ลานบ้านชลบถพิบูลย์

พฤษภาคม 26, 2010

น้องเคี้ยง : เด็กชายผู้หลงความแรง

นักเรียนในห้องศิลปะเด็กคนหนึ่งที่อยากพูดถึงในแง่มุมเล็ก ๆ ที่ครูออตมีต่อเขา หนึ่งในเด็กกลุ่มนั้นสมมติชื่อว่า น้องเคี้ยง น้องเคี้ยงเป็นเด็กผู้ชายอายุ4 ขวบ  ที่เมื่อเข้ามาลองเรียนจะพบว่าเคี้ยงเป็นเด็กที่สอนง่ายมาก ครูออตถามว่าชอบอะไรสิ่งแรกที่เคี้ยงชอบคือ ปลา ดังนั้นตอนที่ลองมาเรียนในสิบห้้านาทีแรกน้องเคี้ยงวาดปลาให้ครูออตดู

ขณะทดลองเรียน ครูออตสังเกตได้ถึงข้อที่ควรนำไปคิดต่อดังนี้

1.กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อมือของน้องเคี้ยงไม่ค่อยแข็งแรง การจับดินสอและการกดปลายดินสอลงกระดาษทำได้ไม่มั่นคงนัก เป็นเพียงการลากเบา ๆ ให้เกิดรูปร่างเท่านั้น ดังนั้นรูปร่างที่ปรากฎในชั่วโมงแรกจึงเป็นปลาที่ตัวบิดงอ

2.เด็กเรียบร้อย น้องเคี้ยงสอนง่ายมาก เรียบร้อยและถามครูทุกอย่างว่าวาดอย่างนี้ใช่ใหม ทำแบบนี้ถูกหรือไม่ ถึงแม้จะควบคุมกล้ามเนื้อมมือไม่ได้แต่ก็พยายามทำ จนกลุ่มปลาสี่ห้าตัวของเคี้ยงสำเร็จลงได้

3.สมาธิ คุณแม่วัยรุ่นซึ่งอายุไม่ต่างจากครูออตมาก เข้ามาพูดคุยว่าเป็นอย่างไร ครูออตเล่าถึงปรากฎการณ์ของน้องเคี้ยงให้คุณแม่ฟังอย่างที่ได้เขียนไปแล้วในสองข้อข้างบนนี้  คุณแม่เล่าถึงรู้สึกกังวล ต่อสมาธิของลูกชายจึงอยากให้มาเรียนศิลปะ เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ดีที่คุณแม่นึกถึงศิลปะว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสมาธิของน้องได้

เมื่อเคี้ยงเข้ามาเรียนในคอร์สแรก ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นเรื่องทัศนคติที่ดีของการเรียนศิลปะ ส่วนผลงานของเด็กนั้นไม่ได้เน้นนักเพราะต้องการให้เด็กมีอิสระที่จะคิด เล่าเรื่อง ระบายความรู้สึกของตนเองผ่านเส้น สีและเทคนิคอื่น ๆทางศิลปะ เมื่อเรียนไปสักสองครั้งก็พบว่าน้องเคี้ยงมองหาคุณแม่ตลอดเวลาและในชั่วโมงที่สองเมื่อคุณแม่ไม่อยู่ที่หน้า้ห้องก็พบว่าน้องร้องไห้เสียงดัง  ครูออตแนะนำให้ “คุณแม่บอกลูกชายก่อนเข้าห้องเรียนว่าคุณแม่จะออกไปทำอะไร และจะกลับมารับเมื่อเรียนเสร็จ” เพื่อไม่ให้เคี้ยงกังวล

เมื่อน้องเคี้ยงรู้สึกสนุกกับศิลปะและรู้สึกติดใจการสอนของครูออตแล้วหลังผ่านไปสามสี่ครั้ง ข้อสังเกตของครูออตที่เล่าไปแล้วใน “ข้อ 2″ ก็ผิดไปถนัด ความรู้สึกเบื้องลึกของเคี้ยงก็ฉายแววออกมาหลังเชื่อมั่นว่าตนเองปลอดภัยและมีอิสระในห้องเรียนศิลปะ เช่น ปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีต่อเพื่อน ๆ ในห้องเรียน  ปลาที่ชอบในตอนแรกไม่ใช่ปลาที่แหวกว่ายในน้ำหากแต่เป็นการตกปลาพร้อม ๆ กับการยึดติดอยู่กับการวาดรถถังที่บรรจุลูกปืนมากมาย

การออกแบบการสอน สำหรับน้องเคี้ยงในช่วงแรกนอกจากทัศนคติที่รักศิลปะแล้ว เรื่องสมาธิเป็นเรื่องที่ครูออตเน้น จากความกังวลของผู้ปกครอง ดังนั้นครูออตจึงต้องทำหน้าที่กระตุ้นถี่ขึ้นสำหรับน้องเคี้ยงและปล่อยให้พักผ่อนเป็นระยะ  แล้วจึงกลับมากระตุ้นอีกครั้ง และวิธีการนี้ก็พบว่าได้ผลที่เดียว น้องเคี้ยงสามารถวาดภาพต่อเนื่องได้มากกว่า 25 นาทีต่อครั้ง ซึ่งในระยะเวลาสองชั้้วโมงในห้องเรียนศิลปะพบว่าเมื่อจบในคอร์สแรกน้องเคี้ยงมีสมาธิดีขึ้นและจดจ่อกับงานมากขึ้น

ครูออตแนะนำคุณแม่ให้สมัครคอร์สสองให้น้องเคี้ยงเพื่อครูออตจะได้ปรับพฤติกรรมบางอย่างให้น้องเคี้ยง พฤติกรรมที่ว่าคือ “ความพยายามใ้ห้น้องการแสดงในเชิงบวก” อย่างที่ครูออตเล่าไปแล้วเคี้ยงแสดงออกในภาพเป็นภาพที่รุนแรงเสียเป็นส่วนใหญ่และจะไม่ยอมวาดในภาพอื่น ๆ ดังนั้นวิธีการที่ครูออตใช้จึงเป็นความพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง

ความพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นการลดการต่อต้านจากเด็ก ครูออตใช้วิธีค่อย ๆสอดแทรกทัศนคติเชิงบวกเข้าไปที่ละน้อย จากภาพรุนแรงในระยะที่แรก มาเป็นรุนแรงแฝงสันติโดยลดความรุ่นแรงผลักดันสินติและเปรี่ยมสันติในที่สุด วิธีการแบบนี้ถือว่าได้ผลสำหรับน้องเคี้ยงเพราะน้องเริ่มยอมรับหัวข้ออื่น ๆในการวาดแล้วและสีแดง น้ำเงินที่เคยใช้ก็มีสีเขียวเข้ามาแทรกอยู่

นี่เป็นผลงานของน้องเคี้ยงในคอร์สสุดท้ายที่ครูออตสอน ซึ่งหากคุณแม่เห็นพัฒนาการที่ดีเช่นนี้แล้วให้เรียนศิลปะอีกครั้งครูออตก็เห็นว่างดงามทั้งแม่และลูก  ส่วนครูที่จะรับสอนในครั้งต่อไปต้องกลับมาอ่านบันทึกของครูออตเพื่อนำไปปรับใช้สำหรับพฤติกรรมการเรียนรู้ของน้องเคี้ยง

สิงหาคม 24, 2009

ภาพเขียนในคืนอันมืดมิด

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 13:14

เขียนเรื่อง ศิลปะนามธรรม : เด็กก็ทำได้ ไปเมื่อหลายวันก่อน มาคราวนี้ผมเขียนต่อเนื่องจากกิจกรรมที่แล้วในห้องเรียนที่ HUG SCHOOL เพราะว่ากิจกรรมนี้ต่อเนื่องกับศิลปะนามธรรมที่เล่าไปแล้วก่อนหน้านี้ครับ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ชวนให้เด็กเขียนภาพด้วยเส้นสีบนพื้นดำ แทนการเขียนภาพเส้นสีบนพื้นขาว กิจกรรมนี้ต่างกันหรือเหมือนกับภาพเขียนเดิม ๆ แบบไหนตามกันครับ

หลังเด็ก ๆ เรียนรู้การตัดทอนรูปทรงจากธรรมชาติให้กลายมาเป็นศิลปะแบบนามธรรมแล้ว สิ่งที่เด็ก ๆ เรียนรู้จากกิจกรรมที่แล้วคืออารมณ์ที่มีต่อรูปทรงที่พบในธรรมชาติ และ การแปรรูปรูปทรงธรรมชาติมาเป็นรูปทรงนามธรรมที่สื่อสอดคล้องกับอารมณ์ของเด็ก ๆ แต่ละคน กิจกรรมนี้เด็ก ๆ สนุกสนานอยู่กับการเลือกสีให้เหมือนดังใจที่ตนเองรู้สึก

กิจกรรมต่อไปครูออตชวนเด็ก ๆ เอางานศิลปะนามธรรมซึ่งเขียนด้วยสีชอล์คน้ำมันมาสร้างเป็นงานศิลปะอีกแบบหนึ่ง โดยการนำสีโปสเตอร์สีดำผสมสีม่วงหรือน้ำเงินเล็กน้อย ทาสีที่ผสมแล้วทับลงไปบนศิลปะนามธรรมให้เต็มพื้นที่จนภาพที่มีสีสันเหล่านั้นมืดสนิทราวกับกลางคืน

เอาถ้ามันเหมือนกลางคืน เราก็ชวนเด็ก ๆ มาวาดภาพกลางคืนกันดีไหม เราทำอะไรเวลากลางคืนบ้าง  กลางคืนเราเห็นอะไร

แต่ในการวาดภาพบนพื้นที่สีดำนั้น ครูออตเปลี่ยนจากการวาดสีลงไปบนกระดาษดำเป็น การขูดเอาสีดำที่เคลือบสีชอล์คน้ำมันออก ลายเส้นที่ขูดสีดำออกจะเผยสีชอล์คสีต่าง ๆ แบบไม่ตั้งใจเกิดให้ปรากฎเป็นที่ตื่นเต้นแก่เด็ก ๆ งานนี้เราจึงเรียกเทคนิคนี้ว่า ขูดสี ซึ่งตอนนี้นี่เอง เด็กๆต่างสนุกกับการขูดกันอย่างเมามัน  บางคนชี้ชวนให้เพื่อนมาดูสีชอล์คที่ปรากฎว่ามันสอดคล้องกับภาพที่ตนเองวาดหรือเปล่า  เพราะดวงดาวบางคนได้สีเหลือง แต่ดวงดาวบางคนอาจจะสีชมพู   อู้้้้้้้้้้้้้้้้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ อเมซิ่ง

สิ่งที่ควรระวังสำหรับกิจกรรมนี้คือ สิ่งที่ขูดสีต้องเป็นอะไรที่แหลมนิดหน่อยเช่นตะปู  ลวด ดังนั้นต้องระวังกันด้วย ในขณะเดียวกันสีดำที่ขูดออกเนื่องจากเป็นเกล็ดเล็ก ๆ ควรระวังไม่ให้เข้าตาหรือเป่าด้วยพัดลมเพราะจะทำให้ผงสีฟุ้งไปในอากาศ เด็กที่แพ้อาจจะไม่สบายได้  อ๋อ สีดำที่ขูดออกอย่าเอามือลูบออกเพราะจะเป็นผงสี ซึ่งทำให่สีดำเปื้อนภาพได้ ดังนั้นควรเคาะออกเท่านั้น

มิถุนายน 2, 2009

พัฒนาการของนักเรียน(แบบ)

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , — ออต @ 18:16

การลอกภาพวาดกันของเด็กไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใดโดยเฉพาะเด็กที่ผ่านโรงเรียนที่ครูใช้คะแนนเป็นตัววัดผลการเรียนของนักเรียน  นักเรียนที่วาดรูปได้คะแนนน้อยย่อมหันไปลอกภาพวาดของเด็กที่ได้คะแนนมากเป็นธรรมดา  แต่ที่ HUG SCHOOL ครูออตไม่ได้เน้นคะแนนเราจึงมีแนวทางที่จะเปลี่ยนจากเด็กช่างลอกเลียนแบบมาเป็นเด็กนักสร้า้งสรรค์ อย่างเช่นกรณีน้องจิ่นนี่และน้องมิ้น

เด็กทั้งสองคนมีพื้นฐานจากโรงเรียนเดียวกันคือเรียนห้องเดียวกัน ครูสอนคนเดียวกัน มาเรียนที่ HUG SCHOOL พร้อม ๆ กันเพราะผู้ปกครองต่างชวนกันมา  เมื่อมาแรก ๆ ทั้งสองคนเปรียบเสมอืนคนคนเดียวกัน ไม่ยอมหนีไปไหนคนเดียว เมื่อจะไปไหนต่อไหน ทำอะไรก็ต้องไปด้วยกันไม่ยอมห่าง รวมทั้งการเรียนศิลปะด้วย

เด็กทั้งสองคนต่างกันตรงที่น้องมิ้นเป็นนักสร้างสรรค์ มีจินตนาการและอดทนมีสมาธิ แม้จะมีเรื่องงอแงมาจากบ้านแต่เมื่อมาถึงห้องเรียนศิลปะน้องมิ้นจะปรับตัวเร็วมากและสนุกสนานในการเรียนศิลปะกับเพื่อน ๆ  การวาดการทำงานมากในครั้งแรก ๆ เราจึงเห็นน้องมิ้นทำงานเสร็จเรียบร้อยสวยงาม สร้างสรรค์และของานกลับทุกครั้ง

น้องจินนี่เป็นเด็กหญิงน่ารักพูดน้อย  อาการติดเพื่อนเป็นพฤติกรรมแรก ๆ ที่น้องจินนี่แสดงออกให้ครูเห็นนอกจากนั้นการลอกเลียนงานของเพื่อนอย่างน้องมิ้นจึงมีให้ครูออตเห็นบ่อย ๆ เมื่อแรกหากน้องมิ้นวาดปลา น้องจินนี่ก็จะวาดปลา  น้องมิ้นวาดบ้าน น้องจิ่นนี่ก็จะไม่วาดอย่างอื่นนอกจากนั้น การลอกเลียนงานน้องมิ้นชัดเจนจนภาพจะกลายเป็นภาพเดียวกัน  ส่วนมิ้นเองก็ไม่ได้สนใจว่าใครจะลอกงานของตนเอง ยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อไป  อีกอย่างที่เห็นชัดคือสมาธิในการทำงานของจิ่นนี่มีน้อย วาดได้นิดก็เหนื่อย ปวดแขน เมื่อยและสารพัดที่อ้าง  สุดท้ายก็ขอมานั่งใกล้ ๆ ครูออตและเล่าสรรพเหระตามประสาเรื่องที่น้องจินนี่อยากเล่า

ครูออตเล่าสถานการณ์นี้ให้ผู้บริหารฟังอยู่เรื่อย ๆ และพยายามเปลี่ยนนักลอกเลียนมาเป็นนักสร้า้้งสรรค์  กิจกรรมประการหนึ่งคือการฝึกให้นักเรียนของเราคิดเยอะ ๆ (ที่ไม่ได้หมายถึงคิดมาก)  การคิดเยอะ ๆ เท่ากับน้องจิ่นนี่มีทรัพยากรในสมองมาก ๆ ดังนั้นช่วงแรกจึงไม่ได้เน้นที่ภาพขนาดใหญ่แต่ให้วาดบนกระดาษ a4 ไม่เน้นการลงสีแต่เน้นลายเส้น

ที่นั่งระหว่างทั้งสองคน ครูออตก็พยายามเปลี่ยนแปลงให้นั่งตรงข้ามแทนที่จะนั่งเรียงกัน อย่างน้อยก็ลดโอกาสของการเลียนแบบภาพของกันและกัน ซึ่งการเปลี่ยนตำแหน่งการนั่งทำงานก็นับว่าได้มากเพราะทั้งสองคนเปลี่ยนคู่สนทนาเป็นคนอื่นนอกจากเพื่อนตนเอง อิทธิพลส่งผลต่อกันจึงน้อยลงไปมาก

ในการเรียนกลาง ๆ คอร์สเราพบว่าสถานการณ์เปลี่ยนเล็กน้อย แต่อยู่ในความคาดหวังที่ดีของครูเพราะน้องจิ่นนี่มีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป แม้ไม่ชัดเจนแต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นจากแรกเริ่มเรียน  การวาดของจิ่นนี่แม้จะลอกบ้างแต่ก็เป็นการปรับรูปทรงให้แตกต่างเช่นในทะเลน้องมิ้นวาดปลา น้องจินนี่ก็เปลี่ยนเป็นวาดเต่า,น้องมิ้นวาดบ้านน้องจิ่นนี่จะวาดตึก  สำหรับครูออตแล้วมันเป็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดี เพราะแม่รูปทรงจะต่างกันเล็กน้อยแต่รอบ ๆ บ้านที่น้องจิ่นนี่วาด มีอะไรต่อมิอะไรมากมาย

สำหรับคอร์สศิลปะเด็กที่โรงเรียนนี้มีจำนวน  12 ครั้งสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายที่น้องจินนี่กับน้องมิ้นมาเรียน และเมื่อมานั่งดูอย่างพิจารณาครูออตพบพัฒนาการของเด็กนักลอกคนนี้ กลายเป็นนักสร้า้งสรรค์อย่างที่เราต้องตะลึง  ในชั่วโมงนี้รูปวาดของทั้งสองไม่เหมือนกันเอาเสียเลย มิหนำซ้ำน้องจิ่นนี่ทำงานของตนเองเสร็จก่อนใครเพื่อนในห้อง นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ช่วยบอกครูออตว่าน้องจินนี่มีสมาธิมากขึ้นตามลำดับ

(ผลงานในสัปดาห์สุดท้ายของจินนี่)

Powered by WordPress