ลานบ้านชลบถพิบูลย์

มิถุนายน 6, 2010

พลังงานสร้างสรรค์

เด็กพิเศษของครูออตส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนมีพลังงานเยอะ สวนทางกับสมาธิในการทำงานที่น้อยกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเสมือนหน่วยก่อกวน ซึ่งมักทำให้บรรยากาศที่แสนสงบเงียบในห้องเรียนต้องอึกทึกครึกโครม

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กพิเศษมักไม่ได้รับการจัดกลุ่มให้เรียนกับเด็กปกติโดยเฉพาะกระบวนการเรียนนอกโรงเรียนที่ผู้ปกครองยอมเสียเงินที่เมื่อรวมกันหลายเดือนมักสูงกว่าค่าเทอมเสมอ ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้สถานที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน(โรงเรียนสอนพิเศษ)จึงมักปฏิเสธให้เด็กพิเศษเข้าเรียนกับเพื่อน ๆ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าให้พึงพอใจในห้องเรียน

คำแนะนำของครูสอนพิเศษจึงมักแนะนำให้นำเด็กไปฝึกสมาธิก่อน หมายถึงควรเอาลูกไปรักษาภาวะสมาธิน้อยกว่าเด็กปกติก่อนแล้วจึงส่งมาเรียน และความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก็มักเชื่อมั่นว่า ศิลปะคือกระบวนการที่จะช่วยให้ลูกของตนเองมีสมาธิมากขึ้น

ในระยะหลังที่ HUG SCHOOL จึงมักมีผู้ปกครองนำเด็กพิเศษมาให้ครูออตเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งเด็กพิเศษที่ว่ามีหลากหลายแนว แนวหนึ่งที่มักเจอกันบ่อย ๆ คือ เด็กพิเศษที่มีพลังงานเยอะ เขาจะวิ่งเล่น กระโตนและให้พลังงานของร่างกายมากกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นจึงมักเล่นกันแรง ๆ และกระโจนวิ่งกันให้วุ่น ข้างของภายในห้องกระจุยกระจาย ปรากฎการเช่นนี้มักนำมาซึ่งการไม่ประสบความเร็จในการให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะ เพราะครูหลายคนมักหมดความอดทนและเหนื่อยกับการใล่จับปูใส่กระด้ง

สิ่งที่ครูหลายคนทำคือ หยุดวิ่ง! อย่าเล่นกัน! นั่งลงแล้วทำงานซะ! การกระทำเช่นนี้เป็นเสมือนการสร้างตนเป็นศัตรูแก่เขา เพราะคำพูดเหล่านั้นไม่ได้ช่วยทำให้เขาหยุดลงเลย หรือหากเขาหยุดปฏิกิริยาการไม่อยากมาเรียนศิลปะก็จะเกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่พอสมควรกับครูศิลปะ

สิ่งหนึ่งที่ครูออตใช้และค่อยข้างได้ผลกับเด็กพิเศษของครูออตคือ การพยายามช่วงชิงสมาธิที่เขามีให้จดจ่ออยู่กับงานศิลปะและฟังเขาอธิบายงานศิลปะของเขาอย่างตั้งใจ เพราะทุกเรื่องที่เราเล่าแสดงว่าเขามีความต้องการบางอย่างที่อยากจะบอกเรา หากเราจับประเด็นที่เขาสนใจได้เราก็จะมีเรื่องคุยกับเขาต่อไป เมื่อเข้าสู่ห้วงเวลาสมาธิของเขาหมดลงและก้าวเข้าสู่ห้วงแห่งการใช้พลัง ช่วงนี้ครูออตจะรีบชิงตัวเด็ก ๆ ออกจากห้องเรียนให้เร็วที่สุด เป้าหมายคือสนามเด็กเล่นและพื้นที่โล่ง ๆ เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานได้

(น้องบัคกับการสำแดงพลังหลังหมดสมาธิแล้ว ภาพด้านข้างเป็นผลงานหลังจากที่หมดสมาธิไปแล้ว)

สิ่งที่ครูออตสังเกตเห็นคือไม่ว่าเราจะเหนี่ยงรั้งเขาให้อยู่กับผลงานศิลปะสักเท่าไหร่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะนัก หลายคนมักขีดขูดผลงานที่วาดเอาไว้สวย ๆในตอนแรกให้เละไม่เป็นรูป บางคนเอาสีราดผลงานให้มืดสนิทหรือไม่ก็วิ่งเล่นกันในห้องปาสี ปาพู่กัน ทำให้เกิดบรรยากาศที่วุ่นวายยากที่จะควบคุม และเมื่อให้เด็กออกไปปลดปล่อยพลังงานซึ่งใช้เวลาช่วงหนึ่ง หลังพลังงานหมดเด็ก ๆ จะกลับมาห้องเรียนศิลปะเช่นเดิมและครูออตมักเห็นว่าสมาธิเขาจะกลับมาเช่นเดิมแม้จะไม่มากเท่าในช่วงแรกแต่ก็ช่วยให้เด็กต่อเติมจินตนาการของตนเองจนสำเร็จลงได้

ครูศิลปะท่านไหนมีเด็ก(น่ารัก)พิเศษในห้องเช่นนี้ลองเอาไปใช้และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ของท่านว่ามีผลเป็นอย่างไร วิธีนี้อาจจะเสียเวลาในการวาดรูปไปบ้างแต่เพื่อแลกกับสมาธิที่เพิ่มมาอีกนิด ครูออตว่าน่าจะคุ้มนะครับ

มิถุนายน 1, 2010

Green Art

กระแส “โลกร้อน” กำลังมาแรง การช่วงชิงและเกาะกระแสเพื่อนำมาเป็นเครื่องมือในการสอนศิลปะจึงถือว่าเป็นโอกาสที่ครูจะได้ทดลองกับเด็ก ๆ ที่น่ารัก

เพราะการสร้า้งโลกสีเขียวหากเรา “สร้างในหัวใจของเด็ก ๆ”  ตั้งแต่วันนี้เราจะได้โลกสีเขียวที่งดงามและออกดอกสีชมพูให้เราได้ชื่นชมไปอีกนานเท่านาน

เช้าวันนี้ครูออตพาเด็ก ๆ เดินไปที่สวนข้างห้องเรียนในบรรยากาศที่แดดร้อนและอากาศแทบจะหายใจเข้าเป็นไอร้อน ซึ่งสวนข้างห้องเรียนเป็นทั้งสนามเด็กเล่นของเด็ก ๆ แต่วันนี้อากาศร้อนจริง ๆ จนเด็ก ๆ ไม่อยากออกมาเล่นสนาม แม้ชีวิตเด็กกับสนามเด็กเล่นดูแยกกันไม่ออก แต่วันนี้โลกร้อนก็ส่งผลต่อ “วิถีการเล่นของเด็ก ๆ” เช่นกัน

ครูออตชี้ชวนให้เด็ก ๆ สัมผัสกับอากาศอันแสนร้อนและชี้ชวนให้เด็ก ๆ สัมผัสความเย็นของอากาศเมื่อเรามายืนใต้ร่มมะขามที่สนามเด็กเล่น ซึ่งเด็ก ๆ ประจักษ์กันถ้วนหน้าว่าต้นไม้ช่วยลดความร้อนให้เด็ก ๆ ได้ ดังนั้นครูออตจึงชวนเด็ก ๆ เก็บเมล็ดพันธุ์พืชที่หล่นอยู่รอบ ๆ สนามนั้น เมื่อได้เมล็ดพันธุ์พอประมาณเราจึงย้ายกลับเข้าไปทำงานกันที่ห้อง

วันนี้ครูออตชวนเด็ก ๆ วาดสวนของตนเอง และปลูกเมล็ดพันธุ์ที่เด็ก ๆ เก็บมาจากสนาม นำมาปลูกลงบนกระดาษ(ที่วันนี้ืคือสวนของเด็กๆ) โดยใช้กาวติดเมล็ดพันธุ์ลงไป ในขณะเดียวกันก็หาวัสดุอื่น ๆ มาเสริมเพื่อให้เด็ก ๆ สมมติมันเป็นเมล็ดพันธุ์พืชอื่น ๆ ตามแต่จินตนาการของเด็ก ๆ เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจกิจกรรมแล้วต่างลงมือกันอย่างสนุกสนาน

เมล็ดพันธุ์ต้นไม้ที่เราเจอที่สวนข้างห้องเรียน วันนี้กลายมาเป้นอุปกรณ์ศิลปะที่แสนจะประหยัดเงินซื้อ

สีน้ำถูกนำมาใช้เพื่อสร้างสีสันในสวนของเด็ก ๆ

สวนของเด็ก ๆ ที่ลงมือประติดเมล็ดพันธุ์ลงไปในสวนเรียบร้อยแล้ว

เสร็จแล้วก็ลงสีตามใจปรารถนา ใครใคร่จินตนาการให้สวนของตนเองมีสีอะไรก็ตามใจไม่บังคับ

เด็ก ๆ กับผลงานที่ภาคภูมิใจ อย่างน้อยเขาก็ปลูกต้นไม้เพื่อโลกของเขาในอนาคต แม้จะเป็นต้นไม้ในหัวใจแต่ก็นับว่ามีคุณค่าเกินกว่าจะมองข้ามได้

พฤษภาคม 26, 2010

น้องเคี้ยง : เด็กชายผู้หลงความแรง

นักเรียนในห้องศิลปะเด็กคนหนึ่งที่อยากพูดถึงในแง่มุมเล็ก ๆ ที่ครูออตมีต่อเขา หนึ่งในเด็กกลุ่มนั้นสมมติชื่อว่า น้องเคี้ยง น้องเคี้ยงเป็นเด็กผู้ชายอายุ4 ขวบ  ที่เมื่อเข้ามาลองเรียนจะพบว่าเคี้ยงเป็นเด็กที่สอนง่ายมาก ครูออตถามว่าชอบอะไรสิ่งแรกที่เคี้ยงชอบคือ ปลา ดังนั้นตอนที่ลองมาเรียนในสิบห้้านาทีแรกน้องเคี้ยงวาดปลาให้ครูออตดู

ขณะทดลองเรียน ครูออตสังเกตได้ถึงข้อที่ควรนำไปคิดต่อดังนี้

1.กล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อมือของน้องเคี้ยงไม่ค่อยแข็งแรง การจับดินสอและการกดปลายดินสอลงกระดาษทำได้ไม่มั่นคงนัก เป็นเพียงการลากเบา ๆ ให้เกิดรูปร่างเท่านั้น ดังนั้นรูปร่างที่ปรากฎในชั่วโมงแรกจึงเป็นปลาที่ตัวบิดงอ

2.เด็กเรียบร้อย น้องเคี้ยงสอนง่ายมาก เรียบร้อยและถามครูทุกอย่างว่าวาดอย่างนี้ใช่ใหม ทำแบบนี้ถูกหรือไม่ ถึงแม้จะควบคุมกล้ามเนื้อมมือไม่ได้แต่ก็พยายามทำ จนกลุ่มปลาสี่ห้าตัวของเคี้ยงสำเร็จลงได้

3.สมาธิ คุณแม่วัยรุ่นซึ่งอายุไม่ต่างจากครูออตมาก เข้ามาพูดคุยว่าเป็นอย่างไร ครูออตเล่าถึงปรากฎการณ์ของน้องเคี้ยงให้คุณแม่ฟังอย่างที่ได้เขียนไปแล้วในสองข้อข้างบนนี้  คุณแม่เล่าถึงรู้สึกกังวล ต่อสมาธิของลูกชายจึงอยากให้มาเรียนศิลปะ เรื่องนี้นับเป็นเรื่องที่ดีที่คุณแม่นึกถึงศิลปะว่าจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสมาธิของน้องได้

เมื่อเคี้ยงเข้ามาเรียนในคอร์สแรก ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นเรื่องทัศนคติที่ดีของการเรียนศิลปะ ส่วนผลงานของเด็กนั้นไม่ได้เน้นนักเพราะต้องการให้เด็กมีอิสระที่จะคิด เล่าเรื่อง ระบายความรู้สึกของตนเองผ่านเส้น สีและเทคนิคอื่น ๆทางศิลปะ เมื่อเรียนไปสักสองครั้งก็พบว่าน้องเคี้ยงมองหาคุณแม่ตลอดเวลาและในชั่วโมงที่สองเมื่อคุณแม่ไม่อยู่ที่หน้า้ห้องก็พบว่าน้องร้องไห้เสียงดัง  ครูออตแนะนำให้ “คุณแม่บอกลูกชายก่อนเข้าห้องเรียนว่าคุณแม่จะออกไปทำอะไร และจะกลับมารับเมื่อเรียนเสร็จ” เพื่อไม่ให้เคี้ยงกังวล

เมื่อน้องเคี้ยงรู้สึกสนุกกับศิลปะและรู้สึกติดใจการสอนของครูออตแล้วหลังผ่านไปสามสี่ครั้ง ข้อสังเกตของครูออตที่เล่าไปแล้วใน “ข้อ 2″ ก็ผิดไปถนัด ความรู้สึกเบื้องลึกของเคี้ยงก็ฉายแววออกมาหลังเชื่อมั่นว่าตนเองปลอดภัยและมีอิสระในห้องเรียนศิลปะ เช่น ปฏิสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีต่อเพื่อน ๆ ในห้องเรียน  ปลาที่ชอบในตอนแรกไม่ใช่ปลาที่แหวกว่ายในน้ำหากแต่เป็นการตกปลาพร้อม ๆ กับการยึดติดอยู่กับการวาดรถถังที่บรรจุลูกปืนมากมาย

การออกแบบการสอน สำหรับน้องเคี้ยงในช่วงแรกนอกจากทัศนคติที่รักศิลปะแล้ว เรื่องสมาธิเป็นเรื่องที่ครูออตเน้น จากความกังวลของผู้ปกครอง ดังนั้นครูออตจึงต้องทำหน้าที่กระตุ้นถี่ขึ้นสำหรับน้องเคี้ยงและปล่อยให้พักผ่อนเป็นระยะ  แล้วจึงกลับมากระตุ้นอีกครั้ง และวิธีการนี้ก็พบว่าได้ผลที่เดียว น้องเคี้ยงสามารถวาดภาพต่อเนื่องได้มากกว่า 25 นาทีต่อครั้ง ซึ่งในระยะเวลาสองชั้้วโมงในห้องเรียนศิลปะพบว่าเมื่อจบในคอร์สแรกน้องเคี้ยงมีสมาธิดีขึ้นและจดจ่อกับงานมากขึ้น

ครูออตแนะนำคุณแม่ให้สมัครคอร์สสองให้น้องเคี้ยงเพื่อครูออตจะได้ปรับพฤติกรรมบางอย่างให้น้องเคี้ยง พฤติกรรมที่ว่าคือ “ความพยายามใ้ห้น้องการแสดงในเชิงบวก” อย่างที่ครูออตเล่าไปแล้วเคี้ยงแสดงออกในภาพเป็นภาพที่รุนแรงเสียเป็นส่วนใหญ่และจะไม่ยอมวาดในภาพอื่น ๆ ดังนั้นวิธีการที่ครูออตใช้จึงเป็นความพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนแปลง

ความพยายามค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นการลดการต่อต้านจากเด็ก ครูออตใช้วิธีค่อย ๆสอดแทรกทัศนคติเชิงบวกเข้าไปที่ละน้อย จากภาพรุนแรงในระยะที่แรก มาเป็นรุนแรงแฝงสันติโดยลดความรุ่นแรงผลักดันสินติและเปรี่ยมสันติในที่สุด วิธีการแบบนี้ถือว่าได้ผลสำหรับน้องเคี้ยงเพราะน้องเริ่มยอมรับหัวข้ออื่น ๆในการวาดแล้วและสีแดง น้ำเงินที่เคยใช้ก็มีสีเขียวเข้ามาแทรกอยู่

นี่เป็นผลงานของน้องเคี้ยงในคอร์สสุดท้ายที่ครูออตสอน ซึ่งหากคุณแม่เห็นพัฒนาการที่ดีเช่นนี้แล้วให้เรียนศิลปะอีกครั้งครูออตก็เห็นว่างดงามทั้งแม่และลูก  ส่วนครูที่จะรับสอนในครั้งต่อไปต้องกลับมาอ่านบันทึกของครูออตเพื่อนำไปปรับใช้สำหรับพฤติกรรมการเรียนรู้ของน้องเคี้ยง

พฤษภาคม 16, 2010

ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน

ปีศาจที่ชื่อศิลปะเกาะกินจิตใจเด็ก ๆ มานาน แต่ครูออตเชื่อว่ามันรักษาให้ทุเลาลงไปได้  ยาขนานที่ครูออตทดลองใช้อยู่ที่ HUG SCHOOL คือตำรับที่เรียกว่า ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน ดังนั้นบันทึกนี้จึงจะขอเสนอโอสถที่ครูออตใช้รักษาเจ้าปีศาจตัวนั้นเพื่อบำรุงจิตใจที่งดงามของเด็ก ๆ ให้ฝ้นมีชีวิตชีวาและเบิกบานอีกครั้ง

ก่อนนอื่นต้องขอออกตัวไว้เลยว่าครูออตไม่ใช่ครูในสายวิชาชีพครู เป็นแต่เพียงครูพักรักจำ ดู สังเกต การเรียนการสอนของบรรดาครูมืออาชีพทั้งหลายและนำมาทดลองใช้กับเด็ก ๆ ที่ตนเองสอน  โดยไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่ปีศาจตัวร้ายที่ชื่อศิลปะจะกลับมา และพัฒนาสิ่งที่ดีให้ดีขึ้นพร้อม ๆ กับบอกเล่าให้คนอื่นได้ลองเอาไปประยุกต์ใช้กันดู  ดังนั้นบันทึกนี้จึงไม่ใช่ข้อเขียนในเชิงวิชาการที่สามารถอ้างอิงได้แต่ครูออตจะบอกว่า ลองเอาไปใช้ได้

“ห้องเรียนแห่งความเบิกบาน” นั้นเป็นห้องเรียนที่เน้นการเปลี่ยนทัศนคติของเด็ก ๆ ให้หลับมาสนใจทำงานศิลปะอีกครั้ง ในฐานะศิลปะเป็นสิ่งบำเรอการเติบโตของหัวใจให้งดงามและเบิกบาน สิ่งนี้เป็นเรื่องแรก ๆ ที่ครูออตใช้ในการสร้างสรรค์ศิลปะสำหรับเด็ก ห้องเรียนแ่ห่งความเบิกบาน ประกอบด้วยเรื่องกว้าง ๆ 3 เรื่อง  เพื่อให้หัวใจของเด็ก ๆมีศิลปะที่เบิกบาน มีความสุขและกำจัดปีศาจตัวร้ายที่ชื่อศิลปะให้กลายร่างเป็นยาบำรุงหัวใจ  ปัจจัย 3 อย่างของห้องเรียนเบิกบานคือ

1. ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะเน้นการเรียนเป็นกลุ่มเพื่อให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น รับและมอบไมตรีกับกัลยาณมิตรในห้องเรียน

เรื่องนี้อาจจะะนำไปปอธิบายควบคู่กับเรื่อง EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ได้ ดังนั้นการจัดกิจกรรมทางศิลปะครูออตจึงเสนอให้ห้องเรียนควรมีเด็กเรียนเป็นกลุ่ม ถ้าอย่างที่HUG SCHOOL ห้องศิลปะเล็กมาก ๆ ก็ไม่ควรเกิน 6 คน กิจกรรมในห้องจึงคล้ายกับเป็นสนามเด็กเล่นที่เด็ก ๆ ใช้เล่นร่วมกัน ทั้งนี้อาจจะมีความรักกันและมีทะเลากันบ้าง ขัดใจกันบ้าง หากไม่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบมาก ครูควรปล่อยให้เด็ก ๆ แก้ไขสถานการณ์กันเอง เพราะธรรมชาติของเด็ก ๆ ความขัดแย้งเหล่านั้นจะถูกลืมในไม่ช้าสักครูก็เล่นด้วยกันราวกับไม่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น ซึ่งหากมีข้อขัดแย้งรุนแรงครูก็แค่ช่วยเล่าเรื่องความสัมพันธ์ที่ควรจะเป็นของเด็กกับคนในห้องให้ฟังเช่น เล่านิทานที่สอนประเด็นความขัดแย้งในห้องนั้นได้  กิจกรรมบางกิจกรรมก็ให้เด็ก ๆ ได้ร่วมกันทำแบบนี้เราก็สอนเรื่องผู้นำผู้ตามแบบธรรมชาติไม่ต้องนั่งบรรยาย


2.
ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะสนับสนุนให้เด็กรู้จักการชื่นชมความงดงามท่ามกลางสรรพสิ่งที่แวดล้อมตัวของเขา

ไม่ว่าจะเป็นแสงที่สาดเข้ามาในห้อง สายฝนที่โปรยปราย เสียงฟ้าที่ร้องคำราม  เจ้ามดตัวน้อยที่วิ่งเล่นในห้องเรียนศิลปะ เรื่องต่าง ๆ เหล่านี้จะถุฏนำมาใช้ในกิจกรรมศิลปะของห้องเรียนเราแทบทั้งสิ้น ซึ่งเสมือนหนึ่งจะบอกกับเด็ก ๆ ว่า เราคือส่วนหนึ่งของโลกใบงามและเราก็เกี่ยวกข้องกับสิ่งอื่น ๆในโลกใบงาม เราทุกคนเป็นเพื่อนกัน  ถ้าเด็ก ๆ คิดว่าตัวเองสวย น่ารักดังนั้นมดตัวน้อย ๆ เขาก็คิดว่าเราน่ารักเช่นกัน ดังนั้นเราจึงต้องดูความงามของกันและกัน


3. ห้องเรียนศิลปะเบิกบาน จะเน้นให้เด็ก ๆ มีความสุขอยู่กับปัจจุบันขณะมีสมาธิในการทำงานและปล่อยวางความทุกข์ทั้งปวง

เรื่องนี้เน้นเป็นพิเศษ เพราะศิลปะเป็นเครื่องมือหนึ่งของการฝึกสมาธิ และเด็ก ๆ ที่ส่งมาเรียนศิลปะที่ห้องเรียนของ HUG SCHOOL หลายคนก็มีปัญหาเรื่องสมาธิ  หลายเรื่องที่นี่จะเน้นให้เด็ก ๆ ช้าลง เพื่อให้เด็กได้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับปลายดินสอที่สัมผัสกระดาษในการร่างภาพเจ้ามดน้อย ให้เด็ก ๆ เห็นขา เห็นตา เห็นหนวดของมดอย่างชัดเจน  หรือให้เด็ก ๆเห็นเนื้อของสีแดงกับสีเขียว กำลังต่อสู่กันอยู่บนผืนภาพขณะลงสีน้ำใบไม้ที่เจ้ามดกำลังไต่อยู่  เรื่องนี้เด็ก ๆ จะมีความสุข สงบ เบิกบานได้แม้ขณะวาดมดเพียงตัวเดียว


นี่เป็นแนวคิดสำคัญของการเรียนศิลปะที่ ห้องเรียนแห่งความเบิกบานของครูออต

พฤษภาคม 14, 2010

“ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ”01

ทุกสัปดาห์ที่ HUG SCHOOL จะมีผู้ปกครองนำเด็กๆ มาลองเรียน มาแอบดูครูออตสอนศิลปะเสมอ ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจส่งลูก ๆ มาให้ครูออตเลี้ยง ซึ่งแน่นอนปฏิกิริยาของเด็กแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกันเลย

เรื่องนี้เห็นที่ต้องนำมาเขียนสักหน่อยเพื่อให้ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนเข้าใจข้อเสนอแนะของครูออต ก่อนที่โรงเรียนจะตัดสินใจรับเด็ก และ ก่อนที่ผู้ปกครองจะเสียเงินเพื่อให้ลูกมาเรียน/เล่นที่ห้องศิลปะแห่งนี้

เรื่องที่น่ายินดีเรื่องหนึ่งที่เกริ่นไปแล้วคือทุกสัปดาห์จะมีผู้ปกครองพาเด็กมาดูการสอนของครูออต นั้นแสดงว่าพ่อแม่ทุกวันนี้สนใจที่จะสนับสนุนทำงานศิลปะของลูกตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อครูออตยังเด็กเราไม่ต้องเสียเงินมาเรียนศิลปะเพราะทุกวันเด็ก ๆ บ้านนอกได้ทำงานศิลปะอยู่ตลอดผ่านการเล่นดินกับเพื่อนบ้านรุ่นราวคราวเดียวกัน พวกเราจะจินตนการและแทนค่าสิ่งต่าง ๆที่อยู่รอบ ๆ ตัว ให้เป็นข้าวของที่ต้องการเราจะเสกฝาหอยให้เป็นเงินเหรียญไว้ซื้อขายกัน เราจะเนรมิตผืนดินเป็นบ้านหลังใหญ่

แต่เมื่อทุกวันนี้พื้นที่และชุมชนของการรวมตัวกันของเด็กเป็นเรื่องยาก การจัดพื้นที่พิเศษขึ้นในรูปโรงเรียนศิลปะจึงเกิดขึ้นและเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีของพ่อแม่ในสังคมเมืองในปัจจุับัน

แต่ก็ยังมีูผู้ปกครองอีกกลุ่มที่อาจจะคิดว่าเรียนศิลปะให้เสียเงินเสียทองเสียเวลาทำไม จะเรียนทั้งทีทำไมไม่ให้ลูกไปเรียนวิชาการที่ใช้สอบที่โรงเรียนเลย เรื่องนี้ผู้ปกครองอาจจะมีสิทธิคิดได้เพราะเป็นเรื่องสิ้นเปลืองจริง ๆ โรงเรียนหลายแห่งเบื่อกับงบประมาณการซื้ออุปกรณ์ศิลปะมากเพราะมันแพงกว่าวัสดุทางการศึกษาอื่น ๆ ของเด็กมากมายซึ่งถือว่าเป็นสินค้านำเข้าประเภทฟุ่มเฟือย ส่วนผู้บริหารโรงเรียนก็ต่างเห็นว่าคอร์สศิลปะได้กำไรน้อยมากเพราะค่าใช้จ่ายเยอะ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง   แต่หากคิดถึงผลที่ลงทุนไปกับการพัฒนาสุนทรียภาพของเด็ก ๆ ผมว่ามันคุ้มค่าและที่ hug school ผู้บริหารเองก็เข้าใจถึงธรรมชาติของธุรกิจศิลปะดีว่าไม่ได้สรา้งกำไรมากมายแต่ก็ยินดีเปิดเพราะมุ่งหวังผลอันจะเกิดกับสังคมในวันข้างหน้า

แรกก้าวเข้าห้องเรียนเด็กนักเรียนหลายคนมักเกาะแขนแม่ไว้แน่น ไม่ว่าครูออตจะชักแม่น้ำกี่สายมาชี้ชวนก็ไม่สามารถแย่งหัวใจของเด็ก ๆ ออกมาแขนแม่ได้ ดังนั้นกรณีนี้จึงต้องให้แม่อยู่ด้วยขณะที่เด็กน้อยกำลังวาด ๆ ขีดๆ เขียน ๆ  เรื่องนี้คุยกับผู้ปกครองหลายคนมักพบว่าเด็ก ๆ ไม่ชอบศิลปะ ซึ่งผิดกับพัฒนาการของเด็ก

เด็กน้อยหลายคนที่มาเรียนในชั่วโมงแรกนี้มักจะเอามือน้อย ๆ นุ่ม ๆ ของเขาปิดภาพวาดของตนเองเอาไว้เพื่อไม่ให้ครูออตเห็น เรื่องนี้พบเห็นบ่อย หลายคนกดมือแน่นเมื่อครูออดเดินเข้ามาใกล้ ๆหรือแม้แต่พ่อแม่ขอดูก็ไม่ยอมเปิด

“ยางลบ” คือสิ่งแรกที่เด็ก ๆ ขอในฐานะอุปกรณ์ลบภาพจินตนาการอันไม่สวย ไม่ถูกต้อง ในสายตาและการบ่มเพาะทางศิลปะของเขา ดังนั้นที่ห้องศิลปะของครูออตยางลบจะใช้มากกับเด็กที่เพิ่งมาเรียนในชั่วโมงแรกๆ

พฤติกรรมลักษณะนี้มีมากมายที่เกิดกับเด็ก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนเรื่องที่ครูออตเรียกว่า “ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ” เพราะหากสืบสาวราวเรื่องไปเราจะพบว่าอาการเกลียดศิลปะอาจจะมาจาก ประสบการณ์ที่เลวร้ายจากพ่อแม่เองที่มักวิจารณ์ผลงานของเขาทั้งที่ควรจะเป็นผู้ให้กำลังใจกับทำตัวเป็นนักวิจารณ์ หรือเกิดจากพี่น้องที่มักล้อเกี่ยวกับภาพวาดของเขาทั้ง ๆ ที่พี่น้องน่าจะสนุกสนานกับการทำงานศิลปะไปด้วยกัน หรือเกิดจากครูในโรงเรียน ที่มักบังคับให้เขาทำในสิ่งที่ครูคิดว่าควรจะเป็น เพื่อแลกกับคะแนนและเกรดดีดีทั้ง ๆ ที่ปากมักบอกเด็ก ๆ ว่าศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูก

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดเพื่อจะช่วยให้ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนได้เข้าใจว่า ครูควรจะได้รับรู้ ประสบการณ์ทางด้านศิลปะของเด็กก่อนเบื้องต้น และได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดอกกับพ่อแม่  ก่อนที่จะสมัครเรียนให้ลูก และผู้บริกหารเองจะได้วางแผนในการออกแบบกลุ่มการเรียนให้แก่เด็ก ๆ

คำถามที่จะเกิดต่อมาคือ หากเด็กมีประสบการร์เลวร้ายกับ”ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ”แล้วครูออตจะสอนอะไร คำตอบคือวิชาแรกที่ครูออตจะสอนเด็ก ๆ คือวิชาศิลปะเบิกบาน ไม่ใช่ วิชาศิลปะเหมือนมาก

เมษายน 5, 2010

แมงมุมลายตัวนั้น

แมงมุมลายตัวนั้น ฉันเห็นมันซมซานเหลือทน

วันหนึ่งมันเปียกฝน ไหลลงจากบนหลังคา

พระอาทิตย์ส่องแสง น้ำแห้งเหือดไปลับตา

มันรีบไต่ขึ้นฝา หันหลังมาทำตาลุกวาว

ครูออตนำเข้ากิจกรรมศิลปะในสัปดาห์นี้ด้วยเพลงแมงมุมลาย เพลงนี้ไม่ทราบใครแต่งแต่ร้องไปร้องมา ต่อกันไปต่อกันมา จนไม่สามารถอ้างแหล่งที่มาได้ เพลงนี้เด็ก ๆ ชอบเพราะมันมีท่าประกอบด้วย ซึ่งเป็นการฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือและประสาทสัมผัสของเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการต่อหัวแม่มือด้านหนึ่งกับนิ้วก้อยของมืออีกด้านหนึ่ง

หลังจากที่เด็ก ๆ กำลังคิดถึงเจ้าแมงมุมลาย ครูออตสบโอกาสก็ชวน ๆ เด็ก ๆ วาดรูปเจ้าแมงมุมกัน

  • ชั่วโมงเด็กเล็ก ๆ ก็ชวนเด็ก ๆ คิดถึงขนาดตัวแมงมุม ขาแมงมุม บ้านแมงมุม อาหารแมงมุม ครอบครัวแมงมุม ประหนึ่งเจ้าแมงมุมเป็นครอบครัวของเด็ก ๆ เอง
  • ชั่วโมงเด็กโต ไม่ต้องอธิบายอะไรมากเพราะเด็ก ๆ มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับแมงมุมมากพอที่จะคิด จินตนาการต่อจากเพลงได้แล้ว ครูทำหน้าที่เป็นเพียงลูกมือก็พอ หลังจากนี้ก็ปล่อย ๆ เด็ก ๆ ลงมือทำงานของตนเองได้แล้ว

ไปดูผลงานชุดเจ้าแมงมุมของเด็ก ๆ ครูออตกันครับ ว่าแมงมุมของเด็ก ๆ แต่ละคนเป็นอย่างไร และช่วยเพิ่มจินตนาการอะไรให้เด็ก ๆ ได้บ้างจากกิจกรรมนี้

  • ผลงานเจ้าแมงมุมของกลุ่มเด็กเล็กอายุ 3-5 ขวบ ซึ่งสามารถสร้างรูปทรงของเจ้าแมงมุมออกมาได้ แสดงว่ากล้ามเนื้อมือกับสมองมีความสัมพันธ์กันดี แต่เด็กก็มีจินตนาการ อย่างน้องข้าวปั้น(รูป 1)ก็ใส่ตาเจ้าแมงมุมให้ใหญ่เพราะมันลุกวาว(ตามเนื้อเพลง) น้องต้นหวาย(รูป 2)ก็มีแมงมุมนับร้อยขา น้องเปาเปา(รูป3)ใส่ขาแมงมุมให้ยาวออกไปไม่สิ้นสุด

  • ผลงานกลุ่มเด็กโต( 6-7ขวบ) เด็กกลุ่มนี้แสดงออกในเรื่องราวได้มากขึ้นเช่นการที่สร้างบ้านชักใยให้เจ้าแมงมุม  การที่เจ้าแมงมุมมีคนในครอบครัว อาหารของเจ้าแมงมุมที่มาติดที่ใยแมงมุม และบรรยากาศของภาพที่มีการใส่พื้นที่ด้านหลังของภาพ ซึ่งแสดงออกผ่านสีและฝีแปรงในการระบาย

ว่าง ๆ ในช่วงปิดเทอมนี้ ชวนเจ้าตัวน้อยที่บ้าน หรือ เจ้าตัวน้อยข้างบ้านมาวาดรูปเจ้าแมงมุมกันนะครับ

ข้อควรระวัง ถ้าจะให้ดีอย่าลืมชวนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ด้วยนะครับเพราะเจ้าแมงมุมมีพิษร้าย เดี๋ยวเด็ก ๆ คลั่งไคล้่อยากจะจับเจ้าแมงมุมในสวนหลังบ้านมาเป็นเพื่อนนอน แบบนี้อันตรายแน่ ๆ

กุมภาพันธ 2, 2010

ภาพพิมพ์ผัก ผลักจินตนาการ

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 11:56

เด็กน้อยเมื่อสอนให้ระบายสีบ่อยไป เอะอะอะไรก็ระบายสี ทำให้จินตนาการแคบอยู่กับการระบายสี การปลูกฝังว่าศิลปะคือการระบายจึงเกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่ศิลปะมีมากมายหลายแขนง วิจิตรศิลป์ก็มีตั้งมาก ดังนั้นครูศิลปะจึงต้องคิดหากิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อกระตุ้นจินตนาการให้แก่เด็ก ๆ และเกิดประสบการณ์ที่หลากหลายเกี่ยวกับศิลปะและเทคนิคทางศิลปะ

(ภาพพิมพ์ของศิลปินไทย อ.ประหยัด พงษ์ดำ)

ภาพพิมพ์กับเด็กนั้นดูเหมือนจะยากไป แต่เราก็ปรับให้ภาพพิมพ์ง่ายได้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร แทนที่เราจะไปซื้อแม่พิมพ์ยางพาราที่เขามีสำเร็จรูป เราก็ทำแม่พิมพ์เองจะไม่ดีกว่าหรือ แปลกพิเศษไม่เกลื่อนไม่ธรรมดา เรื่องนี้ทำได้ไม่ยาก ดังนั้นห้องเรียนศิลปะของเราวันนี้จึงสร้างงานศิลปะด้วยเทคนิคภาพพิมพ์จากผัก

เริ่มจากครูไปเดินตลาดมองหาวัตถุดิบเมื่อนำมาสร้างแม่พิมพ์ เลือกแบบเนื้อไม่แข็งมากและไม่นุ่มจนเกินไป ครูออตไปเที่ยวตลาดบางลำพูในเมืองขอนแก่นมืดไป ตลาดวายเสียก่อนดังนั้นฝักทอง มะละกอดิบ ฝรั่งดิบจึงไม่มี ที่ได้จึงได้แค่หัวผักกาดสีขาวและแครอทสีส้มซึ่งทั้งสองอย่างเหมาะที่เดียวที่จะนำมาทำภาพพิมพ์ขนาดไม่ใหญ่ เหมาะกับการจับของเด็ก

ครูออตเอาหัวผักกาดและแครรอทมาล้้างและหั่นตามแนวขวางยาวชิ้นละ 2 นิ้ว โดยพยายามหั่นให้ตรงเพราะจะได้แกะแม่พิมพ์ได้ง่ายขึ้น หลังจากนั้นได้มีดแกะภาพพิมพ์เป็นรูปต่าง ๆ โดยไม่แกะเป็นรูปทรงแต่เน้นลวดลายเพื่อให้เด็กนำลวดลายไปสร้างสรรค์งานต่อ หากเป็นพวกรูปเด็กจะไม่คิดพัฒนารูปทรงแต่จะพิมพ์ลงไปแบบตรง ๆ เสียมากดังนั้นดูเหมือนรูปทรงสำเร็จจะปิดกั้นจินตนาการไปบ้าง

เมื่อได้แม่พิมพ์แล้ว ก็ผสมสีน้ำรอ ซึ่งอย่าให้เหลวมากเพราะเนื้อสีจะไม่เกาะแม่พิมพ์ เพื่อให้แน่ใจครูออตลองเอาแม่พิมพ์มาพิมพ์ลองดู ก่อนที่เด็ก  ๆ จะเข้าห้องเรียน ซึ่งก็ได้ลวดลายต่าง ๆ ที่เป็นที่พอใจ หลากหลายและเพียงพอต่อจำหนวนเด็ก เมื่อทุกอย่างเรียบร้อยครูออตก็เตรียมอุปกรณ์อื่น ๆ ไว้รอเช่น กระดาษ ผ้าเช็ด ถังสี ดินสอ เป็นต้น

เมื่อเด็ก ๆ มาครูออตแอบเอาแม่พิมพ์ไปซ่อนไว้ เริ่มวิชาศิลปะด้วยการกระตุ้นผ่านนิทาน ก่อนที่เด็ก ๆ จะลงมือวาดตามที่ตนเองชอบสนใจ เรื่องนี้ไม่มีการบังคับ แต่กระตุ้นให้เด็กเขียนด้วยภาพขนาดใหญ่หน่อย(เพราะเราต้องพิมพ์ ถ้าเล็กแม่พิมพ์จะทับภาพมองไม่เห็น) เมื่อเด็ก ๆ วาดเสร็จแล้ว ครูออตก็เอาแม่พิมพ์ออกมาโชว์ พร้อมแสดงการพิมพ์ภาพในแม่พิมพ์ต่าง ๆลงบนกระดาษจนครบ  สุดท้ายครูออตบอกว่าวันนี้เราจะเปลี่ยนการระบายสีเป็นการพิมพ์ภาพแทน เด็ก ๆ สามารถเลือกแม่พิมพ์เพื่อลงสีผ่านแม่พิมพ์ได้อยา่งที่ตนเองต้องการ  แต่ต้องไม่ลืมใช้แม่พิมพ์เสร็จต้องล้างแม่พิมพ์เพื่อให้คนอื่นใช้ต่อ

หลังสิ้นคำแนะนำ เด็ก ๆ ก็ต่างลงมือกันอย่างสนุกสนาน  ครูออตเป็นเพีียงผู้ช่วยๆ และค่อยกระตุ้นเท่านั้น ว่างก็ออกมานั่งสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ในห้อง พร้อมกับหาแนวทางในการพัฒนาและแก้ไข

  • เด็กเล็ก ๆ บางคนไม่พิมพ์ภาพลงบนรูปที่วาดแต่พิมพ์ภาพลงบนกระดาษขาว ๆ ที่เป็นพื้น = เป็นความต้องการของเด็กแต่ละคร ครูต้องเข้าใจ
  • เด็กบางคนใช้แม่พิมพ์เดิมแต่ไม่ยอมล้างสีเมื่อไปลงถ้วยสีใหม่สีจะสกปรก = ครูต้องอธิบายให้นักเรียนเข้าใจและหาถ้วยเปล่ามาให้เด็กคนนั้นเอาสีมาผสมข้างนอก ประเดี๋ยวจะเกิดสงครามในห้อง
  • เด็กบางคนพิมพ์ภาพด้วยความรุนแรง  แม่พิมพ์แตกยับเยินคนอื่นไม่ได้ใช้ = ครูลองทำให้เด็กดูว่ากดเพียงเบา ๆ สีก็ติดกระดาษได้โดยไม่ต้องใช้แรงมาก เพราะแม่พิมพ์เราเป็นธรรมชาติ แตก หัก พังง่าย
  • เด็กบางคนเล่นแม่พิมพ์จนเบื่อ แทนที่จะกดแม่พิมพ์แต่เอามาพิมพ์มาลากระบาย=หากไม่รบกวนคนอื่นก็ปล่อยให้เขาใช้จินตนาการไป กด ไหล ระบาย ก็เป็นวิธีการแสดงออกเหมือนกัน เป้าหมายไม่ใช่ภาพสวยหรือภาพต้องใช้อย่างกิจกรรมนี้ต้องการ หากแต่เป็นประสบการณ์ทางศิลปะและโลกแห่งจินตนาการ
  • หากเป็นเด็กโต บางงทีจะไม่ชอบแม่พิมพ์ที่ครูทำ = แทนที่ครูจะทำแม่พิมพ์ให้ อาจจะแบ่งส่วนหนึ่งให้เด็กทำเองแต่ต้องระวังมีดแกะให้ดี อาจจะเกิดอันตรายได้ ครูควรดูแลอย่างไกล้ชิดมาก ๆ   การทำแม่พิมพ์ต้องใช้เวลามาก ครูควรคำนาณเวลาให้เหมาะสม
  • หลังพิมพ์ภาพ อาจะจสามารถตกตแ่งด้วยเทคนิคอื่นเช่น สีน้ำ สีชอลค์ โปรเสตอร์ ปะติดได้ไม่จำกัดครับ

สิงหาคม 24, 2009

ภาพเขียนในคืนอันมืดมิด

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , — ออต @ 13:14

เขียนเรื่อง ศิลปะนามธรรม : เด็กก็ทำได้ ไปเมื่อหลายวันก่อน มาคราวนี้ผมเขียนต่อเนื่องจากกิจกรรมที่แล้วในห้องเรียนที่ HUG SCHOOL เพราะว่ากิจกรรมนี้ต่อเนื่องกับศิลปะนามธรรมที่เล่าไปแล้วก่อนหน้านี้ครับ กิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่ชวนให้เด็กเขียนภาพด้วยเส้นสีบนพื้นดำ แทนการเขียนภาพเส้นสีบนพื้นขาว กิจกรรมนี้ต่างกันหรือเหมือนกับภาพเขียนเดิม ๆ แบบไหนตามกันครับ

หลังเด็ก ๆ เรียนรู้การตัดทอนรูปทรงจากธรรมชาติให้กลายมาเป็นศิลปะแบบนามธรรมแล้ว สิ่งที่เด็ก ๆ เรียนรู้จากกิจกรรมที่แล้วคืออารมณ์ที่มีต่อรูปทรงที่พบในธรรมชาติ และ การแปรรูปรูปทรงธรรมชาติมาเป็นรูปทรงนามธรรมที่สื่อสอดคล้องกับอารมณ์ของเด็ก ๆ แต่ละคน กิจกรรมนี้เด็ก ๆ สนุกสนานอยู่กับการเลือกสีให้เหมือนดังใจที่ตนเองรู้สึก

กิจกรรมต่อไปครูออตชวนเด็ก ๆ เอางานศิลปะนามธรรมซึ่งเขียนด้วยสีชอล์คน้ำมันมาสร้างเป็นงานศิลปะอีกแบบหนึ่ง โดยการนำสีโปสเตอร์สีดำผสมสีม่วงหรือน้ำเงินเล็กน้อย ทาสีที่ผสมแล้วทับลงไปบนศิลปะนามธรรมให้เต็มพื้นที่จนภาพที่มีสีสันเหล่านั้นมืดสนิทราวกับกลางคืน

เอาถ้ามันเหมือนกลางคืน เราก็ชวนเด็ก ๆ มาวาดภาพกลางคืนกันดีไหม เราทำอะไรเวลากลางคืนบ้าง  กลางคืนเราเห็นอะไร

แต่ในการวาดภาพบนพื้นที่สีดำนั้น ครูออตเปลี่ยนจากการวาดสีลงไปบนกระดาษดำเป็น การขูดเอาสีดำที่เคลือบสีชอล์คน้ำมันออก ลายเส้นที่ขูดสีดำออกจะเผยสีชอล์คสีต่าง ๆ แบบไม่ตั้งใจเกิดให้ปรากฎเป็นที่ตื่นเต้นแก่เด็ก ๆ งานนี้เราจึงเรียกเทคนิคนี้ว่า ขูดสี ซึ่งตอนนี้นี่เอง เด็กๆต่างสนุกกับการขูดกันอย่างเมามัน  บางคนชี้ชวนให้เพื่อนมาดูสีชอล์คที่ปรากฎว่ามันสอดคล้องกับภาพที่ตนเองวาดหรือเปล่า  เพราะดวงดาวบางคนได้สีเหลือง แต่ดวงดาวบางคนอาจจะสีชมพู   อู้้้้้้้้้้้้้้้้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ อเมซิ่ง

สิ่งที่ควรระวังสำหรับกิจกรรมนี้คือ สิ่งที่ขูดสีต้องเป็นอะไรที่แหลมนิดหน่อยเช่นตะปู  ลวด ดังนั้นต้องระวังกันด้วย ในขณะเดียวกันสีดำที่ขูดออกเนื่องจากเป็นเกล็ดเล็ก ๆ ควรระวังไม่ให้เข้าตาหรือเป่าด้วยพัดลมเพราะจะทำให้ผงสีฟุ้งไปในอากาศ เด็กที่แพ้อาจจะไม่สบายได้  อ๋อ สีดำที่ขูดออกอย่าเอามือลูบออกเพราะจะเป็นผงสี ซึ่งทำให่สีดำเปื้อนภาพได้ ดังนั้นควรเคาะออกเท่านั้น

สิงหาคม 18, 2009

ศิลปะแบบนามธรรม : เด็กก็ทำได้

การถ่ายทอดความรู้สึกต่อสิ่งที่พบเห็น สิ่งที่ระลึกถึง สิ่งที่จินตนาการบางครั้งเราไม่จำเป็นต้องแสดงสิ่งนั้นออกมาเป็นรูปทรงที่สามารถพบเห็นได้ตามธรรมชาติก็ได้ โดยเฉพาะการแสดงออกถึงความรู้สึกที่เป็นนามธรรม เราสามารถถ่ายทอดรูปทรงที่เราเห็น ระลึกถึงหรือจินตนาการถึงในรูปศิลปะแบบนามธรรมได้

ศิลปะแบบนามธรรม หรือ abstract เป็นศิลปะประเภทที่ไม่มีความจริงเหลืออยู่ หากคนนอกหรือผู้ชมมอง ก็มักเรียกศิลปินพวกทำงานแบบนี้ว่าพวก ศิลปะเปอะ เพราะรูปทรงจริงนั้นได้ถูกตัดทอนให้เหลือแค่เส้นสี น้ำหนัก ที่ก่อให้เกิดความงามตามอารมณ์ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เหนือความเป็นจริงต้องใช้จินตนาการในการรับรู้รับชม

ในห้องเรียนที่ HUG SCHOOL ผมให้เด็ก ๆ ได้ทดลองทำศิลปะแบบนามธรรมนี้ด้วย ซึ่งเป็นงานศิลปะนามธรรมที่พัฒนามาจากแบบเหมือนจริงในธรรมชาติ แต่นำมาตัดทอน เพิ่มเติมเนื้อหาที่ต้องการแสดงออก  โดยเน้นให้เด็กสามารถบอกตนเองได้ว่าตนเองกำลังวาดอะไรและรู้สึกอย่างไรต่อสิ่งที่ตนเองเห็น ตนเองจินตนาการเห็น

วันนี้มีนักเรียน 4 คนที่มาเรียน หลังผมเสนอรูปแบบศิลปะนามธรรมให้เด็ก ๆ ทราบแล้ว ผมก็ปล่อยให้เขาเลือกสี เลือกจินตนาการ เลือกมอง เลือกถ่ายทอดเต็มกำลังความสามารถ ซึ่งเมื่อท้ายชั่วโมงก็พบว่าเด็ก ๆ สามารถถ่ายทอดศิลปะแบบนามธรรมได้เช่นเดียวกับศิลปิน เพราะผลงานมีการเลือกสรรสี  ตัดทอนรูปทรงและวางองค์ประกอบได้อย่างงดงาม

นี่เป็นประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เด็ก  ๆ หาได้จากห้องเรียนศิลปะที่ HUG  SCHOOL

มิถุนายน 2, 2009

พัฒนาการของนักเรียน(แบบ)

Filed under: Uncategorized — แท็ก: , , — ออต @ 18:16

การลอกภาพวาดกันของเด็กไม่ใช่เรื่องผิดแต่ประการใดโดยเฉพาะเด็กที่ผ่านโรงเรียนที่ครูใช้คะแนนเป็นตัววัดผลการเรียนของนักเรียน  นักเรียนที่วาดรูปได้คะแนนน้อยย่อมหันไปลอกภาพวาดของเด็กที่ได้คะแนนมากเป็นธรรมดา  แต่ที่ HUG SCHOOL ครูออตไม่ได้เน้นคะแนนเราจึงมีแนวทางที่จะเปลี่ยนจากเด็กช่างลอกเลียนแบบมาเป็นเด็กนักสร้า้งสรรค์ อย่างเช่นกรณีน้องจิ่นนี่และน้องมิ้น

เด็กทั้งสองคนมีพื้นฐานจากโรงเรียนเดียวกันคือเรียนห้องเดียวกัน ครูสอนคนเดียวกัน มาเรียนที่ HUG SCHOOL พร้อม ๆ กันเพราะผู้ปกครองต่างชวนกันมา  เมื่อมาแรก ๆ ทั้งสองคนเปรียบเสมอืนคนคนเดียวกัน ไม่ยอมหนีไปไหนคนเดียว เมื่อจะไปไหนต่อไหน ทำอะไรก็ต้องไปด้วยกันไม่ยอมห่าง รวมทั้งการเรียนศิลปะด้วย

เด็กทั้งสองคนต่างกันตรงที่น้องมิ้นเป็นนักสร้างสรรค์ มีจินตนาการและอดทนมีสมาธิ แม้จะมีเรื่องงอแงมาจากบ้านแต่เมื่อมาถึงห้องเรียนศิลปะน้องมิ้นจะปรับตัวเร็วมากและสนุกสนานในการเรียนศิลปะกับเพื่อน ๆ  การวาดการทำงานมากในครั้งแรก ๆ เราจึงเห็นน้องมิ้นทำงานเสร็จเรียบร้อยสวยงาม สร้างสรรค์และของานกลับทุกครั้ง

น้องจินนี่เป็นเด็กหญิงน่ารักพูดน้อย  อาการติดเพื่อนเป็นพฤติกรรมแรก ๆ ที่น้องจินนี่แสดงออกให้ครูเห็นนอกจากนั้นการลอกเลียนงานของเพื่อนอย่างน้องมิ้นจึงมีให้ครูออตเห็นบ่อย ๆ เมื่อแรกหากน้องมิ้นวาดปลา น้องจินนี่ก็จะวาดปลา  น้องมิ้นวาดบ้าน น้องจิ่นนี่ก็จะไม่วาดอย่างอื่นนอกจากนั้น การลอกเลียนงานน้องมิ้นชัดเจนจนภาพจะกลายเป็นภาพเดียวกัน  ส่วนมิ้นเองก็ไม่ได้สนใจว่าใครจะลอกงานของตนเอง ยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อไป  อีกอย่างที่เห็นชัดคือสมาธิในการทำงานของจิ่นนี่มีน้อย วาดได้นิดก็เหนื่อย ปวดแขน เมื่อยและสารพัดที่อ้าง  สุดท้ายก็ขอมานั่งใกล้ ๆ ครูออตและเล่าสรรพเหระตามประสาเรื่องที่น้องจินนี่อยากเล่า

ครูออตเล่าสถานการณ์นี้ให้ผู้บริหารฟังอยู่เรื่อย ๆ และพยายามเปลี่ยนนักลอกเลียนมาเป็นนักสร้า้้งสรรค์  กิจกรรมประการหนึ่งคือการฝึกให้นักเรียนของเราคิดเยอะ ๆ (ที่ไม่ได้หมายถึงคิดมาก)  การคิดเยอะ ๆ เท่ากับน้องจิ่นนี่มีทรัพยากรในสมองมาก ๆ ดังนั้นช่วงแรกจึงไม่ได้เน้นที่ภาพขนาดใหญ่แต่ให้วาดบนกระดาษ a4 ไม่เน้นการลงสีแต่เน้นลายเส้น

ที่นั่งระหว่างทั้งสองคน ครูออตก็พยายามเปลี่ยนแปลงให้นั่งตรงข้ามแทนที่จะนั่งเรียงกัน อย่างน้อยก็ลดโอกาสของการเลียนแบบภาพของกันและกัน ซึ่งการเปลี่ยนตำแหน่งการนั่งทำงานก็นับว่าได้มากเพราะทั้งสองคนเปลี่ยนคู่สนทนาเป็นคนอื่นนอกจากเพื่อนตนเอง อิทธิพลส่งผลต่อกันจึงน้อยลงไปมาก

ในการเรียนกลาง ๆ คอร์สเราพบว่าสถานการณ์เปลี่ยนเล็กน้อย แต่อยู่ในความคาดหวังที่ดีของครูเพราะน้องจิ่นนี่มีพฤติกรรมบางอย่างเปลี่ยนไป แม้ไม่ชัดเจนแต่ก็เป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นจากแรกเริ่มเรียน  การวาดของจิ่นนี่แม้จะลอกบ้างแต่ก็เป็นการปรับรูปทรงให้แตกต่างเช่นในทะเลน้องมิ้นวาดปลา น้องจินนี่ก็เปลี่ยนเป็นวาดเต่า,น้องมิ้นวาดบ้านน้องจิ่นนี่จะวาดตึก  สำหรับครูออตแล้วมันเป็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในทางที่ดี เพราะแม่รูปทรงจะต่างกันเล็กน้อยแต่รอบ ๆ บ้านที่น้องจิ่นนี่วาด มีอะไรต่อมิอะไรมากมาย

สำหรับคอร์สศิลปะเด็กที่โรงเรียนนี้มีจำนวน  12 ครั้งสัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์สุดท้ายที่น้องจินนี่กับน้องมิ้นมาเรียน และเมื่อมานั่งดูอย่างพิจารณาครูออตพบพัฒนาการของเด็กนักลอกคนนี้ กลายเป็นนักสร้า้งสรรค์อย่างที่เราต้องตะลึง  ในชั่วโมงนี้รูปวาดของทั้งสองไม่เหมือนกันเอาเสียเลย มิหนำซ้ำน้องจิ่นนี่ทำงานของตนเองเสร็จก่อนใครเพื่อนในห้อง นี่เป็นปรากฏการณ์ที่ช่วยบอกครูออตว่าน้องจินนี่มีสมาธิมากขึ้นตามลำดับ

(ผลงานในสัปดาห์สุดท้ายของจินนี่)

« บันทึกเก่ากว่าบันทึกใหม่กว่า »

Powered by WordPress