เวลาไปไหนกับเพื่อนพ้องพี่น้องครูอาจารย์ที่เราสนิทสนม เมื่อเจอบุคคลที่สามเพื่อนพ้องพี่น้องเหล่านั้นจะแนะนำและชมครูออตว่าเป็นขวัญใจเด็ก(น่ารัก)พิเศษแบบนั้นแบบนี้ พอได้ฟังก็อดดีใจไม่ได้ที่เราสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจเด็กพิเศษเหล่านั้น เด็กที่ครูหลายคนขยาดไม่อยากสอน ได้ยินแบบนี้ก็ดีใจและมีพลังในการทำงานเพิ่มเป็นทวีคูณตามประสาคนบ้ายอ
(แคมป์ตุลาคม กับโปรแกรมละครสำหรับเด็กที่โรงเรียนพัฒนาเด็ก ขอบอกว่าศูนย์รวมเด็กน่ารักพิเศษ)
สำหรับเด็กพิเศษครูออตนึกถึงหนังสือเรื่อง There’s A Boy in the Girls’ Bathroom ซึ่งเขียนโดยหลุยส์ ซัคเกอร์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เวลาไปเจอครูคนอื่น ครูออตมักจะแนะนำให้ไปอ่าน อย่างน้อยอ่านเอาสนุกก็ได้เพราะเนื้อหามันสนุกและได้แง่คิดที่พิเศษ ในฐานะที่ครูทุกคนควรจะมีและเรียนรู้จากตัวละคร ครูออตอ่านจบได้ภายในสองวันซึ่งยืนยันได้ว่าสนุกจริง ๆ
There’s A Boy in the Girls’ Bathroom เป็นเรื่องของครูที่ปรึกษาคนใหม่แสวงหาวิธีการเปิดให้เข้าถึงหัวจิตหัวใจของเด็กที่ครูทุกคนในโรงเรียนเรียก “เด็กหลังห้อง”(เด็กที่ครูทุกคนไม่ชอบ เด็กที่เพื่อน ไม่คบ) ซึ่งครูคนนี้มองว่าเป็นเด็ก(น่ารัก)พิเศษ ซึ่งกลยุทธ์และกระบวนการของครูในการเอาชนะใจของเด็กคนนี้มันแสนสนุกและครูออตขอเชิญชวนทุกคนลองซื้อมาอ่านดู
วกเข้ามาถึงเด็กน่ารักพิเศษของครูออต จากประสบการณ์ที่ได้เจอได้สอนครูออตคิดว่าหากเข้าใจ 3จ อาจจะทำให้เราสนุกกับการสอนเด็กกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะการสอนศิลปะ ซึ่ง 3จ ไม่ใช่ทฤษฎีแบบวิชาการแต่เป็นประสบการณ์ที่เจอเองและมานั่งประมวลแต่ไม่ได้สรุป
จ.จินตนาการ เรื่องนี้ปฏิเศษไม่ได้เพราะเด็กกลุ่มนี้มีจินตนาการอันบรรเจิดกว่าเด็กปกติมาก มากจนเขาไม่สามารถอยู่ในกรอบวิชาศิลปศึกษา ที่เขาใช้สอนกันในชั้นเรียนได้ เราจะพบเห็นรูปร่างรูปทรงเรื่องราวที่แสนพิเศษบ้างก็เป็นเรื่องประราว บ้างก็หลุดโลก ซึ่งจินตนาการมากนี่เองหากมือเขาไม่สามารถตอบสมองได้เด็กกลุ่มนี้จึงได้ทั้งมือ เท้า ร่างกายมาถ่ายทอดจินตนาการเหล่านั้น ด้วยจินตนาการที่มากหากกระดาษมันไม่เพียงพอเราจะพบว่าเขาอาจจะเขียนออกมานอกกระดาษ ลามไปถึงผนังห้อง บ้างก็ลามไปจึงแขนขาหน้าลำตัวของเขาเองหรือแม้แต่เพื่อนร่วมห้อง ดังนั้นจิตนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูสอนเด็กพิเศษควรเข้าใจว่าทำไมเขาจึงแสดงออกมาแบบนั้น
จ.จี๊ด เด็กพิเศษมักไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทั้ง ๆ ที่เขาอยากควบคุมตัวเองให้เหมือนนักแข่งรถ แต่เมื่อสมองมันสั่งแรงเร็วบางทีปุ่มควบคุมไม่สับสนงงงวยและไม่ตอบสนอง อยู่นอกเหนือจากการควบคุม ทำให้พลังงานของเขาเยอะกว่าปกติ ทั้งแรง เสียง ดังนั้นจึงเหมือนว่าเขาเล่นแรงกับเพื่อนจนเพื่อนเจ็บ บางทีระบายสีแรงจนสีกระจาย บางทีกรี้ดดดดเสียงดังมากหรือบางทีร้องไห้มากเหมือนใจจะขาด เหล่านี้ครูออตคิดว่าเพราะตัวเขาจี้ดดดดดดดดดดดดด จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากครูเข้าใจคงจะมีวิธีการช่วยเหลือเขาได้
จ.จิตใจ เด็กพิเศษหลายคนที่ครูออตเจอเหมือนว่าเขาอ่านใจเราออก มีทักษะพิเศษมากในการอ่านสายตาของครู อ่านกริยาท่าทสงของครูหรืออ่านความคิดของครูออก ดังนั้นหากเราคิดบวกกับเขาเขาจะสนิทสนมกับเราง่ายกว่า เราคิดที่จะจัดการเขา เรื่องนี้ครูออตมีประสบการณ์หลายคน หลายคนเราตั้งใจมากที่จะช่วยเขาวางแผนแบบนั้นแบบนี้แต่เหมือนการวางแผนในการจัดการกับเขาเหมือนเขารู้ไปหมด แต่การปล่อยสมองให้ว่างคิดบวกไว้ไม่คิดจัดการ ไม่คิดบังคับ ไม่คิดอยากได้อะไรจากเขาบรรยากาศการสอนเหมือนมันจะง่ายขึ้นมากเขาให้ความร่วมมือกับครูมากขึ้น ดังนั้นครูออตว่าเขามีทักษะพิเศษในการล่วงรู้จิตใจของคน หากเรารู้แบบนี้เราก็จะเปลี่ยนวิธีการสอนเด็กพิเศษเสียใหม่เพื่อให้เขาตอบสนองดีดีต่อการเรียนรู้ของเรา
(ฉันอยากมีตาเหมือนพญาครุฑ)
(นิ้วสำหรับทากาวไม่เพียงพอ ฉันขอเอาทั้งมือไปเลย)
3จ ที่ครูออตเอามาเล่านี้ไม่ใช่ข้อสรุปแต่เป็นเรื่องเล่าที่อยากจะเล่า เผื่อครูศิลปะ ครูสอนเด็กพิเศษอาจจะนำไปปรับใช้กับครูเอง และเอามาแลกกันนะครับอาจจะพบ จ อีกเยอะแยะเลยล่ะ
เลโอนาร์โด ดาวินชี ศิลปินเอกของโลกที่ได้รับการยอมรับว่าอัจฉริยะในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการผสานความฉลาดทั้งสมองซีกซ้ายและซีกขวาของเขาให้สัมพันธ์กันนำมาซึ่งรากฐานของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกใบใหญ่นี้
หนึ่งในรากฐานที่สำคัญที่ดาวิชีศึกษาคือ การบิน ซึ่งดาวินชีได้ศึกษาการบินของนกและนำมาใส่จินตนาการต่อเพื่อสร้างเครื่องมือที่จะช่วยให้มนุษยืบินบนฟ้าได้ และแน่นอนการริ่เริ่มของเขานำมาซึ่งเครื่องนร้่อน เครื่องบินในเวลาต่อมา ดังนั้นนกจึงกลายเป็นแรงบันดาลให้ศิลปินได้คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ให้แก่มนุษยชาติ
นกสำหรับครูออตเป็นสิ่งที่น่าอิจฉา เพราะมันสามารถบินได้อย่างเสรีบนอากาศ มองเห็นสิ่งต่าง ๆ จากมุมที่สูง ความสุขที่เห็นความอิสระทำให้เราอย่ากจะบินได้เหมือนนก ความคิดแบบนี้ไม่น่าจะแตกต่างจากเด็ก ที่เห็นนกแล้วคงอยากบินได้เหมือนนก
สัปดาห์นี้ครูออตจึงชวนเด็ก ๆ มาเป็นนกกัน ครูออตชวนเด็๋ก ๆ ร้องเพลงนกน้อยถลาลม ”เจ้านกน้อยคอยบินสู่เวหา แล่นถลาล่องลมเพลินฤดี บิน บิน ถลา ถลา แล่นลม บินล่องบินลอย บิน ถลา ถลา แล่นลม ” เมื่อเรื่องบินๆ อยู่ในหัวของเด็ก ๆ แล้วก็ไม่อยากที่จะชวนเขาสร้างสรรค์บิกนกของตัวเอง
เด็ก ๆ สัลบกันนอนและเขียนปีกแบบต่าง ๆ ให้เพื่อน การสลับกันทำงานจะช่วยให้เด็กยอมรับเพื่อนได้ง่ายขึ้นและร่วมมือในการทำงาน ซึ่งครูออตไม่ต้องลงแรงไปทำให้เลย เพียงนั่งดูอยู่ห่าง ๆ เมื่อได้ปีกครบทุกคนแล้วก็ถึงเวลาที่ครูออตช่วยตัดปีกนก(ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็อาจจะให้ตัดเองได้ ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดี)
เด็กทุกคนได้ปีกของตนเองแล้วก็ถึงเวลาตกแต่งปีกของตนเองให้สวยงาม เสมือนหนึ่งเป็นปีกของเครื่องบินลำใหญ่หรือปีกนกที่สวยงามหลากสี ครูออตแอบตัดกระดาษเล็ก ๆ(เป็นขนนก) เอาไว้เพื่อให้เด็ก ๆ ติดขนกระดาษลงบนปีกของตนเอง(เช่นกันหากเด็กโตก็อาจจะให้ตัดเอง)
ถึงเวลานี้ เด็ก ๆ ต่างลงมือตกแต่งปีกของตนเองอย่างสนุกสนาน ในขณะทำเด็กบางคนสังเกตว่าปีกของตนเองบางเกินไปอาจจะไม่แข็งแรง หลายคนให้ครูออตติดกระดาษเพิ่มเพื่อให้มันแข็งแรง(กรณีนี้แสดงว่าเด็กรู้จักคิดเชื่อมโยงจากปีกกระดาษสู่ปีกนกจริงที่แข็งแรง และความแข็งแรงจะทำให้บินได้ ,,ในความคิดเด็ก)
เมื่อได้ปีกที่สวยงาม ตามใจปรารถนาของเด็ก ๆ แล้วครูออตเสริมปีกให้แข็งแรงและร้อยเชือกเพื่อผูกปีกติดกับแขนของเด็ก ๆ เมื่อปีกพร้อม ร่างกายก็พร้อม เด็ก ๆ วิ่งรอที่สนามเด็กเล่นเพื่อนทดสอบปีกของตนเอง โดยสมมติว่าเป็นนกยักษ์ดังนั้นที่สนามเด็กเล่นเราจึงเห็นนกยักษืไร้เดียงสาบินกันให้ว่อน
“ครูออคคับ ทำไมผมบินไม่ขึ้น” อิอิ เจอคำถามแบบนี้จะตอบว่าจังได๋ดีน้อ ช่วยกันตอบนะครับ………………………
เด็กไทยสมัยนี้กล้าขึ้น กล้าพูด การคิด กล้าแสดงออก กล้าทำ กล้าคิดโดยเฉพาะในเรื่องดีดี ปรากฎการณ์แบบนี้ครูออตเห็นว่าเป็นเรื่องดี เรื่องที่น่าส่งเสริมเพราะจะกล้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องกล้าในสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้องด้วย จึงจะทำให้สังคมเราเดินทางไปสู่สังคมอุดมฮัก
แล้วเด็กที่ไม่กล้าล่ะ ควรทำอย่างไรดี? เรื่องนี้เห็นทีนักการศึกษาต้องช่วยกันขบคิดว่าเราจะมีกระบวนการอย่างไรที่จะคอยกระตุ้นให้เรากล้าแสดงออกในความคิด ความรู้สึกของตนเอง ครูออตในฐานะที่อยู่กับศิลปะก็เห็นว่า ศิลปะน่าจะเป็นทางสายหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น
เด็กที่ขาดกลัว ไม่ว่าจะกลัวสิ่งที่ตัวเองวาดออกมาจะถูกหรือผิด คิดกังวล คิดสับสนในความคิดของตนเอง มักแสดงออกผ่านเส้นที่ขาด ๆ กระท่อนกระแท่น ไม่สม่ำเสมอหรือขีดกลับไปกลับมา พฤติกรรมแบบนี้พบเห็นได้ในชั่วโมงศิลปะ และนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องเปลี่ยนแปลงให้เขามั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตนเองเห็น ตนเองรู้สึก
ในห้องเรียนวันนี้มีพี่น้องมาเรียนด้วยกัน 2 ครอบครัว คนพี่กล้าขีดกล้าเขียน แต่คนน้องจ้องมองพี่ตลอดเวลาว่าพี่จะเขียนอะไร ดังนั้นจึงเห็นสิ่งที่คนน้องเขียนนั้นถูกลบแล้วเขียน ลบแล้วเขียนอยู่ตลอดเวลา วันนี้ครูออตจึงเปลี่ยนการวาดรูปในวิชาศิลปะนี้ใหม่โดยเปลี่ยนจากการวาดรูปธรรมดาที่คุ้นเคยเป็นการวาดภาพหมึกแบบศิลปินจีน
การเขียนภาพหมึกจีนนั้น ศิลปินจะเฝ้ามองธรรมชาติอย่างเข้าใจ ช่างสังเกตและจับอารมณ์ความรู้สึกให้ได้ ดังนั้นการรับรู้ความรู้สึกผ่านสายตาจึงสำคัญเมื่อนำมารวมกับอารมณ์ ที่จะคอยกระตุ้นสมองให้สั่งการข้อมือในการวาดภาพจึงได้ภาพที่เฉียบคม ฉลับพลัน ทันที นิ่ง งดงามและเรียบง่าย การวาดรูปแบบนี้ช่วยให้คนวาดมั่นใจในการวาดมากขึ้น การวาดในครั้งแรก ๆ อาจจะยากแต่เมื่อฝึกฝน ศิลปินก็จะมั่นใจในตัวเองขึ้น
ชั่วโมงศิลปะคราวนี้ครูออตก็ไม่ปล่อยให้ความไม่กล้าอยู่กับเด็ก ๆ นานไป จึงลวงเด็ก ๆ ให้ออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมหันออกมามองสวนสวยข้าง ๆ ห้องเรียน ให้เด็กเฝ้ามองต้นไม้ ใบไม้ที่ตนเองพบ ทั้งที่อยู่บนต้น ใบที่ร่วงลงดิน และใบที่อยู่บนดิน และวาดภาพเหล่านั้นด้วยสีหมึก เมื่ออธิบายกิจกรรมแล้ว ช่วงเวลานี้จึงปล่อยให้เด็ก ๆ บรรเลงเพลงศิลปะเพียงลำพัง เพื่อให้เด็กมีสมาธิในการทำงาน(ขออนุญาตไปจิบกาแฟก่อนนะครับ)
ผ่านไปไม่กี่สิบนาที ครูออตกลับมาแอบดูนักเรียนแต่ละคนทำงาน ซึ่งมองไปอีกฟากเห็นกระดาษที่ถูกวาดสีหมึกลงไป ตากเต็มพื้น และหากดูเรียงลำดับไปทีละชิ้นเราจะพบว่า เส้นของการวาดของเด็ก ๆ มั่นคงและสม่ำเสมอขึ้น และภาพวาดเหล่านั้นช่างเดียงสาไม่ต่างจากศิลปินพู่กันจีนเอาเสียเลย
เมื่อได้ผลงานเป็นที่พอใจและเยอะขนาดนี้ ครูออตจึงชวนเด็ก ๆ เอาผลงานของตนเองไปติดที่ผนัง เพื่อโชว์ผลงานให้ทุกคนได้ชม ได้รู้ว่าพวกเรากล้ามากขึ้น กล้าตัดสินใจ กล้าขีดเขียน แล้ววันหนึ่งความมั่นใจของเด็ก ๆ คงจะเพิ่มขึ้นเหมือนกิจกรรมการวาดสีหมึกในวันนี้
เจอกันกิจกรมครั้งต่อไป
กล้ามเนื้อมัดเล็กแต่ไม่เล็กอย่างชื่อ ที่ครูออตจะเล่าต่อไปเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กที่อยู่บริเวณนิ้วมือและข้อมือ แม้จะชื่อว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กแต่ความสำคัญไม่ได้เล็กเหมือนชื่อเลย เพราะหากเด็กตัวเล็ก ๆ มีกล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรง มันจะนำไปสู่พัฒนาการในเรื่องอื่น ๆ ได้ดีทั้งการจับ หยิบ การขีดเขียน
งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่า สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา 10 ปีแรก ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ดังนั้นกิจกรรมศิลปะจึงควรจะได้ส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กเหล่านี้
สัปดาห์์นี้ครูออตออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องศิลปะโดยเน้นกล้ามเนื้อมัดเล็กเป็นสำคัญเพื่อตรวจสอบดูถึงคุณภาพของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ เหล่านั้นและส่งเสริมให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นถูกใช้งานมากขึ้น กิจกรรมที่ว่าครูออตตั้งชื่อมันว่า หล่อ เก็บ กด
ดินเหนียวเป็นวัตถุดิบหลักในกิจกรรมศิลปะครั้งนี้ ซึ่งทุกโรงเรียนสามารถหาดินเหนียวได้ง่ายโดยไม่ต้องซื้อหา ดังนั้นมันจึงราคาถูกแสนถูกแต่เมื่อนำมาใช้กับกิจกรรมศิลปะเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กมันจึงมีค่ามหาศาล นอกจากนั้นยังมีลวดสำหรับตัดดินเหนียว ผ้าเปียกๆสำหรับคลุมดิน ทั้งหมดนี้หาไม่ยากและถูกแสนถูก
นำดินทั้งหมดที่หามาได้ให้เด็ก ๆ นวดให้เนื้อดินเข้ากันให้ดี (แค่เริ่มกิจกรรมกล้ามเนื้อมัดเล็ดก็ถูกทำงานซะแล้ว) มีความนุ่มไม่แข็งกระด้าง หรือหากมีเศษหินเศษไม้ก็สามารถหยิบออกได้ การหยิบวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณนิ้วทำงานได้ดีขึ้นแข็งแรงขึ้น เมื่อนวดได้ที่แล้วก็นำมาหล่อให้เป็นก้อนเนื้อเดียวกัน
เมื่อได้ดินก้อนใหญ่แล้ว ครูออตให้เด็ก ๆ เอาลวดตัดดินมาตัดดินเหนียวออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยใช้มือหนึ่งกดดินเหนียว มือหนึ่งควบคุมลวดตัดดินให้สามารถตัดดินเหนียวที่ติดกันเแน่นให้ขาดออกจากกัน ขึ้นตอนนี้เด็กอาจจะได้พัฒนาทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กควบคู่กันไปด้วย
เมื่อตัดดินหนียวออกมาได้ ก็นำมาตัดย่อยออกให้เล็กลงเท่าขนาดข้อมือของแต่ละคน โดยพยายามให้เด็กตัดให้เล็กเท่าที่จะทำได้
(ลูกชายกำลังตัดดินเหนียวออกมาจากก้อนมวลใหญ่)
(ลูกชายกำลังตัดดินออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ )
เมื่อได้ดินเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก็นำมาหล่อให้กลายเป็นเม็ดดินรูปแบบกลมโดยใช้การหล่อ 2 แบบคือมือประกบมือ และมือประกบพื้นเพื่อให้ดินเหนียวมีรูปทรงกลม การหล่อดินแบบนี้ทำให้เด็ก รู้จักการควบคุมข้อมือเพราะหากควบคุมไม่เป็นก้อนดินก็จะไม่กลม ขึ้นตอนนี้ใช้เวลานานพอสมควรเพื่อให้ได้จำนวนก้อนดินกลมจำนวนมาก อาจจะนำมาใช้ฝึกสมาธิได้ แต่หากสังเกตเห็นว่าเด็กเมื่อยมือก็ให้พักก่อนหรือครูช่วยทำก็ได้
(ตักก้อนดินเล็ก ๆ แล้วค่อยหล่อเป็นก้อนกลม)
นำดินก้อนกลมมาเรียงกันไว้แล้วนำผ้าเปียกมาคลุมเอาไว้ไม่ใช้ผิวดินแห้งเกินไป นำถ้วย ชาม จาน กระถางหรือแบบพิมพ์ที่ต้องการมาให้เด็ก ๆ เลือก แล้วให้เด็กนำดินก้อนกลมไปกดจนเต็มแม่พิมพ์เหล่านั้น โดยกดที่ละก้อน การกดไม่แน่นจะทำให้ก้อนดินไม่ติดกันเมื่อถอดพิมพ์ออก รูปทรงดินจะไม่แข็งแรงและหลุดออกจากกันได้ง่าย
(การกดโดยใช้ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ลูกชายสองคนกับผลงานที่ทำร่วมสองชั่วโมงทั้งเหนื่อยทั้งสนุก)
นี่เป็นเพียงกิจกรรมง่าย ๆแต่นับว่าได้ประโยชน์มาก ลองทำกันดูนะครับ
ครูออตสอนที่ฮักสคูลมาจะเข้าปีที่สามแล้ว ถือว่าเป็นครูกลุ่มแรก ๆ ของโรงเรียน ดังนั้นจึงผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอพอกับอายุของโรงเรียน ที่นี่ผู้บริหารได้สร้างวัฒนธรรมการเปิดรับความคิดใหม่ ๆ ของครูเสมอ ๆ ดังนั้นการที่เรามีอะไร อยากทำอะไร อยากคิดอะไร อยากบอก อยากสื่อสารอะไรจึงทำไปโดยไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องกลัว การเกิดวัฒนธรรมแบบนี้จึงทำให้โรงเรียนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว
ในส่วนการจัดการความรู้(KM) แม้ไม่ได้ใช้โมเดิลการจัดการความรู้อะไรในระบบวิชาการแต่ ที่นี่ก็เกิดการจัดการความรู้แบบธรรมชาติ ซึ่งผมว่ามีเนียนไปในเนื้องานที่สุด มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน บอกเล่า กันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นครูและบุคคลากรทุกคนจึงไม่ได้รู้สึกว่าถูก โมเดิลของการจัดการความรู้ครอบงำอยู่ การที่ไม่มีอะไรมาจ้องมอง การไม่มีดัชนีมาแปะ ทำให้ทุกอย่างสบาย ๆ ขึ้นนำไปสู่การจัดการความรู้ที่เป็นธรรมชาติที่สุด
ก้าวสู่ปีที่ 3 ของโรงเรียนครูออตจึงเชิญชวนครูและบุคคลากรของโรงเรียนเข้ามาร่วมเขียนเรื่องราวและงานของตนใน Lnapanya เพื่อที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับคนข้างนอกมากขึ้น อย่้างน้อยก็พี่น้องชาวลานที่มีอยู่ทุกภูมิภาค ทุกสาขาวิชาชีพ ทุกมุมมอง เพื่อให้ครูได้นำมุมมองที่ได้รับไปปรับใช้กับวัฒนธรรมการทำงานของตน เรื่องนี้ครูออตเห็นว่าน่าจะสนุกและลานปัญญาน่าจะมีสีสันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสุนทรียศาสตร์
ทันที่ที่ครูออตโพสในกลุ่มของครูฮักสคูล ผู้บริหารก็แสดงความสนใจและสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะการเขียนในลาน ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีพลังในการขับเคลื่อนแนวคิดดีดี ดังนั้นลานเสวนาต่อไปเห็นที่จะได้เชิญจอมยุทธ์ด้านการเขียนBLOG ไปช่วยเล่าประสบการณ์การเขียน BLOG ให้กับครูที่ฮักสคูลได้รับฟังกันทั้งจุดเริ่มต้นการเขียนและการพัฒนาการเขียน ไม่แน่เราอาจจะได้ BLOGGER มือใหม่ไฉไลด้านสุนทรีย์มาร่วมร่ายมนต์เสน่ห์แห่งสุนทรียศาสตร์ผ่านลานของเราก็ได้
ข้อมูลของโรงเรียนเบื้องต้น สามารถสืบค้นผ่านช่องทางดังนี้
เด็กพิเศษของครูออตส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนมีพลังงานเยอะ สวนทางกับสมาธิในการทำงานที่น้อยกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเสมือนหน่วยก่อกวน ซึ่งมักทำให้บรรยากาศที่แสนสงบเงียบในห้องเรียนต้องอึกทึกครึกโครม
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กพิเศษมักไม่ได้รับการจัดกลุ่มให้เรียนกับเด็กปกติโดยเฉพาะกระบวนการเรียนนอกโรงเรียนที่ผู้ปกครองยอมเสียเงินที่เมื่อรวมกันหลายเดือนมักสูงกว่าค่าเทอมเสมอ ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้สถานที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน(โรงเรียนสอนพิเศษ)จึงมักปฏิเสธให้เด็กพิเศษเข้าเรียนกับเพื่อน ๆ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าให้พึงพอใจในห้องเรียน
คำแนะนำของครูสอนพิเศษจึงมักแนะนำให้นำเด็กไปฝึกสมาธิก่อน หมายถึงควรเอาลูกไปรักษาภาวะสมาธิน้อยกว่าเด็กปกติก่อนแล้วจึงส่งมาเรียน และความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก็มักเชื่อมั่นว่า ศิลปะคือกระบวนการที่จะช่วยให้ลูกของตนเองมีสมาธิมากขึ้น
ในระยะหลังที่ HUG SCHOOL จึงมักมีผู้ปกครองนำเด็กพิเศษมาให้ครูออตเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งเด็กพิเศษที่ว่ามีหลากหลายแนว แนวหนึ่งที่มักเจอกันบ่อย ๆ คือ เด็กพิเศษที่มีพลังงานเยอะ เขาจะวิ่งเล่น กระโตนและให้พลังงานของร่างกายมากกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นจึงมักเล่นกันแรง ๆ และกระโจนวิ่งกันให้วุ่น ข้างของภายในห้องกระจุยกระจาย ปรากฎการเช่นนี้มักนำมาซึ่งการไม่ประสบความเร็จในการให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะ เพราะครูหลายคนมักหมดความอดทนและเหนื่อยกับการใล่จับปูใส่กระด้ง
สิ่งที่ครูหลายคนทำคือ หยุดวิ่ง! อย่าเล่นกัน! นั่งลงแล้วทำงานซะ! การกระทำเช่นนี้เป็นเสมือนการสร้างตนเป็นศัตรูแก่เขา เพราะคำพูดเหล่านั้นไม่ได้ช่วยทำให้เขาหยุดลงเลย หรือหากเขาหยุดปฏิกิริยาการไม่อยากมาเรียนศิลปะก็จะเกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่พอสมควรกับครูศิลปะ
สิ่งหนึ่งที่ครูออตใช้และค่อยข้างได้ผลกับเด็กพิเศษของครูออตคือ การพยายามช่วงชิงสมาธิที่เขามีให้จดจ่ออยู่กับงานศิลปะและฟังเขาอธิบายงานศิลปะของเขาอย่างตั้งใจ เพราะทุกเรื่องที่เราเล่าแสดงว่าเขามีความต้องการบางอย่างที่อยากจะบอกเรา หากเราจับประเด็นที่เขาสนใจได้เราก็จะมีเรื่องคุยกับเขาต่อไป เมื่อเข้าสู่ห้วงเวลาสมาธิของเขาหมดลงและก้าวเข้าสู่ห้วงแห่งการใช้พลัง ช่วงนี้ครูออตจะรีบชิงตัวเด็ก ๆ ออกจากห้องเรียนให้เร็วที่สุด เป้าหมายคือสนามเด็กเล่นและพื้นที่โล่ง ๆ เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานได้
(น้องบัคกับการสำแดงพลังหลังหมดสมาธิแล้ว ภาพด้านข้างเป็นผลงานหลังจากที่หมดสมาธิไปแล้ว)
สิ่งที่ครูออตสังเกตเห็นคือไม่ว่าเราจะเหนี่ยงรั้งเขาให้อยู่กับผลงานศิลปะสักเท่าไหร่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะนัก หลายคนมักขีดขูดผลงานที่วาดเอาไว้สวย ๆในตอนแรกให้เละไม่เป็นรูป บางคนเอาสีราดผลงานให้มืดสนิทหรือไม่ก็วิ่งเล่นกันในห้องปาสี ปาพู่กัน ทำให้เกิดบรรยากาศที่วุ่นวายยากที่จะควบคุม และเมื่อให้เด็กออกไปปลดปล่อยพลังงานซึ่งใช้เวลาช่วงหนึ่ง หลังพลังงานหมดเด็ก ๆ จะกลับมาห้องเรียนศิลปะเช่นเดิมและครูออตมักเห็นว่าสมาธิเขาจะกลับมาเช่นเดิมแม้จะไม่มากเท่าในช่วงแรกแต่ก็ช่วยให้เด็กต่อเติมจินตนาการของตนเองจนสำเร็จลงได้
ครูศิลปะท่านไหนมีเด็ก(น่ารัก)พิเศษในห้องเช่นนี้ลองเอาไปใช้และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ของท่านว่ามีผลเป็นอย่างไร วิธีนี้อาจจะเสียเวลาในการวาดรูปไปบ้างแต่เพื่อแลกกับสมาธิที่เพิ่มมาอีกนิด ครูออตว่าน่าจะคุ้มนะครับ
ปีศาจที่ชื่อศิลปะเกาะกินจิตใจเด็ก ๆ มานาน แต่ครูออตเชื่อว่ามันรักษาให้ทุเลาลงไปได้ ยาขนานที่ครูออตทดลองใช้อยู่ที่ HUG SCHOOL คือตำรับที่เรียกว่า ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน ดังนั้นบันทึกนี้จึงจะขอเสนอโอสถที่ครูออตใช้รักษาเจ้าปีศาจตัวนั้นเพื่อบำรุงจิตใจที่งดงามของเด็ก ๆ ให้ฝ้นมีชีวิตชีวาและเบิกบานอีกครั้ง
ก่อนนอื่นต้องขอออกตัวไว้เลยว่าครูออตไม่ใช่ครูในสายวิชาชีพครู เป็นแต่เพียงครูพักรักจำ ดู สังเกต การเรียนการสอนของบรรดาครูมืออาชีพทั้งหลายและนำมาทดลองใช้กับเด็ก ๆ ที่ตนเองสอน โดยไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่ปีศาจตัวร้ายที่ชื่อศิลปะจะกลับมา และพัฒนาสิ่งที่ดีให้ดีขึ้นพร้อม ๆ กับบอกเล่าให้คนอื่นได้ลองเอาไปประยุกต์ใช้กันดู ดังนั้นบันทึกนี้จึงไม่ใช่ข้อเขียนในเชิงวิชาการที่สามารถอ้างอิงได้แต่ครูออตจะบอกว่า ลองเอาไปใช้ได้
“ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน” นั้นเป็นห้องเรียนที่เน้นการเปลี่ยนทัศนคติของเด็ก ๆ ให้หลับมาสนใจทำงานศิลปะอีกครั้ง ในฐานะศิลปะเป็นสิ่งบำเรอการเติบโตของหัวใจให้งดงามและเบิกบาน สิ่งนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ครูออตใช้ในการสร้างสรรค์ศิลปะสำหรับเด็ก ห้องเรียนแ่ห่งความเบิกบาน ประกอบด้วยเรื่องกว้าง ๆ 3 เรื่อง เพื่อให้หัวใจของเด็ก ๆมีศิลปะที่เบิกบาน มีความสุขและกำจัดปีศาจตัวร้ายที่ชื่อศิลปะให้กลายร่างเป็นยาบำรุงหัวใจ ปัจจัย 3 อย่างของห้องเรียนเบิกบานคือ
1. ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะเน้นการเรียนเป็นกลุ่มเพื่อให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รับและมอบไมตรีกับกัลยาณมิตรในห้องเรียน
เรื่องนี้อาจจะะนำไปปอธิบายควบคู่กับเรื่อง EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ได้ ดังนั้นการจัดกิจกรรมทางศิลปะครูออตจึงเสนอให้ห้องเรียนควรมีเด็กเรียนเป็นกลุ่ม ถ้าอย่างที่HUG SCHOOL ห้องศิลปะเล็กมาก ๆ ก็ไม่ควรเกิน 6 คน กิจกรรมในห้องจึงคล้ายกับเป็นสนามเด็กเล่นที่เด็ก ๆ ใช้เล่นร่วมกัน ทั้งนี้อาจจะมีความรักกันและมีทะเลากันบ้าง ขัดใจกันบ้าง หากไม่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบมาก ครูควรปล่อยให้เด็ก ๆ แก้ไขสถานการณ์กันเอง เพราะธรรมชาติของเด็ก ๆ ความขัดแย้งเหล่านั้นจะถูกลืมในไม่ช้าสักครูก็เล่นด้วยกันราวกับไม่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งหากมีข้อขัดแย้งรุนแรงครูก็แค่ช่วยเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นของเด็กกับคนในห้องให้ฟังเช่น เล่านิทานที่สอนประเด็นความขัดแย้งในห้องนั้นได้ กิจกรรมบางกิจกรรมก็ให้เด็ก ๆ ได้ร่วมกันทำแบบนี้เราก็สอนเรื่องผู้นำผู้ตามแบบธรรมชาติไม่ต้องนั่งบรรยาย
2. ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะสนับสนุนให้เด็กรู้จักการชื่นชมความงดงามท่ามกลางสรรพสิ่งที่แวดล้อมตัวของเขา
ไม่ว่าจะเป็นแสงที่สาดเข้ามาในห้อง สายฝนที่โปรยปราย เสียงฟ้าที่ร้องคำราม เจ้ามดตัวน้อยที่วิ่งเล่นในห้องเรียนศิลปะ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะถุฏนำมาใช้ในกิจกรรมศิลปะของห้องเรียนเราแทบทั้งสิ้น ซึ่งเสมือนหนึ่งจะบอกกับเด็ก ๆ ว่า เราคือส่วนหนึ่งของโลกใบงามและเราก็เกี่ยวกข้องกับสิ่งอื่น ๆในโลกใบงาม เราทุกคนเป็นเพื่อนกัน ถ้าเด็ก ๆ คิดว่าตัวเองสวย น่ารักดังนั้นมดตัวน้อย ๆ เขาก็คิดว่าเราน่ารักเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องดูความงามของกันและกัน
3. ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะเน้นให้เด็ก ๆ มีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะมีสมาธิในการทำงานและปล่อยวางความทุกข์ทั้งปวง
เรื่องนี้เน้นเป็นพิเศษ เพราะศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่งของการฝึกสมาธิ และเด็ก ๆ ที่ส่งมาเรียนศิลปะที่ห้องเรียนของ HUG SCHOOL หลายคนก็มีปัญหาเรื่องสมาธิ หลายเรื่องที่นี่จะเน้นให้เด็ก ๆ ช้าลง เพื่อให้เด็กได้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับปลายดินสอที่สัมผัสกระดาษในการร่างภาพเจ้ามดน้อย ให้เด็ก ๆ เห็นขา เห็นตา เห็นหนวดของมดอย่างชัดเจน หรือให้เด็ก ๆเห็นเนื้อของสีแดงกับสีเขียว กำลังต่อสู่กันอยู่บนผืนภาพขณะลงสีน้ำใบไม้ที่เจ้ามดกำลังไต่อยู่ เรื่องนี้เด็ก ๆ จะมีความสุข สงบ เบิกบานได้แม้ขณะวาดมดเพียงตัวเดียว
นี่เป็นแนวคิดสำคัญของการเรียนศิลปะที่ ห้องเรียนแห่งความเบิกบานของครูออต
แมงมุมลายตัวนั้น ฉันเห็นมันซมซานเหลือทน
วันหนึ่งมันเปียกฝน ไหลลงจากบนหลังคา
พระอาทิตย์ส่องแสง น้ำแห้งเหือดไปลับตา
มันรีบไต่ขึ้นฝา หันหลังมาทำตาลุกวาว
ครูออตนำเข้ากิจกรรมศิลปะในสัปดาห์นี้ด้วยเพลงแมงมุมลาย เพลงนี้ไม่ทราบใครแต่งแต่ร้องไปร้องมา ต่อกันไปต่อกันมา จนไม่สามารถอ้างแหล่งที่มาได้ เพลงนี้เด็ก ๆ ชอบเพราะมันมีท่าประกอบด้วย ซึ่งเป็นการฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือและประสาทสัมผัสของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการต่อหัวแม่มือด้านหนึ่งกับนิ้วก้อยของมืออีกด้านหนึ่ง
หลังจากที่เด็ก ๆ กำลังคิดถึงเจ้าแมงมุมลาย ครูออตสบโอกาสก็ชวน ๆ เด็ก ๆ วาดรูปเจ้าแมงมุมกัน
- ชั่วโมงเด็กเล็ก ๆ ก็ชวนเด็ก ๆ คิดถึงขนาดตัวแมงมุม ขาแมงมุม บ้านแมงมุม อาหารแมงมุม ครอบครัวแมงมุม ประหนึ่งเจ้าแมงมุมเป็นครอบครัวของเด็ก ๆ เอง
- ชั่วโมงเด็กโต ไม่ต้องอธิบายอะไรมากเพราะเด็ก ๆ มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับแมงมุมมากพอที่จะคิด จินตนาการต่อจากเพลงได้แล้ว ครูทำหน้าที่เป็นเพียงลูกมือก็พอ หลังจากนี้ก็ปล่อย ๆ เด็ก ๆ ลงมือทำงานของตนเองได้แล้ว
ไปดูผลงานชุดเจ้าแมงมุมของเด็ก ๆ ครูออตกันครับ ว่าแมงมุมของเด็ก ๆ แต่ละคนเป็นอย่างไร และช่วยเพิ่มจินตนาการอะไรให้เด็ก ๆ ได้บ้างจากกิจกรรมนี้
-
ผลงานเจ้าแมงมุมของกลุ่มเด็กเล็กอายุ 3-5 ขวบ ซึ่งสามารถสร้างรูปทรงของเจ้าแมงมุมออกมาได้ แสดงว่ากล้ามเนื้อมือกับสมองมีความสัมพันธ์กันดี แต่เด็กก็มีจินตนาการ อย่างน้องข้าวปั้น(รูป 1)ก็ใส่ตาเจ้าแมงมุมให้ใหญ่เพราะมันลุกวาว(ตามเนื้อเพลง) น้องต้นหวาย(รูป 2)ก็มีแมงมุมนับร้อยขา น้องเปาเปา(รูป3)ใส่ขาแมงมุมให้ยาวออกไปไม่สิ้นสุด
-
ผลงานกลุ่มเด็กโต( 6-7ขวบ) เด็กกลุ่มนี้แสดงออกในเรื่องราวได้มากขึ้นเช่นการที่สร้างบ้านชักใยให้เจ้าแมงมุม การที่เจ้าแมงมุมมีคนในครอบครัว อาหารของเจ้าแมงมุมที่มาติดที่ใยแมงมุม และบรรยากาศของภาพที่มีการใส่พื้นที่ด้านหลังของภาพ ซึ่งแสดงออกผ่านสีและฝีแปรงในการระบาย
ว่าง ๆ ในช่วงปิดเทอมนี้ ชวนเจ้าตัวน้อยที่บ้าน หรือ เจ้าตัวน้อยข้างบ้านมาวาดรูปเจ้าแมงมุมกันนะครับ
ข้อควรระวัง ถ้าจะให้ดีอย่าลืมชวนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้วยนะครับเพราะเจ้าแมงมุมมีพิษร้าย เดี๋ยวเด็ก ๆ คลั่งไคล้่อยากจะจับเจ้าแมงมุมในสวนหลังบ้านมาเป็นเพื่อนนอน แบบนี้อันตรายแน่ ๆ
สกุลงานศิลปะแนว Expressionismเติบโตและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยการนำของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่นาม Edvard Munchผู้ซึ่งปฏิวัติการแสดงออกทางศิลปะที่เน้นการระบายออกของจิตใจภายใต้แรงบีบบังคับซึ่งทะลักออกไม่ได้ด้วยภาวะจิตใจของตนเองซึ่งขาดพลังบางอย่าง ดังนั้นการระบายด้วยการแสดงออกทางศิลปะจึงเป็นสิ่งช่วยศิลปินให้มีความผ่อนคลาย
Expressionism ถือกำเนิดจากแนวคิดการแสดงออกอย่างฉับพลันทันใด ไม่เน้นว่าต้องร่างภาพ ไม่ต้องคิดวางแผนอะไรมาก แต่แสดงออกภายใต้แรงขับภายในของศิลปิน โดยไม่ได้ยึดถือกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับใด ๆ แม้แต่ทฤษฎีสีที่ศิลปินยอมรับเป็นตำราเรียนต่อ ๆ กันมาดังนั้นฝีแปรงจึงดิบ ๆ แรง ๆ
ผลงานของ Edvard Munch
เช่นเดียวกับการสอนเด็กน่ารักพิเศษวันนี้ ครูออตเอาแนวคิดในเรื่องนี้กลับมาสอนเด็กน่ารักพิเศษ โดยให้เขาได้ปลดเปลื้องและระบายสิ่งที่กดดันออกมาเป็นงานศิลปะ ซึ่งน้องมีจินตนาการและความต้องการวาดสิ่งต่าง ๆ มากมายแต่หลายครั้งกลับวาดสิ่งนั้นออกมาเป็นภาพไม่ได้ ความหงุดหงิดนี้บางครั้งทำให้แสดงออกมาแบบกร้าวร้าวอยู่บ้าง ดังนั้นการให้เขาผลักแรงขับออกมาจึงน่าจะเป็นช่องทางให้เขาได้ผ่อนครายความกดดันลงบ้าง ไปตามดูการทำงานของเด็กน่ารักพิเศษคนนี้ครับ
ครูออตติดกระดาษไว้บนกระดานเพื่อให้ง่ายต่อการออกลีลาท่าทาง ซึ่งการยืนทำงานทำให้อิสระในการเคลื่อนไหว
แม้จะมีกระดาษ แต่ศิลปินน้อยระบายออกนอกกระดาษทุกครั้ง ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะเขาต้องการพื้นที่ที่ลื่นไหลและอิสระกว้างใหญ่
บางครา พู่กันอย่างเดียวระบายออกไม่ถึงใจ เด็กน่ารักพิเศษของครูออต ขอเปลี่ยนเป็นฟองน้ำแทน อิอิ มีหรือครูออตจะหวง จัดไปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป
ผลงานของเด็กน่ารักพิเศษของครูออตครับ ตอนแอบถ่ายเวลาทำงานไม่เคยอาย แต่พอให้ถ่ายกับผลงาน ผมอายครับ อิอิ อาย อาย อาย
เสร็จภารกิจและผ่อนคลาย ครูออตให้น้องทำความสะอาดวัสดุอุปกรณ์ด้วยตนเอง เพราะในอนาคตต้องช่วยเหลือตนเองให้มาก ๆ ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นศิลปะนิสัย ที่ครูควรคำนึง
เป็นอย่างไรบ้างครับ ห้องเรียนศิลปะสกุล Expressionism ของเรา ท่านไหนสนใจลุกขึ้นมาวาดรูป เชิญเลยครับ ระบายมันออกมาก่อนที่เส้นเลือดในสมองจะแตก อิอิ
เสียงเด็ก ๆ เจี้ยวจ้าวมาแต่ไกล เมื่อผลักประตูเข้าห้องเรียนศิลปะก็ได้รับการตอบรับจากเด็ก ๆ วิ่งกรูเข้ามาทักทายครูกันอย่างสนุกสนาน เด็ก ๆ ที่น่ารักต่างแย่งเล่าเรื่องของตนเองให้ครูฟัง อิอิ ครูออตรับไม่ไหวก็ได้แต่อื้อๆๆ ครับๆๆ หลังฟังพอหอมปากหอมคอแล้ว เด็ก ๆ ก็กระจายกันไปเข้าประจำเก้าอี้ตัวเอง
วันนี้ครูออตคิดถึงงานของศิลปินเอกของโลกที่ใช้การสร้า้งสรรค์งานศิลปะด้วยจุด คือ แทนที่จะใช้การลากเส้นให้เกิดรูปทรงแต่ศิลปินใช้จุดเล็ก ๆ ต่อกันหรือประสานกันเพื่อสร้า้งรูปร่างรูปทรงตามจินตนาการของศิลปินเอง เราเรียกศิลปะสกุลนี้ว่า Pointillism แม้แต่ Vincent van Gogh ก็ยังเคยใช้เทคนิคการจุดนี้สร้า้งสรรค์ผลงานของเขา ศิลปินไทยเช่นธีระวัฒน์ คะนะมะ ก็ใช้เทคนิคนี้ในการทำงานศิลปะของเขา
( Vincent van Gogh วาดภาพเหมือนตัวเองด้วยจุด ภาพประกอบจาก http://en.wikipedia.org)
(ตัวอย่างผลงานการสร้างสรรค์จุดของธีระวัฒน์ คะนะมะ ศิลปินชาวอีสาน)
การวาดภาพด้วยจุดแบบนี้ หากสังเกตให้ดีเราจะพบว่า มันช่วยฝึกสมาธิได้้เป็นอย่างดี เพราะเราจะจดจ่ออยู่กับตำแหน่งที่เราจะแต้มจุดหรือแต้มสีลงไปเสมอ ๆ ที่ละจุด ๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การสร้า้งสรรค์งานจิตรกรรมด้วยจุดนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ มีสมาธิมากขึ้น ดังนั้นวันนี้ครูออตจึงเอาการทำงานแบบนี้มาทดลองให้เด็ก ๆ ทำ
แต่เพื่อให้ทันเวลา ครูออตเปลี่ยนจากการจุดด้วยพู่กันมาใช้นิ้วมือแทน ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ ทำงานเสร็จทันเวลาและพอเหมาะกับสมาธิของเด็กในช่วงวัยนี้เนื่องจากจุดของนิ้วมือใหญ่กว่าจุดพู่กัน อันจะทำให้งานเสร็จได้ในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงนี้
เมื่ออธิบายเรื่องราวของศิลปินและตัวอย่างผลงานให้เด็ก ๆ เข้าใจคร่าว ๆ แล้ว ครูออตก็ปล่อยให้เด็ก ๆ ลงมือทำงานของตนเองอย่างอิสระ แน่นอนครูออตเป็นเพียงผู้ดูแล อำนวยความสะดวกในการทำงานของเด็ก ๆ เท่านั้น การวาดภาพด้วยการจุดด้วยนิ้วมือแสดงผลอย่างชัดเจนเพราะชั่วโมงนี้เสียงเจี้ยวจ้าวในห้องเรียนเปลี่ยนเป็นความเงียบสงบอย่างไม่น่าเจอว่านี่เป็นห้องศิลปะของเด็ก อิอิ
(บรรยากาศการทำงานของเด็ก ๆ ที่ต่างจดจ้องอย่างมีสมาธิอยู่กับผลงานศิลปะของตนเอง)
เด็ก ๆ กับผลงานศิลปะที่ภาคภูมิใจ