ลานบ้านชลบถพิบูลย์

สิงหาคม 16, 2010

คำชม: กรงขังแห่งจินตนาการเด็ก

พ่อแม่หลายคนเมื่อลูกหอบหิ้วผลงานศิลปะกลับมาจากโรงเรียนเมื่อดูผลงานแล้วก็ชมลูกเสียเป็นสายน้ำ  เพราะหลังกระดาษวาดรูปที่เจ้าตัวน้อยถือกลับมาบ้านมีจารึกด้วยผลการประเมินจากครูศิลปะว่า A หรือไม่ก็ 10/10 ซึ่งคำชมเชยแทนที่จะช่วยเสริมความมั่นใจของเด็กแต่สำหรับเด็กบางคนมันช่างกดดันและสร้างกำแพงแห่งจินตนาการเอาไว้เสียจริง ๆ

น้องฟ้า เจ้าตัวน้อยวัยหกขวบ วัยซึ่งในสมองคือโลกของจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ วัยที่จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งมหัศจรรย์ให้เิกิดขึ้นบนผืนกระดาษได้  หลายสัปดาห์ผ่านไปครูออตสังเกตเห็นว่าน้องฟ้าไม่วาดสิ่งได้เลยนอกเสียจากกระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้ ทั้ง ๆ ที่เด็กคนอื่นเปลี่ยนสิ่งที่วาดตามกิจกรรมในแต่ละครั้ง

ทำไมน่ะหรือ นั้นก็เพราะว่า กระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้ที่น้องฟ้าเหล่านี้มักได้รับคำชมจากครูและพ่อแม่เสมอว่ามันคืองานศิลปะที่ดีมาก เมื่อใครมาเยี่ยมที่บ้านแม่ก็มักชมน้องฟ้าต่อหน้าคนอื่่นว่าวาดกระต่าย สนามหญ้า ต้นไม้สวยจนได้คะแนนเต็มในวิชาศิลปะ คำชมเหล่านั้นในบางครั้งมันคือกำแพงแห่งจินตนาการสำหรับสมองแ่ห่งความคิดสร้างสรรค์

แล้วคำชมแบบไหนจึงจะเหมาะกับการชมในกิจกรรมทางศิลปะ  ในห้องเรียนครูออตมักจะหลีกเลี่ยงว่าเด็กวาดรูปต้นไม้สวย  วาดรถสวย วาดคนสวย  วาดก้อนเมฆสวย  เพราะคนชมเหล่านี้เมื่อชมไปเรื่อย ๆ เด็กจะเกิดอาการยึดติดเพราะครูบอกว่าสวย ดังนั้นสิ่งที่ครูออตจะชมก็คือความขยันของเด็ก ๆ ในการวาด

ว้าวต้นไม้นี้โตเร็วจัง  มันเริ่มออกลูกแล้วใช่ไหม ในความหมาย ก็เพื่อจะบอกเด็กว่าเขาได้พยายามวาดสิ่งอื่นเพิ่มเติมนอกจากต้นไม้ เพราะเขาได้บรรจงวาดผลไม้สีแดงเต็มต้น บางคนอาจจะเริ่มใส่รังนกบนต้นไม้ แทนที่จะเป็นต้นไม้เดียว ๆ เหมือนกับสัปดาห์ที่ผ่านมาแล้ว

อู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆ  รถไฟของหนูช่างขนของได้เยอะเสียจริง ๆ ดูโบกี้นี้ขนคน  โบกี้นี้ขนตู้ปลา โบกี้นี้ขนม้า  ครูออตอยากรู้จังว่าโบกี้ต่อไปจะขนอะไรน้า ในความหมาย ก็เพื่อจะบอกเด็กว่าเขามีความอดทนที่จะวาดสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมจากสิ่งที่เขาวาดมาแล้ว เพื่อส่งเสริมให้เขาคิดหลากหลายมากขึ้น การมีความคิดที่หลากหลายจะทำให้เขามีตัวเลือกในการตัดสินใจได้มากมาย ไม่ได้ยึดติดอยู่กับเส้นทางเดิม

นี่เป็นตัวอย่างคำชมที่ครูออตใช้ในห้องเรียนศิลปะ เพราะการชมที่เหมาะสมน่าจะช่วยเสริมสร้างโลกแห่งจินตนาการสำหรับเด็ก ๆ ซึ่งสวนทางกับคำชมพร่ำเพื่อที่จะกลายเป็นตัวทำลายจินตนาการของเด็ก

Powered by WordPress