ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ตุลาคม 21, 2011

ประสบการณ์ 3จ กับเด็กน่ารักพิเศษ

เวลาไปไหนกับเพื่อนพ้องพี่น้องครูอาจารย์ที่เราสนิทสนม เมื่อเจอบุคคลที่สามเพื่อนพ้องพี่น้องเหล่านั้นจะแนะนำและชมครูออตว่าเป็นขวัญใจเด็ก(น่ารัก)พิเศษแบบนั้นแบบนี้ พอได้ฟังก็อดดีใจไม่ได้ที่เราสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจเด็กพิเศษเหล่านั้น เด็กที่ครูหลายคนขยาดไม่อยากสอน ได้ยินแบบนี้ก็ดีใจและมีพลังในการทำงานเพิ่มเป็นทวีคูณตามประสาคนบ้ายอ

(แคมป์ตุลาคม กับโปรแกรมละครสำหรับเด็กที่โรงเรียนพัฒนาเด็ก ขอบอกว่าศูนย์รวมเด็กน่ารักพิเศษ)

สำหรับเด็กพิเศษครูออตนึกถึงหนังสือเรื่อง There’s A Boy in the Girls’ Bathroom ซึ่งเขียนโดยหลุยส์ ซัคเกอร์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เวลาไปเจอครูคนอื่น ครูออตมักจะแนะนำให้ไปอ่าน อย่างน้อยอ่านเอาสนุกก็ได้เพราะเนื้อหามันสนุกและได้แง่คิดที่พิเศษ ในฐานะที่ครูทุกคนควรจะมีและเรียนรู้จากตัวละคร ครูออตอ่านจบได้ภายในสองวันซึ่งยืนยันได้ว่าสนุกจริง ๆ

There’s A Boy in the Girls’ Bathroom เป็นเรื่องของครูที่ปรึกษาคนใหม่แสวงหาวิธีการเปิดให้เข้าถึงหัวจิตหัวใจของเด็กที่ครูทุกคนในโรงเรียนเรียก “เด็กหลังห้อง”(เด็กที่ครูทุกคนไม่ชอบ เด็กที่เพื่อน ไม่คบ) ซึ่งครูคนนี้มองว่าเป็นเด็ก(น่ารัก)พิเศษ ซึ่งกลยุทธ์และกระบวนการของครูในการเอาชนะใจของเด็กคนนี้มันแสนสนุกและครูออตขอเชิญชวนทุกคนลองซื้อมาอ่านดู

วกเข้ามาถึงเด็กน่ารักพิเศษของครูออต จากประสบการณ์ที่ได้เจอได้สอนครูออตคิดว่าหากเข้าใจ 3จ อาจจะทำให้เราสนุกกับการสอนเด็กกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะการสอนศิลปะ ซึ่ง 3 ไม่ใช่ทฤษฎีแบบวิชาการแต่เป็นประสบการณ์ที่เจอเองและมานั่งประมวลแต่ไม่ได้สรุป

จ.จินตนาการ เรื่องนี้ปฏิเศษไม่ได้เพราะเด็กกลุ่มนี้มีจินตนาการอันบรรเจิดกว่าเด็กปกติมาก มากจนเขาไม่สามารถอยู่ในกรอบวิชาศิลปศึกษา ที่เขาใช้สอนกันในชั้นเรียนได้ เราจะพบเห็นรูปร่างรูปทรงเรื่องราวที่แสนพิเศษบ้างก็เป็นเรื่องประราว บ้างก็หลุดโลก ซึ่งจินตนาการมากนี่เองหากมือเขาไม่สามารถตอบสมองได้เด็กกลุ่มนี้จึงได้ทั้งมือ เท้า ร่างกายมาถ่ายทอดจินตนาการเหล่านั้น ด้วยจินตนาการที่มากหากกระดาษมันไม่เพียงพอเราจะพบว่าเขาอาจจะเขียนออกมานอกกระดาษ ลามไปถึงผนังห้อง บ้างก็ลามไปจึงแขนขาหน้าลำตัวของเขาเองหรือแม้แต่เพื่อนร่วมห้อง ดังนั้นจิตนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูสอนเด็กพิเศษควรเข้าใจว่าทำไมเขาจึงแสดงออกมาแบบนั้น

จ.จี๊ด เด็กพิเศษมักไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทั้ง ๆ ที่เขาอยากควบคุมตัวเองให้เหมือนนักแข่งรถ แต่เมื่อสมองมันสั่งแรงเร็วบางทีปุ่มควบคุมไม่สับสนงงงวยและไม่ตอบสนอง อยู่นอกเหนือจากการควบคุม ทำให้พลังงานของเขาเยอะกว่าปกติ ทั้งแรง เสียง ดังนั้นจึงเหมือนว่าเขาเล่นแรงกับเพื่อนจนเพื่อนเจ็บ บางทีระบายสีแรงจนสีกระจาย บางทีกรี้ดดดดเสียงดังมากหรือบางทีร้องไห้มากเหมือนใจจะขาด เหล่านี้ครูออตคิดว่าเพราะตัวเขาจี้ดดดดดดดดดดดดด จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากครูเข้าใจคงจะมีวิธีการช่วยเหลือเขาได้

จ.จิตใจ เด็กพิเศษหลายคนที่ครูออตเจอเหมือนว่าเขาอ่านใจเราออก มีทักษะพิเศษมากในการอ่านสายตาของครู อ่านกริยาท่าทสงของครูหรืออ่านความคิดของครูออก ดังนั้นหากเราคิดบวกกับเขาเขาจะสนิทสนมกับเราง่ายกว่า เราคิดที่จะจัดการเขา เรื่องนี้ครูออตมีประสบการณ์หลายคน หลายคนเราตั้งใจมากที่จะช่วยเขาวางแผนแบบนั้นแบบนี้แต่เหมือนการวางแผนในการจัดการกับเขาเหมือนเขารู้ไปหมด แต่การปล่อยสมองให้ว่างคิดบวกไว้ไม่คิดจัดการ ไม่คิดบังคับ ไม่คิดอยากได้อะไรจากเขาบรรยากาศการสอนเหมือนมันจะง่ายขึ้นมากเขาให้ความร่วมมือกับครูมากขึ้น ดังนั้นครูออตว่าเขามีทักษะพิเศษในการล่วงรู้จิตใจของคน หากเรารู้แบบนี้เราก็จะเปลี่ยนวิธีการสอนเด็กพิเศษเสียใหม่เพื่อให้เขาตอบสนองดีดีต่อการเรียนรู้ของเรา

(ฉันอยากมีตาเหมือนพญาครุฑ)

(นิ้วสำหรับทากาวไม่เพียงพอ ฉันขอเอาทั้งมือไปเลย)

3จ ที่ครูออตเอามาเล่านี้ไม่ใช่ข้อสรุปแต่เป็นเรื่องเล่าที่อยากจะเล่า เผื่อครูศิลปะ ครูสอนเด็กพิเศษอาจจะนำไปปรับใช้กับครูเอง และเอามาแลกกันนะครับอาจจะพบ จ อีกเยอะแยะเลยล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น »

ยังไม่มีความคิดเห็น

RSS feed for comments on this post. TrackBack URL

แสดงความคิดเห็น

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word

Powered by WordPress