ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ตุลาคม 31, 2011

สอนศิลปะ ด้วยสารคดี

วันไหนครูเหนื่อยอ่อนจากภารกิจอื่น ๆ อันไม่ใช่จากการสอน หากผืนใช้พลังงานที่มีอยู่น้อยและจำกัด อาจจะทำให้ครูเหนื่อยเกินไป ล้าเกินไป ส่งผลให้ไม่มีสมาธิในการสอนได้ วิธีการคือ ครูต้องหาครูผู้ช่วยมาช่วยในการสอน ครูผู้ช่วยที่ครูออตหมายถึงในบันทึกนี้คือ ครูเทค(โนโลยี)

ช่วงนี้มีงานแต่งงานกันมาก กว่าจะเสร็จงาน หากเป็นงานเพื่อนสนิทเห็นทีว่าจะต้องช่วยกันจนจนวินาทีสุดท้าย ทำให้เหนื่อยและง่วงเป็นพิเศษ แม้กาแฟที่อุดมไปด้วยคาเฟอีนก็ไม่สามารถเรียกความสดชื่นมาได้ ดังนั้นเช้าวันนี้ครูออตจึงใช้ครูเทคเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนศิลปะ

ปกติการสอนครูในช่วง กระตุ้นการเรียนรู้หรือนำเข้าบทเรียนครูต้องใช้พลังงานในการกระตุ้นการเรียนรู้มาก ซึ่งในกลุ่มเด็กเล็กต้องใช้พลังงานในส่วนนี้มากกว่าช่วงทำงานศิลปะของเด็ก ๆ ซะอีก บางวันก็ชวนเด็ก ๆ เล่นเกม เล่านิทาน ร้องเพลงซึ่งกิจกรรมกระตุ้นที่ว่าต้องใช้พลังงานมากอย่างที่ว่าไปแล้ว ในภาวะที่ครูหมดแรง จึงต้องอาศัยครูเทคเข้าช่วย

ครูออตมีสารคดีที่น่าสนุกหลายเรื่องหนึ่งในนั้นคือเรื่องมด(มด1 มด2 มด3 มด4) ซึ่งดาวน์โหลดมาเตรียมไว้หลายวันก่อนเพราะเห็นว่าน่าจะเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ได้อีกอย่างหนึ่ง(การสะสมเครื่องมือนับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครู) เรื่องมดนี้มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือมีเรื่องราวที่หลากหลายแง่มุมของเรื่องมด ทั้งที่อยู่อาศัย อาหาร ศัตรู วิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับมด ซึ่งน่าจะเร้าความสนใจของเขาได้ดี

โดยธรรมชาติของสารคดี(ที่ดี) คือมีความผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างสาระและบันเทิง มีมุมมองของกล้องที่ตาเราไม่สามารถมองเห็นหรือเป็นมุมมองที่เราไม่คุ้นเคย ซึ่งความไม่เคยเห็นทำให้สารคดีน่าสนใจสำหรับเด็ก เพียงแต่สารคดีมันมักจะยาวไปเสียหน่อยเท่านั้นเอง ครูออตเปิดสารคดีผ่านจอทีวีขนาดใหญ่ซึ่งโรงเรียนเตรียมไว้ให้ดังนั้นจอใหญ่จึงช่วยเร้าความสนใจได้อีกมากโข

ครูออตแจกกระดาษและดินสอให้นักเรียน และบอกให้ดูสารคดีอย่างผ่อนคลายจะนั่ง จะนอนก็ได้ และถ้าตอนไหนในสารคดีเด็ก ๆ สนใจ ชอบใจ ก็สามารถบันทึกไว้ป้องกันลืมได้โดยไม่ต้องลงสีก็ได้ และแล้วหนังสารคดีเราก็เริ่มฉาย ส่วนตัวครูก็ได้พักผ่อนและคอยสังเกตพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยว่ามีปฎิกิริยาอย่างไร

ครูออตสังเกตว่าแรกเริ่มฉาย อาจจะมีเด็กบางคนไม่สนใจ(ในใจคงพูดว่า ทำไมไม่เปิดการ์ตูน) หลายคนที่ชอบดูสารคดีก็จะเล่าสารคดีที่เคยดูแทรกมาบ้าง แต่หลังจากเวลาผ่านไปห้านาทีจะสังเกตว่าเด็ก ๆ นั่งนิ่งจ้องทีวีอยู่ตลอดเวลา บางคนถึงตอนที่สนใจก็จะวาดภาพง่าย ๆ เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ลืม

การดูวีดีโอแล้วจดบันทึกออกมาเป็นภาพ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กคิดและจดจำเป็นภาพซึ่งช่วยให้เด็กจำเนื้อหาได้เร็วและแม่นยำกว่าการจำเป็นคำ เมื่อต้องการนำเนื้อหากลับมาเล่าอีกรอบก็สามารถรื้อภาพจำในสมองมาใช้ได้เร็วกว่า ดังนั้นการสอนเด็กให้จำเป็นภาพนั้นจึงสามารถช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีในวิชาอื่น ๆ ได้ การเขียนเนื้อหาที่เด็กสนใจจากวีดีโอก็ช่วยให้เด็กจำเป็นภาพได้ดี

ในกระบวนการการบันทึกเนื้อหาด้วยภาพเราจะสังเกตเห็นวิธีการที่แตกต่างกัน เด็กบางคนที่มีระเบียบวินัยมากจะเขียนเรียงลำดับไปเรื่อย ๆ ตามการดำเนินเรื่องในสารคดี ส่วนเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเขียนสลับกันไปกันมา ไม่ต้องเรียงลำดับ(เท่าที่สังเกตจะพบว่าเด็กที่มีจินตนาการสามารถจดบันทึกเป็นภาพได้หลากหลายตอนมากกว่าเด็กที่มีระเบียบ ## แต่นี่ไม่ใช่ข้อสรุปนะครับ)

เด็กบางคนตอบสนองได้ดีต่อสิ่งเร้าที่เป็นคำพูดของครูหรือการเรียนการสอนปกติ แต่ไม่เก่งเมื่อต้องมาสรุปความคิดผ่านการดูสารคดี เนื่องจากมีเนื้อและน้ำปนอยู่ด้วยกันและแยกแยะไม่ออก(เหมือนกับว่ามีความรู้เต็มไปหมด) ซึ่งยากกว่าการสรุปผ่านการบอกเล่าของครูที่มักพูดสรุปเนื้อหาให้เสร็จสรรพ ดังนั้นการสอนด้วยการดูวีดีโอจึงสามารถช่วยให้เด็กแยะแยะและครัดกรองความรู้ได้และจำรายละเอียดปลีกย่อยได้ดี

(เด็กน่ารักพิเศษน้องเนย์ บันทึกปะปนกันไป แต่ก็ไม่ลืมกำกับด้วยตัวเลขกันลืม)

นอกจากเนื้อหาที่เป็นความรู้ ในสารคดีเราจะพบอารมณ์ของตัวละครในเรื่องด้วยเช่น ตอนที่มันหิว ตอนที่มันหลบหลีกศัตรู ตอนที่มันขย้ำสัตว์อื่น ตอนที่มดหนีน้ำ ตอนที่มันโดนไฟเผา ซึ่งอารมณ์ที่แสดงออกผ่านสื่อวีดีโอมีหลากหลายมากกว่าการเล่าของครูมาก ซึ่งบางที่ไม่ต้องมีการบรรยายแต่ทำให้เด็กซาบซึ้งไปในอารมณ์ง่ายกว่า การเรียนรู้อารมณ์นี่เองทำให้การแสดงออกในงานศิลปะมีชีวิตชีวาไม่แห้งและอุดมไปด้วยรูปทรงอย่างเดียวแต่เป็นรูปทรงที่ให้อารมณ์ความรู้สึก

วันนี้ครูออตสังเกตเห็นเด็ก ๆ ตั้งใจดูและตั้งใจบันทึกมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงปล่อยให้เด็ก ๆ ดูจนจบเรื่องมดทั้ง 4 ตอนซึ่งกินเวลาไปมาก ดังนั้นวันนี้เลยไม่จำเป็นต้องระบายสีน้ำหรือทำกิจกรรมศิลปะต่อ เพราะการบันทึกของเด็ก ๆ นั้นครูออตถือว่าเป็นผลงานศิลปะที่สุดยอดแล้วนั้นเอง ได้ทั้งความรู้ได้ทั้งทักษะทางศิลปะได้ทั้งสุนทรียศาสตร์ เห็นไหมว่าครูไม่ต้องเหนื่อยมากหากเลือกสื่อการสอนเป็นดังนั้นครูศิลปะที่ดีควรหาสื่อที่หลากหลาย งดการกระตุ้นที่จำเจซ้ำซากเพื่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่เด็ก

(นางพญามดของน้องพิม จะสังเกตเห็นเท้าของมันจะเป็นกลม ๆ เพราะว่ามันเหนียวหนืดยึดเกาะเก่ง)

ครูออตขอกลับไปดูสารคดีเรื่องมด ให้ละเอียดอีกรอบก่อน เผื่อเด็กโตต้องการกิจกรรมที่มากกว่าการบันทึกด้วยภาพ อาจจะอยากลงไปสนามเพื่อไปดูรังมด รูมด ไข่มด ด้วยก็ได้ ไปแล้วครับเจอกันบันทึกต่อไป

ตุลาคม 21, 2011

ประสบการณ์ 3จ กับเด็กน่ารักพิเศษ

เวลาไปไหนกับเพื่อนพ้องพี่น้องครูอาจารย์ที่เราสนิทสนม เมื่อเจอบุคคลที่สามเพื่อนพ้องพี่น้องเหล่านั้นจะแนะนำและชมครูออตว่าเป็นขวัญใจเด็ก(น่ารัก)พิเศษแบบนั้นแบบนี้ พอได้ฟังก็อดดีใจไม่ได้ที่เราสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจเด็กพิเศษเหล่านั้น เด็กที่ครูหลายคนขยาดไม่อยากสอน ได้ยินแบบนี้ก็ดีใจและมีพลังในการทำงานเพิ่มเป็นทวีคูณตามประสาคนบ้ายอ

(แคมป์ตุลาคม กับโปรแกรมละครสำหรับเด็กที่โรงเรียนพัฒนาเด็ก ขอบอกว่าศูนย์รวมเด็กน่ารักพิเศษ)

สำหรับเด็กพิเศษครูออตนึกถึงหนังสือเรื่อง There’s A Boy in the Girls’ Bathroom ซึ่งเขียนโดยหลุยส์ ซัคเกอร์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เวลาไปเจอครูคนอื่น ครูออตมักจะแนะนำให้ไปอ่าน อย่างน้อยอ่านเอาสนุกก็ได้เพราะเนื้อหามันสนุกและได้แง่คิดที่พิเศษ ในฐานะที่ครูทุกคนควรจะมีและเรียนรู้จากตัวละคร ครูออตอ่านจบได้ภายในสองวันซึ่งยืนยันได้ว่าสนุกจริง ๆ

There’s A Boy in the Girls’ Bathroom เป็นเรื่องของครูที่ปรึกษาคนใหม่แสวงหาวิธีการเปิดให้เข้าถึงหัวจิตหัวใจของเด็กที่ครูทุกคนในโรงเรียนเรียก “เด็กหลังห้อง”(เด็กที่ครูทุกคนไม่ชอบ เด็กที่เพื่อน ไม่คบ) ซึ่งครูคนนี้มองว่าเป็นเด็ก(น่ารัก)พิเศษ ซึ่งกลยุทธ์และกระบวนการของครูในการเอาชนะใจของเด็กคนนี้มันแสนสนุกและครูออตขอเชิญชวนทุกคนลองซื้อมาอ่านดู

วกเข้ามาถึงเด็กน่ารักพิเศษของครูออต จากประสบการณ์ที่ได้เจอได้สอนครูออตคิดว่าหากเข้าใจ 3จ อาจจะทำให้เราสนุกกับการสอนเด็กกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะการสอนศิลปะ ซึ่ง 3 ไม่ใช่ทฤษฎีแบบวิชาการแต่เป็นประสบการณ์ที่เจอเองและมานั่งประมวลแต่ไม่ได้สรุป

จ.จินตนาการ เรื่องนี้ปฏิเศษไม่ได้เพราะเด็กกลุ่มนี้มีจินตนาการอันบรรเจิดกว่าเด็กปกติมาก มากจนเขาไม่สามารถอยู่ในกรอบวิชาศิลปศึกษา ที่เขาใช้สอนกันในชั้นเรียนได้ เราจะพบเห็นรูปร่างรูปทรงเรื่องราวที่แสนพิเศษบ้างก็เป็นเรื่องประราว บ้างก็หลุดโลก ซึ่งจินตนาการมากนี่เองหากมือเขาไม่สามารถตอบสมองได้เด็กกลุ่มนี้จึงได้ทั้งมือ เท้า ร่างกายมาถ่ายทอดจินตนาการเหล่านั้น ด้วยจินตนาการที่มากหากกระดาษมันไม่เพียงพอเราจะพบว่าเขาอาจจะเขียนออกมานอกกระดาษ ลามไปถึงผนังห้อง บ้างก็ลามไปจึงแขนขาหน้าลำตัวของเขาเองหรือแม้แต่เพื่อนร่วมห้อง ดังนั้นจิตนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูสอนเด็กพิเศษควรเข้าใจว่าทำไมเขาจึงแสดงออกมาแบบนั้น

จ.จี๊ด เด็กพิเศษมักไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทั้ง ๆ ที่เขาอยากควบคุมตัวเองให้เหมือนนักแข่งรถ แต่เมื่อสมองมันสั่งแรงเร็วบางทีปุ่มควบคุมไม่สับสนงงงวยและไม่ตอบสนอง อยู่นอกเหนือจากการควบคุม ทำให้พลังงานของเขาเยอะกว่าปกติ ทั้งแรง เสียง ดังนั้นจึงเหมือนว่าเขาเล่นแรงกับเพื่อนจนเพื่อนเจ็บ บางทีระบายสีแรงจนสีกระจาย บางทีกรี้ดดดดเสียงดังมากหรือบางทีร้องไห้มากเหมือนใจจะขาด เหล่านี้ครูออตคิดว่าเพราะตัวเขาจี้ดดดดดดดดดดดดด จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากครูเข้าใจคงจะมีวิธีการช่วยเหลือเขาได้

จ.จิตใจ เด็กพิเศษหลายคนที่ครูออตเจอเหมือนว่าเขาอ่านใจเราออก มีทักษะพิเศษมากในการอ่านสายตาของครู อ่านกริยาท่าทสงของครูหรืออ่านความคิดของครูออก ดังนั้นหากเราคิดบวกกับเขาเขาจะสนิทสนมกับเราง่ายกว่า เราคิดที่จะจัดการเขา เรื่องนี้ครูออตมีประสบการณ์หลายคน หลายคนเราตั้งใจมากที่จะช่วยเขาวางแผนแบบนั้นแบบนี้แต่เหมือนการวางแผนในการจัดการกับเขาเหมือนเขารู้ไปหมด แต่การปล่อยสมองให้ว่างคิดบวกไว้ไม่คิดจัดการ ไม่คิดบังคับ ไม่คิดอยากได้อะไรจากเขาบรรยากาศการสอนเหมือนมันจะง่ายขึ้นมากเขาให้ความร่วมมือกับครูมากขึ้น ดังนั้นครูออตว่าเขามีทักษะพิเศษในการล่วงรู้จิตใจของคน หากเรารู้แบบนี้เราก็จะเปลี่ยนวิธีการสอนเด็กพิเศษเสียใหม่เพื่อให้เขาตอบสนองดีดีต่อการเรียนรู้ของเรา

(ฉันอยากมีตาเหมือนพญาครุฑ)

(นิ้วสำหรับทากาวไม่เพียงพอ ฉันขอเอาทั้งมือไปเลย)

3จ ที่ครูออตเอามาเล่านี้ไม่ใช่ข้อสรุปแต่เป็นเรื่องเล่าที่อยากจะเล่า เผื่อครูศิลปะ ครูสอนเด็กพิเศษอาจจะนำไปปรับใช้กับครูเอง และเอามาแลกกันนะครับอาจจะพบ จ อีกเยอะแยะเลยล่ะ

ตุลาคม 11, 2011

Thai Art

ไม่นานปีมานี้ผมรู้สึกประทับใจการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นไทย ความเป็นท้องถิ่น หลายครั้งที่ทีมรุ่งอรุณมาขอนแก่น ครูรุ่งอรุณก็จะพาเด็กไปดู คัดลอกและเรียนรู้จิตรกรรมฝาผนังอีสานโดยเฉพาะวัดไชยศรี บ้านสาวัตถี ตำบลสาวัตตี อำเภอเมือง การจัดการศึกษาแบบนี้ล่ะที่จะช่วยให้ศิลปวัฒนธรรมไทยและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะยังคงอยู่สืบไป

HUG SCHOOL แม้มีภาพลักษณ์ความเป็นศิลปะ(เด็ก)แบบสมัยใหม่ แต่ครูที่นี่ก็พยายามออกแบบการเรียนรู้ที่มีความเป็นไทยและความเป็นท้องถิ่นเข้าไปแทรกอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยเสมอ เพราะเราเชื่อว่าการประทับตราความเป็นไทย นิยมไทยนั้นต้องเริ่มจากตัวเล็ก ๆ เสียก่อน ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ครั่งแบรนด์เนมในอนาคตอันใกล้หรือที่ท่าน นพ.เกษม วัฒนชัย ท่านเรียกว่า “นิยมเทศ”

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ(ขอนแก่น) ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองและดีที่เขาเปิดวันหยุด  เพื่อให้คนที่ไม่ว่างในวันทำงานได้มีโอกาสมาชม แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ผลหากคนทำงานพิพิธภัณฑ์ของรัฐเหล่านี้ยังทำงานเฉพาะในพิพิธภัณฑ์กลายเป็นคนแก่เฝ้าของเก่าไป  แต่ข้าวของในพิพิธภัณฑ์นั้นน่าสนใจและมีคุณค่าในการศึกษาเป็นอย่างมาก และบ่อยครั้งครูออตก็พาเด็ก ๆ ไปเรียนกันที่นั้น

ครูออตอธิบายถึงมารยาทในการชมพิพิธภัณฑ์ให้แก่เด็ก ๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกันและไม่เกิดปัญหาในการชมพิพิธภัณฑ์ของคนอื่น เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจ เด็ก ๆ ก็เข้าไปดูข้าวของที่จัดแสดง ถามสิ่งที่ตนเองสนใจและลงมือวาดในข้าวของที่ตนเองอยากรู้  ครูแค่คอยอธิบายและตอบคำถามที่อยากรู้ของเด็กเท่านั้นก็พอ และนอกจากก็แค่คอยสังเกตเด็กอยากได้อะไรเพิ่มเติม ใครพบวัตถุที่สนใจแล้ว ใครยังเลือกไม่ได้ ใครพร้อมลงมือวาด

เมื่อสัปดาห์ก่อนไม่มีเวลาพานักเรียนไปพิพิธภัณฑ์ ครูออตก็อาศัย “ครูGOOGLE” ในการสอนเด็ก ๆ โดยเลือกศิลปะการเขียนลายในเครื่องถ้วยหรือที่เรารู้จักในชื่อ เบญจรงค์  โดยให้นักเรียนไปค้นหาเบญจรงค์ที่ตนเองชอบ ดูเครื่องถ้วยที่สนใจ  สังเกตลวดลาย  สังเกตสีที่เขียนลาย เสร็จแล้วก็นำมาคัดลอก 1 ชิ้นและสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ 1 ชิ้น

เมื่อเรียนแบบไทย ๆ ครูออตก็สร้างสรรค์บรรยากาศแบบไทย ๆ โดยเปิดเพลงไทย ๆ ไปด้วยแน่นอน “ลาวดวงเดือน” ของครูออตกับเบญจงค์ก็ดูเข้ากันได้ทีเดียว เพลงที่ช้า ๆ กับ ลวดลายที่อ่อนช้อย ทำให้เด็กทั้งห้องเงียบและสงบทันที ทำเอาครูออตเวลาจะเยื่องย้ายตัวเองไปไหนต้องเหินไปยังกะตัวละครในนาฎศิลป์ไทย การจัดบรรยากาศแบบนี้ก็ดูได้ผลไปอีกแบบ

การคัดลอกลวดลายตามแบบลวดลายเดิมของไทยนั้นทำให้เด็ก ๆ รู้จักเป็นคนช่างสังเกต และรู้จักการวางสัดส่วนของลายที่ช่างโบราณเขียน เพราะหากไม่รู้จักสัดส่วนลวดลายก็จะไม่ลงตัวพอดีในเครื่องถ้วยชาม ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ต้องสอนแต่ปล่อยให้เด็กลงมือทำเอง เมื่อเขาเขียนไปเรื่อยแต่ไม่ดูสัดส่วน ก็จะทำให้ลายเขียนมันแปลกๆไป และไม่ลงตัวกับขนาดของถ้วย นำมาซึ่งต้องทำใหม่ เหมือนกับคำสอนที่ว่า “ไม่รู้ชั่วก็ไม่รู้ดี ไม่รู้ผิดก็ไม่รู้ถูก”

และเมื่อเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาอวดผลงาน  และผลงานเสร็จก็แทบไม่น่าเชื่อว่าเด็กประถมศึกษาจะทำได้ดีขนาดนี้ อิอิ นี่เป็นหนึ่งในหัวใจไทยที่เราสอน

กันยายน 17, 2010

Motivation : Children Art

ชื่อศิลป พีระศรี น่าจะเป็นที่รู้จักของไทยไม่น้อย โดยเฉพาะผู้คนในแวดวงศิลปะ เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานศิลปะร่วมสมัยของไทยโดยเฉพาะการผลักดันให้มีการเปิดการเรียนการสอนด้านศิลปะร่วมสมัยในระดับอุดมศึกษาของไทยโดยเฉพาะการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยด้านศิลปะแห่งแรกของไทยที่มีการจัดการศึกษาศิลปะร่วมสมัยในแบบตะวันตก

แนวคิดการจัดการเรียนการสอนศิลปะได้กระจายออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านลูกศิษย์ลูกหาของ ศ.ศิลป พีระศรี ในภาคอีสานแม้จะดูห่างไกลจากแวดวงศิลปะร่วมสมัยแต่ศิลปะก็ได้งอกเงยขึ้นที่นี่ โดยเฉพาะที่สาขาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาวิชาที่เกิดการจัดการเรียนการสอนศิลปะในระดับปริญญาตรีแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันอังคารที่ผ่านมาผมได้ไปร่วมงานวันศิลป พีระศรีของสาขาศิลปศึกษาอย่างน้อยก็เพื่อไปใ้ห้กำลังใจนักเรียนศิลปะของผมที่ได้รับรางวัลในการประกวดศิลปะเด็กในกิจกรรมวันนี้ ซึ่งบรรยากาศของงานนั้นเป็นไปด้วยความเดียงสาแต่ทว่างดงามด้วยผลงานศิลปะของเด็ก ๆ ที่สดใส มีจินตนาการชวนให้เราคิดถึงวันเวลาที่อยู่ในห้วงวัยเด็กของตนเอง

ในส่วนตัวนั้นไม่ได้มีอคติสำหรับการประกวดศิลปะแต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายของการสอนศิลปะสำหรับผม ดังนั้นการจะหอบหิ้วและเคี่ยวเข็นนักเรียนศิลปะไปประกวดศิลปะเพื่อจะให้ได้รับรางวัลเห็นที่จะไม่ใช่การสอนของผม เพราะศิลปะสำหรับผมเป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยแรงกดดันภายในจิตใจของเด็ก เป็นเครื่องมือที่จะถ่ายทอดจินตนาการในเด็ก เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประสาทสัมผัสของเด็กและที่สำคัญเป็นเครื่องมือในการสร้างสมาธิเชิงสร้างสรรค์แก่เด็ก ไม่ใช่เครื่องมือในการกดดันเด็ก

แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าควรนำมาคุยในบันทึกนี้เห็นจะเป็นวิธีการตั้งรางวัลสำหรับการประกวดศิลปะเด็ก เรื่องรางวัลนั้นเห็นจะเป็นแค่เครื่องมือในการจูงใจสำหรับเด็กเท่านั้น แม้รางวัลจะมูลค่าไม่กี่บาทแต่สำหรับเด็กมันเป็นมูลค่าสูงโดยเฉพาะในความทรงจำของเขา ดังนั้นผู้จัดการประกวดศิลปะควรเข้าใจเครื่องมือนี้ให้ดี เพราะมิฉะนั้นรางวัลอาจจะกลายเป็นตัวทำลายศิลปะก็ได้

ในการให้รางวัลสำหรับเวทีใหญ่ ๆ อย่างการประกวดศิลปะเด็กและเยาวชนแห่งชาตินั้น ผมว่าต้องมาดูงานของการประกวดศิลปะเ็ด็กของสาขาศิลปศึกษานี้เป็นตัวอย่างเพราะวิธีการตั้งรางวัลแบบศิลปะและเยาวชนแห่งชาตินั้นดูล้าสมัยและเดินลงคลองไป เพราะการตั้งรางวัลแบบสุดยอดหนึ่งเดียวนั้นเป็นการตั้งรางวัลแบบสุดยอดศิลปะ มากกว่า การตั้งรางวัลเพื่อส่งเสริมศิลปะในใจเด็ก ไปดูวิธีการให้รางวัลของเวทีระดับชาติดูครับ

- รางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ๑ รางวัล เงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท
- รางวัลศิลปกรรมเหรียญเงิน ๒ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๘,๐๐๐ บาท
- รางวัลศิลปกรรมเหรียญทองแดง ๗ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๕,๐๐๐ บาท
- รางวัลชมเชย ๓ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๒,๕๐๐ บาท

การตั้งรางวัลแบบนี้ ทำให้การแข่งขันมีความเข้มข้นสูง การส่งงานผลงานไปประกวดทำให้ครู ผู้ปกครองหลายสำนักเคี่ยวเข็ญเพื่อให้ได้รับรางวัลที่สูงสุด ซึ่งมีเพียงรางวัลเดียว และด้วยการวาดภาพจากบ้านแล้วส่งไปยิ่งทำให้ศิลปะเด็กที่ได้รับรางวัลอาจจะไม่เดียยงสาอย่างที่เด็กแสดงออกเพราะมีการเคี่ยวเข็นจากครู ผู้ปกครอง วิธีการนี้สำหรับผมช่างล้าสมัยเอาเสียจริง  ๆ

แต่การตั้งรางวัลแบบศิลปศึกษานั้นไม่ได้เน้นการตั้งรางวัลแบบ พีระมิด  แต่เป็นการตั้งรางวัลแบบฐานกว้าง ยอดกว้างหมายถึงยอดไม่ต้องแหลมนักแต่ให้รางวัลจำนวนมาก โดยนัยยะหมายถึงการมีจำนวนรางวัลมาก ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กมีแรงใจในการทำงานศิลปะ ครูผู้ส่งผลงานก็เกิดแรงจูงใจ เนื่องจากมีจำนวนรางวัลมากกว่า

(คุณแม่-น้องสเก็ตและผอ.นุช เจ้าของโรงเรียนฮัก ขอนแก่น)

ผมคุยกับน้องสเก็ต นักเรียนของผมว่ารู้สึกอย่างไรกับการได้รับรางวัลชมเชย สเก็ตบอกดีใจและดูในทีผมไม่เห็นว่าสเก็ตรู้สึกน้อยใจที่ตนเองได้รับรางวัลชมเชยแทนที่จะเป็นรางวัลยอดเยี่ยม  ทั้งนี้เพราะเด็กไม่ได้มุ่งที่รางวัลสุดยอด แต่มุ่งที่ได้”รางวัล” แม้จะเป็นรางวัลน้อย ๆ แต่ก็ดีใจไม่ต่างจากรางวัลใหญ่

ดังนั้นผมเห็นว่าการตั้งรางวัลมาก ๆ จะช่วยให้เด็ก ๆ มีแรงบันดาลใจการทำงานศิลปะ เมื่อได้รับรางวัลเด็กก็มีแรงขับในการทำงานศิลปะ รักในการทำงานศิลปะของตนเอง องค์กรไหนที่อยากจัดก็น่าจะเอาแบบอย่างจากที่นี่ดูบ้างนะครับ อย่าเพิ่งสอนเด็กให้เหนือคนอื่นเลย เพราะเดี๋ยวจะมองไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น

กันยายน 1, 2010

พัฒนาศิลปะเด็กรายบุคคล : จำเป็นไหม?-จำเป็น

การเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านศิลปะเด็กสำหรับโรงเรียนสอนศิลปะเอกชน แม้รูปแบบจะดูสบาย ๆ ไม่ต้องยึดติดกับระบบระเบียบอะไรมาก แต่ระเบียบการหรือเครื่องมือบางที่โรงเรียนกระแสหลักในระบบใช้ หากนำมาผสมผสานและยำเข้ากับความสบาย ความสนุกสนานแล้ว มันคงทำให้เราได้ยำศิลปะจานใหญ่ที่แซบน่าดู

ที่ Hug School แม้เครื่องมือจะเน้นไปที่กระบวนการไม่เน้นที่ผลงาน แต่การประเมินพัฒนการของเด็กแต่ละคนนั้นถูกนำมาพูดคุยเสมอในการพบประแบบไม่เป็นทางการระหว่างครูกับเด็ก  ครูกับผูั้้บริหารโรงเรียนและครูกับผู้ปกครอง กระบวนการสื่อสารกันแบบไม่เป็นทางการนี้ทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนสบายไม่เคร่งเครียดเหมือนการนั่งพูดในห้องประชุมที่ดูทางการ

การประเมินพัฒนการของเด็ก สำหรับห้องเรียนครูออตถูกนำมาประมิน 2 ส่วนคือศิลปะปฏิบัติ และ ศิลปะนิสัย

ศิลปะปฏิบัตินี้หมายรวมทั้งทักษะการแสดงออกทางองค์ประกอบศิลปะ(รูปร่าง รูปทรง เส้น สี ฯลฯ) ทักษะกระบวนการคิด(คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดเร็ว คิดหลากหลาย คิดบวก ฯลฯ) ทักษะเหล่านี้ดูได้จากกระบวนการคิด การะบวนการขณะทำงานและผลงานของเด็กที่ปรากฎออกมา

ศิลปะนิสัย หมายถึงกระบวนการแสดงออกทางพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่เคยปฎิบัติ ถูกบังคับ ถูกเลี้ยงดู การอบรมบ่มนิสัย ความกดดันจนเกิดเป็นความเคยชินเช่น นิยมความรุนแแรง ความก้าวร้าว ไม่มีความรับผิดชอบ  ไม่รับฟังความคิดเห็นใคร  เอาแต่ใจ  ไม่เล่นกับเพื่อน ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้แม้ผู้ปกครองไม่ได้แจ้งก่อนที่จะส่งลูกมาเรียนศิลปะ แต่เมื่อครูสัมผัสย่อมสามารถประเมินได้ เพราะห้องเรียนศิลปะมีความอิสระ เป็นเพื่อนในการยอมรับการแสดงออกของเขา จนเขาแสดงนิสัยส่วนตัวออกมา

ในบันทึกนี้ขอเล่าถึงพัฒนาการของนักเรียนครูออต 1 คนที่มีพัฒนาทางศิลปปฏิบัติและศิลปะนิสัย ไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากเรียนศิลปะผ่านไปแล้ว 1 คอร์ส

น้องฮี(นามสมมติ) เป็นเด็กน่ารักเมื่อแรกเจอครูออต ผู้ปกครองส่งไปเรียนดนตรีแต่ทุกครั้งที่เรียนดนตรีเสร็จจะมาทำหน้าเจียมเจี้ยมที่ห้องศิลปะของครูออตและขอดูสีนั้นสีนี่  ขอลองนั้นลองนี่ จนมั่นใจว่าครูแอบชอบฮีเข้าแล้วเพราะความเรียบร้อยพูดง่ายของฮี  หลังจากนั้นไม่นานก็พบว่าฮีมาลงเรียนศิลปะกับครูออตในตอนเช้าของวันเสาร์

แต่สิ่งที่ฮีปฏิบัติเมื่อมาเรียนช่างแตกต่างจากช่วงที่มาสนใจศิลปะเอามาก ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าคือการไม่เรียบร้อยเหมือนเก่าก่อน การเล่นที่อยู่นอกกรอบที่ห้องเรียนและเพื่อนจะรับได้ การไม่ยอมเล่นกับคนอื่น  การไม่ยอมสนใจงานศิลปะ

ในทุกเช้าที่ฮีมาเรียน ฮีมาพร้อมกับพี่เลี้ยงและคราบน้ำตา พร้อมกับคำต่อรองกับพี่เลี้ยงอีกมาย หน้าห้องเรียนฮีจะเกาะพี่เลี้ยงแจยังกะลูกชะนีที่เพิ่งเกิดใหม่ มองหน้าครูออตเหมือนคนไม่รู้จักกันมา่ก่อน  แต่เมื่อครูออตออกมารับฮีจะเปลี่ยนจากกอดคอพี่เลี้ยงมาเป็นกอดคอครูออตและบอกเหตุผลที่ร้องไห้เสมอไว่ว่าจะเป็น  อยากไปเซ็นทรัล  อยากดูการ์ตูน  อยากเอาตุ๊กตาทหารมาที่ห้องเรียนด้วยแต่พี่เลี้ยงห้าม ฯลฯ เมื่อครูออตรับฟังและพูดบางสิ่งบางอย่างฮีก็จะกลายร่างจากลูกชะนีเป็นลิงทะโมนทันที

ในการทำงานศิลปะ ฮีมีสมาธิอยู่กับงานศิลปะน้อยมากเมื่อแรกเข้ามาเรียน ขีดๆเขียนๆแล้วก็เลิก หันไปสนใขเล่นเสียมากกว่า  ภาพที่เขียนในช่วงแรกเป็นภาพออกไปทางนามธรรมหรือเพื่อน ๆ มักบอกว่า ฮีเขียนมั่ว โทนสีออกไปทางเทา ๆ ดำ เข้ม ๆ เสียมากกว่า เมื่อเพื่อนในห้องทักว่ามั่ว ฮีก็จะตักน้ำที่อ่างมาราดกระดาษของตนเองจนทั้งกระดาษ กระดานและห้องเรียนเปียกไปหมด

ครูออตเคยคิดที่จะแยกฮีออกมาเรียนเดี่ยวก่อน เมื่อคิดว่าดีแล้วค่อยกลับไปเรียนกับเพื่อน แต่ก็หยุดความคิดนี้ไปเพราะเห็นว่าการไม่ปรับตัวทำงานกับเพื่อนก็ต้องแก้ด้วยการพยายามให้อยู่กับเพื่อน ดังนั้นฮีจึงเรียนกับเพื่อน ๆ สี่คนในห้องเรียนจากชั่วโมงที่หนึ่งจนปัจจุบันหมดคอร์สไปแล้ว 1 ครั้งซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี

การประเมินพัฒนาจากผลงานพบว่า ฮี มีพัฒนาการแสดงออกที่ดีขึ้นมาก จากตอนแรกไม่เป็นรูปเป็นร่างและสีที่ใช้ไปในทางเข้ม ดำ ทึม ในช่วงหลัง ฮี เริ่มมีสีสันมากขึ้นทั้งนี้ประกอบการมาเรียนแต่ละครั้งก็เป็นไปด้วยดีไม่ร้องไห้เหมือนครั้งแรก ๆ  ซึ่งน่าจะส่งผลต่อจิตใจของเด็กด้วย  แม้ช่วงที่เพื่อนทำงาน ฮีจะไม่ยอมทำ แต่เมื่อเพื่อนไปเล่นสนามฮีกลับมาทำงานตนเองแม้จะมีสมาธิไม่มาก แต่ก็นับว่าเขามีความรับผิดชอบที่จะเรียน ครูออตสันณิฐานว่าการวาดรูปตอนเพื่อนไม่อยู่แสดงว่าฮีขาดความมั่นใจในการวาดทั้งนี้อาจจะด้วยปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลต่อนิสัยในข้อนี้  แต่เรื่องนี้ก็ไม่ยากต่อการแก้ไขในอนาคต  ไปดูพัฒนาการที่มองจากผลงานของฮีกันครับ

ผลงานบางส่วนที่แสดงพัฒนาการทางการแสดงออกของน้องฮี  และนี่เป็นผลงานในชั่วโมงท้ายๆของคอร์สนี้ครับ ไปดูความแตกต่างของการแสดงออก ซึ่งมองเห็นพัฒนาการแล้ว ครูออตยิ้มออกแล้ว

สิงหาคม 16, 2010

คำชม: กรงขังแห่งจินตนาการเด็ก

พ่อแม่หลายคนเมื่อลูกหอบหิ้วผลงานศิลปะกลับมาจากโรงเรียนเมื่อดูผลงานแล้วก็ชมลูกเสียเป็นสายน้ำ  เพราะหลังกระดาษวาดรูปที่เจ้าตัวน้อยถือกลับมาบ้านมีจารึกด้วยผลการประเมินจากครูศิลปะว่า A หรือไม่ก็ 10/10 ซึ่งคำชมเชยแทนที่จะช่วยเสริมความมั่นใจของเด็กแต่สำหรับเด็กบางคนมันช่างกดดันและสร้างกำแพงแห่งจินตนาการเอาไว้เสียจริง ๆ

น้องฟ้า เจ้าตัวน้อยวัยหกขวบ วัยซึ่งในสมองคือโลกของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ วัยที่จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้เิกิดขึ้นบนผืนกระดาษได้  หลายสัปดาห์ผ่านไปครูออตสังเกตเห็นว่าน้องฟ้าไม่วาดสิ่งได้เลยนอกเสียจากกระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้ ทั้ง ๆ ที่เด็กคนอื่นเปลี่ยนสิ่งที่วาดตามกิจกรรมในแต่ละครั้ง

ทำไมน่ะหรือ นั้นก็เพราะว่า กระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้ที่น้องฟ้าเหล่านี้มักได้รับคำชมจากครูและพ่อแม่เสมอว่ามันคืองานศิลปะที่ดีมาก เมื่อใครมาเยี่ยมที่บ้านแม่ก็มักชมน้องฟ้าต่อหน้าคนอื่่นว่าวาดกระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้สวยจนได้คะแนนเต็มในวิชาศิลปะ คำชมเหล่านั้นในบางครั้งมันคือกำแพงแห่งจินตนาการสำหรับสมองแ่ห่งความคิดสร้างสรรค์

แล้วคำชมแบบไหนจึงจะเหมาะกับการชมในกิจกรรมทางศิลปะ  ในห้องเรียนครูออตมักจะหลีกเลี่ยงว่าเด็กวาดรูปต้นไม้สวย  วาดรถสวย วาดคนสวย  วาดก้อนเมฆสวย  เพราะคนชมเหล่านี้เมื่อชมไปเรื่อย ๆ เด็กจะเกิดอาการยึดติดเพราะครูบอกว่าสวย ดังนั้นสิ่งที่ครูออตจะชมก็คือความขยันของเด็ก ๆ ในการวาด

ว้าวต้นไม้นี้โตเร็วจัง  มันเริ่มออกลูกแล้วใช่ไหม ในความหมาย ก็เพื่อจะบอกเด็กว่าเขาได้พยายามวาดสิ่งอื่นเพิ่มเติมนอกจากต้นไม้ เพราะเขาได้บรรจงวาดผลไม้สีแดงเต็มต้น บางคนอาจจะเริ่มใส่รังนกบนต้นไม้ แทนที่จะเป็นต้นไม้เดียว ๆ เหมือนกับสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

อู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ  รถไฟของหนูช่างขนของได้เยอะเสียจริง ๆ ดูโบกี้นี้ขนคน  โบกี้นี้ขนตู้ปลา โบกี้นี้ขนม้า  ครูออตอยากรู้จังว่าโบกี้ต่อไปจะขนอะไรน้า ในความหมาย ก็เพื่อจะบอกเด็กว่าเขามีความอดทนที่จะวาดสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมจากสิ่งที่เขาวาดมาแล้ว เพื่อส่งเสริมให้เขาคิดหลากหลายมากขึ้น การมีความคิดที่หลากหลายจะทำให้เขามีตัวเลือกในการตัดสินใจได้มากมาย ไม่ได้ยึดติดอยู่กับเส้นทางเดิม

นี่เป็นตัวอย่างคำชมที่ครูออตใช้ในห้องเรียนศิลปะ เพราะการชมที่เหมาะสมน่าจะช่วยเสริมสร้างโลกแห่งจินตนาการสำหรับเด็ก ๆ ซึ่งสวนทางกับคำชมพร่ำเพื่อที่จะกลายเป็นตัวทำลายจินตนาการของเด็ก

มิถุนายน 6, 2010

พลังงานสร้างสรรค์

เด็กพิเศษของครูออตส่วนใหญ่ล้วนเป็นคนมีพลังงานเยอะ สวนทางกับสมาธิในการทำงานที่น้อยกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จึงเป็นเสมือนหน่วยก่อกวน ซึ่งมักทำให้บรรยากาศที่แสนสงบเงียบในห้องเรียนต้องอึกทึกครึกโครม

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เด็กพิเศษมักไม่ได้รับการจัดกลุ่มให้เรียนกับเด็กปกติโดยเฉพาะกระบวนการเรียนนอกโรงเรียนที่ผู้ปกครองยอมเสียเงินที่เมื่อรวมกันหลายเดือนมักสูงกว่าค่าเทอมเสมอ ปรากฎการณ์เหล่านี้ทำให้สถานที่จัดการศึกษานอกโรงเรียน(โรงเรียนสอนพิเศษ)จึงมักปฏิเสธให้เด็กพิเศษเข้าเรียนกับเพื่อน ๆ เพื่อรักษากลุ่มลูกค้าให้พึงพอใจในห้องเรียน

คำแนะนำของครูสอนพิเศษจึงมักแนะนำให้นำเด็กไปฝึกสมาธิก่อน หมายถึงควรเอาลูกไปรักษาภาวะสมาธิน้อยกว่าเด็กปกติก่อนแล้วจึงส่งมาเรียน และความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก็มักเชื่อมั่นว่า ศิลปะคือกระบวนการที่จะช่วยให้ลูกของตนเองมีสมาธิมากขึ้น

ในระยะหลังที่ HUG SCHOOL จึงมักมีผู้ปกครองนำเด็กพิเศษมาให้ครูออตเลี้ยงมากขึ้น ซึ่งเด็กพิเศษที่ว่ามีหลากหลายแนว แนวหนึ่งที่มักเจอกันบ่อย ๆ คือ เด็กพิเศษที่มีพลังงานเยอะ เขาจะวิ่งเล่น กระโตนและให้พลังงานของร่างกายมากกว่าเด็กปกติมาก ดังนั้นจึงมักเล่นกันแรง ๆ และกระโจนวิ่งกันให้วุ่น ข้างของภายในห้องกระจุยกระจาย ปรากฎการเช่นนี้มักนำมาซึ่งการไม่ประสบความเร็จในการให้เด็กมีส่วนร่วมในการทำงานศิลปะ เพราะครูหลายคนมักหมดความอดทนและเหนื่อยกับการใล่จับปูใส่กระด้ง

สิ่งที่ครูหลายคนทำคือ หยุดวิ่ง! อย่าเล่นกัน! นั่งลงแล้วทำงานซะ! การกระทำเช่นนี้เป็นเสมือนการสร้างตนเป็นศัตรูแก่เขา เพราะคำพูดเหล่านั้นไม่ได้ช่วยทำให้เขาหยุดลงเลย หรือหากเขาหยุดปฏิกิริยาการไม่อยากมาเรียนศิลปะก็จะเกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นปัญหาอยู่พอสมควรกับครูศิลปะ

สิ่งหนึ่งที่ครูออตใช้และค่อยข้างได้ผลกับเด็กพิเศษของครูออตคือ การพยายามช่วงชิงสมาธิที่เขามีให้จดจ่ออยู่กับงานศิลปะและฟังเขาอธิบายงานศิลปะของเขาอย่างตั้งใจ เพราะทุกเรื่องที่เราเล่าแสดงว่าเขามีความต้องการบางอย่างที่อยากจะบอกเรา หากเราจับประเด็นที่เขาสนใจได้เราก็จะมีเรื่องคุยกับเขาต่อไป เมื่อเข้าสู่ห้วงเวลาสมาธิของเขาหมดลงและก้าวเข้าสู่ห้วงแห่งการใช้พลัง ช่วงนี้ครูออตจะรีบชิงตัวเด็ก ๆ ออกจากห้องเรียนให้เร็วที่สุด เป้าหมายคือสนามเด็กเล่นและพื้นที่โล่ง ๆ เพื่อให้เขาได้ปลดปล่อยพลังงานได้

(น้องบัคกับการสำแดงพลังหลังหมดสมาธิแล้ว ภาพด้านข้างเป็นผลงานหลังจากที่หมดสมาธิไปแล้ว)

สิ่งที่ครูออตสังเกตเห็นคือไม่ว่าเราจะเหนี่ยงรั้งเขาให้อยู่กับผลงานศิลปะสักเท่าไหร่ก็ไม่ได้เกิดประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะนัก หลายคนมักขีดขูดผลงานที่วาดเอาไว้สวย ๆในตอนแรกให้เละไม่เป็นรูป บางคนเอาสีราดผลงานให้มืดสนิทหรือไม่ก็วิ่งเล่นกันในห้องปาสี ปาพู่กัน ทำให้เกิดบรรยากาศที่วุ่นวายยากที่จะควบคุม และเมื่อให้เด็กออกไปปลดปล่อยพลังงานซึ่งใช้เวลาช่วงหนึ่ง หลังพลังงานหมดเด็ก ๆ จะกลับมาห้องเรียนศิลปะเช่นเดิมและครูออตมักเห็นว่าสมาธิเขาจะกลับมาเช่นเดิมแม้จะไม่มากเท่าในช่วงแรกแต่ก็ช่วยให้เด็กต่อเติมจินตนาการของตนเองจนสำเร็จลงได้

ครูศิลปะท่านไหนมีเด็ก(น่ารัก)พิเศษในห้องเช่นนี้ลองเอาไปใช้และหมั่นสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ของท่านว่ามีผลเป็นอย่างไร วิธีนี้อาจจะเสียเวลาในการวาดรูปไปบ้างแต่เพื่อแลกกับสมาธิที่เพิ่มมาอีกนิด ครูออตว่าน่าจะคุ้มนะครับ

Powered by WordPress