ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มิถุนายน 6, 2010

พลังงานสร้างสรรค์

เด็กพิเศษของครูออตส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนมีพลังงานเยอะ สวนทางกับสมาธิในการทำงานที่น้อยกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเสมือนหน่วยก่อกวน ซึ่งมักทำให้บรรยากาศที่แสนสงบเงียบในห้องเรียนต้องอึกทึกครึกโครม

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กพิเศษมักไม่ได้รับการจัดกลุ่มให้เรียนกับเด็กปกติโดยเฉพาะกระบวนการเรียนนอกโรงเรียนที่ผู้ปกครองยอมเสียเงินที่เมื่อรวมกันหลายเดือนมักสูงกว่าค่าเทอมเสมอ ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้สถานที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน(โรงเรียนสอนพิเศษ)จึงมักปฏิเสธให้เด็กพิเศษเข้าเรียนกับเพื่อน ๆ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าให้พึงพอใจในห้องเรียน

คำแนะนำของครูสอนพิเศษจึงมักแนะนำให้นำเด็กไปฝึกสมาธิก่อน หมายถึงควรเอาลูกไปรักษาภาวะสมาธิน้อยกว่าเด็กปกติก่อนแล้วจึงส่งมาเรียน และความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก็มักเชื่อมั่นว่า ศิลปะคือกระบวนการที่จะช่วยให้ลูกของตนเองมีสมาธิมากขึ้น

ในระยะหลังที่ HUG SCHOOL จึงมักมีผู้ปกครองนำเด็กพิเศษมาให้ครูออตเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งเด็กพิเศษที่ว่ามีหลากหลายแนว แนวหนึ่งที่มักเจอกันบ่อย ๆ คือ เด็กพิเศษที่มีพลังงานเยอะ เขาจะวิ่งเล่น กระโตนและให้พลังงานของร่างกายมากกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นจึงมักเล่นกันแรง ๆ และกระโจนวิ่งกันให้วุ่น ข้างของภายในห้องกระจุยกระจาย ปรากฎการเช่นนี้มักนำมาซึ่งการไม่ประสบความเร็จในการให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะ เพราะครูหลายคนมักหมดความอดทนและเหนื่อยกับการใล่จับปูใส่กระด้ง

สิ่งที่ครูหลายคนทำคือ หยุดวิ่ง! อย่าเล่นกัน! นั่งลงแล้วทำงานซะ! การกระทำเช่นนี้เป็นเสมือนการสร้างตนเป็นศัตรูแก่เขา เพราะคำพูดเหล่านั้นไม่ได้ช่วยทำให้เขาหยุดลงเลย หรือหากเขาหยุดปฏิกิริยาการไม่อยากมาเรียนศิลปะก็จะเกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่พอสมควรกับครูศิลปะ

สิ่งหนึ่งที่ครูออตใช้และค่อยข้างได้ผลกับเด็กพิเศษของครูออตคือ การพยายามช่วงชิงสมาธิที่เขามีให้จดจ่ออยู่กับงานศิลปะและฟังเขาอธิบายงานศิลปะของเขาอย่างตั้งใจ เพราะทุกเรื่องที่เราเล่าแสดงว่าเขามีความต้องการบางอย่างที่อยากจะบอกเรา หากเราจับประเด็นที่เขาสนใจได้เราก็จะมีเรื่องคุยกับเขาต่อไป เมื่อเข้าสู่ห้วงเวลาสมาธิของเขาหมดลงและก้าวเข้าสู่ห้วงแห่งการใช้พลัง ช่วงนี้ครูออตจะรีบชิงตัวเด็ก ๆ ออกจากห้องเรียนให้เร็วที่สุด เป้าหมายคือสนามเด็กเล่นและพื้นที่โล่ง ๆ เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานได้

(น้องบัคกับการสำแดงพลังหลังหมดสมาธิแล้ว ภาพด้านข้างเป็นผลงานหลังจากที่หมดสมาธิไปแล้ว)

สิ่งที่ครูออตสังเกตเห็นคือไม่ว่าเราจะเหนี่ยงรั้งเขาให้อยู่กับผลงานศิลปะสักเท่าไหร่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะนัก หลายคนมักขีดขูดผลงานที่วาดเอาไว้สวย ๆในตอนแรกให้เละไม่เป็นรูป บางคนเอาสีราดผลงานให้มืดสนิทหรือไม่ก็วิ่งเล่นกันในห้องปาสี ปาพู่กัน ทำให้เกิดบรรยากาศที่วุ่นวายยากที่จะควบคุม และเมื่อให้เด็กออกไปปลดปล่อยพลังงานซึ่งใช้เวลาช่วงหนึ่ง หลังพลังงานหมดเด็ก ๆ จะกลับมาห้องเรียนศิลปะเช่นเดิมและครูออตมักเห็นว่าสมาธิเขาจะกลับมาเช่นเดิมแม้จะไม่มากเท่าในช่วงแรกแต่ก็ช่วยให้เด็กต่อเติมจินตนาการของตนเองจนสำเร็จลงได้

ครูศิลปะท่านไหนมีเด็ก(น่ารัก)พิเศษในห้องเช่นนี้ลองเอาไปใช้และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ของท่านว่ามีผลเป็นอย่างไร วิธีนี้อาจจะเสียเวลาในการวาดรูปไปบ้างแต่เพื่อแลกกับสมาธิที่เพิ่มมาอีกนิด ครูออตว่าน่าจะคุ้มนะครับ

Powered by WordPress