ลานบ้านชลบถพิบูลย์

กันยายน 17, 2010

Motivation : Children Art

ชื่อศิลป พีระศรี น่าจะเป็นที่รู้จักของไทยไม่น้อย โดยเฉพาะผู้คนในแวดวงศิลปะ เนื่องจากเป็นผู้วางรากฐานศิลปะร่วมสมัยของไทยโดยเฉพาะการผลักดันให้มีการเปิดการเรียนการสอนด้านศิลปะร่วมสมัยในระดับอุดมศึกษาของไทยโดยเฉพาะการก่อตั้ง มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยด้านศิลปะแห่งแรกของไทยที่มีการจัดการศึกษาศิลปะร่วมสมัยในแบบตะวันตก

แนวคิดการจัดการเรียนการสอนศิลปะได้กระจายออกไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านลูกศิษย์ลูกหาของ ศ.ศิลป พีระศรี ในภาคอีสานแม้จะดูห่างไกลจากแวดวงศิลปะร่วมสมัยแต่ศิลปะก็ได้งอกเงยขึ้นที่นี่ โดยเฉพาะที่สาขาศิลปศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สาขาวิชาที่เกิดการจัดการเรียนการสอนศิลปะในระดับปริญญาตรีแห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น

วันอังคารที่ผ่านมาผมได้ไปร่วมงานวันศิลป พีระศรีของสาขาศิลปศึกษาอย่างน้อยก็เพื่อไปใ้ห้กำลังใจนักเรียนศิลปะของผมที่ได้รับรางวัลในการประกวดศิลปะเด็กในกิจกรรมวันนี้ ซึ่งบรรยากาศของงานนั้นเป็นไปด้วยความเดียงสาแต่ทว่างดงามด้วยผลงานศิลปะของเด็ก ๆ ที่สดใส มีจินตนาการชวนให้เราคิดถึงวันเวลาที่อยู่ในห้วงวัยเด็กของตนเอง

ในส่วนตัวนั้นไม่ได้มีอคติสำหรับการประกวดศิลปะแต่ก็ไม่ใช่เป้าหมายของการสอนศิลปะสำหรับผม ดังนั้นการจะหอบหิ้วและเคี่ยวเข็นนักเรียนศิลปะไปประกวดศิลปะเพื่อจะให้ได้รับรางวัลเห็นที่จะไม่ใช่การสอนของผม เพราะศิลปะสำหรับผมเป็นเครื่องมือในการปลดปล่อยแรงกดดันภายในจิตใจของเด็ก เป็นเครื่องมือที่จะถ่ายทอดจินตนาการในเด็ก เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประสาทสัมผัสของเด็กและที่สำคัญเป็นเครื่องมือในการสร้างสมาธิเชิงสร้างสรรค์แก่เด็ก ไม่ใช่เครื่องมือในการกดดันเด็ก

แต่สิ่งที่ผมเห็นว่าควรนำมาคุยในบันทึกนี้เห็นจะเป็นวิธีการตั้งรางวัลสำหรับการประกวดศิลปะเด็ก เรื่องรางวัลนั้นเห็นจะเป็นแค่เครื่องมือในการจูงใจสำหรับเด็กเท่านั้น แม้รางวัลจะมูลค่าไม่กี่บาทแต่สำหรับเด็กมันเป็นมูลค่าสูงโดยเฉพาะในความทรงจำของเขา ดังนั้นผู้จัดการประกวดศิลปะควรเข้าใจเครื่องมือนี้ให้ดี เพราะมิฉะนั้นรางวัลอาจจะกลายเป็นตัวทำลายศิลปะก็ได้

ในการให้รางวัลสำหรับเวทีใหญ่ ๆ อย่างการประกวดศิลปะเด็กและเยาวชนแห่งชาตินั้น ผมว่าต้องมาดูงานของการประกวดศิลปะเ็ด็กของสาขาศิลปศึกษานี้เป็นตัวอย่างเพราะวิธีการตั้งรางวัลแบบศิลปะและเยาวชนแห่งชาตินั้นดูล้าสมัยและเดินลงคลองไป เพราะการตั้งรางวัลแบบสุดยอดหนึ่งเดียวนั้นเป็นการตั้งรางวัลแบบสุดยอดศิลปะ มากกว่า การตั้งรางวัลเพื่อส่งเสริมศิลปะในใจเด็ก ไปดูวิธีการให้รางวัลของเวทีระดับชาติดูครับ

- รางวัลศิลปกรรมเหรียญทอง ๑ รางวัล เงินรางวัล ๑๐,๐๐๐ บาท
- รางวัลศิลปกรรมเหรียญเงิน ๒ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๘,๐๐๐ บาท
- รางวัลศิลปกรรมเหรียญทองแดง ๗ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๕,๐๐๐ บาท
- รางวัลชมเชย ๓ รางวัล เงินรางวัล ๆ ละ ๒,๕๐๐ บาท

การตั้งรางวัลแบบนี้ ทำให้การแข่งขันมีความเข้มข้นสูง การส่งงานผลงานไปประกวดทำให้ครู ผู้ปกครองหลายสำนักเคี่ยวเข็ญเพื่อให้ได้รับรางวัลที่สูงสุด ซึ่งมีเพียงรางวัลเดียว และด้วยการวาดภาพจากบ้านแล้วส่งไปยิ่งทำให้ศิลปะเด็กที่ได้รับรางวัลอาจจะไม่เดียยงสาอย่างที่เด็กแสดงออกเพราะมีการเคี่ยวเข็นจากครู ผู้ปกครอง วิธีการนี้สำหรับผมช่างล้าสมัยเอาเสียจริง  ๆ

แต่การตั้งรางวัลแบบศิลปศึกษานั้นไม่ได้เน้นการตั้งรางวัลแบบ พีระมิด  แต่เป็นการตั้งรางวัลแบบฐานกว้าง ยอดกว้างหมายถึงยอดไม่ต้องแหลมนักแต่ให้รางวัลจำนวนมาก โดยนัยยะหมายถึงการมีจำนวนรางวัลมาก ๆ เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เด็กมีแรงใจในการทำงานศิลปะ ครูผู้ส่งผลงานก็เกิดแรงจูงใจ เนื่องจากมีจำนวนรางวัลมากกว่า

(คุณแม่-น้องสเก็ตและผอ.นุช เจ้าของโรงเรียนฮัก ขอนแก่น)

ผมคุยกับน้องสเก็ต นักเรียนของผมว่ารู้สึกอย่างไรกับการได้รับรางวัลชมเชย สเก็ตบอกดีใจและดูในทีผมไม่เห็นว่าสเก็ตรู้สึกน้อยใจที่ตนเองได้รับรางวัลชมเชยแทนที่จะเป็นรางวัลยอดเยี่ยม  ทั้งนี้เพราะเด็กไม่ได้มุ่งที่รางวัลสุดยอด แต่มุ่งที่ได้”รางวัล” แม้จะเป็นรางวัลน้อย ๆ แต่ก็ดีใจไม่ต่างจากรางวัลใหญ่

ดังนั้นผมเห็นว่าการตั้งรางวัลมาก ๆ จะช่วยให้เด็ก ๆ มีแรงบันดาลใจการทำงานศิลปะ เมื่อได้รับรางวัลเด็กก็มีแรงขับในการทำงานศิลปะ รักในการทำงานศิลปะของตนเอง องค์กรไหนที่อยากจัดก็น่าจะเอาแบบอย่างจากที่นี่ดูบ้างนะครับ อย่าเพิ่งสอนเด็กให้เหนือคนอื่นเลย เพราะเดี๋ยวจะมองไม่เห็นคุณค่าของคนอื่น

Powered by WordPress