ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ตุลาคม 31, 2011

สอนศิลปะ ด้วยสารคดี

วันไหนครูเหนื่อยอ่อนจากภารกิจอื่น ๆ อันไม่ใช่จากการสอน หากผืนใช้พลังงานที่มีอยู่น้อยและจำกัด อาจจะทำให้ครูเหนื่อยเกินไป ล้าเกินไป ส่งผลให้ไม่มีสมาธิในการสอนได้ วิธีการคือ ครูต้องหาครูผู้ช่วยมาช่วยในการสอน ครูผู้ช่วยที่ครูออตหมายถึงในบันทึกนี้คือ ครูเทค(โนโลยี)

ช่วงนี้มีงานแต่งงานกันมาก กว่าจะเสร็จงาน หากเป็นงานเพื่อนสนิทเห็นทีว่าจะต้องช่วยกันจนจนวินาทีสุดท้าย ทำให้เหนื่อยและง่วงเป็นพิเศษ แม้กาแฟที่อุดมไปด้วยคาเฟอีนก็ไม่สามารถเรียกความสดชื่นมาได้ ดังนั้นเช้าวันนี้ครูออตจึงใช้ครูเทคเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนศิลปะ

ปกติการสอนครูในช่วง กระตุ้นการเรียนรู้หรือนำเข้าบทเรียนครูต้องใช้พลังงานในการกระตุ้นการเรียนรู้มาก ซึ่งในกลุ่มเด็กเล็กต้องใช้พลังงานในส่วนนี้มากกว่าช่วงทำงานศิลปะของเด็ก ๆ ซะอีก บางวันก็ชวนเด็ก ๆ เล่นเกม เล่านิทาน ร้องเพลงซึ่งกิจกรรมกระตุ้นที่ว่าต้องใช้พลังงานมากอย่างที่ว่าไปแล้ว ในภาวะที่ครูหมดแรง จึงต้องอาศัยครูเทคเข้าช่วย

ครูออตมีสารคดีที่น่าสนุกหลายเรื่องหนึ่งในนั้นคือเรื่องมด(มด1 มด2 มด3 มด4) ซึ่งดาวน์โหลดมาเตรียมไว้หลายวันก่อนเพราะเห็นว่าน่าจะเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ได้อีกอย่างหนึ่ง(การสะสมเครื่องมือนับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครู) เรื่องมดนี้มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือมีเรื่องราวที่หลากหลายแง่มุมของเรื่องมด ทั้งที่อยู่อาศัย อาหาร ศัตรู วิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับมด ซึ่งน่าจะเร้าความสนใจของเขาได้ดี

โดยธรรมชาติของสารคดี(ที่ดี) คือมีความผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างสาระและบันเทิง มีมุมมองของกล้องที่ตาเราไม่สามารถมองเห็นหรือเป็นมุมมองที่เราไม่คุ้นเคย ซึ่งความไม่เคยเห็นทำให้สารคดีน่าสนใจสำหรับเด็ก เพียงแต่สารคดีมันมักจะยาวไปเสียหน่อยเท่านั้นเอง ครูออตเปิดสารคดีผ่านจอทีวีขนาดใหญ่ซึ่งโรงเรียนเตรียมไว้ให้ดังนั้นจอใหญ่จึงช่วยเร้าความสนใจได้อีกมากโข

ครูออตแจกกระดาษและดินสอให้นักเรียน และบอกให้ดูสารคดีอย่างผ่อนคลายจะนั่ง จะนอนก็ได้ และถ้าตอนไหนในสารคดีเด็ก ๆ สนใจ ชอบใจ ก็สามารถบันทึกไว้ป้องกันลืมได้โดยไม่ต้องลงสีก็ได้ และแล้วหนังสารคดีเราก็เริ่มฉาย ส่วนตัวครูก็ได้พักผ่อนและคอยสังเกตพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยว่ามีปฎิกิริยาอย่างไร

ครูออตสังเกตว่าแรกเริ่มฉาย อาจจะมีเด็กบางคนไม่สนใจ(ในใจคงพูดว่า ทำไมไม่เปิดการ์ตูน) หลายคนที่ชอบดูสารคดีก็จะเล่าสารคดีที่เคยดูแทรกมาบ้าง แต่หลังจากเวลาผ่านไปห้านาทีจะสังเกตว่าเด็ก ๆ นั่งนิ่งจ้องทีวีอยู่ตลอดเวลา บางคนถึงตอนที่สนใจก็จะวาดภาพง่าย ๆ เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ลืม

การดูวีดีโอแล้วจดบันทึกออกมาเป็นภาพ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กคิดและจดจำเป็นภาพซึ่งช่วยให้เด็กจำเนื้อหาได้เร็วและแม่นยำกว่าการจำเป็นคำ เมื่อต้องการนำเนื้อหากลับมาเล่าอีกรอบก็สามารถรื้อภาพจำในสมองมาใช้ได้เร็วกว่า ดังนั้นการสอนเด็กให้จำเป็นภาพนั้นจึงสามารถช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีในวิชาอื่น ๆ ได้ การเขียนเนื้อหาที่เด็กสนใจจากวีดีโอก็ช่วยให้เด็กจำเป็นภาพได้ดี

ในกระบวนการการบันทึกเนื้อหาด้วยภาพเราจะสังเกตเห็นวิธีการที่แตกต่างกัน เด็กบางคนที่มีระเบียบวินัยมากจะเขียนเรียงลำดับไปเรื่อย ๆ ตามการดำเนินเรื่องในสารคดี ส่วนเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเขียนสลับกันไปกันมา ไม่ต้องเรียงลำดับ(เท่าที่สังเกตจะพบว่าเด็กที่มีจินตนาการสามารถจดบันทึกเป็นภาพได้หลากหลายตอนมากกว่าเด็กที่มีระเบียบ ## แต่นี่ไม่ใช่ข้อสรุปนะครับ)

เด็กบางคนตอบสนองได้ดีต่อสิ่งเร้าที่เป็นคำพูดของครูหรือการเรียนการสอนปกติ แต่ไม่เก่งเมื่อต้องมาสรุปความคิดผ่านการดูสารคดี เนื่องจากมีเนื้อและน้ำปนอยู่ด้วยกันและแยกแยะไม่ออก(เหมือนกับว่ามีความรู้เต็มไปหมด) ซึ่งยากกว่าการสรุปผ่านการบอกเล่าของครูที่มักพูดสรุปเนื้อหาให้เสร็จสรรพ ดังนั้นการสอนด้วยการดูวีดีโอจึงสามารถช่วยให้เด็กแยะแยะและครัดกรองความรู้ได้และจำรายละเอียดปลีกย่อยได้ดี

(เด็กน่ารักพิเศษน้องเนย์ บันทึกปะปนกันไป แต่ก็ไม่ลืมกำกับด้วยตัวเลขกันลืม)

นอกจากเนื้อหาที่เป็นความรู้ ในสารคดีเราจะพบอารมณ์ของตัวละครในเรื่องด้วยเช่น ตอนที่มันหิว ตอนที่มันหลบหลีกศัตรู ตอนที่มันขย้ำสัตว์อื่น ตอนที่มดหนีน้ำ ตอนที่มันโดนไฟเผา ซึ่งอารมณ์ที่แสดงออกผ่านสื่อวีดีโอมีหลากหลายมากกว่าการเล่าของครูมาก ซึ่งบางที่ไม่ต้องมีการบรรยายแต่ทำให้เด็กซาบซึ้งไปในอารมณ์ง่ายกว่า การเรียนรู้อารมณ์นี่เองทำให้การแสดงออกในงานศิลปะมีชีวิตชีวาไม่แห้งและอุดมไปด้วยรูปทรงอย่างเดียวแต่เป็นรูปทรงที่ให้อารมณ์ความรู้สึก

วันนี้ครูออตสังเกตเห็นเด็ก ๆ ตั้งใจดูและตั้งใจบันทึกมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงปล่อยให้เด็ก ๆ ดูจนจบเรื่องมดทั้ง 4 ตอนซึ่งกินเวลาไปมาก ดังนั้นวันนี้เลยไม่จำเป็นต้องระบายสีน้ำหรือทำกิจกรรมศิลปะต่อ เพราะการบันทึกของเด็ก ๆ นั้นครูออตถือว่าเป็นผลงานศิลปะที่สุดยอดแล้วนั้นเอง ได้ทั้งความรู้ได้ทั้งทักษะทางศิลปะได้ทั้งสุนทรียศาสตร์ เห็นไหมว่าครูไม่ต้องเหนื่อยมากหากเลือกสื่อการสอนเป็นดังนั้นครูศิลปะที่ดีควรหาสื่อที่หลากหลาย งดการกระตุ้นที่จำเจซ้ำซากเพื่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่เด็ก

(นางพญามดของน้องพิม จะสังเกตเห็นเท้าของมันจะเป็นกลม ๆ เพราะว่ามันเหนียวหนืดยึดเกาะเก่ง)

ครูออตขอกลับไปดูสารคดีเรื่องมด ให้ละเอียดอีกรอบก่อน เผื่อเด็กโตต้องการกิจกรรมที่มากกว่าการบันทึกด้วยภาพ อาจจะอยากลงไปสนามเพื่อไปดูรังมด รูมด ไข่มด ด้วยก็ได้ ไปแล้วครับเจอกันบันทึกต่อไป

ตุลาคม 23, 2011

ศิลปะกินได้?

Filed under: Uncategorized — ออต @ 13:06

เดิมที่เดียวการสอนศิลปะเน้นหนักไปในทางศิลปะปฏิบัติ แต่ทุกวันนี้ครูออตเห็นว่ามีแนวคิดใหม่ ๆ ทีน่าสนใจที่ครูศิลปะนำมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการนำเอาศิลปะมาผนวกกับชีวิตจริงของมนุษย์ อย่าทำให้ศิลปะเป็นแค่งานจิตรกรรม ประติมากรรม แต่ให้เอาศิลปะมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

ความจริงในวิถีชีวิตคนไทยเราก็ล้วนใช้ศิลปะกับของกินของใช้มาแต่โบราณ เห็นชัดจากการแกะสลักผักผลไม้ให้สวยงามก่อนนำขึ้นสำรับ น้ำพริกปลาป่นสีแดงจากสีพริกป่นก็ตัดกับต้นหอมสีเขียวดูน่าทาน ข้าวต้มมัดสีขาวก็ตัดกับถั่วสีดำทำให้มีสีสันขึ้น นอกจากอาหารการกินจะสวยงามขึ้นและหน้าตาก็น่ากินขึ้น ซึ่งให้ความอุดมไปในทางสุนทรียศาสตร์ แบบนี้เรียกว่าไม่ต้องเรียนศิลปะแต่ก็มีศิลปะอยู่ในตัว
แต่เมื่อเราเรียนวิชาศิลปะและมีกฏเกณฑ์ทางศิลปะเข้ามากำกับ เราจึงถูกแยกศิลปะออกไปจากชีวิต เราถูกสอนมาให้เรียกภาพวาด งานปั้นเท่านั้นว่างานศิลปะ เราแยกข้าวของเครื่องใช้ที่ผลิตด้วยมือกลายเป็นแค่หัตถกรรมหรือดูดีหน่อยก็เรียกมันว่าหัตถศิลป์ แต่สำหรับครูออตแล้วขอเรียกว่ามันคือศิลปะ ในสถาบันศิลปะหลายแห่งมุ่งตรงไปที่ศิลปะสุดโต่งหรือจะเรียกวิจิตรศิลป์ก็มาก แต่เมื่อให้ออกแบบศิลปะสำหรับมนุษย์ใช้พวกศิลปินมักตกม้าตาย ดังนั้นศิลปะสำหรับเด็กสมัยใหม่จึงควรปลูกฝังการใช้ศิลปะในชีวิตประจำวันด้วย

“ศิลปะที่กินได้” อันเป็นหัวข้อของศิลปะในห้องเรียนวันนี้ ครูออตชวนเด็ก ๆ ทำขนมปังในแบบของตัวเองโดยมีแผ่นขนมปังแทนกระดาษ มีแยมแทนดินสอและแทนสี มีกรรไกรและพิมพ์ช่วยตัดและทำรูปทรงต่าง ๆ งานนี้เราเริ่มด้วยการคุยเรื่องขนมปังในแบบที่เด็ก ๆ เคยกิน ตามมาด้วยให้เด็ก ๆ วาดขนมปังที่ตนเองเคยกิน ขนมปังที่ตัวเองอยากกินและขนมปังที่จะทำในวันนี้

เด็ก ๆ ลงมือวาดขนมปังในกระดาษ ซึ่งถือว่าเป็นถอดขนมปังจากจิตนาการ/ประสบการณ์ ออกมาเป็นรูปให้ครูออตดู(ประมวล ทบทวนความรู้เดิมที่เด็ก ๆ มี) เมื่อได้แบบสองสามแบบแล้ว ก็ให้เด็ก ๆ เลือกแบบที่ตัวเองจะทำจริงในการทำศิลปะกินได้ในวันนี้
หลังจากนั้นครูออตสาธิตคร่าว ๆ ในการใช้เครื่องไม้เครื่องมือก่อนที่จะให้เด็ก ๆ สวมผ้ากันเปื้อนและออกไปล้างมือให้สะอาดที่สุดที่ห้องน้ำ ก่อนจะลงมือทำขนมปังในจินตนาการให้กลายเป็นขนมปังที่กินได้ในวันนี้

๑.ในขณะที่ทำ ครูควรสังเกตให้ได้ว่าเด็กจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างไรเพราะขนมปังในกระดาษ กับ ขนมปัง/แยม ของจริงนั้นต่างกัน? เพราะนี่คือการประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงๆ

๒.การทำรูปทรงด้วยพิมพ์เด็ก ๆ จะได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กในการควบคุมแม่พิมพ์ และกล้ามเนื้อมัดใหญ่ในการออกแรงกดแม่พิมพ์เพื่อให้ขนมปังขาดออกจากกัน

๓.เมื่อมีรูปทรงเยอะแยะเด็ก ๆ จะได้ออกแบบว่าจะจัดการวางขนมปังชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้ออกมาเป็นขนมปังตามจินตนาการได้อย่างไร นี่เขาจะเรียนวิชาองค์ประกอบศิลป์อย่างไม่รู้ตัว

๔.เมื่อถึงคราวที่ต้องเติมสี ซึ่งเราใช้แยมแทน เราจะพบว่าเด็กต้องออกแรงบีบให้พอเหมาะในการควบคุมเส้นแยมให้ออกมาเป็นเส้นที่สวยงาม ในการออกแรงบีบแบบนี้เองทำให้เด็ก ๆ ใช้ประสาทควบคมการสั่งกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ออกแรงมาก/น้อย รวมทั้งสายตาด้วยเพราะแผ่นขนมปังเล็กกว่ากระดาษมากต้องใช้สายตาอย่างดี บีบอย่างระมัดระวัง

๕.การทำงานศิลปะที่กินได้คราวนี้ เด็ก ๆ จะพูดมากไม่ได้เพราะครูออตชี้ชวนว่าเวลาเราพูดออกไป น้ำลายอาจจะกระเด็นทำให้เชื้อโรคกระเด็นไปกับน้ำลาย ไปโดนขนมปังหากคนอื่นรับประทานก็สามารถติดเชื้อโรคร้ายแรงได้ นี่เขากำลังเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ชัด ๆ เลย

๖.ด้วยเครื่องไม้ เครื่องมือมีน้อยและต้องพูดกันไม่มาก ดังนั้นเราจะเห็นการทำงานร่วมกับคนอื่นการสื่อสารกับคนอื่น เราจะเห็นการรอคอย เราจะเห็นปฎิสัมพันธ์ของเด็กต่อเด็กด้วยกัน แบบนี้เรากำลังสอนการอยู่ร่วมกันในสังคมไม่ใช่หรือ ซึ่งไม่จำเป็นต้องพร่ำสอนแต่สอนโดยใช้กิจกรรมศิลปะ

และแล้วผลงานศิลปะที่กินได้ของเด็ก ๆ ก็สำเร็จออกมาใส่จานคนละชิ้นสองชิ้น ใครขยันก็ทำหลายชิ้น บางคนอยากเก็บไปฝากน้องที่บ้าน ครูออตก็เอาจานกระดาษใส่ให้กลับบ้าน บางคนขณะรอคุณพ่อคุณแม่ก็อดกินไม่ได้ก็ให้ถือว่าเป็นอาหารว่างระหว่างรอ หลายคนก็ทานร่วมกับผู้ปกครอง ซึ่งผู้ปกครองที่น่ารักก็ชื่นชมผลงานของเด็ก ๆ เป็นการช่วยครูออตอีกทางหนึ่ง

แบบนี้ถ้าศิลปะถูกนำไปใช้กับหลายที่ หลายเวลา หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำห้องนอน การออกแบบเสื้อผ้า การออกแบบสวนครัว การออกแบบสนาม การตกแต่งของใช้สำหรับเด็ก ๆ ก็น่าจะทำให้เรามีศิลปะในหัวใจอยู่ตลอดเวลา เรื่องแบบนี้สอนกันตั้งแต่เด็กแบบนี้ล่ะน่าจะดี

ตุลาคม 21, 2011

ประสบการณ์ 3จ กับเด็กน่ารักพิเศษ

เวลาไปไหนกับเพื่อนพ้องพี่น้องครูอาจารย์ที่เราสนิทสนม เมื่อเจอบุคคลที่สามเพื่อนพ้องพี่น้องเหล่านั้นจะแนะนำและชมครูออตว่าเป็นขวัญใจเด็ก(น่ารัก)พิเศษแบบนั้นแบบนี้ พอได้ฟังก็อดดีใจไม่ได้ที่เราสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจเด็กพิเศษเหล่านั้น เด็กที่ครูหลายคนขยาดไม่อยากสอน ได้ยินแบบนี้ก็ดีใจและมีพลังในการทำงานเพิ่มเป็นทวีคูณตามประสาคนบ้ายอ

(แคมป์ตุลาคม กับโปรแกรมละครสำหรับเด็กที่โรงเรียนพัฒนาเด็ก ขอบอกว่าศูนย์รวมเด็กน่ารักพิเศษ)

สำหรับเด็กพิเศษครูออตนึกถึงหนังสือเรื่อง There’s A Boy in the Girls’ Bathroom ซึ่งเขียนโดยหลุยส์ ซัคเกอร์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เวลาไปเจอครูคนอื่น ครูออตมักจะแนะนำให้ไปอ่าน อย่างน้อยอ่านเอาสนุกก็ได้เพราะเนื้อหามันสนุกและได้แง่คิดที่พิเศษ ในฐานะที่ครูทุกคนควรจะมีและเรียนรู้จากตัวละคร ครูออตอ่านจบได้ภายในสองวันซึ่งยืนยันได้ว่าสนุกจริง ๆ

There’s A Boy in the Girls’ Bathroom เป็นเรื่องของครูที่ปรึกษาคนใหม่แสวงหาวิธีการเปิดให้เข้าถึงหัวจิตหัวใจของเด็กที่ครูทุกคนในโรงเรียนเรียก “เด็กหลังห้อง”(เด็กที่ครูทุกคนไม่ชอบ เด็กที่เพื่อน ไม่คบ) ซึ่งครูคนนี้มองว่าเป็นเด็ก(น่ารัก)พิเศษ ซึ่งกลยุทธ์และกระบวนการของครูในการเอาชนะใจของเด็กคนนี้มันแสนสนุกและครูออตขอเชิญชวนทุกคนลองซื้อมาอ่านดู

วกเข้ามาถึงเด็กน่ารักพิเศษของครูออต จากประสบการณ์ที่ได้เจอได้สอนครูออตคิดว่าหากเข้าใจ 3จ อาจจะทำให้เราสนุกกับการสอนเด็กกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะการสอนศิลปะ ซึ่ง 3 ไม่ใช่ทฤษฎีแบบวิชาการแต่เป็นประสบการณ์ที่เจอเองและมานั่งประมวลแต่ไม่ได้สรุป

จ.จินตนาการ เรื่องนี้ปฏิเศษไม่ได้เพราะเด็กกลุ่มนี้มีจินตนาการอันบรรเจิดกว่าเด็กปกติมาก มากจนเขาไม่สามารถอยู่ในกรอบวิชาศิลปศึกษา ที่เขาใช้สอนกันในชั้นเรียนได้ เราจะพบเห็นรูปร่างรูปทรงเรื่องราวที่แสนพิเศษบ้างก็เป็นเรื่องประราว บ้างก็หลุดโลก ซึ่งจินตนาการมากนี่เองหากมือเขาไม่สามารถตอบสมองได้เด็กกลุ่มนี้จึงได้ทั้งมือ เท้า ร่างกายมาถ่ายทอดจินตนาการเหล่านั้น ด้วยจินตนาการที่มากหากกระดาษมันไม่เพียงพอเราจะพบว่าเขาอาจจะเขียนออกมานอกกระดาษ ลามไปถึงผนังห้อง บ้างก็ลามไปจึงแขนขาหน้าลำตัวของเขาเองหรือแม้แต่เพื่อนร่วมห้อง ดังนั้นจิตนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูสอนเด็กพิเศษควรเข้าใจว่าทำไมเขาจึงแสดงออกมาแบบนั้น

จ.จี๊ด เด็กพิเศษมักไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทั้ง ๆ ที่เขาอยากควบคุมตัวเองให้เหมือนนักแข่งรถ แต่เมื่อสมองมันสั่งแรงเร็วบางทีปุ่มควบคุมไม่สับสนงงงวยและไม่ตอบสนอง อยู่นอกเหนือจากการควบคุม ทำให้พลังงานของเขาเยอะกว่าปกติ ทั้งแรง เสียง ดังนั้นจึงเหมือนว่าเขาเล่นแรงกับเพื่อนจนเพื่อนเจ็บ บางทีระบายสีแรงจนสีกระจาย บางทีกรี้ดดดดเสียงดังมากหรือบางทีร้องไห้มากเหมือนใจจะขาด เหล่านี้ครูออตคิดว่าเพราะตัวเขาจี้ดดดดดดดดดดดดด จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากครูเข้าใจคงจะมีวิธีการช่วยเหลือเขาได้

จ.จิตใจ เด็กพิเศษหลายคนที่ครูออตเจอเหมือนว่าเขาอ่านใจเราออก มีทักษะพิเศษมากในการอ่านสายตาของครู อ่านกริยาท่าทสงของครูหรืออ่านความคิดของครูออก ดังนั้นหากเราคิดบวกกับเขาเขาจะสนิทสนมกับเราง่ายกว่า เราคิดที่จะจัดการเขา เรื่องนี้ครูออตมีประสบการณ์หลายคน หลายคนเราตั้งใจมากที่จะช่วยเขาวางแผนแบบนั้นแบบนี้แต่เหมือนการวางแผนในการจัดการกับเขาเหมือนเขารู้ไปหมด แต่การปล่อยสมองให้ว่างคิดบวกไว้ไม่คิดจัดการ ไม่คิดบังคับ ไม่คิดอยากได้อะไรจากเขาบรรยากาศการสอนเหมือนมันจะง่ายขึ้นมากเขาให้ความร่วมมือกับครูมากขึ้น ดังนั้นครูออตว่าเขามีทักษะพิเศษในการล่วงรู้จิตใจของคน หากเรารู้แบบนี้เราก็จะเปลี่ยนวิธีการสอนเด็กพิเศษเสียใหม่เพื่อให้เขาตอบสนองดีดีต่อการเรียนรู้ของเรา

(ฉันอยากมีตาเหมือนพญาครุฑ)

(นิ้วสำหรับทากาวไม่เพียงพอ ฉันขอเอาทั้งมือไปเลย)

3จ ที่ครูออตเอามาเล่านี้ไม่ใช่ข้อสรุปแต่เป็นเรื่องเล่าที่อยากจะเล่า เผื่อครูศิลปะ ครูสอนเด็กพิเศษอาจจะนำไปปรับใช้กับครูเอง และเอามาแลกกันนะครับอาจจะพบ จ อีกเยอะแยะเลยล่ะ

ตุลาคม 11, 2011

Thai Art

ไม่นานปีมานี้ผมรู้สึกประทับใจการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นไทย ความเป็นท้องถิ่น หลายครั้งที่ทีมรุ่งอรุณมาขอนแก่น ครูรุ่งอรุณก็จะพาเด็กไปดู คัดลอกและเรียนรู้จิตรกรรมฝาผนังอีสานโดยเฉพาะวัดไชยศรี บ้านสาวัตถี ตำบลสาวัตตี อำเภอเมือง การจัดการศึกษาแบบนี้ล่ะที่จะช่วยให้ศิลปวัฒนธรรมไทยและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะยังคงอยู่สืบไป

HUG SCHOOL แม้มีภาพลักษณ์ความเป็นศิลปะ(เด็ก)แบบสมัยใหม่ แต่ครูที่นี่ก็พยายามออกแบบการเรียนรู้ที่มีความเป็นไทยและความเป็นท้องถิ่นเข้าไปแทรกอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยเสมอ เพราะเราเชื่อว่าการประทับตราความเป็นไทย นิยมไทยนั้นต้องเริ่มจากตัวเล็ก ๆ เสียก่อน ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ครั่งแบรนด์เนมในอนาคตอันใกล้หรือที่ท่าน นพ.เกษม วัฒนชัย ท่านเรียกว่า “นิยมเทศ”

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ(ขอนแก่น) ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองและดีที่เขาเปิดวันหยุด  เพื่อให้คนที่ไม่ว่างในวันทำงานได้มีโอกาสมาชม แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ผลหากคนทำงานพิพิธภัณฑ์ของรัฐเหล่านี้ยังทำงานเฉพาะในพิพิธภัณฑ์กลายเป็นคนแก่เฝ้าของเก่าไป  แต่ข้าวของในพิพิธภัณฑ์นั้นน่าสนใจและมีคุณค่าในการศึกษาเป็นอย่างมาก และบ่อยครั้งครูออตก็พาเด็ก ๆ ไปเรียนกันที่นั้น

ครูออตอธิบายถึงมารยาทในการชมพิพิธภัณฑ์ให้แก่เด็ก ๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกันและไม่เกิดปัญหาในการชมพิพิธภัณฑ์ของคนอื่น เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจ เด็ก ๆ ก็เข้าไปดูข้าวของที่จัดแสดง ถามสิ่งที่ตนเองสนใจและลงมือวาดในข้าวของที่ตนเองอยากรู้  ครูแค่คอยอธิบายและตอบคำถามที่อยากรู้ของเด็กเท่านั้นก็พอ และนอกจากก็แค่คอยสังเกตเด็กอยากได้อะไรเพิ่มเติม ใครพบวัตถุที่สนใจแล้ว ใครยังเลือกไม่ได้ ใครพร้อมลงมือวาด

เมื่อสัปดาห์ก่อนไม่มีเวลาพานักเรียนไปพิพิธภัณฑ์ ครูออตก็อาศัย “ครูGOOGLE” ในการสอนเด็ก ๆ โดยเลือกศิลปะการเขียนลายในเครื่องถ้วยหรือที่เรารู้จักในชื่อ เบญจรงค์  โดยให้นักเรียนไปค้นหาเบญจรงค์ที่ตนเองชอบ ดูเครื่องถ้วยที่สนใจ  สังเกตลวดลาย  สังเกตสีที่เขียนลาย เสร็จแล้วก็นำมาคัดลอก 1 ชิ้นและสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ 1 ชิ้น

เมื่อเรียนแบบไทย ๆ ครูออตก็สร้างสรรค์บรรยากาศแบบไทย ๆ โดยเปิดเพลงไทย ๆ ไปด้วยแน่นอน “ลาวดวงเดือน” ของครูออตกับเบญจงค์ก็ดูเข้ากันได้ทีเดียว เพลงที่ช้า ๆ กับ ลวดลายที่อ่อนช้อย ทำให้เด็กทั้งห้องเงียบและสงบทันที ทำเอาครูออตเวลาจะเยื่องย้ายตัวเองไปไหนต้องเหินไปยังกะตัวละครในนาฎศิลป์ไทย การจัดบรรยากาศแบบนี้ก็ดูได้ผลไปอีกแบบ

การคัดลอกลวดลายตามแบบลวดลายเดิมของไทยนั้นทำให้เด็ก ๆ รู้จักเป็นคนช่างสังเกต และรู้จักการวางสัดส่วนของลายที่ช่างโบราณเขียน เพราะหากไม่รู้จักสัดส่วนลวดลายก็จะไม่ลงตัวพอดีในเครื่องถ้วยชาม ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ต้องสอนแต่ปล่อยให้เด็กลงมือทำเอง เมื่อเขาเขียนไปเรื่อยแต่ไม่ดูสัดส่วน ก็จะทำให้ลายเขียนมันแปลกๆไป และไม่ลงตัวกับขนาดของถ้วย นำมาซึ่งต้องทำใหม่ เหมือนกับคำสอนที่ว่า “ไม่รู้ชั่วก็ไม่รู้ดี ไม่รู้ผิดก็ไม่รู้ถูก”

และเมื่อเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาอวดผลงาน  และผลงานเสร็จก็แทบไม่น่าเชื่อว่าเด็กประถมศึกษาจะทำได้ดีขนาดนี้ อิอิ นี่เป็นหนึ่งในหัวใจไทยที่เราสอน

กันยายน 29, 2011

AAR : KIDS ART

Filed under: Uncategorized — ออต @ 15:51

HUG SCHOOL เปิดสอนมาได้ขวบปีที่สามแล้ว  แต่จำเป็นจะต้องปรับปรุงหลายเรื่องอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ส่วนใหญ่ก็จะคุยกันในครูแต่ละฝ่ายเช่น ฝ่ายดนตรีและขับร้อง ฝ่ายเต้นรำ รวมทั้งฝ่ายศิลปะ ซึ่งครูออตร่วมอยู่ในทีม

สามเดือนก่อนหน้านี้ เราสอนกันเฉพาะเด็กของตนเองกล่าวคือ ใคร(ครู) สอนเด็กคนไหนก็จะสอนเด็กคนนั้นตลอดไปเด็กลงทะเบียน 1 คอร์สเท่ากับสามเดือน ดังนั้นครูจึงสอนเด็กคนนั้นไปตลอดสามเดือน แบบนี้ครูจะเห็นพัฒนาและวางแผนการสอนอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ทำให้พัฒนาการของเด็กดีขึ้น

หลังจากเด็กหมดคอร์สที่หนึ่ง ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็จะเห็นความสำคัญและส่งลูกเรียนคอร์สต่อไป แต่ปัญหาที่เจอคือ เด็กมักจะไม่อยากเรียนกับครูคนใหม่เมื่อขึ้นคอร์สต่อไปเรื่องนี้เข้าใจได้ไม่อยากเพราะเด็กกับครูเก่าเริ่มมีความไว้วางใจกันแล้ว การจะสอนอะไรก็ง่ายขึ้นการเปลี่ยนครูก็จำทำให้เด็กงอแงที่จะเปลี่ยนครูและ ไม่มาเรียนในที่สุด  วิธีการนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีอย่างที่เล่าไปแล้ว ส่วนข้อเสียอีกประการหนึ่งคือเมื่อเด็กติดครูและทำให้ครูบางคนมีชั่วโมงสอนที่เยอะ มากในขณะที่ครูอีกหลายคนมีชั่วโมงน้อย ทำให้เมื่อคิดถึงค่อตอบแทนในการสอนรายเดือนแล้วไม่เกิดแรงจูงใจการการมาสอน ประสิทธิภาพในการสอนก็ลดลง

สองเดือนที่แล้วเราคุยกันและลองเปลี่ยนครูสอนใน 1 คอร์สเป็นครู3คน โดยสอนสลับกันไปเป็นเดือน เพื่อช่วยลดปัญหาการติดครู ดังนั้นเมื่อครบ 3 เดือนก็จะจได้เจอครูสามคน วิธีนี้ผ่านไปสองเดือนดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรแต่เมื่อเวียนกลับมาหาครูออตอีกรอบ ทำให้เราเห็นความผิดพลาดบางประการ

เมื่อวานจึงมีการประชุมครูฝ่ายศิลปะและเชิญผู้บริหารมารับฟัง ความจริงมันคือการทำ AAR (After Action Review)นั้นเอง ซึ่งความจริงเราควรทำกันตั้งแต่สิ้นการสอนเดือนที่หนึ่ง เพราะเมื่อเปลี่ยนครูไปแล้ว ครูได้ส่งเด็กให้ครูคนต่อไปแต่ครูลืมส่งข้อมูลของพัฒนกาารสอนของเด็กแต่ละคนให้ครูคนต่อไป  ครูคนที่รับช่วงต่อ หากไม่ทราบพัฒนาการของเด็กรายบุคคลก็จะสอนเหมือนกันหมด ทำให้พัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก(บางคน)ลดลงและมีผลชัดเจนในเดือนที่สอง

บันทึกนี้เหมือนจะเดือนตัวเองและผุ้บริหารว่า การทำ AAR  นี่มันมีความสำคัญเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนในการเน้นประสิทธิภาพการสอน มากกว่าเน้นให้เด็กสนุกไปวันวัน ในความสนุกความสุขซึ่งเป็นปรัชญาของโรงเรียนจำเป็นจะต้องมีทักษะที่ดี มีความซาบซึ้งในสุนทรียภาพ และเอาศิลปะช่วยขจัดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็กออกไปให้ได้ ดังนั้นหากต้องการอะไรที่มากกว่าสนุกต้องกลับมาทบทวนการจัดการเรียนรู้ด้วย

หลังได้ช่วยกันทบทวนพฤติกรรมของนักเรียนและครูผู้สอนด้วยกันเองแล้ว เราได้บทสรุปร่วมกันและการวางแผนสำหรับการสอนในเดือนต่อไป ซึ่งเราจะมาทำ AAR กันอีกหลังเสร็จสิ้นการสอนในเดือนตุลาคมนี้  ครูออตเชื่อว่าการทำ AAR จะช่วยให้การเรียนการสอนของฝ่ายศิลปะมีประสิทธิภาพมากขึ้น…..ครูออตเชื่ออย่างนั้น

กันยายน 27, 2011

ฉันจะบิน บินไป ไกลแสนไกลไม่หวั่น

เลโอนาร์โด ดาวินชี ศิลปินเอกของโลกที่ได้รับการยอมรับว่าอัจฉริยะในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการผสานความฉลาดทั้งสมองซีกซ้ายและซีกขวาของเขาให้สัมพันธ์กันนำมาซึ่งรากฐานของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกใบใหญ่นี้

หนึ่งในรากฐานที่สำคัญที่ดาวิชีศึกษาคือ การบิน ซึ่งดาวินชีได้ศึกษาการบินของนกและนำมาใส่จินตนาการต่อเพื่อสร้างเครื่องมือที่จะช่วยให้มนุษยืบินบนฟ้าได้ และแน่นอนการริ่เริ่มของเขานำมาซึ่งเครื่องนร้่อน เครื่องบินในเวลาต่อมา ดังนั้นนกจึงกลายเป็นแรงบันดาลให้ศิลปินได้คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ให้แก่มนุษยชาติ 

นกสำหรับครูออตเป็นสิ่งที่น่าอิจฉา เพราะมันสามารถบินได้อย่างเสรีบนอากาศ มองเห็นสิ่งต่าง ๆ จากมุมที่สูง ความสุขที่เห็นความอิสระทำให้เราอย่ากจะบินได้เหมือนนก ความคิดแบบนี้ไม่น่าจะแตกต่างจากเด็ก ที่เห็นนกแล้วคงอยากบินได้เหมือนนก

สัปดาห์นี้ครูออตจึงชวนเด็ก ๆ มาเป็นนกกัน  ครูออตชวนเด็๋ก ๆ ร้องเพลงนกน้อยถลาลม ”เจ้านกน้อยคอยบินสู่เวหา  แล่นถลาล่องลมเพลินฤดี  บิน บิน ถลา ถลา แล่นลม บินล่องบินลอย บิน ถลา ถลา แล่นลม   ” เมื่อเรื่องบินๆ อยู่ในหัวของเด็ก ๆ แล้วก็ไม่อยากที่จะชวนเขาสร้างสรรค์บิกนกของตัวเอง

เด็ก ๆ สัลบกันนอนและเขียนปีกแบบต่าง ๆ ให้เพื่อน การสลับกันทำงานจะช่วยให้เด็กยอมรับเพื่อนได้ง่ายขึ้นและร่วมมือในการทำงาน ซึ่งครูออตไม่ต้องลงแรงไปทำให้เลย เพียงนั่งดูอยู่ห่าง ๆ    เมื่อได้ปีกครบทุกคนแล้วก็ถึงเวลาที่ครูออตช่วยตัดปีกนก(ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็อาจจะให้ตัดเองได้ ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดี)

เด็กทุกคนได้ปีกของตนเองแล้วก็ถึงเวลาตกแต่งปีกของตนเองให้สวยงาม เสมือนหนึ่งเป็นปีกของเครื่องบินลำใหญ่หรือปีกนกที่สวยงามหลากสี  ครูออตแอบตัดกระดาษเล็ก ๆ(เป็นขนนก) เอาไว้เพื่อให้เด็ก ๆ ติดขนกระดาษลงบนปีกของตนเอง(เช่นกันหากเด็กโตก็อาจจะให้ตัดเอง)

 

ถึงเวลานี้ เด็ก ๆ ต่างลงมือตกแต่งปีกของตนเองอย่างสนุกสนาน ในขณะทำเด็กบางคนสังเกตว่าปีกของตนเองบางเกินไปอาจจะไม่แข็งแรง หลายคนให้ครูออตติดกระดาษเพิ่มเพื่อให้มันแข็งแรง(กรณีนี้แสดงว่าเด็กรู้จักคิดเชื่อมโยงจากปีกกระดาษสู่ปีกนกจริงที่แข็งแรง และความแข็งแรงจะทำให้บินได้ ,,ในความคิดเด็ก)

เมื่อได้ปีกที่สวยงาม ตามใจปรารถนาของเด็ก ๆ แล้วครูออตเสริมปีกให้แข็งแรงและร้อยเชือกเพื่อผูกปีกติดกับแขนของเด็ก ๆ เมื่อปีกพร้อม ร่างกายก็พร้อม เด็ก ๆ วิ่งรอที่สนามเด็กเล่นเพื่อนทดสอบปีกของตนเอง โดยสมมติว่าเป็นนกยักษ์ดังนั้นที่สนามเด็กเล่นเราจึงเห็นนกยักษืไร้เดียงสาบินกันให้ว่อน

 

“ครูออคคับ ทำไมผมบินไม่ขึ้น” อิอิ เจอคำถามแบบนี้จะตอบว่าจังได๋ดีน้อ ช่วยกันตอบนะครับ………………………

 

 

กันยายน 24, 2011

จัดการความไม่กล้าด้วยสีดำ

เด็กไทยสมัยนี้กล้าขึ้น กล้าพูด การคิด กล้าแสดงออก กล้าทำ กล้าคิดโดยเฉพาะในเรื่องดีดี ปรากฎการณ์แบบนี้ครูออตเห็นว่าเป็นเรื่องดี เรื่องที่น่าส่งเสริมเพราะจะกล้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องกล้าในสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้องด้วย จึงจะทำให้สังคมเราเดินทางไปสู่สังคมอุดมฮัก

แล้วเด็กที่ไม่กล้าล่ะ ควรทำอย่างไรดี?  เรื่องนี้เห็นทีนักการศึกษาต้องช่วยกันขบคิดว่าเราจะมีกระบวนการอย่างไรที่จะคอยกระตุ้นให้เรากล้าแสดงออกในความคิด ความรู้สึกของตนเอง ครูออตในฐานะที่อยู่กับศิลปะก็เห็นว่า ศิลปะน่าจะเป็นทางสายหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น

เด็กที่ขาดกลัว ไม่ว่าจะกลัวสิ่งที่ตัวเองวาดออกมาจะถูกหรือผิด คิดกังวล คิดสับสนในความคิดของตนเอง มักแสดงออกผ่านเส้นที่ขาด ๆ กระท่อนกระแท่น  ไม่สม่ำเสมอหรือขีดกลับไปกลับมา พฤติกรรมแบบนี้พบเห็นได้ในชั่วโมงศิลปะ และนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องเปลี่ยนแปลงให้เขามั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตนเองเห็น ตนเองรู้สึก

ในห้องเรียนวันนี้มีพี่น้องมาเรียนด้วยกัน 2 ครอบครัว  คนพี่กล้าขีดกล้าเขียน แต่คนน้องจ้องมองพี่ตลอดเวลาว่าพี่จะเขียนอะไร ดังนั้นจึงเห็นสิ่งที่คนน้องเขียนนั้นถูกลบแล้วเขียน ลบแล้วเขียนอยู่ตลอดเวลา วันนี้ครูออตจึงเปลี่ยนการวาดรูปในวิชาศิลปะนี้ใหม่โดยเปลี่ยนจากการวาดรูปธรรมดาที่คุ้นเคยเป็นการวาดภาพหมึกแบบศิลปินจีน

การเขียนภาพหมึกจีนนั้น ศิลปินจะเฝ้ามองธรรมชาติอย่างเข้าใจ ช่างสังเกตและจับอารมณ์ความรู้สึกให้ได้ ดังนั้นการรับรู้ความรู้สึกผ่านสายตาจึงสำคัญเมื่อนำมารวมกับอารมณ์ ที่จะคอยกระตุ้นสมองให้สั่งการข้อมือในการวาดภาพจึงได้ภาพที่เฉียบคม ฉลับพลัน ทันที นิ่ง งดงามและเรียบง่าย  การวาดรูปแบบนี้ช่วยให้คนวาดมั่นใจในการวาดมากขึ้น การวาดในครั้งแรก ๆ อาจจะยากแต่เมื่อฝึกฝน ศิลปินก็จะมั่นใจในตัวเองขึ้น

ชั่วโมงศิลปะคราวนี้ครูออตก็ไม่ปล่อยให้ความไม่กล้าอยู่กับเด็ก ๆ นานไป จึงลวงเด็ก ๆ ให้ออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมหันออกมามองสวนสวยข้าง ๆ ห้องเรียน ให้เด็กเฝ้ามองต้นไม้ ใบไม้ที่ตนเองพบ ทั้งที่อยู่บนต้น ใบที่ร่วงลงดิน และใบที่อยู่บนดิน และวาดภาพเหล่านั้นด้วยสีหมึก เมื่ออธิบายกิจกรรมแล้ว ช่วงเวลานี้จึงปล่อยให้เด็ก ๆ บรรเลงเพลงศิลปะเพียงลำพัง เพื่อให้เด็กมีสมาธิในการทำงาน(ขออนุญาตไปจิบกาแฟก่อนนะครับ)

 

ผ่านไปไม่กี่สิบนาที ครูออตกลับมาแอบดูนักเรียนแต่ละคนทำงาน  ซึ่งมองไปอีกฟากเห็นกระดาษที่ถูกวาดสีหมึกลงไป ตากเต็มพื้น และหากดูเรียงลำดับไปทีละชิ้นเราจะพบว่า เส้นของการวาดของเด็ก ๆ มั่นคงและสม่ำเสมอขึ้น และภาพวาดเหล่านั้นช่างเดียงสาไม่ต่างจากศิลปินพู่กันจีนเอาเสียเลย

 

เมื่อได้ผลงานเป็นที่พอใจและเยอะขนาดนี้ ครูออตจึงชวนเด็ก ๆ เอาผลงานของตนเองไปติดที่ผนัง เพื่อโชว์ผลงานให้ทุกคนได้ชม ได้รู้ว่าพวกเรากล้ามากขึ้น กล้าตัดสินใจ กล้าขีดเขียน แล้ววันหนึ่งความมั่นใจของเด็ก ๆ คงจะเพิ่มขึ้นเหมือนกิจกรรมการวาดสีหมึกในวันนี้

เจอกันกิจกรมครั้งต่อไป 

พฤษภาคม 12, 2011

จดหมายแจ้งข่าว

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 10:30

ถึงครูบาที่คิดฮอด

วันปลูกป่าและทำบุญไกลมาถึงแล้ว กำหนดการไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงตอนนี้ยังรอเชคจำนวนคนเดินทางอยู่นะครับ หลายคนอยากนอนค้าง แต่หลายคนก็ต้องเดินทางกลับเยน ๆ เพราะเช้า 18 ต้องทำงานกันปกติ แต่ที่แน่ ๆ ออต แม่ใหญ่กะจิ๊กลูกสาวแม่ใหญ่จะนอนค้างคุยกะครูบาฯ สาย ๆ วันที่ 18 ค่อยกลับขอนแก่น

กำหนดการของทริปนี้  07.00 จัดขบวนทัพที่ รร ฮักสคูล ขบวนรถพร้อม คนขับพร้อม คนปลูกป่าพร้อมก็ล้อหมุน  ด้วยเส้นทางขอนแก่น-เมืองพล-หนองสองห้อง-พุทไธสง-สตึก คาดว่าจะถึงสตึก 09.30 น.หรือสายกว่านั้น

10.00 กราบครูบาฯ และครูบาฯ ตีแตกความรู้ ที่มา ที่ไป เปลือยครูบาฯ เรียกน้ำย่อย รู้จักกันฉันเธอ ตามประสาชาวฮักสคูล(เพราะครั้งนี้นอกจากครูของฮักแล้ว ยังมีเพื่อน ๆ ที่รู้จักมากันด้วย)

12.00 รับประทานอาหารเที่ยง ตอนบ่ายเดินชมสวนป่า โดยครูบาฯเป็นไกด์ (อิอิ จะเหนื่อยไหมครับพ่อครูฯ) กระตุ้นความยาก เสร็จรอบสวนก็ลากไปปลูกต้นไม้ตามที่สวนป่าจัดเตรียมพื้นที่ไว้ให้

15.00 พักผ่อนตามอัธยาศัยให้หายเหนื่อย  15.30 “ครูบาฯฝากความ” เรื่องคนเมืองทำบุญ คนเมืองกะป่า คนเมืองกะหญ้า สวนป่ากะคนเมือง  ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก และเดินทางกลับ(ส่วนคนที่นอนค้างก็หากิจกรรมทำต่อ)

วันอาทิตย์จะแจ้งจำนวนคนปลูก คนค้างแน่นอนอีกครั้งครับ จึงเรียนพ่อครูฯมาเพื่อโปรดพิจารณาปรับแต่งตามสภาพครับ

ออต

 

พฤษภาคม 2, 2011

การลงทุนสร้างโลกสีเขียว

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 14:56

วันนี้ตื่นแต่ตีสี่ เพื่อนรีบออกเดินทางจากขอนแก่นมุ่งตรงสู่วังน้ำเขียว เป้าหมายของวันนี้คือการไปขอรับกล้าไม้อาคาเซีย ที่ศุนย์วนวัฒนสระแกราช อำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา งานนี้ได้รับการอนุเคราะห์รถและ พขร จากแม่ใหญ่ซึ่งวาดหวังว่าสักคนละ 500 ต้นน่าจะได้

เหตุผลที่ไปเร็วขนาดนั้นเพราะทางสถานีฯแจ้งว่ามีต้นกล้าอาคาเซียแค่ 10000 ต้นเท่านั้นและจะแจกคนละ 500 เท่านั้น หากลองคำนวนกันง่าย ๆ หากขอรับกันเต็มโควต้า มานก็แค่ 20 คนเท่านั้นเองกล้าพันธุ์ที่เตรียมไว้ก้จะหมดในทันที ดังนั้นแม่ใหญ่จึงแนะนำให้เราออกเดินทางแต่เช้าเพื่อให้ได้คิวแต่เนิน ๆ งานนี้ไม่สามารถโทรไปสั่งจองได้ ต้องไปเอาจริง ๆ ต่อคิวจริง ๆ และเราก็ทามแบบนั้นไม่ต้องมีเส้นสายอะไรให้มากมายเกินมนุษย์สามัญ

เราไปถึงที่นั้นแปดโมงเช้า โชคดีที่มีคนมารอคิวก่อนหน้าเรา 4 คนซึ่งแต่ละคนเดินทางจากที่ไหล ๆ เช่นมาจากมุกดาหาร ฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ดและเรามาจากขอนแก่น  แค่เราสี่คันรถก็ใช้กล้าไม้ไปรวมสองพันต้น นี่เหลือในแปลงกล้าไม่เท่าไหร่เลย

หากมาลองนึกว่าเราลงทุนเพาะชำกล้าไม้ด้วยต้นทุนไม่ถึงสิบบาทเราจะพบว่าใช้งบประมาณไม่มากเลยสำหรับโครงการดีดี ที่สร้างสีเขียวให้โลกแบบนี้ถือว่าเป็นเศษงบประมาณมาก ดังนั้นในความคิดของผมเองคิดว่ารัฐควรลงทุนกับเรื่องกล้าไม้เพิ่มขึ้นจากสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพื่อให้ต้นกล้าไม้เพียงพอกับความต้องการของเกษตรกร

บ่นเสย ๆ แต่อยากให้เกิดขึ้นจริง

เมษายน 27, 2011

4P1H “ปะ ไป ปลูก ป่า กับ ฮัก”

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 10:32

บันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress