การสอนสุนทรียศาสตร์ : ความรู้สึกผนึกจินตนาการประสานประสบการณ์
หัวใจสำคัญประการหนึ่งของการเรียนศิลปะไม่ใช่ให้เด็กพัฒนาเฉพาะทักษะทางด้านการแสดงออกเท่านั้น แต่หัวใจของการสอนศิลปะไม่ว่าเด็ก เยาวชน นักศึกษาศิลปะ หรือแม้แต่บุคคลทั่วไปนั้นคือสุนทรียศาสตร์ ในสมัยที่เรียนศิลปะการเรียนการสอนสุนทรียศาสตร์ส่วนใหญ่จะอิงแอบอยู่กับวิชาต่าง ๆ ของศิลปะไม่ว่าจะเป็นวิชาทางด้านทฤษฏีเช่นประวัติศาสตร์ศิลป์ การวิจารณ์ทางด้านศิลปะ และอิงแอบอยู่กับวิชาปฏิบัติการต่าง ๆ ในงานทัศนศิลป์
ที่โรงเรียนฮักสคูล ที่ครูออตสอนบรรจุหัวใจหลักของการจัดการเรียนการสอนของที่นี่ไว้ชัดว่า การเรียนการสอนจะมุ่งสอนสุนทรียศาสตร์ให้กับนักเรียนไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรอะไร ดังนั้นหน้าที่ครูจึงต้องออกแบบกระบวนการให้สุนทรียศาสตร์ผสานอยู่กับวิชาการต่าง ๆ ที่ตนเองสอน
วันนี้ห้องเรียนศิลปะเด็กประถมต้นของครูออตจึงออกแบบการสอนโดยมีจุดเน้นที่สุนทรียศาสตร์เป็นหลัก เพื่อทดลองดูว่าการออกแบบการสอนศิลปะแบบนี้จะช่วยพัฒนาสุนทรียศาสตร์ของนักเรียนได้มากน้อยแค่ไหน โดยสังเกตการแสดงออกทางด้านศิลปะผสมสานกับการวิเคราะห์สิ่งที่นักเรียนพูดคุยกับครูก่อนสอน ขณะสอนและหลังสอนเสร็จ
น้องการ์ตูนเด็กนักเรียนหลักสูตรศิลปะ อายุ 7 ขวบมาเรียนกับครูออตหลายเดือนมาแล้ว เรื่องพัฒนาการทางการแสดงออกทางศิลปะไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหรือองค์ประกอบทางด้านศิลปะนั้นพัฒนาการดีอย่างต่อเนื่อง ปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนด้วยกันในห้องเรียนและปฏิสัมพันธ์กับครูถือว่าเข้ากับคนอื่นได้ดีมาก ดังนั้นจึงขอเล่าเรื่องการสอนสุนทรียศาสตร์ผ่านน้องการ์ตูนในบันทึกนี้
วันนี้ครูออตนำเข้ากิจกรรมการเรียนด้วยการถามสารทุกข์สุขดิบกับนักเรียน เพราะว่าครูออตไม่ได้เจอการ์ตูนหลายเดือนเพราะก่อนหน้านั้นการ์ตูนอ่านหนังสือสอบปลายภาค ส่วนสัปดาห์ต่อมาครูออตก็ป่วยเป็นไข้เลือกออดต้องนอนโรงพยาบาลหลายวัน ดังนั้นก่อนเข้ากิจกรรมการเรียนครูออตจึงได้คุยเล่นหยอกหัวกับการ์ตูนอย่างสนุก
ครูออตเล่าเรื่องหมอใช้เข็มดูดเอาเลือดครูออตไปตรวจหาเชื้อโรค เข็มตรง ๆ ที่แหลมคมกำลังทิ่งไปที่ผิวหนังและผ่านชั้นผิวหนังไปในเส้นเลือดของครูออต การ์ตูนบอกเข็มน่ากลัว น่ากลัวเพราะ เข็มมันยาวและแหลม (อะน่านเข้าทางครูออตแล้ว) ถ้ายาว ๆ ตรง แหลม ๆ คม ๆ แบบนี้การ์ตูนว่ามันน่ากลัว ครูยิงคำถามต่อไปทันควันแล้วถ้าเส้นโค้ง ๆ การ์ตูนว่ามันให้ความรู้สึกอย่างไร
“สบายค่ะ หนูว่ามันสบาย ๆ เหมือนอยู่ในทุ่งนา หนูเคยไปบ้านยายค่ะอยู่ชัยภูมิบ้านคุณยายอยู่ในหมู่บ้านมีทุ่งนา อยู่ทุ่งนาแล้วสบายค่ะ” คำตอบแบบนี้ครูออตได้ทั้งโต๊ดทั้งเต็งเลย คือได้ทั้งอารมณ์ที่มีความรู้สึกต่อเส้นและได้จินตภาพที่เด็กมีต่ออารมณ์และความรู้สึกแบบนั้น ไม่รอให้ความรู้สึกผ่านไปนาน ครูออตส่งกระดานและกระดาษให้การ์ตูนทันทีก่อนความรู้สึกจะมลายไป
การ์ตูนขีดเส้นโค้ง ๆ ไปมาก่อนที่จะเผยภาพในจินตนาการตามความรู้สึกต่อเส้นโค้งเหล่านั้น ภาพที่เด็กหญิงตัวน้อยแสดงออกคือถนนเส้นหนึ่งที่โค้งยาวเลียบไหล่เขาไป ข้าง ๆก็มีสายน้ำคดโค้งไป ตรงบริเวณเชิงเขามีทุ่งนาสีเขียว ใกล้กับสายน้ำก็มีทุ่งนาสีเขียวให้ดูสบายใจ ภูเขาที่เขียวที่ทอดยาวไปตามเส้นทางที่ยาวไกล “นั้นถนนไปบ้านคุณยายค่ะ คดโค้งไปมา หนูอยากให้มันเท่า ๆ กันค่ะ ข้างบนเป็นก้อนเมฆและฟ้าสีม่วงเหมือนฝนจะตก”
การ์ตูนถ่ายทอดความรู้สึกที่มีต่อเส้นโค้ง ผ่านสิ่งที่เคยเห็นหรือเป็นประสบการณ์ที่เธอเคยเจอ เมื่อถ่ายทอดลงในกระดาษ เธอก็ใส่จินตนาการลงไปด้วย เพื่อให้สิ่งที่เห็นในประสบการณ์เป็นเหมือนสิ่งที่เธออยากให้เป็นเช่น อยากให้ภูเขาเท่า ๆ กัน เป็นต้น นี่เป็นประสบการณ์การทดลองสอนสุนทรียศาสตร์ของครูออตในห้องเรียนศิลปะที่ฮักสคูล ไปชมกระบวนการคิดและการวาดภาพของเธอกันครับ และไปดูทุ่งนาที่สบายของการ์ตูน
ชอบติดตามความก้าวหน้าของน้องๆครับ อิอิ
ความคิดเห็น โดย จอมป่วน — ตุลาคม 25, 2010 @ 15:57
น้องออตเหมาะกับ Art Therapy ชะมัดเลยจ้ะ ดีใจแทนเด็กๆจัง
หายป่วยแล้วใช่มั้ยจ๊ะ ต้องไปตามนัดอีกหรือเปล่า? ไข้เลือดออกในผู้ใหญ่อันตรายเอาการเลย …กำจัดยุงแถวบ้านและที่ทำงานแล้ว? (เผาเล้ยๆๆๆอิอิอิ)
ระวังป้องกันตัวเองด้วยนะจ๊ะ เป็นห่วงครูออตจริง (เอ ออกแนวรณรงค์ป้องกันบางอย่างหรือเปล่าเนี่ย ^ ^)
ความคิดเห็น โดย น้ำฟ้าและปรายดาว — ตุลาคม 25, 2010 @ 19:17
หากเราทำบันทึกคล้ายๆกับ personality profile ของเด็กทุกคน โดยครูทำเองในสมุดบันทึกของครู แบ่งเป็น 2column โดยที่ 1 เป็นบุคลิกประจำตัวเด็กคนนั้น อีก Column เป็นการเอารูปต่างๆที่เขาวาดไปใส่ไว้ วันไหนเขามีพฤติกรรมอะไรที่น่าบันทึกในช่องที่ 1 ก็ใส่ลงไป สะสมไปเรื่อยๆ ช่องที่สองก็มีรูปเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อผ่านไปนานพอสมควร เอารูปมาพิจารณา สี เส้น เรื่องราว ฯลฯ เทียบกับ บุคลิคลักษณะของเขาทางซ้ายมือ น่าจะบอกอะไรได้บ้างหรือเปล่าก็ไม่รู้
เพราะผู้ใหญ่เรานั้น ลายมือ บอกอะไรตั้งเยอะ คนบางคนเก่งขนาดดูลายมือ ลายเซนต์ก็บอกบุคลิคคนนั้นได้ และแม่นด้วย
หากเอาพฤติกรรม บุคลิคของเด็กที่สะสมไว้พอสมควรมาวิ้คราะห์ร่วมกับรูป สมมุติว่ามันบอกอะไรเรา นี่ก็คือลายแทงของเด็กคนนั้นหล่ะครับ ออต
พี่ชอบงานของออตมากเลย
ความคิดเห็น โดย bangsai — ตุลาคม 25, 2010 @ 21:32
ขอบคุณครับ สำหรับคำแนะนำที่ดีดีครับ
ความคิดเห็น โดย ออต — ตุลาคม 27, 2010 @ 12:12