ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ตุลาคม 31, 2011

สอนศิลปะ ด้วยสารคดี

วันไหนครูเหนื่อยอ่อนจากภารกิจอื่น ๆ อันไม่ใช่จากการสอน หากผืนใช้พลังงานที่มีอยู่น้อยและจำกัด อาจจะทำให้ครูเหนื่อยเกินไป ล้าเกินไป ส่งผลให้ไม่มีสมาธิในการสอนได้ วิธีการคือ ครูต้องหาครูผู้ช่วยมาช่วยในการสอน ครูผู้ช่วยที่ครูออตหมายถึงในบันทึกนี้คือ ครูเทค(โนโลยี)

ช่วงนี้มีงานแต่งงานกันมาก กว่าจะเสร็จงาน หากเป็นงานเพื่อนสนิทเห็นทีว่าจะต้องช่วยกันจนจนวินาทีสุดท้าย ทำให้เหนื่อยและง่วงเป็นพิเศษ แม้กาแฟที่อุดมไปด้วยคาเฟอีนก็ไม่สามารถเรียกความสดชื่นมาได้ ดังนั้นเช้าวันนี้ครูออตจึงใช้ครูเทคเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนศิลปะ

ปกติการสอนครูในช่วง กระตุ้นการเรียนรู้หรือนำเข้าบทเรียนครูต้องใช้พลังงานในการกระตุ้นการเรียนรู้มาก ซึ่งในกลุ่มเด็กเล็กต้องใช้พลังงานในส่วนนี้มากกว่าช่วงทำงานศิลปะของเด็ก ๆ ซะอีก บางวันก็ชวนเด็ก ๆ เล่นเกม เล่านิทาน ร้องเพลงซึ่งกิจกรรมกระตุ้นที่ว่าต้องใช้พลังงานมากอย่างที่ว่าไปแล้ว ในภาวะที่ครูหมดแรง จึงต้องอาศัยครูเทคเข้าช่วย

ครูออตมีสารคดีที่น่าสนุกหลายเรื่องหนึ่งในนั้นคือเรื่องมด(มด1 มด2 มด3 มด4) ซึ่งดาวน์โหลดมาเตรียมไว้หลายวันก่อนเพราะเห็นว่าน่าจะเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ได้อีกอย่างหนึ่ง(การสะสมเครื่องมือนับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครู) เรื่องมดนี้มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือมีเรื่องราวที่หลากหลายแง่มุมของเรื่องมด ทั้งที่อยู่อาศัย อาหาร ศัตรู วิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับมด ซึ่งน่าจะเร้าความสนใจของเขาได้ดี

โดยธรรมชาติของสารคดี(ที่ดี) คือมีความผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างสาระและบันเทิง มีมุมมองของกล้องที่ตาเราไม่สามารถมองเห็นหรือเป็นมุมมองที่เราไม่คุ้นเคย ซึ่งความไม่เคยเห็นทำให้สารคดีน่าสนใจสำหรับเด็ก เพียงแต่สารคดีมันมักจะยาวไปเสียหน่อยเท่านั้นเอง ครูออตเปิดสารคดีผ่านจอทีวีขนาดใหญ่ซึ่งโรงเรียนเตรียมไว้ให้ดังนั้นจอใหญ่จึงช่วยเร้าความสนใจได้อีกมากโข

ครูออตแจกกระดาษและดินสอให้นักเรียน และบอกให้ดูสารคดีอย่างผ่อนคลายจะนั่ง จะนอนก็ได้ และถ้าตอนไหนในสารคดีเด็ก ๆ สนใจ ชอบใจ ก็สามารถบันทึกไว้ป้องกันลืมได้โดยไม่ต้องลงสีก็ได้ และแล้วหนังสารคดีเราก็เริ่มฉาย ส่วนตัวครูก็ได้พักผ่อนและคอยสังเกตพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยว่ามีปฎิกิริยาอย่างไร

ครูออตสังเกตว่าแรกเริ่มฉาย อาจจะมีเด็กบางคนไม่สนใจ(ในใจคงพูดว่า ทำไมไม่เปิดการ์ตูน) หลายคนที่ชอบดูสารคดีก็จะเล่าสารคดีที่เคยดูแทรกมาบ้าง แต่หลังจากเวลาผ่านไปห้านาทีจะสังเกตว่าเด็ก ๆ นั่งนิ่งจ้องทีวีอยู่ตลอดเวลา บางคนถึงตอนที่สนใจก็จะวาดภาพง่าย ๆ เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ลืม

การดูวีดีโอแล้วจดบันทึกออกมาเป็นภาพ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กคิดและจดจำเป็นภาพซึ่งช่วยให้เด็กจำเนื้อหาได้เร็วและแม่นยำกว่าการจำเป็นคำ เมื่อต้องการนำเนื้อหากลับมาเล่าอีกรอบก็สามารถรื้อภาพจำในสมองมาใช้ได้เร็วกว่า ดังนั้นการสอนเด็กให้จำเป็นภาพนั้นจึงสามารถช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีในวิชาอื่น ๆ ได้ การเขียนเนื้อหาที่เด็กสนใจจากวีดีโอก็ช่วยให้เด็กจำเป็นภาพได้ดี

ในกระบวนการการบันทึกเนื้อหาด้วยภาพเราจะสังเกตเห็นวิธีการที่แตกต่างกัน เด็กบางคนที่มีระเบียบวินัยมากจะเขียนเรียงลำดับไปเรื่อย ๆ ตามการดำเนินเรื่องในสารคดี ส่วนเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเขียนสลับกันไปกันมา ไม่ต้องเรียงลำดับ(เท่าที่สังเกตจะพบว่าเด็กที่มีจินตนาการสามารถจดบันทึกเป็นภาพได้หลากหลายตอนมากกว่าเด็กที่มีระเบียบ ## แต่นี่ไม่ใช่ข้อสรุปนะครับ)

เด็กบางคนตอบสนองได้ดีต่อสิ่งเร้าที่เป็นคำพูดของครูหรือการเรียนการสอนปกติ แต่ไม่เก่งเมื่อต้องมาสรุปความคิดผ่านการดูสารคดี เนื่องจากมีเนื้อและน้ำปนอยู่ด้วยกันและแยกแยะไม่ออก(เหมือนกับว่ามีความรู้เต็มไปหมด) ซึ่งยากกว่าการสรุปผ่านการบอกเล่าของครูที่มักพูดสรุปเนื้อหาให้เสร็จสรรพ ดังนั้นการสอนด้วยการดูวีดีโอจึงสามารถช่วยให้เด็กแยะแยะและครัดกรองความรู้ได้และจำรายละเอียดปลีกย่อยได้ดี

(เด็กน่ารักพิเศษน้องเนย์ บันทึกปะปนกันไป แต่ก็ไม่ลืมกำกับด้วยตัวเลขกันลืม)

นอกจากเนื้อหาที่เป็นความรู้ ในสารคดีเราจะพบอารมณ์ของตัวละครในเรื่องด้วยเช่น ตอนที่มันหิว ตอนที่มันหลบหลีกศัตรู ตอนที่มันขย้ำสัตว์อื่น ตอนที่มดหนีน้ำ ตอนที่มันโดนไฟเผา ซึ่งอารมณ์ที่แสดงออกผ่านสื่อวีดีโอมีหลากหลายมากกว่าการเล่าของครูมาก ซึ่งบางที่ไม่ต้องมีการบรรยายแต่ทำให้เด็กซาบซึ้งไปในอารมณ์ง่ายกว่า การเรียนรู้อารมณ์นี่เองทำให้การแสดงออกในงานศิลปะมีชีวิตชีวาไม่แห้งและอุดมไปด้วยรูปทรงอย่างเดียวแต่เป็นรูปทรงที่ให้อารมณ์ความรู้สึก

วันนี้ครูออตสังเกตเห็นเด็ก ๆ ตั้งใจดูและตั้งใจบันทึกมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงปล่อยให้เด็ก ๆ ดูจนจบเรื่องมดทั้ง 4 ตอนซึ่งกินเวลาไปมาก ดังนั้นวันนี้เลยไม่จำเป็นต้องระบายสีน้ำหรือทำกิจกรรมศิลปะต่อ เพราะการบันทึกของเด็ก ๆ นั้นครูออตถือว่าเป็นผลงานศิลปะที่สุดยอดแล้วนั้นเอง ได้ทั้งความรู้ได้ทั้งทักษะทางศิลปะได้ทั้งสุนทรียศาสตร์ เห็นไหมว่าครูไม่ต้องเหนื่อยมากหากเลือกสื่อการสอนเป็นดังนั้นครูศิลปะที่ดีควรหาสื่อที่หลากหลาย งดการกระตุ้นที่จำเจซ้ำซากเพื่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่เด็ก

(นางพญามดของน้องพิม จะสังเกตเห็นเท้าของมันจะเป็นกลม ๆ เพราะว่ามันเหนียวหนืดยึดเกาะเก่ง)

ครูออตขอกลับไปดูสารคดีเรื่องมด ให้ละเอียดอีกรอบก่อน เผื่อเด็กโตต้องการกิจกรรมที่มากกว่าการบันทึกด้วยภาพ อาจจะอยากลงไปสนามเพื่อไปดูรังมด รูมด ไข่มด ด้วยก็ได้ ไปแล้วครับเจอกันบันทึกต่อไป

ตุลาคม 21, 2011

ประสบการณ์ 3จ กับเด็กน่ารักพิเศษ

เวลาไปไหนกับเพื่อนพ้องพี่น้องครูอาจารย์ที่เราสนิทสนม เมื่อเจอบุคคลที่สามเพื่อนพ้องพี่น้องเหล่านั้นจะแนะนำและชมครูออตว่าเป็นขวัญใจเด็ก(น่ารัก)พิเศษแบบนั้นแบบนี้ พอได้ฟังก็อดดีใจไม่ได้ที่เราสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจเด็กพิเศษเหล่านั้น เด็กที่ครูหลายคนขยาดไม่อยากสอน ได้ยินแบบนี้ก็ดีใจและมีพลังในการทำงานเพิ่มเป็นทวีคูณตามประสาคนบ้ายอ

(แคมป์ตุลาคม กับโปรแกรมละครสำหรับเด็กที่โรงเรียนพัฒนาเด็ก ขอบอกว่าศูนย์รวมเด็กน่ารักพิเศษ)

สำหรับเด็กพิเศษครูออตนึกถึงหนังสือเรื่อง There’s A Boy in the Girls’ Bathroom ซึ่งเขียนโดยหลุยส์ ซัคเกอร์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เวลาไปเจอครูคนอื่น ครูออตมักจะแนะนำให้ไปอ่าน อย่างน้อยอ่านเอาสนุกก็ได้เพราะเนื้อหามันสนุกและได้แง่คิดที่พิเศษ ในฐานะที่ครูทุกคนควรจะมีและเรียนรู้จากตัวละคร ครูออตอ่านจบได้ภายในสองวันซึ่งยืนยันได้ว่าสนุกจริง ๆ

There’s A Boy in the Girls’ Bathroom เป็นเรื่องของครูที่ปรึกษาคนใหม่แสวงหาวิธีการเปิดให้เข้าถึงหัวจิตหัวใจของเด็กที่ครูทุกคนในโรงเรียนเรียก “เด็กหลังห้อง”(เด็กที่ครูทุกคนไม่ชอบ เด็กที่เพื่อน ไม่คบ) ซึ่งครูคนนี้มองว่าเป็นเด็ก(น่ารัก)พิเศษ ซึ่งกลยุทธ์และกระบวนการของครูในการเอาชนะใจของเด็กคนนี้มันแสนสนุกและครูออตขอเชิญชวนทุกคนลองซื้อมาอ่านดู

วกเข้ามาถึงเด็กน่ารักพิเศษของครูออต จากประสบการณ์ที่ได้เจอได้สอนครูออตคิดว่าหากเข้าใจ 3จ อาจจะทำให้เราสนุกกับการสอนเด็กกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะการสอนศิลปะ ซึ่ง 3 ไม่ใช่ทฤษฎีแบบวิชาการแต่เป็นประสบการณ์ที่เจอเองและมานั่งประมวลแต่ไม่ได้สรุป

จ.จินตนาการ เรื่องนี้ปฏิเศษไม่ได้เพราะเด็กกลุ่มนี้มีจินตนาการอันบรรเจิดกว่าเด็กปกติมาก มากจนเขาไม่สามารถอยู่ในกรอบวิชาศิลปศึกษา ที่เขาใช้สอนกันในชั้นเรียนได้ เราจะพบเห็นรูปร่างรูปทรงเรื่องราวที่แสนพิเศษบ้างก็เป็นเรื่องประราว บ้างก็หลุดโลก ซึ่งจินตนาการมากนี่เองหากมือเขาไม่สามารถตอบสมองได้เด็กกลุ่มนี้จึงได้ทั้งมือ เท้า ร่างกายมาถ่ายทอดจินตนาการเหล่านั้น ด้วยจินตนาการที่มากหากกระดาษมันไม่เพียงพอเราจะพบว่าเขาอาจจะเขียนออกมานอกกระดาษ ลามไปถึงผนังห้อง บ้างก็ลามไปจึงแขนขาหน้าลำตัวของเขาเองหรือแม้แต่เพื่อนร่วมห้อง ดังนั้นจิตนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูสอนเด็กพิเศษควรเข้าใจว่าทำไมเขาจึงแสดงออกมาแบบนั้น

จ.จี๊ด เด็กพิเศษมักไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทั้ง ๆ ที่เขาอยากควบคุมตัวเองให้เหมือนนักแข่งรถ แต่เมื่อสมองมันสั่งแรงเร็วบางทีปุ่มควบคุมไม่สับสนงงงวยและไม่ตอบสนอง อยู่นอกเหนือจากการควบคุม ทำให้พลังงานของเขาเยอะกว่าปกติ ทั้งแรง เสียง ดังนั้นจึงเหมือนว่าเขาเล่นแรงกับเพื่อนจนเพื่อนเจ็บ บางทีระบายสีแรงจนสีกระจาย บางทีกรี้ดดดดเสียงดังมากหรือบางทีร้องไห้มากเหมือนใจจะขาด เหล่านี้ครูออตคิดว่าเพราะตัวเขาจี้ดดดดดดดดดดดดด จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากครูเข้าใจคงจะมีวิธีการช่วยเหลือเขาได้

จ.จิตใจ เด็กพิเศษหลายคนที่ครูออตเจอเหมือนว่าเขาอ่านใจเราออก มีทักษะพิเศษมากในการอ่านสายตาของครู อ่านกริยาท่าทสงของครูหรืออ่านความคิดของครูออก ดังนั้นหากเราคิดบวกกับเขาเขาจะสนิทสนมกับเราง่ายกว่า เราคิดที่จะจัดการเขา เรื่องนี้ครูออตมีประสบการณ์หลายคน หลายคนเราตั้งใจมากที่จะช่วยเขาวางแผนแบบนั้นแบบนี้แต่เหมือนการวางแผนในการจัดการกับเขาเหมือนเขารู้ไปหมด แต่การปล่อยสมองให้ว่างคิดบวกไว้ไม่คิดจัดการ ไม่คิดบังคับ ไม่คิดอยากได้อะไรจากเขาบรรยากาศการสอนเหมือนมันจะง่ายขึ้นมากเขาให้ความร่วมมือกับครูมากขึ้น ดังนั้นครูออตว่าเขามีทักษะพิเศษในการล่วงรู้จิตใจของคน หากเรารู้แบบนี้เราก็จะเปลี่ยนวิธีการสอนเด็กพิเศษเสียใหม่เพื่อให้เขาตอบสนองดีดีต่อการเรียนรู้ของเรา

(ฉันอยากมีตาเหมือนพญาครุฑ)

(นิ้วสำหรับทากาวไม่เพียงพอ ฉันขอเอาทั้งมือไปเลย)

3จ ที่ครูออตเอามาเล่านี้ไม่ใช่ข้อสรุปแต่เป็นเรื่องเล่าที่อยากจะเล่า เผื่อครูศิลปะ ครูสอนเด็กพิเศษอาจจะนำไปปรับใช้กับครูเอง และเอามาแลกกันนะครับอาจจะพบ จ อีกเยอะแยะเลยล่ะ

ตุลาคม 11, 2011

Thai Art

ไม่นานปีมานี้ผมรู้สึกประทับใจการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นไทย ความเป็นท้องถิ่น หลายครั้งที่ทีมรุ่งอรุณมาขอนแก่น ครูรุ่งอรุณก็จะพาเด็กไปดู คัดลอกและเรียนรู้จิตรกรรมฝาผนังอีสานโดยเฉพาะวัดไชยศรี บ้านสาวัตถี ตำบลสาวัตตี อำเภอเมือง การจัดการศึกษาแบบนี้ล่ะที่จะช่วยให้ศิลปวัฒนธรรมไทยและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะยังคงอยู่สืบไป

HUG SCHOOL แม้มีภาพลักษณ์ความเป็นศิลปะ(เด็ก)แบบสมัยใหม่ แต่ครูที่นี่ก็พยายามออกแบบการเรียนรู้ที่มีความเป็นไทยและความเป็นท้องถิ่นเข้าไปแทรกอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยเสมอ เพราะเราเชื่อว่าการประทับตราความเป็นไทย นิยมไทยนั้นต้องเริ่มจากตัวเล็ก ๆ เสียก่อน ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ครั่งแบรนด์เนมในอนาคตอันใกล้หรือที่ท่าน นพ.เกษม วัฒนชัย ท่านเรียกว่า “นิยมเทศ”

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ(ขอนแก่น) ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองและดีที่เขาเปิดวันหยุด  เพื่อให้คนที่ไม่ว่างในวันทำงานได้มีโอกาสมาชม แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ผลหากคนทำงานพิพิธภัณฑ์ของรัฐเหล่านี้ยังทำงานเฉพาะในพิพิธภัณฑ์กลายเป็นคนแก่เฝ้าของเก่าไป  แต่ข้าวของในพิพิธภัณฑ์นั้นน่าสนใจและมีคุณค่าในการศึกษาเป็นอย่างมาก และบ่อยครั้งครูออตก็พาเด็ก ๆ ไปเรียนกันที่นั้น

ครูออตอธิบายถึงมารยาทในการชมพิพิธภัณฑ์ให้แก่เด็ก ๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกันและไม่เกิดปัญหาในการชมพิพิธภัณฑ์ของคนอื่น เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจ เด็ก ๆ ก็เข้าไปดูข้าวของที่จัดแสดง ถามสิ่งที่ตนเองสนใจและลงมือวาดในข้าวของที่ตนเองอยากรู้  ครูแค่คอยอธิบายและตอบคำถามที่อยากรู้ของเด็กเท่านั้นก็พอ และนอกจากก็แค่คอยสังเกตเด็กอยากได้อะไรเพิ่มเติม ใครพบวัตถุที่สนใจแล้ว ใครยังเลือกไม่ได้ ใครพร้อมลงมือวาด

เมื่อสัปดาห์ก่อนไม่มีเวลาพานักเรียนไปพิพิธภัณฑ์ ครูออตก็อาศัย “ครูGOOGLE” ในการสอนเด็ก ๆ โดยเลือกศิลปะการเขียนลายในเครื่องถ้วยหรือที่เรารู้จักในชื่อ เบญจรงค์  โดยให้นักเรียนไปค้นหาเบญจรงค์ที่ตนเองชอบ ดูเครื่องถ้วยที่สนใจ  สังเกตลวดลาย  สังเกตสีที่เขียนลาย เสร็จแล้วก็นำมาคัดลอก 1 ชิ้นและสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ 1 ชิ้น

เมื่อเรียนแบบไทย ๆ ครูออตก็สร้างสรรค์บรรยากาศแบบไทย ๆ โดยเปิดเพลงไทย ๆ ไปด้วยแน่นอน “ลาวดวงเดือน” ของครูออตกับเบญจงค์ก็ดูเข้ากันได้ทีเดียว เพลงที่ช้า ๆ กับ ลวดลายที่อ่อนช้อย ทำให้เด็กทั้งห้องเงียบและสงบทันที ทำเอาครูออตเวลาจะเยื่องย้ายตัวเองไปไหนต้องเหินไปยังกะตัวละครในนาฎศิลป์ไทย การจัดบรรยากาศแบบนี้ก็ดูได้ผลไปอีกแบบ

การคัดลอกลวดลายตามแบบลวดลายเดิมของไทยนั้นทำให้เด็ก ๆ รู้จักเป็นคนช่างสังเกต และรู้จักการวางสัดส่วนของลายที่ช่างโบราณเขียน เพราะหากไม่รู้จักสัดส่วนลวดลายก็จะไม่ลงตัวพอดีในเครื่องถ้วยชาม ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ต้องสอนแต่ปล่อยให้เด็กลงมือทำเอง เมื่อเขาเขียนไปเรื่อยแต่ไม่ดูสัดส่วน ก็จะทำให้ลายเขียนมันแปลกๆไป และไม่ลงตัวกับขนาดของถ้วย นำมาซึ่งต้องทำใหม่ เหมือนกับคำสอนที่ว่า “ไม่รู้ชั่วก็ไม่รู้ดี ไม่รู้ผิดก็ไม่รู้ถูก”

และเมื่อเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาอวดผลงาน  และผลงานเสร็จก็แทบไม่น่าเชื่อว่าเด็กประถมศึกษาจะทำได้ดีขนาดนี้ อิอิ นี่เป็นหนึ่งในหัวใจไทยที่เราสอน

กันยายน 27, 2011

ฉันจะบิน บินไป ไกลแสนไกลไม่หวั่น

เลโอนาร์โด ดาวินชี ศิลปินเอกของโลกที่ได้รับการยอมรับว่าอัจฉริยะในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะการผสานความฉลาดทั้งสมองซีกซ้ายและซีกขวาของเขาให้สัมพันธ์กันนำมาซึ่งรากฐานของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นบนโลกใบใหญ่นี้

หนึ่งในรากฐานที่สำคัญที่ดาวิชีศึกษาคือ การบิน ซึ่งดาวินชีได้ศึกษาการบินของนกและนำมาใส่จินตนาการต่อเพื่อสร้างเครื่องมือที่จะช่วยให้มนุษยืบินบนฟ้าได้ และแน่นอนการริ่เริ่มของเขานำมาซึ่งเครื่องนร้่อน เครื่องบินในเวลาต่อมา ดังนั้นนกจึงกลายเป็นแรงบันดาลให้ศิลปินได้คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกใหม่ให้แก่มนุษยชาติ 

นกสำหรับครูออตเป็นสิ่งที่น่าอิจฉา เพราะมันสามารถบินได้อย่างเสรีบนอากาศ มองเห็นสิ่งต่าง ๆ จากมุมที่สูง ความสุขที่เห็นความอิสระทำให้เราอย่ากจะบินได้เหมือนนก ความคิดแบบนี้ไม่น่าจะแตกต่างจากเด็ก ที่เห็นนกแล้วคงอยากบินได้เหมือนนก

สัปดาห์นี้ครูออตจึงชวนเด็ก ๆ มาเป็นนกกัน  ครูออตชวนเด็๋ก ๆ ร้องเพลงนกน้อยถลาลม ”เจ้านกน้อยคอยบินสู่เวหา  แล่นถลาล่องลมเพลินฤดี  บิน บิน ถลา ถลา แล่นลม บินล่องบินลอย บิน ถลา ถลา แล่นลม   ” เมื่อเรื่องบินๆ อยู่ในหัวของเด็ก ๆ แล้วก็ไม่อยากที่จะชวนเขาสร้างสรรค์บิกนกของตัวเอง

เด็ก ๆ สัลบกันนอนและเขียนปีกแบบต่าง ๆ ให้เพื่อน การสลับกันทำงานจะช่วยให้เด็กยอมรับเพื่อนได้ง่ายขึ้นและร่วมมือในการทำงาน ซึ่งครูออตไม่ต้องลงแรงไปทำให้เลย เพียงนั่งดูอยู่ห่าง ๆ    เมื่อได้ปีกครบทุกคนแล้วก็ถึงเวลาที่ครูออตช่วยตัดปีกนก(ถ้าเด็กโตขึ้นมาหน่อยก็อาจจะให้ตัดเองได้ ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กได้ดี)

เด็กทุกคนได้ปีกของตนเองแล้วก็ถึงเวลาตกแต่งปีกของตนเองให้สวยงาม เสมือนหนึ่งเป็นปีกของเครื่องบินลำใหญ่หรือปีกนกที่สวยงามหลากสี  ครูออตแอบตัดกระดาษเล็ก ๆ(เป็นขนนก) เอาไว้เพื่อให้เด็ก ๆ ติดขนกระดาษลงบนปีกของตนเอง(เช่นกันหากเด็กโตก็อาจจะให้ตัดเอง)

 

ถึงเวลานี้ เด็ก ๆ ต่างลงมือตกแต่งปีกของตนเองอย่างสนุกสนาน ในขณะทำเด็กบางคนสังเกตว่าปีกของตนเองบางเกินไปอาจจะไม่แข็งแรง หลายคนให้ครูออตติดกระดาษเพิ่มเพื่อให้มันแข็งแรง(กรณีนี้แสดงว่าเด็กรู้จักคิดเชื่อมโยงจากปีกกระดาษสู่ปีกนกจริงที่แข็งแรง และความแข็งแรงจะทำให้บินได้ ,,ในความคิดเด็ก)

เมื่อได้ปีกที่สวยงาม ตามใจปรารถนาของเด็ก ๆ แล้วครูออตเสริมปีกให้แข็งแรงและร้อยเชือกเพื่อผูกปีกติดกับแขนของเด็ก ๆ เมื่อปีกพร้อม ร่างกายก็พร้อม เด็ก ๆ วิ่งรอที่สนามเด็กเล่นเพื่อนทดสอบปีกของตนเอง โดยสมมติว่าเป็นนกยักษ์ดังนั้นที่สนามเด็กเล่นเราจึงเห็นนกยักษืไร้เดียงสาบินกันให้ว่อน

 

“ครูออคคับ ทำไมผมบินไม่ขึ้น” อิอิ เจอคำถามแบบนี้จะตอบว่าจังได๋ดีน้อ ช่วยกันตอบนะครับ………………………

 

 

กันยายน 24, 2011

จัดการความไม่กล้าด้วยสีดำ

เด็กไทยสมัยนี้กล้าขึ้น กล้าพูด การคิด กล้าแสดงออก กล้าทำ กล้าคิดโดยเฉพาะในเรื่องดีดี ปรากฎการณ์แบบนี้ครูออตเห็นว่าเป็นเรื่องดี เรื่องที่น่าส่งเสริมเพราะจะกล้าเพียงอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องกล้าในสิ่งที่ดีสิ่งที่ถูกต้องด้วย จึงจะทำให้สังคมเราเดินทางไปสู่สังคมอุดมฮัก

แล้วเด็กที่ไม่กล้าล่ะ ควรทำอย่างไรดี?  เรื่องนี้เห็นทีนักการศึกษาต้องช่วยกันขบคิดว่าเราจะมีกระบวนการอย่างไรที่จะคอยกระตุ้นให้เรากล้าแสดงออกในความคิด ความรู้สึกของตนเอง ครูออตในฐานะที่อยู่กับศิลปะก็เห็นว่า ศิลปะน่าจะเป็นทางสายหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กกล้าแสดงออกมากขึ้น

เด็กที่ขาดกลัว ไม่ว่าจะกลัวสิ่งที่ตัวเองวาดออกมาจะถูกหรือผิด คิดกังวล คิดสับสนในความคิดของตนเอง มักแสดงออกผ่านเส้นที่ขาด ๆ กระท่อนกระแท่น  ไม่สม่ำเสมอหรือขีดกลับไปกลับมา พฤติกรรมแบบนี้พบเห็นได้ในชั่วโมงศิลปะ และนั้นเป็นเรื่องที่เราต้องเปลี่ยนแปลงให้เขามั่นใจในตัวเองมากขึ้น กล้าแสดงออกในสิ่งที่ตนเองเห็น ตนเองรู้สึก

ในห้องเรียนวันนี้มีพี่น้องมาเรียนด้วยกัน 2 ครอบครัว  คนพี่กล้าขีดกล้าเขียน แต่คนน้องจ้องมองพี่ตลอดเวลาว่าพี่จะเขียนอะไร ดังนั้นจึงเห็นสิ่งที่คนน้องเขียนนั้นถูกลบแล้วเขียน ลบแล้วเขียนอยู่ตลอดเวลา วันนี้ครูออตจึงเปลี่ยนการวาดรูปในวิชาศิลปะนี้ใหม่โดยเปลี่ยนจากการวาดรูปธรรมดาที่คุ้นเคยเป็นการวาดภาพหมึกแบบศิลปินจีน

การเขียนภาพหมึกจีนนั้น ศิลปินจะเฝ้ามองธรรมชาติอย่างเข้าใจ ช่างสังเกตและจับอารมณ์ความรู้สึกให้ได้ ดังนั้นการรับรู้ความรู้สึกผ่านสายตาจึงสำคัญเมื่อนำมารวมกับอารมณ์ ที่จะคอยกระตุ้นสมองให้สั่งการข้อมือในการวาดภาพจึงได้ภาพที่เฉียบคม ฉลับพลัน ทันที นิ่ง งดงามและเรียบง่าย  การวาดรูปแบบนี้ช่วยให้คนวาดมั่นใจในการวาดมากขึ้น การวาดในครั้งแรก ๆ อาจจะยากแต่เมื่อฝึกฝน ศิลปินก็จะมั่นใจในตัวเองขึ้น

ชั่วโมงศิลปะคราวนี้ครูออตก็ไม่ปล่อยให้ความไม่กล้าอยู่กับเด็ก ๆ นานไป จึงลวงเด็ก ๆ ให้ออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยมหันออกมามองสวนสวยข้าง ๆ ห้องเรียน ให้เด็กเฝ้ามองต้นไม้ ใบไม้ที่ตนเองพบ ทั้งที่อยู่บนต้น ใบที่ร่วงลงดิน และใบที่อยู่บนดิน และวาดภาพเหล่านั้นด้วยสีหมึก เมื่ออธิบายกิจกรรมแล้ว ช่วงเวลานี้จึงปล่อยให้เด็ก ๆ บรรเลงเพลงศิลปะเพียงลำพัง เพื่อให้เด็กมีสมาธิในการทำงาน(ขออนุญาตไปจิบกาแฟก่อนนะครับ)

 

ผ่านไปไม่กี่สิบนาที ครูออตกลับมาแอบดูนักเรียนแต่ละคนทำงาน  ซึ่งมองไปอีกฟากเห็นกระดาษที่ถูกวาดสีหมึกลงไป ตากเต็มพื้น และหากดูเรียงลำดับไปทีละชิ้นเราจะพบว่า เส้นของการวาดของเด็ก ๆ มั่นคงและสม่ำเสมอขึ้น และภาพวาดเหล่านั้นช่างเดียงสาไม่ต่างจากศิลปินพู่กันจีนเอาเสียเลย

 

เมื่อได้ผลงานเป็นที่พอใจและเยอะขนาดนี้ ครูออตจึงชวนเด็ก ๆ เอาผลงานของตนเองไปติดที่ผนัง เพื่อโชว์ผลงานให้ทุกคนได้ชม ได้รู้ว่าพวกเรากล้ามากขึ้น กล้าตัดสินใจ กล้าขีดเขียน แล้ววันหนึ่งความมั่นใจของเด็ก ๆ คงจะเพิ่มขึ้นเหมือนกิจกรรมการวาดสีหมึกในวันนี้

เจอกันกิจกรมครั้งต่อไป 

เมษายน 20, 2011

บุญนี้แด่ผู้พลาดหวัง

อดเสียใจเล็ก ๆ ที่ไม่ได้ไปไหว้ย่าโม ในเฮฮาศาสตร์ครั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ ไม่ว่าจะพยายามพลิกซ้าย ย้ายขวา แต่ฟ้าก็มัวมิด ปิดไปซะทุกทาง ทำให้เส้นวาสนาอักเสบโดยเฉพาะเรื่องและสถานที่ที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ซึ่งดูจากโปรแกรมแล้ว ต้องบอกว่าขอโอ้ยยยยยยยยยยยยยยยย ยาว ยาว

ท่านว่าอย่าเสียใจอะไรนาน จงมองไปข้างหน้า อิอิ  ในหัวก็คิดชดเชยสิ่งที่ตนเองพลาดหวังไม่ได้ไป คุณครูที่ฮักสคูลเองก็อดไปกันหมดด้วยเพราะหน้าที่ ดังนั้นจึงคิดการไกลกับผู้บริหารเพื่อออกโปรแกรมใหม่ “วิสาขบูชา” ชวนกันไปเฮฮาทำบุญที่สวนป่ากับโครงการ 4P1H วู้ชื่ออะไรเก๋ ๆ แต่สรุปรวมคือชวนคนไปทำบุญ

4P1H หมายถึง Pa Pai Pluk Pa by Hug หรือชื่อในภาษาไทยว่า  “ปะ  ไป  ปลูก ป่า” โดย ฮักสคูล งานนี้ถือฤกษ์ดีในวันหยุดวิสาขบูชา  17 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ซึ่งขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ยังไม่ได้แจ้งเจ้าของสถานที่ ที่จะไปปลูกเลย เพราะเป็นที่ทุกคนที่โรงเรียนอยากไปมากที่สุด  งานนี้จึงเขียนบันทึกผ่านไปยังสวนป่าด้วย (ครูบาฯ จะได้ยินไหมหนอ) อิอิ

เหตุผลที่เลือกสวนป่ามีหลายอย่าง

1.ใจสั่งมา  ครูที่ฮักสคูลหลายคนฟังเรื่องเล่าสวนป่าจากผม และอ่านจากบันทึกครูบาฯ ร่ำ ๆ ว่าอยากไปสักครั้ง แม้เพียงแค่ช่วงเวลานิดเดียวก็อยากไป ดังนั้นเมื่อใจอยากไป ผู้ประสานจึงเลือกสวนป่า มหาชีวาลัยอีสาน เพื่อให้ครูได้ไปเยี่ยมสวนป่าให้สมใจปรารถนา หลังจากที่ท่านจะว่านเสน่ห์ไว้ในคราวมินิเฮฮาศาสตร์ปะทะฮักที่ขอนแก่นเมื่อเดือนที่แล้ว

2.สมองต้องการอาหาร การไปปลูกป่า คนไปปลูกก็อยากได้ความรู้ด้วย ดังนั้นปลูกป่าคราวนี้จึงอยากได้อาหารสมองด้วย ดังนั้นคนที่จะพูดเรื่องป่าได้ดีต้องเป็นชาวสวนป่า ดังนั้นแน่นอนเลยต้องเลือกสวนป่า ด้วยประการฉะนี้ ซึ่งผมจะได้เตรียมประเด็นให้พ่อครูเปิดกระโหลกสักชั่วโมงก่อนปลูกป่า

3.ปลูกป่าทำบุญ  การทำบุญคราวนี้นอกจากทำบุญในวันพระใหญ่ซึ่งถือว่าได้บุญหลาย  ผมในฐานะคนประสานงานยังเชื่ออีกว่า การที่เราไปปลูกป่าที่สวนนอกจากเป็นการทำบุญทุนทานธรรมดาแล้ว ผมยังคิดว่ามันเป็นวิทยาทานอีกขั้นหนึ่ง เพราะสวนป่าเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้คนที่สนใจ ดังนั้นเราไปปลูกป่าคงเหมือนการไปทำสื่อการเรียนรู้ด้วย ดังนั้นจึงได้กุศลทวีคูณ

ใครจะไปปลูกบ้าง

ผมชวนเพื่อนครูที่ฮักสคูลไปปลูกป่าคราวนี้ ใช่จะกำจัดอยู่เฉพาะชาวฮัก ก็ชวนคนไปทั่วเพราะเป็นวันหยุดผู้คนน่าจะว่าง ใครเอารถไปก็สามารถรับคนที่ไม่มีรถได้ ดังนั้นใครใคร่ไป ใครใคร่ร่วมก็สามารถไปกันได้ รถก็แชร์ส่วนอาหารเที่ยงก็ช่วยกันออกให้ครัวสวนป่าช่วยเตรียมให้ แบบนี้น่าจะไม่รบกวนใคร งานนี้เป้าหมายคือ 20 คนไม่รู้จะได้มากน้อยเท่าไหร่แต่ที่แน่ ๆ “แม่ใหญ่จะไปสวนป่าด้วย”  ส่วนต้นไท้และพื้นที่ปลูกจะปรึกษาชาวสวนป่าอีกครั้ง

ทำบุญกันนะครับ

มีนาคม 12, 2011

กล้ามเนื้อมัดเล็ก ของเจ้าตัวเล็ก

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , , , — ออต @ 23:33

กล้ามเนื้อมัดเล็กแต่ไม่เล็กอย่างชื่อ ที่ครูออตจะเล่าต่อไปเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กที่อยู่บริเวณนิ้วมือและข้อมือ  แม้จะชื่อว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กแต่ความสำคัญไม่ได้เล็กเหมือนชื่อเลย เพราะหากเด็กตัวเล็ก ๆ มีกล้ามเนื้อมัดเล็กแข็งแรง มันจะนำไปสู่พัฒนาการในเรื่องอื่น ๆ ได้ดีทั้งการจับ หยิบ การขีดเขียน

งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่า สมองของเด็กพัฒนาจากการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก เพราะทักษะความคล่องตัวของกล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาภายในช่วงเวลา 10 ปีแรก ดังนั้นถ้าหากเด็กได้ฝึกฝนการใช้มือ การใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของมือจะทำให้สมองสร้างเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อและสร้างไขมันล้อมรอบเส้นในสมอง และเซลล์สมองที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กได้มาก ทำให้เกิดทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก  ดังนั้นกิจกรรมศิลปะจึงควรจะได้ส่งเสริมกล้ามเนื้อมัดเล็กเหล่านี้

สัปดาห์์นี้ครูออตออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนในห้องศิลปะโดยเน้นกล้ามเนื้อมัดเล็กเป็นสำคัญเพื่อตรวจสอบดูถึงคุณภาพของกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ เหล่านั้นและส่งเสริมให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นถูกใช้งานมากขึ้น กิจกรรมที่ว่าครูออตตั้งชื่อมันว่า หล่อ เก็บ กด

ดินเหนียวเป็นวัตถุดิบหลักในกิจกรรมศิลปะครั้งนี้ ซึ่งทุกโรงเรียนสามารถหาดินเหนียวได้ง่ายโดยไม่ต้องซื้อหา ดังนั้นมันจึงราคาถูกแสนถูกแต่เมื่อนำมาใช้กับกิจกรรมศิลปะเพื่อสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กมันจึงมีค่ามหาศาล นอกจากนั้นยังมีลวดสำหรับตัดดินเหนียว ผ้าเปียกๆสำหรับคลุมดิน ทั้งหมดนี้หาไม่ยากและถูกแสนถูก

นำดินทั้งหมดที่หามาได้ให้เด็ก ๆ นวดให้เนื้อดินเข้ากันให้ดี (แค่เริ่มกิจกรรมกล้ามเนื้อมัดเล็ดก็ถูกทำงานซะแล้ว) มีความนุ่มไม่แข็งกระด้าง หรือหากมีเศษหินเศษไม้ก็สามารถหยิบออกได้ การหยิบวัตถุชิ้นเล็ก ๆ ช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณนิ้วทำงานได้ดีขึ้นแข็งแรงขึ้น  เมื่อนวดได้ที่แล้วก็นำมาหล่อให้เป็นก้อนเนื้อเดียวกัน

เมื่อได้ดินก้อนใหญ่แล้ว ครูออตให้เด็ก ๆ เอาลวดตัดดินมาตัดดินเหนียวออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยใช้มือหนึ่งกดดินเหนียว มือหนึ่งควบคุมลวดตัดดินให้สามารถตัดดินเหนียวที่ติดกันเแน่นให้ขาดออกจากกัน ขึ้นตอนนี้เด็กอาจจะได้พัฒนาทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กควบคู่กันไปด้วย

เมื่อตัดดินหนียวออกมาได้ ก็นำมาตัดย่อยออกให้เล็กลงเท่าขนาดข้อมือของแต่ละคน โดยพยายามให้เด็กตัดให้เล็กเท่าที่จะทำได้

(ลูกชายกำลังตัดดินเหนียวออกมาจากก้อนมวลใหญ่)

(ลูกชายกำลังตัดดินออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ )

เมื่อได้ดินเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก็นำมาหล่อให้กลายเป็นเม็ดดินรูปแบบกลมโดยใช้การหล่อ 2 แบบคือมือประกบมือ และมือประกบพื้นเพื่อให้ดินเหนียวมีรูปทรงกลม การหล่อดินแบบนี้ทำให้เด็ก รู้จักการควบคุมข้อมือเพราะหากควบคุมไม่เป็นก้อนดินก็จะไม่กลม ขึ้นตอนนี้ใช้เวลานานพอสมควรเพื่อให้ได้จำนวนก้อนดินกลมจำนวนมาก  อาจจะนำมาใช้ฝึกสมาธิได้  แต่หากสังเกตเห็นว่าเด็กเมื่อยมือก็ให้พักก่อนหรือครูช่วยทำก็ได้

(ตักก้อนดินเล็ก ๆ แล้วค่อยหล่อเป็นก้อนกลม)

นำดินก้อนกลมมาเรียงกันไว้แล้วนำผ้าเปียกมาคลุมเอาไว้ไม่ใช้ผิวดินแห้งเกินไป  นำถ้วย ชาม จาน กระถางหรือแบบพิมพ์ที่ต้องการมาให้เด็ก ๆ เลือก แล้วให้เด็กนำดินก้อนกลมไปกดจนเต็มแม่พิมพ์เหล่านั้น โดยกดที่ละก้อน การกดไม่แน่นจะทำให้ก้อนดินไม่ติดกันเมื่อถอดพิมพ์ออก รูปทรงดินจะไม่แข็งแรงและหลุดออกจากกันได้ง่าย

(การกดโดยใช้ทั้งกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่  ลูกชายสองคนกับผลงานที่ทำร่วมสองชั่วโมงทั้งเหนื่อยทั้งสนุก)

นี่เป็นเพียงกิจกรรมง่าย ๆแต่นับว่าได้ประโยชน์มาก  ลองทำกันดูนะครับ

มีนาคม 11, 2011

ศิลปะที่ใช้หูฟัง

คงเคยได้ยินวาทกรรมที่ว่า “ศิลปะเข้าถึงยาก” สำหรับผมแล้วเห็นทีจะต้องขอคัดค้าน เพราะศิลปะนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นจึงไม่ยากเกินที่มนุษย์ด้วยกันจะเข้าถึงมันได้ ส่วนใครจะเข้าถึงได้มากน้อยนั้นย่อมแตกต่างกัน

สิ่งแวดล้อม ๆ ข้าง ๆ ล้วนเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินได้นำมาสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นที่ฮักสคูลจึงสร้างหลักสูตรที่ให้เด็ก ๆ ได้สัมผัสธรรมชาติและนำมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเด็กเอง ในการสร้างสรรค์เรามักนึกถึงแต่งานสองมิติ หรือสามมิติที่เห็นด้วยตา แต่ที่ฮักสคูลเรามีศิลปะที่สามารถดูได้  สัมผัสด้วยมือได้และยังสัมผัสด้วยหูได้อีก กิจกรรมนี้เราจึงเรียกมันว่า ศิลปะที่ใช้หูฟัง

ข้าง ๆ สนามเด็กเล่นที่โรงเรียน มีต้นหางนกยูงยืนตายอยู่ สังเกตดูมีฝักเต็มต้นส่วนใหญ่เราจะปล่อยให้มันแห้งตายและสลายไป หากเราสังเกตดีดีเราจะพบว่าฟักแก่ของหางนกยูงเมื่อเคาะจะพบว่ามันมีเสียง เพราะเมล็ดแห้งข้างในโดนเขย่ากับเปลือก เสียงที่ดังนั้นน่าสนใจมาก ผมว่าครูดนตรีอาจจะเอาไปใช้ประโยชน์ในการสอนได้ หรือ เอาไปทำเครื่องดนตรีได้ คล้าย ๆ แทมมารีนที่เราเขย่ากัน

วันนี้ผมจึงออกแบบการสอนศิลปะที่มีทั้งเสียงและภาพในผลงานของเด็ก ๆ โดยใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ คือฟักแก่ของหางนกยูงและสีอะครายลิก โดยให้เด็ก ๆ เขย่าหางนกยูงแล้วฟังเสียงว่ามันเป็นเสียงอะไร หลังจากนั้นให้เด็ก ๆ คิดลวดลายแทนเสียงต่าง ๆ เหล่านั้น ซึ่งงานนี้ปล่อยตามอิสระ ใครใคร่คิดอย่างไรก็ตามใจเขาเถิด ไม่ว่าเสียงคลื่นกระทบฝัง  เสียงปีศาจ เสียงฝนตกฯลฯ

ในกลุ่มเด็กเล็กจะค่อนข้างมีปัญหากับการใช้สีคะครายลิก ดังนั้นเราจึงให้ลองเขียนลวดลายบนกระดาษก่อน แล้วค่อยให้ลองลงสีจริง แต่เชื่อเถอะผลงานออกแบบกับผลงานจริงไม่เหมือนกันหรอก เพราะความสนุกมันต่างกัน  การระบายสีทับไปทับมาของเด็ก ๆ บนฟักหางนกยูงจึงสนุกสนานมากกว่ากระดาษ จินตนาการและสมาธิจึงบรรเจิดกว่า สนุกกว่า

 

(อุปกรณ์ในการสรางสรรค์  ฟักหางนกยูงแก่และแห้งแล้ว - สีอะครายลิก)

 

(เด็กเล็กเขียนบนกระดาษก่อน อาจจะใช้สีเมจิกที่เขียนง่าย / ศิลปินน้อยกำลังลงมือระบายสีเครื่องดนตรี)

เมื่อแห้งแล้ว เราสามารถเอาไปเคาะทำเสียงดนตรีได้ ซึ่งกิจกรรมต่อไปคงต้องโยนให้ครูดนตรีเอาไปใช้ต่อให้เกิดความเชื่อมโยงของกิจกรรมเพราะดนตรีจากธรรมชาตินั้นช่างไพเราะเสียจริง ไม่แพ้เครื่องดนตรีที่คนเราสร้างขึ้นเลย  จากกิจกรรมนี้ผมคิดว่าเราสามารถใช้วัสดุจากธรรมชาติอื่น ๆ เอามาสร้างงานศิลปะที่ใช้หูฟังได้เยอะแยะเลยครับ

(ผลงานเครื่องดนตรีของเด็ก ๆ สีก็งาม เสียงก็ไพเราะ เคาะกันหลาย ๆคนคงสนุกน่าดูชูใจ ใครสนใจลองเอาไปทำได้ครับ)

กันยายน 17, 2010

Motivation : Children Art

ชื่อศิลป พีระศรี น่าจะเป็นที่รู้จักของไทยไม่น้อย โดยเฉพาะผู้คนในแวดวงศิลปะ เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานศิลปะร่วมสมัยของไทยโดยเฉพาะการผลักดันให้มีการเปิดการเรียนการสอนด้านศิลปะร่วมสมัยในระดับอุดมศึกษาของไทยโดยเฉพาะการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยด้านศิลปะแห่งแรกของไทยที่มีการจัดการศึกษาศิลปะร่วมสมัยในแบบตะวันตก

แนวคิดการจัดการเรียนการสอนศิลปะได้กระจายออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านลูกศิษย์ลูกหาของ ศ.ศิลป พีระศรี ในภาคอีสานแม้จะดูห่างไกลจากแวดวงศิลปะร่วมสมัยแต่ศิลปะก็ได้งอกเงยขึ้นที่นี่ โดยเฉพาะที่สาขาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาวิชาที่เกิดการจัดการเรียนการสอนศิลปะในระดับปริญญาตรีแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันอังคารที่ผ่านมาผมได้ไปร่วมงานวันศิลป พีระศรีของสาขาศิลปศึกษาอย่างน้อยก็เพื่อไปใ้ห้กำลังใจนักเรียนศิลปะของผมที่ได้รับรางวัลในการประกวดศิลปะเด็กในกิจกรรมวันนี้ ซึ่งบรรยากาศของงานนั้นเป็นไปด้วยความเดียงสาแต่ทว่างดงามด้วยผลงานศิลปะของเด็ก ๆ ที่สดใส มีจินตนาการชวนให้เราคิดถึงวันเวลาที่อยู่ในห้วงวัยเด็กของตนเอง

ในส่วนตัวนั้นไม่ได้มีอคติสำหรับการประกวดศิลปะแต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายของการสอนศิลปะสำหรับผม ดังนั้นการจะหอบหิ้วและเคี่ยวเข็นนักเรียนศิลปะไปประกวดศิลปะเพื่อจะให้ได้รับรางวัลเห็นที่จะไม่ใช่การสอนของผม เพราะศิลปะสำหรับผมเป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยแรงกดดันภายในจิตใจของเด็ก เป็นเครื่องมือที่จะถ่ายทอดจินตนาการในเด็ก เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประสาทสัมผัสของเด็กและที่สำคัญเป็นเครื่องมือในการสร้างสมาธิเชิงสร้างสรรค์แก่เด็ก ไม่ใช่เครื่องมือในการกดดันเด็ก

แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าควรนำมาคุยในบันทึกนี้เห็นจะเป็นวิธีการตั้งรางวัลสำหรับการประกวดศิลปะเด็ก เรื่องรางวัลนั้นเห็นจะเป็นแค่เครื่องมือในการจูงใจสำหรับเด็กเท่านั้น แม้รางวัลจะมูลค่าไม่กี่บาทแต่สำหรับเด็กมันเป็นมูลค่าสูงโดยเฉพาะในความทรงจำของเขา ดังนั้นผู้จัดการประกวดศิลปะควรเข้าใจเครื่องมือนี้ให้ดี เพราะมิฉะนั้นรางวัลอาจจะกลายเป็นตัวทำลายศิลปะก็ได้

ในการให้รางวัลสำหรับเวทีใหญ่ ๆ อย่างการประกวดศิลปะเด็กและเยาวชนแห่งชาตินั้น ผมว่าต้องมาดูงานของการประกวดศิลปะเ็ด็กของสาขาศิลปศึกษานี้เป็นตัวอย่างเพราะวิธีการตั้งรางวัลแบบศิลปะและเยาวชนแห่งชาตินั้นดูล้าสมัยและเดินลงคลองไป เพราะการตั้งรางวัลแบบสุดยอดหนึ่งเดียวนั้นเป็นการตั้งรางวัลแบบสุดยอดศิลปะ มากกว่า การตั้งรางวัลเพื่อส่งเสริมศิลปะในใจเด็ก ไปดูวิธีการให้รางวัลของเวทีระดับชาติดูครับ

- รางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ๑ รางวัล เงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท
- รางวัลศิลปกรรมเหรียญเงิน ๒ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๘,๐๐๐ บาท
- รางวัลศิลปกรรมเหรียญทองแดง ๗ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๕,๐๐๐ บาท
- รางวัลชมเชย ๓ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๒,๕๐๐ บาท

การตั้งรางวัลแบบนี้ ทำให้การแข่งขันมีความเข้มข้นสูง การส่งงานผลงานไปประกวดทำให้ครู ผู้ปกครองหลายสำนักเคี่ยวเข็ญเพื่อให้ได้รับรางวัลที่สูงสุด ซึ่งมีเพียงรางวัลเดียว และด้วยการวาดภาพจากบ้านแล้วส่งไปยิ่งทำให้ศิลปะเด็กที่ได้รับรางวัลอาจจะไม่เดียยงสาอย่างที่เด็กแสดงออกเพราะมีการเคี่ยวเข็นจากครู ผู้ปกครอง วิธีการนี้สำหรับผมช่างล้าสมัยเอาเสียจริง  ๆ

แต่การตั้งรางวัลแบบศิลปศึกษานั้นไม่ได้เน้นการตั้งรางวัลแบบ พีระมิด  แต่เป็นการตั้งรางวัลแบบฐานกว้าง ยอดกว้างหมายถึงยอดไม่ต้องแหลมนักแต่ให้รางวัลจำนวนมาก โดยนัยยะหมายถึงการมีจำนวนรางวัลมาก ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กมีแรงใจในการทำงานศิลปะ ครูผู้ส่งผลงานก็เกิดแรงจูงใจ เนื่องจากมีจำนวนรางวัลมากกว่า

(คุณแม่-น้องสเก็ตและผอ.นุช เจ้าของโรงเรียนฮัก ขอนแก่น)

ผมคุยกับน้องสเก็ต นักเรียนของผมว่ารู้สึกอย่างไรกับการได้รับรางวัลชมเชย สเก็ตบอกดีใจและดูในทีผมไม่เห็นว่าสเก็ตรู้สึกน้อยใจที่ตนเองได้รับรางวัลชมเชยแทนที่จะเป็นรางวัลยอดเยี่ยม  ทั้งนี้เพราะเด็กไม่ได้มุ่งที่รางวัลสุดยอด แต่มุ่งที่ได้”รางวัล” แม้จะเป็นรางวัลน้อย ๆ แต่ก็ดีใจไม่ต่างจากรางวัลใหญ่

ดังนั้นผมเห็นว่าการตั้งรางวัลมาก ๆ จะช่วยให้เด็ก ๆ มีแรงบันดาลใจการทำงานศิลปะ เมื่อได้รับรางวัลเด็กก็มีแรงขับในการทำงานศิลปะ รักในการทำงานศิลปะของตนเอง องค์กรไหนที่อยากจัดก็น่าจะเอาแบบอย่างจากที่นี่ดูบ้างนะครับ อย่าเพิ่งสอนเด็กให้เหนือคนอื่นเลย เพราะเดี๋ยวจะมองไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น

สิงหาคม 16, 2010

คำชม: กรงขังแห่งจินตนาการเด็ก

พ่อแม่หลายคนเมื่อลูกหอบหิ้วผลงานศิลปะกลับมาจากโรงเรียนเมื่อดูผลงานแล้วก็ชมลูกเสียเป็นสายน้ำ  เพราะหลังกระดาษวาดรูปที่เจ้าตัวน้อยถือกลับมาบ้านมีจารึกด้วยผลการประเมินจากครูศิลปะว่า A หรือไม่ก็ 10/10 ซึ่งคำชมเชยแทนที่จะช่วยเสริมความมั่นใจของเด็กแต่สำหรับเด็กบางคนมันช่างกดดันและสร้างกำแพงแห่งจินตนาการเอาไว้เสียจริง ๆ

น้องฟ้า เจ้าตัวน้อยวัยหกขวบ วัยซึ่งในสมองคือโลกของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ วัยที่จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้เิกิดขึ้นบนผืนกระดาษได้  หลายสัปดาห์ผ่านไปครูออตสังเกตเห็นว่าน้องฟ้าไม่วาดสิ่งได้เลยนอกเสียจากกระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้ ทั้ง ๆ ที่เด็กคนอื่นเปลี่ยนสิ่งที่วาดตามกิจกรรมในแต่ละครั้ง

ทำไมน่ะหรือ นั้นก็เพราะว่า กระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้ที่น้องฟ้าเหล่านี้มักได้รับคำชมจากครูและพ่อแม่เสมอว่ามันคืองานศิลปะที่ดีมาก เมื่อใครมาเยี่ยมที่บ้านแม่ก็มักชมน้องฟ้าต่อหน้าคนอื่่นว่าวาดกระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้สวยจนได้คะแนนเต็มในวิชาศิลปะ คำชมเหล่านั้นในบางครั้งมันคือกำแพงแห่งจินตนาการสำหรับสมองแ่ห่งความคิดสร้างสรรค์

แล้วคำชมแบบไหนจึงจะเหมาะกับการชมในกิจกรรมทางศิลปะ  ในห้องเรียนครูออตมักจะหลีกเลี่ยงว่าเด็กวาดรูปต้นไม้สวย  วาดรถสวย วาดคนสวย  วาดก้อนเมฆสวย  เพราะคนชมเหล่านี้เมื่อชมไปเรื่อย ๆ เด็กจะเกิดอาการยึดติดเพราะครูบอกว่าสวย ดังนั้นสิ่งที่ครูออตจะชมก็คือความขยันของเด็ก ๆ ในการวาด

ว้าวต้นไม้นี้โตเร็วจัง  มันเริ่มออกลูกแล้วใช่ไหม ในความหมาย ก็เพื่อจะบอกเด็กว่าเขาได้พยายามวาดสิ่งอื่นเพิ่มเติมนอกจากต้นไม้ เพราะเขาได้บรรจงวาดผลไม้สีแดงเต็มต้น บางคนอาจจะเริ่มใส่รังนกบนต้นไม้ แทนที่จะเป็นต้นไม้เดียว ๆ เหมือนกับสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

อู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ  รถไฟของหนูช่างขนของได้เยอะเสียจริง ๆ ดูโบกี้นี้ขนคน  โบกี้นี้ขนตู้ปลา โบกี้นี้ขนม้า  ครูออตอยากรู้จังว่าโบกี้ต่อไปจะขนอะไรน้า ในความหมาย ก็เพื่อจะบอกเด็กว่าเขามีความอดทนที่จะวาดสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมจากสิ่งที่เขาวาดมาแล้ว เพื่อส่งเสริมให้เขาคิดหลากหลายมากขึ้น การมีความคิดที่หลากหลายจะทำให้เขามีตัวเลือกในการตัดสินใจได้มากมาย ไม่ได้ยึดติดอยู่กับเส้นทางเดิม

นี่เป็นตัวอย่างคำชมที่ครูออตใช้ในห้องเรียนศิลปะ เพราะการชมที่เหมาะสมน่าจะช่วยเสริมสร้างโลกแห่งจินตนาการสำหรับเด็ก ๆ ซึ่งสวนทางกับคำชมพร่ำเพื่อที่จะกลายเป็นตัวทำลายจินตนาการของเด็ก

บันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress