พัฒนาศิลปะเด็กรายบุคคล : จำเป็นไหม?-จำเป็น
การเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านศิลปะเด็กสำหรับโรงเรียนสอนศิลปะเอกชน แม้รูปแบบจะดูสบาย ๆ ไม่ต้องยึดติดกับระบบระเบียบอะไรมาก แต่ระเบียบการหรือเครื่องมือบางที่โรงเรียนกระแสหลักในระบบใช้ หากนำมาผสมผสานและยำเข้ากับความสบาย ความสนุกสนานแล้ว มันคงทำให้เราได้ยำศิลปะจานใหญ่ที่แซบน่าดู
ที่ Hug School แม้เครื่องมือจะเน้นไปที่กระบวนการไม่เน้นที่ผลงาน แต่การประเมินพัฒนการของเด็กแต่ละคนนั้นถูกนำมาพูดคุยเสมอในการพบประแบบไม่เป็นทางการระหว่างครูกับเด็ก ครูกับผูั้้บริหารโรงเรียนและครูกับผู้ปกครอง กระบวนการสื่อสารกันแบบไม่เป็นทางการนี้ทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนสบายไม่เคร่งเครียดเหมือนการนั่งพูดในห้องประชุมที่ดูทางการ
การประเมินพัฒนการของเด็ก สำหรับห้องเรียนครูออตถูกนำมาประมิน 2 ส่วนคือศิลปะปฏิบัติ และ ศิลปะนิสัย
ศิลปะปฏิบัตินี้หมายรวมทั้งทักษะการแสดงออกทางองค์ประกอบศิลปะ(รูปร่าง รูปทรง เส้น สี ฯลฯ) ทักษะกระบวนการคิด(คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดเร็ว คิดหลากหลาย คิดบวก ฯลฯ) ทักษะเหล่านี้ดูได้จากกระบวนการคิด การะบวนการขณะทำงานและผลงานของเด็กที่ปรากฎออกมา
ศิลปะนิสัย หมายถึงกระบวนการแสดงออกทางพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่เคยปฎิบัติ ถูกบังคับ ถูกเลี้ยงดู การอบรมบ่มนิสัย ความกดดันจนเกิดเป็นความเคยชินเช่น นิยมความรุนแแรง ความก้าวร้าว ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่รับฟังความคิดเห็นใคร เอาแต่ใจ ไม่เล่นกับเพื่อน ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้แม้ผู้ปกครองไม่ได้แจ้งก่อนที่จะส่งลูกมาเรียนศิลปะ แต่เมื่อครูสัมผัสย่อมสามารถประเมินได้ เพราะห้องเรียนศิลปะมีความอิสระ เป็นเพื่อนในการยอมรับการแสดงออกของเขา จนเขาแสดงนิสัยส่วนตัวออกมา
ในบันทึกนี้ขอเล่าถึงพัฒนาการของนักเรียนครูออต 1 คนที่มีพัฒนาทางศิลปปฏิบัติและศิลปะนิสัย ไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากเรียนศิลปะผ่านไปแล้ว 1 คอร์ส
น้องฮี(นามสมมติ) เป็นเด็กน่ารักเมื่อแรกเจอครูออต ผู้ปกครองส่งไปเรียนดนตรีแต่ทุกครั้งที่เรียนดนตรีเสร็จจะมาทำหน้าเจียมเจี้ยมที่ห้องศิลปะของครูออตและขอดูสีนั้นสีนี่ ขอลองนั้นลองนี่ จนมั่นใจว่าครูแอบชอบฮีเข้าแล้วเพราะความเรียบร้อยพูดง่ายของฮี หลังจากนั้นไม่นานก็พบว่าฮีมาลงเรียนศิลปะกับครูออตในตอนเช้าของวันเสาร์
แต่สิ่งที่ฮีปฏิบัติเมื่อมาเรียนช่างแตกต่างจากช่วงที่มาสนใจศิลปะเอามาก ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าคือการไม่เรียบร้อยเหมือนเก่าก่อน การเล่นที่อยู่นอกกรอบที่ห้องเรียนและเพื่อนจะรับได้ การไม่ยอมเล่นกับคนอื่น การไม่ยอมสนใจงานศิลปะ
ในทุกเช้าที่ฮีมาเรียน ฮีมาพร้อมกับพี่เลี้ยงและคราบน้ำตา พร้อมกับคำต่อรองกับพี่เลี้ยงอีกมาย หน้าห้องเรียนฮีจะเกาะพี่เลี้ยงแจยังกะลูกชะนีที่เพิ่งเกิดใหม่ มองหน้าครูออตเหมือนคนไม่รู้จักกันมา่ก่อน แต่เมื่อครูออตออกมารับฮีจะเปลี่ยนจากกอดคอพี่เลี้ยงมาเป็นกอดคอครูออตและบอกเหตุผลที่ร้องไห้เสมอไว่ว่าจะเป็น อยากไปเซ็นทรัล อยากดูการ์ตูน อยากเอาตุ๊กตาทหารมาที่ห้องเรียนด้วยแต่พี่เลี้ยงห้าม ฯลฯ เมื่อครูออตรับฟังและพูดบางสิ่งบางอย่างฮีก็จะกลายร่างจากลูกชะนีเป็นลิงทะโมนทันที
ในการทำงานศิลปะ ฮีมีสมาธิอยู่กับงานศิลปะน้อยมากเมื่อแรกเข้ามาเรียน ขีดๆเขียนๆแล้วก็เลิก หันไปสนใขเล่นเสียมากกว่า ภาพที่เขียนในช่วงแรกเป็นภาพออกไปทางนามธรรมหรือเพื่อน ๆ มักบอกว่า ฮีเขียนมั่ว โทนสีออกไปทางเทา ๆ ดำ เข้ม ๆ เสียมากกว่า เมื่อเพื่อนในห้องทักว่ามั่ว ฮีก็จะตักน้ำที่อ่างมาราดกระดาษของตนเองจนทั้งกระดาษ กระดานและห้องเรียนเปียกไปหมด
ครูออตเคยคิดที่จะแยกฮีออกมาเรียนเดี่ยวก่อน เมื่อคิดว่าดีแล้วค่อยกลับไปเรียนกับเพื่อน แต่ก็หยุดความคิดนี้ไปเพราะเห็นว่าการไม่ปรับตัวทำงานกับเพื่อนก็ต้องแก้ด้วยการพยายามให้อยู่กับเพื่อน ดังนั้นฮีจึงเรียนกับเพื่อน ๆ สี่คนในห้องเรียนจากชั่วโมงที่หนึ่งจนปัจจุบันหมดคอร์สไปแล้ว 1 ครั้งซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี
การประเมินพัฒนาจากผลงานพบว่า ฮี มีพัฒนาการแสดงออกที่ดีขึ้นมาก จากตอนแรกไม่เป็นรูปเป็นร่างและสีที่ใช้ไปในทางเข้ม ดำ ทึม ในช่วงหลัง ฮี เริ่มมีสีสันมากขึ้นทั้งนี้ประกอบการมาเรียนแต่ละครั้งก็เป็นไปด้วยดีไม่ร้องไห้เหมือนครั้งแรก ๆ ซึ่งน่าจะส่งผลต่อจิตใจของเด็กด้วย แม้ช่วงที่เพื่อนทำงาน ฮีจะไม่ยอมทำ แต่เมื่อเพื่อนไปเล่นสนามฮีกลับมาทำงานตนเองแม้จะมีสมาธิไม่มาก แต่ก็นับว่าเขามีความรับผิดชอบที่จะเรียน ครูออตสันณิฐานว่าการวาดรูปตอนเพื่อนไม่อยู่แสดงว่าฮีขาดความมั่นใจในการวาดทั้งนี้อาจจะด้วยปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลต่อนิสัยในข้อนี้ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ยากต่อการแก้ไขในอนาคต ไปดูพัฒนาการที่มองจากผลงานของฮีกันครับ
ผลงานบางส่วนที่แสดงพัฒนาการทางการแสดงออกของน้องฮี และนี่เป็นผลงานในชั่วโมงท้ายๆของคอร์สนี้ครับ ไปดูความแตกต่างของการแสดงออก ซึ่งมองเห็นพัฒนาการแล้ว ครูออตยิ้มออกแล้ว