ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กันยายน 1, 2010

พัฒนาศิลปะเด็กรายบุคคล : จำเป็นไหม?-จำเป็น

การเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนด้านศิลปะเด็กสำหรับโรงเรียนสอนศิลปะเอกชน แม้รูปแบบจะดูสบาย ๆ ไม่ต้องยึดติดกับระบบระเบียบอะไรมาก แต่ระเบียบการหรือเครื่องมือบางที่โรงเรียนกระแสหลักในระบบใช้ หากนำมาผสมผสานและยำเข้ากับความสบาย ความสนุกสนานแล้ว มันคงทำให้เราได้ยำศิลปะจานใหญ่ที่แซบน่าดู

ที่ Hug School แม้เครื่องมือจะเน้นไปที่กระบวนการไม่เน้นที่ผลงาน แต่การประเมินพัฒนการของเด็กแต่ละคนนั้นถูกนำมาพูดคุยเสมอในการพบประแบบไม่เป็นทางการระหว่างครูกับเด็ก  ครูกับผูั้้บริหารโรงเรียนและครูกับผู้ปกครอง กระบวนการสื่อสารกันแบบไม่เป็นทางการนี้ทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนสบายไม่เคร่งเครียดเหมือนการนั่งพูดในห้องประชุมที่ดูทางการ

การประเมินพัฒนการของเด็ก สำหรับห้องเรียนครูออตถูกนำมาประมิน 2 ส่วนคือศิลปะปฏิบัติ และ ศิลปะนิสัย

ศิลปะปฏิบัตินี้หมายรวมทั้งทักษะการแสดงออกทางองค์ประกอบศิลปะ(รูปร่าง รูปทรง เส้น สี ฯลฯ) ทักษะกระบวนการคิด(คิดริเริ่มสร้างสรรค์ คิดเร็ว คิดหลากหลาย คิดบวก ฯลฯ) ทักษะเหล่านี้ดูได้จากกระบวนการคิด การะบวนการขณะทำงานและผลงานของเด็กที่ปรากฎออกมา

ศิลปะนิสัย หมายถึงกระบวนการแสดงออกทางพฤติกรรมของเด็ก ๆ ที่เคยปฎิบัติ ถูกบังคับ ถูกเลี้ยงดู การอบรมบ่มนิสัย ความกดดันจนเกิดเป็นความเคยชินเช่น นิยมความรุนแแรง ความก้าวร้าว ไม่มีความรับผิดชอบ  ไม่รับฟังความคิดเห็นใคร  เอาแต่ใจ  ไม่เล่นกับเพื่อน ฯลฯ พฤติกรรมเหล่านี้แม้ผู้ปกครองไม่ได้แจ้งก่อนที่จะส่งลูกมาเรียนศิลปะ แต่เมื่อครูสัมผัสย่อมสามารถประเมินได้ เพราะห้องเรียนศิลปะมีความอิสระ เป็นเพื่อนในการยอมรับการแสดงออกของเขา จนเขาแสดงนิสัยส่วนตัวออกมา

ในบันทึกนี้ขอเล่าถึงพัฒนาการของนักเรียนครูออต 1 คนที่มีพัฒนาทางศิลปปฏิบัติและศิลปะนิสัย ไปในทางที่ดีขึ้นหลังจากเรียนศิลปะผ่านไปแล้ว 1 คอร์ส

น้องฮี(นามสมมติ) เป็นเด็กน่ารักเมื่อแรกเจอครูออต ผู้ปกครองส่งไปเรียนดนตรีแต่ทุกครั้งที่เรียนดนตรีเสร็จจะมาทำหน้าเจียมเจี้ยมที่ห้องศิลปะของครูออตและขอดูสีนั้นสีนี่  ขอลองนั้นลองนี่ จนมั่นใจว่าครูแอบชอบฮีเข้าแล้วเพราะความเรียบร้อยพูดง่ายของฮี  หลังจากนั้นไม่นานก็พบว่าฮีมาลงเรียนศิลปะกับครูออตในตอนเช้าของวันเสาร์

แต่สิ่งที่ฮีปฏิบัติเมื่อมาเรียนช่างแตกต่างจากช่วงที่มาสนใจศิลปะเอามาก ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าคือการไม่เรียบร้อยเหมือนเก่าก่อน การเล่นที่อยู่นอกกรอบที่ห้องเรียนและเพื่อนจะรับได้ การไม่ยอมเล่นกับคนอื่น  การไม่ยอมสนใจงานศิลปะ

ในทุกเช้าที่ฮีมาเรียน ฮีมาพร้อมกับพี่เลี้ยงและคราบน้ำตา พร้อมกับคำต่อรองกับพี่เลี้ยงอีกมาย หน้าห้องเรียนฮีจะเกาะพี่เลี้ยงแจยังกะลูกชะนีที่เพิ่งเกิดใหม่ มองหน้าครูออตเหมือนคนไม่รู้จักกันมา่ก่อน  แต่เมื่อครูออตออกมารับฮีจะเปลี่ยนจากกอดคอพี่เลี้ยงมาเป็นกอดคอครูออตและบอกเหตุผลที่ร้องไห้เสมอไว่ว่าจะเป็น  อยากไปเซ็นทรัล  อยากดูการ์ตูน  อยากเอาตุ๊กตาทหารมาที่ห้องเรียนด้วยแต่พี่เลี้ยงห้าม ฯลฯ เมื่อครูออตรับฟังและพูดบางสิ่งบางอย่างฮีก็จะกลายร่างจากลูกชะนีเป็นลิงทะโมนทันที

ในการทำงานศิลปะ ฮีมีสมาธิอยู่กับงานศิลปะน้อยมากเมื่อแรกเข้ามาเรียน ขีดๆเขียนๆแล้วก็เลิก หันไปสนใขเล่นเสียมากกว่า  ภาพที่เขียนในช่วงแรกเป็นภาพออกไปทางนามธรรมหรือเพื่อน ๆ มักบอกว่า ฮีเขียนมั่ว โทนสีออกไปทางเทา ๆ ดำ เข้ม ๆ เสียมากกว่า เมื่อเพื่อนในห้องทักว่ามั่ว ฮีก็จะตักน้ำที่อ่างมาราดกระดาษของตนเองจนทั้งกระดาษ กระดานและห้องเรียนเปียกไปหมด

ครูออตเคยคิดที่จะแยกฮีออกมาเรียนเดี่ยวก่อน เมื่อคิดว่าดีแล้วค่อยกลับไปเรียนกับเพื่อน แต่ก็หยุดความคิดนี้ไปเพราะเห็นว่าการไม่ปรับตัวทำงานกับเพื่อนก็ต้องแก้ด้วยการพยายามให้อยู่กับเพื่อน ดังนั้นฮีจึงเรียนกับเพื่อน ๆ สี่คนในห้องเรียนจากชั่วโมงที่หนึ่งจนปัจจุบันหมดคอร์สไปแล้ว 1 ครั้งซึ่งก็ผ่านไปด้วยดี

การประเมินพัฒนาจากผลงานพบว่า ฮี มีพัฒนาการแสดงออกที่ดีขึ้นมาก จากตอนแรกไม่เป็นรูปเป็นร่างและสีที่ใช้ไปในทางเข้ม ดำ ทึม ในช่วงหลัง ฮี เริ่มมีสีสันมากขึ้นทั้งนี้ประกอบการมาเรียนแต่ละครั้งก็เป็นไปด้วยดีไม่ร้องไห้เหมือนครั้งแรก ๆ  ซึ่งน่าจะส่งผลต่อจิตใจของเด็กด้วย  แม้ช่วงที่เพื่อนทำงาน ฮีจะไม่ยอมทำ แต่เมื่อเพื่อนไปเล่นสนามฮีกลับมาทำงานตนเองแม้จะมีสมาธิไม่มาก แต่ก็นับว่าเขามีความรับผิดชอบที่จะเรียน ครูออตสันณิฐานว่าการวาดรูปตอนเพื่อนไม่อยู่แสดงว่าฮีขาดความมั่นใจในการวาดทั้งนี้อาจจะด้วยปัจจัยบางอย่างที่ส่งผลต่อนิสัยในข้อนี้  แต่เรื่องนี้ก็ไม่ยากต่อการแก้ไขในอนาคต  ไปดูพัฒนาการที่มองจากผลงานของฮีกันครับ

ผลงานบางส่วนที่แสดงพัฒนาการทางการแสดงออกของน้องฮี  และนี่เป็นผลงานในชั่วโมงท้ายๆของคอร์สนี้ครับ ไปดูความแตกต่างของการแสดงออก ซึ่งมองเห็นพัฒนาการแล้ว ครูออตยิ้มออกแล้ว

7 ความคิดเห็น »

  1. ดีใจจริง คุณครูออดมีเวลาเขียนเรื่องดีๆออกมาให้อ่านอีกแล้ว ขอบคุณมากค่ะ
    ป้าหวานมักจะได้อะไรดีๆจากเรื่องของคุณครูออดเสมอ

    ความคิดเห็น โดย ป้าหวาน — กันยายน 1, 2010 @ 14:24

  2. ขอบพระคุณป้าหมานมากครับ กำลังใจดี
    ทำให้มีเวลาผลิตงาน ดีมั้งไม่ดีมั้ง ครับ

    ความคิดเห็น โดย ออต — กันยายน 1, 2010 @ 14:28

  3. โรงเรียนออตวิทยา น่ารวบรวมบทความพิมพ์ เป็นกรณีจัดการศึกษาที่สอดรับกับตัวเด็ก แทนการสอดใส้ขยะใส่สมองเด็ก อิอิ แปลว่า อิอิ

    ความคิดเห็น โดย sutthinun — กันยายน 1, 2010 @ 15:57

  4. นิสัยก็ดีกว่าเรา วาดรูปก็ดีกว่าเรา ได้ครูดีกว่าเรา โตขึ้นก็น่าจะดีกว่าเราแน่ๆ อิอิ

    ความคิดเห็น โดย จอมป่วน — กันยายน 1, 2010 @ 20:40

  5. มาชื่นชมครูออต และสนับสนุนข้อเสนอของครูบาด้วยค่ะ

    ความคิดเห็น โดย dd_l — กันยายน 1, 2010 @ 22:28

  6. น้องออตทำเอาพี่อยากย้ายน้องออตมาอยู่ชร.ชะมัดเลย ^ ^

    เด็กๆเค้าสื่อสารผ่านจินตนาการได้จริงๆเนาะ แต่เราต้องหาให้เจอว่าเค้าสื่อยังไง …เด็กพิเศษคือเด็กที่ต้องการรูปแบบการเีรียนรู้ที่ไม่เหมือนเด็กๆทั่วไป ย้ำว่า”ไม่เหมือนเด็กๆทั่วไป” ไม่ใช่ “เด็กปกติ” เนาะจ๊ะ เพราะแท้ที่จริงเด็กทุกคน รวมทั้งเราด้วยต่างเกิดมาเพื่อเป็นคนพิเศษทั้งนั้น

    เหมือนการเรียนพิเศษหรือกวดวิชาที่เรามีอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง ในขณะที่ประเทศอื่นไม่มีนี่ไงจ๊ะ มันก็คือการหาวิธีการเรียนที่ไม่เหมือนการเรียนการสอน”ทั่วๆไป”ในโรงเรียน ที่สอดคล้องกับรูปแบบการเรียนรู้่ของเค้าเอง และตอบโจทย์ที่ต้องการได้ อิอิอิ (ยังไม่วาย ออดแขวะไม่ได้ )

    ความคิดเห็น โดย น้ำฟ้าและปรายดาว — กันยายน 3, 2010 @ 13:16

  7. ตอนนี้ มีแรงทำกิจกรรมสนุก ๆแบบนี้กับเด็ก ๆ ในเมืองเพราะเจ้าของโรงเรียนสนับสนุน
    แต่ในใจลึก ๆ คิดถึงเด็กบ้านนาป่าดอนครับ อยากให้ได้รับโอกาสดีดีแบบนี้บ้าง
    คิดถึงตอนที่เราเป็นเด็ก…ไม่มีโอกาสแบบนี้ หรือห้องเรียนแบบนี้เลย…………………..

    ความคิดเห็น โดย ออต — กันยายน 3, 2010 @ 15:26

RSS feed for comments on this post. TrackBack URL

แสดงความคิดเห็น

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word

Powered by WordPress