ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กันยายน 27, 2011

ฉันจะบิน บินไป ไกลแสนไกลไม่หวั่น

เลโอนาร์โด ดาวินชี ศิลปินเอกของโลกที่ได้รับการยอมรับว่าอัจฉริยะในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการผสานความฉลาดทั้งสมองซีกซ้ายและซีกขวาของเขาให้สัมพันธ์กันนำมาซึ่งรากฐานของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกใบใหญ่นี้

หนึ่งในรากฐานที่สำคัญที่ดาวิชีศึกษาคือ การบิน ซึ่งดาวินชีได้ศึกษาการบินของนกและนำมาใส่จินตนาการต่อเพื่อสร้างเครื่องมือที่จะช่วยให้มนุษยืบินบนฟ้าได้ และแน่นอนการริ่เริ่มของเขานำมาซึ่งเครื่องนร้่อน เครื่องบินในเวลาต่อมา ดังนั้นนกจึงกลายเป็นแรงบันดาลให้ศิลปินได้คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ให้แก่มนุษยชาติ 

นกสำหรับครูออตเป็นสิ่งที่น่าอิจฉา เพราะมันสามารถบินได้อย่างเสรีบนอากาศ มองเห็นสิ่งต่าง ๆ จากมุมที่สูง ความสุขที่เห็นความอิสระทำให้เราอย่ากจะบินได้เหมือนนก ความคิดแบบนี้ไม่น่าจะแตกต่างจากเด็ก ที่เห็นนกแล้วคงอยากบินได้เหมือนนก

สัปดาห์นี้ครูออตจึงชวนเด็ก ๆ มาเป็นนกกัน  ครูออตชวนเด็๋ก ๆ ร้องเพลงนกน้อยถลาลม ”เจ้านกน้อยคอยบินสู่เวหา  แล่นถลาล่องลมเพลินฤดี  บิน บิน ถลา ถลา แล่นลม บินล่องบินลอย บิน ถลา ถลา แล่นลม   ” เมื่อเรื่องบินๆ อยู่ในหัวของเด็ก ๆ แล้วก็ไม่อยากที่จะชวนเขาสร้างสรรค์บิกนกของตัวเอง

เด็ก ๆ สัลบกันนอนและเขียนปีกแบบต่าง ๆ ให้เพื่อน การสลับกันทำงานจะช่วยให้เด็กยอมรับเพื่อนได้ง่ายขึ้นและร่วมมือในการทำงาน ซึ่งครูออตไม่ต้องลงแรงไปทำให้เลย เพียงนั่งดูอยู่ห่าง ๆ    เมื่อได้ปีกครบทุกคนแล้วก็ถึงเวลาที่ครูออตช่วยตัดปีกนก(ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็อาจจะให้ตัดเองได้ ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดี)

เด็กทุกคนได้ปีกของตนเองแล้วก็ถึงเวลาตกแต่งปีกของตนเองให้สวยงาม เสมือนหนึ่งเป็นปีกของเครื่องบินลำใหญ่หรือปีกนกที่สวยงามหลากสี  ครูออตแอบตัดกระดาษเล็ก ๆ(เป็นขนนก) เอาไว้เพื่อให้เด็ก ๆ ติดขนกระดาษลงบนปีกของตนเอง(เช่นกันหากเด็กโตก็อาจจะให้ตัดเอง)

 

ถึงเวลานี้ เด็ก ๆ ต่างลงมือตกแต่งปีกของตนเองอย่างสนุกสนาน ในขณะทำเด็กบางคนสังเกตว่าปีกของตนเองบางเกินไปอาจจะไม่แข็งแรง หลายคนให้ครูออตติดกระดาษเพิ่มเพื่อให้มันแข็งแรง(กรณีนี้แสดงว่าเด็กรู้จักคิดเชื่อมโยงจากปีกกระดาษสู่ปีกนกจริงที่แข็งแรง และความแข็งแรงจะทำให้บินได้ ,,ในความคิดเด็ก)

เมื่อได้ปีกที่สวยงาม ตามใจปรารถนาของเด็ก ๆ แล้วครูออตเสริมปีกให้แข็งแรงและร้อยเชือกเพื่อผูกปีกติดกับแขนของเด็ก ๆ เมื่อปีกพร้อม ร่างกายก็พร้อม เด็ก ๆ วิ่งรอที่สนามเด็กเล่นเพื่อนทดสอบปีกของตนเอง โดยสมมติว่าเป็นนกยักษ์ดังนั้นที่สนามเด็กเล่นเราจึงเห็นนกยักษืไร้เดียงสาบินกันให้ว่อน

 

“ครูออคคับ ทำไมผมบินไม่ขึ้น” อิอิ เจอคำถามแบบนี้จะตอบว่าจังได๋ดีน้อ ช่วยกันตอบนะครับ………………………

 

 

เมษายน 20, 2011

บุญนี้แด่ผู้พลาดหวัง

อดเสียใจเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ไปไหว้ย่าโม ในเฮฮาศาสตร์ครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ไม่ว่าจะพยายามพลิกซ้าย ย้ายขวา แต่ฟ้าก็มัวมิด ปิดไปซะทุกทาง ทำให้เส้นวาสนาอักเสบโดยเฉพาะเรื่องและสถานที่ที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ซึ่งดูจากโปรแกรมแล้ว ต้องบอกว่าขอโอ้ยยยยยยยยยยยยยยยย ยาว ยาว

ท่านว่าอย่าเสียใจอะไรนาน จงมองไปข้างหน้า อิอิ  ในหัวก็คิดชดเชยสิ่งที่ตนเองพลาดหวังไม่ได้ไป คุณครูที่ฮักสคูลเองก็อดไปกันหมดด้วยเพราะหน้าที่ ดังนั้นจึงคิดการไกลกับผู้บริหารเพื่อออกโปรแกรมใหม่ “วิสาขบูชา” ชวนกันไปเฮฮาทำบุญที่สวนป่ากับโครงการ 4P1H วู้ชื่ออะไรเก๋ ๆ แต่สรุปรวมคือชวนคนไปทำบุญ

4P1H หมายถึง Pa Pai Pluk Pa by Hug หรือชื่อในภาษาไทยว่า  “ปะ  ไป  ปลูก ป่า” โดย ฮักสคูล งานนี้ถือฤกษ์ดีในวันหยุดวิสาขบูชา  17 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ซึ่งขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ยังไม่ได้แจ้งเจ้าของสถานที่ ที่จะไปปลูกเลย เพราะเป็นที่ทุกคนที่โรงเรียนอยากไปมากที่สุด  งานนี้จึงเขียนบันทึกผ่านไปยังสวนป่าด้วย (ครูบาฯ จะได้ยินไหมหนอ) อิอิ

เหตุผลที่เลือกสวนป่ามีหลายอย่าง

1.ใจสั่งมา  ครูที่ฮักสคูลหลายคนฟังเรื่องเล่าสวนป่าจากผม และอ่านจากบันทึกครูบาฯ ร่ำ ๆ ว่าอยากไปสักครั้ง แม้เพียงแค่ช่วงเวลานิดเดียวก็อยากไป ดังนั้นเมื่อใจอยากไป ผู้ประสานจึงเลือกสวนป่า มหาชีวาลัยอีสาน เพื่อให้ครูได้ไปเยี่ยมสวนป่าให้สมใจปรารถนา หลังจากที่ท่านจะว่านเสน่ห์ไว้ในคราวมินิเฮฮาศาสตร์ปะทะฮักที่ขอนแก่นเมื่อเดือนที่แล้ว

2.สมองต้องการอาหาร การไปปลูกป่า คนไปปลูกก็อยากได้ความรู้ด้วย ดังนั้นปลูกป่าคราวนี้จึงอยากได้อาหารสมองด้วย ดังนั้นคนที่จะพูดเรื่องป่าได้ดีต้องเป็นชาวสวนป่า ดังนั้นแน่นอนเลยต้องเลือกสวนป่า ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งผมจะได้เตรียมประเด็นให้พ่อครูเปิดกระโหลกสักชั่วโมงก่อนปลูกป่า

3.ปลูกป่าทำบุญ  การทำบุญคราวนี้นอกจากทำบุญในวันพระใหญ่ซึ่งถือว่าได้บุญหลาย  ผมในฐานะคนประสานงานยังเชื่ออีกว่า การที่เราไปปลูกป่าที่สวนนอกจากเป็นการทำบุญทุนทานธรรมดาแล้ว ผมยังคิดว่ามันเป็นวิทยาทานอีกขั้นหนึ่ง เพราะสวนป่าเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้คนที่สนใจ ดังนั้นเราไปปลูกป่าคงเหมือนการไปทำสื่อการเรียนรู้ด้วย ดังนั้นจึงได้กุศลทวีคูณ

ใครจะไปปลูกบ้าง

ผมชวนเพื่อนครูที่ฮักสคูลไปปลูกป่าคราวนี้ ใช่จะกำจัดอยู่เฉพาะชาวฮัก ก็ชวนคนไปทั่วเพราะเป็นวันหยุดผู้คนน่าจะว่าง ใครเอารถไปก็สามารถรับคนที่ไม่มีรถได้ ดังนั้นใครใคร่ไป ใครใคร่ร่วมก็สามารถไปกันได้ รถก็แชร์ส่วนอาหารเที่ยงก็ช่วยกันออกให้ครัวสวนป่าช่วยเตรียมให้ แบบนี้น่าจะไม่รบกวนใคร งานนี้เป้าหมายคือ 20 คนไม่รู้จะได้มากน้อยเท่าไหร่แต่ที่แน่ ๆ “แม่ใหญ่จะไปสวนป่าด้วย”  ส่วนต้นไท้และพื้นที่ปลูกจะปรึกษาชาวสวนป่าอีกครั้ง

ทำบุญกันนะครับ

มีนาคม 11, 2011

ศิลปะที่ใช้หูฟัง

คงเคยได้ยินวาทกรรมที่ว่า “ศิลปะเข้าถึงยาก” สำหรับผมแล้วเห็นทีจะต้องขอคัดค้าน เพราะศิลปะนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นจึงไม่ยากเกินที่มนุษย์ด้วยกันจะเข้าถึงมันได้ ส่วนใครจะเข้าถึงได้มากน้อยนั้นย่อมแตกต่างกัน

สิ่งแวดล้อม ๆ ข้าง ๆ ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินได้นำมาสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นที่ฮักสคูลจึงสร้างหลักสูตรที่ให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสธรรมชาติและนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเด็กเอง ในการสร้างสรรค์เรามักนึกถึงแต่งานสองมิติ หรือสามมิติที่เห็นด้วยตา แต่ที่ฮักสคูลเรามีศิลปะที่สามารถดูได้  สัมผัสด้วยมือได้และยังสัมผัสด้วยหูได้อีก กิจกรรมนี้เราจึงเรียกมันว่า ศิลปะที่ใช้หูฟัง

ข้าง ๆ สนามเด็กเล่นที่โรงเรียน มีต้นหางนกยูงยืนตายอยู่ สังเกตดูมีฝักเต็มต้นส่วนใหญ่เราจะปล่อยให้มันแห้งตายและสลายไป หากเราสังเกตดีดีเราจะพบว่าฟักแก่ของหางนกยูงเมื่อเคาะจะพบว่ามันมีเสียง เพราะเมล็ดแห้งข้างในโดนเขย่ากับเปลือก เสียงที่ดังนั้นน่าสนใจมาก ผมว่าครูดนตรีอาจจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการสอนได้ หรือ เอาไปทำเครื่องดนตรีได้ คล้าย ๆ แทมมารีนที่เราเขย่ากัน

วันนี้ผมจึงออกแบบการสอนศิลปะที่มีทั้งเสียงและภาพในผลงานของเด็ก ๆ โดยใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ คือฟักแก่ของหางนกยูงและสีอะครายลิก โดยให้เด็ก ๆ เขย่าหางนกยูงแล้วฟังเสียงว่ามันเป็นเสียงอะไร หลังจากนั้นให้เด็ก ๆ คิดลวดลายแทนเสียงต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งงานนี้ปล่อยตามอิสระ ใครใคร่คิดอย่างไรก็ตามใจเขาเถิด ไม่ว่าเสียงคลื่นกระทบฝัง  เสียงปีศาจ เสียงฝนตกฯลฯ

ในกลุ่มเด็กเล็กจะค่อนข้างมีปัญหากับการใช้สีคะครายลิก ดังนั้นเราจึงให้ลองเขียนลวดลายบนกระดาษก่อน แล้วค่อยให้ลองลงสีจริง แต่เชื่อเถอะผลงานออกแบบกับผลงานจริงไม่เหมือนกันหรอก เพราะความสนุกมันต่างกัน  การระบายสีทับไปทับมาของเด็ก ๆ บนฟักหางนกยูงจึงสนุกสนานมากกว่ากระดาษ จินตนาการและสมาธิจึงบรรเจิดกว่า สนุกกว่า

 

(อุปกรณ์ในการสรางสรรค์  ฟักหางนกยูงแก่และแห้งแล้ว - สีอะครายลิก)

 

(เด็กเล็กเขียนบนกระดาษก่อน อาจจะใช้สีเมจิกที่เขียนง่าย / ศิลปินน้อยกำลังลงมือระบายสีเครื่องดนตรี)

เมื่อแห้งแล้ว เราสามารถเอาไปเคาะทำเสียงดนตรีได้ ซึ่งกิจกรรมต่อไปคงต้องโยนให้ครูดนตรีเอาไปใช้ต่อให้เกิดความเชื่อมโยงของกิจกรรมเพราะดนตรีจากธรรมชาตินั้นช่างไพเราะเสียจริง ไม่แพ้เครื่องดนตรีที่คนเราสร้างขึ้นเลย  จากกิจกรรมนี้ผมคิดว่าเราสามารถใช้วัสดุจากธรรมชาติอื่น ๆ เอามาสร้างงานศิลปะที่ใช้หูฟังได้เยอะแยะเลยครับ

(ผลงานเครื่องดนตรีของเด็ก ๆ สีก็งาม เสียงก็ไพเราะ เคาะกันหลาย ๆคนคงสนุกน่าดูชูใจ ใครสนใจลองเอาไปทำได้ครับ)

สิงหาคม 16, 2010

คำชม: กรงขังแห่งจินตนาการเด็ก

พ่อแม่หลายคนเมื่อลูกหอบหิ้วผลงานศิลปะกลับมาจากโรงเรียนเมื่อดูผลงานแล้วก็ชมลูกเสียเป็นสายน้ำ  เพราะหลังกระดาษวาดรูปที่เจ้าตัวน้อยถือกลับมาบ้านมีจารึกด้วยผลการประเมินจากครูศิลปะว่า A หรือไม่ก็ 10/10 ซึ่งคำชมเชยแทนที่จะช่วยเสริมความมั่นใจของเด็กแต่สำหรับเด็กบางคนมันช่างกดดันและสร้างกำแพงแห่งจินตนาการเอาไว้เสียจริง ๆ

น้องฟ้า เจ้าตัวน้อยวัยหกขวบ วัยซึ่งในสมองคือโลกของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ วัยที่จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้เิกิดขึ้นบนผืนกระดาษได้  หลายสัปดาห์ผ่านไปครูออตสังเกตเห็นว่าน้องฟ้าไม่วาดสิ่งได้เลยนอกเสียจากกระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้ ทั้ง ๆ ที่เด็กคนอื่นเปลี่ยนสิ่งที่วาดตามกิจกรรมในแต่ละครั้ง

ทำไมน่ะหรือ นั้นก็เพราะว่า กระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้ที่น้องฟ้าเหล่านี้มักได้รับคำชมจากครูและพ่อแม่เสมอว่ามันคืองานศิลปะที่ดีมาก เมื่อใครมาเยี่ยมที่บ้านแม่ก็มักชมน้องฟ้าต่อหน้าคนอื่่นว่าวาดกระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้สวยจนได้คะแนนเต็มในวิชาศิลปะ คำชมเหล่านั้นในบางครั้งมันคือกำแพงแห่งจินตนาการสำหรับสมองแ่ห่งความคิดสร้างสรรค์

แล้วคำชมแบบไหนจึงจะเหมาะกับการชมในกิจกรรมทางศิลปะ  ในห้องเรียนครูออตมักจะหลีกเลี่ยงว่าเด็กวาดรูปต้นไม้สวย  วาดรถสวย วาดคนสวย  วาดก้อนเมฆสวย  เพราะคนชมเหล่านี้เมื่อชมไปเรื่อย ๆ เด็กจะเกิดอาการยึดติดเพราะครูบอกว่าสวย ดังนั้นสิ่งที่ครูออตจะชมก็คือความขยันของเด็ก ๆ ในการวาด

ว้าวต้นไม้นี้โตเร็วจัง  มันเริ่มออกลูกแล้วใช่ไหม ในความหมาย ก็เพื่อจะบอกเด็กว่าเขาได้พยายามวาดสิ่งอื่นเพิ่มเติมนอกจากต้นไม้ เพราะเขาได้บรรจงวาดผลไม้สีแดงเต็มต้น บางคนอาจจะเริ่มใส่รังนกบนต้นไม้ แทนที่จะเป็นต้นไม้เดียว ๆ เหมือนกับสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

อู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ  รถไฟของหนูช่างขนของได้เยอะเสียจริง ๆ ดูโบกี้นี้ขนคน  โบกี้นี้ขนตู้ปลา โบกี้นี้ขนม้า  ครูออตอยากรู้จังว่าโบกี้ต่อไปจะขนอะไรน้า ในความหมาย ก็เพื่อจะบอกเด็กว่าเขามีความอดทนที่จะวาดสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมจากสิ่งที่เขาวาดมาแล้ว เพื่อส่งเสริมให้เขาคิดหลากหลายมากขึ้น การมีความคิดที่หลากหลายจะทำให้เขามีตัวเลือกในการตัดสินใจได้มากมาย ไม่ได้ยึดติดอยู่กับเส้นทางเดิม

นี่เป็นตัวอย่างคำชมที่ครูออตใช้ในห้องเรียนศิลปะ เพราะการชมที่เหมาะสมน่าจะช่วยเสริมสร้างโลกแห่งจินตนาการสำหรับเด็ก ๆ ซึ่งสวนทางกับคำชมพร่ำเพื่อที่จะกลายเป็นตัวทำลายจินตนาการของเด็ก

มิถุนายน 6, 2010

พลังงานสร้างสรรค์

เด็กพิเศษของครูออตส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนมีพลังงานเยอะ สวนทางกับสมาธิในการทำงานที่น้อยกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเสมือนหน่วยก่อกวน ซึ่งมักทำให้บรรยากาศที่แสนสงบเงียบในห้องเรียนต้องอึกทึกครึกโครม

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กพิเศษมักไม่ได้รับการจัดกลุ่มให้เรียนกับเด็กปกติโดยเฉพาะกระบวนการเรียนนอกโรงเรียนที่ผู้ปกครองยอมเสียเงินที่เมื่อรวมกันหลายเดือนมักสูงกว่าค่าเทอมเสมอ ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้สถานที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน(โรงเรียนสอนพิเศษ)จึงมักปฏิเสธให้เด็กพิเศษเข้าเรียนกับเพื่อน ๆ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าให้พึงพอใจในห้องเรียน

คำแนะนำของครูสอนพิเศษจึงมักแนะนำให้นำเด็กไปฝึกสมาธิก่อน หมายถึงควรเอาลูกไปรักษาภาวะสมาธิน้อยกว่าเด็กปกติก่อนแล้วจึงส่งมาเรียน และความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก็มักเชื่อมั่นว่า ศิลปะคือกระบวนการที่จะช่วยให้ลูกของตนเองมีสมาธิมากขึ้น

ในระยะหลังที่ HUG SCHOOL จึงมักมีผู้ปกครองนำเด็กพิเศษมาให้ครูออตเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งเด็กพิเศษที่ว่ามีหลากหลายแนว แนวหนึ่งที่มักเจอกันบ่อย ๆ คือ เด็กพิเศษที่มีพลังงานเยอะ เขาจะวิ่งเล่น กระโตนและให้พลังงานของร่างกายมากกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นจึงมักเล่นกันแรง ๆ และกระโจนวิ่งกันให้วุ่น ข้างของภายในห้องกระจุยกระจาย ปรากฎการเช่นนี้มักนำมาซึ่งการไม่ประสบความเร็จในการให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะ เพราะครูหลายคนมักหมดความอดทนและเหนื่อยกับการใล่จับปูใส่กระด้ง

สิ่งที่ครูหลายคนทำคือ หยุดวิ่ง! อย่าเล่นกัน! นั่งลงแล้วทำงานซะ! การกระทำเช่นนี้เป็นเสมือนการสร้างตนเป็นศัตรูแก่เขา เพราะคำพูดเหล่านั้นไม่ได้ช่วยทำให้เขาหยุดลงเลย หรือหากเขาหยุดปฏิกิริยาการไม่อยากมาเรียนศิลปะก็จะเกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่พอสมควรกับครูศิลปะ

สิ่งหนึ่งที่ครูออตใช้และค่อยข้างได้ผลกับเด็กพิเศษของครูออตคือ การพยายามช่วงชิงสมาธิที่เขามีให้จดจ่ออยู่กับงานศิลปะและฟังเขาอธิบายงานศิลปะของเขาอย่างตั้งใจ เพราะทุกเรื่องที่เราเล่าแสดงว่าเขามีความต้องการบางอย่างที่อยากจะบอกเรา หากเราจับประเด็นที่เขาสนใจได้เราก็จะมีเรื่องคุยกับเขาต่อไป เมื่อเข้าสู่ห้วงเวลาสมาธิของเขาหมดลงและก้าวเข้าสู่ห้วงแห่งการใช้พลัง ช่วงนี้ครูออตจะรีบชิงตัวเด็ก ๆ ออกจากห้องเรียนให้เร็วที่สุด เป้าหมายคือสนามเด็กเล่นและพื้นที่โล่ง ๆ เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานได้

(น้องบัคกับการสำแดงพลังหลังหมดสมาธิแล้ว ภาพด้านข้างเป็นผลงานหลังจากที่หมดสมาธิไปแล้ว)

สิ่งที่ครูออตสังเกตเห็นคือไม่ว่าเราจะเหนี่ยงรั้งเขาให้อยู่กับผลงานศิลปะสักเท่าไหร่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะนัก หลายคนมักขีดขูดผลงานที่วาดเอาไว้สวย ๆในตอนแรกให้เละไม่เป็นรูป บางคนเอาสีราดผลงานให้มืดสนิทหรือไม่ก็วิ่งเล่นกันในห้องปาสี ปาพู่กัน ทำให้เกิดบรรยากาศที่วุ่นวายยากที่จะควบคุม และเมื่อให้เด็กออกไปปลดปล่อยพลังงานซึ่งใช้เวลาช่วงหนึ่ง หลังพลังงานหมดเด็ก ๆ จะกลับมาห้องเรียนศิลปะเช่นเดิมและครูออตมักเห็นว่าสมาธิเขาจะกลับมาเช่นเดิมแม้จะไม่มากเท่าในช่วงแรกแต่ก็ช่วยให้เด็กต่อเติมจินตนาการของตนเองจนสำเร็จลงได้

ครูศิลปะท่านไหนมีเด็ก(น่ารัก)พิเศษในห้องเช่นนี้ลองเอาไปใช้และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ของท่านว่ามีผลเป็นอย่างไร วิธีนี้อาจจะเสียเวลาในการวาดรูปไปบ้างแต่เพื่อแลกกับสมาธิที่เพิ่มมาอีกนิด ครูออตว่าน่าจะคุ้มนะครับ

มิถุนายน 1, 2010

Green Art

กระแส “โลกร้อน” กำลังมาแรง การช่วงชิงและเกาะกระแสเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการสอนศิลปะจึงถือว่าเป็นโอกาสที่ครูจะได้ทดลองกับเด็ก ๆ ที่น่ารัก

เพราะการสร้า้งโลกสีเขียวหากเรา “สร้างในหัวใจของเด็ก ๆ”  ตั้งแต่วันนี้เราจะได้โลกสีเขียวที่งดงามและออกดอกสีชมพูให้เราได้ชื่นชมไปอีกนานเท่านาน

เช้าวันนี้ครูออตพาเด็ก ๆ เดินไปที่สวนข้างห้องเรียนในบรรยากาศที่แดดร้อนและอากาศแทบจะหายใจเข้าเป็นไอร้อน ซึ่งสวนข้างห้องเรียนเป็นทั้งสนามเด็กเล่นของเด็ก ๆ แต่วันนี้อากาศร้อนจริง ๆ จนเด็ก ๆ ไม่อยากออกมาเล่นสนาม แม้ชีวิตเด็กกับสนามเด็กเล่นดูแยกกันไม่ออก แต่วันนี้โลกร้อนก็ส่งผลต่อ “วิถีการเล่นของเด็ก ๆ” เช่นกัน

ครูออตชี้ชวนให้เด็ก ๆ สัมผัสกับอากาศอันแสนร้อนและชี้ชวนให้เด็ก ๆ สัมผัสความเย็นของอากาศเมื่อเรามายืนใต้ร่มมะขามที่สนามเด็กเล่น ซึ่งเด็ก ๆ ประจักษ์กันถ้วนหน้าว่าต้นไม้ช่วยลดความร้อนให้เด็ก ๆ ได้ ดังนั้นครูออตจึงชวนเด็ก ๆ เก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่หล่นอยู่รอบ ๆ สนามนั้น เมื่อได้เมล็ดพันธุ์พอประมาณเราจึงย้ายกลับเข้าไปทำงานกันที่ห้อง

วันนี้ครูออตชวนเด็ก ๆ วาดสวนของตนเอง และปลูกเมล็ดพันธุ์ที่เด็ก ๆ เก็บมาจากสนาม นำมาปลูกลงบนกระดาษ(ที่วันนี้ืคือสวนของเด็กๆ) โดยใช้กาวติดเมล็ดพันธุ์ลงไป ในขณะเดียวกันก็หาวัสดุอื่น ๆ มาเสริมเพื่อให้เด็ก ๆ สมมติมันเป็นเมล็ดพันธุ์พืชอื่น ๆ ตามแต่จินตนาการของเด็ก ๆ เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจกิจกรรมแล้วต่างลงมือกันอย่างสนุกสนาน

เมล็ดพันธุ์ต้นไม้ที่เราเจอที่สวนข้างห้องเรียน วันนี้กลายมาเป้นอุปกรณ์ศิลปะที่แสนจะประหยัดเงินซื้อ

สีน้ำถูกนำมาใช้เพื่อสร้างสีสันในสวนของเด็ก ๆ

สวนของเด็ก ๆ ที่ลงมือประติดเมล็ดพันธุ์ลงไปในสวนเรียบร้อยแล้ว

เสร็จแล้วก็ลงสีตามใจปรารถนา ใครใคร่จินตนาการให้สวนของตนเองมีสีอะไรก็ตามใจไม่บังคับ

เด็ก ๆ กับผลงานที่ภาคภูมิใจ อย่างน้อยเขาก็ปลูกต้นไม้เพื่อโลกของเขาในอนาคต แม้จะเป็นต้นไม้ในหัวใจแต่ก็นับว่ามีคุณค่าเกินกว่าจะมองข้ามได้

พฤษภาคม 26, 2010

น้องเคี้ยง : เด็กชายผู้หลงความแรง

นักเรียนในห้องศิลปะเด็กคนหนึ่งที่อยากพูดถึงในแง่มุมเล็ก ๆ ที่ครูออตมีต่อเขา หนึ่งในเด็กกลุ่มนั้นสมมติชื่อว่า น้องเคี้ยง น้องเคี้ยงเป็นเด็กผู้ชายอายุ4 ขวบ  ที่เมื่อเข้ามาลองเรียนจะพบว่าเคี้ยงเป็นเด็กที่สอนง่ายมาก ครูออตถามว่าชอบอะไรสิ่งแรกที่เคี้ยงชอบคือ ปลา ดังนั้นตอนที่ลองมาเรียนในสิบห้้านาทีแรกน้องเคี้ยงวาดปลาให้ครูออตดู

ขณะทดลองเรียน ครูออตสังเกตได้ถึงข้อที่ควรนำไปคิดต่อดังนี้

1.กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อมือของน้องเคี้ยงไม่ค่อยแข็งแรง การจับดินสอและการกดปลายดินสอลงกระดาษทำได้ไม่มั่นคงนัก เป็นเพียงการลากเบา ๆ ให้เกิดรูปร่างเท่านั้น ดังนั้นรูปร่างที่ปรากฎในชั่วโมงแรกจึงเป็นปลาที่ตัวบิดงอ

2.เด็กเรียบร้อย น้องเคี้ยงสอนง่ายมาก เรียบร้อยและถามครูทุกอย่างว่าวาดอย่างนี้ใช่ใหม ทำแบบนี้ถูกหรือไม่ ถึงแม้จะควบคุมกล้ามเนื้อมมือไม่ได้แต่ก็พยายามทำ จนกลุ่มปลาสี่ห้าตัวของเคี้ยงสำเร็จลงได้

3.สมาธิ คุณแม่วัยรุ่นซึ่งอายุไม่ต่างจากครูออตมาก เข้ามาพูดคุยว่าเป็นอย่างไร ครูออตเล่าถึงปรากฎการณ์ของน้องเคี้ยงให้คุณแม่ฟังอย่างที่ได้เขียนไปแล้วในสองข้อข้างบนนี้  คุณแม่เล่าถึงรู้สึกกังวล ต่อสมาธิของลูกชายจึงอยากให้มาเรียนศิลปะ เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ดีที่คุณแม่นึกถึงศิลปะว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสมาธิของน้องได้

เมื่อเคี้ยงเข้ามาเรียนในคอร์สแรก ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นเรื่องทัศนคติที่ดีของการเรียนศิลปะ ส่วนผลงานของเด็กนั้นไม่ได้เน้นนักเพราะต้องการให้เด็กมีอิสระที่จะคิด เล่าเรื่อง ระบายความรู้สึกของตนเองผ่านเส้น สีและเทคนิคอื่น ๆทางศิลปะ เมื่อเรียนไปสักสองครั้งก็พบว่าน้องเคี้ยงมองหาคุณแม่ตลอดเวลาและในชั่วโมงที่สองเมื่อคุณแม่ไม่อยู่ที่หน้า้ห้องก็พบว่าน้องร้องไห้เสียงดัง  ครูออตแนะนำให้ “คุณแม่บอกลูกชายก่อนเข้าห้องเรียนว่าคุณแม่จะออกไปทำอะไร และจะกลับมารับเมื่อเรียนเสร็จ” เพื่อไม่ให้เคี้ยงกังวล

เมื่อน้องเคี้ยงรู้สึกสนุกกับศิลปะและรู้สึกติดใจการสอนของครูออตแล้วหลังผ่านไปสามสี่ครั้ง ข้อสังเกตของครูออตที่เล่าไปแล้วใน “ข้อ 2″ ก็ผิดไปถนัด ความรู้สึกเบื้องลึกของเคี้ยงก็ฉายแววออกมาหลังเชื่อมั่นว่าตนเองปลอดภัยและมีอิสระในห้องเรียนศิลปะ เช่น ปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีต่อเพื่อน ๆ ในห้องเรียน  ปลาที่ชอบในตอนแรกไม่ใช่ปลาที่แหวกว่ายในน้ำหากแต่เป็นการตกปลาพร้อม ๆ กับการยึดติดอยู่กับการวาดรถถังที่บรรจุลูกปืนมากมาย

การออกแบบการสอน สำหรับน้องเคี้ยงในช่วงแรกนอกจากทัศนคติที่รักศิลปะแล้ว เรื่องสมาธิเป็นเรื่องที่ครูออตเน้น จากความกังวลของผู้ปกครอง ดังนั้นครูออตจึงต้องทำหน้าที่กระตุ้นถี่ขึ้นสำหรับน้องเคี้ยงและปล่อยให้พักผ่อนเป็นระยะ  แล้วจึงกลับมากระตุ้นอีกครั้ง และวิธีการนี้ก็พบว่าได้ผลที่เดียว น้องเคี้ยงสามารถวาดภาพต่อเนื่องได้มากกว่า 25 นาทีต่อครั้ง ซึ่งในระยะเวลาสองชั้้วโมงในห้องเรียนศิลปะพบว่าเมื่อจบในคอร์สแรกน้องเคี้ยงมีสมาธิดีขึ้นและจดจ่อกับงานมากขึ้น

ครูออตแนะนำคุณแม่ให้สมัครคอร์สสองให้น้องเคี้ยงเพื่อครูออตจะได้ปรับพฤติกรรมบางอย่างให้น้องเคี้ยง พฤติกรรมที่ว่าคือ “ความพยายามใ้ห้น้องการแสดงในเชิงบวก” อย่างที่ครูออตเล่าไปแล้วเคี้ยงแสดงออกในภาพเป็นภาพที่รุนแรงเสียเป็นส่วนใหญ่และจะไม่ยอมวาดในภาพอื่น ๆ ดังนั้นวิธีการที่ครูออตใช้จึงเป็นความพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง

ความพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นการลดการต่อต้านจากเด็ก ครูออตใช้วิธีค่อย ๆสอดแทรกทัศนคติเชิงบวกเข้าไปที่ละน้อย จากภาพรุนแรงในระยะที่แรก มาเป็นรุนแรงแฝงสันติโดยลดความรุ่นแรงผลักดันสินติและเปรี่ยมสันติในที่สุด วิธีการแบบนี้ถือว่าได้ผลสำหรับน้องเคี้ยงเพราะน้องเริ่มยอมรับหัวข้ออื่น ๆในการวาดแล้วและสีแดง น้ำเงินที่เคยใช้ก็มีสีเขียวเข้ามาแทรกอยู่

นี่เป็นผลงานของน้องเคี้ยงในคอร์สสุดท้ายที่ครูออตสอน ซึ่งหากคุณแม่เห็นพัฒนาการที่ดีเช่นนี้แล้วให้เรียนศิลปะอีกครั้งครูออตก็เห็นว่างดงามทั้งแม่และลูก  ส่วนครูที่จะรับสอนในครั้งต่อไปต้องกลับมาอ่านบันทึกของครูออตเพื่อนำไปปรับใช้สำหรับพฤติกรรมการเรียนรู้ของน้องเคี้ยง

พฤษภาคม 16, 2010

ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน

ปีศาจที่ชื่อศิลปะเกาะกินจิตใจเด็ก ๆ มานาน แต่ครูออตเชื่อว่ามันรักษาให้ทุเลาลงไปได้  ยาขนานที่ครูออตทดลองใช้อยู่ที่ HUG SCHOOL คือตำรับที่เรียกว่า ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน ดังนั้นบันทึกนี้จึงจะขอเสนอโอสถที่ครูออตใช้รักษาเจ้าปีศาจตัวนั้นเพื่อบำรุงจิตใจที่งดงามของเด็ก ๆ ให้ฝ้นมีชีวิตชีวาและเบิกบานอีกครั้ง

ก่อนนอื่นต้องขอออกตัวไว้เลยว่าครูออตไม่ใช่ครูในสายวิชาชีพครู เป็นแต่เพียงครูพักรักจำ ดู สังเกต การเรียนการสอนของบรรดาครูมืออาชีพทั้งหลายและนำมาทดลองใช้กับเด็ก ๆ ที่ตนเองสอน  โดยไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่ปีศาจตัวร้ายที่ชื่อศิลปะจะกลับมา และพัฒนาสิ่งที่ดีให้ดีขึ้นพร้อม ๆ กับบอกเล่าให้คนอื่นได้ลองเอาไปประยุกต์ใช้กันดู  ดังนั้นบันทึกนี้จึงไม่ใช่ข้อเขียนในเชิงวิชาการที่สามารถอ้างอิงได้แต่ครูออตจะบอกว่า ลองเอาไปใช้ได้

“ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน” นั้นเป็นห้องเรียนที่เน้นการเปลี่ยนทัศนคติของเด็ก ๆ ให้หลับมาสนใจทำงานศิลปะอีกครั้ง ในฐานะศิลปะเป็นสิ่งบำเรอการเติบโตของหัวใจให้งดงามและเบิกบาน สิ่งนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ครูออตใช้ในการสร้างสรรค์ศิลปะสำหรับเด็ก ห้องเรียนแ่ห่งความเบิกบาน ประกอบด้วยเรื่องกว้าง ๆ 3 เรื่อง  เพื่อให้หัวใจของเด็ก ๆมีศิลปะที่เบิกบาน มีความสุขและกำจัดปีศาจตัวร้ายที่ชื่อศิลปะให้กลายร่างเป็นยาบำรุงหัวใจ  ปัจจัย 3 อย่างของห้องเรียนเบิกบานคือ

1. ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะเน้นการเรียนเป็นกลุ่มเพื่อให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รับและมอบไมตรีกับกัลยาณมิตรในห้องเรียน

เรื่องนี้อาจจะะนำไปปอธิบายควบคู่กับเรื่อง EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ได้ ดังนั้นการจัดกิจกรรมทางศิลปะครูออตจึงเสนอให้ห้องเรียนควรมีเด็กเรียนเป็นกลุ่ม ถ้าอย่างที่HUG SCHOOL ห้องศิลปะเล็กมาก ๆ ก็ไม่ควรเกิน 6 คน กิจกรรมในห้องจึงคล้ายกับเป็นสนามเด็กเล่นที่เด็ก ๆ ใช้เล่นร่วมกัน ทั้งนี้อาจจะมีความรักกันและมีทะเลากันบ้าง ขัดใจกันบ้าง หากไม่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบมาก ครูควรปล่อยให้เด็ก ๆ แก้ไขสถานการณ์กันเอง เพราะธรรมชาติของเด็ก ๆ ความขัดแย้งเหล่านั้นจะถูกลืมในไม่ช้าสักครูก็เล่นด้วยกันราวกับไม่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งหากมีข้อขัดแย้งรุนแรงครูก็แค่ช่วยเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นของเด็กกับคนในห้องให้ฟังเช่น เล่านิทานที่สอนประเด็นความขัดแย้งในห้องนั้นได้  กิจกรรมบางกิจกรรมก็ให้เด็ก ๆ ได้ร่วมกันทำแบบนี้เราก็สอนเรื่องผู้นำผู้ตามแบบธรรมชาติไม่ต้องนั่งบรรยาย


2.
ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะสนับสนุนให้เด็กรู้จักการชื่นชมความงดงามท่ามกลางสรรพสิ่งที่แวดล้อมตัวของเขา

ไม่ว่าจะเป็นแสงที่สาดเข้ามาในห้อง สายฝนที่โปรยปราย เสียงฟ้าที่ร้องคำราม  เจ้ามดตัวน้อยที่วิ่งเล่นในห้องเรียนศิลปะ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะถุฏนำมาใช้ในกิจกรรมศิลปะของห้องเรียนเราแทบทั้งสิ้น ซึ่งเสมือนหนึ่งจะบอกกับเด็ก ๆ ว่า เราคือส่วนหนึ่งของโลกใบงามและเราก็เกี่ยวกข้องกับสิ่งอื่น ๆในโลกใบงาม เราทุกคนเป็นเพื่อนกัน  ถ้าเด็ก ๆ คิดว่าตัวเองสวย น่ารักดังนั้นมดตัวน้อย ๆ เขาก็คิดว่าเราน่ารักเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องดูความงามของกันและกัน


3. ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะเน้นให้เด็ก ๆ มีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะมีสมาธิในการทำงานและปล่อยวางความทุกข์ทั้งปวง

เรื่องนี้เน้นเป็นพิเศษ เพราะศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่งของการฝึกสมาธิ และเด็ก ๆ ที่ส่งมาเรียนศิลปะที่ห้องเรียนของ HUG SCHOOL หลายคนก็มีปัญหาเรื่องสมาธิ  หลายเรื่องที่นี่จะเน้นให้เด็ก ๆ ช้าลง เพื่อให้เด็กได้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับปลายดินสอที่สัมผัสกระดาษในการร่างภาพเจ้ามดน้อย ให้เด็ก ๆ เห็นขา เห็นตา เห็นหนวดของมดอย่างชัดเจน  หรือให้เด็ก ๆเห็นเนื้อของสีแดงกับสีเขียว กำลังต่อสู่กันอยู่บนผืนภาพขณะลงสีน้ำใบไม้ที่เจ้ามดกำลังไต่อยู่  เรื่องนี้เด็ก ๆ จะมีความสุข สงบ เบิกบานได้แม้ขณะวาดมดเพียงตัวเดียว


นี่เป็นแนวคิดสำคัญของการเรียนศิลปะที่ ห้องเรียนแห่งความเบิกบานของครูออต

พฤษภาคม 14, 2010

“ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ”01

ทุกสัปดาห์ที่ HUG SCHOOL จะมีผู้ปกครองนำเด็กๆ มาลองเรียน มาแอบดูครูออตสอนศิลปะเสมอ ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจส่งลูก ๆ มาให้ครูออตเลี้ยง ซึ่งแน่นอนปฏิกิริยาของเด็กแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกันเลย

เรื่องนี้เห็นที่ต้องนำมาเขียนสักหน่อยเพื่อให้ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนเข้าใจข้อเสนอแนะของครูออต ก่อนที่โรงเรียนจะตัดสินใจรับเด็ก และ ก่อนที่ผู้ปกครองจะเสียเงินเพื่อให้ลูกมาเรียน/เล่นที่ห้องศิลปะแห่งนี้

เรื่องที่น่ายินดีเรื่องหนึ่งที่เกริ่นไปแล้วคือทุกสัปดาห์จะมีผู้ปกครองพาเด็กมาดูการสอนของครูออต นั้นแสดงว่าพ่อแม่ทุกวันนี้สนใจที่จะสนับสนุนทำงานศิลปะของลูกตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อครูออตยังเด็กเราไม่ต้องเสียเงินมาเรียนศิลปะเพราะทุกวันเด็ก ๆ บ้านนอกได้ทำงานศิลปะอยู่ตลอดผ่านการเล่นดินกับเพื่อนบ้านรุ่นราวคราวเดียวกัน พวกเราจะจินตนการและแทนค่าสิ่งต่าง ๆที่อยู่รอบ ๆ ตัว ให้เป็นข้าวของที่ต้องการเราจะเสกฝาหอยให้เป็นเงินเหรียญไว้ซื้อขายกัน เราจะเนรมิตผืนดินเป็นบ้านหลังใหญ่

แต่เมื่อทุกวันนี้พื้นที่และชุมชนของการรวมตัวกันของเด็กเป็นเรื่องยาก การจัดพื้นที่พิเศษขึ้นในรูปโรงเรียนศิลปะจึงเกิดขึ้นและเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีของพ่อแม่ในสังคมเมืองในปัจจุับัน

แต่ก็ยังมีูผู้ปกครองอีกกลุ่มที่อาจจะคิดว่าเรียนศิลปะให้เสียเงินเสียทองเสียเวลาทำไม จะเรียนทั้งทีทำไมไม่ให้ลูกไปเรียนวิชาการที่ใช้สอบที่โรงเรียนเลย เรื่องนี้ผู้ปกครองอาจจะมีสิทธิคิดได้เพราะเป็นเรื่องสิ้นเปลืองจริง ๆ โรงเรียนหลายแห่งเบื่อกับงบประมาณการซื้ออุปกรณ์ศิลปะมากเพราะมันแพงกว่าวัสดุทางการศึกษาอื่น ๆ ของเด็กมากมายซึ่งถือว่าเป็นสินค้านำเข้าประเภทฟุ่มเฟือย ส่วนผู้บริหารโรงเรียนก็ต่างเห็นว่าคอร์สศิลปะได้กำไรน้อยมากเพราะค่าใช้จ่ายเยอะ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง   แต่หากคิดถึงผลที่ลงทุนไปกับการพัฒนาสุนทรียภาพของเด็ก ๆ ผมว่ามันคุ้มค่าและที่ hug school ผู้บริหารเองก็เข้าใจถึงธรรมชาติของธุรกิจศิลปะดีว่าไม่ได้สรา้งกำไรมากมายแต่ก็ยินดีเปิดเพราะมุ่งหวังผลอันจะเกิดกับสังคมในวันข้างหน้า

แรกก้าวเข้าห้องเรียนเด็กนักเรียนหลายคนมักเกาะแขนแม่ไว้แน่น ไม่ว่าครูออตจะชักแม่น้ำกี่สายมาชี้ชวนก็ไม่สามารถแย่งหัวใจของเด็ก ๆ ออกมาแขนแม่ได้ ดังนั้นกรณีนี้จึงต้องให้แม่อยู่ด้วยขณะที่เด็กน้อยกำลังวาด ๆ ขีดๆ เขียน ๆ  เรื่องนี้คุยกับผู้ปกครองหลายคนมักพบว่าเด็ก ๆ ไม่ชอบศิลปะ ซึ่งผิดกับพัฒนาการของเด็ก

เด็กน้อยหลายคนที่มาเรียนในชั่วโมงแรกนี้มักจะเอามือน้อย ๆ นุ่ม ๆ ของเขาปิดภาพวาดของตนเองเอาไว้เพื่อไม่ให้ครูออตเห็น เรื่องนี้พบเห็นบ่อย หลายคนกดมือแน่นเมื่อครูออดเดินเข้ามาใกล้ ๆหรือแม้แต่พ่อแม่ขอดูก็ไม่ยอมเปิด

“ยางลบ” คือสิ่งแรกที่เด็ก ๆ ขอในฐานะอุปกรณ์ลบภาพจินตนาการอันไม่สวย ไม่ถูกต้อง ในสายตาและการบ่มเพาะทางศิลปะของเขา ดังนั้นที่ห้องศิลปะของครูออตยางลบจะใช้มากกับเด็กที่เพิ่งมาเรียนในชั่วโมงแรกๆ

พฤติกรรมลักษณะนี้มีมากมายที่เกิดกับเด็ก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนเรื่องที่ครูออตเรียกว่า “ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ” เพราะหากสืบสาวราวเรื่องไปเราจะพบว่าอาการเกลียดศิลปะอาจจะมาจาก ประสบการณ์ที่เลวร้ายจากพ่อแม่เองที่มักวิจารณ์ผลงานของเขาทั้งที่ควรจะเป็นผู้ให้กำลังใจกับทำตัวเป็นนักวิจารณ์ หรือเกิดจากพี่น้องที่มักล้อเกี่ยวกับภาพวาดของเขาทั้ง ๆ ที่พี่น้องน่าจะสนุกสนานกับการทำงานศิลปะไปด้วยกัน หรือเกิดจากครูในโรงเรียน ที่มักบังคับให้เขาทำในสิ่งที่ครูคิดว่าควรจะเป็น เพื่อแลกกับคะแนนและเกรดดีดีทั้ง ๆ ที่ปากมักบอกเด็ก ๆ ว่าศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูก

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดเพื่อจะช่วยให้ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนได้เข้าใจว่า ครูควรจะได้รับรู้ ประสบการณ์ทางด้านศิลปะของเด็กก่อนเบื้องต้น และได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดอกกับพ่อแม่  ก่อนที่จะสมัครเรียนให้ลูก และผู้บริกหารเองจะได้วางแผนในการออกแบบกลุ่มการเรียนให้แก่เด็ก ๆ

คำถามที่จะเกิดต่อมาคือ หากเด็กมีประสบการร์เลวร้ายกับ”ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ”แล้วครูออตจะสอนอะไร คำตอบคือวิชาแรกที่ครูออตจะสอนเด็ก ๆ คือวิชาศิลปะเบิกบาน ไม่ใช่ วิชาศิลปะเหมือนมาก

พฤษภาคม 12, 2010

บทเรียนจากสวนป่าต้นเดือนพฤษภาคม : สานต่อวงย่อยเฮฮาศาสตร์

เรื่องนี้สืบเนื่อง ต่อเนื่องมาจากการที่สวนป่าได้ต้อนรับชาว บ้านมกรา ทำให้เหล่าพี่น้องชาวเฮฮาศาสตร์ได้มีโอกาสได้มาเจอกัน และการมาเจอกันคราวนี้ก็มีจำนวนสมาชิกมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงมีการคลำหัวใจของกันและกันในกลุ่มชาวเฮฮาศาสตร์ โดยใช้เวลายามเย็นที่โรงปั้นอิฐเป็นสถานที่ล้อมวงกัน

ประเด็นหนึ่งที่ผมจับมาย่อยต่อนั้นคือประเด็นการมีกิจกรรมร่วมกันของสมาชิกในกลุ่มที่พักหลังนี้กิจกรรมการตะเวนไปเยี่ยมในรูปกิจกรรมเฮฮาศาสตร์ในภูมิภาคต่าง ๆ มันห่างหายไปและตอนนี้มันก็ยากที่จะได้จับเอาชาวเฮและครอบครัวมาทำแบบนั้นอีก แต่หากมีเจ้าภาพที่แข็งแรงจัดได้อีกก็ขอสนับสนุน ดังนั้นการพบปะในรูปแบบหลาย ๆ คนอาจจะนาน ๆ ครั้งแต่สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมคือ การจัดกิจกรรมย่อยร่วมกันของชาวเฮฮาศาสตร์ ที่มีเนื้องานหรือเนื้อวิชาชีพที่สามารถร่วมกันพัฒนาได้

เช่นกิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพสุขภาพ  กิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพเกษตร กิจกรรมของกลุ่มวิชาชีพการจัดการศึกษา กิจกรรมของกลุ่มธุรกิจเพื่อสังคม

ซึ่งกิจกรรมแบบนี้จะช่วยเสริมศักยภาพซึ่งกันและกันได้ มีการแลกเปลี่ยนเนื้อหาที่ตรงจุดวิชาชีพ มีการถ่ายเทความรู้และเกิดการหมุนวนของความรู้ การเกิดขึ้นของความรู้แบบนี้อาจจะนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ ๆ ของกระบวนการเฮฮาศาสตร์และสามารถนำมาเป็นต้นแบบการเผยแพร่ต่อได้ ซึ่งโดยพฤติกรรมเราก็ทำกันอยู่แล้วแต่การพัฒนาให้ชัดเจนจะช่วยให้เกิดนวัตกรรมที่ “แจ่ม” ขึ้น

ที่ผมกำลังเริ่มอยู่ก็เป็นการเอางานวิจัยที่ตนเองได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปทำในพื้นที่ของอาจารย์บางทรายที่ดงหลวง การจับเอา ผ้า กับ โส้ดงหลวง มาร่วมกันคราวนี้ผมเองได้ประโยชน์ในแง่มีทุนเดิมของความรู้ที่ท่านอาจารย์บางทรายได้ตกตะกอนเอาไว้แล้ว ไม่ต้องศึกษาใหม่(บ้านเราเน้นศึกษากันมาก แต่ไม่เอาการศึกษาที่มีอยู่มากมายมาใช้) และอานิสงค์ที่ท่านอาจารย์บางทรายทำเอาไว้ก็อาจจะทำให้งานวิจัยพัฒนาไปได้เร็วขึ้น การคัดเลือกกลุ่มช่างทออาจจะง่ายขึ้นเพราะเรามีคนชำนาญพื้นที่แล้ว

ไม่แน่ปลายฝนต้นหนาวปีนี้อาจจะได้เชิญชาวเฮฮาศาสตร์ไปเยือนถิ่นไทโส้ที่ดงหลวงอีกครั้ง ในบริบทของผ้าทอไทโส้

บันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress