ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กันยายน 12, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ตัวเลขกับศิลปะ

ความจริงค่ายฮูบแต้มแคมของไม่ได้สมบูรณ์แบบเลย ด้วยความด้อยปัญญาของคนประสานในการจัดค่าย การออกแบบหลักสูตรและการบ่มเพาะความคิดให้ออกมาเป็นค่ายที่สมบูรณ์ ดูเอาแต่เรื่องการตัดมิติสัมพันธ์ของศิลปะ วัฒนธรรม ออกจากตัวเลขเอาเถิด

ศิลปะกับตัวเลข ศิลปะกับการวัด ดูเหมือนเป็นเรื่องคนละโลกสำหรับศิลปินอย่างผม(ไม่สามารถเหมารวมศิลปินทั้งหมด) เพราะมันเป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมาเข้าขั้นตัดญาติขาดมิตรเอากันไปโน้นเลย

แม้แต่การบริหารเงินทองงบประมาณในค่ายทั้งหมด ผมต้องขอยืมตัวเจ้าหน้าที่การเงินของศูนย์วิจัยฯมาทำหน้าที่แทน ด้วยไม่อยากเอาสมองไปยุ่งอยู่กับตัวเลขที่แสนน่าเบื่อ

เราเหล่าศิลปินและคนทำงานศิลปะส่วนใหญ่จะงดใช้ตัวเลขแต่หันมาให้คำว่าเล็ก กลาง ใหญ่ ที่สุด แทนเช่นสิมหลังนี้เล็กมาก(เล็กมากหมายถึงเล็กขนาดไหน? ถามแบบนี้คนทำงานศิลปะตกม้าตาย) พระในวิหารใหญ่ที่สุดในตำบลนี้(ใหญ่ขนาดไหน กว้างยาวเท่าไหร่? ถามแบบนี้คนทำงานศิลปะตกม้าตาย) ขันหมากเบ็งที่เห็นที่วัดสัดส่วนดีมาก(ดีมากที่ว่า มันขนาดเท่าไหร่? ถามแบบนี้ก็ตกม้าตายอีกเช่นกัน) สรุปรวม ๆ คือเราไม่ค่อยจะใส่ใจกับตัวเลขจริง ๆ เลย ทั้ง ๆ ที่มันจะช่วยให้เราใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต

ดังนั้นค่ายฮูบแต้มแคมของเพิ่งมาตาสว่างเอาตอนที่ อาม่า ช่วยเติมเต็มเรื่องวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ในฐานะเครื่องมือการเรียนรู้ให้แก่เรา ซึ่งเรื่องนี้นับว่าเป็นบุญของผมแต่ยังไม่ใช่บุญของเด็ก ๆ เพราะกว่าผมจะยอมรับเรื่องตัวเลขกับวัฒนธรรมได้ ก็ต้องใช้เวลาสักพักดังนั้นจึงไม่มีเวลาบรรจุเรื่องนี้ให้กับเด็ก ๆ ในค่าย(เอาไว้ค่ายหน้านะน้อง)

อาม่าสอนผมในเรื่องการเอาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์เข้าไปบูรณาการร่วมกับศิลปวัฒนธรรม งานนี้จะช่วยให้เราเห็นมิติที่ทั้งสองสิ่งสัมพันธ์กันอยู่ในตัวและยังก้าวล่วงไปสัมพันธ์กับมิติอื่น ๆ ได้รวมทั้งความสัมพันธ์กับจักรวาลซึ่งมีสถานะแห่งจุดร่วมทุกสรรพสิ่ง(ร่ายซะเป็นนิยาย)

ผมเริ่มฝึกการเอาตัวเลขเข้ามาใช้ในค่ายตอนที่ผมรู้สึกชอบขันหมากเบ็งของชาวบ้าน ผมชอบที่รูปทรงสัดส่วนมันช่างสวยงามเสียเหลือเกิน งามจนหากผมเอาไปทำใช้ที่ขอนแก่นคงต้องไม่ยากแน่ ๆ

แต่เชื่อเถอะมาถึงขอนแก่นผมก็จะลืมสัดส่วนที่งดงามนั้นไป ดังนั้นการวัดจึงเกิดขึ้นกับผมในกิจกรรมการชื่นชนขันหมากเบ็งแบบพื้นบ้าน เมื่อวัดแล้วทำให้เราต้องมาแยกรายละเอียดออกไป เรื่องนี้ทำให้ผมคิดแบบละเอียดละออเข้าไปอีกเพราะขันหมากเบ็งมีส่วนฐาน ส่วนตัวขัน และส่วนยอดขัน งานนี้สัดส่วนที่งดงามนั้นจึงถูกผมบันทึกด้วยตัวเลขเรียบร้อยพร้อมภาพประกอบ

(เงอะ ๆงะ ๆ กับตัวเลข  เขียนผิดเขียนถูก วัดแล้ววัดอีก แบบไมค่อยแน่ใจ)

สัดส่วนของความสูงที่งดงามของขันหมากเบ็ง ตัวฐาน/ตัวขัน/ยอดขัน เท่ากับ 1: 2 : 2.5

สัดส่วนที่งดงาม ความสูงของขัน/ความกว้างของขัน เท่ากับ 2 : 5.5

ทำตัวเลขแบบนี้ไม่ว่าถูกไหมคุณครูครับ

กันยายน 7, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : คน ค่าย เครือข่าย ความสุข

เราไม่ใช่บริษัทรับจัดค่าย เราไม่ได้เป็นองค์กรที่ทำงานด้านเด็ก แต่เราเป็นเพียงโครงการเล็ก ๆ ที่อยากทำงานกับเด็ก ๆ โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับพื้นบ้านพื้นถิ่น ดังนั้นหน้าที่ของผมจึงเป็นนักส่งสาร ร่อนการ์ดเชิญ โทรศัพท์ชวน โปรยข้อความบนลานและโลกไซเบอร์เพื่อตามเพื่อนฝูง พี่น้อง ผองเพื่อครูบาอาจารย์ที่มักคุ้นให้มาช่วยค่าย

ในเมื่อหลายคนก็ต้องทำงานของตนเอง ดังนั้นการกะเกณฑ์ว่าใครจะมาได้บ้างจึงเป็นเรื่องยากเต็มทน แต่ในวันสุดท้ายก่อนเดินทางก็ยังมีบางอย่างรังเร ผมออกแบบกิจกรรมให้หยืดหยุนมากที่สุดโดยยึดเพื่อน ๆที่รับปากจริงไปได้จริงเป็นหลัก ซึ่งกลุ่มนี้สามารถเลื่อนกิจกรรมของตนไปกับความเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนที่ยังไม่แน่ใจก็ต้องยอมรับความไม่พร้อมและเตรียมแผนสำหรับแก้ไขปัญหา

จนกระทั้งถึงวันเปิดค่ายจริงและยืนยันการเดินทางจริง ผมก็พบว่าญาติพี่น้องเพื่อนพ้องที่เดินทางมาร่วมค่ายของโครงการเราคราวนี้เป็นนักกิจกรรมที่จัดแบ่งออกได้หลายประเภทด้วยกัน หากจะแบ่งตามประสบการณ์ชีวิต เราพบว่าสามารถจัดกลุ่มได้ 3 รุ่นคือ S M L

รุ่นเล็ก = S รุ่นเล็กแต่ใจใหญ่ กลุ่มนี้ผมได้เครือข่ายทางสกลนครมาช่วยซึ่งเป็นนักศึกษา รวมถึงน้อง ๆจากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเด็กหนุมไฟแรงที่เพิ่งจบซึ่งกลุ่มนี้จิ๋วแต่แจ๋วทั้งน้องปุ๊ น้องปอง น้องโบว์ น้องทิก น้องมี่ น้องแพท คนกลุ่มนี้มีจิตอาสาและรักษ์บ้านเกิดเมืองนอนที่ชัดเจน

( แพท มีมี่ และน้องโบว์์สาวน้อยเดินทางไกลมาจากธรรมศาสตร์ งานนี้เหนื่อยบ้างก็พักบ้างแต่เธอไม่แพ้ ถามหาค่ายต่อไป)

รุ่นกลาง = M รุ่นนี้เป็นกลุ่มมดงาน ผมได้เครือข่ายมาจากทุกทิศทุกทาง พี่คล่องกับอาจารย์อุ้ม เคยผ่านค่ายมาด้วยกันมากกว่าสิบซึ่งถือว่าสองคนนี้เป็นกำลังสำคัญของผมเพราะจะต่อกันติดง่ายไม่ว่าโยนกิจกรรมอะไรไป ส่วนอีกสองคนเป็นเพื่อนเครือข่ายจากสกลนครที่อาสามาช่วย มาดูและมาเชียร์นั้นคืออาจารย์นพและอาจารย์อ่ำ รวมทั้งเพื่อนครูที่ HUG SCHOOLอย่างอาจารย์ต้อม และมดจากหอมกรุ่น(ร้านกาแฟแสนอร่อย) กลุ่มนี้เราต่างถ่ายเทรูปแบบการจัดค่ายต่อกันสม่ำเสมอ ใครมีเทคนิคใหม่ ๆ ก็เอามากลางเรียนรู้ด้วยกัน

(อาจารย์ต้อม โบว์ อาจารย์อ่ำ พี่มด อาจารย์คล่อง อาจารย์อุ้ม ออต)

รุ่นใหญ่ = L กลุ่มแรงใจแรงกายแรงปัญญา รุ่นนี้เป็นรุ่นที่เมตตากับเรามาก เป็นเสมือนที่ปรึกษาในทุก ๆ มิติเป็นแรงใจ และหลายท่านก็เป็นขวัญใจชาวค่ายอย่างเลี่ยงไม่ได้ การได้รุ่นใหญ่มากประสบการณ์แบบนี้ช่วยให้งานของเรามีคุณค่าขึ้นมาอีกมาก เพราะก่อนหน้าที่เราไปกับแบบวัยรุ่นวุ่นรักค่าย แต่ลืมบางสิ่งบางอย่างที่ผู้ใหญ่มี รุ่นนี้เราได้เครือข่ายลานปัญญาเช่นอาม่าขวัญใจชาวค่าย อาจารย์บางทราย พี่พนัส นอกจากนั้นยังได้ความเมตตาจาก ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุษย์ปรมาจารย์ด้านลุ่มน้ำโขงศึกษามาช่วยอีกแรง

(อาม่า  ดร.ศุภชัย อาจารย์บางทราย)

นี่เป็นกลุ่มคนที่ผมขอจารึกเอาไว้ในค่ายแห่งนี้ เพราะทุกคนคือแรงกายแรงใจ แรงกำลังที่ทำค่ายเดินทางจนเสร็จสิ้นได้ สมควรที่จะได้รับการขอบคุณจากผมและศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะเราคือคนของค่ายที่เกิดจากเครือข่ายแห่งความสุข

(เป็นได้แม้ขาไมโครโฟน)

กันยายน 5, 2009

ฮูบแต้มแคมของ : ม่วนซื่นละครเด็ก

เกือบจะพลบค่ำแล้ว พี่เลี้ยง“ค่ายฮูบแต้มแคมของ” เรียกรวมเด็ก ๆ ชาวค่ายพร้อมกันหน้าวิหารใญ่วัดมโนภิรมณ์ วิหารที่เป็นเสมือนเพชรน้ำเอกของลุ่มน้ำโขง วิหารที่ไม่ได้มาชมไม่ได้มาศึกษาแล้วอย่าอุตริด่วนสรุปเรื่องสถาปัตยกรรมอีสาน เพราะวิหารแห่งนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับวิหารอื่น ๆ ที่พบในแถบอีสาน

พี่เลี้ยงสอบถามเรื่องราวของจิตรกรรมฝาผนังอีสานวัดศรีมหาโพธิ์กับนักเรียน เพื่อประมวลสรุปการเรียนรู้ การเยี่ยมชมและการทำกิจกรรมอีกครั้ง หลังจากสรุปกันพอควร เราจะสังเกตว่าเด็ก ๆ ชาวค่ายจำเนื้อเรื่องที่ปรากฎบนจิตรกรรมฝาผนังได้ แต่ยังขาดรายละเอียดอีกเล็ก ๆ หรือเราจะพบว่าแม้จะตอบถูกต้องแต่ยังไม่มีความมั่นใจในคำตอบของตนเองมากนัก ซึ่งหลังจากนี้พี่เลี้ยงค่ายโยนเครื่องมือเรียนรู้ชนิดต่อไปให้เด็ก ๆ ทันที เครื่องที่ว่านี้คือ ละครสำหรับเด็ก

กลุ่มกิจกรรมของชาวค่ายมีทั้งสิ้นสามกลุ่ม ดังนั้นพี่เลี้ยงจึงแบ่งกัณฑ์ต่าง ๆ ในเรื่องพระเวสสันดรชาดกซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ปรากฎในสิมวัดศรีมหาโพธิ์ ออกมาให้เหมาะสมกับการแสดงของเด็กทั้งสามกลุ่ม โดยมีรวมเอากัณฑ์ที่สำคัญมาไว้เป็นตอน 3 ตอนให้ครบตามจำนวนกลุ่มเด็ก วิธีการนี้จะช่วยให้เด็กแสดงละครของตนเองได้อย่างมีเอกภาพบนเวทีการแสดงคืนนี้

กลุ่มที่หนึ่ง จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์ทศพรไปจนถึงทานกัณฑ์ ซึ่งมีเนื่อหากล่าวถึงการจุติของนางผุสดีเพื่อมาเป็นมเหสีของพระเจ้าสัญชัยพร้อมกับพรสิบประการ การแต่งงานของพระเวสสันดรกับนางมัทรี การทานช้างปัจจัยนาเคน การไล่พระเวสออกจากเมืองและเดินทางสู่เขาวงกตเพื่อบำเพ็ญบารมี

กลุ่มที่สอง จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์จุลพนไปจนถึงกัณฑ์กุมาร ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงชูชกขอทานผู้สกปรก การได้นางอมิตตดามาเป็นเมีย การกล่าวด่าตำหนิติเตียนของเหล่าเมียพราหม์ต่อนางอมิตดาและการออกไปขอกัณหาชาลีมาเป็นคนใช้ของชูชก ตลอดจนการไปพบพรานเจตบุตร การโกหกพระฤาษีเพื่อหาหนทางไปเขาวงกตและการทานสองกุมารของพระเวสสันดรให้กับพราหม์

กลุ่มที่สาม จัดการแสดงตั้งแต่กัณฑ์มัทรีไปจนถึงนครกัณฑ์ ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงการขวางทางกลับอาศรมของพระอินทร์ที่กระทำต่อนางมัทรี การลากสองกุมารเข้าเมืองของชูชก การไถ่สองหลานของพระยาสัญชัยและการขบวนเชิญพระเวสสันดรและนางมัทรีกลับมาครองเมือง

เด็ก ๆ แต่ละกลุ่มหลังรับเครื่องมือไปแล้วต่างหาสนามหญ้าสีเขียวงามบริเวณลานหน้าวิหาร บ้างก็จับจองลานริมแม่โขงให้เป็นสตูดิโอสำหรับฝึกซ้อมการแสดง ต่างกลุ่มต่างวางแผนและซักซ้อมกันอย่างขมีขมัน โดยข้าง ๆ กลุ่มมีพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด งานนี้เราจะเห็นปฏิสัมพันธ์ที่ดีของเด็กกับเด็ก และปฏิสมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพี่เลี้ยงประจำแต่ละกลุ่มอย่างชัดเจน

แสงแดดอ่อนแรงลงข้างฝั่งทิศตะวันตก บอกถึงเวลาที่เราจะเคลื่อนย้ายเด็ก ๆ กลับสถานที่จัดค่ายแล้วเพื่อเด็ก ๆ อาบน้ำและรับประทานอาหาร ก่อนที่เราจะได้ชมมหรสพที่สร้างสรรค์จากฝีมือการแสดงของพวกเขาเอง เราเหล่าพี่เลี้ยงประจำกลุ่มต่างคอยลุ้นถึงผลงานของเด็ก ๆ ในกลุ่มของตนเองอย่างจดจ้อง พระอาทิตย์ลาลับไปจนวิหารใหญ่วัดมโนภิรมณ์ดูขึงขลังขึ้นมา เด็ก ๆ ต่างทยอยขึ้นรถและสนุกสนานส่งเสียงร้องเพลงตลอดเส้นทาง ซึ่งละครและการแสดงออกช่วยผลักพลังการแสดงออกเด็กได้อย่างดีที่เดียว

Powered by WordPress