ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ตุลาคม 31, 2010

Hug School : โรงเรียนแห่งการเรียนรู้

ครูออตสอนที่ฮักสคูลมาจะเข้าปีที่สามแล้ว ถือว่าเป็นครูกลุ่มแรก ๆ ของโรงเรียน ดังนั้นจึงผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอพอกับอายุของโรงเรียน ที่นี่ผู้บริหารได้สร้างวัฒนธรรมการเปิดรับความคิดใหม่ ๆ ของครูเสมอ ๆ ดังนั้นการที่เรามีอะไร อยากทำอะไร อยากคิดอะไร อยากบอก อยากสื่อสารอะไรจึงทำไปโดยไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องกลัว  การเกิดวัฒนธรรมแบบนี้จึงทำให้โรงเรียนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

ในส่วนการจัดการความรู้(KM) แม้ไม่ได้ใช้โมเดิลการจัดการความรู้อะไรในระบบวิชาการแต่ ที่นี่ก็เกิดการจัดการความรู้แบบธรรมชาติ ซึ่งผมว่ามีเนียนไปในเนื้องานที่สุด มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน บอกเล่า กันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นครูและบุคคลากรทุกคนจึงไม่ได้รู้สึกว่าถูก โมเดิลของการจัดการความรู้ครอบงำอยู่  การที่ไม่มีอะไรมาจ้องมอง การไม่มีดัชนีมาแปะ ทำให้ทุกอย่างสบาย ๆ ขึ้นนำไปสู่การจัดการความรู้ที่เป็นธรรมชาติที่สุด

ก้าวสู่ปีที่ 3 ของโรงเรียนครูออตจึงเชิญชวนครูและบุคคลากรของโรงเรียนเข้ามาร่วมเขียนเรื่องราวและงานของตนใน Lnapanya เพื่อที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับคนข้างนอกมากขึ้น อย่้างน้อยก็พี่น้องชาวลานที่มีอยู่ทุกภูมิภาค ทุกสาขาวิชาชีพ ทุกมุมมอง เพื่อให้ครูได้นำมุมมองที่ได้รับไปปรับใช้กับวัฒนธรรมการทำงานของตน  เรื่องนี้ครูออตเห็นว่าน่าจะสนุกและลานปัญญาน่าจะมีสีสันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสุนทรียศาสตร์

ทันที่ที่ครูออตโพสในกลุ่มของครูฮักสคูล ผู้บริหารก็แสดงความสนใจและสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะการเขียนในลาน ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีพลังในการขับเคลื่อนแนวคิดดีดี  ดังนั้นลานเสวนาต่อไปเห็นที่จะได้เชิญจอมยุทธ์ด้านการเขียนBLOG ไปช่วยเล่าประสบการณ์การเขียน BLOG ให้กับครูที่ฮักสคูลได้รับฟังกันทั้งจุดเริ่มต้นการเขียนและการพัฒนาการเขียน  ไม่แน่เราอาจจะได้ BLOGGER มือใหม่ไฉไลด้านสุนทรีย์มาร่วมร่ายมนต์เสน่ห์แห่งสุนทรียศาสตร์ผ่านลานของเราก็ได้

ข้อมูลของโรงเรียนเบื้องต้น สามารถสืบค้นผ่านช่องทางดังนี้

ตุลาคม 25, 2010

การสอนสุนทรียศาสตร์ : ความรู้สึกผนึกจินตนาการประสานประสบการณ์

Filed under: Uncategorized — ออต @ 15:05

หัวใจสำคัญประการหนึ่งของการเรียนศิลปะไม่ใช่ให้เด็กพัฒนาเฉพาะทักษะทางด้านการแสดงออกเท่านั้น แต่หัวใจของการสอนศิลปะไม่ว่าเด็ก เยาวชน นักศึกษาศิลปะ หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปนั้นคือสุนทรียศาสตร์ ในสมัยที่เรียนศิลปะการเรียนการสอนสุนทรียศาสตร์ส่วนใหญ่จะอิงแอบอยู่กับวิชาต่าง ๆ ของศิลปะไม่ว่าจะเป็นวิชาทางด้านทฤษฏีเช่นประวัติศาสตร์ศิลป์ การวิจารณ์ทางด้านศิลปะ และอิงแอบอยู่กับวิชาปฏิบัติการต่าง ๆ ในงานทัศนศิลป์

ที่โรงเรียนฮักสคูล ที่ครูออตสอนบรรจุหัวใจหลักของการจัดการเรียนการสอนของที่นี่ไว้ชัดว่า การเรียนการสอนจะมุ่งสอนสุนทรียศาสตร์ให้กับนักเรียนไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรอะไร ดังนั้นหน้าที่ครูจึงต้องออกแบบกระบวนการให้สุนทรียศาสตร์ผสานอยู่กับวิชาการต่าง ๆ ที่ตนเองสอน

วันนี้ห้องเรียนศิลปะเด็กประถมต้นของครูออตจึงออกแบบการสอนโดยมีจุดเน้นที่สุนทรียศาสตร์เป็นหลัก เพื่อทดลองดูว่าการออกแบบการสอนศิลปะแบบนี้จะช่วยพัฒนาสุนทรียศาสตร์ของนักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน โดยสังเกตการแสดงออกทางด้านศิลปะผสมสานกับการวิเคราะห์สิ่งที่นักเรียนพูดคุยกับครูก่อนสอน ขณะสอนและหลังสอนเสร็จ

น้องการ์ตูนเด็กนักเรียนหลักสูตรศิลปะ อายุ 7 ขวบมาเรียนกับครูออตหลายเดือนมาแล้ว เรื่องพัฒนาการทางการแสดงออกทางศิลปะไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหรือองค์ประกอบทางด้านศิลปะนั้นพัฒนาการดีอย่างต่อเนื่อง ปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนด้วยกันในห้องเรียนและปฏิสัมพันธ์กับครูถือว่าเข้ากับคนอื่นได้ดีมาก ดังนั้นจึงขอเล่าเรื่องการสอนสุนทรียศาสตร์ผ่านน้องการ์ตูนในบันทึกนี้

วันนี้ครูออตนำเข้ากิจกรรมการเรียนด้วยการถามสารทุกข์สุขดิบกับนักเรียน เพราะว่าครูออตไม่ได้เจอการ์ตูนหลายเดือนเพราะก่อนหน้านั้นการ์ตูนอ่านหนังสือสอบปลายภาค ส่วนสัปดาห์ต่อมาครูออตก็ป่วยเป็นไข้เลือกออดต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน ดังนั้นก่อนเข้ากิจกรรมการเรียนครูออตจึงได้คุยเล่นหยอกหัวกับการ์ตูนอย่างสนุก

ครูออตเล่าเรื่องหมอใช้เข็มดูดเอาเลือดครูออตไปตรวจหาเชื้อโรค เข็มตรง ๆ ที่แหลมคมกำลังทิ่งไปที่ผิวหนังและผ่านชั้นผิวหนังไปในเส้นเลือดของครูออต การ์ตูนบอกเข็มน่ากลัว น่ากลัวเพราะ เข็มมันยาวและแหลม (อะน่านเข้าทางครูออตแล้ว) ถ้ายาว ๆ ตรง แหลม ๆ คม ๆ แบบนี้การ์ตูนว่ามันน่ากลัว ครูยิงคำถามต่อไปทันควันแล้วถ้าเส้นโค้ง ๆ การ์ตูนว่ามันให้ความรู้สึกอย่างไร

“สบายค่ะ หนูว่ามันสบาย ๆ เหมือนอยู่ในทุ่งนา หนูเคยไปบ้านยายค่ะอยู่ชัยภูมิบ้านคุณยายอยู่ในหมู่บ้านมีทุ่งนา อยู่ทุ่งนาแล้วสบายค่ะ” คำตอบแบบนี้ครูออตได้ทั้งโต๊ดทั้งเต็งเลย คือได้ทั้งอารมณ์ที่มีความรู้สึกต่อเส้นและได้จินตภาพที่เด็กมีต่ออารมณ์และความรู้สึกแบบนั้น ไม่รอให้ความรู้สึกผ่านไปนาน ครูออตส่งกระดานและกระดาษให้การ์ตูนทันทีก่อนความรู้สึกจะมลายไป

การ์ตูนขีดเส้นโค้ง ๆ ไปมาก่อนที่จะเผยภาพในจินตนาการตามความรู้สึกต่อเส้นโค้งเหล่านั้น ภาพที่เด็กหญิงตัวน้อยแสดงออกคือถนนเส้นหนึ่งที่โค้งยาวเลียบไหล่เขาไป ข้าง ๆก็มีสายน้ำคดโค้งไป ตรงบริเวณเชิงเขามีทุ่งนาสีเขียว ใกล้กับสายน้ำก็มีทุ่งนาสีเขียวให้ดูสบายใจ ภูเขาที่เขียวที่ทอดยาวไปตามเส้นทางที่ยาวไกล “นั้นถนนไปบ้านคุณยายค่ะ คดโค้งไปมา หนูอยากให้มันเท่า ๆ กันค่ะ ข้างบนเป็นก้อนเมฆและฟ้าสีม่วงเหมือนฝนจะตก”

การ์ตูนถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อเส้นโค้ง ผ่านสิ่งที่เคยเห็นหรือเป็นประสบการณ์ที่เธอเคยเจอ เมื่อถ่ายทอดลงในกระดาษ เธอก็ใส่จินตนาการลงไปด้วย เพื่อให้สิ่งที่เห็นในประสบการณ์เป็นเหมือนสิ่งที่เธออยากให้เป็นเช่น อยากให้ภูเขาเท่า ๆ กัน เป็นต้น นี่เป็นประสบการณ์การทดลองสอนสุนทรียศาสตร์ของครูออตในห้องเรียนศิลปะที่ฮักสคูล ไปชมกระบวนการคิดและการวาดภาพของเธอกันครับ และไปดูทุ่งนาที่สบายของการ์ตูน

Powered by WordPress