ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ตุลาคม 31, 2011

สอนศิลปะ ด้วยสารคดี

วันไหนครูเหนื่อยอ่อนจากภารกิจอื่น ๆ อันไม่ใช่จากการสอน หากผืนใช้พลังงานที่มีอยู่น้อยและจำกัด อาจจะทำให้ครูเหนื่อยเกินไป ล้าเกินไป ส่งผลให้ไม่มีสมาธิในการสอนได้ วิธีการคือ ครูต้องหาครูผู้ช่วยมาช่วยในการสอน ครูผู้ช่วยที่ครูออตหมายถึงในบันทึกนี้คือ ครูเทค(โนโลยี)

ช่วงนี้มีงานแต่งงานกันมาก กว่าจะเสร็จงาน หากเป็นงานเพื่อนสนิทเห็นทีว่าจะต้องช่วยกันจนจนวินาทีสุดท้าย ทำให้เหนื่อยและง่วงเป็นพิเศษ แม้กาแฟที่อุดมไปด้วยคาเฟอีนก็ไม่สามารถเรียกความสดชื่นมาได้ ดังนั้นเช้าวันนี้ครูออตจึงใช้ครูเทคเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนศิลปะ

ปกติการสอนครูในช่วง กระตุ้นการเรียนรู้หรือนำเข้าบทเรียนครูต้องใช้พลังงานในการกระตุ้นการเรียนรู้มาก ซึ่งในกลุ่มเด็กเล็กต้องใช้พลังงานในส่วนนี้มากกว่าช่วงทำงานศิลปะของเด็ก ๆ ซะอีก บางวันก็ชวนเด็ก ๆ เล่นเกม เล่านิทาน ร้องเพลงซึ่งกิจกรรมกระตุ้นที่ว่าต้องใช้พลังงานมากอย่างที่ว่าไปแล้ว ในภาวะที่ครูหมดแรง จึงต้องอาศัยครูเทคเข้าช่วย

ครูออตมีสารคดีที่น่าสนุกหลายเรื่องหนึ่งในนั้นคือเรื่องมด(มด1 มด2 มด3 มด4) ซึ่งดาวน์โหลดมาเตรียมไว้หลายวันก่อนเพราะเห็นว่าน่าจะเป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้ได้อีกอย่างหนึ่ง(การสะสมเครื่องมือนับว่าเป็นสิ่งสำคัญสำหรับครู) เรื่องมดนี้มีจุดเด่นที่น่าสนใจคือมีเรื่องราวที่หลากหลายแง่มุมของเรื่องมด ทั้งที่อยู่อาศัย อาหาร ศัตรู วิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ เกี่ยวกับมด ซึ่งน่าจะเร้าความสนใจของเขาได้ดี

โดยธรรมชาติของสารคดี(ที่ดี) คือมีความผสมผสานอย่างลงตัวระหว่างสาระและบันเทิง มีมุมมองของกล้องที่ตาเราไม่สามารถมองเห็นหรือเป็นมุมมองที่เราไม่คุ้นเคย ซึ่งความไม่เคยเห็นทำให้สารคดีน่าสนใจสำหรับเด็ก เพียงแต่สารคดีมันมักจะยาวไปเสียหน่อยเท่านั้นเอง ครูออตเปิดสารคดีผ่านจอทีวีขนาดใหญ่ซึ่งโรงเรียนเตรียมไว้ให้ดังนั้นจอใหญ่จึงช่วยเร้าความสนใจได้อีกมากโข

ครูออตแจกกระดาษและดินสอให้นักเรียน และบอกให้ดูสารคดีอย่างผ่อนคลายจะนั่ง จะนอนก็ได้ และถ้าตอนไหนในสารคดีเด็ก ๆ สนใจ ชอบใจ ก็สามารถบันทึกไว้ป้องกันลืมได้โดยไม่ต้องลงสีก็ได้ และแล้วหนังสารคดีเราก็เริ่มฉาย ส่วนตัวครูก็ได้พักผ่อนและคอยสังเกตพฤติกรรมของเจ้าตัวน้อยว่ามีปฎิกิริยาอย่างไร

ครูออตสังเกตว่าแรกเริ่มฉาย อาจจะมีเด็กบางคนไม่สนใจ(ในใจคงพูดว่า ทำไมไม่เปิดการ์ตูน) หลายคนที่ชอบดูสารคดีก็จะเล่าสารคดีที่เคยดูแทรกมาบ้าง แต่หลังจากเวลาผ่านไปห้านาทีจะสังเกตว่าเด็ก ๆ นั่งนิ่งจ้องทีวีอยู่ตลอดเวลา บางคนถึงตอนที่สนใจก็จะวาดภาพง่าย ๆ เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ลืม

การดูวีดีโอแล้วจดบันทึกออกมาเป็นภาพ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กคิดและจดจำเป็นภาพซึ่งช่วยให้เด็กจำเนื้อหาได้เร็วและแม่นยำกว่าการจำเป็นคำ เมื่อต้องการนำเนื้อหากลับมาเล่าอีกรอบก็สามารถรื้อภาพจำในสมองมาใช้ได้เร็วกว่า ดังนั้นการสอนเด็กให้จำเป็นภาพนั้นจึงสามารถช่วยให้เขาเรียนรู้ได้ดีในวิชาอื่น ๆ ได้ การเขียนเนื้อหาที่เด็กสนใจจากวีดีโอก็ช่วยให้เด็กจำเป็นภาพได้ดี

ในกระบวนการการบันทึกเนื้อหาด้วยภาพเราจะสังเกตเห็นวิธีการที่แตกต่างกัน เด็กบางคนที่มีระเบียบวินัยมากจะเขียนเรียงลำดับไปเรื่อย ๆ ตามการดำเนินเรื่องในสารคดี ส่วนเด็กที่มีความคิดสร้างสรรค์จะเขียนสลับกันไปกันมา ไม่ต้องเรียงลำดับ(เท่าที่สังเกตจะพบว่าเด็กที่มีจินตนาการสามารถจดบันทึกเป็นภาพได้หลากหลายตอนมากกว่าเด็กที่มีระเบียบ ## แต่นี่ไม่ใช่ข้อสรุปนะครับ)

เด็กบางคนตอบสนองได้ดีต่อสิ่งเร้าที่เป็นคำพูดของครูหรือการเรียนการสอนปกติ แต่ไม่เก่งเมื่อต้องมาสรุปความคิดผ่านการดูสารคดี เนื่องจากมีเนื้อและน้ำปนอยู่ด้วยกันและแยกแยะไม่ออก(เหมือนกับว่ามีความรู้เต็มไปหมด) ซึ่งยากกว่าการสรุปผ่านการบอกเล่าของครูที่มักพูดสรุปเนื้อหาให้เสร็จสรรพ ดังนั้นการสอนด้วยการดูวีดีโอจึงสามารถช่วยให้เด็กแยะแยะและครัดกรองความรู้ได้และจำรายละเอียดปลีกย่อยได้ดี

(เด็กน่ารักพิเศษน้องเนย์ บันทึกปะปนกันไป แต่ก็ไม่ลืมกำกับด้วยตัวเลขกันลืม)

นอกจากเนื้อหาที่เป็นความรู้ ในสารคดีเราจะพบอารมณ์ของตัวละครในเรื่องด้วยเช่น ตอนที่มันหิว ตอนที่มันหลบหลีกศัตรู ตอนที่มันขย้ำสัตว์อื่น ตอนที่มดหนีน้ำ ตอนที่มันโดนไฟเผา ซึ่งอารมณ์ที่แสดงออกผ่านสื่อวีดีโอมีหลากหลายมากกว่าการเล่าของครูมาก ซึ่งบางที่ไม่ต้องมีการบรรยายแต่ทำให้เด็กซาบซึ้งไปในอารมณ์ง่ายกว่า การเรียนรู้อารมณ์นี่เองทำให้การแสดงออกในงานศิลปะมีชีวิตชีวาไม่แห้งและอุดมไปด้วยรูปทรงอย่างเดียวแต่เป็นรูปทรงที่ให้อารมณ์ความรู้สึก

วันนี้ครูออตสังเกตเห็นเด็ก ๆ ตั้งใจดูและตั้งใจบันทึกมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงปล่อยให้เด็ก ๆ ดูจนจบเรื่องมดทั้ง 4 ตอนซึ่งกินเวลาไปมาก ดังนั้นวันนี้เลยไม่จำเป็นต้องระบายสีน้ำหรือทำกิจกรรมศิลปะต่อ เพราะการบันทึกของเด็ก ๆ นั้นครูออตถือว่าเป็นผลงานศิลปะที่สุดยอดแล้วนั้นเอง ได้ทั้งความรู้ได้ทั้งทักษะทางศิลปะได้ทั้งสุนทรียศาสตร์ เห็นไหมว่าครูไม่ต้องเหนื่อยมากหากเลือกสื่อการสอนเป็นดังนั้นครูศิลปะที่ดีควรหาสื่อที่หลากหลาย งดการกระตุ้นที่จำเจซ้ำซากเพื่อให้เกิดประสบการณ์ใหม่ ๆ แก่เด็ก

(นางพญามดของน้องพิม จะสังเกตเห็นเท้าของมันจะเป็นกลม ๆ เพราะว่ามันเหนียวหนืดยึดเกาะเก่ง)

ครูออตขอกลับไปดูสารคดีเรื่องมด ให้ละเอียดอีกรอบก่อน เผื่อเด็กโตต้องการกิจกรรมที่มากกว่าการบันทึกด้วยภาพ อาจจะอยากลงไปสนามเพื่อไปดูรังมด รูมด ไข่มด ด้วยก็ได้ ไปแล้วครับเจอกันบันทึกต่อไป

Powered by WordPress