ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มีนาคม 11, 2011

ศิลปะที่ใช้หูฟัง

คงเคยได้ยินวาทกรรมที่ว่า “ศิลปะเข้าถึงยาก” สำหรับผมแล้วเห็นทีจะต้องขอคัดค้าน เพราะศิลปะนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นจึงไม่ยากเกินที่มนุษย์ด้วยกันจะเข้าถึงมันได้ ส่วนใครจะเข้าถึงได้มากน้อยนั้นย่อมแตกต่างกัน

สิ่งแวดล้อม ๆ ข้าง ๆ ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินได้นำมาสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นที่ฮักสคูลจึงสร้างหลักสูตรที่ให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสธรรมชาติและนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเด็กเอง ในการสร้างสรรค์เรามักนึกถึงแต่งานสองมิติ หรือสามมิติที่เห็นด้วยตา แต่ที่ฮักสคูลเรามีศิลปะที่สามารถดูได้  สัมผัสด้วยมือได้และยังสัมผัสด้วยหูได้อีก กิจกรรมนี้เราจึงเรียกมันว่า ศิลปะที่ใช้หูฟัง

ข้าง ๆ สนามเด็กเล่นที่โรงเรียน มีต้นหางนกยูงยืนตายอยู่ สังเกตดูมีฝักเต็มต้นส่วนใหญ่เราจะปล่อยให้มันแห้งตายและสลายไป หากเราสังเกตดีดีเราจะพบว่าฟักแก่ของหางนกยูงเมื่อเคาะจะพบว่ามันมีเสียง เพราะเมล็ดแห้งข้างในโดนเขย่ากับเปลือก เสียงที่ดังนั้นน่าสนใจมาก ผมว่าครูดนตรีอาจจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการสอนได้ หรือ เอาไปทำเครื่องดนตรีได้ คล้าย ๆ แทมมารีนที่เราเขย่ากัน

วันนี้ผมจึงออกแบบการสอนศิลปะที่มีทั้งเสียงและภาพในผลงานของเด็ก ๆ โดยใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ คือฟักแก่ของหางนกยูงและสีอะครายลิก โดยให้เด็ก ๆ เขย่าหางนกยูงแล้วฟังเสียงว่ามันเป็นเสียงอะไร หลังจากนั้นให้เด็ก ๆ คิดลวดลายแทนเสียงต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งงานนี้ปล่อยตามอิสระ ใครใคร่คิดอย่างไรก็ตามใจเขาเถิด ไม่ว่าเสียงคลื่นกระทบฝัง  เสียงปีศาจ เสียงฝนตกฯลฯ

ในกลุ่มเด็กเล็กจะค่อนข้างมีปัญหากับการใช้สีคะครายลิก ดังนั้นเราจึงให้ลองเขียนลวดลายบนกระดาษก่อน แล้วค่อยให้ลองลงสีจริง แต่เชื่อเถอะผลงานออกแบบกับผลงานจริงไม่เหมือนกันหรอก เพราะความสนุกมันต่างกัน  การระบายสีทับไปทับมาของเด็ก ๆ บนฟักหางนกยูงจึงสนุกสนานมากกว่ากระดาษ จินตนาการและสมาธิจึงบรรเจิดกว่า สนุกกว่า

 

(อุปกรณ์ในการสรางสรรค์  ฟักหางนกยูงแก่และแห้งแล้ว - สีอะครายลิก)

 

(เด็กเล็กเขียนบนกระดาษก่อน อาจจะใช้สีเมจิกที่เขียนง่าย / ศิลปินน้อยกำลังลงมือระบายสีเครื่องดนตรี)

เมื่อแห้งแล้ว เราสามารถเอาไปเคาะทำเสียงดนตรีได้ ซึ่งกิจกรรมต่อไปคงต้องโยนให้ครูดนตรีเอาไปใช้ต่อให้เกิดความเชื่อมโยงของกิจกรรมเพราะดนตรีจากธรรมชาตินั้นช่างไพเราะเสียจริง ไม่แพ้เครื่องดนตรีที่คนเราสร้างขึ้นเลย  จากกิจกรรมนี้ผมคิดว่าเราสามารถใช้วัสดุจากธรรมชาติอื่น ๆ เอามาสร้างงานศิลปะที่ใช้หูฟังได้เยอะแยะเลยครับ

(ผลงานเครื่องดนตรีของเด็ก ๆ สีก็งาม เสียงก็ไพเราะ เคาะกันหลาย ๆคนคงสนุกน่าดูชูใจ ใครสนใจลองเอาไปทำได้ครับ)

มกราคม 26, 2011

ร่างกำหนดการ ” ฮัก เฮฯ : สุนทรียศาสตร์ สุนทรียสนทนา”

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , — ออต @ 14:40

เคยเกริ่นถึงความสนใจของครูชาวฮักสคูล โรงเรียนสอนศิลปะ ดนตรี เต้นรำ ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งออตสอนอยู่ที่นั้น ถึงความสนใจของชาวฮักในการเขียนบันทึกไปแล้วหลายครั้ง แต่ยังไม่ถึงกระบวนการที่จะลงมือ ช่วงก่อนหน้าเป็นเพียงการขายไอเดียให้ผู้บริหารได้เข้าใจ  เมื่อถึงเวลานี้คงต้องเขยิบดูอีกสักครั้ง

เมื่อทราบข่าวว่าครูบาฯ จะมาบรรยายคณะแพทยศาสตร์ในช่วงวันที่  5-6 มีนาคม 2554 ผมจึงถือโอกาสร่างกำหนดการการขยับการจัดการความรู้ของชาวฮัก โดยถือโอกาสในช่วงที่ครูบาฯจะมาขอนแก่นนี้เป็นการโอ้โลมให้ชาวฮักอยากเขียนบันทึก ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ผมตั้งชื่อว่า “ฮัก เฮ สุนทนียศาสตร์ สุนทรียสนทนา” ซึ่งหมายถึงเราชาวเฮฮาศาสตร์ กับ คุณครูและบุคคลากรชาวฮักสคูล

งานนี้ร่างกำหนดการคร่าว ๆ โดยจะเน้นกระบวนการที่เป็นการพูดคุยกันเสียมากกว่า โดยชาวฮักจะเล่าการเรียนการสอน การบริหารจัดการโรงเรียนสอนด้านสุนทรียศาสตร์ ผสมผสานการโชว์ผลงานของคุณครูและนักเรียนทั้งศิลปะ การร้องเพลง ดนตรีซึ่งน่าจะมีเพลงและดนตรีให้ฟังในหลายแบบ แทรกกับการเล่าเรื่องของชาวฮัก

สำหรับชาวเฮฮาศาสตร์ ออตเองก็อยากให้ช่วยเล่าการเรียนบันทึก เทคนิคการเรียนบันทึกและพลังของการเขียนบันทึก รวมทั้งการขับเคลื่อนกลุ่มเฮฮาศาสตร์ เพื่อกระตุ้นให้คุณครูอยากเขียนบันทึกทั้งในลานปัญญาและเครือข่ายอื่น ๆ ที่คุณครูเองสนใจ โดยเน้นการพูดคุยเฮฮาแบบชาวเฮฮาศาสตร์  ดังนั้นนอกเสียจากจะร่างกำหนดการเอาไว้ จึงขอฝากคำเชิญชาวเฮฮาศาสตร์ที่สนใจร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วยนะครับ

ทราบว่าครูบาจะมาขอนแก่นวันที่  5-6 มีนาคมดังนั้นอาจจะขอให้ท่านเดินทางมาก่อนในวันที่  4 เพื่อร่วมกิจกรรมหรือไม่อาจจะขอเป็นวันที่  7 หลังจากท่านเสร็จภารกิจการบรรยายที่คณะแพทยศาสตร์ ดังนั้นงานนี้ ชาวเฮฮาศาสตร์ที่สนใจขอเชิญรีบเขียนใบลางาน หรือเก็บกระเป๋ากันได้แล้ว

สนใจเรื่องราวของชาวฮัก ติดตามที่นี่ครับ ฮักสคูล

ตุลาคม 31, 2010

Hug School : โรงเรียนแห่งการเรียนรู้

ครูออตสอนที่ฮักสคูลมาจะเข้าปีที่สามแล้ว ถือว่าเป็นครูกลุ่มแรก ๆ ของโรงเรียน ดังนั้นจึงผ่านร้อนผ่านหนาวมาพอพอกับอายุของโรงเรียน ที่นี่ผู้บริหารได้สร้างวัฒนธรรมการเปิดรับความคิดใหม่ ๆ ของครูเสมอ ๆ ดังนั้นการที่เรามีอะไร อยากทำอะไร อยากคิดอะไร อยากบอก อยากสื่อสารอะไรจึงทำไปโดยไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องกลัว  การเกิดวัฒนธรรมแบบนี้จึงทำให้โรงเรียนพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว

ในส่วนการจัดการความรู้(KM) แม้ไม่ได้ใช้โมเดิลการจัดการความรู้อะไรในระบบวิชาการแต่ ที่นี่ก็เกิดการจัดการความรู้แบบธรรมชาติ ซึ่งผมว่ามีเนียนไปในเนื้องานที่สุด มีการพูดคุย แลกเปลี่ยน บอกเล่า กันอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นครูและบุคคลากรทุกคนจึงไม่ได้รู้สึกว่าถูก โมเดิลของการจัดการความรู้ครอบงำอยู่  การที่ไม่มีอะไรมาจ้องมอง การไม่มีดัชนีมาแปะ ทำให้ทุกอย่างสบาย ๆ ขึ้นนำไปสู่การจัดการความรู้ที่เป็นธรรมชาติที่สุด

ก้าวสู่ปีที่ 3 ของโรงเรียนครูออตจึงเชิญชวนครูและบุคคลากรของโรงเรียนเข้ามาร่วมเขียนเรื่องราวและงานของตนใน Lnapanya เพื่อที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับคนข้างนอกมากขึ้น อย่้างน้อยก็พี่น้องชาวลานที่มีอยู่ทุกภูมิภาค ทุกสาขาวิชาชีพ ทุกมุมมอง เพื่อให้ครูได้นำมุมมองที่ได้รับไปปรับใช้กับวัฒนธรรมการทำงานของตน  เรื่องนี้ครูออตเห็นว่าน่าจะสนุกและลานปัญญาน่าจะมีสีสันมากขึ้น โดยเฉพาะด้านสุนทรียศาสตร์

ทันที่ที่ครูออตโพสในกลุ่มของครูฮักสคูล ผู้บริหารก็แสดงความสนใจและสนับสนุนเต็มที่ โดยเฉพาะการเขียนในลาน ซึ่งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่มีพลังในการขับเคลื่อนแนวคิดดีดี  ดังนั้นลานเสวนาต่อไปเห็นที่จะได้เชิญจอมยุทธ์ด้านการเขียนBLOG ไปช่วยเล่าประสบการณ์การเขียน BLOG ให้กับครูที่ฮักสคูลได้รับฟังกันทั้งจุดเริ่มต้นการเขียนและการพัฒนาการเขียน  ไม่แน่เราอาจจะได้ BLOGGER มือใหม่ไฉไลด้านสุนทรีย์มาร่วมร่ายมนต์เสน่ห์แห่งสุนทรียศาสตร์ผ่านลานของเราก็ได้

ข้อมูลของโรงเรียนเบื้องต้น สามารถสืบค้นผ่านช่องทางดังนี้

พฤษภาคม 26, 2010

น้องเคี้ยง : เด็กชายผู้หลงความแรง

นักเรียนในห้องศิลปะเด็กคนหนึ่งที่อยากพูดถึงในแง่มุมเล็ก ๆ ที่ครูออตมีต่อเขา หนึ่งในเด็กกลุ่มนั้นสมมติชื่อว่า น้องเคี้ยง น้องเคี้ยงเป็นเด็กผู้ชายอายุ4 ขวบ  ที่เมื่อเข้ามาลองเรียนจะพบว่าเคี้ยงเป็นเด็กที่สอนง่ายมาก ครูออตถามว่าชอบอะไรสิ่งแรกที่เคี้ยงชอบคือ ปลา ดังนั้นตอนที่ลองมาเรียนในสิบห้้านาทีแรกน้องเคี้ยงวาดปลาให้ครูออตดู

ขณะทดลองเรียน ครูออตสังเกตได้ถึงข้อที่ควรนำไปคิดต่อดังนี้

1.กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อมือของน้องเคี้ยงไม่ค่อยแข็งแรง การจับดินสอและการกดปลายดินสอลงกระดาษทำได้ไม่มั่นคงนัก เป็นเพียงการลากเบา ๆ ให้เกิดรูปร่างเท่านั้น ดังนั้นรูปร่างที่ปรากฎในชั่วโมงแรกจึงเป็นปลาที่ตัวบิดงอ

2.เด็กเรียบร้อย น้องเคี้ยงสอนง่ายมาก เรียบร้อยและถามครูทุกอย่างว่าวาดอย่างนี้ใช่ใหม ทำแบบนี้ถูกหรือไม่ ถึงแม้จะควบคุมกล้ามเนื้อมมือไม่ได้แต่ก็พยายามทำ จนกลุ่มปลาสี่ห้าตัวของเคี้ยงสำเร็จลงได้

3.สมาธิ คุณแม่วัยรุ่นซึ่งอายุไม่ต่างจากครูออตมาก เข้ามาพูดคุยว่าเป็นอย่างไร ครูออตเล่าถึงปรากฎการณ์ของน้องเคี้ยงให้คุณแม่ฟังอย่างที่ได้เขียนไปแล้วในสองข้อข้างบนนี้  คุณแม่เล่าถึงรู้สึกกังวล ต่อสมาธิของลูกชายจึงอยากให้มาเรียนศิลปะ เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ดีที่คุณแม่นึกถึงศิลปะว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสมาธิของน้องได้

เมื่อเคี้ยงเข้ามาเรียนในคอร์สแรก ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นเรื่องทัศนคติที่ดีของการเรียนศิลปะ ส่วนผลงานของเด็กนั้นไม่ได้เน้นนักเพราะต้องการให้เด็กมีอิสระที่จะคิด เล่าเรื่อง ระบายความรู้สึกของตนเองผ่านเส้น สีและเทคนิคอื่น ๆทางศิลปะ เมื่อเรียนไปสักสองครั้งก็พบว่าน้องเคี้ยงมองหาคุณแม่ตลอดเวลาและในชั่วโมงที่สองเมื่อคุณแม่ไม่อยู่ที่หน้า้ห้องก็พบว่าน้องร้องไห้เสียงดัง  ครูออตแนะนำให้ “คุณแม่บอกลูกชายก่อนเข้าห้องเรียนว่าคุณแม่จะออกไปทำอะไร และจะกลับมารับเมื่อเรียนเสร็จ” เพื่อไม่ให้เคี้ยงกังวล

เมื่อน้องเคี้ยงรู้สึกสนุกกับศิลปะและรู้สึกติดใจการสอนของครูออตแล้วหลังผ่านไปสามสี่ครั้ง ข้อสังเกตของครูออตที่เล่าไปแล้วใน “ข้อ 2″ ก็ผิดไปถนัด ความรู้สึกเบื้องลึกของเคี้ยงก็ฉายแววออกมาหลังเชื่อมั่นว่าตนเองปลอดภัยและมีอิสระในห้องเรียนศิลปะ เช่น ปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีต่อเพื่อน ๆ ในห้องเรียน  ปลาที่ชอบในตอนแรกไม่ใช่ปลาที่แหวกว่ายในน้ำหากแต่เป็นการตกปลาพร้อม ๆ กับการยึดติดอยู่กับการวาดรถถังที่บรรจุลูกปืนมากมาย

การออกแบบการสอน สำหรับน้องเคี้ยงในช่วงแรกนอกจากทัศนคติที่รักศิลปะแล้ว เรื่องสมาธิเป็นเรื่องที่ครูออตเน้น จากความกังวลของผู้ปกครอง ดังนั้นครูออตจึงต้องทำหน้าที่กระตุ้นถี่ขึ้นสำหรับน้องเคี้ยงและปล่อยให้พักผ่อนเป็นระยะ  แล้วจึงกลับมากระตุ้นอีกครั้ง และวิธีการนี้ก็พบว่าได้ผลที่เดียว น้องเคี้ยงสามารถวาดภาพต่อเนื่องได้มากกว่า 25 นาทีต่อครั้ง ซึ่งในระยะเวลาสองชั้้วโมงในห้องเรียนศิลปะพบว่าเมื่อจบในคอร์สแรกน้องเคี้ยงมีสมาธิดีขึ้นและจดจ่อกับงานมากขึ้น

ครูออตแนะนำคุณแม่ให้สมัครคอร์สสองให้น้องเคี้ยงเพื่อครูออตจะได้ปรับพฤติกรรมบางอย่างให้น้องเคี้ยง พฤติกรรมที่ว่าคือ “ความพยายามใ้ห้น้องการแสดงในเชิงบวก” อย่างที่ครูออตเล่าไปแล้วเคี้ยงแสดงออกในภาพเป็นภาพที่รุนแรงเสียเป็นส่วนใหญ่และจะไม่ยอมวาดในภาพอื่น ๆ ดังนั้นวิธีการที่ครูออตใช้จึงเป็นความพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง

ความพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นการลดการต่อต้านจากเด็ก ครูออตใช้วิธีค่อย ๆสอดแทรกทัศนคติเชิงบวกเข้าไปที่ละน้อย จากภาพรุนแรงในระยะที่แรก มาเป็นรุนแรงแฝงสันติโดยลดความรุ่นแรงผลักดันสินติและเปรี่ยมสันติในที่สุด วิธีการแบบนี้ถือว่าได้ผลสำหรับน้องเคี้ยงเพราะน้องเริ่มยอมรับหัวข้ออื่น ๆในการวาดแล้วและสีแดง น้ำเงินที่เคยใช้ก็มีสีเขียวเข้ามาแทรกอยู่

นี่เป็นผลงานของน้องเคี้ยงในคอร์สสุดท้ายที่ครูออตสอน ซึ่งหากคุณแม่เห็นพัฒนาการที่ดีเช่นนี้แล้วให้เรียนศิลปะอีกครั้งครูออตก็เห็นว่างดงามทั้งแม่และลูก  ส่วนครูที่จะรับสอนในครั้งต่อไปต้องกลับมาอ่านบันทึกของครูออตเพื่อนำไปปรับใช้สำหรับพฤติกรรมการเรียนรู้ของน้องเคี้ยง

พฤษภาคม 16, 2010

ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน

ปีศาจที่ชื่อศิลปะเกาะกินจิตใจเด็ก ๆ มานาน แต่ครูออตเชื่อว่ามันรักษาให้ทุเลาลงไปได้  ยาขนานที่ครูออตทดลองใช้อยู่ที่ HUG SCHOOL คือตำรับที่เรียกว่า ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน ดังนั้นบันทึกนี้จึงจะขอเสนอโอสถที่ครูออตใช้รักษาเจ้าปีศาจตัวนั้นเพื่อบำรุงจิตใจที่งดงามของเด็ก ๆ ให้ฝ้นมีชีวิตชีวาและเบิกบานอีกครั้ง

ก่อนนอื่นต้องขอออกตัวไว้เลยว่าครูออตไม่ใช่ครูในสายวิชาชีพครู เป็นแต่เพียงครูพักรักจำ ดู สังเกต การเรียนการสอนของบรรดาครูมืออาชีพทั้งหลายและนำมาทดลองใช้กับเด็ก ๆ ที่ตนเองสอน  โดยไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่ปีศาจตัวร้ายที่ชื่อศิลปะจะกลับมา และพัฒนาสิ่งที่ดีให้ดีขึ้นพร้อม ๆ กับบอกเล่าให้คนอื่นได้ลองเอาไปประยุกต์ใช้กันดู  ดังนั้นบันทึกนี้จึงไม่ใช่ข้อเขียนในเชิงวิชาการที่สามารถอ้างอิงได้แต่ครูออตจะบอกว่า ลองเอาไปใช้ได้

“ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน” นั้นเป็นห้องเรียนที่เน้นการเปลี่ยนทัศนคติของเด็ก ๆ ให้หลับมาสนใจทำงานศิลปะอีกครั้ง ในฐานะศิลปะเป็นสิ่งบำเรอการเติบโตของหัวใจให้งดงามและเบิกบาน สิ่งนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ครูออตใช้ในการสร้างสรรค์ศิลปะสำหรับเด็ก ห้องเรียนแ่ห่งความเบิกบาน ประกอบด้วยเรื่องกว้าง ๆ 3 เรื่อง  เพื่อให้หัวใจของเด็ก ๆมีศิลปะที่เบิกบาน มีความสุขและกำจัดปีศาจตัวร้ายที่ชื่อศิลปะให้กลายร่างเป็นยาบำรุงหัวใจ  ปัจจัย 3 อย่างของห้องเรียนเบิกบานคือ

1. ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะเน้นการเรียนเป็นกลุ่มเพื่อให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รับและมอบไมตรีกับกัลยาณมิตรในห้องเรียน

เรื่องนี้อาจจะะนำไปปอธิบายควบคู่กับเรื่อง EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ได้ ดังนั้นการจัดกิจกรรมทางศิลปะครูออตจึงเสนอให้ห้องเรียนควรมีเด็กเรียนเป็นกลุ่ม ถ้าอย่างที่HUG SCHOOL ห้องศิลปะเล็กมาก ๆ ก็ไม่ควรเกิน 6 คน กิจกรรมในห้องจึงคล้ายกับเป็นสนามเด็กเล่นที่เด็ก ๆ ใช้เล่นร่วมกัน ทั้งนี้อาจจะมีความรักกันและมีทะเลากันบ้าง ขัดใจกันบ้าง หากไม่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบมาก ครูควรปล่อยให้เด็ก ๆ แก้ไขสถานการณ์กันเอง เพราะธรรมชาติของเด็ก ๆ ความขัดแย้งเหล่านั้นจะถูกลืมในไม่ช้าสักครูก็เล่นด้วยกันราวกับไม่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งหากมีข้อขัดแย้งรุนแรงครูก็แค่ช่วยเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นของเด็กกับคนในห้องให้ฟังเช่น เล่านิทานที่สอนประเด็นความขัดแย้งในห้องนั้นได้  กิจกรรมบางกิจกรรมก็ให้เด็ก ๆ ได้ร่วมกันทำแบบนี้เราก็สอนเรื่องผู้นำผู้ตามแบบธรรมชาติไม่ต้องนั่งบรรยาย


2.
ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะสนับสนุนให้เด็กรู้จักการชื่นชมความงดงามท่ามกลางสรรพสิ่งที่แวดล้อมตัวของเขา

ไม่ว่าจะเป็นแสงที่สาดเข้ามาในห้อง สายฝนที่โปรยปราย เสียงฟ้าที่ร้องคำราม  เจ้ามดตัวน้อยที่วิ่งเล่นในห้องเรียนศิลปะ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะถุฏนำมาใช้ในกิจกรรมศิลปะของห้องเรียนเราแทบทั้งสิ้น ซึ่งเสมือนหนึ่งจะบอกกับเด็ก ๆ ว่า เราคือส่วนหนึ่งของโลกใบงามและเราก็เกี่ยวกข้องกับสิ่งอื่น ๆในโลกใบงาม เราทุกคนเป็นเพื่อนกัน  ถ้าเด็ก ๆ คิดว่าตัวเองสวย น่ารักดังนั้นมดตัวน้อย ๆ เขาก็คิดว่าเราน่ารักเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องดูความงามของกันและกัน


3. ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะเน้นให้เด็ก ๆ มีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะมีสมาธิในการทำงานและปล่อยวางความทุกข์ทั้งปวง

เรื่องนี้เน้นเป็นพิเศษ เพราะศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่งของการฝึกสมาธิ และเด็ก ๆ ที่ส่งมาเรียนศิลปะที่ห้องเรียนของ HUG SCHOOL หลายคนก็มีปัญหาเรื่องสมาธิ  หลายเรื่องที่นี่จะเน้นให้เด็ก ๆ ช้าลง เพื่อให้เด็กได้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับปลายดินสอที่สัมผัสกระดาษในการร่างภาพเจ้ามดน้อย ให้เด็ก ๆ เห็นขา เห็นตา เห็นหนวดของมดอย่างชัดเจน  หรือให้เด็ก ๆเห็นเนื้อของสีแดงกับสีเขียว กำลังต่อสู่กันอยู่บนผืนภาพขณะลงสีน้ำใบไม้ที่เจ้ามดกำลังไต่อยู่  เรื่องนี้เด็ก ๆ จะมีความสุข สงบ เบิกบานได้แม้ขณะวาดมดเพียงตัวเดียว


นี่เป็นแนวคิดสำคัญของการเรียนศิลปะที่ ห้องเรียนแห่งความเบิกบานของครูออต

เมษายน 5, 2010

แมงมุมลายตัวนั้น

แมงมุมลายตัวนั้น ฉันเห็นมันซมซานเหลือทน

วันหนึ่งมันเปียกฝน ไหลลงจากบนหลังคา

พระอาทิตย์ส่องแสง น้ำแห้งเหือดไปลับตา

มันรีบไต่ขึ้นฝา หันหลังมาทำตาลุกวาว

ครูออตนำเข้ากิจกรรมศิลปะในสัปดาห์นี้ด้วยเพลงแมงมุมลาย เพลงนี้ไม่ทราบใครแต่งแต่ร้องไปร้องมา ต่อกันไปต่อกันมา จนไม่สามารถอ้างแหล่งที่มาได้ เพลงนี้เด็ก ๆ ชอบเพราะมันมีท่าประกอบด้วย ซึ่งเป็นการฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือและประสาทสัมผัสของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการต่อหัวแม่มือด้านหนึ่งกับนิ้วก้อยของมืออีกด้านหนึ่ง

หลังจากที่เด็ก ๆ กำลังคิดถึงเจ้าแมงมุมลาย ครูออตสบโอกาสก็ชวน ๆ เด็ก ๆ วาดรูปเจ้าแมงมุมกัน

  • ชั่วโมงเด็กเล็ก ๆ ก็ชวนเด็ก ๆ คิดถึงขนาดตัวแมงมุม ขาแมงมุม บ้านแมงมุม อาหารแมงมุม ครอบครัวแมงมุม ประหนึ่งเจ้าแมงมุมเป็นครอบครัวของเด็ก ๆ เอง
  • ชั่วโมงเด็กโต ไม่ต้องอธิบายอะไรมากเพราะเด็ก ๆ มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับแมงมุมมากพอที่จะคิด จินตนาการต่อจากเพลงได้แล้ว ครูทำหน้าที่เป็นเพียงลูกมือก็พอ หลังจากนี้ก็ปล่อย ๆ เด็ก ๆ ลงมือทำงานของตนเองได้แล้ว

ไปดูผลงานชุดเจ้าแมงมุมของเด็ก ๆ ครูออตกันครับ ว่าแมงมุมของเด็ก ๆ แต่ละคนเป็นอย่างไร และช่วยเพิ่มจินตนาการอะไรให้เด็ก ๆ ได้บ้างจากกิจกรรมนี้

  • ผลงานเจ้าแมงมุมของกลุ่มเด็กเล็กอายุ 3-5 ขวบ ซึ่งสามารถสร้างรูปทรงของเจ้าแมงมุมออกมาได้ แสดงว่ากล้ามเนื้อมือกับสมองมีความสัมพันธ์กันดี แต่เด็กก็มีจินตนาการ อย่างน้องข้าวปั้น(รูป 1)ก็ใส่ตาเจ้าแมงมุมให้ใหญ่เพราะมันลุกวาว(ตามเนื้อเพลง) น้องต้นหวาย(รูป 2)ก็มีแมงมุมนับร้อยขา น้องเปาเปา(รูป3)ใส่ขาแมงมุมให้ยาวออกไปไม่สิ้นสุด

  • ผลงานกลุ่มเด็กโต( 6-7ขวบ) เด็กกลุ่มนี้แสดงออกในเรื่องราวได้มากขึ้นเช่นการที่สร้างบ้านชักใยให้เจ้าแมงมุม  การที่เจ้าแมงมุมมีคนในครอบครัว อาหารของเจ้าแมงมุมที่มาติดที่ใยแมงมุม และบรรยากาศของภาพที่มีการใส่พื้นที่ด้านหลังของภาพ ซึ่งแสดงออกผ่านสีและฝีแปรงในการระบาย

ว่าง ๆ ในช่วงปิดเทอมนี้ ชวนเจ้าตัวน้อยที่บ้าน หรือ เจ้าตัวน้อยข้างบ้านมาวาดรูปเจ้าแมงมุมกันนะครับ

ข้อควรระวัง ถ้าจะให้ดีอย่าลืมชวนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้วยนะครับเพราะเจ้าแมงมุมมีพิษร้าย เดี๋ยวเด็ก ๆ คลั่งไคล้่อยากจะจับเจ้าแมงมุมในสวนหลังบ้านมาเป็นเพื่อนนอน แบบนี้อันตรายแน่ ๆ

มกราคม 4, 2010

บีโกเนียออกดอกต้อนรับปีใหม่

บันทึกหายไปจากลานหลายเดือน อย่างน้อยก็น่าจะสามเดือน เป็นสามเดือนที่ค้อนข้างมีทั้งสุขและเศร้าเคล้ากันไป บางวันวุ่น บางวันว่าง บางวันเงียบบางวันหัวแทบแตก เพราะมีเรื่องที่ต้องจัดการใหญ่ๆ สองเรื่องคือเรื่องร้านชลบถพิบูลย์ที่ไปเปิดที่อุทยานการเกษตร ภายในมาวิทยาลัยขอนแก่น อีกเรื่องก็เตรียมผ้าให้ CERP เพื่อถวายสมเด็จพระเทพรัตนฯ ในวโรกาสเสด็จฯพระราชทานปริญญาบัตรชาว มข

เรื่องร้านตอนนี้ก็เปิดไปแล้ว แต่ยังไม่ลงตัวนักเพราะต้องใช้เวลาในการหาสินค้าลงร้านอยู่ แต่โชคดีมีพี่น้องชาวลานของเราแวะไปจะเอ๋และอุดหนุนผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติ  ร้านดังกล่าวขายผลิตภัณฑ์จากผ้าเป็นหลัก เพราะได้ป้าผ้าจากเมืองพลมาประจำร้านใ้ห้ในวันศุกร์ -เสาร์- อาทิตย์ นอกจากนั้นก็มีต้นไม้ตกแต่งบ้างเล็กน้อย ไม่สามารถลงไม้อะไรได้มากนักเพราะพื้นที่น้อยเหลือเกิน ดังนั้นหากท่านไหวแวะขอนแก่นอย่าลืมแวะไปเยี่ยมชมนะครับ

นอกจากผ้าทอมือ ร้านยังตกแต่งด้วยต้นบีโกเนีย ซึ่งเป็นไม้ประดับประเภทโชว์ใบมาตกแต่งและจำหน่ายด้วย ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เพาะเองเป็นหลัก โดยซื้อต้นพันธุ์มาทำการขยายทั้งแยกเหง้าและชำใบ  ตอนนี้ได้ต้นพันธุ์มาแล้วราวสิบสายพันธุ์ทั้งซื้อมาจาก กทม และเพื่อนพ้องซื้อมาใ้ห้ ซื้อมาฝาก คละกันไป(ไว้ว่างจะเขีนถึงบีโกเนียจากประสบการณ์(สามเดือน) อิอิ)

บีโกเนียหูช้างสีเขียว ออกดอกต้อนรับปีใหม่ งาม มัก ๆๆ

มิถุนายน 2, 2009

พัฒนาการของนักเรียน(แบบ)

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , — ออต @ 18:16

การลอกภาพวาดกันของเด็กไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใดโดยเฉพาะเด็กที่ผ่านโรงเรียนที่ครูใช้คะแนนเป็นตัววัดผลการเรียนของนักเรียน  นักเรียนที่วาดรูปได้คะแนนน้อยย่อมหันไปลอกภาพวาดของเด็กที่ได้คะแนนมากเป็นธรรมดา  แต่ที่ HUG SCHOOL ครูออตไม่ได้เน้นคะแนนเราจึงมีแนวทางที่จะเปลี่ยนจากเด็กช่างลอกเลียนแบบมาเป็นเด็กนักสร้า้งสรรค์ อย่างเช่นกรณีน้องจิ่นนี่และน้องมิ้น

เด็กทั้งสองคนมีพื้นฐานจากโรงเรียนเดียวกันคือเรียนห้องเดียวกัน ครูสอนคนเดียวกัน มาเรียนที่ HUG SCHOOL พร้อม ๆ กันเพราะผู้ปกครองต่างชวนกันมา  เมื่อมาแรก ๆ ทั้งสองคนเปรียบเสมอืนคนคนเดียวกัน ไม่ยอมหนีไปไหนคนเดียว เมื่อจะไปไหนต่อไหน ทำอะไรก็ต้องไปด้วยกันไม่ยอมห่าง รวมทั้งการเรียนศิลปะด้วย

เด็กทั้งสองคนต่างกันตรงที่น้องมิ้นเป็นนักสร้างสรรค์ มีจินตนาการและอดทนมีสมาธิ แม้จะมีเรื่องงอแงมาจากบ้านแต่เมื่อมาถึงห้องเรียนศิลปะน้องมิ้นจะปรับตัวเร็วมากและสนุกสนานในการเรียนศิลปะกับเพื่อน ๆ  การวาดการทำงานมากในครั้งแรก ๆ เราจึงเห็นน้องมิ้นทำงานเสร็จเรียบร้อยสวยงาม สร้างสรรค์และของานกลับทุกครั้ง

น้องจินนี่เป็นเด็กหญิงน่ารักพูดน้อย  อาการติดเพื่อนเป็นพฤติกรรมแรก ๆ ที่น้องจินนี่แสดงออกให้ครูเห็นนอกจากนั้นการลอกเลียนงานของเพื่อนอย่างน้องมิ้นจึงมีให้ครูออตเห็นบ่อย ๆ เมื่อแรกหากน้องมิ้นวาดปลา น้องจินนี่ก็จะวาดปลา  น้องมิ้นวาดบ้าน น้องจิ่นนี่ก็จะไม่วาดอย่างอื่นนอกจากนั้น การลอกเลียนงานน้องมิ้นชัดเจนจนภาพจะกลายเป็นภาพเดียวกัน  ส่วนมิ้นเองก็ไม่ได้สนใจว่าใครจะลอกงานของตนเอง ยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อไป  อีกอย่างที่เห็นชัดคือสมาธิในการทำงานของจิ่นนี่มีน้อย วาดได้นิดก็เหนื่อย ปวดแขน เมื่อยและสารพัดที่อ้าง  สุดท้ายก็ขอมานั่งใกล้ ๆ ครูออตและเล่าสรรพเหระตามประสาเรื่องที่น้องจินนี่อยากเล่า

ครูออตเล่าสถานการณ์นี้ให้ผู้บริหารฟังอยู่เรื่อย ๆ และพยายามเปลี่ยนนักลอกเลียนมาเป็นนักสร้า้้งสรรค์  กิจกรรมประการหนึ่งคือการฝึกให้นักเรียนของเราคิดเยอะ ๆ (ที่ไม่ได้หมายถึงคิดมาก)  การคิดเยอะ ๆ เท่ากับน้องจิ่นนี่มีทรัพยากรในสมองมาก ๆ ดังนั้นช่วงแรกจึงไม่ได้เน้นที่ภาพขนาดใหญ่แต่ให้วาดบนกระดาษ a4 ไม่เน้นการลงสีแต่เน้นลายเส้น

ที่นั่งระหว่างทั้งสองคน ครูออตก็พยายามเปลี่ยนแปลงให้นั่งตรงข้ามแทนที่จะนั่งเรียงกัน อย่างน้อยก็ลดโอกาสของการเลียนแบบภาพของกันและกัน ซึ่งการเปลี่ยนตำแหน่งการนั่งทำงานก็นับว่าได้มากเพราะทั้งสองคนเปลี่ยนคู่สนทนาเป็นคนอื่นนอกจากเพื่อนตนเอง อิทธิพลส่งผลต่อกันจึงน้อยลงไปมาก

ในการเรียนกลาง ๆ คอร์สเราพบว่าสถานการณ์เปลี่ยนเล็กน้อย แต่อยู่ในความคาดหวังที่ดีของครูเพราะน้องจิ่นนี่มีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป แม้ไม่ชัดเจนแต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นจากแรกเริ่มเรียน  การวาดของจิ่นนี่แม้จะลอกบ้างแต่ก็เป็นการปรับรูปทรงให้แตกต่างเช่นในทะเลน้องมิ้นวาดปลา น้องจินนี่ก็เปลี่ยนเป็นวาดเต่า,น้องมิ้นวาดบ้านน้องจิ่นนี่จะวาดตึก  สำหรับครูออตแล้วมันเป็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดี เพราะแม่รูปทรงจะต่างกันเล็กน้อยแต่รอบ ๆ บ้านที่น้องจิ่นนี่วาด มีอะไรต่อมิอะไรมากมาย

สำหรับคอร์สศิลปะเด็กที่โรงเรียนนี้มีจำนวน  12 ครั้งสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายที่น้องจินนี่กับน้องมิ้นมาเรียน และเมื่อมานั่งดูอย่างพิจารณาครูออตพบพัฒนาการของเด็กนักลอกคนนี้ กลายเป็นนักสร้า้งสรรค์อย่างที่เราต้องตะลึง  ในชั่วโมงนี้รูปวาดของทั้งสองไม่เหมือนกันเอาเสียเลย มิหนำซ้ำน้องจิ่นนี่ทำงานของตนเองเสร็จก่อนใครเพื่อนในห้อง นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ช่วยบอกครูออตว่าน้องจินนี่มีสมาธิมากขึ้นตามลำดับ

(ผลงานในสัปดาห์สุดท้ายของจินนี่)

พฤษภาคม 23, 2009

จิ้ม จุ่ม จุด จ๊าบ เจี้ยว จ้าว

เสียงเด็ก ๆ เจี้ยวจ้าวมาแต่ไกล เมื่อผลักประตูเข้าห้องเรียนศิลปะก็ได้รับการตอบรับจากเด็ก ๆ วิ่งกรูเข้ามาทักทายครูกันอย่างสนุกสนาน เด็ก ๆ ที่น่ารักต่างแย่งเล่าเรื่องของตนเองให้ครูฟัง อิอิ ครูออตรับไม่ไหวก็ได้แต่อื้อๆๆ ครับๆๆ หลังฟังพอหอมปากหอมคอแล้ว เด็ก ๆ ก็กระจายกันไปเข้าประจำเก้าอี้ตัวเอง

วันนี้ครูออตคิดถึงงานของศิลปินเอกของโลกที่ใช้การสร้า้งสรรค์งานศิลปะด้วยจุด คือ แทนที่จะใช้การลากเส้นให้เกิดรูปทรงแต่ศิลปินใช้จุดเล็ก ๆ ต่อกันหรือประสานกันเพื่อสร้า้งรูปร่างรูปทรงตามจินตนาการของศิลปินเอง  เราเรียกศิลปะสกุลนี้ว่า  Pointillism แม้แต่ Vincent van Gogh ก็ยังเคยใช้เทคนิคการจุดนี้สร้า้งสรรค์ผลงานของเขา  ศิลปินไทยเช่นธีระวัฒน์  คะนะมะ ก็ใช้เทคนิคนี้ในการทำงานศิลปะของเขา

( Vincent van Gogh วาดภาพเหมือนตัวเองด้วยจุด  ภาพประกอบจาก http://en.wikipedia.org)

(ตัวอย่างผลงานการสร้างสรรค์จุดของธีระวัฒน์ คะนะมะ ศิลปินชาวอีสาน)

การวาดภาพด้วยจุดแบบนี้ หากสังเกตให้ดีเราจะพบว่า มันช่วยฝึกสมาธิได้้เป็นอย่างดี  เพราะเราจะจดจ่ออยู่กับตำแหน่งที่เราจะแต้มจุดหรือแต้มสีลงไปเสมอ ๆ ที่ละจุด ๆ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า การสร้า้งสรรค์งานจิตรกรรมด้วยจุดนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ มีสมาธิมากขึ้น ดังนั้นวันนี้ครูออตจึงเอาการทำงานแบบนี้มาทดลองให้เด็ก ๆ ทำ

แต่เพื่อให้ทันเวลา  ครูออตเปลี่ยนจากการจุดด้วยพู่กันมาใช้นิ้วมือแทน ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ ทำงานเสร็จทันเวลาและพอเหมาะกับสมาธิของเด็กในช่วงวัยนี้เนื่องจากจุดของนิ้วมือใหญ่กว่าจุดพู่กัน  อันจะทำให้งานเสร็จได้ในช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงนี้

เมื่ออธิบายเรื่องราวของศิลปินและตัวอย่างผลงานให้เด็ก ๆ เข้าใจคร่าว ๆ แล้ว ครูออตก็ปล่อยให้เด็ก ๆ ลงมือทำงานของตนเองอย่างอิสระ  แน่นอนครูออตเป็นเพียงผู้ดูแล อำนวยความสะดวกในการทำงานของเด็ก ๆ เท่านั้น  การวาดภาพด้วยการจุดด้วยนิ้วมือแสดงผลอย่างชัดเจนเพราะชั่วโมงนี้เสียงเจี้ยวจ้าวในห้องเรียนเปลี่ยนเป็นความเงียบสงบอย่างไม่น่าเจอว่านี่เป็นห้องศิลปะของเด็ก อิอิ

(บรรยากาศการทำงานของเด็ก ๆ ที่ต่างจดจ้องอย่างมีสมาธิอยู่กับผลงานศิลปะของตนเอง)

เด็ก ๆ กับผลงานศิลปะที่ภาคภูมิใจ

พฤษภาคม 17, 2009

เด็ก(น่ารัก)พิเศษของครูออต

วันนี้เป็นวันแรกที่ ผอ. จับเด็กน่ารักพิเศษของผมออกมาสอนต่างหากจากกลุ่มเพื่อน  ด้วยเพราะเธอเป็นเด็ก(น่ารัก)พิเศษนั้นเอง เรื่องนี้เป็นปม(คิดคำอื่น ๆ แทนไม่ออกตอนนี้)ที่เราต้องหาทางออกช่วยกัน ระหว่าง ผู้ปกครอง เจ้าของโรงเรียนและครูผู้สอน ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีแรก ๆของโรงเรียนศิลปะแห่งนี้

น้องบั๊ค เป็นเด็กน่ารักพิเศษของผม ซึ่งมาเรียนศิลปะในช่วงเช้าของวันอาทิตย์ได้สามสี่ครั้งแล้ว และทุกครั้งที่เข้าห้องเรียนร่วมกับเพื่อน ๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกันก็มักเจอปัญหาเพราะน้องบั๊คจะอาละวาดเมื่อมีเพื่อนร่วมห้องทำเสียงดังหรือมีการกระตุ้นด้วยเสียงดังทั้งที่เพื่อนไม่ได้ตั้งใจ จนเพื่อนในห้องหวาดกลัวและไม่อยากเรียนด้วย

เรื่องนี้เราผู้สอนเข้าใจผู้ปกครองดี  ที่ต้องการให้ลูกเรียนร่วมกับคนอื่น แต่กระบวนการเรียนในห้องซึ่งมีแต่ความหวาดระแวงก็ทำให้เสียบรรยากาศของความคิดสร้า้งสรรค์ได้ เรื่องนี้เราจบลงด้วยการแยกน้องมาเรียนเฉพาะกับผมโดยค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมก่อนส่งกลับเข้าไปเรียนร่วมกับเพื่อนใหม่อีกครั้ง  ซึ่งเรื่องนี้ผู้ปกครองก็ยอมรับได้ เจ้าของโรงเรียนก็ยอมรับได้ส่วนผมเองก็พร้อมอยู่แล้ว

วันนี้จึงเป็นวันแรกที่น้องบั๊คกับผมเรียนด้วยกันสองคน ซึ่งบรรยากาศการเรียนวันนี้เป็นไปตามแผนการสอนที่วางเอาไว้และเกินความคาดหวังเสียด้วยซ้ำ

หลังเรียนด้วยกันมาระยะหนึ่งผมจับ “จุดพิเศษ” ของน้องบั๊คได้สองอย่างคือ น้องชอบทดลองชอบเล่นสี  น้องชอบวาดงานศิลปะบนกระดาษแผ่นใหญ่ ๆ กว้าง ๆ ดังนั้นแนวทางของชั่วโมงแรกจึงเป็นเรื่องของการทดลองและความกว้างใหญ่ ซึ่งผมออกแบบการเรียนรู้โดยการทดลองผลิตสีธรรมชาติซึ่งเคยใช้กับเด็กปกติ  บวกกับการเพิ่มพื้นที่ในการวาดให้ใหญ่ขึ้นพิเศษให้สมเป็นเด็กน่ารักพิเศษ

บรรยากาศวันนี้จึงสนุกสนานและไร้การอาละวาดจากน้องบั๊ค อาจจะมีบ้างที่เธอเล่นแผลง ๆ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรแต่ดีกับน้องเสียด้วยซ้ำที่ได้ทดลองอะไรแปลก ๆ  วันนี้บั๊คได้ทดลองผลิตสี  ผสมสี ระบายสีทั้งนั่งระบาย ยืนระบาย ขึ้นเก้าอี้ระบาย ซึ่งตลอดเวลาเราจะพบรอยยิ้มและหัวเราะตลอดชั่วโมง ส่วนหนึ่งเพราะน้องได้สัมผัสสุนทรีย์ผ่านสัมผัสครบทุกด้าน(ผมคิดเอง)

ตาของน้องได้ดู ชม งานศิลปะ  หูของน้องได้ยินเสียงครกกระทบสากซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิตสี  ลิ้นของน้องยังได้มีโอกาสชิมสีที่เราผลิตขึ้นจากอัญชัน  จมูกของน้องยังได้กลิ่นหอม ๆ จากกาแฟที่เราเอามาทำสี กายของน้องยังได้สัมผัสสีสัมผัสงานศิลปะและลงมือทำงานศิลปะเอง ซึ่งล้วนแล้วแต่กระตุ้นให้น้องได้สนุก ๆ สนานในทุกสัมผัสและโดยเฉพาะ “ใจสัมผัส” กับครูใจดีอย่างผม (อิอิ ชมตะเอง)

กิจกรรมการผลิตสี กิจกรรมที่น้องชอบเพราะได้ทดลอง ได้ลงมืือด้วยตนเอง สังเกตรอบยิ้มซิครับ(มีความสุข)

Action การทำงานศิลปะของศิลปินน้อยตั้งแต่ ยืนวาด  ยินบนเก้าอี้วาด  การราดสีที่ผลิตขึ้นด้วยช้อนแทนการวาดด้วยพู่กัน

บันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress