ลานบ้านชลบถพิบูลย์

พฤษภาคม 14, 2010

“ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ”01

ทุกสัปดาห์ที่ HUG SCHOOL จะมีผู้ปกครองนำเด็กๆ มาลองเรียน มาแอบดูครูออตสอนศิลปะเสมอ ๆ ก่อนที่จะตัดสินใจส่งลูก ๆ มาให้ครูออตเลี้ยง ซึ่งแน่นอนปฏิกิริยาของเด็กแต่ละครอบครัวไม่เหมือนกันเลย

เรื่องนี้เห็นที่ต้องนำมาเขียนสักหน่อยเพื่อให้ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนเข้าใจข้อเสนอแนะของครูออต ก่อนที่โรงเรียนจะตัดสินใจรับเด็ก และ ก่อนที่ผู้ปกครองจะเสียเงินเพื่อให้ลูกมาเรียน/เล่นที่ห้องศิลปะแห่งนี้

เรื่องที่น่ายินดีเรื่องหนึ่งที่เกริ่นไปแล้วคือทุกสัปดาห์จะมีผู้ปกครองพาเด็กมาดูการสอนของครูออต นั้นแสดงว่าพ่อแม่ทุกวันนี้สนใจที่จะสนับสนุนทำงานศิลปะของลูกตั้งแต่ยังเด็ก เมื่อครูออตยังเด็กเราไม่ต้องเสียเงินมาเรียนศิลปะเพราะทุกวันเด็ก ๆ บ้านนอกได้ทำงานศิลปะอยู่ตลอดผ่านการเล่นดินกับเพื่อนบ้านรุ่นราวคราวเดียวกัน พวกเราจะจินตนการและแทนค่าสิ่งต่าง ๆที่อยู่รอบ ๆ ตัว ให้เป็นข้าวของที่ต้องการเราจะเสกฝาหอยให้เป็นเงินเหรียญไว้ซื้อขายกัน เราจะเนรมิตผืนดินเป็นบ้านหลังใหญ่

แต่เมื่อทุกวันนี้พื้นที่และชุมชนของการรวมตัวกันของเด็กเป็นเรื่องยาก การจัดพื้นที่พิเศษขึ้นในรูปโรงเรียนศิลปะจึงเกิดขึ้นและเรื่องนี้ได้รับการตอบรับอย่างดีของพ่อแม่ในสังคมเมืองในปัจจุับัน

แต่ก็ยังมีูผู้ปกครองอีกกลุ่มที่อาจจะคิดว่าเรียนศิลปะให้เสียเงินเสียทองเสียเวลาทำไม จะเรียนทั้งทีทำไมไม่ให้ลูกไปเรียนวิชาการที่ใช้สอบที่โรงเรียนเลย เรื่องนี้ผู้ปกครองอาจจะมีสิทธิคิดได้เพราะเป็นเรื่องสิ้นเปลืองจริง ๆ โรงเรียนหลายแห่งเบื่อกับงบประมาณการซื้ออุปกรณ์ศิลปะมากเพราะมันแพงกว่าวัสดุทางการศึกษาอื่น ๆ ของเด็กมากมายซึ่งถือว่าเป็นสินค้านำเข้าประเภทฟุ่มเฟือย ส่วนผู้บริหารโรงเรียนก็ต่างเห็นว่าคอร์สศิลปะได้กำไรน้อยมากเพราะค่าใช้จ่ายเยอะ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง   แต่หากคิดถึงผลที่ลงทุนไปกับการพัฒนาสุนทรียภาพของเด็ก ๆ ผมว่ามันคุ้มค่าและที่ hug school ผู้บริหารเองก็เข้าใจถึงธรรมชาติของธุรกิจศิลปะดีว่าไม่ได้สรา้งกำไรมากมายแต่ก็ยินดีเปิดเพราะมุ่งหวังผลอันจะเกิดกับสังคมในวันข้างหน้า

แรกก้าวเข้าห้องเรียนเด็กนักเรียนหลายคนมักเกาะแขนแม่ไว้แน่น ไม่ว่าครูออตจะชักแม่น้ำกี่สายมาชี้ชวนก็ไม่สามารถแย่งหัวใจของเด็ก ๆ ออกมาแขนแม่ได้ ดังนั้นกรณีนี้จึงต้องให้แม่อยู่ด้วยขณะที่เด็กน้อยกำลังวาด ๆ ขีดๆ เขียน ๆ  เรื่องนี้คุยกับผู้ปกครองหลายคนมักพบว่าเด็ก ๆ ไม่ชอบศิลปะ ซึ่งผิดกับพัฒนาการของเด็ก

เด็กน้อยหลายคนที่มาเรียนในชั่วโมงแรกนี้มักจะเอามือน้อย ๆ นุ่ม ๆ ของเขาปิดภาพวาดของตนเองเอาไว้เพื่อไม่ให้ครูออตเห็น เรื่องนี้พบเห็นบ่อย หลายคนกดมือแน่นเมื่อครูออดเดินเข้ามาใกล้ ๆหรือแม้แต่พ่อแม่ขอดูก็ไม่ยอมเปิด

“ยางลบ” คือสิ่งแรกที่เด็ก ๆ ขอในฐานะอุปกรณ์ลบภาพจินตนาการอันไม่สวย ไม่ถูกต้อง ในสายตาและการบ่มเพาะทางศิลปะของเขา ดังนั้นที่ห้องศิลปะของครูออตยางลบจะใช้มากกับเด็กที่เพิ่งมาเรียนในชั่วโมงแรกๆ

พฤติกรรมลักษณะนี้มีมากมายที่เกิดกับเด็ก ๆ ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนเรื่องที่ครูออตเรียกว่า “ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ” เพราะหากสืบสาวราวเรื่องไปเราจะพบว่าอาการเกลียดศิลปะอาจจะมาจาก ประสบการณ์ที่เลวร้ายจากพ่อแม่เองที่มักวิจารณ์ผลงานของเขาทั้งที่ควรจะเป็นผู้ให้กำลังใจกับทำตัวเป็นนักวิจารณ์ หรือเกิดจากพี่น้องที่มักล้อเกี่ยวกับภาพวาดของเขาทั้ง ๆ ที่พี่น้องน่าจะสนุกสนานกับการทำงานศิลปะไปด้วยกัน หรือเกิดจากครูในโรงเรียน ที่มักบังคับให้เขาทำในสิ่งที่ครูคิดว่าควรจะเป็น เพื่อแลกกับคะแนนและเกรดดีดีทั้ง ๆ ที่ปากมักบอกเด็ก ๆ ว่าศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูก

ที่ผมเล่ามาทั้งหมดเพื่อจะช่วยให้ผู้ปกครองและผู้บริหารโรงเรียนได้เข้าใจว่า ครูควรจะได้รับรู้ ประสบการณ์ทางด้านศิลปะของเด็กก่อนเบื้องต้น และได้มีโอกาสพูดคุยเรื่องนี้อย่างเปิดอกกับพ่อแม่  ก่อนที่จะสมัครเรียนให้ลูก และผู้บริกหารเองจะได้วางแผนในการออกแบบกลุ่มการเรียนให้แก่เด็ก ๆ

คำถามที่จะเกิดต่อมาคือ หากเด็กมีประสบการร์เลวร้ายกับ”ปีศาจร้ายที่ชื่อศิลปะ”แล้วครูออตจะสอนอะไร คำตอบคือวิชาแรกที่ครูออตจะสอนเด็ก ๆ คือวิชาศิลปะเบิกบาน ไม่ใช่ วิชาศิลปะเหมือนมาก

Powered by WordPress