ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มิถุนายน 30, 2010

Isan Mural : Composition

วันพรุ่งนี้มีโปรแกรมบรรยายเรื่อง การออกแบบจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ให้นักศึกษาคณะศิลปกรรมศาสตร์ฟัง เป็นการสรุปเรื่องจากที่พานักศึกษาไปทัศนศึกษาจิตรกรรมฝาผนังวัดสนวนวารีพัฒนาราม วัดสระบัวแก้วและวัดบ้านลาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรียนรู้วิชาการออกแบบจิตรกรรมพื้นบ้าน

หัวใจสำคัญคือการได้ไปเห็นของจริงว่าศิลปินสมัยก่อนนั้น เขาออกแบบจิตรกรรมฝาผนังอย่างไร มีจุดเด่นที่พิเศษอย่างไรหลังจากที่ได้ศึกษาแล้วจะเอาความรู้และลักษณะพิเศษของจิตรกรรมฝาผนังสมัยก่อนมาปรับใช้สำหรับงานออกแบบจิตรกรรมฝาผนังของตนเองอย่างไร ซึ่งหากศึกษาและฝึกฝนให้ดีแล้ว การเรียนภาพจิตรกรรมฝาผนังตามสิมในปัจจุบันก็นับว่ารายได้ดี และเป็นที่นิยมของชาวบ้านในการประดับประดาศาสนาสถานของชุมชน

วันนี้ผมจึงเตรียมตัวเพื่อเก็บเอาบางประเด็นไปแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา และหนึ่งในประเด็นที่เตรียมเอาไว้และขอเอามาเล่าในบันทึกนี้ก็คือ เรื่องการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ Composition ซึ่งวิชานี้นับเป็นวิชาสำคัญของนักศึกษาศิลปะ(สมัยใหม่) สมัยผมเรียนวิชาองค์ประกอบศิลป์นี้ต้องเรียนตั้งสองเทอมด้วยกัน ซึ่งหากเราเอาองค์ความรู้จากองค์ความรู้ด้านศิลปะสมัยใหม่เข้าไปจับความงามของศิลปะพื้นบ้านแล้ว เราอาจจะได้มุมมองใหม่ ๆก็เป็นได้

ภาพที่นำมาลงในบันทึกนี้เป็นภาพจากวัดสระบัวแก้ว อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นวัดที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังเต็มทุกผนังด้านนอกทั้งสี่ด้าน โดยเขียนภาพหลักเรื่อง “พระรามชาดก” ส่วนเรื่องประกอบเช่น พระมาลัยโปรดนรกภูมิ สินไซ พระเวสสันดรชาดกเป็นต้น

ภาพแรกอยู่ผนังด้านทิศใต้เป็นภาพที่แสดงตอน พระมาลัยโปรดนรกภูมิช่างเขียนภาพไม่ได้เขียนเพื่อแยกต่างหากเป็นอีกเรื่อง แต่เขียนฉากนี้เพื่อรองรับการลงมารับโทษของพญาราพะนาสวน(ตัวละครในเรื่อง) หลังจากตายเพราะถูกพระลักและพระลามฆ่า ซึ่งมาจากศึกแย่งนางสีดาจันทะแจ่ม ตอนนี้จะปรากฎภาพพระมาลัยยืนอยู่บนดอกบัวหันหน้าไปในทิศที่มีสัตว์นรกอยู่ เหล่าสัตว์นรกก็ต่างพนมมือและหันหน้ามายังพระมาลัย

หากมาแยกพิจารณาเส้นจะพบว่าเส้นของสัตว์นรกจะมีลักษณะเอียงไปในทิศพระมาลัย(จุดเด่น)อยู่เป็นการสร้างเส้นเพื่อดึงดูดสายตาเพื่อนำไปยังจุดเด่นและให้ความรู้สึกไม่มั่นคง ไม่น่าเชื่อถือ ส่วนพระมาลัย(จุดเด่น)จะมีลักษณะเป็นแนวดิ่งซึ่งให้ความรู้สึกมั่นคงหนักแน่น

เมื่อถอดโครงสร้างของรูปร่างจะพบว่าตัวละครส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมซึ่งหากจัดการรูปทรงทุกตัวละครจะเห็นว่าช่างเขียนได้เขียนภาพให้จุดเด่นมีขนาดใหญ่เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม ส่วนสัตว์นรกทำเป็นโครงสร้างสามเหลี่ยมขนาดเล็ก  การจัดวางรูปทรงมีกาีจัดวางองค์ประกอบไม่เท่ากันคือกลุ่มสัตว์นรกมีจำนวนมาก ส่วนจุดเด่นพระมาลัยมีรูปทรงเดียว

ส่วนภาพที่สองเป็นภาพที่เขียนบริเวณผนังด้านนอกในฝั่งทิศเหนือ เป็นภาพพระอินทร์ลงมาถามคำถามให้ ท้าวสะลุนกุ้น(เด็กชายไม่มีแขนไม่มีขา) ตอบปัญหา ซึ่งในภาพจะเห็นพระอินทร์ขี่ม้า ส่วนครอบครัวของท้าวสะลุนกุ้นอยู่เบื้องหน้า ภาพที่แสดงจำลองภาพของชาวบ้านอีสานได้เป็นอย่างดีคือบ้านใต้ถุนสูง มีการเลี้ยงสัตว์ใต้ถุนบ้าน กิจกรรมในชีวิตประจำวันจะนิยมใช้ใต้ถุนบ้าน

หากมาแยกพิจารณาเส้นจะพบว่าเส้นมีลักษณะเส้นดิ่งและเส้นนอนพาดกันไปมา ทำให้เกิดกรอบสี่เหลี่ยนเล็ก ๆ ใหญ่ ๆ อยู่บนภาพทำให้เกิดความรู้สึกเป็นปึกแผ่น กรอบสี่เหลี่ยมใหญ่สร้างไว้รองรับตัวละครหลักที่เป็นจุดเด่น(พระอินทร์)และกรอบเล็ก ๆ สร้างขึ้นเพื่อแสดงตัวละครประกอบอื่น ๆ

เมื่อถอดโครงสร้างของรูปร่างจะพบว่าตัวละครที่เป็นจุดเด่นมีลักษณะรูปทรงสามเหลี่ยนขนาดใหญ่บนพื้นสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ที่สุด ดังนั้นจึงทำให้จุดเด่นมีความโดดเด่นขึ้นมากให้ความรู้สึกองอาจ สง่างาม ในขณะที่รูปทรงอื่น ๆ บนกรอบสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ก็ไม่ได้แย่งจุดเด่นจากภาพไป

นี่เป็นสองภาพที่ขอเอามาเล่าก่อนไปสอนในวันพรุ่งนี้

มิถุนายน 17, 2010

ศิลปะ วิ่งตาม อารมณ์

Filed under: Uncategorized — ออต @ 23:43

“ครูออตค่ะ ทำไมวันนี้ผลงานศิลปะของน้องพัฒนาลง”

สัปดาห์ที่แล้ว เจอคำถามแบบนี้ ทำเอาต้องนั่งเขียนบันทึกนี้  เหตุผลที่ต้องเขียนเพื่อจะสื่อสารกับผู้ปกครองถึงปรากฎการณ์นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ครูออตพบบ่อย ปรากฎการณ์ที่งานศิลปะของเด็กพัฒนาเรื่อย ๆ แต่วันหนึ่งผลงานของเด็กกลับตกต่ำมองไม่เป็นพัฒนาการณ์ที่ดีขึ้น เรื่องนี้ผู้ปกครองหลายคนมักตั้งข้อสงสัย

จากประสบการณ์ที่สอนศิลปะเด็กมาครูออตพบว่า ปัจจัยที่ทำใ้ห้วันหนึ่งผลงานของเด็ก ๆ แย่ลงอย่างน่าตกใจ ปัจจัยที่ว่าคือ ศิลปะเหล่านั้นวิ่งตามอารมณ์ของเด็กในแต่ละเช้าที่เขามาที่ห้องศิลปะ  เพราะครูออตสังเกตเสมอว่าเช้าไหนหรือบ่ายไหนที่เด็ก ๆ เดินเข้าห้องศิลปะด้วยอารมณ์ที่บึ้งตึง มันก็จะส่งผลไปที่ผลงานศิลปะของเด็กอย่างชัดเจน ดังนั้นผลงานที่ผู้ปกครองเห็นเมื่อเรียนเสร็จจึงเป็นเช่นนั้น

“น้องไก่แจ้ทำหน้าอ้อยซ้อย แทบจะเอาคางเกยโต๊ะศิลปะและบ่นเบา ๆ กับครูออตว่า เช้านี้ยังไม่ได้กินข้าวเลย”

“น้องพลอย ไม่อยากทำงานศิลปะเลย เมื่อครูออตเข้าไปถามก็ได้รับคำตอบว่า โดนคุณแม่ดุเพราะตื่นสาย”

“น้องเติ้ล ขอครูออตให้ครูออตเปิดอินเตอร์เน็ตให้หน่อยเพราะก่อนที่จะมาเรียน กำลังเล่นเกมอยู่ ยังไม่จบ กำลังมันส์”

“น้องโม บอกว่าวันนี้อยากเขียนสีไม้เพราะสัปดาห์ที่แล้วแม่ดุว่าสีโปสเตอร์เลอะเสื้อแล้วซักไม่ออก”

สารพัดเหตุผลที่เราจะได้รับฟังจากนักเรียน เรื่องนี้สำหรับครูออตเห็นว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนักเพียงแต่จะขอความร่วมมือจากผู้ปกครองช่วยทำให้ทุกเช้าของเด็กเป็นเช้าที่สดใสปลอดโปร่งและแสนสบายได้ไหมก่อนมาโรงเรียน เพราะหากอารมณ์ของเด็กมืดมดมันก็จะวิ่งนำไปข้างหน้า ส่งผลให้ศิลปะของเด็ก ๆ วิ่งตามอารมณ์เหล่านั้น

เรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ปกครองของน้องไก่แจ้จะช่วยครูออตได้คือ ให้เด็ก ๆ รับประทานอาหารเช้ามาให้เรียบร้อยและอิ่มสบายท้อง รับรองศิลปะของน้องไก่แจ้ต้องออกมาดีกว่าสัปดาห์ก่อน ๆ แน่นอน เพราะอาหารมื้อเช้าจำเป็นมากสำหรับเด็ก ๆ  ผู้ปกครองควรเห็นความสำคัญของเรื่องอาหารอิ่มสบาย

เรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ปกครองของน้องพลอยจะช่วยครูออตได้คือ ทำให้การตื่นนอนของเด็ก ๆ เป็นเช้าที่แจ่มใส การปลุกลูก ๆ แบบกระชากหัวออกมาจากที่นอนนั้นไม่ได้ช่วยให้เด็ก ๆ ตื่นเช้าได้เลย  การกระโตนขึ้นไปปลุก การเคาะประตูเสียงดัง การดุด่าถึงความขี้เกียจสันหลังยาว นอนกินบ้านกินเมืองไม่ได้ช่วยให้เด็ก ๆ ตื่นมาพร้อมกับความสดใส แต่กลับทำใ้ห้เป็นวันที่มืดมนแต่เช้า

เรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ปกครองของน้องเติ้ลจะช่วยครูออตได้คือ จัดความสมดุลของเด็กกับ ทีวี คอมพิวเตอร์ให้ลงตัว ก่อนที่สมองของเด็ก ๆ จะถูกกดด้วยการ์ตูนที่รุนแรงและเกมโกง อย่าให้เช้าที่สดใสของเด็กถูกทีวีและคอมพิวเตอร์ป้อนข้อมูลเรื่องรุนแรงลงไป แต่เช้าเลย เพราะการติดความรุนแรงจะติดกับเด็กไปจนโตและทุกอย่างที่ทำให้เขาไม่ได้ดู ทีวีกลายเป็นศัตรูของเขาทุกอย่างไปไม่เว้นแม้แต่ศิลปะ หากผู้ปกครองน้องเติ้ลทำได้ รับรองศิลปะของน้องเติ้ลต้องออกมาดีกว่าสัปดาห์ก่อน ๆ แน่นอน

เรื่องง่าย ๆ ที่ผู้ปกครองของน้องโมจะช่วยครูออตได้คือ จัดเตรียมเสื้อผ้าที่รองรับความเลอะเทอะได้ไม่ต้องชุดหล่อมาก็ได้ แม้ว่าที่ห้องเรียนศิลปะจะมีผ้ากันเปื้อนให้แต่การทำงานและความสนุกของเด็ก ๆ มักเลอะเสื้อผ้าไปบ้าง ซึ่งเป็นธรรมชาติของเด็กและศิลปะการดุเรื่องความสกปรกจะทำให้เด็กไม่กล้าปลดปล่อยจินตนการที่บรรเจิดเพราะความกลัว(แม่ดุ)  หากคุณแม่ทั้งหลายช่วยครูออตในเรื่องนี้ได้ รับรองศิลปะของน้องเติ้ลต้องออกมาดีกว่าสัปดาห์ก่อน ๆ แน่นอน

ส่วนในห้องเรียนศิลปะผลงานศิลปะที่วิ่งตามอารมณ์ แม้จะเป็นผลงานที่พัฒนาการลงแต่สำหรับครูออตแล้ว มันเป็นศิลปะที่มีคุณค่าเพราะเป็นผลงานที่เกิดจากการผสมผสานอารมณ์ของเด็ก ๆ  และผลงานชิ้นนี้ยังช่วยเป็นเครื่องมือให้เด็กได้ระบายอารมณ์ของตนเองออกมาจากความกดดันทั้งปวงก่อนเข้ามาห้องศิลปะ  เพราะศิลปะมีบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยปลดปล่อยอารมณ์ที่ขุ่นเคืองกดดันได้

มิถุนายน 6, 2010

พลังงานสร้างสรรค์

เด็กพิเศษของครูออตส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนมีพลังงานเยอะ สวนทางกับสมาธิในการทำงานที่น้อยกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเสมือนหน่วยก่อกวน ซึ่งมักทำให้บรรยากาศที่แสนสงบเงียบในห้องเรียนต้องอึกทึกครึกโครม

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กพิเศษมักไม่ได้รับการจัดกลุ่มให้เรียนกับเด็กปกติโดยเฉพาะกระบวนการเรียนนอกโรงเรียนที่ผู้ปกครองยอมเสียเงินที่เมื่อรวมกันหลายเดือนมักสูงกว่าค่าเทอมเสมอ ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้สถานที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน(โรงเรียนสอนพิเศษ)จึงมักปฏิเสธให้เด็กพิเศษเข้าเรียนกับเพื่อน ๆ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าให้พึงพอใจในห้องเรียน

คำแนะนำของครูสอนพิเศษจึงมักแนะนำให้นำเด็กไปฝึกสมาธิก่อน หมายถึงควรเอาลูกไปรักษาภาวะสมาธิน้อยกว่าเด็กปกติก่อนแล้วจึงส่งมาเรียน และความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก็มักเชื่อมั่นว่า ศิลปะคือกระบวนการที่จะช่วยให้ลูกของตนเองมีสมาธิมากขึ้น

ในระยะหลังที่ HUG SCHOOL จึงมักมีผู้ปกครองนำเด็กพิเศษมาให้ครูออตเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งเด็กพิเศษที่ว่ามีหลากหลายแนว แนวหนึ่งที่มักเจอกันบ่อย ๆ คือ เด็กพิเศษที่มีพลังงานเยอะ เขาจะวิ่งเล่น กระโตนและให้พลังงานของร่างกายมากกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นจึงมักเล่นกันแรง ๆ และกระโจนวิ่งกันให้วุ่น ข้างของภายในห้องกระจุยกระจาย ปรากฎการเช่นนี้มักนำมาซึ่งการไม่ประสบความเร็จในการให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะ เพราะครูหลายคนมักหมดความอดทนและเหนื่อยกับการใล่จับปูใส่กระด้ง

สิ่งที่ครูหลายคนทำคือ หยุดวิ่ง! อย่าเล่นกัน! นั่งลงแล้วทำงานซะ! การกระทำเช่นนี้เป็นเสมือนการสร้างตนเป็นศัตรูแก่เขา เพราะคำพูดเหล่านั้นไม่ได้ช่วยทำให้เขาหยุดลงเลย หรือหากเขาหยุดปฏิกิริยาการไม่อยากมาเรียนศิลปะก็จะเกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่พอสมควรกับครูศิลปะ

สิ่งหนึ่งที่ครูออตใช้และค่อยข้างได้ผลกับเด็กพิเศษของครูออตคือ การพยายามช่วงชิงสมาธิที่เขามีให้จดจ่ออยู่กับงานศิลปะและฟังเขาอธิบายงานศิลปะของเขาอย่างตั้งใจ เพราะทุกเรื่องที่เราเล่าแสดงว่าเขามีความต้องการบางอย่างที่อยากจะบอกเรา หากเราจับประเด็นที่เขาสนใจได้เราก็จะมีเรื่องคุยกับเขาต่อไป เมื่อเข้าสู่ห้วงเวลาสมาธิของเขาหมดลงและก้าวเข้าสู่ห้วงแห่งการใช้พลัง ช่วงนี้ครูออตจะรีบชิงตัวเด็ก ๆ ออกจากห้องเรียนให้เร็วที่สุด เป้าหมายคือสนามเด็กเล่นและพื้นที่โล่ง ๆ เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานได้

(น้องบัคกับการสำแดงพลังหลังหมดสมาธิแล้ว ภาพด้านข้างเป็นผลงานหลังจากที่หมดสมาธิไปแล้ว)

สิ่งที่ครูออตสังเกตเห็นคือไม่ว่าเราจะเหนี่ยงรั้งเขาให้อยู่กับผลงานศิลปะสักเท่าไหร่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะนัก หลายคนมักขีดขูดผลงานที่วาดเอาไว้สวย ๆในตอนแรกให้เละไม่เป็นรูป บางคนเอาสีราดผลงานให้มืดสนิทหรือไม่ก็วิ่งเล่นกันในห้องปาสี ปาพู่กัน ทำให้เกิดบรรยากาศที่วุ่นวายยากที่จะควบคุม และเมื่อให้เด็กออกไปปลดปล่อยพลังงานซึ่งใช้เวลาช่วงหนึ่ง หลังพลังงานหมดเด็ก ๆ จะกลับมาห้องเรียนศิลปะเช่นเดิมและครูออตมักเห็นว่าสมาธิเขาจะกลับมาเช่นเดิมแม้จะไม่มากเท่าในช่วงแรกแต่ก็ช่วยให้เด็กต่อเติมจินตนาการของตนเองจนสำเร็จลงได้

ครูศิลปะท่านไหนมีเด็ก(น่ารัก)พิเศษในห้องเช่นนี้ลองเอาไปใช้และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ของท่านว่ามีผลเป็นอย่างไร วิธีนี้อาจจะเสียเวลาในการวาดรูปไปบ้างแต่เพื่อแลกกับสมาธิที่เพิ่มมาอีกนิด ครูออตว่าน่าจะคุ้มนะครับ

มิถุนายน 1, 2010

Green Art

กระแส “โลกร้อน” กำลังมาแรง การช่วงชิงและเกาะกระแสเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการสอนศิลปะจึงถือว่าเป็นโอกาสที่ครูจะได้ทดลองกับเด็ก ๆ ที่น่ารัก

เพราะการสร้า้งโลกสีเขียวหากเรา “สร้างในหัวใจของเด็ก ๆ”  ตั้งแต่วันนี้เราจะได้โลกสีเขียวที่งดงามและออกดอกสีชมพูให้เราได้ชื่นชมไปอีกนานเท่านาน

เช้าวันนี้ครูออตพาเด็ก ๆ เดินไปที่สวนข้างห้องเรียนในบรรยากาศที่แดดร้อนและอากาศแทบจะหายใจเข้าเป็นไอร้อน ซึ่งสวนข้างห้องเรียนเป็นทั้งสนามเด็กเล่นของเด็ก ๆ แต่วันนี้อากาศร้อนจริง ๆ จนเด็ก ๆ ไม่อยากออกมาเล่นสนาม แม้ชีวิตเด็กกับสนามเด็กเล่นดูแยกกันไม่ออก แต่วันนี้โลกร้อนก็ส่งผลต่อ “วิถีการเล่นของเด็ก ๆ” เช่นกัน

ครูออตชี้ชวนให้เด็ก ๆ สัมผัสกับอากาศอันแสนร้อนและชี้ชวนให้เด็ก ๆ สัมผัสความเย็นของอากาศเมื่อเรามายืนใต้ร่มมะขามที่สนามเด็กเล่น ซึ่งเด็ก ๆ ประจักษ์กันถ้วนหน้าว่าต้นไม้ช่วยลดความร้อนให้เด็ก ๆ ได้ ดังนั้นครูออตจึงชวนเด็ก ๆ เก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่หล่นอยู่รอบ ๆ สนามนั้น เมื่อได้เมล็ดพันธุ์พอประมาณเราจึงย้ายกลับเข้าไปทำงานกันที่ห้อง

วันนี้ครูออตชวนเด็ก ๆ วาดสวนของตนเอง และปลูกเมล็ดพันธุ์ที่เด็ก ๆ เก็บมาจากสนาม นำมาปลูกลงบนกระดาษ(ที่วันนี้ืคือสวนของเด็กๆ) โดยใช้กาวติดเมล็ดพันธุ์ลงไป ในขณะเดียวกันก็หาวัสดุอื่น ๆ มาเสริมเพื่อให้เด็ก ๆ สมมติมันเป็นเมล็ดพันธุ์พืชอื่น ๆ ตามแต่จินตนาการของเด็ก ๆ เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจกิจกรรมแล้วต่างลงมือกันอย่างสนุกสนาน

เมล็ดพันธุ์ต้นไม้ที่เราเจอที่สวนข้างห้องเรียน วันนี้กลายมาเป้นอุปกรณ์ศิลปะที่แสนจะประหยัดเงินซื้อ

สีน้ำถูกนำมาใช้เพื่อสร้างสีสันในสวนของเด็ก ๆ

สวนของเด็ก ๆ ที่ลงมือประติดเมล็ดพันธุ์ลงไปในสวนเรียบร้อยแล้ว

เสร็จแล้วก็ลงสีตามใจปรารถนา ใครใคร่จินตนาการให้สวนของตนเองมีสีอะไรก็ตามใจไม่บังคับ

เด็ก ๆ กับผลงานที่ภาคภูมิใจ อย่างน้อยเขาก็ปลูกต้นไม้เพื่อโลกของเขาในอนาคต แม้จะเป็นต้นไม้ในหัวใจแต่ก็นับว่ามีคุณค่าเกินกว่าจะมองข้ามได้

Powered by WordPress