ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ตุลาคม 21, 2011

ประสบการณ์ 3จ กับเด็กน่ารักพิเศษ

เวลาไปไหนกับเพื่อนพ้องพี่น้องครูอาจารย์ที่เราสนิทสนม เมื่อเจอบุคคลที่สามเพื่อนพ้องพี่น้องเหล่านั้นจะแนะนำและชมครูออตว่าเป็นขวัญใจเด็ก(น่ารัก)พิเศษแบบนั้นแบบนี้ พอได้ฟังก็อดดีใจไม่ได้ที่เราสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจเด็กพิเศษเหล่านั้น เด็กที่ครูหลายคนขยาดไม่อยากสอน ได้ยินแบบนี้ก็ดีใจและมีพลังในการทำงานเพิ่มเป็นทวีคูณตามประสาคนบ้ายอ

(แคมป์ตุลาคม กับโปรแกรมละครสำหรับเด็กที่โรงเรียนพัฒนาเด็ก ขอบอกว่าศูนย์รวมเด็กน่ารักพิเศษ)

สำหรับเด็กพิเศษครูออตนึกถึงหนังสือเรื่อง There’s A Boy in the Girls’ Bathroom ซึ่งเขียนโดยหลุยส์ ซัคเกอร์ ซึ่งหนังสือเล่มนี้เวลาไปเจอครูคนอื่น ครูออตมักจะแนะนำให้ไปอ่าน อย่างน้อยอ่านเอาสนุกก็ได้เพราะเนื้อหามันสนุกและได้แง่คิดที่พิเศษ ในฐานะที่ครูทุกคนควรจะมีและเรียนรู้จากตัวละคร ครูออตอ่านจบได้ภายในสองวันซึ่งยืนยันได้ว่าสนุกจริง ๆ

There’s A Boy in the Girls’ Bathroom เป็นเรื่องของครูที่ปรึกษาคนใหม่แสวงหาวิธีการเปิดให้เข้าถึงหัวจิตหัวใจของเด็กที่ครูทุกคนในโรงเรียนเรียก “เด็กหลังห้อง”(เด็กที่ครูทุกคนไม่ชอบ เด็กที่เพื่อน ไม่คบ) ซึ่งครูคนนี้มองว่าเป็นเด็ก(น่ารัก)พิเศษ ซึ่งกลยุทธ์และกระบวนการของครูในการเอาชนะใจของเด็กคนนี้มันแสนสนุกและครูออตขอเชิญชวนทุกคนลองซื้อมาอ่านดู

วกเข้ามาถึงเด็กน่ารักพิเศษของครูออต จากประสบการณ์ที่ได้เจอได้สอนครูออตคิดว่าหากเข้าใจ 3จ อาจจะทำให้เราสนุกกับการสอนเด็กกลุ่มนี้ได้ โดยเฉพาะการสอนศิลปะ ซึ่ง 3 ไม่ใช่ทฤษฎีแบบวิชาการแต่เป็นประสบการณ์ที่เจอเองและมานั่งประมวลแต่ไม่ได้สรุป

จ.จินตนาการ เรื่องนี้ปฏิเศษไม่ได้เพราะเด็กกลุ่มนี้มีจินตนาการอันบรรเจิดกว่าเด็กปกติมาก มากจนเขาไม่สามารถอยู่ในกรอบวิชาศิลปศึกษา ที่เขาใช้สอนกันในชั้นเรียนได้ เราจะพบเห็นรูปร่างรูปทรงเรื่องราวที่แสนพิเศษบ้างก็เป็นเรื่องประราว บ้างก็หลุดโลก ซึ่งจินตนาการมากนี่เองหากมือเขาไม่สามารถตอบสมองได้เด็กกลุ่มนี้จึงได้ทั้งมือ เท้า ร่างกายมาถ่ายทอดจินตนาการเหล่านั้น ด้วยจินตนาการที่มากหากกระดาษมันไม่เพียงพอเราจะพบว่าเขาอาจจะเขียนออกมานอกกระดาษ ลามไปถึงผนังห้อง บ้างก็ลามไปจึงแขนขาหน้าลำตัวของเขาเองหรือแม้แต่เพื่อนร่วมห้อง ดังนั้นจิตนาการจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูสอนเด็กพิเศษควรเข้าใจว่าทำไมเขาจึงแสดงออกมาแบบนั้น

จ.จี๊ด เด็กพิเศษมักไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ทั้ง ๆ ที่เขาอยากควบคุมตัวเองให้เหมือนนักแข่งรถ แต่เมื่อสมองมันสั่งแรงเร็วบางทีปุ่มควบคุมไม่สับสนงงงวยและไม่ตอบสนอง อยู่นอกเหนือจากการควบคุม ทำให้พลังงานของเขาเยอะกว่าปกติ ทั้งแรง เสียง ดังนั้นจึงเหมือนว่าเขาเล่นแรงกับเพื่อนจนเพื่อนเจ็บ บางทีระบายสีแรงจนสีกระจาย บางทีกรี้ดดดดเสียงดังมากหรือบางทีร้องไห้มากเหมือนใจจะขาด เหล่านี้ครูออตคิดว่าเพราะตัวเขาจี้ดดดดดดดดดดดดด จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ หากครูเข้าใจคงจะมีวิธีการช่วยเหลือเขาได้

จ.จิตใจ เด็กพิเศษหลายคนที่ครูออตเจอเหมือนว่าเขาอ่านใจเราออก มีทักษะพิเศษมากในการอ่านสายตาของครู อ่านกริยาท่าทสงของครูหรืออ่านความคิดของครูออก ดังนั้นหากเราคิดบวกกับเขาเขาจะสนิทสนมกับเราง่ายกว่า เราคิดที่จะจัดการเขา เรื่องนี้ครูออตมีประสบการณ์หลายคน หลายคนเราตั้งใจมากที่จะช่วยเขาวางแผนแบบนั้นแบบนี้แต่เหมือนการวางแผนในการจัดการกับเขาเหมือนเขารู้ไปหมด แต่การปล่อยสมองให้ว่างคิดบวกไว้ไม่คิดจัดการ ไม่คิดบังคับ ไม่คิดอยากได้อะไรจากเขาบรรยากาศการสอนเหมือนมันจะง่ายขึ้นมากเขาให้ความร่วมมือกับครูมากขึ้น ดังนั้นครูออตว่าเขามีทักษะพิเศษในการล่วงรู้จิตใจของคน หากเรารู้แบบนี้เราก็จะเปลี่ยนวิธีการสอนเด็กพิเศษเสียใหม่เพื่อให้เขาตอบสนองดีดีต่อการเรียนรู้ของเรา

(ฉันอยากมีตาเหมือนพญาครุฑ)

(นิ้วสำหรับทากาวไม่เพียงพอ ฉันขอเอาทั้งมือไปเลย)

3จ ที่ครูออตเอามาเล่านี้ไม่ใช่ข้อสรุปแต่เป็นเรื่องเล่าที่อยากจะเล่า เผื่อครูศิลปะ ครูสอนเด็กพิเศษอาจจะนำไปปรับใช้กับครูเอง และเอามาแลกกันนะครับอาจจะพบ จ อีกเยอะแยะเลยล่ะ

กุมภาพันธ 15, 2009

โลกศิลปะในการคิดหลากหลาย

วันเสาร์และวันอาทิตย์รับหัวโขนของการเป็นครูศิลปะที่ HUG SCHOOL ซึ่งสุดสัปดาห์นี้ผมมีห้องเรียนทั้งสองวันคือเสาร์เช้าและอาทิตย์บ่าย งานนี้จึงต้องการพลังงานอยู่พอสมควรทั้งพลังงานในการเตรียมการสอนและพลังงานในการสอน

สัปดาห์นี้ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต ผมวางแผนการสอนเรื่องการคิดที่หลากหลายไว้สำหรับเด็ก ๆ ซึ่งการคิดที่หลายหลายนี้จะช่วยกระตุ้นให้เด็ก ๆ เปิดลิ้นชักสมองของตนเองได้หลายช่องมากขึ้น เรื่องนี้จะช่วยให้เด็ก ๆ เขียนรูปที่มีรายละเอียดมากขึ้นได้ เรื่องนี้ผมเห็นว่าจำเป็นเอาอยู่มาก

หากเราลองสังเกตเด็ก ๆ ที่ขาดการส่งเสริมเรื่องการคิดที่หลากหลายจะวาดรูปซ้ำ ๆ กันไปเกือบทุกครั้งเหมือนที่เราพบ ภูเขา ต้นมะพร้าว พระอาทิตย์และกระท่อม ซึ่งไม่ว่าต้นเทอมหรือปลายเทอม รูปทรงที่นำเสนอในภาพวาดของเราก็ไม่เปลี่ยนแปลง ยังคงวนเวียนอยู่เช่นเดิม ดังนั้นครูศิลปะจึงควรกระตุ้นการคิดที่หลากหลายให้แก่เด็ก ๆ

เด็กเล็กผมเริ่มด้วยกิจกรรมที่ง่านแสนง่าย โดยการเอานิทานเรื่องสวิมมี่ ๆ มาเล่าให้เด็กฟัง เรื่องสวิมมี่เป็นเรื่องของปลาตัวเล็ก ที่โดนปลาใหญ่ในท้องทะเลไล่กิน เมื่อหลุดออกไปจากฝูงก็ไปเจอสิ่งต่าง ๆ มากมายในท้องทะเลทั้งแมงกรพรุน สาหร่ายทะเล ดอกไม้ทะเล ปลาอื่น ๆที่สวยงาม

นิทานเรื่องนี้จะชวยให้เด็ก ๆ ค้นพบสิ่งแปลกใหม่ หลากหลายในท้องทะเล ซึ่งนิทานที่นำมาเล่าเป็นนิทานภาพที่ครูออตเล่าไปอ่านไปและบางตอนก็เผลอแสดงเป็นเจ้าสวิมมี่ด้วย การกระตุ้นด้วยนิทานในเด็กเล็กได้ผลไปซะทุกครั้ง เพราะนิทานกับเด็ก ๆ เป็นของคู่กัน

หลังจากจุดประกายด้วยนิทาน ก็มาถึงเวลาของเด็ก ๆ ในการคิดฝันถึงทะเลในจินตนาการของตนเอง ซึ่งแต่ละคนก็กลายร่างตัวเองเป็น เจ้าสวิมมี่ แวกว่ายน้ำทะเลไปพบสัตว์ต่าง ๆ ที่ตนเองเปิดลิ้นชักสมองเจอ ซึ่งสัตว์ที่เจออยู่ในทะเลนั้นอาจจะแตกต่างกันไป โดยหลายคนก็เอาตัวตนและสิ่งที่ตนเองชอบลงไปในทะเลด้วยซึ่งก็ไม่ผิดแต่ประการใดเช่น ไอ้มดแดง(น้องเคน) ก็มีสัตว์ทะเลที่เป็นหุ่นยนต์ด้วยสมกับเป็นไอ้มดแดงจริง ๆ

null

Powered by WordPress