ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กันยายน 29, 2011

AAR : KIDS ART

Filed under: Uncategorized — ออต @ 15:51

HUG SCHOOL เปิดสอนมาได้ขวบปีที่สามแล้ว  แต่จำเป็นจะต้องปรับปรุงหลายเรื่องอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ส่วนใหญ่ก็จะคุยกันในครูแต่ละฝ่ายเช่น ฝ่ายดนตรีและขับร้อง ฝ่ายเต้นรำ รวมทั้งฝ่ายศิลปะ ซึ่งครูออตร่วมอยู่ในทีม

สามเดือนก่อนหน้านี้ เราสอนกันเฉพาะเด็กของตนเองกล่าวคือ ใคร(ครู) สอนเด็กคนไหนก็จะสอนเด็กคนนั้นตลอดไปเด็กลงทะเบียน 1 คอร์สเท่ากับสามเดือน ดังนั้นครูจึงสอนเด็กคนนั้นไปตลอดสามเดือน แบบนี้ครูจะเห็นพัฒนาและวางแผนการสอนอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ทำให้พัฒนาการของเด็กดีขึ้น

หลังจากเด็กหมดคอร์สที่หนึ่ง ผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็จะเห็นความสำคัญและส่งลูกเรียนคอร์สต่อไป แต่ปัญหาที่เจอคือ เด็กมักจะไม่อยากเรียนกับครูคนใหม่เมื่อขึ้นคอร์สต่อไปเรื่องนี้เข้าใจได้ไม่อยากเพราะเด็กกับครูเก่าเริ่มมีความไว้วางใจกันแล้ว การจะสอนอะไรก็ง่ายขึ้นการเปลี่ยนครูก็จำทำให้เด็กงอแงที่จะเปลี่ยนครูและ ไม่มาเรียนในที่สุด  วิธีการนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย

ข้อดีอย่างที่เล่าไปแล้ว ส่วนข้อเสียอีกประการหนึ่งคือเมื่อเด็กติดครูและทำให้ครูบางคนมีชั่วโมงสอนที่เยอะ มากในขณะที่ครูอีกหลายคนมีชั่วโมงน้อย ทำให้เมื่อคิดถึงค่อตอบแทนในการสอนรายเดือนแล้วไม่เกิดแรงจูงใจการการมาสอน ประสิทธิภาพในการสอนก็ลดลง

สองเดือนที่แล้วเราคุยกันและลองเปลี่ยนครูสอนใน 1 คอร์สเป็นครู3คน โดยสอนสลับกันไปเป็นเดือน เพื่อช่วยลดปัญหาการติดครู ดังนั้นเมื่อครบ 3 เดือนก็จะจได้เจอครูสามคน วิธีนี้ผ่านไปสองเดือนดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรแต่เมื่อเวียนกลับมาหาครูออตอีกรอบ ทำให้เราเห็นความผิดพลาดบางประการ

เมื่อวานจึงมีการประชุมครูฝ่ายศิลปะและเชิญผู้บริหารมารับฟัง ความจริงมันคือการทำ AAR (After Action Review)นั้นเอง ซึ่งความจริงเราควรทำกันตั้งแต่สิ้นการสอนเดือนที่หนึ่ง เพราะเมื่อเปลี่ยนครูไปแล้ว ครูได้ส่งเด็กให้ครูคนต่อไปแต่ครูลืมส่งข้อมูลของพัฒนกาารสอนของเด็กแต่ละคนให้ครูคนต่อไป  ครูคนที่รับช่วงต่อ หากไม่ทราบพัฒนาการของเด็กรายบุคคลก็จะสอนเหมือนกันหมด ทำให้พัฒนาการการเรียนรู้ของเด็ก(บางคน)ลดลงและมีผลชัดเจนในเดือนที่สอง

บันทึกนี้เหมือนจะเดือนตัวเองและผุ้บริหารว่า การทำ AAR  นี่มันมีความสำคัญเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนในการเน้นประสิทธิภาพการสอน มากกว่าเน้นให้เด็กสนุกไปวันวัน ในความสนุกความสุขซึ่งเป็นปรัชญาของโรงเรียนจำเป็นจะต้องมีทักษะที่ดี มีความซาบซึ้งในสุนทรียภาพ และเอาศิลปะช่วยขจัดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็กออกไปให้ได้ ดังนั้นหากต้องการอะไรที่มากกว่าสนุกต้องกลับมาทบทวนการจัดการเรียนรู้ด้วย

หลังได้ช่วยกันทบทวนพฤติกรรมของนักเรียนและครูผู้สอนด้วยกันเองแล้ว เราได้บทสรุปร่วมกันและการวางแผนสำหรับการสอนในเดือนต่อไป ซึ่งเราจะมาทำ AAR กันอีกหลังเสร็จสิ้นการสอนในเดือนตุลาคมนี้  ครูออตเชื่อว่าการทำ AAR จะช่วยให้การเรียนการสอนของฝ่ายศิลปะมีประสิทธิภาพมากขึ้น…..ครูออตเชื่ออย่างนั้น

กันยายน 27, 2011

ฉันจะบิน บินไป ไกลแสนไกลไม่หวั่น

เลโอนาร์โด ดาวินชี ศิลปินเอกของโลกที่ได้รับการยอมรับว่าอัจฉริยะในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการผสานความฉลาดทั้งสมองซีกซ้ายและซีกขวาของเขาให้สัมพันธ์กันนำมาซึ่งรากฐานของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกใบใหญ่นี้

หนึ่งในรากฐานที่สำคัญที่ดาวิชีศึกษาคือ การบิน ซึ่งดาวินชีได้ศึกษาการบินของนกและนำมาใส่จินตนาการต่อเพื่อสร้างเครื่องมือที่จะช่วยให้มนุษยืบินบนฟ้าได้ และแน่นอนการริ่เริ่มของเขานำมาซึ่งเครื่องนร้่อน เครื่องบินในเวลาต่อมา ดังนั้นนกจึงกลายเป็นแรงบันดาลให้ศิลปินได้คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ให้แก่มนุษยชาติ 

นกสำหรับครูออตเป็นสิ่งที่น่าอิจฉา เพราะมันสามารถบินได้อย่างเสรีบนอากาศ มองเห็นสิ่งต่าง ๆ จากมุมที่สูง ความสุขที่เห็นความอิสระทำให้เราอย่ากจะบินได้เหมือนนก ความคิดแบบนี้ไม่น่าจะแตกต่างจากเด็ก ที่เห็นนกแล้วคงอยากบินได้เหมือนนก

สัปดาห์นี้ครูออตจึงชวนเด็ก ๆ มาเป็นนกกัน  ครูออตชวนเด็๋ก ๆ ร้องเพลงนกน้อยถลาลม ”เจ้านกน้อยคอยบินสู่เวหา  แล่นถลาล่องลมเพลินฤดี  บิน บิน ถลา ถลา แล่นลม บินล่องบินลอย บิน ถลา ถลา แล่นลม   ” เมื่อเรื่องบินๆ อยู่ในหัวของเด็ก ๆ แล้วก็ไม่อยากที่จะชวนเขาสร้างสรรค์บิกนกของตัวเอง

เด็ก ๆ สัลบกันนอนและเขียนปีกแบบต่าง ๆ ให้เพื่อน การสลับกันทำงานจะช่วยให้เด็กยอมรับเพื่อนได้ง่ายขึ้นและร่วมมือในการทำงาน ซึ่งครูออตไม่ต้องลงแรงไปทำให้เลย เพียงนั่งดูอยู่ห่าง ๆ    เมื่อได้ปีกครบทุกคนแล้วก็ถึงเวลาที่ครูออตช่วยตัดปีกนก(ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็อาจจะให้ตัดเองได้ ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดี)

เด็กทุกคนได้ปีกของตนเองแล้วก็ถึงเวลาตกแต่งปีกของตนเองให้สวยงาม เสมือนหนึ่งเป็นปีกของเครื่องบินลำใหญ่หรือปีกนกที่สวยงามหลากสี  ครูออตแอบตัดกระดาษเล็ก ๆ(เป็นขนนก) เอาไว้เพื่อให้เด็ก ๆ ติดขนกระดาษลงบนปีกของตนเอง(เช่นกันหากเด็กโตก็อาจจะให้ตัดเอง)

 

ถึงเวลานี้ เด็ก ๆ ต่างลงมือตกแต่งปีกของตนเองอย่างสนุกสนาน ในขณะทำเด็กบางคนสังเกตว่าปีกของตนเองบางเกินไปอาจจะไม่แข็งแรง หลายคนให้ครูออตติดกระดาษเพิ่มเพื่อให้มันแข็งแรง(กรณีนี้แสดงว่าเด็กรู้จักคิดเชื่อมโยงจากปีกกระดาษสู่ปีกนกจริงที่แข็งแรง และความแข็งแรงจะทำให้บินได้ ,,ในความคิดเด็ก)

เมื่อได้ปีกที่สวยงาม ตามใจปรารถนาของเด็ก ๆ แล้วครูออตเสริมปีกให้แข็งแรงและร้อยเชือกเพื่อผูกปีกติดกับแขนของเด็ก ๆ เมื่อปีกพร้อม ร่างกายก็พร้อม เด็ก ๆ วิ่งรอที่สนามเด็กเล่นเพื่อนทดสอบปีกของตนเอง โดยสมมติว่าเป็นนกยักษ์ดังนั้นที่สนามเด็กเล่นเราจึงเห็นนกยักษืไร้เดียงสาบินกันให้ว่อน

 

“ครูออคคับ ทำไมผมบินไม่ขึ้น” อิอิ เจอคำถามแบบนี้จะตอบว่าจังได๋ดีน้อ ช่วยกันตอบนะครับ………………………

 

 

กันยายน 24, 2011

จัดการความไม่กล้าด้วยสีดำ

เด็กไทยสมัยนี้กล้าขึ้น กล้าพูด การคิด กล้าแสดงออก กล้าทำ กล้าคิดโดยเฉพาะในเรื่องดีดี ปรากฎการณ์แบบนี้ครูออตเห็นว่าเป็นเรื่องดี เรื่องที่น่าส่งเสริมเพราะจะกล้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องกล้าในสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้องด้วย จึงจะทำให้สังคมเราเดินทางไปสู่สังคมอุดมฮัก

แล้วเด็กที่ไม่กล้าล่ะ ควรทำอย่างไรดี?  เรื่องนี้เห็นทีนักการศึกษาต้องช่วยกันขบคิดว่าเราจะมีกระบวนการอย่างไรที่จะคอยกระตุ้นให้เรากล้าแสดงออกในความคิด ความรู้สึกของตนเอง ครูออตในฐานะที่อยู่กับศิลปะก็เห็นว่า ศิลปะน่าจะเป็นทางสายหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น

เด็กที่ขาดกลัว ไม่ว่าจะกลัวสิ่งที่ตัวเองวาดออกมาจะถูกหรือผิด คิดกังวล คิดสับสนในความคิดของตนเอง มักแสดงออกผ่านเส้นที่ขาด ๆ กระท่อนกระแท่น  ไม่สม่ำเสมอหรือขีดกลับไปกลับมา พฤติกรรมแบบนี้พบเห็นได้ในชั่วโมงศิลปะ และนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องเปลี่ยนแปลงให้เขามั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตนเองเห็น ตนเองรู้สึก

ในห้องเรียนวันนี้มีพี่น้องมาเรียนด้วยกัน 2 ครอบครัว  คนพี่กล้าขีดกล้าเขียน แต่คนน้องจ้องมองพี่ตลอดเวลาว่าพี่จะเขียนอะไร ดังนั้นจึงเห็นสิ่งที่คนน้องเขียนนั้นถูกลบแล้วเขียน ลบแล้วเขียนอยู่ตลอดเวลา วันนี้ครูออตจึงเปลี่ยนการวาดรูปในวิชาศิลปะนี้ใหม่โดยเปลี่ยนจากการวาดรูปธรรมดาที่คุ้นเคยเป็นการวาดภาพหมึกแบบศิลปินจีน

การเขียนภาพหมึกจีนนั้น ศิลปินจะเฝ้ามองธรรมชาติอย่างเข้าใจ ช่างสังเกตและจับอารมณ์ความรู้สึกให้ได้ ดังนั้นการรับรู้ความรู้สึกผ่านสายตาจึงสำคัญเมื่อนำมารวมกับอารมณ์ ที่จะคอยกระตุ้นสมองให้สั่งการข้อมือในการวาดภาพจึงได้ภาพที่เฉียบคม ฉลับพลัน ทันที นิ่ง งดงามและเรียบง่าย  การวาดรูปแบบนี้ช่วยให้คนวาดมั่นใจในการวาดมากขึ้น การวาดในครั้งแรก ๆ อาจจะยากแต่เมื่อฝึกฝน ศิลปินก็จะมั่นใจในตัวเองขึ้น

ชั่วโมงศิลปะคราวนี้ครูออตก็ไม่ปล่อยให้ความไม่กล้าอยู่กับเด็ก ๆ นานไป จึงลวงเด็ก ๆ ให้ออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมหันออกมามองสวนสวยข้าง ๆ ห้องเรียน ให้เด็กเฝ้ามองต้นไม้ ใบไม้ที่ตนเองพบ ทั้งที่อยู่บนต้น ใบที่ร่วงลงดิน และใบที่อยู่บนดิน และวาดภาพเหล่านั้นด้วยสีหมึก เมื่ออธิบายกิจกรรมแล้ว ช่วงเวลานี้จึงปล่อยให้เด็ก ๆ บรรเลงเพลงศิลปะเพียงลำพัง เพื่อให้เด็กมีสมาธิในการทำงาน(ขออนุญาตไปจิบกาแฟก่อนนะครับ)

 

ผ่านไปไม่กี่สิบนาที ครูออตกลับมาแอบดูนักเรียนแต่ละคนทำงาน  ซึ่งมองไปอีกฟากเห็นกระดาษที่ถูกวาดสีหมึกลงไป ตากเต็มพื้น และหากดูเรียงลำดับไปทีละชิ้นเราจะพบว่า เส้นของการวาดของเด็ก ๆ มั่นคงและสม่ำเสมอขึ้น และภาพวาดเหล่านั้นช่างเดียงสาไม่ต่างจากศิลปินพู่กันจีนเอาเสียเลย

 

เมื่อได้ผลงานเป็นที่พอใจและเยอะขนาดนี้ ครูออตจึงชวนเด็ก ๆ เอาผลงานของตนเองไปติดที่ผนัง เพื่อโชว์ผลงานให้ทุกคนได้ชม ได้รู้ว่าพวกเรากล้ามากขึ้น กล้าตัดสินใจ กล้าขีดเขียน แล้ววันหนึ่งความมั่นใจของเด็ก ๆ คงจะเพิ่มขึ้นเหมือนกิจกรรมการวาดสีหมึกในวันนี้

เจอกันกิจกรมครั้งต่อไป 

Powered by WordPress