ไม่นานปีมานี้ผมรู้สึกประทับใจการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นไทย ความเป็นท้องถิ่น หลายครั้งที่ทีมรุ่งอรุณมาขอนแก่น ครูรุ่งอรุณก็จะพาเด็กไปดู คัดลอกและเรียนรู้จิตรกรรมฝาผนังอีสานโดยเฉพาะวัดไชยศรี บ้านสาวัตถี ตำบลสาวัตตี อำเภอเมือง การจัดการศึกษาแบบนี้ล่ะที่จะช่วยให้ศิลปวัฒนธรรมไทยและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะยังคงอยู่สืบไป
HUG SCHOOL แม้มีภาพลักษณ์ความเป็นศิลปะ(เด็ก)แบบสมัยใหม่ แต่ครูที่นี่ก็พยายามออกแบบการเรียนรู้ที่มีความเป็นไทยและความเป็นท้องถิ่นเข้าไปแทรกอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยเสมอ เพราะเราเชื่อว่าการประทับตราความเป็นไทย นิยมไทยนั้นต้องเริ่มจากตัวเล็ก ๆ เสียก่อน ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ครั่งแบรนด์เนมในอนาคตอันใกล้หรือที่ท่าน นพ.เกษม วัฒนชัย ท่านเรียกว่า “นิยมเทศ”
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ(ขอนแก่น) ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองและดีที่เขาเปิดวันหยุด เพื่อให้คนที่ไม่ว่างในวันทำงานได้มีโอกาสมาชม แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ผลหากคนทำงานพิพิธภัณฑ์ของรัฐเหล่านี้ยังทำงานเฉพาะในพิพิธภัณฑ์กลายเป็นคนแก่เฝ้าของเก่าไป แต่ข้าวของในพิพิธภัณฑ์นั้นน่าสนใจและมีคุณค่าในการศึกษาเป็นอย่างมาก และบ่อยครั้งครูออตก็พาเด็ก ๆ ไปเรียนกันที่นั้น
ครูออตอธิบายถึงมารยาทในการชมพิพิธภัณฑ์ให้แก่เด็ก ๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกันและไม่เกิดปัญหาในการชมพิพิธภัณฑ์ของคนอื่น เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจ เด็ก ๆ ก็เข้าไปดูข้าวของที่จัดแสดง ถามสิ่งที่ตนเองสนใจและลงมือวาดในข้าวของที่ตนเองอยากรู้ ครูแค่คอยอธิบายและตอบคำถามที่อยากรู้ของเด็กเท่านั้นก็พอ และนอกจากก็แค่คอยสังเกตเด็กอยากได้อะไรเพิ่มเติม ใครพบวัตถุที่สนใจแล้ว ใครยังเลือกไม่ได้ ใครพร้อมลงมือวาด
เมื่อสัปดาห์ก่อนไม่มีเวลาพานักเรียนไปพิพิธภัณฑ์ ครูออตก็อาศัย “ครูGOOGLE” ในการสอนเด็ก ๆ โดยเลือกศิลปะการเขียนลายในเครื่องถ้วยหรือที่เรารู้จักในชื่อ เบญจรงค์ โดยให้นักเรียนไปค้นหาเบญจรงค์ที่ตนเองชอบ ดูเครื่องถ้วยที่สนใจ สังเกตลวดลาย สังเกตสีที่เขียนลาย เสร็จแล้วก็นำมาคัดลอก 1 ชิ้นและสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ 1 ชิ้น
เมื่อเรียนแบบไทย ๆ ครูออตก็สร้างสรรค์บรรยากาศแบบไทย ๆ โดยเปิดเพลงไทย ๆ ไปด้วยแน่นอน “ลาวดวงเดือน” ของครูออตกับเบญจงค์ก็ดูเข้ากันได้ทีเดียว เพลงที่ช้า ๆ กับ ลวดลายที่อ่อนช้อย ทำให้เด็กทั้งห้องเงียบและสงบทันที ทำเอาครูออตเวลาจะเยื่องย้ายตัวเองไปไหนต้องเหินไปยังกะตัวละครในนาฎศิลป์ไทย การจัดบรรยากาศแบบนี้ก็ดูได้ผลไปอีกแบบ
การคัดลอกลวดลายตามแบบลวดลายเดิมของไทยนั้นทำให้เด็ก ๆ รู้จักเป็นคนช่างสังเกต และรู้จักการวางสัดส่วนของลายที่ช่างโบราณเขียน เพราะหากไม่รู้จักสัดส่วนลวดลายก็จะไม่ลงตัวพอดีในเครื่องถ้วยชาม ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ต้องสอนแต่ปล่อยให้เด็กลงมือทำเอง เมื่อเขาเขียนไปเรื่อยแต่ไม่ดูสัดส่วน ก็จะทำให้ลายเขียนมันแปลกๆไป และไม่ลงตัวกับขนาดของถ้วย นำมาซึ่งต้องทำใหม่ เหมือนกับคำสอนที่ว่า “ไม่รู้ชั่วก็ไม่รู้ดี ไม่รู้ผิดก็ไม่รู้ถูก”
และเมื่อเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาอวดผลงาน และผลงานเสร็จก็แทบไม่น่าเชื่อว่าเด็กประถมศึกษาจะทำได้ดีขนาดนี้ อิอิ นี่เป็นหนึ่งในหัวใจไทยที่เราสอน
อดเสียใจเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ไปไหว้ย่าโม ในเฮฮาศาสตร์ครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ไม่ว่าจะพยายามพลิกซ้าย ย้ายขวา แต่ฟ้าก็มัวมิด ปิดไปซะทุกทาง ทำให้เส้นวาสนาอักเสบโดยเฉพาะเรื่องและสถานที่ที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ซึ่งดูจากโปรแกรมแล้ว ต้องบอกว่าขอโอ้ยยยยยยยยยยยยยยยย ยาว ยาว
ท่านว่าอย่าเสียใจอะไรนาน จงมองไปข้างหน้า อิอิ ในหัวก็คิดชดเชยสิ่งที่ตนเองพลาดหวังไม่ได้ไป คุณครูที่ฮักสคูลเองก็อดไปกันหมดด้วยเพราะหน้าที่ ดังนั้นจึงคิดการไกลกับผู้บริหารเพื่อออกโปรแกรมใหม่ “วิสาขบูชา” ชวนกันไปเฮฮาทำบุญที่สวนป่ากับโครงการ 4P1H วู้ชื่ออะไรเก๋ ๆ แต่สรุปรวมคือชวนคนไปทำบุญ
4P1H หมายถึง Pa Pai Pluk Pa by Hug หรือชื่อในภาษาไทยว่า “ปะ ไป ปลูก ป่า” โดย ฮักสคูล งานนี้ถือฤกษ์ดีในวันหยุดวิสาขบูชา 17 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ซึ่งขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ยังไม่ได้แจ้งเจ้าของสถานที่ ที่จะไปปลูกเลย เพราะเป็นที่ทุกคนที่โรงเรียนอยากไปมากที่สุด งานนี้จึงเขียนบันทึกผ่านไปยังสวนป่าด้วย (ครูบาฯ จะได้ยินไหมหนอ) อิอิ
เหตุผลที่เลือกสวนป่ามีหลายอย่าง
1.ใจสั่งมา ครูที่ฮักสคูลหลายคนฟังเรื่องเล่าสวนป่าจากผม และอ่านจากบันทึกครูบาฯ ร่ำ ๆ ว่าอยากไปสักครั้ง แม้เพียงแค่ช่วงเวลานิดเดียวก็อยากไป ดังนั้นเมื่อใจอยากไป ผู้ประสานจึงเลือกสวนป่า มหาชีวาลัยอีสาน เพื่อให้ครูได้ไปเยี่ยมสวนป่าให้สมใจปรารถนา หลังจากที่ท่านจะว่านเสน่ห์ไว้ในคราวมินิเฮฮาศาสตร์ปะทะฮักที่ขอนแก่นเมื่อเดือนที่แล้ว
2.สมองต้องการอาหาร การไปปลูกป่า คนไปปลูกก็อยากได้ความรู้ด้วย ดังนั้นปลูกป่าคราวนี้จึงอยากได้อาหารสมองด้วย ดังนั้นคนที่จะพูดเรื่องป่าได้ดีต้องเป็นชาวสวนป่า ดังนั้นแน่นอนเลยต้องเลือกสวนป่า ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งผมจะได้เตรียมประเด็นให้พ่อครูเปิดกระโหลกสักชั่วโมงก่อนปลูกป่า
3.ปลูกป่าทำบุญ การทำบุญคราวนี้นอกจากทำบุญในวันพระใหญ่ซึ่งถือว่าได้บุญหลาย ผมในฐานะคนประสานงานยังเชื่ออีกว่า การที่เราไปปลูกป่าที่สวนนอกจากเป็นการทำบุญทุนทานธรรมดาแล้ว ผมยังคิดว่ามันเป็นวิทยาทานอีกขั้นหนึ่ง เพราะสวนป่าเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้คนที่สนใจ ดังนั้นเราไปปลูกป่าคงเหมือนการไปทำสื่อการเรียนรู้ด้วย ดังนั้นจึงได้กุศลทวีคูณ
ใครจะไปปลูกบ้าง
ผมชวนเพื่อนครูที่ฮักสคูลไปปลูกป่าคราวนี้ ใช่จะกำจัดอยู่เฉพาะชาวฮัก ก็ชวนคนไปทั่วเพราะเป็นวันหยุดผู้คนน่าจะว่าง ใครเอารถไปก็สามารถรับคนที่ไม่มีรถได้ ดังนั้นใครใคร่ไป ใครใคร่ร่วมก็สามารถไปกันได้ รถก็แชร์ส่วนอาหารเที่ยงก็ช่วยกันออกให้ครัวสวนป่าช่วยเตรียมให้ แบบนี้น่าจะไม่รบกวนใคร งานนี้เป้าหมายคือ 20 คนไม่รู้จะได้มากน้อยเท่าไหร่แต่ที่แน่ ๆ “แม่ใหญ่จะไปสวนป่าด้วย” ส่วนต้นไท้และพื้นที่ปลูกจะปรึกษาชาวสวนป่าอีกครั้ง
ทำบุญกันนะครับ
กล้ามเนื้อมัดเล็กแต่ไม่เล็กอย่างชื่อ ที่ครูออตจะเล่าต่อไปเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กที่อยู่บริเวณนิ้วมือและข้อมือ แม้จะชื่อว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กแต่ความสำคัญไม่ได้เล็กเหมือนชื่อเลย เพราะหากเด็กตัวเล็ก ๆ มีกล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรง มันจะนำไปสู่พัฒนาการในเรื่องอื่น ๆ ได้ดีทั้งการจับ หยิบ การขีดเขียน
งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่า สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา 10 ปีแรก ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ดังนั้นกิจกรรมศิลปะจึงควรจะได้ส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กเหล่านี้
สัปดาห์์นี้ครูออตออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องศิลปะโดยเน้นกล้ามเนื้อมัดเล็กเป็นสำคัญเพื่อตรวจสอบดูถึงคุณภาพของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ เหล่านั้นและส่งเสริมให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นถูกใช้งานมากขึ้น กิจกรรมที่ว่าครูออตตั้งชื่อมันว่า หล่อ เก็บ กด
ดินเหนียวเป็นวัตถุดิบหลักในกิจกรรมศิลปะครั้งนี้ ซึ่งทุกโรงเรียนสามารถหาดินเหนียวได้ง่ายโดยไม่ต้องซื้อหา ดังนั้นมันจึงราคาถูกแสนถูกแต่เมื่อนำมาใช้กับกิจกรรมศิลปะเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กมันจึงมีค่ามหาศาล นอกจากนั้นยังมีลวดสำหรับตัดดินเหนียว ผ้าเปียกๆสำหรับคลุมดิน ทั้งหมดนี้หาไม่ยากและถูกแสนถูก
นำดินทั้งหมดที่หามาได้ให้เด็ก ๆ นวดให้เนื้อดินเข้ากันให้ดี (แค่เริ่มกิจกรรมกล้ามเนื้อมัดเล็ดก็ถูกทำงานซะแล้ว) มีความนุ่มไม่แข็งกระด้าง หรือหากมีเศษหินเศษไม้ก็สามารถหยิบออกได้ การหยิบวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณนิ้วทำงานได้ดีขึ้นแข็งแรงขึ้น เมื่อนวดได้ที่แล้วก็นำมาหล่อให้เป็นก้อนเนื้อเดียวกัน
เมื่อได้ดินก้อนใหญ่แล้ว ครูออตให้เด็ก ๆ เอาลวดตัดดินมาตัดดินเหนียวออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยใช้มือหนึ่งกดดินเหนียว มือหนึ่งควบคุมลวดตัดดินให้สามารถตัดดินเหนียวที่ติดกันเแน่นให้ขาดออกจากกัน ขึ้นตอนนี้เด็กอาจจะได้พัฒนาทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กควบคู่กันไปด้วย
เมื่อตัดดินหนียวออกมาได้ ก็นำมาตัดย่อยออกให้เล็กลงเท่าขนาดข้อมือของแต่ละคน โดยพยายามให้เด็กตัดให้เล็กเท่าที่จะทำได้
(ลูกชายกำลังตัดดินเหนียวออกมาจากก้อนมวลใหญ่)
(ลูกชายกำลังตัดดินออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ )
เมื่อได้ดินเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก็นำมาหล่อให้กลายเป็นเม็ดดินรูปแบบกลมโดยใช้การหล่อ 2 แบบคือมือประกบมือ และมือประกบพื้นเพื่อให้ดินเหนียวมีรูปทรงกลม การหล่อดินแบบนี้ทำให้เด็ก รู้จักการควบคุมข้อมือเพราะหากควบคุมไม่เป็นก้อนดินก็จะไม่กลม ขึ้นตอนนี้ใช้เวลานานพอสมควรเพื่อให้ได้จำนวนก้อนดินกลมจำนวนมาก อาจจะนำมาใช้ฝึกสมาธิได้ แต่หากสังเกตเห็นว่าเด็กเมื่อยมือก็ให้พักก่อนหรือครูช่วยทำก็ได้
(ตักก้อนดินเล็ก ๆ แล้วค่อยหล่อเป็นก้อนกลม)
นำดินก้อนกลมมาเรียงกันไว้แล้วนำผ้าเปียกมาคลุมเอาไว้ไม่ใช้ผิวดินแห้งเกินไป นำถ้วย ชาม จาน กระถางหรือแบบพิมพ์ที่ต้องการมาให้เด็ก ๆ เลือก แล้วให้เด็กนำดินก้อนกลมไปกดจนเต็มแม่พิมพ์เหล่านั้น โดยกดที่ละก้อน การกดไม่แน่นจะทำให้ก้อนดินไม่ติดกันเมื่อถอดพิมพ์ออก รูปทรงดินจะไม่แข็งแรงและหลุดออกจากกันได้ง่าย
(การกดโดยใช้ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ลูกชายสองคนกับผลงานที่ทำร่วมสองชั่วโมงทั้งเหนื่อยทั้งสนุก)
นี่เป็นเพียงกิจกรรมง่าย ๆแต่นับว่าได้ประโยชน์มาก ลองทำกันดูนะครับ
คงเคยได้ยินวาทกรรมที่ว่า “ศิลปะเข้าถึงยาก” สำหรับผมแล้วเห็นทีจะต้องขอคัดค้าน เพราะศิลปะนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นจึงไม่ยากเกินที่มนุษย์ด้วยกันจะเข้าถึงมันได้ ส่วนใครจะเข้าถึงได้มากน้อยนั้นย่อมแตกต่างกัน
สิ่งแวดล้อม ๆ ข้าง ๆ ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินได้นำมาสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นที่ฮักสคูลจึงสร้างหลักสูตรที่ให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสธรรมชาติและนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเด็กเอง ในการสร้างสรรค์เรามักนึกถึงแต่งานสองมิติ หรือสามมิติที่เห็นด้วยตา แต่ที่ฮักสคูลเรามีศิลปะที่สามารถดูได้ สัมผัสด้วยมือได้และยังสัมผัสด้วยหูได้อีก กิจกรรมนี้เราจึงเรียกมันว่า ศิลปะที่ใช้หูฟัง
ข้าง ๆ สนามเด็กเล่นที่โรงเรียน มีต้นหางนกยูงยืนตายอยู่ สังเกตดูมีฝักเต็มต้นส่วนใหญ่เราจะปล่อยให้มันแห้งตายและสลายไป หากเราสังเกตดีดีเราจะพบว่าฟักแก่ของหางนกยูงเมื่อเคาะจะพบว่ามันมีเสียง เพราะเมล็ดแห้งข้างในโดนเขย่ากับเปลือก เสียงที่ดังนั้นน่าสนใจมาก ผมว่าครูดนตรีอาจจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการสอนได้ หรือ เอาไปทำเครื่องดนตรีได้ คล้าย ๆ แทมมารีนที่เราเขย่ากัน
วันนี้ผมจึงออกแบบการสอนศิลปะที่มีทั้งเสียงและภาพในผลงานของเด็ก ๆ โดยใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ คือฟักแก่ของหางนกยูงและสีอะครายลิก โดยให้เด็ก ๆ เขย่าหางนกยูงแล้วฟังเสียงว่ามันเป็นเสียงอะไร หลังจากนั้นให้เด็ก ๆ คิดลวดลายแทนเสียงต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งงานนี้ปล่อยตามอิสระ ใครใคร่คิดอย่างไรก็ตามใจเขาเถิด ไม่ว่าเสียงคลื่นกระทบฝัง เสียงปีศาจ เสียงฝนตกฯลฯ
ในกลุ่มเด็กเล็กจะค่อนข้างมีปัญหากับการใช้สีคะครายลิก ดังนั้นเราจึงให้ลองเขียนลวดลายบนกระดาษก่อน แล้วค่อยให้ลองลงสีจริง แต่เชื่อเถอะผลงานออกแบบกับผลงานจริงไม่เหมือนกันหรอก เพราะความสนุกมันต่างกัน การระบายสีทับไปทับมาของเด็ก ๆ บนฟักหางนกยูงจึงสนุกสนานมากกว่ากระดาษ จินตนาการและสมาธิจึงบรรเจิดกว่า สนุกกว่า
(อุปกรณ์ในการสรางสรรค์ ฟักหางนกยูงแก่และแห้งแล้ว - สีอะครายลิก)
(เด็กเล็กเขียนบนกระดาษก่อน อาจจะใช้สีเมจิกที่เขียนง่าย / ศิลปินน้อยกำลังลงมือระบายสีเครื่องดนตรี)
เมื่อแห้งแล้ว เราสามารถเอาไปเคาะทำเสียงดนตรีได้ ซึ่งกิจกรรมต่อไปคงต้องโยนให้ครูดนตรีเอาไปใช้ต่อให้เกิดความเชื่อมโยงของกิจกรรมเพราะดนตรีจากธรรมชาตินั้นช่างไพเราะเสียจริง ไม่แพ้เครื่องดนตรีที่คนเราสร้างขึ้นเลย จากกิจกรรมนี้ผมคิดว่าเราสามารถใช้วัสดุจากธรรมชาติอื่น ๆ เอามาสร้างงานศิลปะที่ใช้หูฟังได้เยอะแยะเลยครับ
(ผลงานเครื่องดนตรีของเด็ก ๆ สีก็งาม เสียงก็ไพเราะ เคาะกันหลาย ๆคนคงสนุกน่าดูชูใจ ใครสนใจลองเอาไปทำได้ครับ)
เคยเกริ่นถึงความสนใจของครูชาวฮักสคูล โรงเรียนสอนศิลปะ ดนตรี เต้นรำ ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งออตสอนอยู่ที่นั้น ถึงความสนใจของชาวฮักในการเขียนบันทึกไปแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ถึงกระบวนการที่จะลงมือ ช่วงก่อนหน้าเป็นเพียงการขายไอเดียให้ผู้บริหารได้เข้าใจ เมื่อถึงเวลานี้คงต้องเขยิบดูอีกสักครั้ง
เมื่อทราบข่าวว่าครูบาฯ จะมาบรรยายคณะแพทยศาสตร์ในช่วงวันที่ 5-6 มีนาคม 2554 ผมจึงถือโอกาสร่างกำหนดการการขยับการจัดการความรู้ของชาวฮัก โดยถือโอกาสในช่วงที่ครูบาฯจะมาขอนแก่นนี้เป็นการโอ้โลมให้ชาวฮักอยากเขียนบันทึก ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ผมตั้งชื่อว่า “ฮัก เฮ สุนทนียศาสตร์ สุนทรียสนทนา” ซึ่งหมายถึงเราชาวเฮฮาศาสตร์ กับ คุณครูและบุคคลากรชาวฮักสคูล
งานนี้ร่างกำหนดการคร่าว ๆ โดยจะเน้นกระบวนการที่เป็นการพูดคุยกันเสียมากกว่า โดยชาวฮักจะเล่าการเรียนการสอน การบริหารจัดการโรงเรียนสอนด้านสุนทรียศาสตร์ ผสมผสานการโชว์ผลงานของคุณครูและนักเรียนทั้งศิลปะ การร้องเพลง ดนตรีซึ่งน่าจะมีเพลงและดนตรีให้ฟังในหลายแบบ แทรกกับการเล่าเรื่องของชาวฮัก
สำหรับชาวเฮฮาศาสตร์ ออตเองก็อยากให้ช่วยเล่าการเรียนบันทึก เทคนิคการเรียนบันทึกและพลังของการเขียนบันทึก รวมทั้งการขับเคลื่อนกลุ่มเฮฮาศาสตร์ เพื่อกระตุ้นให้คุณครูอยากเขียนบันทึกทั้งในลานปัญญาและเครือข่ายอื่น ๆ ที่คุณครูเองสนใจ โดยเน้นการพูดคุยเฮฮาแบบชาวเฮฮาศาสตร์ ดังนั้นนอกเสียจากจะร่างกำหนดการเอาไว้ จึงขอฝากคำเชิญชาวเฮฮาศาสตร์ที่สนใจร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วยนะครับ
ทราบว่าครูบาจะมาขอนแก่นวันที่ 5-6 มีนาคมดังนั้นอาจจะขอให้ท่านเดินทางมาก่อนในวันที่ 4 เพื่อร่วมกิจกรรมหรือไม่อาจจะขอเป็นวันที่ 7 หลังจากท่านเสร็จภารกิจการบรรยายที่คณะแพทยศาสตร์ ดังนั้นงานนี้ ชาวเฮฮาศาสตร์ที่สนใจขอเชิญรีบเขียนใบลางาน หรือเก็บกระเป๋ากันได้แล้ว
สนใจเรื่องราวของชาวฮัก ติดตามที่นี่ครับ ฮักสคูล
เสียงเด็ก ๆ เจี้ยวจ้าวมาแต่ไกล เมื่อผลักประตูเข้าห้องเรียนศิลปะก็ได้รับการตอบรับจากเด็ก ๆ วิ่งกรูเข้ามาทักทายครูกันอย่างสนุกสนาน เด็ก ๆ ที่น่ารักต่างแย่งเล่าเรื่องของตนเองให้ครูฟัง อิอิ ครูออตรับไม่ไหวก็ได้แต่อื้อๆๆ ครับๆๆ หลังฟังพอหอมปากหอมคอแล้ว เด็ก ๆ ก็กระจายกันไปเข้าประจำเก้าอี้ตัวเอง
วันนี้ครูออตคิดถึงงานของศิลปินเอกของโลกที่ใช้การสร้า้งสรรค์งานศิลปะด้วยจุด คือ แทนที่จะใช้การลากเส้นให้เกิดรูปทรงแต่ศิลปินใช้จุดเล็ก ๆ ต่อกันหรือประสานกันเพื่อสร้า้งรูปร่างรูปทรงตามจินตนาการของศิลปินเอง เราเรียกศิลปะสกุลนี้ว่า Pointillism แม้แต่ Vincent van Gogh ก็ยังเคยใช้เทคนิคการจุดนี้สร้า้งสรรค์ผลงานของเขา ศิลปินไทยเช่นธีระวัฒน์ คะนะมะ ก็ใช้เทคนิคนี้ในการทำงานศิลปะของเขา
( Vincent van Gogh วาดภาพเหมือนตัวเองด้วยจุด ภาพประกอบจาก http://en.wikipedia.org)
(ตัวอย่างผลงานการสร้างสรรค์จุดของธีระวัฒน์ คะนะมะ ศิลปินชาวอีสาน)
การวาดภาพด้วยจุดแบบนี้ หากสังเกตให้ดีเราจะพบว่า มันช่วยฝึกสมาธิได้้เป็นอย่างดี เพราะเราจะจดจ่ออยู่กับตำแหน่งที่เราจะแต้มจุดหรือแต้มสีลงไปเสมอ ๆ ที่ละจุด ๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การสร้า้งสรรค์งานจิตรกรรมด้วยจุดนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ มีสมาธิมากขึ้น ดังนั้นวันนี้ครูออตจึงเอาการทำงานแบบนี้มาทดลองให้เด็ก ๆ ทำ
แต่เพื่อให้ทันเวลา ครูออตเปลี่ยนจากการจุดด้วยพู่กันมาใช้นิ้วมือแทน ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ ทำงานเสร็จทันเวลาและพอเหมาะกับสมาธิของเด็กในช่วงวัยนี้เนื่องจากจุดของนิ้วมือใหญ่กว่าจุดพู่กัน อันจะทำให้งานเสร็จได้ในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงนี้
เมื่ออธิบายเรื่องราวของศิลปินและตัวอย่างผลงานให้เด็ก ๆ เข้าใจคร่าว ๆ แล้ว ครูออตก็ปล่อยให้เด็ก ๆ ลงมือทำงานของตนเองอย่างอิสระ แน่นอนครูออตเป็นเพียงผู้ดูแล อำนวยความสะดวกในการทำงานของเด็ก ๆ เท่านั้น การวาดภาพด้วยการจุดด้วยนิ้วมือแสดงผลอย่างชัดเจนเพราะชั่วโมงนี้เสียงเจี้ยวจ้าวในห้องเรียนเปลี่ยนเป็นความเงียบสงบอย่างไม่น่าเจอว่านี่เป็นห้องศิลปะของเด็ก อิอิ
(บรรยากาศการทำงานของเด็ก ๆ ที่ต่างจดจ้องอย่างมีสมาธิอยู่กับผลงานศิลปะของตนเอง)
เด็ก ๆ กับผลงานศิลปะที่ภาคภูมิใจ
วันนี้เป็นวันแรกที่ ผอ. จับเด็กน่ารักพิเศษของผมออกมาสอนต่างหากจากกลุ่มเพื่อน ด้วยเพราะเธอเป็นเด็ก(น่ารัก)พิเศษนั้นเอง เรื่องนี้เป็นปม(คิดคำอื่น ๆ แทนไม่ออกตอนนี้)ที่เราต้องหาทางออกช่วยกัน ระหว่าง ผู้ปกครอง เจ้าของโรงเรียนและครูผู้สอน ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีแรก ๆของโรงเรียนศิลปะแห่งนี้
น้องบั๊ค เป็นเด็กน่ารักพิเศษของผม ซึ่งมาเรียนศิลปะในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ได้สามสี่ครั้งแล้ว และทุกครั้งที่เข้าห้องเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกันก็มักเจอปัญหาเพราะน้องบั๊คจะอาละวาดเมื่อมีเพื่อนร่วมห้องทำเสียงดังหรือมีการกระตุ้นด้วยเสียงดังทั้งที่เพื่อนไม่ได้ตั้งใจ จนเพื่อนในห้องหวาดกลัวและไม่อยากเรียนด้วย
เรื่องนี้เราผู้สอนเข้าใจผู้ปกครองดี ที่ต้องการให้ลูกเรียนร่วมกับคนอื่น แต่กระบวนการเรียนในห้องซึ่งมีแต่ความหวาดระแวงก็ทำให้เสียบรรยากาศของความคิดสร้า้งสรรค์ได้ เรื่องนี้เราจบลงด้วยการแยกน้องมาเรียนเฉพาะกับผมโดยค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมก่อนส่งกลับเข้าไปเรียนร่วมกับเพื่อนใหม่อีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ผู้ปกครองก็ยอมรับได้ เจ้าของโรงเรียนก็ยอมรับได้ส่วนผมเองก็พร้อมอยู่แล้ว
วันนี้จึงเป็นวันแรกที่น้องบั๊คกับผมเรียนด้วยกันสองคน ซึ่งบรรยากาศการเรียนวันนี้เป็นไปตามแผนการสอนที่วางเอาไว้และเกินความคาดหวังเสียด้วยซ้ำ
หลังเรียนด้วยกันมาระยะหนึ่งผมจับ “จุดพิเศษ” ของน้องบั๊คได้สองอย่างคือ น้องชอบทดลองชอบเล่นสี น้องชอบวาดงานศิลปะบนกระดาษแผ่นใหญ่ ๆ กว้าง ๆ ดังนั้นแนวทางของชั่วโมงแรกจึงเป็นเรื่องของการทดลองและความกว้างใหญ่ ซึ่งผมออกแบบการเรียนรู้โดยการทดลองผลิตสีธรรมชาติซึ่งเคยใช้กับเด็กปกติ บวกกับการเพิ่มพื้นที่ในการวาดให้ใหญ่ขึ้นพิเศษให้สมเป็นเด็กน่ารักพิเศษ
บรรยากาศวันนี้จึงสนุกสนานและไร้การอาละวาดจากน้องบั๊ค อาจจะมีบ้างที่เธอเล่นแผลง ๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรแต่ดีกับน้องเสียด้วยซ้ำที่ได้ทดลองอะไรแปลก ๆ วันนี้บั๊คได้ทดลองผลิตสี ผสมสี ระบายสีทั้งนั่งระบาย ยืนระบาย ขึ้นเก้าอี้ระบาย ซึ่งตลอดเวลาเราจะพบรอยยิ้มและหัวเราะตลอดชั่วโมง ส่วนหนึ่งเพราะน้องได้สัมผัสสุนทรีย์ผ่านสัมผัสครบทุกด้าน(ผมคิดเอง)
ตาของน้องได้ดู ชม งานศิลปะ หูของน้องได้ยินเสียงครกกระทบสากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตสี ลิ้นของน้องยังได้มีโอกาสชิมสีที่เราผลิตขึ้นจากอัญชัน จมูกของน้องยังได้กลิ่นหอม ๆ จากกาแฟที่เราเอามาทำสี กายของน้องยังได้สัมผัสสีสัมผัสงานศิลปะและลงมือทำงานศิลปะเอง ซึ่งล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้น้องได้สนุก ๆ สนานในทุกสัมผัสและโดยเฉพาะ “ใจสัมผัส” กับครูใจดีอย่างผม (อิอิ ชมตะเอง)
กิจกรรมการผลิตสี กิจกรรมที่น้องชอบเพราะได้ทดลอง ได้ลงมืือด้วยตนเอง สังเกตรอบยิ้มซิครับ(มีความสุข)
Action การทำงานศิลปะของศิลปินน้อยตั้งแต่ ยืนวาด ยินบนเก้าอี้วาด การราดสีที่ผลิตขึ้นด้วยช้อนแทนการวาดด้วยพู่กัน