนในเขาอึด อัด
ผมเดินทางไปวัดศรีมหาโพธิ์พบพระลูกวัดเพียงรูปเดียวแต่เจ้าอาวาสไม่อยู่ติดกิจนิมนต์นอกวัด ผมถือวิสาสะขอเบอร์โทรท่านเจ้าอาวาสจากพระลูกวัดแต่ก็ไม่ประสบผล อิอิ ไม่เป็นไรงานนี้จึงได้แต่เดินสำรวจ มองดูจุดเด่นจุดด้อยของพื้นที่หากสถานที่แห่งนี้ถูกจัดเป็นพื้นที่การเรียน รู้จริง ๆ จะได้มีทางเลือก หรือมีทางออกสำหรับการจัดกิจกรรม
วัดศรีมหาโพธิ์ บ้านหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ สถานที่มีสิมอันปรากฎจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูบแต้ม เนื่องจากเป็นวัดเก่าดังนั้นพื้นที่ของวัดจึงเล็กเพราะไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ เพราะมีบ้านของชาวบ้านอยู่ขนาบวัด ภายในวัดไม่ได้วางผังแม่บทการใช้พื้นที่ดังนั้นจึงปรากฎการทุบและการสร้างศาสนาคาร ภายในวัดจึงเห็น กองดิน กองหิน กองทราย กองไม้ถูกวางระแกะระกะ
ส่วนอาคาร ที่น่าจะเอาไว้ใช้ทำกิจกรรมสำหรับเด็กก็เห็นว่าขัดเคืองอยู่มาก เนื่องจากศาสนาคารของวัดที่สำคัญมี 3 หลังได้แก่ สิมเก่า กุฎิเก่า และศาลาการเปรียญ
ในส่วนของสิมเก่า เนื่องจากสิมนี้ขนาดเล็กมากดังนั้นการจัดกิจกรรมรวมสำหรับเด็ก 50 คนไม่เหมาะเป็นแน่แท้ แต่หากเอาไว้เป็นแหล่งเรียนรู้กลุ่มย่อย ๆ ก็เห็นว่าเหมาะดีมาก
กุฎิวัดเก่า กุฎิหลังเก่านี้เป็นอาคารที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยใช้สถานที่แห่งนี้เป็นอาคารที่ว่าการอำเภอหว้านใหญ่มาก่อน รูปทรงอาคารได้รับอิทธิพลจากรูปแบบอาคารแบบฝรั่งเศษอยู่มาก ซึ่งปรากฎการณ์นี้พบเห็นอยู่ทั่วไปในแถบริมโขง ปัจุบันเป็นที่จำพรรษาของพระลูกวัด คิดแบบคนนอกอย่างผมเห็นว่าอาคารนี้เหมาะสมากที่จะทำเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชน ประเภทพิพิธภัณฑ์ชุมชน ดังนั้นอาคารนี้จึงไม่น่าจะใช้ได้
ส่วนอาคาร ศาลาการเปรียญหลังใหญ่เป็นอาคารสองชั้น มีพื้นที่พอสมควรสำหรับจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จะติดขัดก็พื้นที่สำหรับนอนเท่านั้นที่ไม่เหมาะสักเท่าไหร่ และหากมีกิจกรรมทางศาสนาก็จะทุลักทะเลพอสมควร
เมื่อดูพื้นที่อาคารทั้ง สามแห่งแล้ว เห็นว่าเราพบจุดอ่อนของการจัดกิจกรรมอยู่เอามาก ๆ เพราะการจัดกิจกรรมการปลูกฝังแบบค่ายนั้นจำเป็นต้องการพื้นที่สำหรับเรียน รู้ ที่พักอยู่พอสมควร แบบนี้เราจะหาทางออกอย่างไร ตามต่อบันทึกหน้าครับ
(พี่น้องชาวเฮ สนใจร่วม trip นี้ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 1-3 กันยายน 2552 นี้ที่มุกดาหาร รบกวนช่วยแจ้งรายชื่อด้วยนะครับ ตอนนี้เห็นว่า ครูบา ท่านเทพรอกอด อาจารย์บางทราย จะร่วมชื่นชมสุนทรียภาพริมโขงแน่นอน อิอิ ท่านไหนสนใจเชิญครับ http://lanpanya.com/somroay/archives/148)