ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มีนาคม 17, 2009

ความคาดหวังที่หลงทาง

Filed under: Uncategorized — ออต @ 12:00

ผมลงมือสอนที่ HUG SCHOOL เข้าเดือนที่สองแล้วหากนับเป็นรายครั้งต่อเด็กที่สอนในแต่ละกลุ่มก็ราว 7-8 ครั้ง ซึ่งในจำนวน 7-8 ครั้งนี้กิจกรรมแห่่งความสุขในโลกจินตนาการก็ขับเคลื่อนค่อยเป็นค่อยไป แต่มีผู้ปกครองหลายคนมักหลงทางในเรื่องการเรียนศิลปะ

ผู้ปกครองเมื่อมารับลูกก็มีโอกาสได้เจอกับคุณครู  ผมเองเปิดโอกาสให้ตัวเองได้เจอพ่อแม่เด็กเสมอ ๆ แต่คำถามที่มักเจอบ่อยคือ ลูกวาดรูปเป็นหรือยัง? วาดเป็นเรื่องเป็นราวหรือยัง?  คำถามประเภทนี้ทำเอาคนสอนอึดอัดอยู่เช่นกัน เพราะความจริงกับความคาดหวังของผู้ปกครองช่างต่างกันมาก

สำหรับศิลปะเด็ก มันเป็นเครื่องมือของความสุขและขับเคลื่อนโลกแห่งจินตนาการของเด็ก ๆ ดังนั้นแม้เด็กบางคนจะไม่สามารถผลักเอาจินตนาการและความรู้สึกต่อสิ่งต่าง ๆ ออกมาเป็นรูปร่างรูปทรงแต่ก็นับว่าสมองของเขาได้ทำงาน ได้เคลื่อนไหวอยู่แล้ว ซึ่งมันต่างจากการรับเอางาศิลปะสำเร็จรูปจากทีวีที่ทุกอย่างดูเบ็ดเสร็จไปหมดเด็กมีหน้าที่เพียงรับเอาเท่านั้น  ส่วนโลกแห่งจินตนาการมันวนๆเวียนๆอยู่ในสมองของเขา

ดังนั้นเวลาสามเดือนต่อคอร์สนี้ แน่นอนสำหรับผมมันไม่ได้ทำให้เด็กวาดรูปสวยขึ้น หรือวาดรูปเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมากเท่าไหร่หรอก เพราะคนที่เรียนศิลปะสี่ห้าปี บางทียังตื้อเมื่อต้องสร้า้งสรรค์ผลงานศิลปะใหม่ ๆ หลายคนต้องหาข้อมูล ค้นหาแรงบันดาลใจและลงมือทำอยู่เช่นนั้นหลายต่อหลายรอบ วาดแล้ววาดอีก ทำแล้วทำอีก  แต่ผมมั่นใจว่ากระบวนการทางศิลปะในห้องเรียนของ HUG SCHOOL ในสามเดือนนี้จะทำเด็ก ๆ รักศิลปะ

เรื่องนี้เมื่อได้เจอผู้ปกครองจึงต้องปรับความคาดหวังให้อยู่ในรูปในรอยอยู่บ้าง เพราะไม่เช่นนั้น ครูอาจจะโดนเชิญให้ออกในฐานะไม่สามารถขับเคลื่อนความคาดหวังของผู้ปกครองได้  แนวทางประการหนึ่งที่ผมคิดว่าโรงเรียนต้องช่วยทำคือ การสร้างความเข้าในในแนวทางของโรงเรียนให้ชัดเจนและมีความคาดหวังในแนวทางและแนวคิดของโรงเรียน

ไม่เช่นนั้นมันจะวน ๆ เวียน ๆ และลงทางในแนวทางศิลปะที่ผู้ใหญ่กำหนด

มีนาคม 16, 2009

ปกเจ้าเป็นใผ เพื่อโปรดพิจารณา

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 15:38

ปกเจ้าเป็นใผ เล่มใหม่ครับ  ตามที่ททุกท่านเสนอมา

มีนาคม 13, 2009

สวัสดิการ(คน)ชุมชน

สัปดาห์นี้นอกจากงานจะมากแล้ว ยังมีหน้าที่ลูกที่ดีพาแม่ไป รพ.อีกหน้าที่หนึ่ง หลังจากเมื่อวานแม่ให้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ผมมานั่งทบทวนและคิดเรื่อยเปื่อยถึงเหตุการณ์ที่แม่ต้องเข้า รพ.

วันอาทิตย์ที่ผ่านมา แม่อ่อนเพลียมากและหายใจไม่ทั่วท้องตอนกลางคืน ที่บ้าน(เมืองพล)แม่อยู่คนเดียว  แต่แม่บอกก็ต้องกระสับกระส่ายอยู่อย่างนั้นจนส่วางจึงออกไปบอกป้าซึ่งเป็นช่างทออผ้าด้วยกัน  ตอนสายจึงพากันไปที่คลีนิคเพราะเป็นวันหยุด รพ.ประจำอำเภอไม่เปิดแล้วที่คลีนิคหมอให้ยามาจำนวนหนึ่งและบอกแม่ว่าแม่เป็นไข้

แม่คงรู้สึกว่าไม่ใช่ไข้ธรรมาดาวันจันทร์ตอนเช้าจึงไปที่รพ.ประจำอำเภอเพื่อตรวจเลือดและไปหาหมอ   หมอบอกแม่ว่าแม่เป็นไข้และผลเลือดก็ไม่มีอะไรผิดปกติอะไร  หมอจึึงจัดยาให้และให้กลับมานอนพักที่บ้าน  ตอนบ่ายผมจึงไปรับแม่มาอยู่ขอนแก่นด้วย  สังเกตได้ว่าแม่เพลียมากและนอนไม่หลับ

ตอนเช้าตรู่แม่มาเคาะห้องและบอกว่าให้พาไปหาหมอหน่อย แม่บอกหายใจไม่ออกเหมือนปอดผิดปกติและแม่อยากเอ๊กซเรย์ให้รู้ไปเลย  จึงเห็นท่าไม่ดีจึงรีบพาแม่ไป รพ.เอกชนในขอนแก่น  ผลตรวจเลือดและผลเอ๊กสเรย์ดที่ออกมาช่างต่างจากที่เคย หมอแจ้งผมว่าแม่ปอดติดเชื้อ ผลเลือดไม่ผิดปกติเพียงแต่เกล็ดเลือดต่ำมากต่ำกว่าคนปกติไปครึ่งหนึ่ง

เป็นอันว่าแม่ต้องนอน รพ.(เอกชน)เพื่อให้ยาและพักรักษาตัว  ผมรู้ว่าแม่กังวลในเรื่องค่ารักษาพยาบาล แม่จะอยู่ใกล้หมอแต่แม่ก็นอนไม่หลับ และบอกให้ผมบอกหมอกลับบ้าน  เมื่อผมไปเยี่ยมก็จะถามเรื่องค่าใช้จ่ายตลอดเวลา  ผมได้แต่บอกว่าสามารถจ่ายได้ ไม่แพงอะไรมากเมื่อเทียบกับการดูแลเอาใจใส่และความละเอียดในการรักษา ก็นับว่าคุ้ม

เมื่อวานแม่อาการดีขึ้น หมออนุญาติให้กลับบ้าน เราจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปจำนวนหนึ่งและนั้นเป็นที่มาของการคิดคำนึงถึง สวัสดิการชุมชน ผมมองย้อนกลับไปที่ชุมชนเห็นคนในชุมชนรักษาพยาบาลกันตามยถากรรม  ปล่อยให้โรคมันกำเริบไปมากถึงค่อยไปหาหมอ เมื่อไปถึงมือหมอก็หมดค่าใช้จ่ายไปมาก

ความจริงไม่ได้โทษหมอที่ รพ.ประจำอำเภอ ทั้งนี้อาจจะคนใข้มากและเครื่องไม้เครื่องมือไม่พอ  แต่เมื่อมองย้อนกลับมาเป็นพี่น้องชาวนาคนอื่น ๆ หากต้องจ่ายเงินแบบสถานการณ์ของผม มีหวังทำนามาทั้งปีก็คงต้องขายมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเป็นแน่ ผมคิดถึงการสะสมเงินเพื่อสัวสดิการของช่างทอที่ทอผ้าให้ผม ว่าเราจะหาทางอย่างไรถ้าเราเจอสถานการณ์แบบนี้  หรือผมควรมีวิธีช่วยเหลือชางทอคนอื่น ๆ ในกลุ่มได้อย่างไร

(ช่างทอผ้าแก่ ๆ ที่ไม่มีสวัสดิการ เมื่อป่วยไข้จะทำอย่างไรดีน้า)

ท่านที่สันทัดเรื่องนี้ น่าจะให้คำตอบได้ดี  แต่สถานการณ์ผ่านไปได้ผมดีใจที่แม่ดีขึ้นและเราพอมีสวัสดิการจากการสะสมและออมทรัพย์ไว้ใช้เมื่อจำเป็น ซึ่งความจำเป็นนี้ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ และแม่ก็ไม่ต้องขายข้าวที่ลงทุนทำมาทั้งปี

มีนาคม 4, 2009

พ่อแม่และครู คือตัวชี้วัดความคิดสร้างสรรค์ของลูก

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , — ออต @ 11:12

ผมเลือกสอนศิลปะในห้องเรียนที่มีความสุข แม้บางคราวสิ่งที่เตรียมเอาไว้จะกลายเป็นความไม่สุขของนักเรียนบางคน ซึ่งก็จดจำเอาไว้เก็บไปพัฒนาต่อไป  ดังนั้นเมื่ออุ่นเครื่องเด็ก ๆ จนพร้อที่จะลงมือสร้างสรรค์งานศิลปะแล้ว หลังจากนั้นก็ปล่อยให้เป็นสวรรค์น้อย ๆ ของเขา

ในระหว่างเด็ก ๆ สร้างสรรค์ ผมเลือกที่จะเดินดูอยู่ห่าง ๆ หรือเดินไปเดินมาช่วยหาอุปกรณ์ สี หรือเตรียมสิ่งของที่เด็ก ๆ จะใช้ในการสร้างสรรค์งานศิลปะเอาไว้ให้พร้อม งดการวิจารณ์หรือพูดถึงผลงานของเด็ก จะพูดก็ต่อเมื่อพบเห็นเด็ก ๆ บางคนยังคิดอะไรไม่ออก หรือคิดได้แต่ไม่กล้าลงมีสักที  นั้นถึงเป็นเวลาที่ผมจะเปิดปากพูด

การเดินวนไปรอบ ๆ จะช่วยให้ครูมองเด็กและสังเกตพฤติกรรมเด็กเป็นรายบุคคลได้และเมื่อเดินบ่อย ๆ ครูจะสามารถเดาพฤติกรรมต่อไปของเด็กบางคนได้ ว่าเด็กพร้อมที่จะทำงานแล้วหรือยังต้องการการกระตุ้นเพิ่ม  เราจะสังเกตได้ว่าเด็กคนนั้นต้องการหรือไม่ต้องการให้ใครไปยุ่งกับโลกจินตนาการของเขา  เราจะสังเกตได้ว่าเด็กคนนั้นเหนื่อยล้ากับการทำงานและต้องการการพักแล้ว

เมื่อพบว่าพฤติกรรมดังกล่าว ผมมักจะไม่กระตุ้นต่อ แต่ปล่อยให้เด็ก ๆ เปลี่ยนอริยาบถไป ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นผมเล่นกับเด็ก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกม พูดคุย เมาส์กันให้สนุกปาก หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นการเปลี่ยนอริยาบถ   ก่อนหน้านั้นหลายครั้งที่ผมมักกระตุ้นเพิ่มเมื่อเห็นเด็กเหนื่อยหวังว่าจะให้ผลงานสวยงาม แต่จากการสังเกตนี้ผมเห็นว่าไม่มีประโยชน์อันใดที่จะกระตุ้นเพิ่ม

ผมปล่อยให้เด็กเล่นจนเหนื่อยในเวลาที่สมควร เมื่อเด็กเหนื่อยเราจะพบปรากฏการณ์ใหม่ที่เด็กหันกลับมาสนใจงานศิลปะของตนเองเพิ่มมากขึ้น และหลายคนทำงานตนเองจะเสร็จโดยไม่ต้องมากระตุ้นให้เขาทำงานศิลปะต่อ

เรื่องนี้นอกจากครูต้องเป็นนักสังเกตแล้ว ผู้ปกครองเองต้องตะหนักในข้อนี้ด้วย มีผู้ปกครองหลายคน เมื่อมารับลูกและเห็นว่าทำงานไม่เสร็จก็จะพยายามบอกให้ลูกทำงานศิลปะต่อให้เสร็จ  เมื่อผมเดินไปเจอก็จะรีบถามเด็กด้วยคำถามนำว่า “เหนื่อยแล้วใช่ไหม?” ซึ่งคำตอบว่า “ใช่” ก็จะออกจากปากเด็ก ๆ เรื่องนี้ทำเอาผู้ปกครองหลายคนงอนครูไปเหมือนกัน แต่ทำไงได้เพราะเด็กเหนื่อยมากแล้วการสร้างสรรค์ต่อของพ่อแม่อาจจะเป็นการทำลายนิสัยรักการสร้างสรรค์ก็เป็นได้ เพราะ หนูเหนื่อยแล้ว พอแล้ว ล้าแล้ว

Powered by WordPress