ลานบ้านชลบถพิบูลย์

ตุลาคม 11, 2011

Thai Art

ไม่นานปีมานี้ผมรู้สึกประทับใจการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนรุ่งอรุณเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นไทย ความเป็นท้องถิ่น หลายครั้งที่ทีมรุ่งอรุณมาขอนแก่น ครูรุ่งอรุณก็จะพาเด็กไปดู คัดลอกและเรียนรู้จิตรกรรมฝาผนังอีสานโดยเฉพาะวัดไชยศรี บ้านสาวัตถี ตำบลสาวัตตี อำเภอเมือง การจัดการศึกษาแบบนี้ล่ะที่จะช่วยให้ศิลปวัฒนธรรมไทยและศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นจะยังคงอยู่สืบไป

HUG SCHOOL แม้มีภาพลักษณ์ความเป็นศิลปะ(เด็ก)แบบสมัยใหม่ แต่ครูที่นี่ก็พยายามออกแบบการเรียนรู้ที่มีความเป็นไทยและความเป็นท้องถิ่นเข้าไปแทรกอยู่ในกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยเสมอ เพราะเราเชื่อว่าการประทับตราความเป็นไทย นิยมไทยนั้นต้องเริ่มจากตัวเล็ก ๆ เสียก่อน ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ใหญ่ครั่งแบรนด์เนมในอนาคตอันใกล้หรือที่ท่าน นพ.เกษม วัฒนชัย ท่านเรียกว่า “นิยมเทศ”

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ(ขอนแก่น) ที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองและดีที่เขาเปิดวันหยุด  เพื่อให้คนที่ไม่ว่างในวันทำงานได้มีโอกาสมาชม แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ได้ผลหากคนทำงานพิพิธภัณฑ์ของรัฐเหล่านี้ยังทำงานเฉพาะในพิพิธภัณฑ์กลายเป็นคนแก่เฝ้าของเก่าไป  แต่ข้าวของในพิพิธภัณฑ์นั้นน่าสนใจและมีคุณค่าในการศึกษาเป็นอย่างมาก และบ่อยครั้งครูออตก็พาเด็ก ๆ ไปเรียนกันที่นั้น

ครูออตอธิบายถึงมารยาทในการชมพิพิธภัณฑ์ให้แก่เด็ก ๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกันและไม่เกิดปัญหาในการชมพิพิธภัณฑ์ของคนอื่น เมื่อเด็ก ๆ เข้าใจ เด็ก ๆ ก็เข้าไปดูข้าวของที่จัดแสดง ถามสิ่งที่ตนเองสนใจและลงมือวาดในข้าวของที่ตนเองอยากรู้  ครูแค่คอยอธิบายและตอบคำถามที่อยากรู้ของเด็กเท่านั้นก็พอ และนอกจากก็แค่คอยสังเกตเด็กอยากได้อะไรเพิ่มเติม ใครพบวัตถุที่สนใจแล้ว ใครยังเลือกไม่ได้ ใครพร้อมลงมือวาด

เมื่อสัปดาห์ก่อนไม่มีเวลาพานักเรียนไปพิพิธภัณฑ์ ครูออตก็อาศัย “ครูGOOGLE” ในการสอนเด็ก ๆ โดยเลือกศิลปะการเขียนลายในเครื่องถ้วยหรือที่เรารู้จักในชื่อ เบญจรงค์  โดยให้นักเรียนไปค้นหาเบญจรงค์ที่ตนเองชอบ ดูเครื่องถ้วยที่สนใจ  สังเกตลวดลาย  สังเกตสีที่เขียนลาย เสร็จแล้วก็นำมาคัดลอก 1 ชิ้นและสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ 1 ชิ้น

เมื่อเรียนแบบไทย ๆ ครูออตก็สร้างสรรค์บรรยากาศแบบไทย ๆ โดยเปิดเพลงไทย ๆ ไปด้วยแน่นอน “ลาวดวงเดือน” ของครูออตกับเบญจงค์ก็ดูเข้ากันได้ทีเดียว เพลงที่ช้า ๆ กับ ลวดลายที่อ่อนช้อย ทำให้เด็กทั้งห้องเงียบและสงบทันที ทำเอาครูออตเวลาจะเยื่องย้ายตัวเองไปไหนต้องเหินไปยังกะตัวละครในนาฎศิลป์ไทย การจัดบรรยากาศแบบนี้ก็ดูได้ผลไปอีกแบบ

การคัดลอกลวดลายตามแบบลวดลายเดิมของไทยนั้นทำให้เด็ก ๆ รู้จักเป็นคนช่างสังเกต และรู้จักการวางสัดส่วนของลายที่ช่างโบราณเขียน เพราะหากไม่รู้จักสัดส่วนลวดลายก็จะไม่ลงตัวพอดีในเครื่องถ้วยชาม ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ต้องสอนแต่ปล่อยให้เด็กลงมือทำเอง เมื่อเขาเขียนไปเรื่อยแต่ไม่ดูสัดส่วน ก็จะทำให้ลายเขียนมันแปลกๆไป และไม่ลงตัวกับขนาดของถ้วย นำมาซึ่งต้องทำใหม่ เหมือนกับคำสอนที่ว่า “ไม่รู้ชั่วก็ไม่รู้ดี ไม่รู้ผิดก็ไม่รู้ถูก”

และเมื่อเสร็จแล้ว ก็ถึงเวลาอวดผลงาน  และผลงานเสร็จก็แทบไม่น่าเชื่อว่าเด็กประถมศึกษาจะทำได้ดีขนาดนี้ อิอิ นี่เป็นหนึ่งในหัวใจไทยที่เราสอน

2 ความคิดเห็น »

  1. พี่รับรู้ได้ว่า ครูออต..สอนคน..ไม่ใช่สอนแค่ศิลปะ.. แต่สอนวิชาชีวิตผ่านสื่อศิลปะ..
    ส่วนใหญ่คุณครูทั่วไป ก็ห่วงแต่จะทำให้ลูกศิษย์ทำงานศิลปะออกมาให้สวย ให้ดี ให้มีสุนทรียะ ให้ทำเป็น
    แต่วิธีที่ออตสอน มีเบื้องหลังวิธีคิดที่มองละเอียดอย่างรอบด้าน ทั้งการฝึกนิสัยไม่ให้รบกวนเบียดเบียนคนอื่น การรู้จักเลือกสังเกต เสพศิลปะอย่างอิสระตามความชอบ สร้างบรรยากาศให้ซีมซาบกัับอรรถรสทางดนตรีและทำงานศิลปะไปพร้อมๆ กัน

    ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคิดกิจกรรมและรายละเอียดได้แบบนี้..ชื่นชม และได้เรียนรู้เพิ่มอีกแล้ว..

    เ้อ้อ..แต่ว่า..อยากเห็นตอนครูออต “เหิน” ไปหาเด็กแต่ละคนในห้องชะมัด..^^

    ความคิดเห็น โดย dd_l — ตุลาคม 13, 2011 @ 13:03

  2. ขอบพระคุณครูอึ่งมากครับสำหรับกำลังใจ
    ฮักคงจะได้ไปเรียนรู้กับมงคลวิทยาบ้าง ในโอกาสอันสมควร

    ความคิดเห็น โดย ออต — ตุลาคม 13, 2011 @ 21:37

RSS feed for comments on this post. TrackBack URL

แสดงความคิดเห็น

*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word

Powered by WordPress