ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มีนาคม 12, 2011

กล้ามเนื้อมัดเล็ก ของเจ้าตัวเล็ก

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , , , — ออต @ 23:33

กล้ามเนื้อมัดเล็กแต่ไม่เล็กอย่างชื่อ ที่ครูออตจะเล่าต่อไปเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กที่อยู่บริเวณนิ้วมือและข้อมือ  แม้จะชื่อว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กแต่ความสำคัญไม่ได้เล็กเหมือนชื่อเลย เพราะหากเด็กตัวเล็ก ๆ มีกล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรง มันจะนำไปสู่พัฒนาการในเรื่องอื่น ๆ ได้ดีทั้งการจับ หยิบ การขีดเขียน

งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่า สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา 10 ปีแรก ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก  ดังนั้นกิจกรรมศิลปะจึงควรจะได้ส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กเหล่านี้

สัปดาห์์นี้ครูออตออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องศิลปะโดยเน้นกล้ามเนื้อมัดเล็กเป็นสำคัญเพื่อตรวจสอบดูถึงคุณภาพของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ เหล่านั้นและส่งเสริมให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นถูกใช้งานมากขึ้น กิจกรรมที่ว่าครูออตตั้งชื่อมันว่า หล่อ เก็บ กด

ดินเหนียวเป็นวัตถุดิบหลักในกิจกรรมศิลปะครั้งนี้ ซึ่งทุกโรงเรียนสามารถหาดินเหนียวได้ง่ายโดยไม่ต้องซื้อหา ดังนั้นมันจึงราคาถูกแสนถูกแต่เมื่อนำมาใช้กับกิจกรรมศิลปะเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กมันจึงมีค่ามหาศาล นอกจากนั้นยังมีลวดสำหรับตัดดินเหนียว ผ้าเปียกๆสำหรับคลุมดิน ทั้งหมดนี้หาไม่ยากและถูกแสนถูก

นำดินทั้งหมดที่หามาได้ให้เด็ก ๆ นวดให้เนื้อดินเข้ากันให้ดี (แค่เริ่มกิจกรรมกล้ามเนื้อมัดเล็ดก็ถูกทำงานซะแล้ว) มีความนุ่มไม่แข็งกระด้าง หรือหากมีเศษหินเศษไม้ก็สามารถหยิบออกได้ การหยิบวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณนิ้วทำงานได้ดีขึ้นแข็งแรงขึ้น  เมื่อนวดได้ที่แล้วก็นำมาหล่อให้เป็นก้อนเนื้อเดียวกัน

เมื่อได้ดินก้อนใหญ่แล้ว ครูออตให้เด็ก ๆ เอาลวดตัดดินมาตัดดินเหนียวออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยใช้มือหนึ่งกดดินเหนียว มือหนึ่งควบคุมลวดตัดดินให้สามารถตัดดินเหนียวที่ติดกันเแน่นให้ขาดออกจากกัน ขึ้นตอนนี้เด็กอาจจะได้พัฒนาทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กควบคู่กันไปด้วย

เมื่อตัดดินหนียวออกมาได้ ก็นำมาตัดย่อยออกให้เล็กลงเท่าขนาดข้อมือของแต่ละคน โดยพยายามให้เด็กตัดให้เล็กเท่าที่จะทำได้

(ลูกชายกำลังตัดดินเหนียวออกมาจากก้อนมวลใหญ่)

(ลูกชายกำลังตัดดินออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ )

เมื่อได้ดินเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก็นำมาหล่อให้กลายเป็นเม็ดดินรูปแบบกลมโดยใช้การหล่อ 2 แบบคือมือประกบมือ และมือประกบพื้นเพื่อให้ดินเหนียวมีรูปทรงกลม การหล่อดินแบบนี้ทำให้เด็ก รู้จักการควบคุมข้อมือเพราะหากควบคุมไม่เป็นก้อนดินก็จะไม่กลม ขึ้นตอนนี้ใช้เวลานานพอสมควรเพื่อให้ได้จำนวนก้อนดินกลมจำนวนมาก  อาจจะนำมาใช้ฝึกสมาธิได้  แต่หากสังเกตเห็นว่าเด็กเมื่อยมือก็ให้พักก่อนหรือครูช่วยทำก็ได้

(ตักก้อนดินเล็ก ๆ แล้วค่อยหล่อเป็นก้อนกลม)

นำดินก้อนกลมมาเรียงกันไว้แล้วนำผ้าเปียกมาคลุมเอาไว้ไม่ใช้ผิวดินแห้งเกินไป  นำถ้วย ชาม จาน กระถางหรือแบบพิมพ์ที่ต้องการมาให้เด็ก ๆ เลือก แล้วให้เด็กนำดินก้อนกลมไปกดจนเต็มแม่พิมพ์เหล่านั้น โดยกดที่ละก้อน การกดไม่แน่นจะทำให้ก้อนดินไม่ติดกันเมื่อถอดพิมพ์ออก รูปทรงดินจะไม่แข็งแรงและหลุดออกจากกันได้ง่าย

(การกดโดยใช้ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่  ลูกชายสองคนกับผลงานที่ทำร่วมสองชั่วโมงทั้งเหนื่อยทั้งสนุก)

นี่เป็นเพียงกิจกรรมง่าย ๆแต่นับว่าได้ประโยชน์มาก  ลองทำกันดูนะครับ

ตุลาคม 31, 2010

Hug School : โรงเรียนแห่งการเรียนรู้

ครูออตสอนที่ฮักสคูลมาจะเข้าปีที่สามแล้ว ถือว่าเป็นครูกลุ่มแรก ๆ ของโรงเรียน ดังนั้นจึงผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอพอกับอายุของโรงเรียน ที่นี่ผู้บริหารได้สร้างวัฒนธรรมการเปิดรับความคิดใหม่ ๆ ของครูเสมอ ๆ ดังนั้นการที่เรามีอะไร อยากทำอะไร อยากคิดอะไร อยากบอก อยากสื่อสารอะไรจึงทำไปโดยไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องกลัว  การเกิดวัฒนธรรมแบบนี้จึงทำให้โรงเรียนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

ในส่วนการจัดการความรู้(KM) แม้ไม่ได้ใช้โมเดิลการจัดการความรู้อะไรในระบบวิชาการแต่ ที่นี่ก็เกิดการจัดการความรู้แบบธรรมชาติ ซึ่งผมว่ามีเนียนไปในเนื้องานที่สุด มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน บอกเล่า กันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นครูและบุคคลากรทุกคนจึงไม่ได้รู้สึกว่าถูก โมเดิลของการจัดการความรู้ครอบงำอยู่  การที่ไม่มีอะไรมาจ้องมอง การไม่มีดัชนีมาแปะ ทำให้ทุกอย่างสบาย ๆ ขึ้นนำไปสู่การจัดการความรู้ที่เป็นธรรมชาติที่สุด

ก้าวสู่ปีที่ 3 ของโรงเรียนครูออตจึงเชิญชวนครูและบุคคลากรของโรงเรียนเข้ามาร่วมเขียนเรื่องราวและงานของตนใน Lnapanya เพื่อที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับคนข้างนอกมากขึ้น อย่้างน้อยก็พี่น้องชาวลานที่มีอยู่ทุกภูมิภาค ทุกสาขาวิชาชีพ ทุกมุมมอง เพื่อให้ครูได้นำมุมมองที่ได้รับไปปรับใช้กับวัฒนธรรมการทำงานของตน  เรื่องนี้ครูออตเห็นว่าน่าจะสนุกและลานปัญญาน่าจะมีสีสันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสุนทรียศาสตร์

ทันที่ที่ครูออตโพสในกลุ่มของครูฮักสคูล ผู้บริหารก็แสดงความสนใจและสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะการเขียนในลาน ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีพลังในการขับเคลื่อนแนวคิดดีดี  ดังนั้นลานเสวนาต่อไปเห็นที่จะได้เชิญจอมยุทธ์ด้านการเขียนBLOG ไปช่วยเล่าประสบการณ์การเขียน BLOG ให้กับครูที่ฮักสคูลได้รับฟังกันทั้งจุดเริ่มต้นการเขียนและการพัฒนาการเขียน  ไม่แน่เราอาจจะได้ BLOGGER มือใหม่ไฉไลด้านสุนทรีย์มาร่วมร่ายมนต์เสน่ห์แห่งสุนทรียศาสตร์ผ่านลานของเราก็ได้

ข้อมูลของโรงเรียนเบื้องต้น สามารถสืบค้นผ่านช่องทางดังนี้

มิถุนายน 6, 2010

พลังงานสร้างสรรค์

เด็กพิเศษของครูออตส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนมีพลังงานเยอะ สวนทางกับสมาธิในการทำงานที่น้อยกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเสมือนหน่วยก่อกวน ซึ่งมักทำให้บรรยากาศที่แสนสงบเงียบในห้องเรียนต้องอึกทึกครึกโครม

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กพิเศษมักไม่ได้รับการจัดกลุ่มให้เรียนกับเด็กปกติโดยเฉพาะกระบวนการเรียนนอกโรงเรียนที่ผู้ปกครองยอมเสียเงินที่เมื่อรวมกันหลายเดือนมักสูงกว่าค่าเทอมเสมอ ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้สถานที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน(โรงเรียนสอนพิเศษ)จึงมักปฏิเสธให้เด็กพิเศษเข้าเรียนกับเพื่อน ๆ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าให้พึงพอใจในห้องเรียน

คำแนะนำของครูสอนพิเศษจึงมักแนะนำให้นำเด็กไปฝึกสมาธิก่อน หมายถึงควรเอาลูกไปรักษาภาวะสมาธิน้อยกว่าเด็กปกติก่อนแล้วจึงส่งมาเรียน และความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก็มักเชื่อมั่นว่า ศิลปะคือกระบวนการที่จะช่วยให้ลูกของตนเองมีสมาธิมากขึ้น

ในระยะหลังที่ HUG SCHOOL จึงมักมีผู้ปกครองนำเด็กพิเศษมาให้ครูออตเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งเด็กพิเศษที่ว่ามีหลากหลายแนว แนวหนึ่งที่มักเจอกันบ่อย ๆ คือ เด็กพิเศษที่มีพลังงานเยอะ เขาจะวิ่งเล่น กระโตนและให้พลังงานของร่างกายมากกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นจึงมักเล่นกันแรง ๆ และกระโจนวิ่งกันให้วุ่น ข้างของภายในห้องกระจุยกระจาย ปรากฎการเช่นนี้มักนำมาซึ่งการไม่ประสบความเร็จในการให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะ เพราะครูหลายคนมักหมดความอดทนและเหนื่อยกับการใล่จับปูใส่กระด้ง

สิ่งที่ครูหลายคนทำคือ หยุดวิ่ง! อย่าเล่นกัน! นั่งลงแล้วทำงานซะ! การกระทำเช่นนี้เป็นเสมือนการสร้างตนเป็นศัตรูแก่เขา เพราะคำพูดเหล่านั้นไม่ได้ช่วยทำให้เขาหยุดลงเลย หรือหากเขาหยุดปฏิกิริยาการไม่อยากมาเรียนศิลปะก็จะเกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่พอสมควรกับครูศิลปะ

สิ่งหนึ่งที่ครูออตใช้และค่อยข้างได้ผลกับเด็กพิเศษของครูออตคือ การพยายามช่วงชิงสมาธิที่เขามีให้จดจ่ออยู่กับงานศิลปะและฟังเขาอธิบายงานศิลปะของเขาอย่างตั้งใจ เพราะทุกเรื่องที่เราเล่าแสดงว่าเขามีความต้องการบางอย่างที่อยากจะบอกเรา หากเราจับประเด็นที่เขาสนใจได้เราก็จะมีเรื่องคุยกับเขาต่อไป เมื่อเข้าสู่ห้วงเวลาสมาธิของเขาหมดลงและก้าวเข้าสู่ห้วงแห่งการใช้พลัง ช่วงนี้ครูออตจะรีบชิงตัวเด็ก ๆ ออกจากห้องเรียนให้เร็วที่สุด เป้าหมายคือสนามเด็กเล่นและพื้นที่โล่ง ๆ เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานได้

(น้องบัคกับการสำแดงพลังหลังหมดสมาธิแล้ว ภาพด้านข้างเป็นผลงานหลังจากที่หมดสมาธิไปแล้ว)

สิ่งที่ครูออตสังเกตเห็นคือไม่ว่าเราจะเหนี่ยงรั้งเขาให้อยู่กับผลงานศิลปะสักเท่าไหร่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะนัก หลายคนมักขีดขูดผลงานที่วาดเอาไว้สวย ๆในตอนแรกให้เละไม่เป็นรูป บางคนเอาสีราดผลงานให้มืดสนิทหรือไม่ก็วิ่งเล่นกันในห้องปาสี ปาพู่กัน ทำให้เกิดบรรยากาศที่วุ่นวายยากที่จะควบคุม และเมื่อให้เด็กออกไปปลดปล่อยพลังงานซึ่งใช้เวลาช่วงหนึ่ง หลังพลังงานหมดเด็ก ๆ จะกลับมาห้องเรียนศิลปะเช่นเดิมและครูออตมักเห็นว่าสมาธิเขาจะกลับมาเช่นเดิมแม้จะไม่มากเท่าในช่วงแรกแต่ก็ช่วยให้เด็กต่อเติมจินตนาการของตนเองจนสำเร็จลงได้

ครูศิลปะท่านไหนมีเด็ก(น่ารัก)พิเศษในห้องเช่นนี้ลองเอาไปใช้และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ของท่านว่ามีผลเป็นอย่างไร วิธีนี้อาจจะเสียเวลาในการวาดรูปไปบ้างแต่เพื่อแลกกับสมาธิที่เพิ่มมาอีกนิด ครูออตว่าน่าจะคุ้มนะครับ

เมษายน 5, 2010

แมงมุมลายตัวนั้น

แมงมุมลายตัวนั้น ฉันเห็นมันซมซานเหลือทน

วันหนึ่งมันเปียกฝน ไหลลงจากบนหลังคา

พระอาทิตย์ส่องแสง น้ำแห้งเหือดไปลับตา

มันรีบไต่ขึ้นฝา หันหลังมาทำตาลุกวาว

ครูออตนำเข้ากิจกรรมศิลปะในสัปดาห์นี้ด้วยเพลงแมงมุมลาย เพลงนี้ไม่ทราบใครแต่งแต่ร้องไปร้องมา ต่อกันไปต่อกันมา จนไม่สามารถอ้างแหล่งที่มาได้ เพลงนี้เด็ก ๆ ชอบเพราะมันมีท่าประกอบด้วย ซึ่งเป็นการฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือและประสาทสัมผัสของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการต่อหัวแม่มือด้านหนึ่งกับนิ้วก้อยของมืออีกด้านหนึ่ง

หลังจากที่เด็ก ๆ กำลังคิดถึงเจ้าแมงมุมลาย ครูออตสบโอกาสก็ชวน ๆ เด็ก ๆ วาดรูปเจ้าแมงมุมกัน

  • ชั่วโมงเด็กเล็ก ๆ ก็ชวนเด็ก ๆ คิดถึงขนาดตัวแมงมุม ขาแมงมุม บ้านแมงมุม อาหารแมงมุม ครอบครัวแมงมุม ประหนึ่งเจ้าแมงมุมเป็นครอบครัวของเด็ก ๆ เอง
  • ชั่วโมงเด็กโต ไม่ต้องอธิบายอะไรมากเพราะเด็ก ๆ มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับแมงมุมมากพอที่จะคิด จินตนาการต่อจากเพลงได้แล้ว ครูทำหน้าที่เป็นเพียงลูกมือก็พอ หลังจากนี้ก็ปล่อย ๆ เด็ก ๆ ลงมือทำงานของตนเองได้แล้ว

ไปดูผลงานชุดเจ้าแมงมุมของเด็ก ๆ ครูออตกันครับ ว่าแมงมุมของเด็ก ๆ แต่ละคนเป็นอย่างไร และช่วยเพิ่มจินตนาการอะไรให้เด็ก ๆ ได้บ้างจากกิจกรรมนี้

  • ผลงานเจ้าแมงมุมของกลุ่มเด็กเล็กอายุ 3-5 ขวบ ซึ่งสามารถสร้างรูปทรงของเจ้าแมงมุมออกมาได้ แสดงว่ากล้ามเนื้อมือกับสมองมีความสัมพันธ์กันดี แต่เด็กก็มีจินตนาการ อย่างน้องข้าวปั้น(รูป 1)ก็ใส่ตาเจ้าแมงมุมให้ใหญ่เพราะมันลุกวาว(ตามเนื้อเพลง) น้องต้นหวาย(รูป 2)ก็มีแมงมุมนับร้อยขา น้องเปาเปา(รูป3)ใส่ขาแมงมุมให้ยาวออกไปไม่สิ้นสุด

  • ผลงานกลุ่มเด็กโต( 6-7ขวบ) เด็กกลุ่มนี้แสดงออกในเรื่องราวได้มากขึ้นเช่นการที่สร้างบ้านชักใยให้เจ้าแมงมุม  การที่เจ้าแมงมุมมีคนในครอบครัว อาหารของเจ้าแมงมุมที่มาติดที่ใยแมงมุม และบรรยากาศของภาพที่มีการใส่พื้นที่ด้านหลังของภาพ ซึ่งแสดงออกผ่านสีและฝีแปรงในการระบาย

ว่าง ๆ ในช่วงปิดเทอมนี้ ชวนเจ้าตัวน้อยที่บ้าน หรือ เจ้าตัวน้อยข้างบ้านมาวาดรูปเจ้าแมงมุมกันนะครับ

ข้อควรระวัง ถ้าจะให้ดีอย่าลืมชวนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้วยนะครับเพราะเจ้าแมงมุมมีพิษร้าย เดี๋ยวเด็ก ๆ คลั่งไคล้่อยากจะจับเจ้าแมงมุมในสวนหลังบ้านมาเป็นเพื่อนนอน แบบนี้อันตรายแน่ ๆ

สิงหาคม 18, 2009

ศิลปะแบบนามธรรม : เด็กก็ทำได้

การถ่ายทอดความรู้สึกต่อสิ่งที่พบเห็น สิ่งที่ระลึกถึง สิ่งที่จินตนาการบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องแสดงสิ่งนั้นออกมาเป็นรูปทรงที่สามารถพบเห็นได้ตามธรรมชาติก็ได้ โดยเฉพาะการแสดงออกถึงความรู้สึกที่เป็นนามธรรม เราสามารถถ่ายทอดรูปทรงที่เราเห็น ระลึกถึงหรือจินตนาการถึงในรูปศิลปะแบบนามธรรมได้

ศิลปะแบบนามธรรม หรือ abstract เป็นศิลปะประเภทที่ไม่มีความจริงเหลืออยู่ หากคนนอกหรือผู้ชมมอง ก็มักเรียกศิลปินพวกทำงานแบบนี้ว่าพวก ศิลปะเปอะ เพราะรูปทรงจริงนั้นได้ถูกตัดทอนให้เหลือแค่เส้นสี น้ำหนัก ที่ก่อให้เกิดความงามตามอารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เหนือความเป็นจริงต้องใช้จินตนาการในการรับรู้รับชม

ในห้องเรียนที่ HUG SCHOOL ผมให้เด็ก ๆ ได้ทดลองทำศิลปะแบบนามธรรมนี้ด้วย ซึ่งเป็นงานศิลปะนามธรรมที่พัฒนามาจากแบบเหมือนจริงในธรรมชาติ แต่นำมาตัดทอน เพิ่มเติมเนื้อหาที่ต้องการแสดงออก  โดยเน้นให้เด็กสามารถบอกตนเองได้ว่าตนเองกำลังวาดอะไรและรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่ตนเองเห็น ตนเองจินตนาการเห็น

วันนี้มีนักเรียน 4 คนที่มาเรียน หลังผมเสนอรูปแบบศิลปะนามธรรมให้เด็ก ๆ ทราบแล้ว ผมก็ปล่อยให้เขาเลือกสี เลือกจินตนาการ เลือกมอง เลือกถ่ายทอดเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งเมื่อท้ายชั่วโมงก็พบว่าเด็ก ๆ สามารถถ่ายทอดศิลปะแบบนามธรรมได้เช่นเดียวกับศิลปิน เพราะผลงานมีการเลือกสรรสี  ตัดทอนรูปทรงและวางองค์ประกอบได้อย่างงดงาม

นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เด็ก  ๆ หาได้จากห้องเรียนศิลปะที่ HUG  SCHOOL

สิงหาคม 6, 2009

ระดมความคิดหลักสูตร ฮูบแต้มแคมของ

ค่ายฮูบแต้มแคมที่จะจัดในวันที่ 1-3 กันยายน 2552 ณ วัดศรีมหาโพธิ์ อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหารที่จะถึงนี้ ผู้จัดหลักสูตรการเรียนรู้ พยายามออกแบบหลักสูตรโดยเอาเรื่องพื้น ๆ มาทำให้พิเศษ(วิชานี้เรียนมาจากสวนป่าครูบาฯ) ดังนั้นจึงขอเชิญระดมความคิด เสนอแนะ หลักสูตรนี้นะครับ ก่อนลงมือในรายละเอียดของกิจกรรมการเรียน / เล่น

1. วิชาเครื่องมือวิทยาการเรียนรู้สำหรับนักเรียนวัฒนธรรม

วิชาที่ปูพื้นฐานการศึกษาวัฒนธรรมในชุมชนให้แก่นักเรียนวัฒนธรรมผ่านเทคนิคการเรียนรู้ที่หลากหลายเช่น สุนทรียสนทนา การระดมความคิด การฟังอย่างมีวิจารณญาณ การพูดและการนำเสนอ การอ่านเชิงวิเคราะห์ การบันทึกการเรียนรู้ การเขียนแผนผังความคิด แผนภูมิต้นไม้ แผนภูมิก้างปลา แผนที่เดินดินโดยมีทั้งกิจกรรมการบรรยาย การฝึกปฏิบัติ เพื่อให้นักเรียนวัฒนธรรมเรียนรู้ชุมชนอย่างสนุกได้ความรู้

2. วิชา หว้านใหญ่ศึกษา

วิชาที่เน้นให้นักเรียนวัฒนธรรมได้เรียนรู้ประวัติ พัฒนาทางสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนหว้านใหญ่ ตำบลหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร รวมทั้งอาชีพ การทำมาหากิน ศิลปกรรม การแสดงพื้นถิ่น ซึ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ผ่านเวทีเสวนาย่อยของปราชญ์และคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน

3. วิชา ตื่นแต่ไก่โห่

วิชาที่เน้นการบริหารร่างกายของนักเรียนวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมการออกกำลังกาย การกวาดลานวัด การเตรียมอาหาร นอกจากนั้นยังเน้นการบริหารจิตใจของนักเรียนวัฒนธรรมด้วยกิจกรรมสุนทรีย์เช่น การวาดภาพ การเขียนบทกวี การถ่ายภาพ การซาบซึ้งความงามทางจักษุ ผ่านสถานที่และช่วงเวลายามย่ำรุ่ง

4. วิชา นักสงสัยศาสตร์ ปฏิบัติการฮูบแต้มแคมของ

วิชาที่เน้นการสร้างคำถามจากปรากฎการณ์ที่พบในชุมชน เพื่อค้นหา จัดลำดับ จัดกลุ่มคำถามตลอดจนการวางแผนการหาคำตอบจากข้อสงสัยนั้น ๆ ทั้งกระบวนการเดี๋ยวและกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนวัฒนธรรมค้นหาคำตอบซึ่งมีอยู่ในชุมชน

5. วิชา คัดลอก ฮูบแต้ม

วิชาที่เน้นการหาคำตอบเชิงทัศนศิลป์ทั้งจิตรกรรมฝาผนังและสถาปัตยกรรมของสิมวัดศรีมหาโพธิ์ โดยเน้นการหาคำตอบด้วยการสังเกต การคัดลอก การถ่ายภาพ ซึ่งเน้นกิจกรรมการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองของนักเรียนวัฒนธรรมเพื่อให้ซาบซึ่งความงามและลักษณะพิเศษของจิตรกรรมฝาผนังพื้นบ้าน

6. วิชา แนมบ้าน แนมเมือง

วิชาที่เน้นการสำรวจชุมชนเพื่อเรียนรู้ความสัมพันธ์ มโนทัศน์ของชุมชนที่มีต่อจิตรกรรมฝาผนังและประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้นักเรียนวัฒนธรรมเข้าใจความสัมพันธ์ของคนในชุมชนต่อชุมชนของตนเอง ทั้งนี้เน้นการเดินลงสำรวจ สัมภาษณ์ในพื้นที่ชุมชนบ้านหว้านใหญ่

7. วิชา เครื่องเฮ็ด อยู่เฮ็ดกิน

วิชาที่เน้นการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนบ้านหว้านใหญ่ ผ่านกิจกรรมการประกอบอาหารพื้นบ้าน หัตถกรรมพื้นบ้าน วรรณกรรม ดนตรีและการแสดงและมุขปาฐะที่ปรากฎในท้องถิ่น โดยเน้นครูที่เป็นปราชญ์ในชุมชน

8. วิชา ศีลธรรม ลำนิทาน

วิชาที่เน้นการถอดความหมายของวรรณกรรมเรื่องพระเวสสันดรที่ปรากฎในจิตรกรรมฝาผนังวัดศรีมหาโพธิ์อันแสดงคุณค่าเชิงศีลธรรมในมิติด้านต่าง ๆ อันจะทำให้นักเรียนวัฒนธรรมได้เข้าใจแนวคิดสำคัญของวรรณกรรมที่ปรากฎและนักเรียนน้อมนำศีลธรรมคำสอนไปใช้ในชีวิตประจำวัน

9. วิชา ประยุกต์ศิลป์ถิ่นอีสาน

วิชาที่เน้นการนำเอาองค์ความรู้จากการเรียนรู้ในค่ายวัฒนธรรมมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ่านการแสดงออกทางด้านการประยุกต์ศิลป์ การออกแบบผลิตภัณฑ์พื้นถิ่นและของที่ระลึก

10. วิชา ถอดบทเรียนเขียนความรู้สึก

วิชาที่เน้นการถอดหรัสการเรียนรู้จากการเรียนรู้ในค่ายวัฒนธรรมมาสังเคราะห์ วิเคราะห์และถ่ายทอดในรูปแบบของสมุดบันทึก

11. วิชา บายศรีสู่ขวัญ

วิชาการปลูกฝังทางวัฒนธรรมของนักเรียนโดยผลิตซ้ำการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมของคนในสมัยรุ่นพ่อรุ่นแม่ในสังคมท้องถิ่นที่เคยมีมา ซึ่งคนในชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกันจากวัดและโรงเรียนที่อยู่ในท้องถิ่นเดียวกัน ท้องถิ่นซึ่งคนรู้จักกัน เห็นหน้าค่าตากัน มีลัทธิทางศาสนา ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีเดียวกัน รวมทั้งการอยู่รวมกันมานาน ทำให้เกิดสำนึกของความเป็นคนถิ่นเดียวกัน

แต่ที่แน่ ๆ ท่านไหนสนใจสอนวิชาอะไร แจ้งได้นะครับมาเรียน เล่น กับเด็ก ๆ ด้วยกัน

พฤษภาคม 17, 2009

เด็ก(น่ารัก)พิเศษของครูออต

วันนี้เป็นวันแรกที่ ผอ. จับเด็กน่ารักพิเศษของผมออกมาสอนต่างหากจากกลุ่มเพื่อน  ด้วยเพราะเธอเป็นเด็ก(น่ารัก)พิเศษนั้นเอง เรื่องนี้เป็นปม(คิดคำอื่น ๆ แทนไม่ออกตอนนี้)ที่เราต้องหาทางออกช่วยกัน ระหว่าง ผู้ปกครอง เจ้าของโรงเรียนและครูผู้สอน ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีแรก ๆของโรงเรียนศิลปะแห่งนี้

น้องบั๊ค เป็นเด็กน่ารักพิเศษของผม ซึ่งมาเรียนศิลปะในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ได้สามสี่ครั้งแล้ว และทุกครั้งที่เข้าห้องเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกันก็มักเจอปัญหาเพราะน้องบั๊คจะอาละวาดเมื่อมีเพื่อนร่วมห้องทำเสียงดังหรือมีการกระตุ้นด้วยเสียงดังทั้งที่เพื่อนไม่ได้ตั้งใจ จนเพื่อนในห้องหวาดกลัวและไม่อยากเรียนด้วย

เรื่องนี้เราผู้สอนเข้าใจผู้ปกครองดี  ที่ต้องการให้ลูกเรียนร่วมกับคนอื่น แต่กระบวนการเรียนในห้องซึ่งมีแต่ความหวาดระแวงก็ทำให้เสียบรรยากาศของความคิดสร้า้งสรรค์ได้ เรื่องนี้เราจบลงด้วยการแยกน้องมาเรียนเฉพาะกับผมโดยค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมก่อนส่งกลับเข้าไปเรียนร่วมกับเพื่อนใหม่อีกครั้ง  ซึ่งเรื่องนี้ผู้ปกครองก็ยอมรับได้ เจ้าของโรงเรียนก็ยอมรับได้ส่วนผมเองก็พร้อมอยู่แล้ว

วันนี้จึงเป็นวันแรกที่น้องบั๊คกับผมเรียนด้วยกันสองคน ซึ่งบรรยากาศการเรียนวันนี้เป็นไปตามแผนการสอนที่วางเอาไว้และเกินความคาดหวังเสียด้วยซ้ำ

หลังเรียนด้วยกันมาระยะหนึ่งผมจับ “จุดพิเศษ” ของน้องบั๊คได้สองอย่างคือ น้องชอบทดลองชอบเล่นสี  น้องชอบวาดงานศิลปะบนกระดาษแผ่นใหญ่ ๆ กว้าง ๆ ดังนั้นแนวทางของชั่วโมงแรกจึงเป็นเรื่องของการทดลองและความกว้างใหญ่ ซึ่งผมออกแบบการเรียนรู้โดยการทดลองผลิตสีธรรมชาติซึ่งเคยใช้กับเด็กปกติ  บวกกับการเพิ่มพื้นที่ในการวาดให้ใหญ่ขึ้นพิเศษให้สมเป็นเด็กน่ารักพิเศษ

บรรยากาศวันนี้จึงสนุกสนานและไร้การอาละวาดจากน้องบั๊ค อาจจะมีบ้างที่เธอเล่นแผลง ๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรแต่ดีกับน้องเสียด้วยซ้ำที่ได้ทดลองอะไรแปลก ๆ  วันนี้บั๊คได้ทดลองผลิตสี  ผสมสี ระบายสีทั้งนั่งระบาย ยืนระบาย ขึ้นเก้าอี้ระบาย ซึ่งตลอดเวลาเราจะพบรอยยิ้มและหัวเราะตลอดชั่วโมง ส่วนหนึ่งเพราะน้องได้สัมผัสสุนทรีย์ผ่านสัมผัสครบทุกด้าน(ผมคิดเอง)

ตาของน้องได้ดู ชม งานศิลปะ  หูของน้องได้ยินเสียงครกกระทบสากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตสี  ลิ้นของน้องยังได้มีโอกาสชิมสีที่เราผลิตขึ้นจากอัญชัน  จมูกของน้องยังได้กลิ่นหอม ๆ จากกาแฟที่เราเอามาทำสี กายของน้องยังได้สัมผัสสีสัมผัสงานศิลปะและลงมือทำงานศิลปะเอง ซึ่งล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้น้องได้สนุก ๆ สนานในทุกสัมผัสและโดยเฉพาะ “ใจสัมผัส” กับครูใจดีอย่างผม (อิอิ ชมตะเอง)

กิจกรรมการผลิตสี กิจกรรมที่น้องชอบเพราะได้ทดลอง ได้ลงมืือด้วยตนเอง สังเกตรอบยิ้มซิครับ(มีความสุข)

Action การทำงานศิลปะของศิลปินน้อยตั้งแต่ ยืนวาด  ยินบนเก้าอี้วาด  การราดสีที่ผลิตขึ้นด้วยช้อนแทนการวาดด้วยพู่กัน

กุมภาพันธ 18, 2009

คุณภาพความรักและการแสดงออก ใน HUG EXHIBITION

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , — ออต @ 20:24

HUG EXHIBITION เป็นกิจกรรมของมวลมิตรที่พอจะเจอะหน้ากันและมาปั้นคำหาเรื่องทำกิจกรรมร่วมกัน ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้วเหล่ามวลมิตรกลุ่มนี้ รวมตัวกันแบบไม่เป็นทางการแสดงออกในเรื่องความรักในมิติของงานศิลปะตามแต่ละคนจะสร้างสรรค์ ปีนั้นงานศิลปะของหลายคนแบ่งบาน สดใส ซึ่งนับเป็นการแสดงออกของความรักที่มีคุณภาพตามแต่นิยามความรักของแต่ละคน

เทศกาลแห่งความรักของปีนี้ แม้เพื่อนฝูงมวลมิตรที่เคยรวมตัวกันจะแยกตัวไปอยู่ที่อื่น เพื่อสร้างครอบครัวของตนเองหลังจากความรักเบ่งบาน ส่วนคนที่ยังทำงานบริหารความรักที่พำนักอยู่ขอนแก่น ก็ยังคงรวมตัวกันอีกเช่นเดิม ด้วยแนวคิดแบบเดิม ที่แต่ละคนสร้างสรรค์ความรักในมิติของตน

เกริกศักดิ์ วรภูมิ หรือพี่เกริก หัวเรือใหญ่ของ HUG EXHIBITION นำผลงานวาดเส้นบนคอมพิวเตอร์มาอวดด้วยสีสันที่ศิลปะแบบกราพฟิตี้จะต้องยอม สีสันที่มีอยู่ในโลกใบนี้และสีที่คนศิลปะยังไม่เคยเอามาใช้ สีที่อยู่คนละฝั่งคนละวรรณะถูกนำมาจัดรวมกันในหลายภาพ ซึ่งคล้ายกับศิลปะของศิลปินข้างถนน ซึ่งไม่ต้องสูงส่งแต่คนเดินถนนใช้กันอย่างไม่เขินอาย ดังนั้นเราจะพบความพิลึกกึกกือได้ในงานวาดเส้นของเกริกศักดิ์ชุดนี้ งานนี้ทำให้นึกถึงงานเพ้นส์รองเท้าและงานสกรีนเสื้อแนวศิลปะข้างถนนที่เขาใช้มันเป็นเครื่องทำมาหากินอยู่ในปัจจุบันขณะ และดูท่ามันจะสร้างอาชีพในฐานะศิลปะที่ประยุกต์เข้ากับวิถีวัฒนธรรมใหม่ได้ดีที่เดียว ในฐานะศิลปะของชนชั้นที่ต้องใช้ชีวิตอย่างสามัญชนทั่วไป

ดิเรก กิ่งนอก หรืออาจารย์โก๊ะ เจ้าพ่อสีน้ำประเภทหวานฉ่ำมากับงานจิตรกรรมสีน้ำ ปีนี้เล่าเรื่องของเรือ ทะเล และคลื่นที่ซัดถาโถมเข้ามาที่นาวาอันลอยล่องในทะเล สื่อให้รู้ถึงความรักที่เพิ่งผ่านมรสุมมามาด ๆ (อิอิ) ซึ่งหลายคนเชื่อว่าคนคิดถึงทะเล มักคิดถึงความรัก ภาพของทะเลออกมาเช่นไรก็สามารถทำนายความรักได้ว่าเป็นเช่นภาพนั้น หากท่านสงสัยลองดูภาพสีน้ำรูปเรือดูเถิด ภาพจิตรกรรมสีน้ำรูปเรือแม้จะดูสดใสแต่ทว่าก็มีร่องรอยของความเศร้าให้เห็น แม้จะผ่านเรื่องเศร้า ๆ แต่ทว่าสีน้ำของอาจารย์โก๊ะ ยังสดใสเหมือนห้องเรียนศิลปะที่พัฒนาว่าที่นักเรียนศิลปะที่จะเข้าไปใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยที่ดูสดใสและเฟื่องฟู ซึ่งแม้ว่ามรสุมรักจะถาโถมแต่ห้องเรียนศิลปะก็ได้ผลิตนักเรียนศิลปะป้อนสถาบันอุดมศึกษาหลายคนและห้องศิลปะนั้นยังเป็นที่ตวัดปลายภู่กันปาดสีน้ำของเขา

null

วรานุช วัฒนศัพท์หรือครูนุช ผู้ก่อตั้ง HUG SCHOOL โรงเรียนศิลปะ ดนตรีและเต้นรำ แห่งแรกและแห่งเดียวในขอนแก่น ที่มุ่งสร้างความสมดุลระหว่างทักษะการแสดงทางศิลปะและการเสพสุนทรีย์ของงานศิลปะ ผ่านกิจกรรมการเรียนที่เน้นความสุข ดังนั้นผลงานที่ครู
วรานุชนำมาร่วมแสดงคราวนี้เราจึงเห็น I HUG …… ในมิติต่าง ๆ ซึ่งวรานุชเผยถึงการเข้าถึงความรักศิลปะที่ได้ผลง่ายที่สุดคือการเข้าไปสัมผัสกับงานศิลปะนั้น ๆ ทั้งการเล่นสีเล่นพู่กัน เล่นดนตรีอและลองเต้นรำให้เพลินอุรา ซึ่งผลงานที่นำมาจัดแสดงเสมือนการเชิญชวนให้ผู้คนเข้าไปสัมผัส โรงเรียน HUG SCHOOL ของเธอ ซึ่งวันนี้เปิดให้ทุกท่านได้สัมผัสโดยไม่จำกัดวัย เพศ เชื้อชาติ ภาษา

สำรวย เย็นเฉื่อยหรือช่างออต ช่างทอผ้าพื้นบ้านที่จบตัวเองจากความบอบซ้ำในการทำร้านทำมือเล็ก ๆ มาทำงานวิจัยและงานชุมชน จนกระทั้งผูกตนเองด้วยงานทอผ้ากับชาวบ้านอีสานหลายชุมชนและกำลังทำบ้านหลังเล็ก ๆ ในซอยหน้าเมือง 11 เปิดเป็นสตูดิโอในการผลิตผ้าต้นแบบสำหรับงานทอของชาวบ้าน ซึ่งผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการคราวนี้ก็หนีไปพ้นการถักผ้าจากหลายแหล่งนำเอามาไว้รวมกันผ่านการเย็บผ้าด้วยมือ ซึ่งเป็นเสมือนงานที่เอาตัวเองเข้าไปร้อยรัดความผูกพันกับชุมชนบนมิติของการเป็นผ้าทอที่รับใช้คนร่วมสมัยด้วย

เมื่อมองงานศิลปะของทั้งสี่คนที่ร่วมแสดงใน HUG EXHIBITION # 2 แล้ว เราจะพบมิติที่สอดคล้องกันคือ การสร้างสรรค์งานศิลปะที่ผนวกอยู่ในชีวิตและการงานของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นลายสกีนเสื้อของพี่เกริกศักดิ์ สีน้ำของอาจารย์โก๊ะ งานภาพประกอบของคุณครูวรานุช และการถักทอผ้าของช่างออต ซึ่งล้วนแล้วแต่เอาเรื่องความรักที่ใกล้ตัว หน้าที่การงานที่ดำเนินอยู่มาถ่ายทอดทั้งสิ้น ดังนั้นความรัก หาใช่ความเพ้อฝัน หากแต่ความรักเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ณ ปัจจุบันขณะตามแต่หน้าที่ของศิลปินแต่ละคน

ขอขอบคุณ
• ร้านกาแฟคุณภาพ กีวีคาเฟ่ ที่สนับสนุนกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
• HUG SCHOOL ที่มาสร้างสีสันของกิจกรรมครั้งนี้
• ของคุณ เพื่อนพ้องพี่น้อง ที่มาเสพ เรื่องเล่าของความรักของพวกเรา
• เล่าแทนศิลปินโดย http://gotoknow.org/blog/thaiphon
• แสดงในระหว่างวันที่ 14 ก.พ.-14 ม.ค.2552

กุมภาพันธ 8, 2009

มหัศจรรย์แห่งสี:โลกของเด็ก

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 12:45

เมื่อวานเป็นวันแรกของการไปสอนศฺลปะเด็กที่ HUG SCHOOL โรงเรียนศิลปะที่เน้นจินตนาการ การสร้างสรรค์และสุนทรียรสของคุณวรานุช เพื่อนสมัยเรียนที่มหาวิทยลัยขอนแก่น ซึ่งที่นี่มีกิจกรรมเชิงศิลปะหลายอย่างทั้งดนตรี ศิลปะ เต้นรำ ศิลปะพื้นบ้าน

เมื่อวานผมสอนเรื่อง มหัศจรรย์ของสี ซึ่งเป็นการเรียนแบบสนุก ๆ โดยให้เด็กผลิตสีจากธรรมชาติใช้เอง เนื่องจากบริเวณของโรงเรียนไม่ได้มีพืชให้สีมาก ครูจึงจำเป็นต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้เอาไว้ให้พร้อมซึ่งวันนี้เราใช้ ใบตำลึง ดอกกุหลาบ กาแฟ พุทธรักษา มังคุด อัญชัน

หลังจากที่เราแนะนำตัวและปล่อยให้เด็ก ๆ เล่นเพื่อสร้างความคุ้นเคยแล้ว ก็ถึงเวลามาผลิตสีกัน ผมแบ่งครกกับสากให้เด็กผลิตสีคนละสี ซึ่งทุกคนต่างสนุกกับการตำมาก แต่ด้วยความที่เขายังเด็กมากการที่จะให้ได้สีที่สามารถนำมาวาดได้นั้นพอเพียง ครูจึงเตรียมสีที่ผลิตเอาไว้แล้วเตรียมไว้ก่อนล่วงหน้า เมื่อเด็ก ๆ ทำสีของตนเองแล้ว ก็ถึงเวลาระบายสี ซึ่งเด็ก ๆ ต้องเปลี่ยนหรือแลกสีให้คนอื่นใช้ด้วย

null

เมื่อวานด้วยความรีบ ครูออตให้ทางโรงเรียนซื้อกระดาษสีน้ำตาลมา ดังนั้นมันจึงกลืนเนื้อสีลงไปมากทำให้สีจืด ดังนั้นจึงเป็นบทเรียนที่ดีว่าควรเลือกกระดาศที่กลืนสีน้อยเพราะเนื้อสีจากพืชธรรมชาตินั้นให้เนื้อสีน้อย สีจะได้ออกมาสดใสและเพิ่มสีสันให้กับงานของเด็ก ๆ

ภาพที่เด็ก ๆ วาดเมื่อวานนี้เป็นใบหน้าของตะเองในอารมณืต่าง ๆ กันแล้วแต่จะเลือกว่าตนเองชอบใบหน้าแบบไหน ที่แน่ ๆ เด็กสองในสามคนเลือกใบหน้าตนเองยิ้ม อีกคนเลือกใบหน้าดีใจ (อารมณ์ดีกันจริง ๆ) งานนี้เด็ก ๆ ได้ผลิตสีเองและวาดหน้าตะเองแต่ไม่ลืมสิ่งแวดล้อมและคนรอบข้าง

กิจกรรมนี้สนุกมาก หากครูท่านไหนเอาไปใช้ก็ลองดูครับ ไม่มีความลับอะไร ความลับอยู่ที่จินตนาการ อิอิ

พฤศจิกายน 6, 2008

น้องกับแก้ จะมาช่วยเรา ไชโย

Filed under: Uncategorized — แท็ก: — ออต @ 18:49

สองปีแล้วที่ญาติพี่น้องช่างทอผ้าชาวบ้านของผม มาร่วมกันทอผ้าที่โรงทอหลังบ้านผม จะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการเข้ามาร่วมกันทอผ้ามีวัตถุเพื่อการมีรายได้ใช้จ่ายในครอบครัวของช่างทอเอง ถึงแม้จะไม่มากเพราะผู้ประสานอย่างผมนั้นไม่ค่อยเก่งเรื่องหาตลาด แต่ก็นับว่าค่อยเป็นค่อยไปและไม่รีบเร่งมาก จนความสุขหายไป

ในส่วนของผ้าทอลายโบราณนั้น ช่างทอผ้าทุกคนไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ ก็เพียงแต่ต้องเพิ่มความปราณีตลงไปในงานทอให้มากขึ้น เพราะนี่เป็นเสมือนมรดกทางวัฒนธรรมของเรามีต้องรักษาเอาไว้ อย่างน้อยก็เป็นมรดกสำหรับสังคมอีสานสมัยใหม่ให้ได้ศึกษาเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน แผนงานส่วนนี้เราไม่ต้องใช้งบประมาณมากในการสนับสนุน

ในส่วนงานการพัฒนาลายผ้าสมัยใหม่เป็นงานที่ต้องลงทุนอยู่มาก ดีที่ได้เราได้รับอุดหนุนสำหรับการวิจัยและพัฒนาลายผ้าใหม่ ๆ จากศูนย์วิจัยพหุลักษณ์สังคมลุ่มน้ำโขง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการปรับเอาความรู้สมัยใหม่ไปใช้ในการพัฒนาผ้าทอมือของช่างพื้นบ้าน ซึ่งผลงานตลอดระยะที่ผ่านมากก็นับว่าน่าพอใจสำหรับช่างทอพื้นบ้านอยู่มาก ซึ่งส่วนงานนี้ยังต้องดำเนินต่อไป

เมื่อช่างทอรุ่นเก่าสามารถพัฒนางานทอได้ทั้งผ้าทอลายโบราณและผ้าทอลายสมัยใหม่ ก็นับว่าอุ่นใจอยู่ในระดับหนึ่ง ส่วนประเด็นใหม่ที่เราพยายามมองคือช่างทอผ้ารุ่นใหม่ ที่เป็นรุ่นใหม่จริง ๆ ผมวางแผนเอาไว้ว่าในปิดเทอมปีนี้แผนงานพัฒนาช่างทอเยาวชนจะเริ่มลงสู่โรงทอ ซึ่งตอนนี้ก็นับว่าได้รับความสนใจจากเด็ก ๆ ในชุมนุชนของเราอยู่พอสมควร รอแต่เวลาที่เหมาะสม

ในแผนงานนี้โรงทอจะเป็นเจ้าภาพในเรื่องอุปกรณ์และการจัดการเรียน ซึ่งเน้นการเรียนรู้ร่วมกันของช่างทอรุ่น(คาดว่าจะ)เก๋ากับช่างทอรุ่นเก่า ส่วนวัตถุดิบนั้นต้องหาแหล่งทุนสนับสนุนอยู่บ้าง ซึ่งแผนงานนี้ ผมไม่อยากให้เป็นการนั่งรอความช่วยเหลือ เราจึงเริ่มระดมทุนกันก่อนที่จะถึงปิดเทอมด้วยการพา “น้องกับแก้(ตุ๊กแก)” มาอวด

น้องกับแก้ จะมาช่วยเราหาทุนในการทำงานตามแผนงานโครงการนี้ โดยน้องกับแก้จะพาเพื่อนๆ ไปนอนเล่นที่บ้านของผู้สนับสนุนที่สนใจสนับสนุนแผนงานในราคาค่าตัว 250 บาท/ตัว รวมค่าส่งแล้ว เพื่อนพ้องที่รู้จักและเชื่อมั่นในงานของเราสนใจสนับสนุนกิจกรรมสำหรับการเรียนรู้ด้านมรดกทางวัฒนธรรมของเด็ก ๆในชุมชนของเราสนใจเรียก “กับแก้” ได้นะครับ

กับแก้ กับแก้ กับแก้

Powered by WordPress